ประชาธิปไตย คือ อะไร ?
คำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึงหมู่คนคือปวงชน กับคำว่า ”อธิปไตย” หมายถึงความเป็นใหญ่
“ประชาธิปไตย” จึงหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน”
ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”
ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมิติได้ก็จำเป็น ที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อยซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่งหรือ “อภิสิทธิ์ชน” แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว โดยไม่มีหน้าที่ มนุษยชนแบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย
• วิกิพีเดีย ให้ความหมายว่า
ประชาธิปไตย (democracy) คือแนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดก่อนหน้า ที่เชื่อว่าประชาชนมีชีวิตอยู่เพื่อเสริมสร้างบารมีหรือความมั่งคั่งให้กับกษัตริย์ หรือมีชีวิตตามความต้องการของพระเจ้า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้เป็นผลจากยุคแสงสว่าง
ประชาธิปไตย หมายถึงระบอบการปกครองประเทศระบอบหนึ่ง ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน คำว่า “ประชาชน” ในที่นี้มิได้หมายความแต่เฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น คนร่ำรวย คนยากจน เจ้าของที่ดิน คนงาน หรือชาวนา เท่านั้น แต่หมายถึง ปวงชนทั้งชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนอย่างไร หรือประกอบอาชีพใดก็ตาม ปวงชนเหล่านี้ย่อมมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ในการปกครองประเทศร่วมกันและอย่างเสมอภาคกัน
ในระบอบประชาธิปไตย ถือความเห็นของปวงชนฝ่ายข้างมากเป็นเกณฑ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในขณะเดียวกันสิทธิของปวงชนฝ่ายข้างน้อย ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งความเห็นฝ่ายข้างมากนั้น จะต้องเป็นความเห็นที่กอปรด้วยเหตุผล และเป็นธรรมด้วย
เมื่อพิจารณาในแง่ของศีลธรรมแล้ว จะเห็นได้แจ่มแจ้งว่า ระบอบประชาธิปไตยนี้ มีหลักการที่มีรากฐานสืบเนื่องมาจากศีลธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยเคารพในความเป็นธรรม (Justice) เหตุผล (reason) เมตตาธรรม (compassion) ความศรัทธาในมนุษยชาติ (faith in man) และความเคารพในเกียรติภูมิแห่งมนุษยชน (human dignity)
เหตุผลสำคัญในเชิงการเมือง ของการจัดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสองประการคือ
ประการแรก : ระบอบการปกครองนี้ส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศโดยทั่วหน้ากัน บุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อร่วมกันทั้งชาติ ย่อมตัดสินใจได้ดีกว่าบุคคลเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียวเท่านั้น และ
ประการที่สอง : ปวงชนทั้งชาตินั้นเอง ควรจะมีสิทธิที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตน และมาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ของปวงชน ไม่มีผู้อื่นใดเหมาะสม ที่จะเลือกผู้บริหารได้ดีกว่าปวงชนนั้นๆเอง
นอกเหนือจากรูปแบบของการใช้อำนาจโดยตรงและผ่านผู้แทนของประชาชนแล้ว สิ่งที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยได้แก่ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมองไปที่ธรรมชาติของมนุษย์ กฎแห่งธรรมชาติ และ สภาวะธรรมชาติ โดยปรัชญารากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถรวบรวมได้ดังนี้
ธรรมชาติของมนุษย์ (Human Nature): มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจต่อโลกภายนอกได้ มีความสามารถในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตน ถึงแม้ดุลยพินิจของมนุษย์จะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะกระทำแต่สิ่งที่ดีสำหรับตนมากกว่าผู้ปกครองตัดสินใจให้ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีการใช้มโนธรรมส่วนบุคคลประกอบการตัดสินใจร่วมกับเหตุผล แต่มโนธรรมที่แตกต่างกันทำให้ประชาคมทางการเมืองต้องอาศัยการวินิจฉัยร่วมกันของคนส่วนใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานแนวคิดของเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) ในการปกครอง
ประชาธิปไตย (democracy) คือ แนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดก่อนหน้า ที่เชื่อว่าประชาชนมีชีวิตอยู่เพื่อเสริมสร้างบารมีหรือความมั่งคั่งให้กับ กษัตริย์ หรือมีชีวิตตามความต้องการของพระเจ้า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้เป็นผลจากยุคแสงสว่าง การนำแนวคิดประชาธิปไตยมาใช้จริงนั้นมีลักษณะเป็นขั้นเป็นตอน จากประชาธิปไตยเชิงรูปแบบ ไปเป็นประชาธิปไตยเชิงเสรี และเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่บางประเทศก็เป็นแค่ในนาม
การปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่อำนาจมาจากประชาชนเป็นการปกครองที่ประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เป็นการปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน
หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยยึดหลักการดังต่อไปนี้คือ
1. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ในกิจการต่างๆ ร่วมกัน
2. หลักอำนาจอธิปไตยโดยปวงชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา
3. หลักอำนาจอธิปไตยเพื่อปวงชน กล่าวคือผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศต้องปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่มิใช่เพื่อหมู่คณะของตนเอง
4. หลักเหตุผล ระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง
5. หลักเสียงข้างมาก เมื่อมีการอภิปรายแสดงข้อคิดเห็นกันแล้วการหาข้อยุติต้องเกิดจากการออกเสียงลงคะแนนเสียง มติของที่ประชุมเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ
6. หลักความยินยอม เป็นการยอมรับฉันทานุมัติจากปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยให้เข้ามาทำหน้าที่แทนใช้อำนาจของประชาชนภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด
7. หลักประนีประนอม เมื่อเกิดข้อขัดแย้งไม่มากนัก ก็อาจมีการประนีประนอมโดยยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเกณฑ์โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเพื่อหาข้อยุติ
8. หลักความเสมอภาค ประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือว่า มนุษย์เกิดมามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาค
9. หลักเสรีภาพ ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องให้เสรีภาพแก่ปวงชนภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการพูด การเขียน การชุมนุม การศึกษาอบรม การรวมตัวกันเป็นสมาคม
10. หลักการปกครองตนเอง เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลในชุมชนหรือท้องถิ่นได้มีโอกาสปกครองตนเอง เพราะประชาชนในท้อง ถิ่นย่อมสามารถรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ดีกว่าบุคคลอื่น
แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนทางการเมืองของเหล่านักคิดและปรัชญาเมธีในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งไม่พอใจกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ความคิดของนักคิดเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางและผู้มีบทบาทในสังคมมีการตีพิมพ์เผยแพร่ความคิดและผลงานของกลุ่มนักปรัชญาอย่างกว้างขวางโดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวซึ่งบุคคลที่เสนอความคิดเกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองอันเป็นรากฐานแนวคิดประชาธิปไตยในเวลาต่อมาที่สำคัญได้แก่
1. จอห์น ลอก ผลงานของจอห์น ลอก ที่เกี่ยวกับการเมือง เล่มสำคัญได้แก่ หนังสือว่าด้วยทฤษฎีการเมืองสองเล่ม ชื่อ “ Two treaties of Government ” เป็นหนังสือที่ว่าด้วย ที่มาของอำนาจทางการเมือง เสรีภาพ การปฏิเสธ อำนาจการปกครองของกษัตริย์และชนชั้นสูง ซึ่งแนวคิดของจอห์น ลอก มีอิทธิพลอย่างมากต่อระบอบการปกครองของอังกฤษ
2. มองเตสกิเออ เป็นนักที่มีแนวคิดต่อต้านอำนาจอันล้นพ้นของกษัตริย์ โดยพยายามรวบรวมข้อเท็จจริงของการปกครองในสมัยโบราณรูปแบบต่างๆ มาวิเคราะห์แยกแยะหาข้อดีข้อเสีย และเสนอหลักการปกครอง
ออกมาในงานเขียนชิ้นเอกของเขา เรื่อง “ The Spirit of Laws” ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่ต้องสอดคล้องกับลักษณะของแต่ละประเทศ การแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งแนวคิดการแยกอำนาจของมองเตสกิเออ เป็นพื้นฐานแนวคิดที่ประเทศปกครองระบอบประชาธิปไตย มักจะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ
3. รุสโซ มีผลงานหลายเล่มที่แสดงทัศนะเกี่ยวกับการศึกษา จิตวิทยา การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและการปกครองบ้านเมืองโดยผลงานชิ้นเอกของรุสโซคือ เรื่อง“ The Social Contract” หรือ “สัญญาประชาคม” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครอง งานเขียนชิ้นนี้ทำให้รุสโซได้รับการยกย่องว่าเป็น “เจ้าทฤษฏีแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน”
การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้แบ่งรูปแบบการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย แบ่งออกได้เป็น 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1) หลักประมุขของประเทศ แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่าน 3 องค์กร คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยผ่านทางรัฐสภาอำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล
มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยประธานาธิบดีจะต้องเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเพื่อทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ ในบางประเทศประธานาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายบริหารด้วย
2) หลักการรวมและแยกอำนาจ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
2.1) แบบรัฐสภา โดยรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมาย ซึ่งอาจมีสภาเดียวหรือสองสภา
สภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง
สองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) มาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภา (สภาสูง) มาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร
รัฐสภามีหน้าที่เลือกบุคคลเข้าเป็นคณะรัฐมนตรี ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลต้องบริหารงานภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา ดังนั้น รัฐบาลจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพจึงต้องได้รับเสียงสนับสนุนพอควรจากรัฐสภา การปกครองระบอบรัฐสภานี้ไม่มีการแบ่งแยกอำจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งสองฝ่ายต่างคานอำนาจกันและกัน( Checks and Balances) กล่าวคือ คณะรัฐบาลจะเข้าบริหารประเทศต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาและรัฐสภามีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลอันส่งผลให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการควบคุมรัฐสภาได้โดยการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนทำการเลือกผู้แทนเข้ามาใหม่ ถ้าหากรัฐสภาไม่ยอมผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น การปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาปัจจุบันมีใช้อยู่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และไทย เป็นต้น
2.2) แบบประธานาธิบดี ซึ่งมีการแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอย่างชัดเจน และมีอิสระในการทำงาน โดยผู้นำประเทศที่ใช้การปกครองรูปแบบนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ประธานาธิบดี จึงเป็นทั้งประมุขของประเทศและฝ่ายบริหารในคนเดียวกัน ซึ่งทั้ง สาม สถาบันจะคอยยับยั้ง ถ่วงดุลอำนาจกันและกันเพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ประธานาธิบดีไม่สามรถยุบสภาได้รวมทั้ง 3 สถาบัน ไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีได้ ประเทศที่ยังใช้ปกครองรูปแบบนี้เช่น สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย บราซิล เป็นต้น
2.3) แบบกึ่งประธานาธิบดี เป็นระบบที่เป็นการผสมผสานระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา
แบบประธานาธิบดี คือ จะมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและฝ่ายบริหารโดยจะมาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจ มากกว่าประธานาธิบดีระบบรัฐสภา สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสามารถยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้ ประเทศที่ใช้การปกครองแบบนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ศรีลังกา เป็นต้น
ประชาธิปไตย ต้องเข้าใจ เข้าให้ถึง จึงจะพัฒนา
ReplyDeleteการเรียกร้อง จากคนของ อำมาตยา
สิ่งได้มา ประชาซิตาย วายชีวา
อีกเก้าศพ ก็ครบร้อย ไม่น้อยนา
ถูกอาญา และบาดเจ็บ อีกมากมาย
อภิสิทธิ์ชน คนอำมหิต ติดอำนาจ
พวกอำมาตย์ คอบงำชาติ เสื่อมสลาย
อำนาจนิยม ข่มปวงชน จนไร้อาย
สื่อความหมาย เผด็จการ ทหารนิยม
จากตุลา วิปโยค โศกไม่สิ้น
พฤษภาทมิฬ ลืมไม่ลง คงขื่นขม
เมษาเลือด ให้เดือดดาน สงกรานต์ระทม
ร้าวระบม ประชาธิปไตย ในบ่วงกรรม
การเรียกร้อง ของมวลชน ผลสุดท้าย
ประชาซิตาย สลายม๊อบ มิชอบธรรม
ฆาตกร คงลอยนวล ชิงการนำ
รอกฏกรรม ทำกฏหมาย ให้คลายมนต์