Wednesday, November 24, 2010

National Power ยังหลงเหลืออยู่แค่ไหน?

ความหมายของ National Power ก็คือพลังอำนาจของชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เอามาใช้ในทางยุทธศาสตร์ ผู้ริเริ่มเอามาใช้เป็นคนแรกในปลายศตวรรษที่ 15 ได้แก่ นิโคโล มาเคียเวลลี่ ซึ่งเป็นทั้งนักการทหารและนักปรัชญาชาวอิตาลี...พลังอำนาจของชาติในช่วงที่มาเคียเวลลี่นำเสนอ เขาได้จัดเป็นองค์ประกอบ 3 ประการคือ การเมือง สังคม และการทหาร กระทั่งต่อมามีการเพิ่มเติมโดยคาร์ล วอน เคลาสวีทซ์ ผู้เป็นซุนหวู่แห่งตะวันตก โดยเพิ่มพลังอำนาจของชาติในทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาเป็นองค์ประกอบต่อการทำสงครามอีกปัจจัย

เรื่องพลังอำนาจของชาติ แม้จะเริ่มต้นมาจากหลักการดังกล่าว แต่ได้มีการพัฒนาและศึกษาเพิ่มเติมในฐานะเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ชาติให้ดำเนินไปถึงการบรรลุวัตถุประสงค์และการรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นมาถกเถียงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ของประเทศไทยปัจจุบัน ตลอดเวลาของความขัดแย้งเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลังอำนาจของชาติได้กร่อนสลายลงไปถึงจุดวิกฤตที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยบรรดาผู้ปกครองและผู้อยู่ในอำนาจทั้งหลายยังไม่ได้ตระหนัก หรืออาจจะไม่มีสำนึกในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป?

ประเด็นของการเมืองเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่สุดเมื่อเราจะเขียนถึงพลังอำนาจของชาติ ตรงนี้คงไม่ต้องตั้งคำถามอะไรว่า “ปัจจัยทางการเมืองและการมีเสถียรภาพของรัฐบาลไทยมีทิศทางและความเป็นไปอย่างไรกันแน่? เมื่อการเมืองอยู่ในสภาพไม่มั่นคง ผลกระทบที่จะเชื่อมโยงเข้าไปถึงปัจจัยที่เป็นพลังอำนาจของชาติในด้านอื่นๆย่อมได้รับผลประทบ และตกต่ำเป็นโดมิโนไปด้วย? ประเด็นต่อมาเราก็ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจก็ถือเป็นพลังอำนาจของชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ชาติบ้านเมืองที่ไม่มีความมั่งคั่ง ไม่มีเงินทองจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินจะกลายเป็นชาติบ้านเมืองที่มีความเข้มแข็งได้อย่างไร? เรื่องของเศรษฐกิจยังกระทบไปสู่เรื่องการทหาร โดยการทหารก็ยังเป็นพลังอำนาจของชาติที่สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ ถามว่าเมื่อการเมืองไร้ทิศทาง เศรษฐกิจของบ้านเมืองจะเข้มแข็งได้อย่างไร? แล้วในด้านการทหารจะเอาเงินทองจากที่ไหนเพื่อซื้อหาอาวุธ สร้างเขี้ยวเล็บให้ทหารได้กลายเป็นพลังอำนาจของชาติที่มีศักยภาพในการต่อรอง ซึ่งขุนศึกทั้งหลายต่างก็ใฝ่ฝันกัน?

ในโลกปัจจุบันพลังอำนาจของชาติยังต้องคลุมไปถึงอีกหลายปัจจัย รวมทั้งสังคมจิตวิทยา นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยเลย เพราะสังคมจิตวิทยาของคนในชาติย่อมส่งผลให้ชาติบ้านเมืองเดินไปสู่ทิศทางใดก็ได้ ประเด็นของความคิดและความเชื่อจัดเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่มีไม่น้อยที่นำไปสู่ความล่มจมในภายหลัง ตัวอย่างเช่น แนวคิดสร้างอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของฮิตเลอร์ หรืออีกหลายๆตัวอย่างที่มองหาได้ไม่ยาก...วาทกรรมที่ครอบงำสังคมไทยมา 5 ปี เป็นอุดมการณ์กู้ชาติ ถือเป็นเรื่องปฏิบัติการสังคมจิตวิทยาที่นำไปสู่ความล่มจมได้ พลังอำนาจของชาติที่อ่อนแอลงในปัจจุบัน สร้างความขัดแย้งแตกแยกก็สืบเนื่องมาจากการใช้สังคมจิตวิทยาไปอย่างหลงทิศและผิดทาง กระทบไปสู่ทุกบริบทต่อพลังอำนาจของชาติในมิติอื่นๆ?

อีกเรื่องสำคัญซึ่งคงต้องกล่าวถึง โดยเฉพาะในยุคสังคมปัจจุบัน สารสนเทศถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในด้านพลังอำนาจของชาติในทศวรรษนี้ เราอาจจะยกตัวอย่างเมื่อสหรัฐอเมริกาได้ใช้สื่อสารมวลชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน นั่นคือข้อเท็จจริงซึ่งส่งผลให้สหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นมีความได้เปรียบในปฏิบัติการทางทหาร...ส่วนประเทศไทยระยะ 5 ปีผ่านมานี้ ระบบของอำนาจดั้งเดิมก็ได้ฉุดเอางานสารสนเทศเข้ามาใช้ปฏิบัติการอย่างกว้างขวาง กลายเป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร แต่สะท้อนกลายเป็นผลสร้างสมให้สังคมไทยเต็มไปด้วยความแตกแยกและร้าวฉาน แม้เรายังมองงานสารสนเทศให้เป็นอีกหนึ่งพลังอำนาจของชาติก็คงจำเป็นต้องถอยหลัง ทบทวนเรื่องนี้ให้จริงจัง ก่อนที่พลังทางสารสนเทศจะกลายเป็นเครื่องมือทำลายตัวเองมากกว่าการกระทำหน้าที่ส่งเสริมในฐานะเป็นพลังอำนาจของชาติ?

ปัจจัยที่เกี่ยวกับพลังอำนาจของชาติยังมีเรื่องของภูมิศาสตร์ แต่หากพลังอำนาจในด้านอื่นๆหลงทิศผิดทาง Geopolitical หรือภูมิรัฐศาสตร์เห็นจะมิได้กลายเป็นความได้เปรียบอะไรทั้งสิ้นในฐานะพลังอำนาจของชาติ กระทั่งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและประชากร สิ่งเหล่านี้ต่างล้วนถูกจัดให้เป็นพลังอำนาจของชาติ แต่เมื่อมองไปในภาพกว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนถูกกระทำให้อ่อนแอลง เราจะยังเหลือพลังอำนาจอยู่อีกสักเท่าไร? หรือแทบไม่เหลือแล้ว?

No comments:

Post a Comment