ความสืบเนื่องและความแตกหักของโลกทรรศน์หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕
เมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แล้ว สำนักจารีตประเพณีพยายามสร้างคำอธิบายที่ให้ความต่อเนื่องกับจารีตในอดีต แต่สำนักรัฐธรรมนูญนิยมที่ปรากฏชัดขึ้นหลังการปฏิวัติได้ปฏิเสธคำอธิบายแบบจารีตประเพณีและสร้างคำอธิบายที่แตกหักกับสำนักจารีตประเพณี โดยทั้งสองฝ่ายได้ขับเคี่ยวกันในการให้คำอธิบายความจำเป็นของการปฏิวัติ, ที่มาแห่งอำนาจอธิปไตยและอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ ดังนี้ นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีนี้ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายที่สำเร็จเนติบัณฑิตหรือบัณฑิตทางกฎหมายจากอังกฤษที่เน้นการใช้กฎหมายจารีตประเพณีโดยได้อ้างอิงหลักการรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีแบบอังกฤษ คือ หลักการแบ่งอำนาจเป็นความเข้าใจและร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยไม่มีการตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะยึดถือธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติต่อๆ กันมา เน้นขนบประเพณีและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ และพยายามอ้างอิงอำนาจพระมหากษัตริย์ไทยเข้ากับพระมหากษัตริย์อังกฤษ นอกจากที่เรียนจากอังกฤษแล้วยังมีนักกฎหมายส่วนหนึ่งในสำนักนี้ที่สำเร็จจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
โลกทรรศน์และวิธีการอธิบายสถาบันทางการเมืองนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีที่มักเน้นอธิบาย “จารีต” อำนาจทางการเมืองไทยให้อิงเข้ากับจารีตอำนาจของอังกฤษ หรือการยอมรับแต่เพียงผลลัพธ์ แต่กลับปฏิเสธสาเหตุ หรือประสบการณ์ของประวัติศาสตร์การเมืองแบบอังกฤษที่เกิดขึ้น โดยดึงหลักการเพียงบางส่วนเข้ามาและผสมผสานกับความเชื่อเดิมเพื่อวางแบบแผนในการร่างรัฐธรรมนูญและการให้คำอธิบายมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญของไทยในเวลาต่อมา ปัญญาชนนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงในตำแหน่งตุลาการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีความใกล้ชิดกับเจ้านายและพระมหากษัตริย์ เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (๘) พระยาศรีวิสารวาจา (๙) พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (๑๐) พระยาปรีดานฤเบศร์ (๑๑) พระยามานวราชเสวี (๑๒) หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (๑๓) และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (๑๔) ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับสำนักรัฐธรรมนูญนิยมเป็นกลุ่มนักกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและเป็นนักกฎหมายสายฝรั่งเศสและเยอรมนี กลุ่มนี้ใช้ความคิดรัฐธรรมนูญนิยมเป็นแนวความคิดที่มุ่งจัดการปกครองที่รัฐบาลที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญและจะต้องบริหารงานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น (๑๕) โดยมีแนวความคิดมุ่งในการจำกัดอำนาจของรัฐโดยกฎหมายเป็นหลัก เป็นการใช้อำนาจที่ตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์ของผู้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ กล่าวโดยสรุปแล้ว แนวคิดนี้เชื่อมั่นในความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ และทฤษฎีสัญญาประชาคม (๑๖) แนวความคิดที่มุ่งจำกัดอำนาจรัฐโดยการใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้ พบในสหรัฐและประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร
ปัญญาชนนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมของไทยเป็นนักกฎหมายที่จบจากภาคพื้นยุโรป ประกอบขึ้นจาก ข้าราชการระดับกลางและล่าง ซึ่งทำงานในกรมร่างกฎหมายหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาชิกในคณะราษฎร ครูในโรงเรียนกฎหมายและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่ปัญญาชนกลุ่มนี้เป็นนักกฎหมายสายฝรั่งเศส เช่น หลวงประดิษฐมนูธรรม (ดร. ปรีดี พนมยงค์) หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (ดร. สมโพธิ์ อัศวนนท์) ดร. เดือน บุนนาค (๑๗) บางคนสำเร็จจากในประเทศแต่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ บ้างก็มีความเกี่ยวกับคณะราษฎร เช่น ดิเรก ชัยนาม (๑๘) สงวน ตุลารักษ์ (๑๙) ไพโรจน์ ชัยนาม (๒๐) ส่วนบางคนเป็นนักกฎหมายสำนักเยอรมนี เช่น ดร. หยุด แสงอุทัย (๒๑) นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มข้าราชการมหาดไทยที่สนับสนุนการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนิยม เช่น พระยาสุนทรพิพิธ พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทศ พระทิพยเบญญา และถนอม วิบูลย์มงคล เป็นต้น ควรกล่าวไว้ด้วยว่า คำเรียกขานการปกครอง “ระบอบเก่า” ในคำอธิบายรัฐธรรมนูญนั้น มีการใช้หลายคำด้วยกัน เช่น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ทรงเรียกกษัตริย์ที่อ้างอำนาจจากสวรรค์ว่า “เทพวตาล” (๒๒) ไพโรจน์ ชัยนาม เรียก “เทพาธิปไตย” (๒๓) ส่วน ดิเรก ชัยนาม เรียก “กษัตริยาธิปไตย” (๒๔) เป็นต้น
ความจำเป็นของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และองค์กรเก่าในระบอบการเมืองใหม่
หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ สำนักจารีตประเพณีอธิบายถึงสถานะของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในแง่ลบว่าเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” โดยหลวงจักรปาณีฯ ได้อธิบายสภาพการเมืองในระบอบเก่าอย่างมีเงื่อนไขโดย ยอมรับว่า แม้องค์กรทางการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น อภิรัฐมนตรีสภาและสภาองคมนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตั้งขึ้นก่อนการปฏิวัตินั้นไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่เขาก็เห็นว่า “ย่อมเป็นที่เห็นกันอยู่ทั่วไปว่า ราษฎรสามัญไม่ใคร่มีหวังในสภาทั้ง ๒ นี้เท่าใดนัก เพราะอภิรัฐมนตรีแต่ละคนล้วนเป็นคนชั้นสูง ซึ่งตามปกติย่อมมีความเห็นแตกต่างกับราษฎรสามัญอันมากและไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพความต้องการของพลเมืองส่วนมากได้ ส่วนองคมนตรีก็ไม่ได้ใคร่ประชุมกัน” (๒๕) จวบกระทั่งเกิดการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขึ้น และคณะราษฎรขอให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง สุดท้าย เขาอธิบายยืนยันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของคณะราษฎรเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” เพราะ “พระองค์เองก็ทรงคิดที่จะทำการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว” (๒๖)ในขณะที่สำนักรัฐธรรมนูญนิยมมองการปฏิวัติในแง่บวก และเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีความจำเป็นในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ได้อธิบายสภาพการปกครองในระบอบเก่าว่า “ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ราษฎรทั้งหลายไม่มีส่วนในการปกครองประเทศเลย เพราะอำนาจสูงสุด เป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น” (๒๗) ส่วนเดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม ได้สะท้อนความรู้สึกว่า “เมื่อตกมาถึงปัจจุบันนี้ [หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕] ก็มีความรู้สึกอยู่ทั่วไปว่า [ระบอบเก่า] เป็นการล้าหลังพ้นสมัย…ประเทศสยามได้เป็นรัฐสุดท้ายในโลกซึ่งมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหลืออยู่จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕” (๒๘)
สำหรับคำอธิบายสถานะของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ หลวงประเจิดฯ อธิบายว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนว่า “ครั้นมาเมื่อสมัยประเทศมีการปกครองเปลี่ยนแปลงอย่างประเทศสยาม อำนาจอธิปไตยได้หลุดจากมือประมุขของประเทศ คือ พระมหากษัตริย์ไปอยู่ในอำนาจของพลเมืองทั้งหลาย ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของเราเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ มาตรา ๑ บัญญัติไว้ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย” (๒๙) ข้อความของหลวงประเจิดฯ นี้ย่อมสามารถสะท้อนแนวความคิดหลักของนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ หลวงจักรปาณีฯ จากสำนักจารีตประเพณี เห็นว่าแม้ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) จะจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์เกือบหมดสิ้นแล้ว แต่เขาเห็นว่าพระองค์ยังทรงคุณแก่บ้านเมืองได้ เพราะราษฎรยังคุ้นเคยกับการปกครองกับราชาธิปไตยมากกว่าแบบอื่น ดังนั้นหากพระมหากษัตริย์ยังคงเสวยราชย์ รัฐบาลจะได้รับความเชื่อถือจากราษฎร ทรงมีความสามารถในการให้คำแนะนำ เตือนสติรัฐบาลและให้ความเห็นทางกฎหมายได้ อย่างไรก็ตามการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์นั้น เขาเห็นว่า ไม่มีข้อเสีย เนื่องจาก “เพราะต่อไปนี้กษัตริย์ที่ไม่ฉลาดหรือไม่สามารถก็ไม่มีอำนาจทำการบ้านเมืองให้เสียได้ ส่วนกษัตริย์ที่ทรงเกียจคร้านก็คงไม่ทำอะไรเลย แต่งานของรัฐบาลก็คงดำเนิรไปตามเคยนั่นเอง” (๓๐)
“ลัทธิประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมากมายจนเป็นที่เสียหายแก่ราษฎร ลัทธินี้หาได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างอำนาจของพระมหากษัตริย์เสียให้หมดสิ้นไม่ เพียงแต่ขอให้ราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องในการปกครองบ้าง เจ้าของลัทธิเดิมมีความประสงค์ให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจการปกครองในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ราษฎร แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ทำการปกครองไม่เป็นที่พอใจราษฎร พวกเจ้าลัทธิก็แสดงความเห็นว่า ราษฎรมีสิทธิถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกเสียจากตำแหน่งผู้ใช้อำนาจสูงสุดได้” (๓๑)
อุดมการณ์บนเส้นขนาน : ความคิด “อเนกนิกรสโมสรสมมติ”- ฮ็อบแบบไทยๆ(!) กับ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”-ล็อกแบบฝรั่ง
พัฒนาการของการให้อธิบายที่มาแห่งอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยการใช้คำว่า “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” นั้น เป็นความคิดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเสนอขึ้น และต่อมา หลังการปฏิวัติ คติเรื่อง “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ได้ถูก “ศัลยกรรม” ความหมายใหม่ โดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรและนักคิดคนอื่นๆ ของสำนักจารีตประเพณีโดยทำให้ถูกเข้าใจว่ามีค่าเท่ากับ “ประชาธิปไตย” ดังที่ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรได้ทรงปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่นาน ว่า แม้พระมหากษัตริย์สยามจะมีการใช้คำว่า “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ในพระบรมนามาภิไธยจนถึงรัชกาลที่ ๕ และทรงชี้ให้เห็นว่า ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงของการใช้คำดังกล่าวว่า คือ ในพระบรมนามาภิไธยของรัชกาลที่ ๖ กลับไปใช้คำว่า “บรมชนกดิศรสมมต” และธรรมเนียมนี้ได้รับการสืบต่อมา “ครั้นตกมาถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๗) ก็ได้เจริญรอยตามแบบอย่างรัชกาลที่ ๖” (๓๒) อันปรากฏอยู่ในพระบรมนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า “บรมเชษฐโสทรสมมต” (๓๓) ซึ่งแปลว่าสมเด็จพระบรมเชษฐาทรงแต่งตั้งจากข้อมูลที่ทรงปาฐกถาไว้ คือ คติเกี่ยวกับ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” นั้นได้ขาดไปอย่างน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งตำแหน่งตกทอดตำแหน่งตามสายพระโลหิต อย่างไรก็ตาม วิธีการอธิบายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงสร้างความสืบเนื่อง คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นการหมุนกลับ (revolt) ไปสู่หลักมูลเดิมตามคติ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่อ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์โดยความเห็นชอบของชุมชนทางการเมืองอีกครั้ง ดังเช่นที่เป็นมาจวบกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นการรักษาความต่อเนื่องของอุดมการณ์ ความคิดของระบอบเก่า กับระบอบใหม่ที่เกิดขึ้น (๓๔)
ในทางกลับกัน นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมอย่างหลวงประเจิดฯ ได้อ้างทฤษฎีสัญญาประชาคมเป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย ว่า ที่มาของอำนาจอธิปไตยของระบอบประชาธิปไตยมี ๓ ประการ คือ อำนาจสูงสุดมาจากราษฎร ราษฎรทำสัญญามอบอำนาจสูงสุดไว้ให้แก่พระมหากษัตริย์ และการมอบอำนาจแบบมีเงื่อนไขที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิบัติการปกครองโดยวิธีการที่ระบุไว้ หลวงประเจิดฯ เห็นว่า วิธีการที่ราษฎรได้ทำสัญญายกอำนาจสูงสุดให้พระมหากษัตริย์นั้น นานาประเทศเห็นว่าเมื่อใดประมุขของรัฐใช้อำนาจปกครองมิได้เป็นไปตามความยินยอมเห็นชอบของราษฎร เมื่อนั้น “ราษฎรมีอำนาจเสมอที่จะเอาอำนาจสูงสุดที่มอบให้แก่ประมุขของชาติกลับคืนมาได้เสมอ” (๓๕) ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือได้ว่ารับอิทธิพลจากนักปรัชญาการเมืองกลุ่มสัญญาประชาคม เช่น จอห์น ล็อก (John Locke) และรุสโซ (Rousseau) เป็นต้น ในขณะที่พระยาศรีวิสารฯ แห่งสำนักจารีตประเพณี ได้พยายามอธิบายถึงที่มาของอำนาจพระมหากษัตริย์ที่มาจากประชาชนโดยอ้างคติ เรื่อง “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” กับการพยายามตีความพิธีกรรมของราชสำนัก ว่า “อันว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยามนั้น แปลว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้น
ทั้งนี้เป็นการตรงกับหลักการโบราณประเพณีของเรา แต่เดิมมาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินของเรามีตอนหนึ่งว่า อเนกนิกรสโมสรสมมติ และพิธีราชาพิเศกก็มีพราหมณ์และข้าราชการผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งแสดงชัดเจนว่าประเพณีของเราไม่ถือว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเนื่องมาจากพระราชอำนาจของพระองค์เอง ในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินวงศ์สติวารต [ราชวงศ์สจ๊วต-ผู้เขียนบทความ] เป็นต้น ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินจุติลงมาจากสวรรค์ จึงนำเอาพระราชอำนาจที่ได้จากสวรรค์มาปกครองแผ่นดิน ประเทศเราตั้งแต่โบราณมาไม่ถือหลักการเช่นนั้น” (๓๖) แม้ว่า การวางหลักของสำนักจารีตประเพณีนั้นจะอ้างคติ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่อิงการผสมผสานความเชื่อของพราหมณ์และพุทธอันเชื่อว่าที่มาแห่งอำนาจผู้ปกครองมาจากราษฎรยกขึ้น เพื่อเปรียบว่าความชอบธรรมของรัฏฐาธิปัตย์ของไทยมีความต่างจากตะวันตกที่เชื่อว่าอำนาจมาจากสรรค์ที่เลื่อนลอย แต่หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันตกจะพบว่าคติเรื่องอำนาจของผู้ปกครองมาจากสวรรค์นั้นได้เสื่อมถอยไปอย่างน้อยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แล้วทั้งแทบไม่มีนักคิดทางการเมืองคนสำคัญของตะวันตกอ้างความชอบธรรมจากคติโบราณเช่นนั้นอีกแล้ว อีกทั้งในประวัติศาสตร์โบราณของไทยก็ไม่ปรากฏความเกี่ยวข้องของราษฎรในกระบวนการการเลือกสรรผู้ปกครองอย่างแท้จริง นอกจากเหล่าชนชั้นสูงและขุนนางที่เป็นเพียง “นิกรสมมติ” แทนทั้งสิ้น
ดังนั้น หากพิจารณาตรรกะในคติ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่สำนักจารีตประเพณีสร้างขึ้นเพื่อพยายามอ้างอิงให้สอดคล้องกับทฤษฎีสัญญาประชาคมนั้นก็หาได้เป็นตามหลักการของล็อกไม่ แต่เนื้อแท้แล้ว กลับสามารถเทียบเคียงแนบแน่นได้กับความคิดของโทมัส ฮ็อบ (Thomas Hobbes) เจ้าทฤษฎีการเมืองที่สนับสนุนการปกครองโดยกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ฮ็อบเชื่อว่าที่มาของอำนาจอธิปไตยของรัฏฐาธิปัตย์นั้น มาจากราษฎรมอบให้แบบมอบขาด และมิอาจโต้แย้งได้ ที่น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งก็คือคติ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่มีความใกล้ชิดกับความคิดของฮ็อบนี้ ต่อมาได้ถูกศัลยกรรมความหมาย “แปลงโฉม” ให้เป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” หรือ “ฮ็อบแบบไทย” และได้วิวัฒน์คลี่คลายไปเป็นการสร้างคำอธิบายให้ความชอบธรรมกับการปกครองเผด็จการที่ใช้คำอื่นๆ ของไทยในเวลาต่อมา(!) เช่น คติการปกครองแบบ “พ่อ” ปกครองลูก ที่อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ รวมไปถึงคำหรือคติแบบอื่นๆ อันมีลักษณะที่ว่าประชาชนมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังผู้ปกครองแบบอำนาจไหลจากบนลงล่างด้วยเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ นานาเท่าที่ผู้มีอำนาจจะคิดได้เพื่อทำให้ประชาชนไทยยอมจำนนต่อไป ในทางกลับกันกับคำอธิบายของนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยม เช่น ไพโรจน์ ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ “ระบอบเก่า” หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแต่พระองค์เดียว การปกครองที่เป็นไปตามจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมานั้น “ไม่มีการรับรู้หลักเรื่องประชาธิปไตยซึ่งถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” (๓๗) ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ ให้เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ หยุด แสงอุทัย ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งของสำนักรัฐธรรมนูญนิยม ก็ได้โต้แย้งความคิด “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่ปัญญาชนนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีพยายามเผยแพร่ไว้ว่า “สำหรับประเทศไทยมีผู้อ้างแม้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้อำนาจมาจากราษฎรนั้น แต่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นเช่นนั้น” (๓๘)
อำนาจสูงสุดอยู่ที่ใด? : อำนาจพระมหากษัตริย์คืออำนาจประชาชน หรืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน
นักกฎหมายอย่างหลวงจักรปาณีฯ แห่งสำนักจารีตประเพณีได้อธิบายถึงอำนาจสูงสุดอยู่ที่ใดว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ราษฎรหรืออยู่ที่พระมหากษัตริย์นั้น มีความเหมือนกัน ว่า “การที่จะเขียนว่าอำนาจสูงสุดของประเทศจะอยู่กับราษฎรหรือจะเขียนว่าอำนาจสูงสุดอยู่กับพระราชาธิราช แต่จะต้องใช้อำนาจนั้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครอง (อย่างญี่ปุ่น) ผลที่จะได้ก็คงเท่ากัน” (๓๙) ในขณะที่ เดือนและไพโรจน์ จากสำนักรัฐธรรมนูญนิยมได้ให้ความเห็นแย้งความคิดของหลวงจักรปาณีฯ ว่า ประเด็นเรื่องการบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยพวกเขาแย้งว่า การที่หลวงจักรปาณีฯ ได้วางหลักว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ใครก็ไม่มีความแตกต่างกันนั้น เขาทั้งสองเห็นว่าการวางหลักดังกล่าว “ไม่ถูกต้อง” และเห็นว่าปัญหาว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งหากระบุว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระราชาธิราช ก็หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงจำกัดอำนาจพระองค์เองตราบเท่าที่พระองค์ยังทรงยินยอม แต่หากไม่ประสงค์จำกัดอำนาจแล้วย่อมทรงสามารถเรียก “อำนาจเต็มกลับคืนได้เมื่อนั้น” (๔๐) ด้วยเหตุนี้ การบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม” จึงถูกต้องดีกว่า ที่หลวงจักรปาณีฯ พยายามวางหลักว่าขึ้นอยู่กับใครก็ได้ นอกจากนี้ เดือนและไพโรจน์ยังได้ยกตัวอย่างประสบการณ์จากอังกฤษ เพื่อตั้งคำถามกลับไปยังสำนักจารีตประเพณีว่า แม้อังกฤษจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พวกอังกฤษรู้ดีว่าราชบัลลังก์นั้นอยู่ได้โดยความเห็นชอบของคนทั้งชาติซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ดังนั้น หลักอำนาจอธิปไตยตามประเพณีนิยมของอังกฤษนั้น ถือว่า “อำนาจอธิปไตยนั้นสถิตอยู่ในรัฐสภา” โดยพวกอังกฤษมิได้มีการกล่าวย้อนประวัติศาสตร์ขึ้นไปอีกแล้ว (๔๑)
เดือนและไพโรจน์ได้ให้เหตุผลเสริมว่า การที่นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีพยายามอ้างสิทธิอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์ในการบังคับบัญชาแต่ผู้เดียวจนกลายเป็นประเพณีและไม่ควรเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผล และมีความเห็นเสริมว่า จารีตประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่ราษฎรจะเปลี่ยนความนิยมไปจากเดิม (๔๒)
สำหรับหยุด นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมอีกคน ได้อธิบายเกี่ยวกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า พระมหากษัตริย์มีพระบรมเดชานุภาพล้นพ้น ไม่มีข้อจำกัด พระบรมราชโองการย่อมมีผลเป็นกฎหมาย แต่สำหรับระบอบปริมิตาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) อำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ และเรื่องใดที่มิได้จำกัดก็ถือเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ เช่น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่พระมหากษัตริย์พระราชทานโดยพระองค์เองจึงสงวนอำนาจให้พระองค์มาก โดยระบอบการปกครองเช่นนี้มีอยู่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๑ เช่น ลักษณะของการใช้อำนาจของกษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีไม่ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนฯ มีหน้าที่แต่เพียงให้ความยินยอมในการที่จะบัญญัติกฎหมายเก็บภาษีอากรและพระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้งกฎหมายอย่างเด็ดขาด กล่าวคือ ถ้าร่างกฎหมายใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยย่อมตกไป แต่ปัจจุบัน [พ.ศ. ๒๔๘๙] ระบอบการปกครองแบบปริมิตาสิทธิราชย์นี้ล่วงพ้นสมัยไปแล้ว (๔๓)
ส่วนอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น หยุดเห็นว่า พระมหากษัตริย์จะไม่มีฐานะที่จะทรงใช้อำนาจโดยพระองค์เองเพราะการปกครองในระบอบนี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ก็โดยที่คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนฯ และรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนฯ ดังนั้น บทบาทของพระมหากษัตริย์จึงทรงปกเกล้าฯ แต่มิได้ปกครอง (Le Roi regime mais il ne gouverne pas) หรือหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ (the king can do no wrong) ดังนั้น การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการและรับผิดชอบแทน แม้แต่อำนาจในทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ก็ไม่มี แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในทางสังคมซึ่งอาจมีมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ความเคารพสักการะของราษฎรต่อพระมหากษัตริย์เป็นพระองค์ๆ ไป (๔๔)
ความสัมพันธ์ทางอำนาจของพระมหากษัตริย์และรัฐสภาตามระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) นั้น หยุด ได้วางหลักในการวินิจฉัยว่า หากมีกรณีที่มีข้อสงสัยหรือไม่สามารถหยั่งทราบได้จากรัฐธรรมนูญว่าอำนาจที่จะใช้นั้นเป็นของพระมหากษัตริย์หรือรัฐสภา ให้ถือว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์ (๔๕) หรือการถือหลักว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุด (Parliamentary Supremacy) นั่นเอง
Saturday, October 23, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
๐๐๐" ความในใจ "ไทยแท้ ทุกท่าน
ReplyDeleteรักชาติยิ่งยืนนาน ทั่วถ้วน
รักชีพตนตลอดกาล ท่วมท้น
รักสุดใจมั่นล้วน รักศาสน์กษัตรา
๐๐๐เมื่อใจแตกแหลกสลาย กายร้อน
ความยุติธรรมสั่นคลอน มิเที่ยง
ความจริงวันนี้วอน แจ้งจิต
ถูกผิดคิดหลีกเลี่ยง สงครามประชาชน
๐๐๐ผู้ใดใครก่อเกิด วิกฤติ
ทักษิณ-อภิสิทธิ์ ย่อมรู้
ก่อการร้ายวิปริต ผิดเพี้ยน
แปรเปลี่ยนรัฐบาลผู้ ประชานิยมพลัน
๐๐๐เผด็จการรัฐประหาร ก่อกรรม
นิติรัฐนิติธรรม สูญสิ้น
รู้ผิดชิงการนำ นิรโทษ
ใจโกรธถูกหยามหมิ่น แผ่นดินมิชอบธรรม