Sunday, October 17, 2010

เวทีประชาธิปไตยชุมชน

เวทีประชาธิปไตยชุมชนวันที่สองคึกคัก ยื่น 5 ข้อเสนอเชิงนโยบาย และปัญหาเร่งด่วน 5 ภาค นายกฯโปรยยาหอมรับทุกข้อ เตรียมงบ 700 ล้านให้ตำบลละแสนภายใน 2 ปี ผลักดัน ปชต.ทุกหมู่บ้านไปสู่สมานฉันท์แผ่นดิน เติมหลักสูตรใส่การศึกษาทุกระดับ ให้ อปท.มีอิสระหนุนงบองค์กรชุมชน เปิดพื้นที่รากหญ้าในสื่อสาธารณะ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) จัด “สมัชชาประชาธิปไตยชุมชน สู่การเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง” เป็นวันที่สอง โดยมี ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธาน สพม. ภาคีเครือข่ายพัฒนาการเมือง 76 จังหวัดทั่วประเทศ หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมารับ “ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนและความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมือง” จากตัวแทนสมัชชาประชาธิปไตยชุมชน

นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่าข้อจำกัดในการพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมาเพราะภาคราชการและ อปท.ไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้นประชาธิปไตยชุมชนจะเป็นรากฐานการพัฒนาประชาธิปไตยของชาติและการปฏิรูปเพื่อความเข้มแข็งของประเทศ ทั้งนี้มีตัวอย่างความสำเร็จที่สภาพัฒนาการเมืองได้ดำเนินการหรือต่อยอดในจังหวัดนำร่องทั่วประเทศช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ชุมชนอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์, บ้านสามขา จ.ลำปาง ที่ประชุมยืนยันจะนำกระบวนการดังกล่าวไปปฏิบัติในระดับชุมชน ร่วมกับภาครัฐ อปท.และองค์กรต่างๆเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ทั้งระดับชุมชนและระดับจังหวัด โดยมีนโยบายที่เหมาะสม จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลนำไปจัดทำนโยบายสนับสนุนประชาธิปไตยชุมชนและการเมืองภาคพลเมืองอย่างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 78(7) และมาตรา 87 ดังนี้

1.กำหนดข้อบัญญัติวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนสนับสนุนองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชน ในการจัดทำแผนชุมชน แผนยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด โดยให้ อปท.ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดงบประมาณส่งเสริมประชาธิปไตยชุมชนตำบลละ 100,000 บาท ทุกตำบลภายใน 2 ปี
2.เปิดพื้นที่สื่อสาธารณะและงบประมาณ เทคโนโลยี ผลิตเนื้อหาประชาธิปไตยชุมชนที่เข้าถึงพื้นที่

3.เร่งผลักดันกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนทุกหมู่บ้าน ตำบล โดยบูรณาการปัญหาความต้องการของชุมชนและการทำงานของทุกภาคส่วนให้เป็นเอกภาพ และใช้กระบวนดังกล่าวสร้างสมานฉันท์ทั้งแผ่นดิน

4.พัฒนาและปรับปรุงให้มีหลักสูตรประชาธิปไตยชุมชนในการศึกษาทุกระดับ และ

5.ให้ อปท. เป็นอิสระในการสนับสนุนงบประมาณองค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกำหนดงบประมาณและบริหารจัดการตนเองระหว่างองค์กรชุมชนและ อปท.


นายสน ยังกล่าวว่า นอกจากข้อเสนอเชิงนโยบาย สมัชชาสภาพัฒนาการเมืองภาคต่างๆ ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ดังนี้ ภาคเหนือนำเสนอปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินและการตัดไม้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำเสนอปัญหาเหมืองแร่โปแตซ, ภาคกลางตอนบนและตะวันตกเสนอปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร, กรุงเทพ ปริมณฑลและตะวันออก เสนอให้ทบทวนยกเลิกโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลภาวะต่อชุมชน และภาคใต้เสนอให้ออกกฎหมายเพื่อคืนสัญชาติให้คนไทยในท้องถิ่น ยุติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอปัญหาจากเครือข่ายผู้หญิง

หลังจากรับข้อเสนอจากที่ประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถา “นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง” ว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าการลงคะแนนเลือกตั้งและการประท้วง สถานการณ์ปัญหาปัจจุบันส่วนหนึ่งเพราะมองข้ามการเมืองภาคพลเมือง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพิ่งเกิดรูปธรรมหลังรัฐธรรมนูญ 2540 แม้แต่ อปท.ก็ยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้เพียงพอ การมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองคือหัวใจการแก้ปัญหาความขัดแย้งและพัฒนาประเทศ
“ในขณะที่เราพูดถึงความสำคัญของประชาชนด้อยโอกาส ประชาชนในชนบทห่างไกล หรือที่เรียกว่าประชาชนรากหญ้า แต่ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับมุ่งมาสู่การเมืองระดับชาติทั้งนั้น จึงเป็นปัญหาและช่องว่างที่เราต้องไปผลักดันการเมืองระดับท้องถิ่น”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ต่อเนื่องถึงรัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติเสริมความเข้มแข็งและช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการตั้งสภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชน  นอกจากช่องทางดังกล่าวรัฐบาลยังพยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น การแก้ปัญหาที่ทำกินที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ก็มีนโยบายโฉนดชุมชน ซึ่งเกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนที่ร่วมกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วนำข้อเสนอมาตกลงกับรัฐในการออกโฉนดกับชุมชน และกำลังเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาหลายพื้นที่ อีกตัวอย่างคือโครงการบ้านมั่นคงที่อาศัยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนจนประสบความสำเร็จหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะรับข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 5 ข้อไปพิจารณาจัดทำตามแนวทางที่เหมาะสม เช่น งบ 1 แสนต่อตำบล รวมประมาณ 700 กว่าล้าน และยินดีสนับสนุนกระบวนการระดับหมู่บ้านตำบลตามความพร้อมแต่ละพื้นที่ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือประชาธิปไตยชุมชนไม่ควรเป็นรูปแบบมาตรฐาน จะขาดความยืดหยุ่นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ได้ และอย่ามองเฉพาะเรื่องการเมือง ต้องรวมไปถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากร ฯลฯ ส่วนข้อเสนอรายภาคจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาในรายละเอียด และพร้อมจะให้มีการปรึกษาหารือกับสภาพัฒนาการเมือง สภาองค์กรชุมชนต่อไป
“รัฐบาลได้ยึดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในภาคใต้ และกำลังเร่งแก้ปัญหาอุตสาหกรรมกับมลภาวะในภาคตะวันออกโดยพิจารณาความสามารถรองรับอุตสาหกรรมของพื้นที่และทำเขตกันชนระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม ยึดประกาศประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงเป็นแนวทาง ส่วนข้อเสนอให้ อปท.มีอิสระสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ เป็นแนวทางหลักซึ่งรัฐบาลพร้อมรับไปดำเนินการ”

No comments:

Post a Comment