ประชาธิปไตย คือ อะไร ?
คำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึงหมู่คนคือปวงชน กับคำว่า ”อธิปไตย” หมายถึงความเป็นใหญ่
“ประชาธิปไตย” จึงหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน”
ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”
ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมิติได้ก็จำเป็น ที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อยซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่งหรือ “อภิสิทธิ์ชน” แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว โดยไม่มีหน้าที่ มนุษยชนแบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย
• วิกิพีเดีย ให้ความหมายว่า
ประชาธิปไตย (democracy) คือแนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดก่อนหน้า ที่เชื่อว่าประชาชนมีชีวิตอยู่เพื่อเสริมสร้างบารมีหรือความมั่งคั่งให้กับกษัตริย์ หรือมีชีวิตตามความต้องการของพระเจ้า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้เป็นผลจากยุคแสงสว่าง
ประชาธิปไตย หมายถึงระบอบการปกครองประเทศระบอบหนึ่ง ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน คำว่า “ประชาชน” ในที่นี้มิได้หมายความแต่เฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น คนร่ำรวย คนยากจน เจ้าของที่ดิน คนงาน หรือชาวนา เท่านั้น แต่หมายถึง ปวงชนทั้งชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนอย่างไร หรือประกอบอาชีพใดก็ตาม ปวงชนเหล่านี้ย่อมมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ในการปกครองประเทศร่วมกันและอย่างเสมอภาคกัน
ในระบอบประชาธิปไตย ถือความเห็นของปวงชนฝ่ายข้างมากเป็นเกณฑ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในขณะเดียวกันสิทธิของปวงชนฝ่ายข้างน้อย ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งความเห็นฝ่ายข้างมากนั้น จะต้องเป็นความเห็นที่กอปรด้วยเหตุผล และเป็นธรรมด้วย
เมื่อพิจารณาในแง่ของศีลธรรมแล้ว จะเห็นได้แจ่มแจ้งว่า ระบอบประชาธิปไตยนี้ มีหลักการที่มีรากฐานสืบเนื่องมาจากศีลธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยเคารพในความเป็นธรรม (Justice) เหตุผล (reason) เมตตาธรรม (compassion) ความศรัทธาในมนุษยชาติ (faith in man) และความเคารพในเกียรติภูมิแห่งมนุษยชน (human dignity)
เหตุผลสำคัญในเชิงการเมือง ของการจัดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสองประการคือ
ประการแรก : ระบอบการปกครองนี้ส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศโดยทั่วหน้ากัน บุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อร่วมกันทั้งชาติ ย่อมตัดสินใจได้ดีกว่าบุคคลเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียวเท่านั้น และ
ประการที่สอง : ปวงชนทั้งชาตินั้นเอง ควรจะมีสิทธิที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตน และมาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ของปวงชน ไม่มีผู้อื่นใดเหมาะสม ที่จะเลือกผู้บริหารได้ดีกว่าปวงชนนั้นๆเอง
นอกเหนือจากรูปแบบของการใช้อำนาจโดยตรงและผ่านผู้แทนของประชาชนแล้ว สิ่งที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยได้แก่ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมองไปที่ธรรมชาติของมนุษย์ กฎแห่งธรรมชาติ และ สภาวะธรรมชาติ โดยปรัชญารากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถรวบรวมได้ดังนี้
ธรรมชาติของมนุษย์ (Human Nature): มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจต่อโลกภายนอกได้ มีความสามารถในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตน ถึงแม้ดุลยพินิจของมนุษย์จะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะกระทำแต่สิ่งที่ดีสำหรับตนมากกว่าผู้ปกครองตัดสินใจให้ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีการใช้มโนธรรมส่วนบุคคลประกอบการตัดสินใจร่วมกับเหตุผล แต่มโนธรรมที่แตกต่างกันทำให้ประชาคมทางการเมืองต้องอาศัยการวินิจฉัยร่วมกันของคนส่วนใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานแนวคิดของเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) ในการปกครอง
ประชาธิปไตย (democracy) คือ แนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดก่อนหน้า ที่เชื่อว่าประชาชนมีชีวิตอยู่เพื่อเสริมสร้างบารมีหรือความมั่งคั่งให้กับ กษัตริย์ หรือมีชีวิตตามความต้องการของพระเจ้า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้เป็นผลจากยุคแสงสว่าง การนำแนวคิดประชาธิปไตยมาใช้จริงนั้นมีลักษณะเป็นขั้นเป็นตอน จากประชาธิปไตยเชิงรูปแบบ ไปเป็นประชาธิปไตยเชิงเสรี และเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่บางประเทศก็เป็นแค่ในนาม
การปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่อำนาจมาจากประชาชนเป็นการปกครองที่ประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เป็นการปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน
หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยยึดหลักการดังต่อไปนี้คือ
1. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ในกิจการต่างๆ ร่วมกัน
2. หลักอำนาจอธิปไตยโดยปวงชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา
3. หลักอำนาจอธิปไตยเพื่อปวงชน กล่าวคือผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศต้องปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่มิใช่เพื่อหมู่คณะของตนเอง
4. หลักเหตุผล ระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง
5. หลักเสียงข้างมาก เมื่อมีการอภิปรายแสดงข้อคิดเห็นกันแล้วการหาข้อยุติต้องเกิดจากการออกเสียงลงคะแนนเสียง มติของที่ประชุมเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ
6. หลักความยินยอม เป็นการยอมรับฉันทานุมัติจากปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยให้เข้ามาทำหน้าที่แทนใช้อำนาจของประชาชนภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด
7. หลักประนีประนอม เมื่อเกิดข้อขัดแย้งไม่มากนัก ก็อาจมีการประนีประนอมโดยยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเกณฑ์โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเพื่อหาข้อยุติ
8. หลักความเสมอภาค ประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือว่า มนุษย์เกิดมามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาค
9. หลักเสรีภาพ ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องให้เสรีภาพแก่ปวงชนภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการพูด การเขียน การชุมนุม การศึกษาอบรม การรวมตัวกันเป็นสมาคม
10. หลักการปกครองตนเอง เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลในชุมชนหรือท้องถิ่นได้มีโอกาสปกครองตนเอง เพราะประชาชนในท้อง ถิ่นย่อมสามารถรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ดีกว่าบุคคลอื่น
แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนทางการเมืองของเหล่านักคิดและปรัชญาเมธีในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งไม่พอใจกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ความคิดของนักคิดเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางและผู้มีบทบาทในสังคมมีการตีพิมพ์เผยแพร่ความคิดและผลงานของกลุ่มนักปรัชญาอย่างกว้างขวางโดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวซึ่งบุคคลที่เสนอความคิดเกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองอันเป็นรากฐานแนวคิดประชาธิปไตยในเวลาต่อมาที่สำคัญได้แก่
1. จอห์น ลอก ผลงานของจอห์น ลอก ที่เกี่ยวกับการเมือง เล่มสำคัญได้แก่ หนังสือว่าด้วยทฤษฎีการเมืองสองเล่ม ชื่อ “ Two treaties of Government ” เป็นหนังสือที่ว่าด้วย ที่มาของอำนาจทางการเมือง เสรีภาพ การปฏิเสธ อำนาจการปกครองของกษัตริย์และชนชั้นสูง ซึ่งแนวคิดของจอห์น ลอก มีอิทธิพลอย่างมากต่อระบอบการปกครองของอังกฤษ
2. มองเตสกิเออ เป็นนักที่มีแนวคิดต่อต้านอำนาจอันล้นพ้นของกษัตริย์ โดยพยายามรวบรวมข้อเท็จจริงของการปกครองในสมัยโบราณรูปแบบต่างๆ มาวิเคราะห์แยกแยะหาข้อดีข้อเสีย และเสนอหลักการปกครอง
ออกมาในงานเขียนชิ้นเอกของเขา เรื่อง “ The Spirit of Laws” ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่ต้องสอดคล้องกับลักษณะของแต่ละประเทศ การแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งแนวคิดการแยกอำนาจของมองเตสกิเออ เป็นพื้นฐานแนวคิดที่ประเทศปกครองระบอบประชาธิปไตย มักจะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ
3. รุสโซ มีผลงานหลายเล่มที่แสดงทัศนะเกี่ยวกับการศึกษา จิตวิทยา การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและการปกครองบ้านเมืองโดยผลงานชิ้นเอกของรุสโซคือ เรื่อง“ The Social Contract” หรือ “สัญญาประชาคม” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครอง งานเขียนชิ้นนี้ทำให้รุสโซได้รับการยกย่องว่าเป็น “เจ้าทฤษฏีแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน”
การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้แบ่งรูปแบบการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย แบ่งออกได้เป็น 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1) หลักประมุขของประเทศ แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่าน 3 องค์กร คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยผ่านทางรัฐสภาอำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล
มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยประธานาธิบดีจะต้องเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเพื่อทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ ในบางประเทศประธานาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายบริหารด้วย
2) หลักการรวมและแยกอำนาจ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
2.1) แบบรัฐสภา โดยรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมาย ซึ่งอาจมีสภาเดียวหรือสองสภา
สภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง
สองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) มาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภา (สภาสูง) มาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร
รัฐสภามีหน้าที่เลือกบุคคลเข้าเป็นคณะรัฐมนตรี ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลต้องบริหารงานภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา ดังนั้น รัฐบาลจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพจึงต้องได้รับเสียงสนับสนุนพอควรจากรัฐสภา การปกครองระบอบรัฐสภานี้ไม่มีการแบ่งแยกอำจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งสองฝ่ายต่างคานอำนาจกันและกัน( Checks and Balances) กล่าวคือ คณะรัฐบาลจะเข้าบริหารประเทศต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาและรัฐสภามีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลอันส่งผลให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการควบคุมรัฐสภาได้โดยการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนทำการเลือกผู้แทนเข้ามาใหม่ ถ้าหากรัฐสภาไม่ยอมผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น การปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาปัจจุบันมีใช้อยู่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และไทย เป็นต้น
2.2) แบบประธานาธิบดี ซึ่งมีการแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอย่างชัดเจน และมีอิสระในการทำงาน โดยผู้นำประเทศที่ใช้การปกครองรูปแบบนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ประธานาธิบดี จึงเป็นทั้งประมุขของประเทศและฝ่ายบริหารในคนเดียวกัน ซึ่งทั้ง สาม สถาบันจะคอยยับยั้ง ถ่วงดุลอำนาจกันและกันเพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ประธานาธิบดีไม่สามรถยุบสภาได้รวมทั้ง 3 สถาบัน ไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีได้ ประเทศที่ยังใช้ปกครองรูปแบบนี้เช่น สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย บราซิล เป็นต้น
2.3) แบบกึ่งประธานาธิบดี เป็นระบบที่เป็นการผสมผสานระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา
แบบประธานาธิบดี คือ จะมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและฝ่ายบริหารโดยจะมาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจ มากกว่าประธานาธิบดีระบบรัฐสภา สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสามารถยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้ ประเทศที่ใช้การปกครองแบบนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ศรีลังกา เป็นต้น
No comments:
Post a Comment