Friday, October 15, 2010

อนาคต "ประชาธิปไตย?"

รายงานเสวนา : อนาคต "ประชาธิปไตย?"
(ปรองดอง ปฏิรูป รัฐบาลแห่งชาติ และรัฐประหาร)
ที่มา : ประชาไท

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.53 เวลา 13.30 น. มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ อนาคต "ประชาธิปไตย ?" (ปรองดอง ปฏิรูป รัฐบาลแห่งชาติ และรัฐประหาร) โดย ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์จากสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ, ศรีวรรณ จันทร์ผง ผู้ประสานงาน นปช. เชียงใหม่, ปรีชาพล ชูชัยมงคล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย , ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ ดำเนินรายการโดย ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์สำนักนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ณ ห้องมัณฑเลย์ สถานวิชาการนานาชาติ สำนักบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (IC) จัดโดยกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ แนวร่วมกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ กลุ่มไร้สังกัด

“ไชยันต์ รัชชกูล” ประชาธิปไตยเฉพาะหน้าไม่เห็นทาง-ระยะยาวฝากพระสยามเทวาธิราช
ไชยยันต์กล่าวว่า จะพูดคุยเรื่องประชาธิปไตยโดยแบ่งเป็นสองส่วน 1. ประชาธิปไตยเฉพาะหน้า ภายใน 1-2 ปีนี้ 2.การมองประชาธิปไตยในระยะยาว

ไชยยันต์กล่าวโดยหยิบยกข่าวลือว่า ในขณะนี้มีข่าวลือว่า ‘อภิสิทธิ์’ ค่อนข้างจะไม่แข็งแรงเหมือนกับที่เขาเคยแข็งแรง โดยคนสนับสนุนเขาทั้งในพรรคและนอกพรรคจำนวนน้อยลง ซึ่งมาจากปัญหาเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเขาใช้มาตรฐานเดียวที่คงเส้นคงวามาก คือ มึงทำอะไรก็ผิด กูทำอะไรก็ถูก นอกจากนี้ยังมีข่าวลือโดยเฉพาะในแวดวงคนชั้นสูงเองว่าหากปล่อยให้มีเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะชนะ ซึ่งมีโอกาสสูงมาก อย่างไรก็ตาม พวกที่อยู่ในแวดวงธุรกิจกลับเห็นว่าคนที่เหมาะเป็นนายกฯ คือ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ นักธุรกิจไม่ได้มองประชาธิปัตย์อย่างเดียว แต่เป็นใครก็ได้ที่มีนโยบายตอบสนองพวกเขา หลังจากนั้นอาทิตย์กว่า ก็มีส.ส.กลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้มิ่งขวัญเป็นนายกฯ และเราจะเห็นว่า สนั่น ขจรประสาสน์ ก็พยายามร่วมทำให้ฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมการปรองดองกับพรรคเพื่อไทย ขยายความได้ว่า จริงๆ แล้ว พรรครัฐบาลอาจจะมองไปที่ทางเลือกอย่างมิ่งขวัญ ซึ่งอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เฉลิม อยู่บำรุง หรือบิ๊กจิ๋ว เพราะเขาไม่ได้ขัด หรือไม่เคยเสนอนโยบายไปขัดกลุ่มธุรกิจโดยตรง มิ่งขวัญไม่ไปทางซ้ายและไม่มีการพูดถึงสวัสดิการสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ

ไชยยันต์กล่าวว่า ทั้งข่าวจริงและข่าวที่ได้รับการยืนยันว่าอาจจะทำให้เรื่องเรียบไปเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง และย้อนไปกติกาเดิม แต่ทั้งหมดนี้ก็อาจผิด โดยเฉพาะเมื่อย้อนไปอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวๆ ที่เป็นถุงห่อกล้วแขกก็จะพบว่าคาดการณ์กันผิดเสมอ สิ่งที่เสนอนี้อาจไม่เป็นอย่างนั้นเลย

สำหรับเรื่องประชาธิปไตยในระยะยาว ไชยยันต์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการต่อสู้ด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่เราไม่ทราบ แต่มันชวนให้คิดว่าแนวทางต่อสู้ด้วยความรุนแรงมีอยู่จริง ซึ่งพรรคพวกหลายคนเคยพูดว่าการปราบที่ราบประสงค์ มันคือการนำกรือแซะโมเดลมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเรื่องน่าคิดและน่ากลัวมาก ผ่านมาสี่เดือนกว่าแล้ว คณะกรรมการที่ตั้งมาทั้ง 4 คณะ ไม่ต้องพูดถึงคณะกรรมการที่เกี่ยวพันกับเรื่องรัฐธรรมนูญ เวลาที่ผ่านมาเกือบจะไม่มีข้อเสนออะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก เชื่อว่าอีกสี่เดือนข้างหน้าก็จะไม่มีอะไร ประกอบกับยังมีกระแสหนาหูเรื่องกิจกรรมต่อต้านสถาบัน สิ่งที่อยากเสนอด้วยความสุขุมโดยความใจเย็นๆ คือทำไมเราไม่รับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึงทั้งหมดในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องศาล เพราะปัญหาตุลาการเป็นเรื่องเกี่ยวข้องศรัทธาประชาชน

โดยเฉพาะความเชื่อถือศาลรัฐธรรมนูญภายหลังรัฐประหาร รวมถึงเรื่องของสถาบันที่สำคัญ สถาบันทหาร ซึ่งควรดูว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการจัดการ ซึ่งควรดำเนินแบบ สสร.ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วไป เช่นเดียวกันกับการจัดการปัญหาที่บอกว่ามีการจาบจ้วงสถาบัน ทำไมไม่เปิดรับฟังเอาความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่าสถาบันควรจะมีบทบาทในสังคมไทยอย่างไร และการปฏิรูปประเทศไทยก็ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องไม่กี่คน ตอนนี้ไม่รู้เลยว่าไปถึงไหน แล้ว ในภาคต่างๆ ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ฉะนั้น เราน่าจะลองตั้งตุ๊กตาแบบ สสร. ที่ระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

ประเด็นสุดท้าย มีคนบอกว่ารัฐประหาร 19 กันยา ความจริงไม่ใช่ล้มทักษิณแต่เป็นการล้มรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะทำให้เกิดคนอย่างทักษิณขึ้นมา ประเด็นสำคัญของรัฐประหารอาจมีหลายสาเหตุ เช่น เพราะทักษิณทุจริต ซุกหุ้น ฯลฯ แต่การล้มรัฐธรรมนูญปี40 มีน้ำหนักมากกว่าในช่วงหลังเมื่อโยงถึงอนาคตประชาธิปไตยด้วย คือ สมมติมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต มิ่งขวัญ จะเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรให้ห่างจากทักษิณหรือให้หมดบทบาทลง อีกด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญก็อาจไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแก้ไขนิดหน่อย เปลี่ยนไม่กี่ข้อ แต่ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2540 อาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็นบางมาตราและไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ตนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงแค่นี้ไม่พอต่อความสงบ ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งการจะเกิดสิ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ต้องย้อนกลับไปที่ปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปตอนนี้ก็ไม่ได้ระบุเรื่องเหล่านี้เลย คือ การปฏิรูปศาล ทหาร สถาบัน และองค์กรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ก็คงต้องฝากไว้กับพระสยามเทวาธิราช

40 เพื่อไปสู่สากล แต่แล้วรัฐธรรมนูญก็ถูกปฏิวัติ และรัฐประหารไปเมื่อ 19 กันยา การต่อสู้จากอดีตถึงปัจจุบันรัฐจัดการเราโดยความรุนแรง แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยังมีต่อไป ในส่วนของนปช.แดงทั้งแผ่นดินก็ยังสู้ต่อไป ในเบื้องต้นเพียงเรียกร้องว่าใครก็ได้มาเป็นรัฐบาลโดยให้เราอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รัฐธรรมนูญ 40 มาจากประชาพิจารณ์ และการเลือกจากประชาชน แต่ก็โดนล้มไป ประเทศไทยปฏิวัติแล้ว 18 ครั้ง สิ่งที่ไม่อยากให้เกิด คือ ทำร้ายฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายรักษาอำนาจก็ไม่ยอม ต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจและรักษาผลประโยชน์ไว้ ในปี 2550 รัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยภายใต้รัฐประหาร พวกเราไม่รับมีการเคลื่อนไหว รณรงค์ใส่เสื้อแดงไม่รับรัฐธรรมนูญของสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งทำให้ประเทศไม่ไปไหน และทั่วโลกไม่ยอมรับ เราต่อต้านรัฐธรรมนูญดังกล่าวภายใต้กฎอัยการศึก กระทั่งรณรงค์ไปรวมตัวนั่งร่วมโต๊ะในเคเอฟซีที่มีคนแค่30 คน แต่ว่าทหารไปกันถึง 300 คน มาล้อมคนไปร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย

“ศรีวรรณ จันทร์ผง” ไม่อยากเห็นปฏิวัติ รัฐประหารอีก และนำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมา
ศรีวรรณ กล่าวว่า อนาคตประชาธิปไตยไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หากติดตามประวัติศาสตร์ 14 ตุลา--19พฤษภา 53 ซึ่งเป็นพัฒนาการในประเทศไทยถึงแม้ว่ามันจะช้ากว่าหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยจะไปได้ ทุกคนต้องไม่ลืมอดีตของการต่อสู้ที่ผ่านมา เราพยายามเรียกร้องการมีสิทธิ มีเสียง เรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ศรีวรรณสรุปว่า สิ่งที่อยากเห็นคือประชาชนอยู่ดีมีสุข ไม่ให้ถูกปล้นประชาธิปไตย ไม่มีสองมาตรฐาน ที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ภาคประชาชนล้วนๆ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ต้องการเพียงประชาธิปไตย ไม่อยากเห็นการปฏิวัติ รัฐประหารอีกแล้ว และอยากให้นำรัฐธรรมนูญ 40 นำกลับมาใช้

“ทศพล ทรรศนกุลพันธ์” ปฏิรูปครู พระ ทหาร และศาล
ทศพลกล่าว ในประเด็นแรกจะเรื่องเวลา ในประเทศไทย ถ้าเราอยู่ในช่วงเวลาไหนก็จะคิดแบบนั้น โดยตอนทักษิณอยู่เราก็ต้านทักษิณและเราก็ด่าเขา ซึ่งหมายถึงตัวผมและกลุ่มของผม ถึงตอนนี้เมื่อการเมืองสวิงเปลี่ยนขั้ว เรายังยึดหลักการเดิมต่อต้านคนที่แย่ยิ่งกว่า แต่เราถูกผลักออกมาชายขอบตลอดเวลา หลักการกลายเป็นสิ่งยึดที่ไม่ยึดถือกัน หรือเราต้องการแค่ชัยชนะ

ประเด็นถัดมาเรื่องพื้นที่ทางการเมือง ตั้งแต่ 2475-19 พฤษภา พื้นที่ของการต่อสู้มันขยายขึ้นมาเรื่อย วงในการต่อสู้เมื่อ 2475 อาจไม่กว้าง แต่มีคุณภาพ มีความรู้ เป็นกลุ่มรุ่นใหม่สู้กับกลุ่มเดิม คนที่อยู่มาต่อเนื่องจนเกิด 6 ตุลา 19 คนกลุ่มเดิมเริ่มรับไม่ได้กับการขยายวงต่อสู้ สิ่งที่ตกใจมากคือ หลังพฤษภา 35 หลายคนคิดว่าประชาธิปไตยจะก้าวหน้า เรื่องทหารกับการเมืองจะหมดไปสักที อย่างไรก็ตาม มองว่ามื่อถึงเวลาวิกฤติ สิ่งแรกที่ไม่มีใครสนใจเลย คือ กติกา ประเทศอื่นเขามีกระบวนการปรับปรุง หรือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นสิ่งที่แปลกมากในสังคมนี้ เพราะกติกาที่ถูกใช้เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง หรือ ทำลายได้ โดยคนที่ยึดอำนาจ เป็นเรื่องธรรมดาในขณะที่สังคมอื่น มันไม่เกิดหรือเกิดขึ้นยาก เช่น ศาลเขาไม่รับคำสั่งรัฐประหาร ถ้าศาลไม่รับรองก็จบเลย แต่ศาลไทยกล้าทำหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีความปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กล่าวคือ ทุกครั้งที่มีการทะเลาะเบาะแว้ง แตกความสามัคคี เกิดวิกฤติใหญ่ สถาบันหรือกลไกที่มีอยู่ในสังคมแก้ปัญหาไม่ได้ เราอยากจะปรับมัน เช่น รัฐธรรมนูญ 40 มีปัญหา เราอยากปรับบางเรื่อง แต่วิธีการปรับตัว มันถูกอำนาจ 3 อย่างมาบิดเบือนไป เมื่อความขัดแย้งถึงขั้นสุด มักจะมีคนมาใช้อำนาจดิบ หรือ อำนาจทางกายภาพ มาแก้ไข ใช้กองทัพมายึดอำนาจ

อันต่อมา การถกเถียงเรื่องโครงสร้างว่าควรจะมี กติกา หรือไม่มีกติกาดี มันเป็นทางเลือกไหม ถ้าไม่มีกติกาเราพร้อมจะจับอาวุธหรือไม่ เราก็คงสู้ไม่ได้ ดังนั้นเราจึงหนีไม่พ้นเรื่องกติกา ทำยังไงเราจึงจะมาร่างกฎหมายของเราให้มากขึ้น เราอาจะต้องสร้างแนวร่วมกับคนที่เห็นต่างด้วยเพื่อขยายวงให้กว้าง แม้ว่าเราไม่เห็นด้วย แนวร่วมกับเราได้บางส่วน ตนคิดว่าถ้าใช้กำลังต่อสู้ร้อยปีก็ไม่ชนะ เพราะเราไม่สามารถสู้กองทัพที่มีการจัดตั้งมาเป็นร้อยปีได้

สิ่งที่ต้องทำเมื่อโอกาสมันเปิดคือ มุ่งไปที่สถาบันหรือกลไกที่เราจะทำได้ ครู พระ ศาล กองทัพ
ทั้งนี้ การปฏิรูปศาล เป็นเรื่องที่ยากและที่คาใจมาตลอด อยากเปลี่ยน แต่เปลี่ยนยาก หลังปี 35 เขาพยายามให้ศาลถูกตรวจสอบถ่วงดุล ศาลก็ไม่ยอม คิดว่าตอนนี้มันถึงจุดที่ต้องการผลักดันปฏิรูปศาลและกฎหมายศาล นอจากนี้ระบบภายในศาลเองก็สะท้อนเรื่องชนชั้น เพราะคนที่จะเป็นผู้พิพากษาต้องเก็บตัว เป็นคนที่สามารถอ่านหนังสือตั้งแต่อายุ 18-30 ปี คนอย่างนี้พ่อแม่มีเงินเลี้ยง อันนี้ศาลยุติธรรม ถ้าศาลปกครองต้องอายุ 35 ปี คนประเภทไหน จะมาเป็นศาล
ถ้าเราจะแก้ปัญหาเราอาจจะต้องเปลี่ยนกฎหมาย ให้คนที่จะมาเป็นผู้พิพากษาต้องเป็นทนายอย่างน้อย 10 ปี หรือบางคนเสนอให้เอาระบบลูกขุนมาใช้

ทศพลระบุด้วยว่า เมื่อไหร่รัฐบาลสวิงข้าง ขอให้ผลักดันให้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อที่เราจะข้ามองค์กรยูเอ็นและฟ้องศาลระหว่างประเทศได้โดยตรง

“พิภพ อุดมอิทธิพงศ์” เราต้องการ คนดี หรือ ระบบดี
พิภพ นักแปลอิสระ กล่าวว่า เตรียมมาพูดเรื่อง คนดี คนชั่ว วันก่อน มติชนพาดหัวข่าวว่า ผบ.ทบ.เผยเหตุป่วนไม่เลิก "คนชั่วเยอะ" ทำอย่างไรจะหมดไปจากสังคม ซึ่งเป็นคำพูดที่พวกอำมาตย์ชอบพูดกัน

ปัญหาคือในการเลือกตั้งมีประเทศไหนในโลกที่นักการเมืองประกาศว่า "ผม/ดิฉันเป็นคนดี โปรดเลือกดิฉันเข้าสภาด้วย" ถ้าอย่างนั้นคงต้องอนุญาตให้พระชีลงเลือกตั้ง และเลือกเข้าสภาให้หมด

สมมุติฐานของฝรั่งคือ สังคมมันมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ถ้าทำให้ระบบมันดีพอสมควร สังคมจะเฉลี่ยประโยชน์สุขให้ถ้วนกันได้ คนที่เลือกตั้งเข้าไปจุดประสงค์เพื่อไปออกแบบให้ได้ระบบที่ดี เช่น กฎหมาย ระเบียบ โครงสร้างการบริหารจัดการ แผนงบประมาณ แผนการดำเนินงาน ฯลฯ และดำเนินการให้เกิดผล แต่แค่นั้นยังไม่พอ นอกจากคนออกแบบระบบและโครงสร้าง คนที่ทำหน้าที่บริหารแล้ว ยังต้องมีองค์กรที่กำกับดูแลด้วย เพราะสุดท้าย "คนดี" "คนเก่ง"ที่เลือกเข้าไปออกแบบระบบและโครงสร้าง และดำเนินการบริหารนั้น อาจลุแก่อำนาจและเฉไฉออกไป ทำให้ออกแบบระบบและโครงสร้างที่เอื้อแก่ตนเองและพวกพ้องบ้าง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ส่วนตนบ้าง จึงต้องมีโครงสร้างหนึ่งขึ้นมา เพื่อตรวจสอบและคอยทัดทาน

ช่วงปลายปีที่แล้วคนฮือฮากับสิ่งที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" แต่เมื่อ27 เม.ย. พุฒิพงษ์ พงษ์อเนกกุล นศ.ป.ตรีปีสอง อายุ 18 ปี ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ศาลกลับดองเรื่องไว้ รวมถึงเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ศาลแพ่งยกฟ้อง กรณีเว็บไซต์ประชาไทฟ้องนายยกสุทพฯ-ไอซีทีที่ปิดเว็บหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่มีการเบิกความพยาน ระบุจำเลยมีอำนาจตาม พ.ร.กฉุกเฉิน และเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ระหว่างกระชับพื้นที่ศาลแขวงปทุมวันสั่งจำคุกคนเสื้อแดงฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา ต่อมา อธิบดีดีเอสไอทำหน้าที่เป็นโฆษกศาล สั่งลงโทษหนักเรียบร้อย พูดแทนศาล แต่คงไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล

พิภพ ยกตัวอย่างอีกว่า ตนเป็นกรรมการศูนย์ข้อมูลฯ มีจดหมายจากนักศึกษาว่าตัวเขาและประชาชนในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 15 - 18 พ.ค. 53 โดนตัดสินจำคุกตั้งแต่ 1-2 ปีโดยไม่รอลงอาญา จำนวน 10 คน เขาบอกว่า ในเวลานั้นรวดเร็วมาก พวกเราไม่มีทางต่อสู้คดีได้เลย ถูกเจ้าหน้าที่ที่มีการพูดจูงใจ ขู่และใช้กำลังบังคับให้สารภาพ ไม่มีสิทธิพบทนายความ ไม่ยอมให้ติดต่อญาติพี่น้อง และยังถูกทำร้ายร่างกาย ยึดทรัพย์สินทุกอย่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนยัดเยียดข้อหาโดยให้ทหารมาคุมและบังคับตำรวจรับทำคดีถึงสถานีตำรวจ นำตัวส่งขึ้นศาลใช้เวลาพิจารณคดี แค่ 5 นาที พวกเขาต้องสิ้นอิสรภาพทันที โดยไม่ได้ฟังสำนวนฟ้องจากอัยการ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีนักศึกษาปัญญาชนบางคนมาจบอนาคตเพราะการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ

กลับมาที่เรื่องคนกับระบบ พวกที่ทำรัฐประหารชอบอ้างเรื่องคนดี คนชั่วอย่างที่พูดไป พวกเขาเข้ามาทำให้สังคมสะอาดปราศจากคนเลว คนคอรัปชั่น แต่ถามว่า 4 ปีผ่านไปมัน "สะอาด"ขึ้นรึเปล่า ยังมีข่าวจากปปช.ที่เผยผลสำรวจว่าการจ่ายใต้โต๊ะมีจำนวนสูงขึ้น ตนเองได้คุยกับทนายความ Law firm ซึ่งทำคดีให้กับนักธุรกิจและบริษัทใหญ่ๆ เขาบอกว่าลูกความเขายังต้องจ่ายใต้โต๊ะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ที่ไม่เหมือนกันคือ สมัยทักษิณจ่ายครั้งเดียวจบ แต่สมัยนี้จ่ายแล้วไม่จบ ยังมาขอเพิ่มเรื่อยๆ ที่แย่กว่านั้นจ่ายแล้วยังกลับมาด่าอีก

ประชาธิปไตยเป็นระบบหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นมายาวนานเกินพันปี ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด ถามว่านำไปสู่เผด็จการหรือทรราชได้ไหม ตอบว่าได้ แต่อย่างน้อยเมื่อเทียบกับระบบอื่น มันก็เปิดช่องให้คนสามารถตรวจสอบระบบและคนในระบบได้ง่ายกว่า พื้นฐานของประชาธิปไตยคือ สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น อยากจะเน้นว่ามันเป็นสิทธิ และตามกติกาสากลมันไม่สามารถเบี่ยงเบนได้

ในไทยเมื่อวันก่อนได้ข่าวว่ามีรถตู้จาก ศอฉ. ไปจอกซุ่มดูหน้าบ้านของผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับนายกเมื่อเร็วๆนี้ แต่เนื่องแบบนี้กลับไม่เป็นข่าว

“อริชผล ชูชัยมงคล” ประชาธิปไตย คือ แก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี
นายอริชผล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นความขัดแย้ง ความรุนแรง วาทกรรมที่ผิดๆ ตนเรียนในสถาบันมหาลัยสงฆ์ สอนเรื่องศาสนา กับการศึกษาเรื่องการเมือง อ.ธเนศวร์ ก็เป็นอ.พิเศษ ความรู้ที่เรียนมาเรื่องศีลธรรม นักปกครองขาดตรงนี้ ก็ใช้ไม่ได้ จากอดีต 14 ตุลา 16 จากความรู้ คุณพ่อแม่ อบรมมา ท่านได้สอนว่า คนในสังคมมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีใครจะสูง ต่ำ เคารพสิทธิ เสรีภาพ

หลักการ ประชาธิปไตย ที่สำคัญ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นหลักความเสมอภาค คนมีสิทธิ เสรีภาพแล้ว หลักยุติธรรม คือการใช้กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ หลักเหตุผล คือการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา หลักเสียงข้างมาก คือการลงมติอย่างสันติวิธี หลักประณีประนอมก็สำคัญ คือการลดความขัดแย้งเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา คุณธรรมจริยธรรมก็ต้องมีในระดับชนชั้นปกครอง คือต้องมีระดับคุณธรรมสูงกว่าคนธรรมดา สิ่งที่ขาดไม่ได้คือจงรักภัคดีต่อชาติ ความมีวินัย ความกล้าทางจริยธรรม เช่น การชุมนุมเสื้อแดง คือสิทธิ์ของเขา คุณมาใช้อำนาจในการกระชับพื้นที่ คือการผิดหลักที่ว่ามา

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะขอเน้นว่าการแก้ไขปัญหาให้เกิดสันติสุขได้ คือการหล่อหลอมจิตใจของท่านด้วย แม้ว่าท่านจะมาจากต่างที่ต่างทาง ท่านก็ต้องมองประชาชนให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน ทุกวันนี้วัยรุ่นหรือปัญญาชน ยังไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะยังมีสิ่งต่างๆที่ยังเป็นที่น่าสนใจ ล่อหูล่อตามาก เคยไปถามเพื่อนบางคนเขาก็บอกว่าไม่ขอพูด เพราะไม่ใช่เรื่องของเขา เป็นเรื่องของนักการเมือง ดังนั้นผมจึงเรียกร้องว่าพลังนักศึกษาต้องเป็นพลังในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยต่อไป

“ชำนาญ จันทร์เรือง” ประเทศอื่นไปไกลมากแล้ว
ชำนาญ กล่าวถึงอนาคตประชาธิปไตย ว่า หลายๆท่านได้พูดไปแล้ว ได้เสนอข้อมูลที่ครอบคลุมหลากหลาย สำหรับอนาคตประชาธิปไตยในไทยนั้นยังต้องคิดมากอยู่ เพราะเดาไม่ออก เกาหลีที่เป็นเผด็จการ ยังไปไกลแล้ว ที่กวางจู เขายังเอาทหาร เผด็จการมาลงโทษแล้ว โดยการไปฟ้องศาลโลก

เรื่องอนาคตประชาธิปไตยในบ้านเราจะเป็นอย่างไร ปัญหาอดีตถึงปัจจุบันคือ เรามีราชการส่วนภูมิภาค มันมีปัญหา คือ ส่วนกลางรวมแล้วไม่ยอมปล่อย การปกครองส่วนภูมิภาค เราทำอะไร นั่งเขียนโยบายอยู่ในกทม. อยู่ที่นี่ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ดังนั้นคิดว่าควรยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ญี่ปุ่น มีการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยตนเคยอยู่กระทรวงมหาดไทยมาก่อน เลยรู้ดีว่าผู้ว่าจังหวัดเป็นตัวแทนส่วนกลาง ปัจจุบันว่าฯยังตั้งรองผู้ว่าฯ ไม่ได้ ปลดไม่ได้ ย้ายไม่ได้ เพราะฉะนั้นอนาคตเราไม่ควรมีราชการส่วนภูมิภาค มันก็จะดีขึ้น อนาคตประชาธิปไตยจะมีมากขึ้น เราควรแก้ที่ตัวบทกฎหมาย อย่างรัฐธรรมนูญ ให้ตัดคำว่าส่วนภูมิภาคออกไป ถ้าทำได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

1 comment:

  1. บทพิสูจน์ ประชาธิปไตย ในแผ่นดิน
    วันทักษิณ มายิ่งใหญ่ ได้อีกหน
    วันอำมาตย์ ได้สำนึก รู้สึกตน
    ว่าเป็นคน เห็นแก่ตัว มั่วปกครอง

    จนทำให้ ประเทศไทย ไร้มาตรฐาน
    เผด็จการ ครองเมือง เฟื่องลำผอง
    ประชาชน ถูกแบ่งแยก แตกเป็นสอง
    เพื่อสนอง กิเลสมาร กระเทยเฒ่า

    หลงลืมตน ว่ายิ่งใหญ่ เท่าเทียมฟ้า
    มิรู้ค่า ประชาธิปไตย ให้หมองเศร้า
    การปกครอง สองมาตรฐาน รัฐบาลเงา
    จึงสวมเขา ประชาชน สับสนตาม

    ดังลักเพศ ประเทศไทย ไร้ระบอบ
    ใครชื่นชอบ หลากหลายเพศ ช่วยแบกหาม
    ยิ้มสยาม สิ้นสลาย ไม่สง่างาม
    ร่ำร้องถาม ความอายใจ การปกครอง

    ReplyDelete