การเมืองของพลเมือง(Citizen Politics) หรือการเมืองภาคประชาชน คืออะไร
การเมืองของพลเมือง หมายถึง การเมืองที่ประชาชนในทุกส่วนภาคสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับนานาชาติ
เป็นการเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีบทบาทและเข้าใจถึงสิทธิในการแสดงออกซึ่งความต้องการของตนเพื่อนำไปสู่การผลักดันให้รัฐออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายต่างๆที่สอดคล้องกับความต้องการของตนได้
การเมืองภาคประชาชน จึงถือเอาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่างที่ปรากฏในสังคมรัฐ เช่น การชุมนุม เดินขบวน เรียกร้อง เจรจาต่อรอง การพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับรัฐในเรื่องต่างๆ ฯลฯเป็นต้น
การเมืองแบบนี้ ประชาชนจะเป็นตัวแทนของตนเอง เป็นผู้กำหนดความต้องการของตนเองออกมาเป็นประเด็นในสังคมเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จะเปลี่ยนจากการเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์พึ่งพา แบมือขอในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ(Passive) มาเป็นผู้กระทำ (active) เป็นฝ่ายรุกรัฐให้กระทำตาม ดังนั้น รัฐจึงไม่ใช่ศูนย์อำนาจแต่ประชาชนคือศูนย์อำนาจเป็นผู้กำหนดความต้องการของตน ไม่ใช่รัฐ
ในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประชาธิปไตย ประชาชนในชาติจะมีวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ยึดถือว่า “บ้านเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” กิจการใดๆ ธุระใดๆของรัฐจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ แม้จะมีรัฐสภา รัฐบาล และกลไกรัฐที่ใหญ่โตแล้วก็ตาม
การสร้างประชาธิปไตยแบบการเมืองส่วนร่วม(Participatory democracy) และประชาธิปไตยทางตรงเพื่อกำกับ กำหนดทิศทางตรวจสอบการใช้อำนาจเป็นสิ่งจำเป็น
ทำไมการเมืองภาคประชาชนจึงไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยในอดีต การเมืองแบบนี้เกิดขึ้นหรือยังในปัจจุบัน
พฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในแต่ละประเทศจะเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับ ภูมิหลังทางสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ของแต่ละชาติเป็นสำคัญ เช่น ในแผ่นดินยุโรป โดยเฉพาะสังคมเยอรมัน ก่อนรวมตัวกันเป็นชาติต่างมีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในลักษณะเมือง หรือท้องถิ่นมาก่อน เป็นชาวเมืองที่เรียกว่า Buerger หรือ Bourgeoisie หรือ กระฎุมพี ปัจจุบันเรียกว่า “ชนชั้นกลาง” Buerger คือพวกพ่อค้าและช่างฝีมือ ที่ทำมาหากินอยูในเมืองจนสามารถสร้างหลักฐาน มีทรัพย์สิน เงินทอง เป็นผู้มั่งคั่ง กลายเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมที่มีศักดิ์ศรี มีอำนาจ ทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางสังคมศักดินาของเหล่าขุนนาง ในฐานะที่เป็นพลเมืองที่ต้องการดำรงชีวิตในแผ่นดินอย่างมีอิสรภาพ มีความเสมอภาค ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ มีกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมือง ในด้านการเมือง พวกนี้จึงมีอิทธิพลต่อการนำพาบ้านเมือง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งรัฐชาติ เพื่อมารองรับบทบาทและหน้าที่ของพวกตนจนทำให้ชนชั้นสูง ต้องคลายอำนาจลง
ต่อมาการอยู่ร่วมกันในลักษณะรัฐชาติสมัยใหม่ (Nation State) มีการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประทศสังคมเสรีประชาธิปไตย พวกนี้มีลักษณะนิสัยของความเป็นพลเมืองที่ว่า การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ในด้านหนึ่งต้องรักษาสิทธิและ ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่อีกด้านหนึ่งต้องเป็นธุระกับเรื่องส่วนรวมด้วย ดังนั้นการใดๆของรัฐ ธุระใดๆของประเทศชาติพลเมืองทุกคนต้องสนใจ เป็นเรื่องของทุกคน ถึงแม้จะมีการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมี รัฐสภา รัฐบาล ราชการมาทำหน้าที่แล้วก็ตาม
ในจิตวิญญาณและความคิด ของพวกเขาถือว่า แผ่นดินประเทศชาติเป็นของพลเมืองทุกคนๆต้องช่วยกันดูแล
เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายและบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ที่เรียกว่า “Public Servant” นักการเมือง เป็นผู้ที่ประชาชนให้โอกาสมาทำงานให้บ้านเมืองตามที่เขาเสนอตัวมา
ดังนั้น ประชาชน ต้องทำหน้าที่ ตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม ถ้าทำไม่ดีก็เปลี่ยนได้ ตามกฎหมาย
ในสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ต้องเป็นสังคมที่มีการแบ่งปันอำนาจ (Power) นั่นคืออำนาจรัฐต้องมาจากทุกส่วนภาคของสังคม ไม่ใช่ผูกขาดโดยชนชั้นใดชั้นหนึ่ง
การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
แนวคิดประชาธิปไตยแบบดั้งเดิม ถือว่าแม้ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย แต่ได้มอบให้ผู้แทนเป็นผู้ใช้ไปแล้ว โดยประชาชนมีส่วนร่วมเฉพาะเมื่อถึงเวลาลงคะแนนเสียงเท่านั้น หลังจากนั้น ก็ไม่มีสิทธิใดๆอีก ต้องยอมรับในการกระทำทุกอย่างที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ
แต่ในศตวรรษที่ 20 แนวคิดประชาธิปไตยเปลี่ยนไปจากเดิมโดยความรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชนเรียกร้องให้รัฐต้องใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองที่ดี
ดังนั้น พันธกรณี ที่ประชาชนเลือกผู้แทนไปใช้อำนาจนั้นไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจอย่างเด็ดขาด แต่สิทธิของประชาชนยังคงมีอำนาจในการตรวจสอบ ติดตาม เข้าไปมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ กระทำการต่างๆร่วมกับรัฐได้ โดยเฉพาะเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อตนเอง และสังคม
การมีส่วนร่วมอาจทำในรูปแบบต่างๆ เช่น การชุมนุม ประท้วง การทำประชาพิจารณ์ ลงประชามติ ฯลฯ
จากประวัติศาสตร์ ในการพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่ความยั่งยืนได้ สังคมต้องมีการแบ่งอำนาจไปสู่กลุ่มต่างๆที่เป็นหุ้นส่วนทางสังคม(Social partner) ได้แก่ กลุ่มทุน กลุ่มอาวุธ กองกำลัง กลุ่มปัญญาชน ข้อมูลข่าวสาร การรวมพลังประชาชน การแบ่งปันความมั่งคั่ง (Wealth) จะตามมาเมื่อมีการแบ่งปันอำนาจเกิดขึ้น
ในสังคมประชาธิปไตย การแบ่งปันอำนาจและความมั่งคั่งจะเกิดขึ้น เมื่อชนชั้นกลางมีความเป็นปึกแผ่น มั่นคง เป็นแกนนำในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ถ้าเมื่อใด ชนชั้นกลางในสังคม มีบทบาททางการเมืองน้อย ดุลยภาพจะเสีย และทำให้อำนาจรัฐถูกผูกขาดโดยชนชั้นใดชั้นหนึ่งในสังคม จนกลายเป็นเผด็จการ ดังเช่น ในสังคมไทย ชนชั้นล่างถูกผูกติดให้อยู่กับระบบอุปถัมภ์ ต้องแบมือรับความช่วยเหลือจากรัฐตลอดเวลา ทำให้คิดไม่เป็น มองไม่เห็นข้อเท็จจริง ชนชั้นกลางไม่สนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และจำนวนมากที่ไปรับใช้กลุ่มทุนที่มีอำนาจรัฐ เพื่อหวังขยับขึ้นเป็นชนชั้นนายทุน ทำให้ชนชั้นนายทุนครองอำนาจรัฐได้อย่างเด็ดขาด
การเมืองภาคพลเมือง ในรูปแบบขององค์กรนอกภาครัฐ หรือ Non Governmental Organization NGOs จึงเกิดจากการอาสามาทำงานของประชาชนที่อยู่ในเมือง ซึ่งจะทำในรูปแบบต่างๆ เช่น มูลนิธิ สมาคม สถาบัน ชุมชน กลุ่ม เครือข่าย ฯลฯ และจะทำเรื่องอะไร ระดับไหน ตั้งแต่ เก็บขยะ ไปถึง กลุ่มกรีนพีช ระดับนานาซาติ NGOs จึงมีจิตวิญญาณของพลเมืองอาสา ที่ต้องการริเริ่ม เอาธุระในกิจการสาธารณะต่างๆ โดยมีตัวแทนการเมืองและกลไกรัฐราชการที่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศอย่างแท้จริง
มาตรการในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมเป็นประชาสังคมและมีความเข้มแข็งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มีหลายประการ อาทิเช่น
1. การให้เสรีภาพในการรวมตัวแบบต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร สหภาพแรงงาน พรรคการเมือง
2. ให้องค์กรประชาชนมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเมือง โดยเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ
3. เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าไปกดดันให้รัฐบาลดำเนินการต่าง ๆ ตามนโยบายที่กำหนดไว้
4. เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองระดับชาติ เช่น เสนอกฎหมายร้องเรียนให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ
จากรัฐธรรมนูญในตัวของมันเองจะไม่เกิดผลอะไร ถ้าหากไม่มี การ ดำเนินการอย่างจริง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง
Wednesday, October 20, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment