Friday, October 22, 2010

บทบาทของการเมืองภาคประชาชน

การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์ โดย เกษียร เตชะพีระ

ผมสบโอกาสได้รับเชิญให้ช่วยอ่านและวิจารณ์ร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชน ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" ของอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 55 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา อ่านแล้วก็ตื่นเต้นและประทับใจ อยากเอามาเล่าต่อสู่ท่านผู้อ่าน งานวิจัยชิ้นนี้ได้การสนับสนุนจากทุนปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2545 อาจารย์เสกสรรค์อ่านค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูลไป ตามสัมภาษณ์ปัญญาชนสาธารณะผู้นำกลุ่มประชาชน และผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน 37 คน จากเหนือจรดใต้ไป พร้อมกับสอนหนังสือและตรวจข้อสอบของนักศึกษาเป็นร้อยๆ ที่คณะรัฐศาสตร์รวม 7 วิชาไปด้วย กินเวลาปีกว่าจึงเขียนเสร็จ

แต่หากนับช่วงเวลาที่อาจารย์เสกสรรค์เฝ้าครุ่นคิดใคร่ครวญถึงปัญหามูลฐานต่างๆ เกี่ยวกับรัฐ สังคมและการเมืองไทยจนก่อรูปเป็นแนวความเข้าใจและองค์ความรู้ในงานชิ้นนี้ก็คงจะกว่า 15 ปีตั้งแต่ค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง "TheTransformation of the Thai State and Economic Change(1855-1945) ("การเปลี่ยนรูปของรัฐไทยกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2498-2488) เสร็จ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อปี พ.ศ. 2532 และผลิตงานทางปัญญาและวิชาการแนวเดียวกันแบบเกาะติดสืบเนื่องมา ในฐานะข้อเขียนชิ้นหนึ่ง งานเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" จัดเป็นความเรียงขนาดยาว(เนื้อหา 4 บท 158 หน้า) ที่นำเสนอข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างแน่นเนื่อง ผ่านการบ่มเพาะความคิดมานานจนสุกงอม และเพียบพร้อมด้วยข้อคิดความเข้าใจอันหยั่งลึก

ทั้งนี้ ผมพูดในฐานะเคยอ่านตรวจงานวิจัยและวิทยานิพนธ์มาไม่น้อยเล่ม พบว่าบ่อยครั้งผู้เขียนมักวกวนหลงติดข้อมูลรายละเอียด หรือประเด็นปลีกย่อยที่ดึงดูดใจจนหันเหออกนอกเรื่องไปไกล การเขียนงานวิจัยค่อนข้างยาวชิ้นหนึ่งให้รัดกุม เข้มข้นแนบเนื่อง เป็นเอกภาพ มุ่งตรงกัดติดคำถามหลักประเด็นหลัก ไปสู่ภาพรวมของความรู้ความเข้าใจในที่สุดราวมันเป็น "ความเรียง" หรือ "ซิมโฟนี" บทหนึ่งจึงนับเป็นประดิษฐกรรมเชิงวิชาการที่อาศัยฝีมือช่างศิลปวรรณกรรมไม่น้อย

แม้โดยชื่อมันจะเป็นการศึกษาค้นคว้าความเกี่ยวพัน ระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับประชาธิปไตยไทย แต่โดยสารัตถะ อาจารย์เสกสรรค์ได้พยายามบ่งชี้และเสนอความจำเป็นที่จะต้องรื้อคิดและรวบยอดความคิดใหม่ (rethink & reconceptualize) ซึ่งหลักมูลฐานต่างๆ ของศาสตร์และปฏิบัติการแห่งการเมืองการปกครองทีเดียว
บทสรุปที่วางอยู่บนปัญญาความคิดและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนนี้จึงสำคัญมากต่อการเมืองไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเขียนได้ดี มีพลัง กระจ่างชัดเจนและเต็มไปด้วยวรรคตอนคมคายเด็ดๆ ที่สามารถคัดไปรวมเล่มพิมพ์เป็นคติพจน์ว่าด้วยการเมืองไทยได้ต่างหากอย่างสบาย

ในแง่แบบธรรมเนียมทางวิชาการ วิธีการศึกษาอันเป็นบุคลิกการคิดเรื่องการเมืองของอาจารย์เสกสรรค์ในงานชิ้นนี้ มีลักษณะเด่นอยู่สองสามประการ ซึ่งสะท้อนแนวการฝึกฝนอบรมที่ได้มาจากครูอาจารย์ แห่งสำนักมหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าวคือ

1) อิงความเข้าใจแนวคิดปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ของตะวันตก เป็นพื้นฐาน
2) ใช้บริบทและข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นภูมิหลังในการอ้างอิง จัดลำดับเรียบเรียงความคิด ทำความเข้าใจและตีความการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
3) แนวทางวิธีการศึกษาเป็นแบบการเมืองเปรียบเทียบ หรือสังคมวิทยามหภาค (comparative politics or macro-sociology) ที่มองกว้างคิดใหญ่ จับสถาบันและหลักการทางสังคมการเมืองใหญ่ๆ มาเป็นหน่วยวิเคราะห์เปรียบเทียบในครรลองเดียวกับ งานของนักสังคมศาสตร์ตะวันตก เช่น Max Weber ในหนังสือ Economy and Society(1968); Barrington Moore Jr. Social Origins of Dictatorship and Democracy(1966); Theda Skocpol ใน States and Social Revolutions (1979); หรือ Charles Tilly ใน Big Structures, Large Processes, Hugh Comparisons(1989)

ในเมืองไทยเรา นักรัฐศาสตร์ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ก็เช่น ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช, รองศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น

ด้วยแบบวิธีการศึกษาดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้จากการอ่านงานวิจัยของอาจารย์เสกสรรค์คือ "ภาพรวม" หรือบทสังเคราะห์ (synthesis) เป็นภาพรวมของโครงสร้างใหญ่ๆ ของสังคมการเมืองไทย ในกระบวนการที่มันเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์, พร้อมทั้งหลักคิดทางการเมืองเบื้องหลังกระบวนการนั้น เปรียบตัดกับความเป็นจริงของสังคม จากมุมมองของชนชั้นล่างผู้เสียเปรียบ

กล่าวโดยสรุปย่นย่อรวบรัด ข้อค้นพบหลักของอาจารย์เสกสรรค์ที่ผมพอจับได้ในงานชิ้นนี้คือ
มันเริ่มจากมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสังคม 3 ประการใหญ่ของไทยได้แก่

วัฒนธรรมอุปถัมภ์
โครงสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจ
ช่องว่างเหลื่อมล้ำยิ่งทางเศรษฐกิจสังคม
เมื่อมาถูกกระทบกระแทกซ้ำเติมโดยกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจารย์เสกสรรค์นิยามแก่นสารของมันไว้กระชับจับใจว่าคือการโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด
ผลก็คือเกิดสภาพวิกฤตใหญ่ในระดับทั่วทั้งระบบและกร่อนลึกถึงมูลฐานของระบอบการเมืองและรัฐชาติไทย 3 ประการคือ
ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย อันสำคัญในบางด้านบางส่วนไปเพราะถูกตลาดยึดตามกระแสโลกาภิวัตน์
สภาวะ 1 รัฐ 2 สังคม ที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันทั้งฐานะเศรษฐกิจ ชีวิตสังคม วัฒนธรรมการบริโภค ราวอยู่กันคนละชาติ คนละโลก
การใช้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ขาดฉันทานุมัติ ได้แต่เอะอะก็อ้างความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งสี่ปีครั้ง และอ้างชาตินามธรรมลอยๆ อย่างลวงตาและกลวงเปล่า เพื่อปัดปฏิเสธ และกลบเกลื่อนผลประโยชน์รูปธรรม ของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ท้องถิ่นต่างๆ ที่ถูกหาว่าเป็น "คนส่วนน้อย" ของชาติเสมอ

สภาพอันวิปริตของระบอบการเมืองและรัฐชาติไทยทั้ง 3 ด้านนี้กระหน่ำตีลงไปที่ปัญหารากฐานของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคติเรื่องรัฐชาติทีเดียวได้แก่

- ปัญหาอธิปไตยของรัฐ - ระบอบประชาธิปไตย จะมีความหมายใดหากประชาชนผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของอธิปไตย ไม่มีอำนาจที่จะเลือกนโยบายบางอย่าง เพราะถูกผูกมัดโดยหลักตลาดภายใต้อำนาจโลกาภิวัตน์ ของสถาบันโลกบาลทางเศรษฐกิจการค้า กลุ่มทุนข้ามชาติหรือมหาอำนาจเสียแล้ว?
- ปัญหาการนิยามผลประโยชน์ของชาติ- อะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของชาติกันแน่ ในเมื่อผู้คนที่ขึ้นชื่อว่าร่วมชาติเดียวกันกลับมีฐานะ ค่านิยม วิถีชีวิต และประโยชน์ได้เสีย แตกต่างเหลื่อมล้ำกระทั่งขัดแย้งกันถึงขนาดนั้น? ประชาชนไทยผู้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,500 บาท มีผลประโยชน์อะไรตรงไหนร่วมกัน หรือกับรัฐบาลของเขา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำเจ้าของทรัพย์สินนับพันล้านหมื่นล้าน? หากทรัพย์สินส่วนสำคัญของชาติตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนข้ามชาติไปแล้ว การเอ่ยอ้างผลประโยชน์ของชาติยังจะมีความหมายใด?
- ปัญหาฉันทานุมัติทางการเมือง - การใช้อำนาจรัฐที่ฝืนมติประชาชน แม้จะโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม จะนำไปสู่ความไม่ยอมรับ ไม่พอใจ ตึงเครียด ขัดแย้ง และเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เสมอ
เมื่อปราศจากฉันทานุมัติของประชาชนแต่ยังคงดันทุรังจะใช้อำนาจดำเนินนโยบายให้ได้ รัฐบาลก็ย่อมต้องหันไปใช้กำลังรุนแรงเข้าบังคับขืนใจ และละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนพลเมืองกลุ่มต่างๆ มากขึ้นทุกทีเป็นธรรมดา
ไทยไร้อำนาจ, ไทยต่างชั้น, ไทยตีไทย ฯลฯ ทั้งหมดนี้กำลังกลายเป็นภาวะปกติธรรมดาทุกวี่วันของเมืองไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน อาจารย์เสกสรรค์ค่อนข้างเล็งผลร้ายว่าหากทิ้งไว้ต่อไป มันจะนำไปสู่ภาวะอนาธิปไตยเข้าจนได้ เว้นไว้แต่ว่า จะริเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ต่อตัวระบอบประชาธิปไตย ในประเด็นสำคัญ 3 ประการคือ

1) ลดลักษณะประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เพิ่มขยายประชาธิปไตยทางตรง แบบประชาชนมีส่วนร่วมใช้อำนาจด้วยตัวเองมากขึ้น
2) สร้างกระบวนการแสวงหาฉันทานุมัติแบบต่อเนื่อง (continuous consensus) ไม่ใช่เอาแต่เลือกตั้งสี่ปีครั้ง - ในประเด็นนโยบายสำคัญที่กระทบถึงผลประโยชน์ได้เสียและทรัพยากรหลักของชุมชนท้องถิ่นทุกประเด็น ต้องเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นประเด็นนั้นเข้าร่วมส่วนแสดงความเห็นปัญหา ข้อโต้แย้งและหาฉันทานุมัติที่ทุกฝ่ายอยู่รอดอยู่ร่วมกันได้และพอรับได้ แทนที่จะอ้างคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่รับรู้เรื่องราวมาปิดปาก ขยี้เสียงแย้งของผู้มีส่วนได้เสียและรับผลกระทบโดยตรงอย่างพร่ำเพรื่อ
3) เปิดอนาคตประเทศไทยให้แก่วิถีทางพัฒนาและดำเนินชีวิตอันหลากหลาย รัฐต้องไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์ บังคับยัดเยียดวิถีพัฒนาเดียว วิถีชีวิตเดียวให้ผู้คนอันแตกต่างหลากหลายในประเทศอย่างไม่จำแนก และไม่เคารพศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพในการเลือกของผู้คน

การเมืองภาคประชาชน
บทนำ มติชนรายวัน วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9596
การนำเสนองานทางวิชาการของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "การเมืองภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ในโอกาสวันคล้ายวสันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นเพียงเสียงหนึ่งของพลเมืองไทย 60 ล้านคน แต่ทรรศนะและมุมมองอย่างเป็นอิสระ ตรงไปตรงมาของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง
นายเสกสรรค์นำเสนอว่า เมื่อผลประโยชน์ของรัฐชาติถูกถือครองโดยบรรษัทข้ามชาติ รัฐไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในการดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐในการใช้อำนาจบริหารประเทศแม้จะผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชนก็ตาม การเมืองภาคประชาชนจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงหรือแบบการมีส่วนร่วม ซึ่งช่วยจัดการปัญหาที่ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนก่อขึ้นหรือรับผิดชอบได้ไม่ทั่วถึงได้ โดยเข้ามาเติมช่องว่างได้ว่า ปัญหาคืออะไร จะแก้อย่างไร ซึ่งจะเป็นการโอนอำนาจอธิปไตยที่ตกค้างอยู่กับรัฐมาสู่ประชาชนและช่วยขยายระบอบประชาธิปไตย ออกไปให้ประชาชนมีอำนาจจริงมากขึ้น

ความจริงประการหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนไปเป็นรัฐบาลและเป็นฝ่ายค้านล้วนแต่เคยพร่ำพูดถึงความยิ่งใหญ่ ความสำคัญของประชาชนที่จะต้องให้การดูแลแก้ไขปัญหา นำพาประชาชนไปสู่ความมั่งมีศรีสุข พ้นจากความยากจนและความอยุติธรรมทั้งปวง แต่นักการเมืองกลับไม่พูดให้ชัดเจนว่า ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมในการเมืองและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไร โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชนที่รวมตัวเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ก็ไม่มีท่าทีว่าจะให้ยืนอยู่ในจุดไหน จึงพบว่า หลังจากนักการเมืองมีอำนาจรัฐแล้วกลับผลักไส ใส่ร้ายองค์กรภาคประชาชนให้หลุดไปจากวงจรของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบ

การแก้ไขปัญหาประเทศชาติและประชาชนโดยรัฐบาลไม่อาจสัมฤทธิผลได้โดยง่าย แก้ปัญหาหนึ่งก็ไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้น ท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลที่จะลงโทษข้าราชการที่ไม่ตอบสนองนโยบายและคำสั่งของรัฐบาลก็ดี ท่าทีที่ดูจะเป็นนักบุญ ผู้ใจดี เอาปัญหาความยากจนมาดูแล้วประกาศจะขจัดความยากจนให้สิ้นภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ก็ดี สุดท้ายก็ยังไม่วี่แววว่าจะทำได้จริง มิหนำซ้ำเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องการเล่นพวกพ้อง เรื่องการใช้นโยบายแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด ฯลฯ ก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการบริหารประเทศ ใครที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะ ใครที่ออกมาตรวจสอบกลับถูกตอบโต้ให้หงายหลังทุกที ไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรภาคประชาชน ฯลฯ


นายเสกสรรค์ชี้ว่า อิทธิพลภายนอกประเทศภายใต้ระบบทุนโลกาภิวัตน์ โดยบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาคุกคามประเทศไทยจนไม่อาจจะแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ จุดนี้จะนำไปสู่การก่อตัวเป็นวิกฤตที่ใหญ่มาก จะพบการทะเลาะกันเป็นประจำ เกิดสภาพระส่ำระสายไปทุกหย่อมหญ้า คนเกิดความสงสัยในความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐ เว้นแต่จะมีการปรับแนวคิดและการค้นหากระบวนการทางการเมืองมารองรับปัญหาได้อย่างทันการณ์ จึงนับเป็นข้อคิดและข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ขณะนี้ใกล้จะครบเทอมของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการเลือกตั้งใหม่และตั้งรัฐบาล หากนักการเมืองมัวเมาอยู่กับวังวนการเมืองแบบเก่าๆ ที่มองไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็น่าเป็นห่วงสังคมไทย การปรับแนวคิดและการค้นหากระบวนการทางการเมืองแบบใหม่ออกจะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง นี่เองที่ทำให้ภาคประชาชนต้องยกระดับการเคลื่อนไหวให้มีคุณภาพ และมีพลังเพื่อให้ผู้มีอำนาจหันมาสดับตรับฟังให้ได้ ทั้งนี้ มิใช่เพื่อประโยชน์ขององค์กรภาคประชาชน หากแต่เป็นประโยชน์ของประเทศและประชาชนในระยะยาว

1 comment:

  1. เมื่อได้อย่าง แม้นเสียอย่าง ยังเท่าทุน
    จะได้บุญ โดยทำบาป หาได้ไม่
    เผด็จการ มิอาจฆ่า ประชาธิปไตย
    ชนชาวไทย คือนักสู้ ผู้รักธรรม

    สัจธรรม ให้ความจริง ได้ปรากฏ
    จอมกบฏ ทรยศชาติ พาตกต่ำ
    ด้วยกิเลส และตัญหา ชิงการนำ
    สั่งก่อกรรม ลุกไล่ล่า ประชาชน

    จึงเจ้าจอน คูโบต้า รากหญ้าไพร่
    เป็นคนไทย ใจเต็มร้อย ปลูกพืชผล
    วอนท่านเท้า ผู้มั่งมี อิทธิพล
    อย่าหลงตน ลืมลูกหลาน สำราญใจ

    ได้อำนาจ เสียโอกาส ความเป็นคน
    ของมวลชน ชาว ประชา ธิปไตย
    จะคงความ สันติสุข ได้อย่างไร
    ด้วยดวงใจ คนสื้อแดง ยังแช่งสาป

    ReplyDelete