Wednesday, January 19, 2011

สังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่านกับบทบาทของพรรคการเมือง

โดย ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ
ที่มา : ประชาไท

นับจากการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 เป็น ต้นมาได้สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์สังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันพรรคการเมืองซึ่งเป็นที่มาของอำนาจรัฐและการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชน ตลอดจนเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นระบบพรรคการเมืองมากขึ้นตามลำดับนั่นหมายถึง ประชาชนเริ่มมีจิตสำนึกในจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ จึงเริ่มรวมกลุ่มทางการเมืองและจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาเพื่อเป้าหมายในการ เข้าไปกำหนดนโยบาย

พรรคการเมืองจึงเป็นการรวมกันของกลุ่มบุคคลในสังคมโดยสมัครใจมีอิสระที่จะสร้าง เจตนารมณ์ทางการเมืองของตนอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ในการทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อต้องการส่งตัวแทนเข้าทำหน้าที่ในสภา อันจะได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยผ่านกระบวนการสรรสร้างแนวความคิดทางการเมืองเพื่อให้สาธารณชนยอมรับและ สนับสนุนตามทิศทางของกลุ่ม

ความเป็นองค์กรที่มีลักษณะต่อเนื่องนี่เองที่ทำให้พรรคการเมืองมีความต่างออกไป จากการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ในลักษณะของกลุ่มเคลื่อนไหวเฉพาะกิจเพื่อเรียกร้องบางเรื่องราว ดังนั้นกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจึงสร้างเงื่อนไขหรือหลักประกันเพื่อให้เกิดความเคร่งครัดในการสร้างวัตถุประสงค์ทางการเมืองให้เป็นจริง เช่น จะมีกฎเกณฑ์เรื่องลักษณะการจัดตั้งหรือเรื่องจำนวนสมาชิกที่มีพอสมควรหรือ บทบาทหน้าที่ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง

เมื่อพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานในระบบรัฐสภาหรือการเมืองในระบบ ประชาธิปไตยในลักษณะตัวแทน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนจัดตั้งพรรคการเมืองได้สะดวกขึ้น และให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการจัดตั้งเพื่อให้สามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่

Tuesday, January 18, 2011

....."แด่แม่...ด้วยดวงใจ"

หากชีวิตของเราเปรียบดั่งต้นไม้
แม่ก็คือรากแก้วอันมั่นคง
คอยส่งกำลังบำรุง
ให้ลำต้นเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา
ผลิบานดอกใบออกผล
ให้เป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์
บนโลกกว้าง.....หนทางยาวใกล ทุกก้าวที่มุ่งไปล้วนแล้วแต่มีที่มา

เราคงจะไม่ลืมว่า ก้าวที่เข้มแข็งมุ่งมั่นในวันนี้นั้น....คือก้าวที่เคยเตาะแตะ
ล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน

และยิ่งกว่านั้น...เราคงจะไม่ลืมว่า...มีสองมือของใครคนหนึ่ง คอยจับจูง
ให้เราหัดก้าวเดิน เสียงปรบมือที่คอยให้กำลังใจ ถ้อยคำปลอบโยนในยาม
ที่เราร้องไห้ ผู้ที่ทำให้เรามั่นใจได้ทุกครั้ง ด้วยวงแขนอบอุ่นที่โอบกอดเรา
อย่างทะนุถนอมเสมอ เราก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาเนิ่นนาน แต่ไม่เคย
ไกลเกินกว่าสายใยแห่งความรัก และความผูกพันจะเอื้อมถึง

คืนหนึ่งบนฟากฟ้าที่พราวพร่างด้วยหมู่ดาว
ยังจำได้ถึงนิทานก่อนนอนเรื่องแล้วเรื่องเล่า ที่เรารบเร้าขอฟังอีกอย่างไม่รู้เบื่อ
กับน้ำเสียงอันอ่อนโยนที่เจือด้วยความปราถนาดีในโลกนี้.....จะไม่มีใครทุ่มเทสิ่ง
ดี ๆ ให้กับชีวิตของเราได้เทียบเท่ากับแม่......คงไม่มีอีกแล้ว

ก้าวแรกที่เริ่มออกสู่โลกกว้าง คือวันแรกที่เราเริ่มไปโรงเรียน
สองมือเล็ก ๆ ของเราโอบคอแม่เหนียวแน่น จนยากที่จะมีใครมาพรากเราไปจาก
แม่ได้ ด้วยเสียงร้องไห้จ้าและน้ำตาที่นองหน้า บอกให้แม่รู้ว่า....เราหวาดหวั่นต่อ

โลกกว้างใบนี้เพียงใด
แต่สุดท้าย.....แม่ก็ปล่อยให้เราได้เรียนรู้ถึงการอยู่ห่างจากอกแม่จนได้
เนื่องจากเพราะแม่รู้ดีว่า...วันหนึ่งข้างหน้าเราต้องก้าวออกไปเผชิญโลกกว้าง

เพียงลำพัง แม่รู้ดีว่า.....ไม่มีแม่คนใดสามารถที่จะอยู่เคียงข้างลูกไปได้ตลอดชีวิต
เมื่อยิ่งเติบโตขึ้น กลับเป็นเราที่ปล่อยให้แม่เป็นฝ่ายรอคอยบ้าง
มีกี่คืนที่แม่ยากจะข่มตาให้หลับใหล เพราะความห่วงใยลูก มีกี่วันที่แม่เฝ้ารอแล้ว
รอเล่า จดจ่อถึงลูกผู้แรมทางไกล........เพื่อไปเรียนรู้ชีวิต

เมื่อวันใดวันหนึ่งซึ่งเราพบกับบางปัญหา เรากลับหันหน้าเข้าหาคน
อื่น หรือเพื่อนเพื่อปรึกษากันเอง จนเรื่องบางเรื่องก็บานปลายจนยากแก้ไข เรา
เหมือนไม่ไว้วางใจแม่ ไม่เชื่อว่าแม่จะช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่นี้ได้ บางทีเราก็ประเมิน
แม่ต่ำกว่าความเป็นจริง

แม่มีทั้งประสบการณ์ ทั้งยังมีความรักและความปราถนาดี คนที่หัน
หน้าเข้าหาแม่ในยามมีอุปสรรคปัญหา จึงเป็นคนที่คิดถูกที่สุด....โชคดีที่สุด เพราะ
แม่มักมีทางออกที่ดีให้กับเราเสมอ

ขณะที่ใบไม้กำลังเปลี่ยนสี ฤดูกาลกำลังผ่านพ้นไป อาจจะมีใคร
สักคน ก้าวผ่านวันคืนอันมีค่าไปอย่างน่าเสียดาย โดยหลงลืมที่จะใส่ใจดูแลแม่
ไม่ใยดีต่อความรู้สึกที่แม่มอบให้

เขาคงไม่รู้หรอกว่า.....ช่วงเวลาที่ชีวิตจะได้อยู่ร่วมกับแม่ ได้ตอบ
แทนความดีของแม่นั้น น้อยลงไปทุกขณะตามจังหวะของเวลาที่ผ่านไปเราจึงอยาก
จะบอกกับทุกคนว่า...อย่าปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างสายเกินไปเลยนะ

"รักแม่เสมอ" ฉันบอกรักแม่ไม่รู้เป็นครั้งที่เท่าไรในชีวิต แต่ถึงแม้
จะไม่บอก แม่ก็เข้าใจถึงความรู้สึกที่ฉันมีให้แม่ จากการดำเนินชีวิตไปในหนทางที่ดีงาม การเป็นคนดี เป็นการบอก "รัก แม่ที่ดีที่สุด แม่เคยบอกฉันไว้อย่างนั้น

"ความรักของแม่" จึงยิ่งใหญ่นัก เกินกว่ารักอื่นใดจะมาบดบังได้
ฉันจึงสามารถบอกกับตัวเอง และคนทั้งโลกได้อย่างมั่นใจว่า....
"ช่างเป็นโชคอันประเสริฐแท้ ที่ได้เกิดมาเป็นลูกของแม่"

......รักแม่เสมอ......
".... รักแม่ให้มาก ๆ เถิด ขณะที่แม่ยังอยู่ให้เรารัก...."

Monday, January 17, 2011

ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย ๒

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา : มติชน

เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อเกิดคนกลุ่มใหม่จำนวนมากที่ต้องการเข้ามาแบ่งพื้นที่ทางการเมืองบ้าง ชนชั้นนำสามารถปรับตัวให้ทันการณ์ได้หรือไม่?

โอกาสเช่น นั้นเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่ไม่ง่ายนัก และมักจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่กดดันชนชั้นนำร่วมไปด้วย ดังกรณีอังกฤษหลังการปฏิวัตินองเลือดของครอมแวลล์ ชนชั้นนำสามารถประนีประนอมกันเองได้ เพื่อปราบปรามฝ่ายปฏิวัติ ในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลง โดยเชิญเจ้านายต่างประเทศขึ้นครองบัลลังก์ แล้วสร้างอำนาจที่แข็งแกร่งของสภาขึ้น

แต่เพราะชนชั้นนำอังกฤษมีรากฐานของผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ชนชั้นนำจึงไม่ได้ประสานกันจนเป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกันนัก การแข่งขันของชนชั้นนำในสภาจึงเป็นผลให้ขยายสิทธิประชาธิปไตยออกไปกว้างขึ้น เรื่อยๆ เพื่อดึงเสียงสนับสนุนจากประชาชนระดับล่าง ซึ่งกำลังต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเองพอดี

แม้จะขัดแย้งกัน แต่ชนชั้นนำอังกฤษก็ยังมีฉันทามติร่วมกันอยู่อย่างน้อยสามประการคือ

1) รักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้เพื่อเป็นผู้อำนวยความชอบธรรมทางกฎหมายของอำนาจที่จัดสรรกัน และแย่งกันมาได้

2) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเรียกร้อง ม.7 เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าต้องจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์เอาไว้

และ 3) ต้องหลีกเลี่ยงการปฏิวัติของประชาชนระดับล่าง

บทเรียนในสมัยครอมแวลล์ชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติจะนำมาซึ่งการรื้อทำลายโครงสร้างอำนาจจนเละเทะ

โอกาสแห่งความสำเร็จเช่นนี้ไม่เกิดกับชนชั้นนำรัสเซีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และไทย

ใน กรณีของไทย แม้ว่าก่อนการปฏิวัติใน พ.ศ.2475 ชนชั้นนำระดับบนแตกร้าวกันเองอย่างหนัก แต่ที่จริงแล้วรากฐานของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำไทยในช่วงนั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ อภิสิทธิ์จากกำเนิด ความแตกร้าวจึงมาจากการแย่งชิงความโปรดปรานของอำนาจสูงสุด ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนสังคมเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยจึงออกจะแข็งทื่อ ไม่สามารถปรับตัวเองเพื่อรองรับการขยายตัวของคนชั้นกลางผู้มีการศึกษาซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้

ชนชั้นนำไทยอาจมีชื่อเสียงในการปรับตัว เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก เช่น จักรวรรดินิยมของคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามเย็น แต่ชนชั้นนำไทยไม่เคยแสดงความสามารถเท่ากันเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยน แปลงที่มาจากภายใน

ร้ายไปกว่านั้น ชนชั้นนำไทยยังไม่มีองค์กร, สถาบัน หรือเครื่องมือสำหรับการปรึกษาหารือระดมความคิด แต่กลับเคยชินกับการตัดสินใจของผู้นำที่ชาญฉลาดและมีบารมีเพียงคนเดียว ปราศจากผู้นำลักษณะนั้น ชนชั้นนำก็เหลือกลวิธีในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างเดียว คือ ความรุนแรงซึ่งมักจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง (ดังเช่นการจัดการกับ พคท.)

ฉะนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตแล้ว ความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำไทยจะปรับตัวเพื่อเผชิญวิกฤตที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในในครั้งนี้ จึงดูจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม วิกฤตครั้งนี้ก็ดูจะไม่ร้ายแรงเท่ากับวิกฤตในอดีต

อย่างน้อยการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางระดับล่างไม่ได้มุ่งไปสู่การ "ปฏิวัติ" ไม่ถึงกับมุ่งจะโค่นล้มอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นอย่างเด็ดขาด จึงแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของ พคท. ไม่น่ากลัวเท่าการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร (ซึ่งในขณะนั้นถูกคนบางกลุ่มตีความว่าเป็นสาธารณรัฐนิยม) และไม่น่าหวั่นวิตกเท่ากับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลัง 14 ตุลาด้วยซ้ำ

จนถึงนาทีนี้ คนเสื้อแดงเพียงแต่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองผ่านระบบเลือกตั้ง และให้ทุกฝ่ายเคารพผลของการเลือกตั้งเท่านั้น

ในแง่นี้ หากชนชั้นนำต้องการปรับตัวเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ไทย จึงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปนัก นั่นคือยอมให้การเมืองเลื่อนไหลเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ขัดขวางบิดเบือนอำนาจอธิปไตยอันเป็นของประชาชน

อย่างน้อยก็ต้องไม่ลืมว่า การเมืองระบอบนี้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ต่อรอง และในเกมการต่อรอง ชนชั้นนำมีพลังในการต่อรองสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นับเป็นการสิ้นคิดอย่างมาก หากชนชั้นนำไปเข้าใจว่า เครื่องมือของการต่อรองมีแต่เพียงอำนาจดิบจากกองทัพ

ชนชั้นนำควรผลักดันให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็ต้องยอมรับผลนั้นโดยไม่แทรกแซง ไม่ว่าใครจะจัดตั้งรัฐบาล ชนชั้นนำก็ยังเป็นฝ่ายต่อรองได้สูงสุดอยู่นั่นเอง ชนชั้นนำจึงควรเลิกอุ้มพรรคการเมืองที่ไม่มุ่งจะเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งเสียที

การกลับคืนสู่บรรยากาศประชาธิปไตยยังหมายถึง การปลดปล่อยนักโทษทางมโนธรรมสำนึกซึ่งต้องจำขังหรือติดคดีใดๆ เวลานี้ทั้งหมด ประกันสิทธิพลเมืองตามกฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งเสรีภาพของสื่อทุกชนิด ซึ่งจะไม่ถูกคุกคามโดยทางลับหรือเปิดเผย

อย่าลืมว่าบรรยากาศประชาธิปไตยนั้น แม้จะให้โอกาสแก่คนกลุ่มอื่นๆ แต่ก็ให้โอกาสการต่อสู้แก่ชนชั้นนำได้เหมือนกัน ซ้ำชนชั้นนำยังมีทรัพยากรทางการเมืองและวัฒนธรรมเหนือกลุ่มใด ที่จะใช้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาธิปไตยอย่างได้ผลกว่าด้วย

ในขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองที่อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้ผลแล้ว บรรยากาศประชาธิปไตยจะทำให้ต้องหันมาต่อสู้กันด้วยเหตุผลและข้อมูลความรู้ ชนชั้นนำกุมทรัพยากรการเมืองประเภทนี้ไว้มากที่สุด จึงไม่ควรคิดว่าบรรยากาศประชาธิปไตยจะนำความอัปราชัยย่อยยับแก่ตนง่ายๆ

ยิ่ง กว่านั้นการโต้เถียงกันด้วยเหตุผลยังช่วยทำให้ชนชั้นนำรู้ตัวว่า จะต้องปรับตัวในก้าวต่อไปอย่างไร จึงจะสามารถรักษาการนำทางการเมืองของตนไว้ได้

การปิดกั้นความคิดเห็นของผู้อื่นจึงมีผลเท่ากับปิดกั้นตนเอง

กอง ทัพหมดความสำคัญทางการเมืองเสียแล้ว ฉะนั้นควรเร่งนำกองทัพกลับกรมกอง กองทัพจะไม่สามารถได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม และจะหมดภาวะการนำไปจนสิ้นเชิงในอนาคต ในส่วนกองทัพเองก็ยังอาจมีบทบาทใหม่ ปรับตัวเองให้มีศักยภาพในการเผชิญกับภัยคุกคามทางทหารจากศัตรูภายนอก ในสถานการณ์ใหม่ ไม่เกี่ยวอะไรกับการเมืองภายใน กองทัพก็จะเป็นที่ต้อนรับของประชาชน เพราะไม่คุกคามใคร เป็นกลไกของรัฐที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นขาดไม่ได้ สถานะของกองทัพกลับจะมีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าการเป็นเครื่องมือของ กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

นี่เป็นเพียงตัวอย่างว่า ชนชั้นนำจะสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเท่าใดนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มีน้อยมาก

ชนชั้นนำไทยนั้นประกอบขึ้นจาก หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มไม่ได้มีการนำภายในกลุ่มของตนเอง และมักจะแก่งแย่งผลประโยชน์กันพอสมควร ฉะนั้นในแง่ของบทบาทและสถานะทางการเมืองของชนชั้นนำ จึงต้องอาศัยการนำของผู้ที่มีอำนาจทางวัฒนธรรมสูง เกาะเกี่ยวกันอยู่ได้ด้วยการยอมรับการนำของผู้นำ

แต่ภาวะการนำของผู้ นำหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา อ่อนแอลงตามลำดับ เป็นผลให้กลุ่มต่างๆ ในเครือข่ายเกิดความแตกร้าวภายในมากขึ้น (เช่นผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางรายวิเคราะห์ว่า มีความหวาดระแวงและแตกร้าวในกองทัพมากขณะนี้ ยังไม่พูดถึงทุนธุรกิจและพรรคการเมือง)

ปีกเสรีนิยมของชนชั้นนำที่ เคยอาศัยบารมีของผู้นำสร้างการปรับตัวครั้งใหญ่ในพ.ศ.2540 สูญเสียอิทธิพลของตนลง การจัดระบบของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้รับความเชื่อถือว่าจะประกันความมั่นคงของชนชั้นนำได้ (จนนำมาสู่การรัฐประหาร) ในขณะที่ตัวบุคคลในปีกนี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนน้อยลง ไม่เฉพาะในหมู่คนเสื้อแดงเท่านั้น แต่รวมถึงคนชั้นกลางระดับบนบางส่วนด้วย

ดัง นั้นผมจึงเชื่อว่า แม้การปรับตัวของชนชั้นนำไทย เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในประเทศไม่ใช่เรื่อง ยากเกินไป แต่โอกาสที่จะทำได้มีน้อยมาก

และหากชนชั้นนำไม่ปรับตัว ก็จำเป็นต้องเลือกทางเลือกที่เลือกไม่ได้ อันจะนำไปสู่ความระส่ำระสายครั้งใหญ่ในสังคมไทย

คน กลุ่มเดียวที่ผมหวังว่า จะเป็นผู้นำปรับระบบการเมืองไทยโดยสงบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วก็คือคน ชั้นกลางระดับกลางและระดับบน มีช่องทางมากกว่าที่คนชั้นกลางระดับนี้จะประสานประโยชน์ทางการเมืองกับคน ชั้นกลางระดับล่าง เช่นการเลื่อนไหลเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ย่อมเพิ่มอำนาจต่อรองของคนชั้นกลางระดับกลางและระดับบนไปด้วยในตัว ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ตัวเองก็ถูกเอาเปรียบจากชนชั้นสูงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถต่อรองเพื่อสร้างกติกาที่ เป็นธรรมในตลาดขึ้นได้

ในทางการเมือง แม้ว่า ส.ส.ของตนจะเป็นคนละกลุ่มกับคนชั้นกลางระดับล่าง แต่การต่อรองทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีอยู่เฉพาะในสภา ยังมีพื้นที่ต่อรองอื่นๆ อีกมาก ซึ่งคนชั้นกลางระดับกลางย่อมได้เปรียบกว่า เช่น พื้นที่สื่อ, พื้นที่วิชาการ, พื้นที่เคลื่อนไหวอื่นๆ หรือพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ในระยะยาว คนชั้นกลางระดับล่างเองเสียอีกที่จะหันมาเลือก ส.ส.คนเดียวกับคนชั้นกลางระดับกลางและบน

แท้ที่จริงแล้ว การนำเอาสถานะและความมั่นคงของตนไปผูกไว้กับชนชั้นสูง ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรที่แท้จริงแก่คนชั้นกลางระดับกลางและบนมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การที่พวกเขาต้องซื้อที่อยู่อาศัยในราคาแพงลิบลิ่วขึ้นทุกทีในเวลานี้ ก็เพราะชนชั้นสูงเก็งกำไรกับที่ดินอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไม่กี่คน เงินฝากที่คนชั้นกลางระดับกลางถือบัญชีอยู่ในธนาคาร ประกอบเป็นสัดส่วนเพียงยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในมือของคนเพียงหมื่นกว่าคนซึ่งเป็นชนชั้นสูง ทรัพย์สินจำนวนมากของชนชั้นสูงนี้เกิดขึ้นได้ ก็เพราะระบบที่ทำให้การเฉลี่ยทรัพย์สินเป็นไปอย่างไร้ความเป็นธรรม หากจะมีการเฉลี่ยทรัพย์สินที่ดีกว่านี้ คนชั้นกลางระดับกลางก็มีส่วนที่จะเป็นฝ่ายได้เหมือนกัน ไม่เฉพาะแต่คนชั้นกลางระดับล่างและคนจนเท่านั้น

สำนึกเช่นนี้ใน หมู่คนชั้นกลางระดับกลางคงจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และเมื่อเกิดสำนึกเช่นนี้ขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะคิดได้เองว่า จะเป็นหนูที่กระโจนลงจมทะเลเมื่อเรือล่ม หรือควรจะยึดเรือเสียก่อนที่จะล่ม โดยร่วมมือกับคนชั้นกลางระดับล่างในการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าขึ้นใน ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, สังคม หรือเศรษฐกิจ

Sunday, January 16, 2011

เป้าหมายการเคลื่อนไหว

ใบตองแห้ง
15 ม.ค.54

รุ่นน้องผมที่ไม่ใช่เสื้อแดงแต่เอาใจช่วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (มิกล้าเรียกว่าสองไม่เอา อิอิ) บ่นทันทีที่เจอหน้ากันวันจันทร์ว่า “เสียของ” เพราะมวลชนเสื้อแดงมาชุมนุมกันล้นหลามถึง 3 หมื่นกว่าคน แต่กลับลงเอยด้วยการโฟนอินของทักษิณ

โอเค ผมเข้าใจดีว่ามวลชนเสื้อแดงไม่ได้เจตนาจะมาฟังทักษิณโฟนอิน มีทักษิณหรือไม่มีเขาก็มา ในทางตรงข้าม น่าจะเป็นทักษิณต่างหากที่กลัวตกกระแส จนต้องต่อสายมาโฟนอิน

แต่เรื่องนี้ต้องตำหนิแกนนำ ที่ไม่มีความชัดเจนในแง่เป้าหมายของการเคลื่อนไหว การนำยังไม่เป็นเอกภาพ และยังไร้ทิศทางเช่นเคย แบบใครใคร่พูดพูด ไม่คิดว่าจะได้อานิสงส์ส่งผลดีผลเสียอย่างไร

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธทักษิณ ต้องห้ามยุ่งห้ามเกี่ยว เราไม่อาจปฏิเสธว่าทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ต่างฝ่ายต่างต้องจัดบทบาทที่เหมาะสม ทักษิณควรอยู่ในบทบาทผู้สนับสนุน หรือเดินสายรณรงค์ต่างประเทศ ปล่อยให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ถ้ามัวแต่เลอะเทอะปนเปื้อนกันไปมาก็มีแต่ผลลบ

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องทักษิณไม่ทักษิณ แต่มันเป็นเรื่องที่ขบวนเสื้อแดงยังไม่รู้ว่ากรูมีเป้าหมายอะไร มาชุมนุมเพื่ออะไร รู้แต่ว่านัดกันมาชุมนุม เดือนละ 2 ครั้ง

แน่นอน เราต้องแยกแยะทีละด้าน ในส่วนของมวลชน เราได้เห็นความเข้มแข็ง พร้อมเพรียง “ใจถึง” แบบกรูไม่กลัวเมริง แสดงพลังว่าพร้อมจะสู้กับ “ระบอบอภิสิทธิ์ชน” ถึงที่สุด

แต่ในส่วนของแกนนำ เห็นชัดเจนว่ายังไม่รู้เลยว่าจะนำมวลชนไปทางไหน การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งต้องการอะไร และจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไร

การชุมนุมครั้งหน้า 23 ม.ค.เชื่อได้ว่า มวลชนจะมาอีก และมาเยอะกว่านี้ แต่ถ้ามีความก้าวหน้าแค่ทักษิณโฟนอินในระบบ 3D ก็เสียของ เสียแรง และนานไปจะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี

หลังการชุมนุมเสื้อแดง วันถัดมาก็มีสมาคมผู้ค้าราชประสงค์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาพื้นที่ให้ชุมนุม โดยไม่สร้างความเสียหายกับผู้ค้า (ซึ่งมีความ “ก้าวหน้า” อย่างน่าประหลาดใจ รู้จักเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ)

ดูข่าวแล้วอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับข่าวชาวสระแก้วออกมาคัดค้าน “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นสาขาพันธมิตรฯ แปลงร่าง จะไปประท้วงเขมรให้ปล่อย 7 คนไทยและยกเลิก MOU ปี 43

เปล่า ผมไม่ได้บอกว่าอย่ามาม็อบอีกเลย เดี๋ยวคนกรุงคนชั้นกลางเดือดร้อนแล้วจะถูกต่อต้าน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนว่า ระบอบอภิสิทธิ์ชนกำลังขี่กระแสรักสงบแบบไทยๆ โดดเดี่ยวทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองออกไปอยู่ด้านข้าง

ภายหลังจาก “นวด” กันมา 5 ปีเศษ ระบอบอภิสิทธิ์ชนใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมทั้ง “ลูกเสือชาวบ้านยุคใหม่” เป็นเครื่องมือ ให้ท้ายยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยั่วยุให้เกิดการตอบโต้ด้วยอารมณ์จากเสื้อแดง ยึดอนุสาวรีย์ชัย ยึดราชประสงค์ พันธมิตรตายไปสิบกว่าศพ เสื้อแดงตายไปเกือบแปดสิบ

สุดท้าย ระบอบอภิสิทธิ์ชนก็ฉวยกระแสความเบื่อหน่าย “อยากให้จบๆ เสียที จะได้ทำมาหากิน” ของคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะคนกรุงคนชั้นกลาง ถีบหัวส่งทั้ง “การเมืองใหม่ใสสะอาด” ของเสื้อเหลือง และ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ของเสื้อแดง ให้สังคมไทยจำยอมรับการเมืองเก่าเน่าโคตร และประชาธิปไตยพิกลพิการที่พวกเขามอบให้

คนกรุงคนชั้นกลางจึงไม่แยแสสนใจ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะบริหารงานห่วยแตกไร้ประสิทธิภาพเพียงไร ทุจริตคอรัปชั่นเพียงไร หรือเอาเงินภาษีของตัวเอง (คนชั้นกลางคิดว่าตัวเองจ่ายภาษี คนจนไม่ได้จ่าย) ไปถลุง 7 หมื่นล้านเพื่อตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 เพราะพวกเขาคิดเพียงว่าให้บ้านเมืองสงบ แล้วจะได้ทำมาหากิน กรูเอาตัวรอดได้ ไม่ว่ามันจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ไม่ว่าจะทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างไร กรูก็ทำมาหากินได้ มีความสุขกับการชอปปิ้ง เที่ยวห้าง เที่ยวเมืองปาย กอดเมืองไทย หันไปต่อสู้ดิ้นรนด้วยการส่งลูกกวดวิชา เรียนอินเตอร์ สองภาษา เรียนจบมาถ้าไม่อยากอยู่เมืองไทยก็ไปทำงานเมืองนอก

อ้อ ลืมไป เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองสามานย์ คนชั้นกลางก็จะท่องคุณธรรมจริยธรรม “รักในหลวง” อ่านหนังสือท่านพุทธทาส ท่านปยุตต์ ท่าน ว.วชิรเมธี เห่อดอกเตอร์ไฮโซที่เขียนหนังสือขายโดยเอาภาษาท่านพุทธทาสท่านปัญญามาแปลงใหม่ให้สวยๆ เห่อสำนักสงฆ์ที่ไปสร้างรีสอร์ทอยู่ในป่า แล้วตอนนี้ก็มีศัพท์ใหม่คือ “จิตสาธารณะ” ช่วยกันทำสังคมรอบตัวให้ดีขึ้น แต่ระบบสังคมช่างหัวมัน

ในสภาพเช่นนี้เราคงไม่ต้องพูดถึงพันธมิตร ซึ่งหมดอนาคตโดยสิ้นเชิงแล้ว พันธมิตรจะมีราคาก็ต่อเมื่อออกมาต่อต้านเสื้อแดง ออกมาด่าทักษิณ ถึงจะเป็นหัวข่าว แต่ถ้าพันธมิตรไล่รัฐบาล ลำเลิกบุญคุณ หรือหันไปเล่นเรื่องเขมร เรื่อง MOU ปี 43 ก็กลายเป็นหมาหัวเน่า กระบอกเสียงของคนชั้นกลางทั้งสื่อ นักวิชาการ ไม่เพียงตีจากแต่ยังทุบหัวเอา (เถ้าแก่เปลวก็ทุบไปเปรี้ยงสองเปรี้ยง เลยโดนด่า “ขายชาติ” อิอิ)

พลังที่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบ จึงเหลือแต่มวลชนเสื้อแดง กับนักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าคนเสื้อแดงหยุดการเติบโตทางปริมาณ แต่ขยายนิวเคลียสจนเข้มข้น นั่นแปลว่า นปช.พร้อมจะระดมมวลชนเป็นแสนๆ มาปิดราชประสงค์อีกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะเอาชนะ “กระแสสังคม” ได้อย่างไรนี่สิ เป็นปัญหา

ผมไม่ใช่ทั้งนักวิชาการนักทฤษฎีหรือนักเคลื่อนไหว มีคนเก่งกว่าผมเยอะ แต่คนอยู่วงในอาจจะ in จนบังตา จึงต้องเสนอความเห็นจากวงนอก เพื่อให้ช่วยกันขบคิด หาลู่ทาง กำหนดแนวทาง

ในแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจำเป็นต้อง “รอ” ให้ระบอบอภิสิทธิ์ชนเน่าเฟะ เสื่อมทราม ไร้ประสิทธิภาพจนถึงจุดล่มสลาย ไปไม่รอด หรือสังคมเหลืออด โดยใช้การเคลื่อนไหวระหว่างนี้รักษามวลชน หล่อหลอมมวลชน ขยายมวลชนเท่าที่จะทำได้

ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องแปรการเคลื่อนไหวให้ “แสวงจุดร่วม” กับผู้คนส่วนอื่นๆ ในสังคมให้มากขึ้น พร้อมกับไปการเคลื่อนไหวในประเด็นของตน เช่น การเรียกร้องให้ประกันตัวคนเสื้อแดง การวิพากษ์วิจารณ์ความยุติธรรมสองมาตรฐาน

แสวงจุดร่วมอย่างไร ต้องช่วยกันคิด และกำหนดประเด็นการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง ให้เชื่อมโยงประโยชน์สาธารณะมากขึ้น

เอ้า สมมติเช่นเวลามาม็อบ คุณก็เพิ่มเนื้อหาโจมตีรัฐบาลเรื่องสินค้าแพง ให้แม่ค้ากล้วยแขก แม่ค้าลูกชิ้นที่เป็นเสื้อแดง สลับกันขึ้นเวทีมาด่าเรื่องราคาน้ำมันปาล์มมั่ง ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นมาวิพากษ์นโยบายประชาวิวัฒน์ มันจะเป็นจริงได้ไงในเมื่อตำรวจตั้งด่านรีดไถมอเตอร์ไซค์แทบทุกหัวถนน ยุคทักษิณที่ว่าตำรวจมีอำนาจ ยังไม่เก็บส่วยกันมากขนาดนี้

หรือไม่ก็รู้จักด่า ปตท.มั่ง เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น ไม่ใช่ไม่แตะเรื่องนี้เลย จนถูกกล่าวหาอยู่ซ้ำซากว่าทักษิณแอบถือหุ้น ปตท. (ตอนนี้โอกาสดี รสนาหมดมุขแล้ว ไม่ยักออกมาโวย ปตท.อีก) บางครั้งบางโอกาส ก็สามารถเอามาเป็นประเด็นเรียกร้องได้ด้วย

หรือถ้าจะมาม็อบวันที่ 23 คุณก็อาจจะกำหนดประเด็น ทวงคำมั่นรัฐบาลที่ว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภา เพราะตอนนี้เริ่มมีทีท่าว่า พวก สว.ลากตั้งกำลังจะลาออกก่อนครบวาระ เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิ์ได้รับการสรรหาอีก จนอาจทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นเรื่องน่าเกลียดที่ต้องประณาม เพราะเสวยอำนาจจนอยากงอกราก ทอดทิ้งหน้าที่ เพียงเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิลากตั้งอีกครั้ง

อันที่จริงควรจะฉวยโอกาสนี้ เคลื่อนไหวต่อต้าน สว.จากการลากตั้ง ถ้าทำได้ก็ไปให้ถึงการเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไปไม่ถึงอย่างน้อยก็ทำให้การสรรหาโดยตุลาการอำมาตย์ กลายเป็นเรื่องเน่าเหม็นไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ถามว่าเรื่องนี้มีจุดร่วมกับคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงไหม มีสิ เพราะถ้าเลือกตั้ง ก็ได้ สว.เพิ่มทั้งคนกรุงเทพฯ คนอีสาน คนเหนือ คนใต้ และเป็นชัยชนะของ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ในขั้นหนึ่ง

การคิดประเด็นเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะไปพร้อมๆ กัน เป็นภารกิจที่ผู้นำการเคลื่อนไหวต้องใช้สติปัญญามากกว่าการนำเย้วๆ แล้วก็ต้องระดมสมอง มีฐานข้อมูล มีนโยบาย มีแนวคิดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ไม่ใช่คิดแต่เอาคนมาให้มากๆ เพราะแม้คนมากจะสามารถ “คุกคาม” หรือ “เขย่า” อภิสิทธิ์ชน แต่ในเชิงคุณภาพยังไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะ

เว้นแต่จะคิดเอาม็อบมาสู้แตกหักแบบครั้งที่แล้วอีก

ผมชื่นชมข้อเขียนล่าสุดของ อ.ใจ “ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ในขบวนการเสื้อแดง” คือถึงเวลาที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อกำหนดแนวทางอย่างมีวุฒิภาวะ กำหนดเป้าหมายอุดมการณ์ปฏิรูปประชาธิปไตยว่าจะทำอย่างไร เสนอให้ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างไร ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ อย่างไร เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่านี่คืออุดมการณ์ที่จะปฏิรูปสังคมไทยไปสู่คุณภาพใหม่ และไม่ “เลยธง” อย่างที่คนบางส่วนเกรงกลัว

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ซึ่งถ้ามองว่า “ชัยชนะ” คือการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สำเร็จ โดยดึงหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ชัยชนะของเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย ยุทธศาสตร์ก็จะไม่ใช่การแตกหัก แต่ก็ไม่ใช่การประนีประนอม หากเป็นการใช้พล้งมวลชน พลังสาธารณชน ปิดล้อมกดดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง

มันอาจจะไม่สะใจเสื้อแดงบางส่วน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและความเป็นไปได้

ใบตองแห้ง
15 ม.ค.54

Saturday, January 15, 2011

ขยายความ "ดินแดน-ชาตินิยม" : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ไม่น่าเชื่อว่า "เส้น" บนแผนที่เพียงเส้นเดียว จะให้ชีวิตคนไทย 7 คน ต้องตกอยู่ในฐานะ "ตัวประกัน" จะทำให้คนเคยรักออกมาเดินขบวนขับไล่กัน และยังทำให้ "กัมพูชา" มีอำนาจต่อรองเหนือ "ไทย" บนเวทีระหว่างประเทศ

"ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์แถวหน้าของเมืองไทย เห็นปรากฏการณ์ "อคติ" เรื่องเชื้อชาติ-ดินแดน ต่อ "ความไม่รู้" ในเรื่องพรมแดน-แผนที่ และต่อ "ความพยายาม" ในการปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมา

จึง ขอโอกาสอธิบายข้อมูล-ข้อเท็จจริง ถึงกรณีพิพาทดังกล่าว ในเชิงประวัติศาสตร์ โดยหวังเพียงว่าหากคนไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจเพื่อนบ้านที่มี พรมแดนติดกันกว่า 800 กิโลเมตรมากขึ้น

มีข้อสังเกตอะไรต่อกรณีคนไทย 7 คนถูกจับบ้างครับ

เกม นี้คงยาว เรื่องคงซับซ้อน พูดง่ายๆ คล้ายกับ 7 คนไปให้กัมพูชาจับเป็นตัวประกัน อำนาจต่อรองของรัฐบาลพนมเปญจึงสูงมาก มีไพ่อยู่ในมือ แต่ก็น่าสนใจว่า ตอนนี้ไพ่ชาตินิยมไทย-เสียดินแดน มีคนเล่นอยู่พวกเดียว นายกรัฐมนตรีก็ไม่เล่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่เล่น ทหารก็ไม่เล่น ดังนั้น ถ้าดูไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่ากระแสมันไม่ขึ้น จึงต้องไปดูว่าการชุมนุมใหญ่วันที่ 25 มกราคมนี้ กระแสจะขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นไพ่ใบเดียวที่เหลืออยู่

ทำไมนายกฯกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เล่นไพ่ใบนี้

เพราะ การเล่นไม้แข็ง จนไปไกลถึงเกิดสงคราม มันเป็นสิ่งที่โลกปัจจุบันไม่ต้องการ เขาอยากให้มีการเจรจา ดังนั้นกระแสโลกก็ไม่ได้ มันเลยกลายเป็นเกมล้าสมัยมาก ที่เคยได้ผลในระหว่าง ค.ศ.1940-1960 คือสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามถึงสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่สมัยนี้มันไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นกระสุนด้าน

ทำไมเกมนี้จึงตกยุคและล้าสมัย

เขา ก็อยู่ในฐานะลำบาก เพราะเป็นไพ่ใบเดียวที่เล่นได้ ไพ่อื่นก็ใช้ไปหมดแล้ว ทั้งไพ่สถาบัน ไพ่คอร์รัปชั่น ตอนนี้มันเหลือแค่ไพ่ชาตินิยม ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียความนิยม เพราะนำมาซึ่งความแตกร้าวสามัคคีในหมู่คนไทย เหมือนอย่างการทุบตีกันที่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเผชิญหน้ากันที่บ้านหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้วไม่นานมานี้

แต่ไพ่ชาตินิยมก็เคยโค่นรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลงได้

ตอน นั้นเป้าอยู่ที่คุณสมัคร คุณนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เป้าตอนนี้กลายเป็นกลุ่มที่เคยร่วมกันมาก่อน การกล่าวหาว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณกษิต ภิรมย์ ขายชาติมันไม่ได้ผล มันกลายเป็นว่าแตกกันโกรธกัน เลยมาโจมตีกัน กลายเป็นปัญหาระหว่างกลุ่ม ไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ

ความ จริงปัญหาเรื่องเขตแดนและดินแดนเป็นปัญหาเรื่องเทคนิค ต้องรังวัด ทำพิกัด ต้องมีนายช่างเทคนิค แต่พอทำให้เป็นการเมืองปุ๊บ มันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง มันกลับกลายเป็นว่ากัมพูชาถือไพ่เหนือกว่า ถ้าไทยไปทำอะไร เวทีระหว่างประเทศก็จะมองว่าไทยไปรังแกเขา ในแง่บริบทการเมือง ไทยไม่ได้คะแนน

ไพ่ 7 คนไทยจะถูกรัฐบาลกัมพูชานำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

ใช้ ได้เยอะ สมเด็จฯฮุน เซน อยู่ในตำแหน่งนายกฯกัมพูชามานาน เรียนรู้มาตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ยังเป็นนายกฯ ฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ก็รู้จักรัฐมนตรีต่างประเทศไทยมาสัก 20 คนแล้วมั้ง ดังนั้น ความเจนจัดทางการเมืองของเขาจึงสูงมาก เพราะมีความต่อเนื่องมากกว่าเรา


ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ในทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่ ก่อนคำว่าเขตแดน มันไม่มี ขึ้นอยู่กับศูนย์กลางอาณาจักรว่ามีอำนาจแค่ไหน ถ้ามีมากก็ขยายกว้าง ถ้ามีน้อยก็หด ครั้งหนึ่งกัมพูชาก็เคยกว้างขวางใหญ่โตมาก พอเสื่อมก็หดอย่างที่เห็นปัจจุบัน ในอดีตรัฐแบบโบราณในอุษาคเนย์ไม่มีเขตแดน แต่เมื่อฝรั่งเข้ามาก็กำหนดว่าต้องมี เอาแผนที่ พิกัด การปักปันเขตแดนมา ไทยก็รับมรดกจากสยาม สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสยามกับไทย มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน ส่วนกัมพูชาก็รับมรดกจากฝรั่งเศส เมื่อต่างคนต่างอ้างแผนที่-สนธิสัญญา ซึ่งมาจากสมัยฝรั่ง ถ้ามีปัญหาก็ต้องเจรจา ไม่เจรจาก็ฟ้องศาล เหมือนที่ศาลโลกเคยตัดสินคดีปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา ด้วยมติ 9:3 แต่ทั้งกรณี 4.6 ตารางกิโลเมตร และบ้านหนองจาน จะต้องเจรจา ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็อาจให้องค์กรที่ 3 เข้ามา บั้นปลายจริงๆ ถึงจะใช้สงครามตัดสิน ซึ่งต้องเอาให้เด็ดขาดไปถึงกรุงพนมเปญเลย แต่ผมไม่คิดว่าใครจะเอาด้วย เพราะความเสียหายมันมหาศาล ดังนั้น ต้องกลับไปเจรจา และให้คนที่รู้เรื่อง คือกรมแผนที่ทหาร และกรมสนธิสัญญามาเจรจา

ในอดีตไทยมักขัดแย้งกับพม่า แต่ทำไมสมัยใหม่ ไทยถึงขัดแย้งกับกัมพูชาแทน

เพราะ เขมรถูกใช้เป็นเกมในการล้มรัฐบาลสมัคร ทั้งนี้ เกมชาตินิยมมันจะต้องถูกปลูกโดยผู้นำที่เป็นชาติ อย่างน้อยจบปริญญาตรี อยู่ในเมืองหลวง หรือถูกชุบตัวใน กทม.แล้ว ชาวบ้านทั่วไปหรือผู้หญิงปลุกไม่ได้


ทำไมต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างนั้น

มัน ผลิตมาโดยคนพวกนี้ ที่สำคัญมันต้องจินตนาการเยอะ ต้องคิดว่าตัวเองมีเชื้อชาติบริสุทธิ์ อพยพลงมาจากเมืองจีน ชาตินิยมต้องมีผู้นำ อย่างอาเจ็กข้างบ้าน คนขายข้าวเหนียวปิ้ง หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างปากซอย คงไม่สนใจ และนำไม่ขึ้น

ประเมินว่าขบวนการชาตินิยม พ.ศ.นี้จะจบอย่างไร

คงต้องปล่อยให้มันเดินไปถึงที่สุดของมัน ธนูออกจากแล่งไปแล้ว มันก็ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ จนหมดแรง หรือไปชนอะไรสักอย่าง

ที่มา : มติชนรายวัน ๑๔ มกราคม ๒๕๕๔

Friday, January 14, 2011

ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ ในขบวนการเสื้อแดง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
ที่มา : ประชาไท

จุดเด่นของเราชาวเสื้อแดงคือ ขบวนการของเราเป็นขบวนการที่มีความหลากหลายทางความคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราทราบดี และเราไม่ควรปฏิเสธ เรามีเสื้อแดงแบบ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งอาจมีทัศนะต่างกันภายในกลุ่ม เช่นอาจเป็นคนที่ชอบแนวทางของ อ.ธิดา หรือชอบแนวทางของคุณจตุพร ... มีเสื้อแดงรักทักษิณ มีเสื้อแดงไม่เอาทักษิณ มีเสื้อแดงวันอาทิตย์สีแดง มีเสื้อแดงรักเจ้า มีเสื้อแดงไม่เอาเจ้า มีเสื้อแดงสาย อ.สุรชัยที่เรียกตนเองว่า “สยามแดง” และพูดเอามันเพื่อสร้างภาพ มีเสื้อแดงสาย อ.เสริฐ-อ.ชูพงษ์-นปช.ยูเอสเอ ที่สร้างความสับสนและช่วยทหารโดยการเน้นด่าเจ้าเรื่องเดียว มีเสื้อแดง 24 มิถุนายน และมีเสื้อแดงสังคมนิยมอย่างผม ฯลฯ นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่มีกลุ่มเสื้อแดงของแต่ละชุมชนด้วย ซึ่งอาจมีมุมมองตามสายการเมืองหลากหลายที่พูดถึงไปแล้ว

เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อคัดค้านเผด็จการอำมาตย์มาถึงจุดนี้ และเรื่องประชาธิปไตยกับการคัดค้านอำมาตย์เป็นจุดร่วมที่เชื่อมพวกเราไว้ เป็นหนึ่งเป็น “เสื้อแดง” และเราก็ควรพยายามรักษาความสามัคคีท่ามกลางการต่อสู้เสมอ แต่บัดนี้เราต้องพูดความจริงด้วย ต้องยอมรับข้อแตกต่างทางแนวคิดที่มีจริง และเปิดใจพร้อมที่จะถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางและสายความคิดดังกล่าวอย่างเปิดเผย เพราะมันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย มันเป็นลักษณะแท้และธรรมดาของ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ

บางคนอาจไม่สบายใจ และแน่นอนจะมีคนจำนวนหนึ่งที่มองว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะแตกกัน” เขาจะกลัวว่าถ้าเราถกเถียงกันเรื่องแนวการเมืองและทางออก เราจะอ่อนแอแตกแยก และอำมาตย์จะเอาชนะเรา แต่การยอมรับข้อแตกต่างทางแนวคิดที่มีอยู่จริง และการเปิดใจพร้อมที่จะถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางและสายความคิดอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ “การแตกกัน” หรือไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยกและอ่อนแอเลย มันอาจตรงกันข้ามคือ มันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งที่มาจากความชัดเจนทางความคิดต่างหาก มันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองและนำตนเองของชาวเสื้อแดง และมันจะนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย

การถกเถียงแนวทางระหว่างเสื้อแดงสายต่างๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกและความเป็นประชาธิปไตยของขบวนการ เพื่อไม่ให้ใครหรือกลุ่มไหนผูกขาดการนำในลักษณะเผด็จการโดยไม่ถูกตรวจสอบ หรือโดยไม่ได้มาจากการลงมติคะแนนเสียง การเสนอแนวทางที่หลากหลายในที่สุดก็จะถูกทดสอบด้วยการเคลื่อนไหวลองผิดลอง ถูกในโลกจริง และแนวที่ดูเหมือนใช้ได้ก็จะกลายเป็นที่นิยมของคนเสื้อแดง

ถ้าการพัฒนาการถกเถียงนี้จะสำเร็จ ขบวนการเสื้อแดงต้องทำตัวแบบ “ผู้ใหญ่ที่โตแล้ว” เราต้องมั่นใจในวุฒิภาวะของเราที่จะสามารถถกเถียงเรื่องแนวทางการเมืองและ แนวทางการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด โดยไม่ทำให้เป็นเรื่องเกลียดชังกันแบบส่วนตัวที่ไร้สาระ เราต้องเถียงกันเรื่องหลักการด้วยปัญญา และเราต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะมีวินัยในการรักษาความสามัคคีท่ามกลางการต่อสู้ ไม่ว่าเราจะคิดต่างกันแค่ไหน เราเถียงกันในช่วงที่ไม่เคลื่อนไหวหรือในช่วงพักรบ แต่พอออกรบต้องสามัคคีเฉพาะหน้าเสมอ ต้องจับมือกัน เราทำได้

พูดง่ายๆ เราต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาความชัดเจนในแนวทาง ไม่ใช่มาโกหกกันว่าทุกคนมองเหมือนกัน และไม่ใช่มาห้ามการถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยคำพูดว่า “คนนั้นคนนี้ ไม่ใช่เสื้อแดงแท้” เพราะการพูดแบบนั้นเป็นการพยายามบังคับใช้เผด็จการทางความคิดในขบวนการเสื้อ แดง และเป็นการเซ็นเซอร์การถกเถียงเพื่อบังคับให้ทุกคนยอมรับการชี้นำของแกนนำ หยิบมือเดียวโดยไม่มีสิทธิ์แย้งเลย ในขณะเดียวกัน เมื่อเสื้อแดงที่มีความเห็นต่างจากเราเคลื่อนไหวแล้วเผชิญหน้ากับศัตรูที่ กำลังไล่ยิงไล่ฆ่า หรือเมื่อเขาถูกจับเข้าคุกหรือถูกปราม เราจะต้องสมานฉันท์ สนับสนุน และร่วมมือกับเขาโดยไม่เอาเงื่อนไขไร้สาระมาเป็นข้ออ้างในการหันหลังกัน เสื้อแดงบางกลุ่มที่โจมตีแกนนำสามเกลอขณะที่ทหารกำลังบุกเข้าไปเพื่อฆ่า เพื่อนคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 53 อย่างเช่น อ.สุรชัย ต้องถือว่า “เล่นพรรคเล่นพวก” “ไม่มีวุฒิภาวะ” และ “ไม่มีวินัย” พอที่จะสร้างความสามัคคีท่ามกลางความคิดที่หลากหลาย เผลอๆ อาจเป็นคนที่หวังหักหลังขบวนการอีกด้วย

สาเหตุที่ผู้เขียนมองว่าเราต้องออกมาถกเถียงแนวทางกันตอนนี้ก็เพราะ

1. เรามีเวลาเพียงพอแล้วในการประเมินข้อดีข้อเสียของการเคลื่อนไหวที่ราช ประสงค์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 53 และเรามีประสบการณ์ของการใช้ยุทธวิธี “แกนนอน” ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เราสามารถเสนอว่าการชุมนุมของมวลชนยังเป็นเรื่องชี้ขาดที่สำคัญ แต่เราอาจเถียงกันว่าจะชุมนุมและจัดตั้งอย่างไร และจะเพิ่มพลังต่อรองอย่างไร เช่นการขยายขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรงงานเพื่อการนัดหยุดงานน่าจะเป็น เรื่องสำคัญ

2. นปช. แดงทั้งแผ่นดิน และพรรคเพื่อไทย กำลังพยายามช่วงชิงอิทธิพลในขบวนการเสื้อแดงจากการนำแบบ “แกนนอน” ที่แต่ละกลุ่มนำตนเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ มันไม่ใช่เรื่อง “ผลประโยชน์ส่วนตัว” เป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่องความเชื่อในแนวทางของเขา และกลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่มทุกสายก็ควรพยายามขยายอิทธิพลเช่นกันผ่านการถกเถียง แข่งขัน เพราะเราแข่งกันท่ามกลางความสามัคคีได้

3. ในปี 2554 คนเสื้อแดงจะต้องตอบโจทย์ยากๆ หลายเรื่องคือ เราจะมีท่าทีต่อการเลือกตั้งของอำมาตย์อย่างไร? อำมาตย์น่าจะหาทางโกงการเลือกตั้งทีละนิดทีละหน่อย เราไม่ควรตั้งความหวังทั้งหมดกับการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องร่วมในการเลือกตั้งด้วย พร้อมกับเคลื่อนไหวภายนอกกรอบรัฐสภา เราจะมีท่าทีอย่างไรต่อพรรคเพื่อไทย? เราจะตั้งเงื่อนไขอะไรในการสนับสนุน? หรือจะยอมให้พรรคเพื่อไทยจูงเรา? เราจะตามทันการปรองดองจอมปลอมของอภิสิทธิ์ได้ไหมและเราจะมีท่าทีอย่างไร? และโจทน์สำคัญอีกอันคือ เสื้อแดงจะพัฒนาการต่อสู้ในปี ๒๕๕๔ เพื่อยกระดับจากปีที่แล้วอย่างไร?

ในขณะเดียวกันมันมีสองสิ่งที่เราต้องชัดเจนคือ

1. “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” แบบคนเสื้อแดง ไม่ใช่สิ่งเดียวกับพรรค มันมีความอิสระจากกัน และเสื้อแดงอาจมีมากกว่าหนึ่งพรรคได้ โดยที่พรรคเป็นองค์กรที่รวมคนที่มีสายความคิดเหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวและในการให้การศึกษากับมวลชน รัฐสภาเป็นแค่เวทีหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมว่าในประวัติศาสตร์โลก ไม่มีกรณีที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะมีสภาพ “ถาวร” ได้เลย มันขึ้นลงภายในไม่กี่ปีเสมอ มันแยกและมันสลายได้ สิ่งที่จะให้ความถาวรเพิ่มขึ้นกับการต่อสู้คือพรรคหรือองค์กรจัดตั้งทางการ เมือง ดังนั้นชาวเสื้อแดง “สังคมนิยม” จะต้องมีส่วนในการเพิ่มความถาวรในการต่อสู้ และต้องพยายามขยาย “พรรค” ของเราในขบวนการเสื้อแดงโดยการคลุกคลี ร่วมเคลื่อนไหว และถกเถียงแนวทางอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง

2. แนวทางการเมืองของเสื้อแดงแต่ละกลุ่ม จะมีอิทธิพลต่อวิธีทางในการต่อสู้เสมอ

เวลา อ.ธิดาบอกว่าคนเสื้อแดงยังไม่พัฒนาทางการเมืองเท่ากับแกนนำ หรือพูดว่า “คนที่ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราถือว่าไม่ใช่ นปช” และเวลาที่เขาพูดในเชิงดูถูก “ผู้หญิงกลางคืน” ที่เป็นเสื้อแดง (ดูคำสัมภาษณ์ในประชาไท 20 ธันวา 53) เขากำลังแสดงความอนุรักษ์นิยม ความเชื่อมั่นในการต่อสู้ในกรอบ และการนำแบบ “บนลงล่าง” แทนการนำตนเองจากล่างสู่บน แต่จุดยืนเขาไม่ได้เลวไปหมด เขาบอกว่าเขายังขีดเส้นที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้จุดยืนว่าต้องรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง ปฏิเสธการนิรโทษกรรม และเน้นมวลชนแทนการจับอาวุธ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่แนวทางการต่อสู้แบบ อ.ธิดา จะนำไปสู่การประนีประนอมกับอำมาตย์ในกรอบเก่า ประชาชนจะไม่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และจะไม่นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูประบบยุติธรรม หรือการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนแนวทางของแกนนำกล้าหาญอย่างจตุพร อาจไม่พร้อมที่จะประนีประนอมเท่า อ.ธิดา ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เป้าหมายทางการเมืองระยะยาวไม่ชัดเจนพอ แต่อย่างน้อยจตุพรก็สามารถดึงมวลชนมาเคลื่อนไหวเป็นแสนได้ เราต้องเคารพตรงนั้น

ในกรณีพรรคเพื่อไทย เราต้องตั้งคำถามว่าพรรคนี้จะพัฒนานโยบายเพื่อครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือ ไม่ หรือจะอาศัยบุญเก่าของไทยรักไทย ถ้าหวังอาศัยบุญเก่าจะมีปัญหา เพราะเปิดช่องให้ประชาธิปัตย์ค่อยๆ ทำลายคะแนนเสียงของเพื่อไทยได้ นโยบายสำคัญที่เพื่อไทยควรเสนอ คือเรื่องรัฐสวัสดิการกับการปฏิรูประบบยุติธรรมและกองทัพแบบถอนรากถอนโคน คนไทยจำนวนมากต้องการสิ่งเหล่านี้ และประชาธิปัตย์ให้ไม่ได้แน่นอน

แนวทาง “แกนนอน” ของหนูหริ่ง ก้าวหน้ากว่า อ.ธิดา มาก เพราะเน้นการนำตนเองจากรากหญ้า และพิสูจน์ว่ามีผลจริงในการฟื้นขบวนการ นอกจากนี้แนวนี้มีเสรีภาพเต็มที่ในการแสดงออก ซึ่งส่งเสริมความสร้างสรรค์ ไม่มีการเซ็นเซอร์คนอื่น แต่จุดอ่อนคือ เสรีจนไม่ชัดเจนในแนวทางการเมืองระยะยาว และขาดการรวมศูนย์เท่าที่ควร เมื่อมวลชนวันอาทิตย์สีแดงเผชิญหน้ากับโจทย์ยากๆ อาจตัดสินใจไม่ทัน

เราต้องศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละแนวทางที่พึ่งกล่าวถึง และทุกครั้งที่เราศึกษา เราต้องเน้นรูปธรรม และโลกจริง

ภาระหน้าที่ของเราในวันข้างหน้า คือการพัฒนาความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงซีกที่ก้าวหน้าที่สุด คือซีกที่พร้อมจะนำตนเองอย่างอิสระและเกินเลยกรอบแคบๆ ของ ทักษิณ ธิดา หรือนักการเมืองส่วนใหญ่ของเพื่อไทย เรากำลังพูดถึงซีกที่อยากเห็นประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ซีกที่อยากปฏิรูปกองทัพและระบบยุติธรรม ปลดนายพลและผู้พิพากษาแย่ๆ และซีกที่อยากสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผ่านการ เก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย เสื้อแดงสังคมนิยม ต้องมีส่วนสำคัญในการรวบรวมเสื้อแดงก้าวหน้าเหล่านี้เป็นพรรค เราต้องสามารถเคลื่อนไหวร่วมกับเสื้อแดงสายอื่นๆ อย่างเป็นมิตร แต่พร้อมที่จะถกเถียงแนวทางและทฤษฏีที่จะใช้ในการวิเคราะห์กับการปฏิบัติเสมอ

Thursday, January 13, 2011

เราจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตยที่ไหน : หยุด แสงอุทัย

ในฐานที่ข้าพเจ้าได้เคยสอนวิชารัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อจากคุณไพโรจน์ ชัยนาม มาเป็นเวลาช้านาน เพิ่งจะได้เลิกสอนวิชานี้ที่คณะนิติศาสตร์เมื่อสองปีนี้เอง แต่ก็ได้สอนวิชานี้ที่คณะรัฐศาสตร์ต่อจากนั้น ทั้งได้เคยสอนวิชารัฐธรรมนูญและเลือกตั้งพิศดารปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์มาจนถึงในเวลาปัจจุบัน ข้าพเจ้าได้ตั้งจุดประสงค์ของการสอนวิชากฎหมายของข้าพเจ้าสองประการ คือ
  1. ให้นักศึกษามีความรู้ในวิชารัฐธรรมนูญทั่วไป และ
  2. ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า คือให้นักศึกษาเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง
สำหรับจุดประสงค์ข้อ ๑ ที่ว่าให้นักศึกษามีความรู้ในวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปนั้นก็เพราะประเทศไทยได้ มีการปฏิวัติและรัฐประหารบ่อยครั้ง และทุกครั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ถ้านักศึกษาศึกษาแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เวลาที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ดี หรือประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในภายหลังก็ดี นักศึกษาก็จะไม่สามารถเข้าใจรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือที่มีการ ประกาศใช้ใหม่ได้ แต่ถ้านักศึกษาได้ศึกษาวิชารัฐธรรมนูญทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยหลักเกณฑ์ทั่วไปของรัฐธรรมนูญแล้ว นักศึกษาก็จะมีวิชานี้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญได้ทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ยกเลิกแล้วหรือเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิชารัฐธรรมนูญทั่วไปนี้ทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญต่าง ประเทศได้ด้วย เพราะวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปนั้น เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ทั่วไปของรัฐธรรมนูญ วิชานี้จะศึกษาว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ? แบ่งแยกออกไปได้กี่ประเภท ? รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ดับสูญไปได้อย่างไร ? ตลอดจนอะไรบ้างที่เป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ? ในวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปจะได้มีการสอนถึงการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงอำนาจ อันจะทำให้อำนาจต่าง ๆ สมดุลกันหรือที่เรียกว่าการคานกันและสมดุลกัน (Check and balance)

ความคิดที่ข้าพเจ้าได้แบ่งการสอนรัฐธรรมนูญออกเป็นสองภาค คือ ภาค ๑ วิชารัฐธรรมนูญทั่วไป และภาค ๒ รัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น มาจากหลักสูตรการสอนกฎหมายของมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ในขณะที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ คือ ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๑๙๓๗ ที่ได้มีการสอนทั้งวิชาความรู้เบื้องต้นในทางรัฐศาสตร์ (Introduction to Political Science, Allgemeine Staatslehre)2 และวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปด้วย โดยแต่ละวิชาได้มีการแยกสอนเป็นหลักสูตรต่างหาก และสอนโดยศาสตราจารย์ต่างคนกัน

ในสมัยนั้นถือว่า วิชารัฐธรรมนูญทั่วไปเป็นวิชาที่ใหม่กว่า “รัฐศาสตร์” และตำราที่เขียนถึง “วิชารัฐธรรมนูญทั่วไป” และข้าพเจ้าได้เคยทดลองสอนที่คณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยตลอดจนสถาบันชั้นสูงบางแห่งมาแล้วได้ผลดี ข้อพิสูจน์ที่ว่า การสอน “วิชารัฐธรรมนูญทั่วไป” อำนวยคุณประโยชน์ก็คือ ข้าพเจ้าได้สอนวิชานี้มาตั้งแต่ขณะใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ฉบับ ๒๔๙๕ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร โดยอาศัยตำราของศาสตราจารย์ Carl Schmitt ซึ่งสอนข้าพเจ้าที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินเป็นรากฐาน โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหลักการในวิชานี้แต่ประการใด จริงอยู่ในขณะใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีบทบัญญัติที่อ้างว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้ยอมให้มีพรรคการเมือง แต่ข้าพเจ้าก็คงสอนตามคำบรรยายวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปที่เขียนไว้เดิม คือระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีพรรคการเมือง ส่วนในขณะใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไม่ยอมให้มีพรรคการเมืองเป็นแต่ข้อ ยกเว้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศชั่วคราวและวันใดวันหนึ่งก็จะต้องกลับมี พรรคการเมืองตามเดิม

แต่จุดประสงค์ในการสอนที่สำคัญของข้าพเจ้าได้แก่ การสอนให้นักศึกษาเป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งข้าพเจ้าต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่า ได้รับผลสำเร็จไม่มากนัก ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ ข้าพเจ้าได้พยายามที่จะวางตนให้นักศึกษาเห็นว่า ข้าพเจ้าไม่แต่เป็นอาจารย์ของเขาเท่านั้น แต่ข้าพเจ้ายังเป็นนักประชาธิปไตยที่เขาถือเป็นแบบอย่างได้เช่นเมื่อสุขภาพ ของข้าพเจ้ายังดีอยู่ไม่ทรุดโทรมดังปัจจุบันนี้ แม้จะมีลิฟต์สำหรับให้อาจารย์ขึ้นลงเพื่อไปสอน ข้าพเจ้าก็มิได้ใช้ลิฟต์แต่ขึ้นบันไดลงบันไดเช่นเดียวกับนักศึกษาทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อจะได้มีโอกาสสนทนาปราศรัยกับนักศึกษาบางคน เพื่อให้นักศึกษาเห็นว่า อาจารย์ของเขานั้นก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนเขานั่นเอง เป็นแต่มีหน้าที่คนละอย่าง คืออาจารย์มีหน้าที่สอนส่วนนักศึกษามีหน้าที่เรียนเท่านั้น ข้าพเจ้าได้พูดกับนักศึกษาอย่างเป็นกันเอง เพื่อแสดงว่าได้มีมนุษย์สัมพันธ์ (Human relation) ระหว่างเขากับข้าพเจ้า นักศึกษาไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวเกรงอาจารย์ ในเมื่อเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัย ถ้านักศึกษามีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร เขาควรพูดกับอาจารย์ของเขาได้โดยสะดวกใจและอย่างเป็นกันเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ คณบดีคณะนิติศาสตร์ได้ตั้งให้ข้าพเจ้าเป็น “อาจารย์พี่เลี้ยง” ของนักศึกษาปีสองของคณะนิติศาสตร์ อาจารย์พี่เลี้ยงนี้มิใช่มีหน้าที่ให้คำตักเตือนแนะนำในวิชาที่สอนที่ปีสอง เท่านั้น แต่ยังจะต้องให้คำตักเตือนแนะนำในเรื่องส่วนตัวของนักศึกษาในฐานที่เคยมี ประสพการณ์ในชีวิตมาก่อนด้วย ซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าใกล้ชิดและมีโอกาสจูงใจให้นักศึกษาเป็นประชาธิปไตยมาก ขึ้น นักศึกษาควรจะรู้สึกว่าอาจารย์ทุกคนเป็นอาจารย์ของเขาเองเหมือนกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นมหาวิทยาลัยของเขาเอง นักศึกษาจะแยกตัวออกจากอาจารย์หรือมหาวิทยาลัยไปไม่ได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้านักศึกษาคิดได้อย่างนี้ต่อไปเขาก็จะเริ่มรู้สึกว่า เทศบาลก็เป็นเทศบาลของเขาเองและต่อมาก็จะเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาล รัฐสภา และศาลยุติธรรมก็เป็นของเขาเอง ไม่ใช่ “ของท่าน” ดังที่เป็นอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสิ่งที่เขาจะต้องหวงแหนเหมือนเงินในกระเป๋าของเขา และเป็นสิ่งที่เขามีสิทธิและเสรีภาพพร้อมบูรณ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้โดย สุจริตและสุภาพ แต่จะให้เป็นเช่นนี้ได้ รัฐมนตรีเองรวมตลอดถึงข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน จะต้องแสดงให้ราษฎรเห็นว่า เขาเหล่านั้นเป็นของประชาชนด้วย โดยจะต้องลดตัวลงมาให้เท่าเทียมกับราษฎรทั้งหลาย มิใช่เจ้าขุนมูลนายของประชาชนอีกต่อไป ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้อเรียกร้องเช่นนี้ทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้เห็นการวางตนของข้าราชการในสมัยสมบูรณาญา สิทธิราชย์มาแล้ว และซึ่งก็เป็นความจำเป็นสำหรับการปกครองในสมัยนั้น ที่จะมีการยกย่องเกียรติยศเป็นชั้น ๆ ดังจะเห็นได้ว่า ข้าราชการชั้นผู้น้อยและผู้ใหญ่ต่างก็ถือศักดินาต่างกัน ผู้ดำรงบรรดาศักดิ์ชั้นหมื่นถือศักดินาสูงกว่าราษฎรธรรมดา แต่ถ้าเป็นสมเด็จเจ้าพระยาหรือพระบรมวงศานุวงศ์ก็ถือศักดินาสูงขึ้นอีก

แต่บัดนี้เราได้มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว และประชาธิปไตยวางรากฐานอยู่บนความเสมอภาคในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่ง มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ เรายกย่องเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้คุ้มครองไว้เป็นพิเศษ โดยเอาโทษการประทุษร้ายสูงกว่าการประทุษร้ายคนธรรมดาสามัญมากมาย (ดู มาตรา ๑๐๗ และมาตรา ๑๐๙) แต่นอกจากนั้นทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย (หลัก Equality before the Law)
ในระบอบประชาธิปไตย คนย่อมสูงเด่นกว่ากันตามคุณงามความดีที่เขากระทำให้แก่สังคม ใครทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมมาก ไม่คอร์รัปชั่น คดโกง ประชาชนเขาก็นับถือเอง ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีใครบังคับประชาชนให้เคารพนับถือบุคคลใดได้ แต่ถ้าประพฤติตัวดี เขาก็เคารพนับถือเอง

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านทั้งหลายโปรดอย่าได้เข้าใจผิดว่า ข้าพเจ้าจะเห็นว่าการกราบไหว้ผู้ใหญ่เพราะมีชาติวุฒิ คุณวุฒิ หรือวัยวุฒิ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยเราควรจะเลิกไป ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องรักษาวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้อย่างที่สุด เพราะถ้าชนของชาติใดไม่รักษาวัฒนธรรมประจำชาติของตนไว้ ในไม่ช้าชนชาตินั้นจะแยกตนเองไม่ออกจากคนต่างด้าว และต่อไปในประเทศนั้น ๆ จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ นอกจากการบูชาเงินเป็นพระเจ้า

อนึ่ง การที่บุคคลเคารพนับถือกันเพราะคุณงามความดี ที่เขาเหล่านั้นทำให้แก่สังคมย่อมเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนให้บุคคลต่าง ๆ แข่งขันกันในทางทำคุณงามความดี ซึ่งผลที่สุดจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ในทางตรงกันข้าม บุคคลซึ่งแม้ดำรงตำแหน่งในทางราชการสูงเท่าใด หรือมั่งมีทรัพย์สินมากเท่าใด แต่ถ้าไม่ทำคุณงามความดีให้แก่สังคมแล้ว ก็ไม่ควรจะได้รับการยกย่องนับถือ ข้าพเจ้าเคยยกตัวอย่างให้นักศึกษาฟังว่า ถ้าจะมีเทวดาองค์หนึ่งเหาะผ่านหน้าต่างมา ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่นักศึกษาจะกราบไหว้ เพราะการเหาะได้เป็นผลดีแก่เทวดาองค์นั้นเอง สังคมไม่ได้พลอยได้ดิบได้ดีอะไรด้วย และคนสามัญก็อาจจะซื้อตั๋วเครื่องบินบินไปยังที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจจะเร็วกว่าการเหาะได้ของเทวดาเสียอีก ถ้าเทวดานั้นได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม จึงควรจะกราบไหว้ ในระบอบประชาธิปไตย บุคคลควรจะแสดงความรังเกียจคนที่ประพฤติตัวเลวทรามต่ำช้า เพราะถ้าสังคมยังนิยมยกย่องบุคคลดังกล่าวอยู่ตราบใด เช่นเป็นเพราะเขาเป็นผู้มีบุญวาสนาหรือทรัพย์สินมาก เมื่อนั้นบุคคลก็จะไม่มีความละอายใจที่จะกระทำความชั่ว เพราะคิดว่าเป็นคนมีบุญวาสนา หรือมีทรัพย์สินเสียหน่อยหนึ่งแล้ว สังคมก็ยินดีต้อนรับ ซึ่งความจริงไม่มีเหตุผลอะไรเลย เพราะในระบอบประชาธิปไตย บุคคลเสมอภาคกัน ถ้าไม่ทำคุณงามความดีให้แก่สังคมให้ดีเด่นกว่าผู้อื่น เขาก็ควรเสมอ ๆ กับคนอื่น เราจะไปยกย่องเขาทำไม เขามีตำแหน่งสูงหรือมั่งมีก็เป็นประโยชน์แก่ตัวของเขาเอง ถ้าเขาไม่ทำคุณงามความดีให้แก่สังคม สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย

อย่างไรก็ดี การที่เราเคารพนับถือบุคคลเพราะเขามีคุณงามความดี โดยทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั้น ในระบอบประชาธิปไตยไม่หมายความว่า เขาจะต้องยอมเอออวยกับความคิดเห็นของบุคคลที่เขาเคารพนับถือนั้นด้วย เมื่อข้าพเจ้าได้เริ่มสอนกฎหมาย โดยได้สอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ข้าพเจ้าได้นำเอาความคิดเห็นของอาจารย์ต่าง ๆ ที่สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาแสดงไว้ บางท่านก็เคยเป็นอาจารย์สอนวิชานี้แก่ข้าพเจ้ามา บางท่านก็เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย พร้อมกับชี้ให้เห็นด้วยว่า ข้าพเจ้าเองมีความคิดเห็นอย่างไร นักศึกษาจะเห็นด้วยกับอาจารย์คนอื่นหรือข้าพเจ้า หรือจะมีความคิดเห็นของตัวเองก็ได้ ขออย่างเดียวคือ ต้องแสดงความคิดเห็นของอาจารย์อื่นและของข้าพเจ้าด้วยเพื่อข้าพเจ้าจะได้ ทราบว่า นักศึกษาได้ศึกษาความคิดเห็นเหล่านั้นแล้ว และเขาเองได้มีความคิดเห็นของเขาอย่างไร เป็นการสอนให้นักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง และเป็นการสอนให้นักศึกษาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ ในการนี้ข้าพเจ้าได้ย้ำให้นักศึกษาเข้าใจว่า การที่นักศึกษาไม่มีความคิดเห็นตรงกับข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่ถือเป็นข้อพึงตำหนิ แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าจะพึงชมเชยด้วยซ้ำ ในประเทศไทยเรานี้มีผู้กล้าหาญในทางกำลังกายเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากการประกาศรับอาสาสมัครไปสงครามที่สมรภูมิเกาหลี และเวียดนามใต้ ซึ่งมีชายสมัครจนเกินจำนวนที่ต้องการอยู่เสมอ แต่จะหาบุคคลที่มีความกล้าหาญในทางจิตใจนั้น ยากที่จะหาได้ ข้าราชการน้อยคนที่มีจิตใจกล้าที่จะแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น ในเมื่อเขาทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้เชื่อข้อเท็จจริงไปอีกอย่างหนึ่ง หรือได้มีความคิดเห็นขัดแย้งกับความคิดเห็นของเขา เรามักจะเอาสุภาษิตโบราณมาใช้อย่างผิด ๆ เช่น สุภาษิตที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียได้ตำลึงทอง” หรือ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” มีผู้ใหญ่คนหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีข้าราชการราชสำนักในรัชกาลที่ ๖ ท่านหนึ่งซึ่งเวลาที่ในหลวงทรงรับสั่งถามความเห็น มักจะตอบว่า “ชอบกลพระพุทธเจ้าข้า” หรือ “น่าคิดพระพุทธเจ้าข้า” โดยไม่มีใครทราบว่า ข้าราชการผู้นั้นมีความคิดเห็นอย่างไร โคลงบาท ๔ ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงแปลจากสุภาษิตฝรั่งว่า “เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว” นั้น เวลาข้าพเจ้าสอนนักศึกษา ข้าพเจ้าดัดแปลงเป็นว่า “ความคิดเห็นของข้า มอบไว้แก่ตัว” อันที่จริง ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่ได้ทำผิดวินัย ทำไมเราจึงต้องเกรงกลัวผู้อื่น เขาจะมาทำอะไรเราได้ ถ้าหากเราจะแสดงความคิดเห็นของเราโดยบริสุทธิ์ใจ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันคิด ช่วยกันแสดงความคิดเห็น ปล่อยให้ผู้นำหรือคณะผู้นำในทางการเมืองคิดเห็นแต่ฝ่ายเดียว จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่า ผู้นำและคณะผู้นำจะมีความคิดเห็นถูกต้องเสมอไป ถ้าการตัดสินใจของผู้นำเกิดจากการได้ยินได้ฟังความคิดเห็นจากหลายด้านด้วย กันก็จะช่วยให้ผู้นำหรือคณะผู้นำตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็เพื่อจะให้คนทั้งประเทศช่วยกันทั้งกำลัง กาย กำลังความคิด สติปัญญา และทรัพย์สิน จรรโลงประเทศชาติของเรา อย่าลืมสุภาษิตโบราณที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” บุคคลแม้ฉลาดหลักแหลมสักเท่าใด แต่ถ้าเอาแต่ใจตนเอง คิดเห็นว่าตนเก่งกว่าผู้อื่น ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของผู้ใด บุคคลนั้นก็คงจะพลาดพลั้งลงสักวันหนึ่ง และการพลาดพลั้งของบุคคลดังกล่าวนี้ ถ้าเขามีตำแหน่งสูงในทางราชการมากเท่าใด เขาก็จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติมากเท่านั้น โดยเหตุนี้ ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมจะไม่มีการกีดกันการแสดงความคิด เห็นของบุคคล ซึ่งต่างกับประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ ซึ่งได้มีการปิดปากมิให้ประชาชนมีความคิดเห็นในทางตรงกันข้าม เมื่อต้นปีนี้ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่สหภาพพม่า ปรากฎว่า หนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียงต่างดำเนินการโดยรัฐทั้งนั้น แม้ในหนังสือพิมพ์จะยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลบ้างก็ดี แต่ไม่รุนแรง โดยปกติมีลักษณะไปในทางที่ให้รัฐบาลทราบความทุกข์ร้อนมากกว่า

ตามที่กล่ามาแล้วแสดงว่า แม้ในการสอนวิชากฎหมายก็อาจสอนให้นักศึกษาเป็นประชาธิปไตยได้ โดยสนับสนุนส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ศึกษา เป็นการให้การศึกษาในทางวิชาการ พร้อมกับความเป็นนักประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การฝึกให้บุคคลเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่จะทำได้เฉพาะการให้การศึกษาในชั้น มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงแม้ในโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมก็ทำได้ โดยครูหรืออาจารย์สนับสนุนให้นักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง และแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สอนตามสมควร แต่แม้ในระบบการปฏิบัติราชการ ผู้บังคับบัญชาก็สามารถฝึกผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นนักประชาธิปไตยได้ เช่น ในเวลาปฏิบัติราชการก็สนับสนุนให้มีการแสดงความคิดเห็นตามลำดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประจำแผนกขึ้นมาจนถึงหัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง ผู้ช่วยอธิบดี รองอธิบดี แทนที่รองอธิบดีจะเรียกผู้ช่วยอธิบดีหรือหัวหน้ากองมาสั่งให้ร่างหนังสือ แสดงความคิดเห็นของตนเอง และผู้บังคับบัญชาที่ดีย่อมจะไม่ดุหรือแสดงความไม่พอใจในเมื่อผู้อยู่ใต้ บังคับบัญชามีความคิดเห็นไม่ตรงกับตน และในเรื่องความคิดเห็นเช่นนี้ไม่ควรจะวินิจฉัยว่า ความคิดเห็นฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก แต่ควรจะเป็นเรื่องของการมีความคิดเห็นแตกต่างกัน จริงอยู่มีกรณีบางกรณีที่ความคิดเห็นนั้นสามารถพิสูจน์ได้ในทางวิชาการว่า ผิดพลาด แต่ผู้บังคับบัญชาที่ดีก็ไม่ควรจะถือเป็นเหตุดุดัน แต่ควรจะชี้แจงหลักวิชาในเรื่องนั้น ๆ ให้ทราบ ในขณะที่ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีความจำเป็นที่ จะต้องตรวจสอบความผิดพลาดหรือความไม่ลงรอยกันในการใช้ถ้อยคำของกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ขอให้ข้าราชการแสดงความคิดเห็นกันทีละคนเป็นลายลักษณ์อักษรมี จำนวน ๕ คน โดยให้เรียงอาวุโสตั้งจากต่ำมาหาสูง คือตั้งแต่เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย จนถึงรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้เพราะถ้าให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แสดงความคิดเห็นเสียก่อน ข้าพเจ้าก็เกรงว่า ข้าราชการที่มีอาวุโสต่ำลงมาคงจะเกรงใจหรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง และข้าพเจ้าเองเป็นผู้วินิจฉัยเด็ดขาดในที่สุดว่า ควรถือตามความเห็นของผู้ใด ทั้งหมดหรือบางส่วน ข้าพเจ้าจำได้ว่ามีข้าราชการบางคนมาต่อว่าข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าวินิจฉัยผิดพลาด ข้าพเจ้าก็ตอบว่า เป็นเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งอาจมีแตกต่างกันได้ แต่ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ ข้าพเจ้าก็ต้องชี้ขาดไปในทางใดทางหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่านี่เป็นการฝึกให้บุคคลเป็นนักประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง และข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าเป็นนักประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด แต่ข้าพเจ้าทราบว่า งานของข้าพเจ้าได้รับผลดี เพราะแทนที่ข้าพเจ้าจะใช้ความคิดเห็นของข้าพเจ้าแต่ลำพัง ข้าพเจ้าได้มีข้าราชการที่มีวิชาความรู้ตั้ง ๕ คนช่วยข้าพเจ้า ความผิดพลาดหลงหูหลงตาก็น้อยลง แต่วิธีปฏิบัติราชการของข้าพเจ้านี้ ผู้บังคับบัญชาทำไม่ได้ทุกคน ทั้งนี้เพราะเขาคิดว่า เขามีความรู้ดีกว่า หรือมีประสพการณ์มากกว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือถ้าให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิดเห็นแล้ว เขาอาจถูกผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิดทั้งสิ้น ที่จริงควรจะถือหลักว่า ทุกคนไม่เก่งทุกอย่าง แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำก็เท่ากับเอาความเก่งของทุกคนมาช่วยทำให้การปฏิบัติ ราชการมีสมรรถภาพดีขึ้น ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้บังคับบัญชาบางคนจึงต้องการแสดงอำนาจราชศักดิ์ อยากให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากลัวเกรง ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าการใช้อำนาจมีประโยชน์นัก อำนาจเป็นสิ่งชั่วที่จำเป็น (neccessary evils) จะต้องใช้เป็นวิถีทางสุดท้าย (last resort) เพียงเพื่อรักษาระเบียบวินัยของหมู่คณะ ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้ารักข้าพเจ้ามากกว่ากลัว ข้าพเจ้า เพราะถ้าเขารักข้าพเจ้าแล้วเขาจะช่วยข้าพเจ้าทำงานไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะต้องทำล่วงเวลา แต่ถ้าเขาเป็นแต่กลัวข้าพเจ้า เขาจะทำงานเท่าที่ข้าพเจ้าจะใช้อำนาจได้ คือ เฉพาะเท่าที่ข้าพเจ้าสามารถตรวจตราได้เท่านั้น เขาจะไม่มี “น้ำใจ” ที่จะช่วยเหลือข้าพเจ้า โดยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้บังคับบัญชามา ข้าพเจ้าไม่เคยลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ใดเลย อย่างมากก็เรียกตัวมาตักเตือน

ในการที่อาจารย์จะฝึกนักศึกษาให้เป็นนักประชาธิปไตย ข้าราชการผู้บังคับบัญชาฝึกข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็น ประชาธิปไตยนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกให้รู้ตัวว่า เป็นการฝึกเพื่อเป็นประชาธิปไตยแต่ประการใด เพราะการฝึกให้เขาเป็นตัวของเขาเอง เคารพในเหตุผลของเขาเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็เคารพในเหตุผลของผู้อื่น เขาก็เป็นนักประชาธิปไตยไปในตัว
อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วในตอนแรก ๆ ว่า การที่จะฝึกบุคคลอื่นให้เป็นนักประชาธิปไตยนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้รับความสำเร็จเสมอไป ครั้งหนึ่งสมัยที่ข้าพเจ้ายังขับรถยนต์เองอยู่ ขณะที่ข้าพเจ้าจะลงจากรถ มีนักศึกษาคนหนึ่งได้เดินตรงมาเปิดประตูรถให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็กล่าวคำขอบใจ และพูดว่า ทีหลังขออย่าทำเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านักศึกษาผู้นั้นโกรธข้าพเจ้า จนกระทั่งเมื่อปีกลายนี้เอง ซึ่งนักศึกษาผู้นั้นเป็นข้าราชการชั้นพิเศษของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทราบ เพราะมีผู้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เขาได้กล่าวว่า “อาจารย์หยุดนี่ ใช้ไม่ได้ เขานับถือ เปิดประตูรถให้ ยังว่าเขาอีก” และแสดงว่า เขายังโกรธข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้ ที่จริงข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์อย่างอื่น นอกจากจะฝึกให้เขาเป็นนักประชาธิปไตย เพราะงานที่เขาช่วยข้าพเจ้า คือการเปิดประตูรถยนต์ให้นี้เป็นงานเบา ทุกคนควรจะกระทำของตนเองไม่ควรจะรบกวนคนอื่น แต่ถ้ารถยนต์ของข้าพเจ้าสตาร์ทไม่ติด ข้าพเจ้าก็ได้ขอแรงนักศึกษาให้ช่วยเข็นรถของข้าพเจ้าอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าทำเองไม่ได้และนักศึกษาก็ได้ช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยความ ยินดี ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ให้เกียรติแก่ข้าพเจ้าแต่ประการใด ในระบอบประชาธิปไตยมนุษย์ย่อมเสมอภาคกันคือมีฐานะเท่าเทียมกัน จะผิดกันก็แต่ตำแหน่งหน้าที่การงาน ถ้าการที่นักศึกษาผู้นั้นเปิดประตูรถเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ข้าพเจ้ามิต้องคอยเปิดประตูรถยนต์ให้แก่ผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าหรือ และนักศึกษาผู้นั้นมิคาดหมายให้ข้าราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาคอย เปิดประตูรถยนต์ให้เขาหรือ ข้าพเจ้าเคยไปดูงานร่างกฎหมายที่สหรัฐอเมริกา และได้ทราบว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น เกียรติยศสูงสุดที่เขาจะให้แก่ชาวต่างประเทศที่ทำคุณประโยชน์แก่โลกเช่น นายวินสตัน เชอร์ชิล ก็คือ การเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา เพราะในระบอบประชาธิปไตยไม่มีอะไรที่จะมีเกียรติยิ่งไปกว่าการเป็นพลเมือง ของประเทศ

ฉะนั้น ขอให้เราท่านทั้งหลายจงตั้งต้นความเป็นประชาธิปไตยจากตัวของเราเองโดยมองให้ เห็นว่า เรานี้เป็นแต่คนหนึ่งในบรรดาพลเมือง ๓๓ ล้านคนเศษของประเทศไทย ไม่ต่ำกว่าและสูงกว่า จริงอยู่ประชาธิปไตยย่อมยอมรับหลักเกณฑ์ในทางธรรมชาติที่มีคนฉลาด คนโง่ คนมีทรัพย์สิน ไม่มีทรัพย์สิน คนที่มีประสพการณ์ และคนไม่มีประสพการณ์ ฯลฯ แต่คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นสิ่งดีเฉพาะตัวของบุคคลนั้น ๆ เอง แต่ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เขาย่อมเสมอภาคกันกับบุคคลอื่น เราจะต้องมองเพื่อนร่วมชาติของเราอย่างผู้ที่เท่าเทียมกัน ไม่ยกตนว่าสูงกว่าผู้อื่น ในการบังคับบัญชาก็บังคับบัญชากันไปในตำแหน่งหน้าที่ แต่เราจะต้องรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และอดทน ฟังการแถลงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นของคนอื่น ถ้าเรากระทำเช่นนี้ได้ ก็เป็นการสร้างภราดรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สำหรับผู้ที่นับถือพุทธศาสนานั้น ความจริงหลักธรรมในพุทธศาสนาก็สอนให้เขาเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว โดยสอนให้เรารู้จักมี เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ถ้าแต่ละคนจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตย จากคนส่วนน้อยมายังคนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นเอง อย่าท้อใจเลยกับเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ เช่นที่ว่า ชาวไทยเรามาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีจำนวนน้อย ร้อยละ ๓๐ – ๔๐ เพราะเราเพิ่งจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตยกันมาไม่นานนักและข้อวิจารณ์ที่ว่า ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งมาไม่มีคุณสมบัติดีพอที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะนั่นเป็นแต่ความคิดเห็นของคนบางคนเท่านั้น ยังไม่มีอะไรพิสูจน์ความจริง และผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่เวลานี้ก็ไม่ใช่ว่า ได้เคยศึกษาเพื่อจะเป็นรัฐมนตรีมาก่อนถ้าทุกคนมีจิตใจที่จะเป็นนัก ประชาธิปไตย เราก็คงเป็นประชาธิปไตยกันโดยสมบูรณ์


1 คัดมาจาก หยุด แสงอุทัย, “เราจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตยที่ไหน?”, ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย, บพิธการพิมพ์, ๒๕๒๓, หน้า ๒๙๙-๓๐๘. บทความนี้ คัดลอกและพิมพ์ใหม่โดยนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล โดยรักษารูปแบบวรรคตอนและย่อหน้าตามต้นฉบับจริงทุกประการ เว้นแต่การแก้ไขคำผิดเล็กน้อยเท่านั้น
2 ต้นฉบับเดิมใช้คำว่า “All Geuneine Staatslehre” เราเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของการพิมพ์ในสมัยนั้น เพราะคำนี้ไม่ปรากฏในภาษาเยอรมัน มีแต่คำว่า “Allgemeine Staatslehre” ซึ่งแปลได้ว่า General theory of the State