เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอแผนปรองดองแห่งชาติ ต่อแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
เพื่อหวังจะนำความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนนกลับไปอยู่ในสภา และแผนปรองดองก็ได้มีการนำมาขับเคลื่อน จนกลายเป็นกระแสความคิด และการเคลื่อนไหวของคนในสังคมจำนวนมาก ซึ่งความสับสนที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากคำว่าปรองดองนั่นเองว่ามีความหมายอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง บางครั้งก็ใช้คำว่าปรองดองในความหมายที่คลุมเครือ บางกรณีก็มีความหมายให้คนไทยรู้รักสามัคคี และร่วมมือกันเพื่อพาให้ชาติพ้นวิกฤติ บางกรณีก็หมายถึงการปฏิรูปการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่กล่าวอย่างสับสน คนทั่วไปก็ยังมีความสับสนด้วยว่าหมายความว่าอย่างไรกันแน่ และถึงที่สุดแล้วแผนปรองดองของรัฐบาลจะหมายถึงอะไรกันแน่
อันที่จริง ความสับสนเกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากมุมมองของแต่ละคนต่อการเมืองเป็นอย่างไร ซึ่งข้อถกเถียงระหว่างการปรองดองทางการเมืองกับการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็เนื่องมาจากมุมมองต่อการเมืองต่างกัน ฝ่ายแรกที่เน้นเรื่องการปรองดอง เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนชาติเดียวกันและต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการปรองดองของคนในชาติโดยอ้างว่าเหมือนที่เป็นมาในอดีต
ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าควรปฏิรูปการเมืองนั้น เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ซึ่งไม่ว่าความขัดแย้งจะเกิดจากอะไร และสังคมไทยในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งได้ปรากฏให้เห็นแทบทุกด้าน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเสนอว่าควรจะปฏิรูปการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อกำหนดกฎกติกาทางสังคม และหากไม่มีความปรองดองก็ต้องเกิดขึ้นภายใต้กติกาเหล่านี้ ซึ่งมองว่าที่ผ่านมา กติกาทางสังคมต่างหากที่มีปัญหา
ความสับสนของคนทั่วไปที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ แผนปรองดองของรัฐบาลจะไปทางไหนกันแน่ จะเป็นไปในแนวทางที่หน่วยงานของรัฐบาลหลายแห่งพยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างก็มีโครงการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เหมือนกับที่เคยกระทำมาแล้วในสงครามคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ความเป็นจริงนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากกติกาบ้านเมืองหลายอย่างมีปัญหา
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แผนปรองดองของรัฐบาลอย่างหนัก เพราะในขณะที่ความเป็นจริงของสังคมแล้วเกิดความขัดแย้งในทุกๆ ด้าน แต่หน่วยงานของรัฐเองก็กลับไปรื้อฟื้นวิธีการสร้างความสามัคคีของคนในชาติอีกอย่าง ประหนึ่งว่าความขัดแย้งทั้งหมดจะสิ้นสุดลงเมื่อเรายืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน หรือ คนหันกลับมาใส่เสื้อสีเดียวกัน
เราเห็นว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อแผนปรองดองของรัฐบาลนั้น เกิดขึ้นมาจากความคลุมเครือในการใช้ถ้อยคำและการปฏิบัติจากหน่วยงานของรัฐเอง หากรัฐบาลต้องการให้ความขัดแย้งอยู่ในกรอบกติกาที่สังคมประชาธิปไตยพึงกระทำ รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดว่ามีแนวคิดต่อการเมืองและสังคมในขณะนี้อย่างไร
หากรัฐบาลมองว่าสังคมก่อนหน้านี้มีความกลมเกลียวและอยู่กันอย่างมีเอกภาพ รัฐบาลก็เดินตามแผนของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานความมั่นคงที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่หากมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคม รัฐบาลก็ต้องปรับปรุงกติกาใหม่ให้เหมาะสม แต่ขณะนี้เรายังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะไปทางใดแน่ และความสับสนที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากความสับสนของรัฐบาลเอง
โรดแมพปรองดอง รัฐบาลต้องแสดงความชัดเจน
รัฐบาลยังแทงกั๊กอุบวันยุบสภา นปช.ย้ำต้องชัดเจน หากไม่ได้รับคำตอบพร้อมชุมนุมต่อยืดเยื้อ พบประเด็นใหม่ถ้าปชป.ถูกยุบพรรค ได้ ชวนคัมแบ็คนายกฯ แผนโรดแมพยุบสภาแล้วเลือกตั้งที่วางไว้อาจกลายเป็นหมัน
ยังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางกรณีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หยิบยกโรดแมพปรองดอง อันประกอบด้วยแผน 5 ข้อตามที่ได้แถลงไว้ดังนี้ว่า
1.ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่หล่อรวมพี่น้องคนไทย แต่น่าเสียดายที่ในระยะหลังมีคนจำนวนหนึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงเข้ามาในการเมือง เราจึงต้องมีภาระหน้าที่ช่วยไม่ให้สถาบันถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงานเพื่อเทิดทูนเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกาย เวลา เพื่อช่วยเหลือประชาชน จึงอยากเชิญชวนมาทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบัน ช่วยกันดูแลไม่ให้สื่อ หรือใครมาจาบจ้วงพระกษัตริย์และถูกดึงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง
2.ถือเป็นหัวใจ คือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งความขัดแย้งอาจถูกมองเป็นเรื่องการเมือง แต่ก็มีรากฐานมาจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งพี่น้องที่มาชุมนุมและไม่ได้มาสัมผัสความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะผู้มาชุมนุมที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับโอกาส และหลายครั้งถูกรังแกจากผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และหากปล่อยไว้อาจถูกสร้างความขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะทางการเมือง แต่จะขยายวงกว้างมาก ซึ่งการแก้ไขจะปล่อยให้เหมือนในอดีตที่แก้ไขเพียงบางจุด และไม่สามารถแก้ทั้งโครงสร้างได้ วันนี้จึงต้องแก้ด้วยระบบสวัสดิการทั้งการศึกษา สาธารณสุขและการมีรายได้ รวมไปถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกระทำเป็นพิเศษ หรือคนยากจนจะได้รับการดูแลเป็นระบบ กระบวนการปรองดองหรือปฏิรูปประเทศจะดึงเอาทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน โดยมีรูปธรรมเป็นระบบทั้งสวัสดิการ และทุกรัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้สังคมเกิดขึ้นชัดเจน
3.สังคมปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่ในระยะหลังเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า อำนาจของสื่อก็ได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่อาศัยช่องโหว่ช่องว่าง ทั้งอินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน แม้แต่สถานีรัฐก็ถูกกล่าวหาเป็นเครื่องมือของรัฐไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งยืนยันว่าสื่อยังมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องมีกลไกอิสระที่มีการดูแล ต้องไม่เสนอมุ่งความขัดแย้ง เกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดความปรองดองสงบสุขรวดเร็ว
4.การเกิดเหตุความรุนแรงสูญเสียที่นำไปสู่ความแตกแยก ทั้งเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ทั้งเหตุการณ์ 22 เม.ย. ที่สีลม เหตุการณ์ 28 เม.ย. ที่ดอนเมือง และเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ แม้ไม่สูญเสียที่ รพ.จุฬาฯ ทุกเหตุการณ์ต้องตรวจสอบเพื่อชำระสะสางในเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้ความจริงแก่สังคม เพราะสังคมจะสงบสุขได้ก็เพราะสังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริง
5.เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แม้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นในเวลา 4-5 ปี ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมหลายด้าน รวมถึงเรื่องกติกา เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายบางฉบับ การเพิกถอนสิทธิเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งถึงเวลาที่ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาวางเพื่อให้มีกลไกระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งจะครอบคลุมถึงประเด็นแก้ไข รธน. รวมถึงการชุมนุมทางการเมืองที่เกิน 5 คน เพื่อให้เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับทางการเมืองหมดไป นายอภิสิทธิ์ ยังได้พูดตบท้ายไว้ด้วยว่า พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ย .ศกนี้
5 ข้อของโรดแมพปรองดองดังกล่าว แม้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจกับฝ่ายที่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือของฝั่ง นปช. ด้วยเหตุว่า คนเสื้อแดงนั้น หวั่นว่าจะมีแผนหลอกล่อซ่อนเร้นไว้ ภายใน บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงจึงร่วมกันมองหาความเป็นไปได้ และ เป็นไปไม่ได้ของโรดแมพดังกล่าว จับใจความคนเสื้อแดงออกมาได้ 4 ข้อว่า 1.นปช.มีมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับแผนปรองดอง 2.มีการตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.นั้น จริงๆ แล้ว เป็นอำนาจของ กกต. หาได้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีไม่ 3.ให้รัฐบาลยุติการคุกคามคนเสื้อแดงในทุกรูปแบบ และไม่ขอรับการนิรโทษกรรมจากคดีผู้ก่อการร้ายและล้มสถาบัน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีขอไปสู้คดีในศาล และ 4.กลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. ขอให้รัฐบาลยุติการนำเอาสถาบันมากล่าวอ้าง โดยเฉพาะเรื่องของความไม่จงรักภักดี
จากการที่รัฐบาลเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อมา แต่ไม่ได้บอกวันยุบสภา ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเกิดความคลางแคลงใจ ถึงกับทวงถามความชัดเจนในวันยุบสภาอยู่อย่างต่อเนื่องพร้อมประกาศว่า จะยังไม่ยุติการชุมนุมจนกว่าจะทราบวันยุบสภาที่ชัดเจนจากรัฐบาล หากเมื่อใดที่มีความชัดเจนเรื่องวันยุบสภาออกมาจากปากนายอภิสิทธิ์ฯ นั่นแหละจึงจะแสดงทีท่าสลายตัวออกจากสี่แยกราชประสงค์กลับภูมิลำเนาของแต่ละคน
จึงเป็นคำถามถึงรัฐบาลว่า ในเมื่อฝ่ายรัฐบาลจุดประกายเรื่องแผนปรองดองนี้ขึ้นมา แต่ไฉนรัฐบาลจึงไม่ทำให้ชัดเจน รัฐบาลรีรออะไรอยู่จึงไม่เอ่ยปากระบุวันยุบสภาออกมาให้สังคมได้รับรู้ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่กำลังรอฟังอยู่
น่าจะเป็นไปได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้น มีคดียุบพรรคติดตัวอยู่ จึงไม่อาจฟันธงออกไปได้ว่าจะยุบสภาเมื่อใด เพราะหากว่าพรรคประชาธิปัตย์ถูกตัดสินให้ยุบพรรค จากนั้นก็จะต้องมีการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ และถ้าตัวนายกฯคนใหม่กลายเป็น นายชวน หลีกภัย เราๆ ท่านๆ ก็ต้องอย่าลืมว่าตัวนายชวนนั้นประกาศชัดอยู่แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา ดังนั้น ถ้านายชวน ขึ้นมาเป็นนายก แทนนายอภิสิทธิ์ เรื่องยุบสภาอาจมีอันต้องจบไป..นี่จึงเป็นตัวแปรอย่างหนึ่งทางการเมือง
เว้นแต่ว่า นายชวน หลีกภัย หรือคนที่จะขึ้นมารั้งตำแหน่งนายกฯคนใหม่จะเออออเห็นด้วยกับแผนปรองดองของนายอภิสิทธิ์ฯ แผนโรดแมพนี้ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้เกิดกรณียุบพรรคขึ้น
อย่างไรก็ตามหลังถูกทวงถามถึงกำหนดวันยุบสภาที่แน่นอนจาก นปช. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้แย้มออกมาบ้างว่า กำหนดการยุบสภาจะอยู่ระหว่างวันที่ 15-30 กันยายน เรื่องนี้นอกจากกลุ่มคนเสื้อแดงจะคอยฟังชัดๆ กันแล้ว ประชาชนที่รอหย่อนบัตรเลือกตั้งก็ต้องดูว่า แผนปรองดอง 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเกิดเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องอาศัยตัวหนุนจากหลายฝ่าย
เพราะเบื้องหลังของโรดแมพนี้ มีหลายอย่างที่ซับซ้อนอยู่พอสมควร……
Thursday, October 28, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อึมครึม ซึมเศร้า เหงาหงอย
ReplyDeleteเฝ้าคอย ยุติธรรม คงมั่น
คลุมเครือ เหลือเชื่อ เบื่อกัน
รอวัน คืนกลับ ร่มเย็น
เป็นไทย เป็นธรรม นำสุข
ปลดทุกข์ ราษฏร ให้เห็น
เสรี ศักดิ์ศรี ดีเด่น
สมเป็น ประชา ธิปไตย
โลกร้อน พอแล้ว ทแกล้วกล้า
อย่ามา แปลเปลี่ยน ชาติไทย
ปรองดอง ต้องมีธรรม จริงใจ
อย่าใช้ อาวุธ ไล่ล่า
อำมาตย์ อาจหลง ทรนง
ยืนยง เทียบคง คู่ฟ้า
ลืมตัว ดำ-ขาว เจ้ากา
ใบ้บ้า เมามั่ว เผด็จการ