Thursday, October 7, 2010

การเมืองภาคพลเมืองระดับท้องถิ่น

บาว นาคร*

กระบวนการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นการพัฒนาโดยรัฐหรือจากอำนาจส่วนกลางหรือเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การพัฒนาไม่ตรงกับความต้องการหรือปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนเป็นเพียงผู้รอรับผลของการพัฒนาเท่านั้น

จนมาถึงยุคปัจจุบันในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นกระบวนการที่ก้าวข้ามอำนาจความเป็นรัฐและพรมแดนของรัฐไปสู่ความผูกพันในขอบเขตทั่วโลก โลกาภิวัตน์ไม่ได้มีเพียงมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่แทรกซึมไปในทุกมิติ และกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็ไม่ได้หมายถึงการทำให้เป็นโลกเดียวกันที่เหมือนๆกัน แต่หมายถึง การที่มนุษย์ขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ในทุกๆด้านของตน ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนซื้อขาย การลงทุนกู้ยืมเงิน การติดต่อทางข่าวสาร วัฒนธรรมและการบันเทิง กีฬา ไปในขอบเขตที่กว้างมากขึ้นจนครอบคลุมทั่วทั้งโลก โดยก้าวพ้นไปจากพรมแดนแคบๆของ รัฐชาติตนเอง

คำว่า “ชาติ” เบน แอนเดอร์สัน ได้ให้คำจำกัดความในหนังสือ ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยมว่า ชาติคือชุมชนจินตกรรมการเมืองและจินตกรรมขึ้นโดยมีทั้งอธิปไตยและมีขอบเขตจำกัดมาตั้งแต่กำเนิด

ดังนั้น โลกาภิวัตน์จึงมีผลกระทบต่อโลกในหลากหลายมิติ และในอนาคตผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้แก่ ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน การแย่งชิงทรัพยากรที่นับวันจะหายากมากขึ้นทุกที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน การแบ่งแยกทางสังคมเศรษฐกิจและการเบียดขับคนส่วนใหญ่ในโลกให้อยู่ชายขอบมากขึ้น และ การแพร่กระจายเทคโนโลยีทางการทหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เมื่อกล่าวถึงคำว่า โลกาภิวัตน์ นั้นก็ต้องไม่ลืมคำว่า “ท้องถิ่น” หรือ “ท้องถิ่นนิยม” เป็นกระแสของชุมชนท้องถิ่นที่มีรากฐานทางทรัพยากร ภูมิปัญญา พัฒนาการและประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของตนเอง ขณะเดียวกันก็เป็นท้องถิ่นที่ไม่หยุดนิ่ง ตายตัว เป็นท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย สลับซับซ้อน นอกจากนี้ ท้องถิ่นยังเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเองทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรมและภูมินิเวศน์ รวมทั้งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับภูมิภาค ชาติ นานาชาติ และโลกอย่างแยกกันไม่ออก เราจึงไม่อาจจะตัดขาดกระแสท้องถิ่นภิวัตน์ออกจากกระแสโลกาภิวัตน์ได้เลย เพราะทั้งสองกระแสคือ สองด้านของเหรียญเดียวกันที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

กระบวนการท้องถิ่นนิยมที่เกิดขึ้นและกำลังเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ซึ่งสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ได้จากงานเขียน งานวิจัย ที่ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการ สื่อมวลชน นักคิดและปราชญ์พื้นบ้าน และมองผ่านปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น ทั้งทางด้านการจัดการทรัพยากรในชุมชน การเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมของคนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ และมองผ่านปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน และกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ในรูปแบบต่างๆ เช่น องค์กรภาคประชาชน องค์กรวิชาชีพ องค์กรพัฒนาเอกชน และขบวนการประชาสังคมที่เคลื่อนไหวของภาคพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการบริหารการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาแนวทางการพัฒนากระแสหลักในสังคมไทยนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ อุดมการณ์ทุนนิยม และอุดมการณ์ของรัฐชาติ ซึ่งเป็นลักษณะวัฒนธรรมที่ยึดติดกับรูปแบบตายตัว ทำให้ทิศทางการพัฒนามุ่งไปสู่ความทันสมัยเพียงทางเดียว และจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม การส่งเสริมระบบกรรมสิทธิ์เอกชน การพัฒนาอำนาจรัฐและกฎหมาย

จนมาถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ใน มาตรา 281- 290 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังต่อไปนี้ 1) ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น 2) การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น 4) คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น 5) การลงคะแนนเสียงถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น 6) การเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ อปท. พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น 7) การมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของ อปท. 8) องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น 9) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น 10) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้นได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น

การพิจารณาท้องถิ่นนิยมควบคู่ไปกับโลกาภิวัตน์อาจช่วยให้เราได้มองเห็นว่า ท้องถิ่นนิยมโดยเนื้อแท้แล้วก็คือ อุดมการณ์ความคิด ความรู้หรือปฏิบัติการทั้งในระดับวาทกรรมและระดับปรากฏการณ์ เพื่อตอบโต้การพัฒนาที่ยึดเอาศูนย์กลางอำนาจรัฐ เมืองและภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นนิยมยังเป็นการตอบโต้อำนาจและการครอบงำของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ปรากฏในนามขององค์กร บรรษัทข้ามชาติและตัวแทนของทุนนิยมในระดับต่างๆ แม้จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ท้องถิ่น” มักจะให้ความสำคัญกับรูปแบบองค์กรหรือในเชิงโครงสร้างเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีสภาพัฒนาการเมือง ที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรท้องถิ่น แต่ว่านโยบายรัฐบาลก็ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกเป็นเจ้าของท้องถิ่น อัตลักษณ์ของท้องถิ่น การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยในท้องถิ่น การเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทำอย่างไรจะให้ทั้งระดับนโยบายและระดับองค์กรที่ขับเคลื่อนต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมืองอย่างแท้จริง

คำว่า ประชาธิปไตย นั้น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เน้นย้ำว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน และย้ำว่า ประชาชน ควรเป็นเจ้าของประชาธิปไตยให้มากที่สุด ซึ่งการให้นิยามใหม่ที่มีจุดย้ำใหม่ ประชาธิปไตยเป็น “การปกครองตนเอง”ของประชาชน (Self-Government Democracy) แทนที่จะเป็นการปกครองที่ “ทำแทน”ประชาชนหรือทำ “ให้”ประชาชน (Representative Democracy) ชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็น่าจะช่วยสร้างความเป็นพลเมืองได้ดียิ่งขึ้นและน่าจะช่วยหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่ “ประชาธิปไตย” จะลื่นหลุดไปเป็น “ประชานิยม”ไปได้

ประชาธิปไตยชุมชน จึงเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง หรือพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนหรือกลุ่มองค์กรชุมชน องค์กรท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาชนที่มีความหลากหลายได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีอิสระ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายในการทำกิจกรรมร่วมหรือการปรึกษาหารือร่วมกัน ดังนั้น การเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม ระดับเครือข่ายในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และเป็นรูปแบบปฏิบัติการ ของกลุ่มองค์กรทางสังคม ดังที่ ณรงค์ บุญสวยขวัญ ได้สรุปไว้ว่า การพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองจึงต้องมีการพัฒนากลไกกระบวนการ นั่นคือ การพัฒนาทางด้านองค์กร การพัฒนาทางด้านความไว้วางใจ การพัฒนาทางด้านผู้นำ การพัฒนาทางด้านการเชื่อมโยงเครือข่าย การพัฒนาทางด้านการเกณฑ์หรือการระดม การสื่อสารและการทำให้เป็นข่าวหรือเป็นประเด็นสาธารณะ โดยที่องค์กรทางสังคมนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านในการบริหารจัดการ ร้อยรัดสมาชิกในองค์กรให้มีความเป็นสมาชิกที่ดูแลทรัพยากรของกลุ่มองค์กรมีความตื่นตัวเข้ารับผิดชอบในกิจกรรม เป็นต้น
โดยสุดท้ายกระบวนการสร้างการเมืองภาคพลเมืองนั้น เริ่มจากระดับท้องถิ่นที่มีความหลากหลายของกลุ่มภาคประชาชนต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเป็นพลังขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองและยกระดับการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยต่อไป

เอกสารอ้างอิง
คริส แอ็บบอต,พอล โรเจอร์สและจอห์น สโลโบดา. เผชิญภัยคุกคามโลก: ศตวรรษที่ 21กับความมั่นคงที่ยั่งยืน.กรุงเทพมหานคร:โครงการจัดพิมพ์คบไฟ,2550.

ธีรยุทธ บุญมี.ชาตินิยมและหลังชาตินิยม(Nationalism and Post Nationalism).กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร,2546.

เบน แอนเดอร์สัน. ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม.กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,2552.

พัฒนา กิติอาษา. ท้องถิ่นนิยม(Localism). กรุงเทพมหานคร:กองทุนอินทร์- สมเพื่อการวิจัยทางมานุษยวิทยา,2546.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. วิธีคิดเชิงซ้อนในการวิจัยชุมชน: พลวัตและศักยภาพของชุมชนในการพัฒนา.กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,2544.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. ทักษิณา-ประชาธิปไตย.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน,2550.

No comments:

Post a Comment