ของปราชญ์กรีกสกุลโสเครติส และ ประชาธิปไตย
โดย สลักธรรม โตจิราการ
ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยเข้าสู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ในแวดวงวิชาการได้มีการอ้างถึงหลักปรัชญาของนักคิดในยุคกรีกโบราณ ซึ่งถือกันว่าเป็น ต้นแบบของประชาธิปไตย มาใช้กับสภาวการณ์ของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนักปราชญ์ที่สืบสายมาจากโสเครตีสอันได้แก่ พลาโต และอริสโตเติล ซึ่งมีชีวิตอยู่ในนครรัฐเอเธนส์เมื่อประมาณ 300 ถึง 400 ปีก่อนคริสตกาลและกลายเป็นต้นธารสำคัญของปรัชญาตะวันตก
ประเด็นที่มีการเสนอกันมีหลายประการ เช่น การพยายามให้อำนาจอื่นมาคัดง้างกับอำนาจของประชาชนที่มักอ้างกันว่าถูกครอบงำโดยระบบ ประชานิยม ได้ง่าย โดยอ้างว่าเป็นการปกครองตามระบบรัฐบาลผสมหรือ Polity ของอริสโตเติล หรือการพยายามให้กลุ่ม บุคคลที่มีจริยธรรม ความรู้ มาปกครองประเทศ คล้ายกับหลักการ ปรัชญราชา ของเพลโต (ซึ่งมักคิดกันว่าเป็น เอกลักษณ์ของไทย) ถึงแม้ว่าผมมิได้ศึกษามาในด้านนี้โดยตรง แต่ว่า ก็ใคร่ที่จะแสดงความคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของปราชญ์สกุลโสเครตีส ดังต่อไปนี้
1.ปราชญ์สกุลโสเครติสไม่คัดค้านความไม่เท่าเทียมกันของคน อันเป็นหลักที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งของประชาธิปไตย แม้ว่าพลาโต มีข้อเสนอบางอย่าง เช่น ให้การศึกษาเท่าเทียมกันระหว่างพลเมืองชายและหญิง แต่ว่าพลาโตแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนในหนังสือเรื่อง กฎ (Laws) ว่า หากนายทาสฆ่าเสียซึ่งทาสของตนนั้น เขาเพียงแค่ต้องผ่านกระบวนการ ฟอกตนให้บริสุทธิ์ (ตามแบบพิธีการที่มาจากเมืองเดลฟี) แต่ถ้าหากฆ่าทาสของผู้อื่นด้วยโทสะ (เสรีชน) ผู้นั้นเพียงแค่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของทาสเป็น 2 เท่าของมูลค่าที่เจ้าของทาสนั้นต้องสูญเสียไป (จากที่ต้องเสียทาส) ในขณะที่หากฆ่าเสรีชน จะต้องรับโทษอย่างอื่น เช่น การเนรเทศจากเมืองในระยะเวลาหนึ่งด้วย ยกเว้นกรณีมิได้ตั้งใจ (Plato; Laws, book IX) ในขณะที่ อริสโตเติลมีแนวคิดว่าเหล่าทาสนั้นต้องถูก ควบคุม จะได้ไม่เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เปรียบเสมือน ใจ นั้นคอยคุม กาย ดังที่ได้กล่าวว่า คนเหล่านั้น (ทาส) เป็นผู้ที่ต่ำต้อยกว่าผู้อื่นเฉกเช่นกายกับใจ (ที่กายต่ำต้อยกว่าใจ) ........หากผมพูดถูกต้อง พวกเขานั้นเป็นทาสตามธรรมชาติ และจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาถ้าหากถูกปกครอง (Aristotle; Politics.Book 1 chapter 5)
2.ปราชญ์สกุลโสเครตีส เชื่อถือในการปกครองของบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคล ผู้มีจริยธรรมและความสามารถ มากกว่าการปกครองโดยประชาชนหมู่มาก ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบ ทรราชย์ แต่ว่าปราชญ์กรีกสกุลโสเครตีสต่างล้วนเป็นผู้คัดค้านประชาธิปไตย เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า มิอาจมีปัญญาในคนหมู่มาก ใน หนังสือเรื่อง อุตตมรัฐ (The Republic) พลาโตบรรยายถึงสังคมอุดมคติของเขาว่า การปกครองที่ดีที่สุดนั้น ผู้ปกครองคือ ปราชญ์ (ต้อง) เป็นราชา...หรือผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นราชาในเวลานี้....(ต้อง) กลายเป็นปราชญ์อย่างชัดเจนและมากเพียงพอ [philosophers [must] become kingsฆor those now called kings [must]ฆgenuinely and adequately philosophize (Plato;The Republic, 473c).] ปรัชญราชา (Philosopher king) เหล่านี้ต้องผ่านอบรมพิเศษที่เหนือกว่าคนอื่นทั้งทางกายและใจ เพื่อให้กลายเป็น อภิชน ที่ร่างกายและจิตใจดีกว่าผู้อื่น อริสโตเติลเองสรุปในหนังสือเรื่อง นโยบายการปกครอง (Aristotle; Politics: Book 4) ว่ารูปแบบการปกครองที่ถูกต้องชอบธรรม ได้แก่
-Monarchy (ปรัชญราชาเพียงคนเดียวเป็นผู้ปกครอง)
-Aristocracy (กลุ่ม อภิชน ซึ่งมี สติปัญญา และ คุณธรรม จำนวนน้อยเป็นผู้ปกครอง)
-Polity (กลุ่ม อภิชน ซึ่งจำนวนมากกว่าในระบบ Aristocracy บ้าง เป็นผู้ทำการปกครอง แต่ไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดเป็นผู้ปกครอง)
อริสโตเติลเห็นว่าการปกครองแบบ Polity เป็นแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยเหตุผลว่าเป็นระบบที่สามารถประนีประนอมมิให้ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนรวยและคนจนถึงขั้นระเบิดออกมา และนักวิชาการไทยบางคนหวังจะนำมาใช้ในสังคมไทยทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝง ทั้งที่จริงแล้ว ทรัพย์สินของคนรวยในสังคมกรีกโบราณก็มิได้มาอย่างสุจริต แต่เกิดขึ้นจากการใช้แรงงานทาสเพื่อทำการผลิตทั้งผลผลิตเกษตรกรรม หัตถการ และสินค้าเพื่อการพาณิชย์
ในขณะที่การปกครองที่อริสโตเติลถือว่า ไม่ดี ได้แก่
-Democracy (ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนเป็นผู้ปกครอง)
-Oligarchy (คนส่วนน้อยซึ่งอริสโตเติลหมายถึงคนรวย เป็นผู้ปกครอง)
-Tyranny (ผู้เผด็จอำนาจเพียงคนเดียวเป็นผู้ปกครอง)
เนื่องจากอริสโตเติลคิดว่าจะเกิดความวุ่นวายของกลุ่มผู้เสียอำนาจ โดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) อริสโตเติลเชื่อว่าการปกครองแบบดังกล่าวทำให้คนรวยรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจน้อยกว่าที่ควรจะเป็นและก่อความวุ่นวายได้
3.ผลลัพธ์ของปรัชญาสำนักโสเครตีส คือ เป็นเครื่องมือช่วยสร้างความชอบธรรมของรัฐบาล ทรราชย์ และการกดขี่ประชาชน แม้ว่า แนวคิดของปราชญ์กรีกสายโสเครตีสมักอ้างว่าตนเองสนับสนุนให้ผู้ปกครองมี คุณธรรม และ จริยธรรม แต่ว่า ตั้งแต่ในยุคกรีกโบราณ การเถลิงอำนาจของกลุ่มผู้ได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดสายโสเครตีส ทำให้เกิดรัฐบาลแบบ ทรราชย์ หลายครั้งขึ้นมา ตัวอย่างที่สำคัญเช่น หลังสงครามเพโลพอนเนเซียนเมื่อ 404 ปีก่อนคริสตกาลระหว่างเอเธนส์และสปาร์ตา เอเธนส์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกยึดครอง สปาร์ตาจึงตั้ง รัฐบาลหุ่นเชิด ซึ่งมีคณะผู้ทำงานทั้งหมด 30 คนขึ้นในเอเธนส์ จึงเรียกกันว่า 30 ทรราชย์ ครีเตียส (Critias) สาวกคนสำคัญของโสเครตีส และลุงของพลาโตเข้าร่วมในคณะ 30 ทรราชย์ เข่นฆ่าชาวเอเธนส์ไปนับร้อยโดยบังคับให้ดื่มยาพิษเฮมล็อคและจำกัดสิทธิในการมีประชาธิปไตยทางตรงของชาวเอเธนส์มากมาย ตัวครีเตียสเองถูกฆ่าโดยกองทัพของธราสิบุลุส (Thrasybulus) และพันธมิตร เมื่อ 403 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมา กลุ่ม 30 ทรราชย์ ถูกพลังของชาวเอเธนส์ทั้งที่ยังอยู่ในเมืองและลี้ภัยอยู่กดดันจนทำให้สปาร์ตาต้องตัดสินใจเลิกสนับสนุน
ด้วยเหตุนี้โสเครตีสซึ่งเป็นอาจารย์ของครีเตียสจึงถูกประหารในฐานะ ยุยงส่งเสริมให้เกิดกบฏต่อรัฐ ในขณะที่อริสโตเติลก็ได้เป็นพระอาจารย์และที่ปรึกษาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งแคว้นมาเซโดเนียเพื่อสร้าง ปรัชญราชา (Philosopher king) ขึ้น การณ์กลับเป็นว่าอเล็กซานเดอร์ก่อสงครามรุกรานตั้งแต่อียิปต์ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ทำลายและปล้นสะดมอาณาจักรเปอร์เซียและอาณาจักรอื่นๆ ตามรายทาง เผานครเปอร์เซปโปลิส อันเป็นที่มั่นสุดท้ายในโลกโบราณของอารยธรรมเมโสโปเตเมียจนราบคาบ
คูรเตียส (Curtius) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน กล่าวไว้ว่า (ในการศึกที่อินเดียนั้น)... นอกจากอเล็กซานเดอร์จะฆ่าล้างคนทั้งเมืองมาสสะคะ (Massaga) แล้ว ยังทำลายสิ่งก่อสร้างในเมืองจนเหลือแต่ซาก หลังจากสมัยของพระองค์ ชาวกรีกที่กระจัดกระจายกันกว้างขวางกว่าในอดีตเพราะการติดตามกองทัพของอเล็กซานเดอร์กลายเป็น ผู้เผด็จอำนาจ หรือ กษัตริย์ ต่อบรรดาอาณาจักรต่างๆ ที่เคยถูกอเล็กซานเดอร์ยึดครอง ชาวกรีกต่างมีฐานะดีขึ้นมาก ซึ่งนอกจากเป็นผลของการค้าที่ขยายตัว และการปล้นสะดมจากอาณาจักรที่พ่ายแพ้อย่างบ้าคลั่งแล้ว ยังตั้งอยู่บนความทุกข์ยากของทาสและประชาชนในประเทศที่ถูกกดเป็นทาสอีกด้วย เช่น ในอเล็กซานเดรีย (ทางตอนเหนือของอียิปต์ปัจจุบัน)
ชาวกรีกสกุลปโตเลมีกลายเป็นผู้ปกครองอาณาจักรอียิปต์ และบังคับให้มีการเสียภาษีต่างๆ ในราชอาณาจักรถึง 218 รายการ (ซึ่งผมคิดว่านี่คือ ทรราชย์ ที่แท้จริงที่เป็นผลมาจากการกระทำของ ปรัชญราชา) ความกระจัดกระจายกันของชาวกรีกและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักร เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวกรีกไม่สามารถต่อสู้กับอาณาจักรโรมันที่ขยายตัวเข้ามาทดแทนได้ ถึงแม้ว่าอารยธรรมกรีกจะสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา
แต่ทว่า อิทธิพลของสำนักโสเครตีสนั้นยังคงส่งผลสะเทือนในฐานะกระแสหลักทางความคิดหนึ่งของโลกจนกระทั่งปัจจุบันเนื่องจากเป็นประโยชน์อย่างมากต่อชนชั้นปกครองต่างๆ ที่มีฐานะเหนือกว่าประชาชนทั่วไป เพราะทำให้ประชาชนทั่วไปต้องสยบยอมต่อผู้ปกครองซึ่งอ้างตนว่าเป็นผู้ เป็นปราชญ์และทรงคุณธรรม ตัวอย่างคือ การนำทฤษฎีของอริสโตเติลเข้ามาเป็นส่วนประกอบในจักรวาลของศาสนจักรโรมันคาทอลิกในอดีต อาทิ การที่ Thomas Aquinas ใช้หลักตรรกของอริสโตเติล ใน Summa theologiae เพื่อพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริง และได้นำเอาแนวคิดเรื่อง ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม มาใช้ควบคุมยุโรปหลังอาณาจักรโรมันล่มสลาย ผลลัพธ์คือยุโรปยุคมืดที่ประชาชนยุโรปต้องไปตายในนามของสงครามศาสนา เพียงเพื่อให้ศาสนจักร เจ้าผู้ครองแคว้น และพ่อค้าไม่กี่ตระกูลร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้น และผู้ที่มีความคิดเห็นผิดแผกไปจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกทุกคนต้องถูกเผาทั้งเป็นนั่นเอง
No comments:
Post a Comment