Tuesday, November 30, 2010

พรรคประชาธิปัตย์ในมุมมองของ "ดร.โกร่ง"

คนเดินตรอก
วีรพงษ์ รามางกูร

ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูปการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเครื่องชี้อย่างดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของบ้านเรา ต้องการการปฏิรูป อย่างรุนแรงและขนานใหญ่ มิฉะนั้นประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มี ระบอบการปกครองโดยพรรคใหญ่ พรรคเดียว ซึ่งไม่เหมาะกับบ้านเราและ เราก็ไม่ต้องการอย่างนั้น

พรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นที่ต้องถือว่าเป็นของประชาชน มิใช่พรรคของกรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรคเท่านั้น เพราะได้รับเงินจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนทั่วประเทศไปทำกิจกรรมของพรรค พรรคต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้เสียภาษีด้วย ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์มีเหตุผล ควรฟังว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไร อย่ามัวแต่ค้นหาว่าทำไมเขาจึงวิพากษ์วิจารณ์

เรื่องแรก พรรคต้องเปลี่ยนทัศนคติ เสียใหม่ การเอาแต่คิดโค่นล้มคู่ต่อสู้ ทุกวิถีทางนั้นต้องเปลี่ยนใหม่ แม้ว่าตอนที่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2489 พรรคประสบความสำเร็จในการโค่นล้มพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพ โดยการ ร่วมมือกับทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจอมพลผิน ชุณหะวัณ และจอมพลป.พิบูลสงคราม ลงเลือกตั้งโดยการ ช่วยเหลือของทหารในเดือนมกราคม 2491 เป็นรัฐบาลอยู่ได้ 4เดือน ก็ถูกทหารหักหลังจี้ให้ลาออก หลังจากนั้นก็ไม่ได้อะไร จนเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 เพราะทหารแตกคอกันเองไม่ใช่ฝีมือของพรรค

ทรรศนะที่ถูกต้องก็คือ ต้องสร้างผลงานในทางสร้างสรรค์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการต่างประเทศ ในด้านการต่างประเทศ ประเทศเราใหญ่พอที่ผู้นำของเราสามารถจะเป็นผู้นำของภูมิภาคอย่าง ดร.โมฮัมเหม็ด มหาเธร์ ได้น่าเห็นใจผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนมากเป็นทนายความ เป็นครู เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว มีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จน้อย หัวหน้าพรรคแม้ว่าจะมีอายุพอสมควรแล้ว มีการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของโลก แต่ไม่เคยทำงานรับผิดชอบจริงๆ ข้อสำคัญอยู่ไปๆ ถูกพรรคล้างสมองลืมหลักการทางปรัชญากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เสียสิ้น ค้านทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงกันข้ามทำ หรือฝ่ายตรงกันข้ามคิดผลจึงออกมาในสายตาประชาชนว่าที่คิดที่พูดนั้น ตนเอง ก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเลย แต่พูดไปตามมติพรรคซึ่งล้าสมัยแล้ว

เรื่องที่สอง เหตุที่พรรคมีทัศนคติในทางลบและไม่สร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ก็เพราะพรรคถูกครอบงำด้วยผู้นำรุ่นเก่าที่เคยประสบความสำเร็จโดยการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นรัฐบาลทหาร ขณะนั้นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลไม่มี เพราะทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ดีที่สุด ผู้นำพรรค ซึ่งบัดนี้อายุอยู่ระหว่าง65-75 ปี จึงติดยึดอยู่กับยุทธวิธีแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อมีพรรคใหม่ที่ผู้นำพรรคเกือบ100 คน มาจากคนที่มีประสบการณ์ทั้งทางธุรกิจและทางราชการ มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำการบ้านว่าคนชั้นล่างซึ่งมีสัดส่วนที่สูงต้องการอะไร และสามารถทำอย่างที่ตนสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งแล้วครั้งเล่าผู้นำพรรคก็ไม่ยอมรับความบกพร่องของตน แต่หลอกตนเองว่าพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เพราะฝ่ายตรงกันข้ามซื้อเสียง แต่ในกรณีที่ทหารและข้าราชการถูกสั่งให้มาช่วยอย่างเต็มที่ทั้งกำลังคน กำลังอำนาจ และกำลังเงินซื้อเสียงให้ แล้วยังแพ้อย่าง ยับเยิน ตนกลับไม่คำนึงถึง หลายคนบอกว่าแม้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่ซื้อเสียงเลยก็ยังชนะพรรคประชาธิปัตย์สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ ผู้ที่ออกจากพรรคไทยรักไทยไปอยู่พรรคอื่น กลับสอบตกเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่มีกระสุนจากทหารมาช่วยจำนวนมาก

เรื่องที่สาม ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ อาจแบ่งเป็นสองพวก พวกนักกฎหมายกับพวกครู จะไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง กฎหมายระเบียบแบบแผนเป็นอย่างไรก็ถือเป็นคัมภีร์ ให้ข้าราชการเป็นผู้แนะนำและชี้นำนโยบายในการทำงาน อีกพวกหนึ่ง เป็นพวกที่มีผลประโยชน์ จึงไม่ยอมให้ คนรุ่นใหม่เข้าไปรับผิดชอบพรรคจริงๆยังกุมอำนาจพรรคไว้ด้วยผลประโยชน์ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามพูดเสมอว่า กฎหมายระเบียบแบบแผนเป็นเครื่องมือที่จะทำให้งานสำเร็จ ประชาชนได้ประโยชน์ ถ้ากฎหมายข้อบังคับเป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข เพราะกฎหมายข้อบังคับระเบียบแบบแผนสร้างมาโดยมนุษย์ มนุษย์ย่อมสามารถแก้ไขได้ มนุษย์ต้องเป็นนายกฎมาย ไม่ใช่ให้กฎหมายมาเป็นนายมนุษย์ ข้าราชการไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายแต่เป็นผู้นำนโยบายของฝ่ายการเมืองไปปฏิบัติ กลับกันกับวิธีคิดของประชาธิปัตย์ ผลงานของประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ในฐานะของฝ่ายค้านจึงไม่ค่อยมีเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เคยร่วมรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลากว่า 15 ปี เคยถามเพื่อนฝูงชาวปักษ์ใต้ที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ฯ ว่าชอบผลงานของรัฐบาลพรรคไหน ไม่มีใครบอกว่าผลงานของประชาธิปัตย์ดีกว่าคู่ต่อสู้ ทุกคนบอกว่าผลงานของรัฐบาลคู่ต่อสู้ดีกว่า แต่ที่เลือกประชาธิปัตย์เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายเลือกประชาธิปัตย์ หรือที่เลือกก็เพราะผู้นำพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายหัวเป็นคนใต้เคยถามต่อว่าถ้านายหัวไม่อยู่แล้วจะเลือกอย่างไร ผู้ตอบก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันเอาไว้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิดพฤติกรรมการเลือก ส.ส.ของคนใต้ จึงต่างกับคนอีสานและคนเหนือ ที่เน้นว่า ส.ส.คนนั้นเคยทำประโยชน์ให้กับตนหรือชุมชนของตนแค่ไหน ส่วนในกรุงเทพฯเลือกไปตามกระแสที่สื่อมวลชนยัดเยียด ให้เพราะตนก็ไม่เคยได้ประโยชน์อะไร เป็นชิ้นเป็นอันจาก ส.ส.ของตนอยู่แล้ว เพราะตนเองก็มีเส้นสายโยงใยเองอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนเหมือนคนในต่างจังหวัด

เรื่องที่สี่ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่พยายามเข้าถึงคนระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานภาคเหนือ ภาคกลาง และแม้แต่ในกรุงเทพฯ พรรคไม่เน้นที่จะสร้างผลงาน แต่เน้นในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ทุกวิถีทาง พรรคจึงกลายเป็นทาร์ซาน พยายามจะช่วยเจนนี่โดยการโหนเถาวัลย์โหนกระแส และโหนทหาร แล้วให้เจนนี่คอยกอดเอว พอเจนนี่จับพลาดในที่สุดทาร์ซานก็ต้องป้องปากโห่อย่างโหยหวนลั่นป่า การทำตัวเป็นทาร์ซานจะไปถึงที่หมายโดยวิธีโหน จึงต้องละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางกฎหมาย ความถูกต้อง จารีต ประเพณี ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร่วมมือ กับทหารสร้างทางตันเพื่อเชื้อเชิญให้ทหารปฏิวัติ ทำลายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคฝ่ายตรงกันข้ามถูกยุบ ให้นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามถูกตัดสิทธิทางการเมือง และสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติ จะตอนพรรคการเมืองไม่ให้โต สร้างองค์กรอิสระที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นผลเสียกับตัวเองด้วยในระยะยาวแต่ก็ยอมทำ ทำให้พรรคเสียคะแนนจากผู้คนที่หัวก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่อย่างน่าเสียดาย การที่พรรคประณามนโยบายและโครงการที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรอบที่การเงินการคลังของประเทศรับได้ เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเฟือจนธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อยากจะได้ ว่าเป็นโครงการ 'ประชานิยม' เท่ากับการทำลายเสียงของตนเองกับคนระดับล่างทั่วประเทศและจำกัดตัวเอง เพราะถ้าตนเองเป็นรัฐบาล ก็คงต้องทำ หรืออาจจะทำมากกว่า เพราะที่ใช้หาเสียงสัญญาว่าจะทำมากกว่า

เรื่องที่ห้า พรรคประชาธิปัตย์เป็น พรรคปิด มีระบบอาวุโสที่เหนียวแน่น สมาชิกใหม่ให้อยู่ระดับล่าง หรือในสภาก็อยู่แถวหลังหรือที่อังกฤษเรียกว่า 'Back Benchers' แต่อังกฤษผู้นำพรรคที่นำ พรรคไปแพ้เลือกตั้งจะลาออกเกือบหมด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาแทน แต่ของเราไม่มีประเพณีอย่างนั้น สมาชิกรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสมานำพรรค ผู้นำพรรค ไม่มุ่งจะทำพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง เพียงแต่ได้ ส.ส.มากเพิ่มขึ้นก็พอใจจะอยู่ในตำแหน่ง ต่อไปแล้ว ส่วนฝ่ายตรงกันข้าม เน้นในเรื่องผลงานทางเศรษฐกิจของผู้ออกเสียง เน้นคะแนนนิยมในตัว ส.ส.เน้นการเมืองที่มีผลสำเร็จของการเลือกตั้ง เน้นทางด้านการหาเงินช่วยพรรค ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงเข้าใจดังนั้นจึงมีการสับเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคระดับรองๆ ลงไปอยู่ตลอดเวลา พรรคฝ่ายตรงกันข้ามจึงสามารถ 'ดูด' นักการเมืองให้เข้าพรรคได้มากขึ้นเสมอ เพราะมาอยู่แล้วโอกาสชนะการเลือกตั้งมีสูง ไม่ใช่เพราะเงินอย่างเดียวอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจ

เรื่องที่หก พรรคไม่เคยหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว หวังแต่เพียงเป็นแกนนำของรัฐบาลผสม เมื่อหวังเพียงเท่านี้ก็ทำให้มีทัศนคติว่า ถ้าสามารถทำลายพรรคคู่แข่งไม่ให้ลงมาแข่งในการเลือกตั้งก็พอแล้ว ถ้าพรรครู้จุดอ่อนความสามารถในการสร้างนโยบายใหม่ๆ ไว้ขายกับประชาชน ถ้าคิดไม่ออกก็ขวนขวายหาบริษัทที่ปรึกษาที่ชำนาญการ แต่ก็ไม่มีความพยายามแต่ใช้วิธีสะกดจิตตนเองว่า ตนเองเป็นฝ่ายเทพฝ่ายตรงกันข้ามเป็นฝ่ายมาร แท้จริงในงานการเมืองไม่มีใครเป็นเทพ ไม่มีใครเป็นมาร มีแต่ผู้ชนะกับผู้แพ้การเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสียภาษีอย่างพวกเราน่าจะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะให้แก้ไขปฏิรูปตนเอง เพราะผลการดำเนินงานของพรรคไม่คุ้มกับเงินภาษีที่รับไปจะโกรธจะเคืองอย่างไรก็ไม่ว่าเพราะไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นระบบการเมืองแบบพรรคเดียว ถ้าเมืองไทยเป็นการเมืองพรรคเดียวก็ต้องโทษประชาธิปัตย์ อย่าไปโทษใคร
คิดแล้วอ่อนใจ

1 comment:

  1. อ่านแล้วสะท้อนใจความคคิดหัวก้าวหน้าไม่มีเหลือแล้ว ดูสมาชิกแต่ละคนของพรรคทีออกหน้าจอคำพูดแนวคิดไม่มีนำ้หนัก มีแต่ข้อขัดแย้งไม่มีคำแนะนำวิธีแก่ไข มีแต่ด่าโวยวาย

    ReplyDelete