Tuesday, October 12, 2010

การเมืองคืออะไร ?

การเมือง คืออะไร ?

ระบบการเมือง หมายถึง ระบบซึ่งประกอบไปด้วย ข้าราชการการเมือง พรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มผลประโยชน์ สื่อมวลชนและประชาชน การที่กลุ่มต่างๆเหล่านี้มาอยู่ร่วมกันในรูปแบบของรัฐจะมีการสร้างระบอบการปกครองมาใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย
ระบอบการเมือง คือระบบการบริหารสังคมที่เรียกว่า “รัฐ” นั่นเอง

ในระบบการบริหารจัดการรัฐ จึงเป็นระบบของการตัดสินใจแทนรัฐโดยผู้ใช้อำนาจรัฐ เป็นการกระทำในนามของรัฐและมีผลผูกพันต่อคนในสังคมของรัฐนั้นๆต้องให้การยอมรับหรือต้องปฏิบัติตามระบอบการเมือง จึงเป็นระบบการปกครองและการบริหารจัดการรัฐโดยสถาบันต่างๆผู้ใช้อำนาจรัฐ มีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของทุกคนในสังคมรัฐนั้นๆอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นการใช้อำนาจของสถาบันหลักทางการเมือง ต้องมีรูปแบบของการจัดการที่ตั้งบนกฎเกณฑ์ตามระบอบการปกครองที่นำมาใช้เสมอ เช่น ถ้าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจรัฐของสถาบันทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาล รัฐสภา ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมาส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจ การตรวจสอบ ให้การใช้อำนาจเป็นไปอย่างโปร่งใส ชอบธรรม ไม่ควรผูกขาดการตัดสินใจแค่เพียงการพิจารณาของครม. และรัฐสภาโดยประชาชนไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย

พัฒนาการทางการเมืองไทยที่ผ่านมา
- นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้อย่างแท้จริงหรือยัง

- ช่วงแรก(พ.ศ.2475-2500) เป็นช่วงแห่งการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆคือ ทหาร ตำรวจ พลเรือนที่สับเปลี่ยนกันเข้ามาใช้อำนาจรัฐ โดยมีรัฐธรรมนูญที่มีกรอบกติกาที่เอื้ออำนวยให้

- ช่วงตั้งแต่ พ.ศ.2500 - 2523 เป็นช่วงแห่งการผูกขาดอำนาจของข้าราชการทหารและ Technocrat’s ที่สับเปลี่ยนกันก่อการปฏิวัติรัฐประหาร เข้ายึดครองอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง จนเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง

- ในช่วงปี พ.ศ.2523-2531 สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์สังคมการเมืองไทยเข้าสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย

- ในสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีปัญหาด้านการทุจริตคอรัปชั่นสูง นำไปสู่การก่อการรัฐประหารโดยกลุ่มทหาร (รสช.) อีกครั้งหนึ่ง

- นับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาการเข้าสู่อำนาจโดยการยึดครองอำนาจทำการรัฐประหารสิ้นสุดลง ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการปกครองแบบรัฐสภา มีการเลือกตั้ง พรรคการเมือง มีผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย

สภาพปัญหาทางการเมืองไทยในช่วงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมา อาจสรุปในประเด็นสำคัญ ๆ ได้ดังนี้

1. การเมืองไทยมีลักษณะเป็นการเมืองของนักการเมือง และของรัฐราชการ ไม่มีลักษณะเป็นการเมืองของพลเมือง(Citizen Politic) ใน 50 ปีแรก สังคมการเมืองไทยได้ชื่อว่า การเมืองที่ข้าราชการเป็นใหญ่ หรือ “อำมาตยาธิปไตย” ตั้งแต่ พ.ศ.2525 -2540 เป็นการเมืองแบบเลือกตั้ง (Electoral Politics) สิ่งที่ขาดหายไปคือ การเมืองภาคประชาชน (Citizen Politics) ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
2. ความไม่สุจริตในระบบการเมืองเริ่มจากการซื้อเสียง เข้ามาสู่ตำแหน่ง แสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งสาธารณะได้ง่าย เพราะระบบการตรวจสอบไม่ครบถ้วน และไม่มีประสิทธิภาพ
3. การเมืองไทยที่ผ่านมา เป็นการเมืองที่รัฐบาลและ รัฐสภาขาดเสถียรภาพและความต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองทำให้เกิดปัญหาทับถมจนเกิดวิกฤติสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองขึ้น
สาเหตุ
- ระบอบประชาธิปไตยของไทย พัฒนามาจากระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่ข้าราชการประจำ และ Technocrat เป็นผู้มีอำนาจมาก
- นักการเมืองต้องอาศัย ความคิด ความรู้ความสามารถจากกลุ่มข้าราชการ
- ทำให้สถาบันทางการเมือง คือ รัฐสภา รัฐบาล และศาลอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
- ส่งผลให้ระบบการเมืองไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนกันระหว่างข้าราชการประจำ นักการเมืองและนักธุรกิจนายทุน
การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองไทย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการจัดการปกครองประเทศจากแบบเดิมที่เป็นแบบที่ใช้ระบบความสัมพันธ์ (relation-base-system) ส่วนตัวเป็นหลักมาเป็นรูปแบบที่ใช้กฎเกณฑ์ (rule-base-system)

ขั้นแรกของการปฏิรูปการเมืองไทย คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยความหวังว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือ ในการทำให้การเมืองการปกครองไทยมีระบบการปกครองที่ดี (Good Governance)
การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้เสร็จสิ้นและประกาศใช้เมื่อ วันที่11 ตุลาคม พ.ศ.2540

ขั้นที่สองของการปฏิรูปการเมือง คือ การนำรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพ
นั่นคือ สถาบันทางการเมือง ได้แก่ รัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ จะสามารถปฏิบัติภาระ หน้าที่ได้อย่างอิสระ สุจริต โปร่งใส โดยมีกระบวนการบริหารจัดการที่ดี

- มีรัฐสภาที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างเข้มแข็ง พิจารณากลั่น กรองกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
-มีรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่มีความเข้มแข็งมีความรับผิดชอบในการกระทำของตน(Accountability)
- มีองค์กรอิสระที่สามารถทำการตรวจสอบ กำกับการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีระบบราชการที่ข้าราชการมีจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ
- มีประชาสังคมที่เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ
-โดยทั้งหมดกระทำการโดยเคารพหลักนิติธรรม เพื่อความมีประสิทธิภาพ และความเที่ยงธรรม

การปฏิรูปการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ ต่อเมื่อทุกส่วนของสังคม ได้แก่
ภาคการเมือง ภาครัฐราชการ และภาคประชาชน ให้การยอมรับ เคารพ และปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์ กติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างจริงจัง

เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2540 มีเป้าหมายสำคัญ 3ประการคือ
1. การเพิ่มอำนาจให้พลเมือง โดยการทำให้การเมืองไทยมีลักษณะเป็นการเมืองของพลเมือง
2. การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส เพิ่มความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐ และการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ ลดการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในวงการเมืองและระบบราชการ
3. การทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างรัดกุมเข็มงวดมาตรการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ทั้ง 3 ประการ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 อาจสรุปได้ดังนี้

1. การทำให้การเมืองไทยมีลักษณะเป็นการเมืองของพลเมือง (Citizen Politics) ทำไมต้องมีการเมืองของพลเมือง?
- เพื่อให้นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน สามารถทำงานร่วมกันได้- เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมทางการเมือง

สังคมการเมืองไทย
ในอดีต รัฐราชการเข้มแข็งและมีบทบาทสูงในทางการเมือง ปัจจุบัน ภาคการเมืองเข้มแข็งและมีบทบาทสูง สิ่งที่ขาดหายไป คือ ภาคประชาชน

ในสังคมรัฐหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ
- ภาครัฐราชการ
- ภาคการเมือง
- ภาคประชาชน (พลเมือง)

ในสังคมการเมืองไทยในอดีต รัฐราชการเข้มแข็งและมีบทบาทสูงในทางการเมือง เพราะข้าราชการในอดีตเป็นผู้ที่มีความรู้ มีวุฒิการศึกษาสูง(Technocrats) จึงเป็นผู้มีบทบาทในการตัดสินใจในนโยบายต่างๆทั้งหมด

การเมืองของพลเมือง(Citizen Politics) หรือการเมืองภาคประชาชน คืออะไร
การเมืองของพลเมือง หมายถึง การเมืองที่ประชาชนในทุกส่วนภาคสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับนานาชาติ เป็นการเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีบทบาทและเข้าใจถึงสิทธิในการแสดงออกซึ่งความต้องการของตนเพื่อนำไปสู่การผลักดันให้รัฐออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายต่างๆที่สอดคล้องกับความต้องการของตนได้ การเมืองภาคประชาชน จึงถือเอาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่างที่ปรากฏในสังคมรัฐ เช่น การชุมนุม เดินขบวน เรียกร้อง เจรจาต่อรอง การพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับรัฐในเรื่องต่างๆ ฯลฯเป็นต้น

การเมืองแบบนี้ ประชาชนจะเป็นตัวแทนของตนเอง เป็นผู้กำหนดความต้องการของตนเองออกมาเป็นประเด็นในสังคมเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จะเปลี่ยนจากการเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์พึ่งพา แบมือขอในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ(Passive) มาเป็นผู้กระทำ (active) เป็นฝ่ายรุกรัฐให้กระทำตาม

ดังนั้น รัฐจึงไม่ใช่ศูนย์อำนาจแต่ประชาชนคือศูนย์อำนาจเป็นผู้กำหนดความต้องการของตน ไม่ใช่รัฐ ในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประชาธิปไตย ประชาชนในชาติจะมีวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ยึดถือว่า “บ้านเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” กิจการใดๆ ธุระใดๆของรัฐจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ แม้จะมีรัฐสภา รัฐบาล และกลไกรัฐที่ใหญ่โตแล้วก็ตาม การสร้างประชาธิปไตยแบบการเมืองส่วนร่วม(Participatory democracy) และประชาธิปไตยทางตรงเพื่อกำกับ กำหนดทิศทางตรวจสอบการใช้อำนาจเป็นสิ่งจำเป็น

No comments:

Post a Comment