Sunday, October 17, 2010

ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์

"ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์ชน จนร้องหาความปรองดอง"

การเมืองไทย 2553 : ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์

โดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1.ภูมิหลังปัญหาและความต่อเนื่องของความขัดแย้งการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 มิได้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งกำจัดพรรคไทยรักไทยเท่านั้น แต่ต้องการกำจัดการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อการหวนคืนสู่อำนาจของการเมืองระบอบคณาธิปไตย โดยรัฐสภาที่มีเครือข่ายคณะรัฐประหารในกองทัพ ผู้ร่วมผลประโยชน์ภายนอกกองทัพ (ดังปรากฏบทบาทและตัวตนของบุคคลรวมทั้งองค์กรต่างๆหลากหลายวิชาชีพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) ร่วมกันสืบทอดอำนาจปกครองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายอื่นทั้งที่มีอยู่แล้วและที่บัญญัติขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับการสืบทอดอำนาจภายในเครือข่ายคณะรัฐประหาร(รวมทั้งการกำจัดปรปักษ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย)

วิธีการหวนคืนสู่ระบอบคณาธิปไตยและสืบทอดอำนาจการเมืองการปกครองของเครือข่ายคณะรัฐประหาร 2549 กระทำเป็นกระบวนวิธีมีลำดับขั้นตอน โดย
1.1 ยึดอำนาจการเมืองด้วยกำลัง วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 แต่ภายหลังได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเอง
1.2 จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
1.3 มอบหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารเขียนบทบัญญัติทางกฎหมายกำหนดขั้นตอน ซ่อนวิธีสืบทอดอำนาจ และการควบคุมการเมืองการปกครองในรัฐสภาโดยใช้กฎหมายหรือนิติวิธี สืบเนื่องต่อจากช่วงเวลาที่ต้องการควบคุมด้วยกำลังอาวุธ (ได้แก่ บทบัญญัติว่าด้วยวุฒิสภา บทบัญญัติว่าด้วยการสรรหาองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาลเป็นสำคัญ)

ท่ามกลางความสำเร็จดังกล่าว เครือข่ายรัฐประหาร 2549 ประสบความล้มเหลวในเบื้องต้น (ทั้งๆที่ใช้ทุนสาธารณะของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งออกคำสั่งบังคับให้บุคลากรของกองทัพเป็นเครื่องมือสนับสนุนความพยายามของตน) คือความล้มเหลวของเครือข่ายรัฐประหารในการขัดขวางไม่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกพรรคพลังประชาชน (พรรคการเมืองที่เอกสารทางทหารของคณะรัฐประหารระบุว่าเป็น “กลุ่มอำนาจเก่า” สืบแทนพรรคไทยรักไทย) เป็นผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม 2550 และความล้มเหลวต่อเนื่องที่ไม่สามารถขัดขวางพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2551

จากนั้นตลอดปี 2551 เครือข่ายคณะรัฐประหารจึงตกอยู่ในสภาพ “แบ่งงานกันทำ” (และประสานงานกันบางส่วน) ในการขัดขวางสร้างอุปสรรคไม่ให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนบริหารประเทศได้โดยสะดวก เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ชื่อจัดตั้งตนเองไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์จริง) ใช้กำลังบุกทำลายทรัพย์สินของสถานีโทรทัศน์ของรัฐในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสนามบิน ผู้นำกองทัพและข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกลุ่มผู้ใช้กำลังและอาวุธกระทำการอันมีผลกระทบต่อความมั่งคงของรัฐและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศดังกล่าว ตอบสนองคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคพลังประชาชนด้วยการอิดเอื้อนรีรอ รวมทั้งบางส่วนแสดงท่าทีสนับสนุนแกนนำพันธมิตรฯและแถลงคล้อยตามการอ้างสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินงานประสานกันนำไปสู่การทำคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งต้นเดือนธันวาคม 2551

พรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2551 โดยมีนายทหารจากเครือข่ายแกนนำกองทัพประสานงานสนับสนุนร่วมกับนักการเมืองย้ายพรรคจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางสภาพปัญหาความขัดแย้งต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 1ปี ดำรงตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งยาวนานกว่าพรรคพลังประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับเครืองข่ายคณะรัฐประหาร

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้รับ “การรับรอง” ความเหมาะสมจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็มักปรากฎกายแถลงความเห็นทางการเมืองและเรื่องหลักการทั่วไป (คล้ายวิธีแสดงความคิดเห็นเชิงหลักการของนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ต่อสื่อมวลชน โดยมีนายทหารระดับแกนนำกองทัพ รวมทั้งแกนนำคณะรัฐประหาร 2549 เช่น พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา แวดล้อมในขณะแถลงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ดังนั้นสาธารณชนไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงเกิด “ความกระจ่างชัด” ขึ้นตามลำดับว่าความร่วมมือทางการเมืองระหว่างอดีตผู้นำกองทัพ ผู้นำกองทัพในปัจจุบัน และพรรคประชาธิปัตย์(รวมทั้งคนอื่นๆที่ปรากฏตัวตนเข้าร่วมสนับสนุนเครือข่ายรัฐประหาร 2549 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) เป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายบุคคลในกลุ่มหรือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (นักการเมืองที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำ)

ความกระจ่างชัดดังกล่าวได้พัฒนาเกินเลยจุดที่บรรดาผู้นำเครือข่ายรัฐประหารทั้งในและนอกกองทัพ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์สามารถจะปกปิดหรือกลบเกลื่อนความร่วมมือทางการเมืองระหว่างกันต่อไปได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อต่อสาธารณชนวงกว้าง (ตัวอย่างเช่น คำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยใช้โน้มน้าวประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่าพรรคของตนเป็นพรรคการเมืองที่ “ต่อสู้เผด็จการ” จะมีคนเชื่อถือน้อยลงตามลำดับ คำแถลงส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีบางท่านที่พยายามฟื้นฟูความน่าเชื่อถือทางการเมืองให้พลเอกเปรมผู้ก้าวล่วงเข้าไปเป็น “ฝ่าย” ทางการเมืองในความขัดแย้งดังกล่าว เช่น คำแถลงว่า “องคมนตรีเป็นกลาง” จะมีสาธารณชนจำนวนมากรับรู้เพียงว่าหลักการต้องเป็นกลางแต่ทางปฏิบัติไม่เป็นจริงเช่นนั้น) ความกระจ่างชัดดังกล่าวเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆของแกนนำเครือข่ายรัฐประหาร โดยเครือข่ายรัฐประหารดังกล่าวไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นแต่ขัดขวางมิให้เกิดขึ้นไม่ได้

นอกเหนือจากความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และการดำรงตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งและการปฏิเสธของประชาชนวงกว้าง รวมทั้งประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 มาเป็นเวลายาวนานถึง 1 ปี รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายผลประโยชน์ทางการเมืองประสบความสำเร็จในการเสนอญัตติให้รัฐสภาอนุมัติกฎหมายเงินกู้สาธารณะ 2 ฉบับ วงเงินรวมทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท สาระสำคัญเป็นการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงินดังกล่าวมาใช้จ่ายตามโครงการและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและเครือข่าย แต่ผลักภาระหนี้สินเป็นของประชาชน

ในต้นปี 2553 มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะโฆษณาชวนเชื่อด้วย “ข่าวสารด้านเดียว” ว่าผลการบริหารของตนทำให้เศรษฐกิจเริ่ม “กระเตื้องขึ้น” ในช่วงไตรมาสท้ายของปี 2552 โดยใช้ตัวเลขเปรียบเทียบกับระดับจีดีพีไตรมาสท้ายของปี 2551 (ช่วงปลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนซึ่งเศรษฐกิจชะงักงันอย่างรุนแรง จากผลของการถูกก่อกวนทางการเมืองตลอดปี รวมทั้งการใช้กำลังบุกยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิโดยกลุ่มพันธมิตรฯ) แต่ก็มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกันว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อาจพ้นจากตำแหน่งไปภายในปี 2553 เนื่องจากการดำรงตำแหน่งต่อไปนอกจากจะไม่สามารถใช้อำนาจบริหารที่มีอยู่ตอบสนองผลประโยชน์ของเครือข่ายรัฐประหารเพิ่มขึ้นมากนัก แล้วยังจะปรากฏ “ผลย้อนกลับทางการเมือง” ที่เป็นโทษมากขึ้นตามลำดับ ทั้งต่อสถานะทางการเมืองระยะยาวของพรรคประชาธิปัตย์เอง และต่อสถานะของบุคคลและองค์กรในเครือข่ายรัฐประหาร ผลย้อนกลับที่เป็นโทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในเครือข่ายผลประโยชน์คณะรัฐประหาร รวมทั้งต่อนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์บางคนเป็นโทษทางอาญา ซึ่งในอนาคตอาจไม่สามารถอ้างมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเหตุให้พ้นผิดได้

2. ทางตันของคณะรัฐประหาร 2549 และการต่อต้านรัฐประหารครั้งใหม่
ในปี 2553 เครือข่ายรัฐประหารและพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเผชิญกับสภาพปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้อย่างไม่ลดราวาศอกจากขบวนการภาคประชาชนเครือข่าย “นปช.” ที่มีแนวร่วมมวลชนทั่วประเทศสนับสนุน เครือข่ายรัฐประหารที่หนุนหลังการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะยิ่งถูกแนวร่วมประชาชนผลักดันให้ตกอยู่ในสภาพ “ทางตัน” ที่แม้ว่าจะสามารถใช้กลไกรัฐสภาและอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการตามรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเป็นประโยชน์ในการดิ้นรนสืบทอดอำนาจให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศตามต้องการ ทั้งยังไม่สามารถดำเนินกระบวนการวิธีจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์(จากมาตรการเพิ่มภาษีและเงินกู้ภาครัฐ)เพิ่มเติมมากนัก นอกเหนือไปจากการคิดหาเทคนิคและความพยายามแนวทางใหม่ๆเพื่อใช้เงินกองทุนสาธารณะอื่นๆรวมทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในธนาคารแห่งประเทศไทย

การเผชิญหน้าท้าทายกับมวลชน นปช. ที่มีกลยุทธ์ยืดหยุ่นพลิกแพลงตอบโต้มาตรการของรัฐในการควบคุมหรือขัดขวางการชุมนุมของประชาชนได้ตลอดเวลา(ทั้งในปี 2552 และ 2553) จะยิ่งทำให้มาตรการต่างๆของเครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อ่อนล้าประสิทธิภาพลงยิ่งกว่าสภาพในปี 2552

แม้ว่าจะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 หนุนหลังรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจ แต่การต่อสู้และความขัดแย้งต่อเนื่องทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งบุคลากรของกองทัพในเครือข่ายรัฐประหาร ไม่สามารถกำจัด ควบคุม หรือปราบปรามแนวร่วมประชาชนเครือข่ายนปช. แม้จะได้ใช้ความพยายามแสนสาหัสตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (แม้แต่การขัดขวางไม่ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับออกไปนอกประเทศอีกครั้งในปี 2551 โดยพยายามใช้อำนาจตุลาการขณะที่พรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำรัฐบาล แต่กลุ่มอำนาจในเครือข่าย “ตุลาการภิวัฒน์” ที่เป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ก็ขัดขวางการเดินทางออกนอกประเทศครั้งดังกล่าวไม่สำเร็จ)

การดำรงอยู่ของความขัดแย้งและความสามารถในการยืนหยัดของแนวร่วมประชาชนทั่วประเทศ ในการท้าทายอำนาจบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2552 รวมทั้งการประกาศยกระดับการท้าทายทางการเมืองเพิ่มขึ้นในปี 2553 มีน้ำหนักเป็นข้อยืนยันที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่าคณะรัฐประหารและเครือข่ายผู้สืบทอดอำนาจไม่สามารถ “กำราบ” ประชาชนให้ “นิ่ง” ทางการเมืองตามต้องการเพื่อความสะดวกของเครือข่ายรัฐประหารดังกล่าวในการครอบครองอำนาจและจัดสรรผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นในปี 2553 จึงมีผู้คาดการณ์กันมากขึ้นว่าอาจเกิดการยึดอำนาจด้วยกำลังกองทัพอีกครั้งในฐานะที่เป็นวิธี “กำราบ” ขั้นเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การที่ผู้บัญชาการทหารบก(พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา) ออกตัวทางการเมืองอีกครั้งในช่วงปลายปี 2552 โดยแถลงต่อสาธารณชนให้ “ลืม” เรื่องการก่อรัฐประหารและการนองเลือดในปี 2552 แทนที่จะช่วยให้สาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนเสื้อแดง” ลืม แต่กลับเกิดความตื่นตัว ระมัดระวัง และเตรียมการกับความพยายามของผู้นำกองทัพในการยึดอำนาจครั้งใหม่มากขึ้น โดยมีตัวอย่างการรัฐประหาร 2549 ที่เรียกกันในแวดวงสื่อมวลชนว่า “รัฐประหารทีเผลอ” เป็นบทเรียน

การปรากฏตัวของผู้นำกองทัพ ข้าราชการประจำระดับสูง และผู้นำวงการตุลาการจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมอวยพรปีใหม่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงปลายปี 2552 หากพิจารณาให้ละเอียดรอบด้านจะเห็นว่า “แนวร่วม” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีเพียงกลุ่มคนในแวดวงจำกัดเพียงใด และยังอาจเห็นได้ชัดเจนขึ้นด้วยว่ากลุ่มคนหลากหลายอาชีพของสังคมไทยปัจจุบัน รวมทั้งอดีตผู้นำในกองทัพ (แม้ว่าในอดีตจะเคยปรากฏตัว “เคียงข้าง” พลเอกเปรม) กำลังแสดงการปฏิเสธ รวมทั้งอยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักทางการเมืองเนื่องจากไม่แน่ใจในศักยภาพของการทำรัฐประหารอีกต่อไป

หากมีความพยายามยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพในปี 2553 (สภาพ “ทางตัน” ของเครือข่ายรัฐประหาร รวมทั้งแรงกดดันทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกรัฐสภาให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นปัจจัยกดดันเพิ่มน้ำหนักการตัดสินใจยึดอำนาจ) การพยายามใช้กำลังยึดอำนาจดังกล่าวจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ขณะที่เครือข่ายมวลชนนปช.ทั่วประเทศในปัจจุบัน (และกลุ่มพลังเงียบประเมินจำนวนมิได้) มีศักยภาพการรวมตัว การชุมนุม และการต่อต้านกองกำลังทหารที่กระทำผิดทั้งทางอาญาและทางการเมืองอย่าง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และถูกต้องตามกฎหมายในฐานะประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันตามรัฐธรรมนูญ

ในกรณีหากมีความพยายามยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพดังกล่าว สภาวะ “การเมืองนองเลือด” จะเกิดขึ้นได้ต่อไป โดยเป็นไปได้ทั้งสภาวะการเมืองนองเลือดแบบ “กรณี 14 ตุลาคม 2516 หรืออาจเป็นกรณี 6 ตุลาคม 2519” (ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการกรณี 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่ฝ่ายคณาธิปไตยต้องการกรณี 6 ตุลาคม 2519) จนถึงปลายเดือนธันวาคม 2552 สาธารณชนยังไม่เห็นรูปธรรมของการตกลงเจรจาคลี่คลายความขัดแย้ง การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีวุฒิสภาเป็นแกนหลักผลักดัน โดยพยายามเบี่ยงเบนไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพียง 2-6 มาตรา เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารงานของรัฐบาลและเพื่อลดต้นทุนการหาเสียงแบบแบ่งเขตของพรรคการเมืองในอนาคต ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเด่นในช่วงปี 2552 ไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่ระดับโครงสร้างของปัญหา แต่ยิ่งจะนำไปสู่การสะสมความขัดแย้งแบบเก็บกดระหว่างสองฝ่ายมากขึ้น พัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งด้วย “การเจรจา” เท่าที่ปรากฏร่องรอยให้วิเคราะห์สรุปได้คือ ฝ่ายประชาธิปไตยเสนอการยุติความเคลื่อนไหวในเครือข่ายมวลชนของตน หากมีการดำเนิการให้เป็นผลใน 3 เรื่อง ได้แก่
(1) การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาบังคับใช้
(2) นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา
(3) จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปด้วยความยุติธรรมและเคารพกติกาประชาธิปไตย
ขณะที่ฝ่ายคณาธิปไตยไม่เสนอว่าตนจะยินยอมถอนตัวออกจากอำนาจควบคุมทางการเมืองอย่างไร แต่ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ข้อเสนอการเจรจาดังกล่าว (ผ่านการสนทนาระหว่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับผู้สื่อข่าว การให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ว่าต้องการให้อีกฝ่ายยุติการขัดขวางการทำงานของรัฐมนตรีที่เดินทางไปในพื้นที่ ต้องการให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุติการเคลื่อนไหวและกลับมารับโทษจำคุกในประเทศไทย และไม่ต้องการยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550

ดังนั้น สภาวะการเมืองในปี 2553 จึงยังไม่ปรากฏรูปธรมของ “การสมานฉันท์” เกิดขึ้นให้สังเกตเห็นได้จากข่าวสารข้อมูลที่สาธารณชนรับรู้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งยังมีความต้องการสวนทางกัน คือฝ่ายหนึ่งต้องการให้ “ระบอบอำมาตย์” ถอนตัวออกไปจากการควบคุมอำนาจการเมืองไทย ขณะที่อีกฝ่ายแสดงเจตนาสืบทอดอำนาจการปกครองโดยต้องการให้ประชาชนและกลุ่มพลังการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน “ยอมรับ” การสืบทอดอำนาจการปกครองดังกล่าว สภาวะการเมืองไทย พ.ศ.2553 จะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสภาพพื้นฐานข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่ายังมีความต่อเนื่องของความขัดแย้งจากภูมิหลังปัญหาข้างต้น

3. สถานะของประเทศในอาเซียนและประชาคมโลก
ตลอดเวลากว่า 3 ปีนับตั้งแต่คณะผู้นำกองทัพตัดสินใจก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สถานะทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้พัฒนาถดถอยตกต่ำลงตามลำดับ รูปธรรมการถดถอยโดยรวม ได้แก่ การที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศเครือข่าย “ประเทศประชาธิปไตยนานาชาติ” ในปี 2550 รัฐบาลพรรคพลังประชาชนต้องตัดสินใจเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2551 เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ท่ามกลางการเคลื่อนไหวแบบใช้กำลังโดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาในเดือนเมษายน 2552 แต่ต้องยุติการประชุมตั้งแต่ช่วงวันแรก ท่ามกลางความเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงโดยมวลชนนปช. รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีเกิดประเด็นการโต้เถียงที่มิใช่การเจรจาทางการทูต แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทั้งในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนตุลาคม 2552 และภายหลังการประชุมโดยมีสื่อมวลชนนานาชาติรับรู้และรายงานข่าวไปทั่วโลก ทั้งนี้นอกเหนือไปจากความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่ามาจากสาเหตุเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยละเว้นที่จะแถลงรายละเอียดผลกระทบจากความถดถอยที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือถูกซ้ำเติมจากการก่อความวุ่นวายทางการเมืองโดยเครือข่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนตลอดปี 2551 เช่น การสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยว ที่ตัดสินใจยกเลิกหรืองดเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงที่เกิดความวุ่นวาย เป็นต้น

การฟื้นฟูสถานะและความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐไทยภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะเป็นภาระงานที่ยากจะประสบความสำเร็จคืบหน้ามากนักในปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเกิด “กรณีปัญหามาบตาพุด” ที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ(โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น)ลดลง ทั้งในประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นในการเป็นประเทศเศรษฐกิจเสรีตามกติกาสากลและความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในศาลไทย

สภาวะความตกต่ำถดถอยในสถานะของประเทศที่สะสมเป็น “ทุนติดลบ” พอกพูนตามลำดับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นส่วนหนึ่งของ “ปัจจัยต้านทาน” การตัดสินใจก่อการยึดอำนาจครั้งใหม่ เนื่องคณะผู้วางแผนหรือคิดเตรียมการยึดอำนาจครั้งใหม่ประเมินได้ว่า แม้กลุ่มตนอาจประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งใหม่ แต่โอกาสในการแสวงหา “ส่วนต่างผลประโยชน์แห่งชาติ” รวมทั้งปริมาณส่วนต่างผลประโยชน์ที่กลุ่มตนจะแสวงหาได้โดยใช้อำนาจภายหลังยึดอำนาจ จะยิ่งจำกัดแคบลงยิ่งกว่าสภาพการณ์ในปี 2550 และปี 2552 ความพยายามเชื้อเชิญนักลงทุนจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อสร้างหรือเพิ่มพูน “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ให้รัฐบาลไทยใช้บริโภค จัดสรร และดำเนินการต่างๆทางเศรษฐกิจการเมืองภายหลังการยึดอำนาจครั้งใหม่ จะเป็นความพยายามที่แกนนำคณะรัฐประหารเองไม่มั่นใจในผลสัมฤทธิ์ทางปฏิบัติ แม้ว่าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในเครือข่ายคณะรัฐประหารจะยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจของไทยยังเข้มแข็งและ “น่าลงทุน” สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ

ตลอดปี 2552 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถูก “ต้อน” ให้ตัดสินใจดำเนินการทางการเมืองที่สัมฤทธิ์ผลส่วนใหญ่เป็นการผลักดันทางการเมืองให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายรัฐประหารเคลื่อนเข้าสู่ “ทางตัน” ของกลุ่มตนตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการภายในประเทศที่ไร้ผล เนื่องจาก นปช.สามารถพลิกแพลงยืดหยุ่นการนัดชุมนุมของตนได้ตลอดเวลา รวมทั้งมาตรการทางการเมืองระหว่าประเทศ เช่น การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตภายหลังเกิดกรณี “วิวาทะไทย-กัมพูชา 2552” ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับสมเด็จฮุนเซ็นในเดือนตุลาคม 2552

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2553 จะเผชิญกับสภาพปัญหาและ “ทางตัน” ที่ทำให้อาจไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไปได้ถึง “ปีกระต่าย”(พ.ศ.2554) ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อต้นปี 2553 ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันอาจกำหนดเป้าหมายการดำรงตำแหน่งให้ครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน(อีกประมาณ 2 ปี)

4. พลังและอำนาจต่อรองของฝ่ายที่ขัดแย้ง
รายละเอียดข้อเท็จจากกระแสการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย ท่ามกลางความต่อเนื่องของพลวัตรความขัดแย้งตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นตามลำดับว่าแต่ละฝ่ายมี “จุดแข็ง” หรือความเข้มแข็งของ “ปัจจัยการต่อสู้” แตกต่างกัน
1.รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหนุนหลังมีจุดแข็งอยู่ใน “กำลังอาวุธของกองทัพ” ที่บุคลากรในเครือข่ายอำนาจของตนสามารถครอบครองตำแหน่งบังคับบัญชาการสูงสุดอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่อีก “ “ฝ่าย” หนึ่ง(ประชาธิปไตย) มีปัจจัยเข้มแข็งสูงสุดอยู่ใน “แนวร่วมประชาชน” จำนวนมากมายยิ่งกว่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การต่อต้านอำนาจรัฐไทยทุกครั้งที่ผ่านมา(ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านโดยขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด) ทั้งยังมีเครือข่ายประชาชนแบบ “หลายศูนย์กลาง” นอกเหนือไปจากศูนย์กลางแกนนำ นปช.ที่กรุงเทพฯ ยังมีศูนย์กลางแนวร่วมมวลชน นปช.ในต่างจังหวัด และศูนย์กลางแนวร่วมมวลชนที่ดำเนินงานเป็นเอกเทศ แต่ผูกพันเป้าหมายทางการเมืองคล้ายคลึงกันกับกลุ่มนปช.ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด (ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวนี้เป็นที่เปิดเผยรับรู้อย่างเป็นสาธารณะมาก่อนแล้ว แต่บางกรณีถูกตีความคลาดเคลื่อน โดยสื่อมวลชนบางสำนักชี้ว่าเป็น “ความแตกแยก” ภายในกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่บางกรณีอาจมีการจัดตั้งกลุ่มมวลชน เพื่อแอบแฝงหรือปะปนแทรกซึมสู่กระบวนการคนเสื้อแดงโดยยุทธวิธีที่หน่วยงานในสังกัด “รัฐเผด็จการทหาร” ในอดีต เช่น กอรมน.และสภาความมั่นคงแห่งชาติเคยใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองยุค “สงครามเย็น”)

สภาวะการก่อตัวเพิ่มพูนเครือข่ายมวลชนต่อต้านการรัฐประหารแบบ “หลายศูนย์กลาง” ที่ดำเนินต่อเนื่องได้ตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงปี 2551 ที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช สามารถหยัดยืนดำรงตำแหน่งบริหารเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหาร) เป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้อีกฝ่ายประสบความยากลำบากในการบั่นทอนและยากต่อการใช้กำลังอาวุธเข้ากวาดล้างปราบปรามแบบเบ็ดเสร็จโดยอาศัยอำนาจรัฐที่ครองอยู่ แม้ว่าเครือข่ายคณะรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันจะเคยดำเนินการ “ยุทธการนำร่อง” ที่มุ่งหมายการฝึกปฏิบัติการด้วยวิธี “สนธิกำลังทหาร ตำรวจ” เข้าตรวจค้นจับกุมและจู่โจมศูนย์กลางวิทยุชุมชนของเครือข่ายมวลชนในจังหวัดภาคเหนือมากกว่า 1 ครั้งระหว่างปี 2552 แต่การประเมินผลเชิงยุทธการของการดำเนินปฏิบัติการทดสอบนำร่องดังกล่าวไม่เป็นที่เปิดเผย

2.ระหว่างปี 2550-2552 การโฆษณาชวนเชื่อของเครือข่ายรัฐประหารว่าเป็นฝ่ายที่จงรักภักดีและทำงานรับใช้เบื้องสูง(ชาติ ศาสน์ กษัตริย์) ยังมีผลสัมฤทธิ์เป็นพลังเกื้อหนุนการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่การอ้างสถานบันเบื้องสูงเป็น “เกราะกำบัง” เครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2553 จะลดประสิทธิภาพลง โดยสาธารณชนวงกว้างมากขึ้นจะเริ่มขาดความเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวตามลำดับ ปรากฏการณ์เช่นนี้สังเกตเห็นได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงกลางปี 2552 ขณะเดียวกันกลุ่มมวลชนที่ปราศรัยปลุกระดมแนวทางการต่อสู้ “โค่นล้มระบอบอำมาตย์” ด้วยการโน้มน้าวความคิดให้ประชาชนเชื่อใน “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอำมาตย์กับสถาบันกัตริย์” จะได้รับการสนับสนุนจากมวลชนน้อยลงตามลำดับเช่นกัน สภาวะดังกล่าวจะยิ่งทำให้เครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งพรรคภูมิใจไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบายกลุ่มพลัง “เสื้อสีน้ำเงิน”)ประสบความยากลำบากมากขึ้นในการอ้างใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวมวลชนที่ปราศรัยอย่างเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ในการกล่าวหาแกนนำนปช. และมวลชนคนเสื้อแดงในเครือข่ายนปช.ว่ามีจึดมุ่งหมายในการ “ล้มเจ้า” การโฆษณาชวนเชื่อแบบ “เอาดีใส่ตัว”ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหนุนหลัง รวมทั้งกลุ่มผู้นำกองทัพที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้จงรักภักดี และการโฆษณาชวนเชื่อแบบ “เอาชั่วใส่ผู้อื่น” ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำนปช. และมวลชนเสื้อแดงมีเจตนา “ล้มเจ้า” จะหย่อนประสิทธิภาพลงมากในปี 2553 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องเป็นการลดทอนความเข้มแข็งในพลังของเครือข่ายรัฐประหารและผลักดันให้การเมืองไทยไปสู่ทางตันมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากจุดยืนผลประโยชน์ของเครือข่ายคณะรัฐประหาร

3.รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอาจยังคงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการทางรัฐสภาของพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ยังคงถูกใช้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในการสืบทอดอำนาจและต่อสู้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2553 แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการจัดการชุมนุมประชาชนและการใช้สิทธิทางการเมืองของแนวร่วมมวลชนนปช.แต่อย่างใด ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2550แม้ว่าจะสามารถถูกใช้เป็น “เครื่องมือสืบทอดอำนาจทางการเมือง” ให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหลังการรัฐประหารได้ในทางปฏิบัติ แต่รัฐธรรมนูญแบบคณาธิปไตยฉบับดังกล่าวก็ไม่สามารถจะเป็น “เครื่องมือต่อต้านการชุมนุม” ที่มวลชนนปช.จะดำเนินการต่อไป ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามมวลชนนปช.จะคาดหวังหรือแม้แต่พยายามสร้างสถานการณ์ให้การจัดการชุมนุมประชาชนในเครือข่ายนปช. มีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ความผิดฐานเป็นกบฎตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และความผิดที่เกี่ยวพันกันตามมาตรา 114-118) แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์และการศึกษาข้อกฎหมายภายในแวดวงแกนนำนปช. รวมทั้งการเผยแพร่เรียนรู้สู่มวลชนนปช.ตามโครงการ “โรงเรียนนปช.” ตลอดปี 2552 ที่ผ่านมา จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการกระทำผิดดังกล่าวหรือช่วยลดความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการแทรกแซงที่ควบคุมได้ยากในการดำเนินกระบวนการมวลชนประชาธิปไตย

การเมืองไทยในปี พ.ศ.2553 ไม่ใช่ “การเมืองที่ดี” ในทัศนะ จุดยืน ผลประโยชน์ของเครือข่ายระบอบคณาธิปไตย แต่จะเป็น “การเมืองที่ปั่นป่วนวุ่นวาย” ซึ่งเครือข่ายรัฐประหาร 2549 พรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายอำนาจการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 รวมทั้งสำนักโพลที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งพยายามเรียกร้องให้ประชาชนยุติการเคลื่อนไหว ******************************
บรรยายในการสัมมนาหัวข้อ “การเมืองไทย 2553 : ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์”
จัดโดยผู้นำการพัฒนาประชาธิปไตย รุ่น 1-3 มูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3 comments:

  1. ตั้งสติ เกิดปัญญา พารู้คิด
    อภิสิทธิ์ นำชาติล่ม จมหนี้สิน
    อำมหิต ผิดคนไทย ได้ยลยิน
    ไล่ทมิฬ เป็นหน้าที่ สามัคคีชน

    เมื่อนับหนึ่ง ถึงปีเสือ พอเหลือซาก
    กินคาปาก เปิดหน้ากาก มาร์คฉ่อฉล
    ปากปราศัย ใจเชือดคอ ส่อเล่ห์กล
    นี่หรือคน หน้าเนื้อ เสือครองใจ

    ด้วยสุจริต และจริงใจ ผลไพบูลย์
    ทวีคูณ ประโยชน์ชาติ แสนสดใส
    ไล่อำมาตย์ เพื่อชาติเป็น ประชาธิปไตย
    อยู่อย่างไร เผด็จการ ฟันน้ำนม

    ไม่ฟังเสียง ปวงประชา ที่แท้จริง
    ทำอวดหยิ่ง มีปลอกคอ ก่อกรรมข่ม
    เป็นเครื่องมือ ของอำมาตย์ อำนาจนิยม
    ไม่คู่สม ในระบอบ ประชาธิปไตย

    ReplyDelete
  2. มากกว่าสิบปี ประชาชนมีความหมายเฉพาะก่อนเลือกตั้ง หลังจากนั้นผู้ได้รับการเลือกตั้งกลายสถานะเป็นนายที่ประชาชนต้องง้อ เกรงใจ สิบปีมานี้ ประชาชนตื่นตัว รูสิทธิของตนในบ้านเมือง เมื่อถูกริดรอนสิทธิ์ จึงรวมตัวกันเรียกร้อง กลับถูกสะกัดกั้นจนต้องเสียชีวิต แต่ประชาชนไม่ย่อท้อ โดยเฉพาะกลุ่มมวลชนเสื้อแดง ยิ่งล้มตายยิ่งเพิ่มจำนวนพลังมากขึ้น เราต้องชนะในเวลาอันไกล้นี้ ไม่ต้องรอเมตตาจากสวรรค์ชั้นฟ้า หัวใจที่แร่งกล้า สติปัญญาที่แยบยลของพวกเรานี่แหละจะนำสู่ความสำเร็จดังหวัง

    ReplyDelete
  3. ทางหนึ่งเลือกตัวแทน ของประชาชน ที่กำหนดนำโดยประชาชน เข้าไปทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

    อีกทางหนึ่งเป็นทางคู่ขนาน คือ การเมืองภาคพลเมือง ที่พลเมืองรับรู้หน้าที่และสิทธิ รู้ช่องทางที่จะใช้สิทธิของตน เปลี่ยนความคิดจากผู้ขอ และรอรับ มาเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งด้วยการรู้จักพึ่งพาตนเอง เสียสละ มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันนโยบายและแผนพัฒนาชาติที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียในชาติ ดังนี้เส้นทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คงไม่ไกลเกิน ผู้ร่วมเดินทางจะไปถึง

    ReplyDelete