ปี 2549: วิกฤตการณ์แห่ง “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” และการพังทลายของ “นิติรัฐ”
การวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2549 ในแง่มุมที่ยังไม่มีเอกสารใดนำเสนอต่อสาธารณะมาก่อน เพื่อวิเคราะห์ถึงเหตุแห่งวิกฤติอันนำไปสู่การทำรัฐประหาร19กันยา ผลกระทบทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดจากการรัฐประหารและประเมินสถานการณ์ทางด้านการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้เงาปืนของเผด็จการทหาร เรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548 -กย. 2549 ว่า “วิกฤตการณ์แห่งอำนาจอธิปไตยของปวงชน” เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนผู้ยึดครองอำนาจรัฐหรืออำนาจอธิปไตยด้วยกระบวนการสองด้าน กล่าวคือ
ด้านหนึ่ง ประนาม โจมตี ทำลายความชอบธรรมของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กระทั่งมุ่งหมายปลิดชีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร มุ่งเอาชนะคะคานโดยไม่เลือกวิธีการ
ส่วนอีกด้านหนึ่งพวกเขาใช้ประโยชน์จากความจงรักภักดีของประชาชนไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน ภายใต้ Motto ที่ฟังดูแปลกๆ เช่น “ทวงคืนประเทศไทย” “ทำลายระบอบทักษิณ” “ถวายคืนพระราชอำนาจ” “สู้เพื่อในหลวง” “นายกพระราชทาน ผ่านมาตรา 7” เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป้าหมาย “ทักษิณ..ออกไป” ซึ่งจะทำให้ “กลุ่มอำนาจอื่น” เข้าควบคุม “อำนาจอธิปไตย” ได้ง่ายขึ้น
“กลุ่มอำนาจอื่น” ได้แสดงตนในนาม “คณะปฎิรูปการการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค)” ใช้ภาษีประชาชน 1,000 ล้านบาท เพื่อเติมน้ำมันรถถัง ให้เบี้ยเลี้ยงคนถือปืน จัดหากระสุนดินปืน เพื่อข่มขวัญ คุกคามประชาชนที่อาจคัดค้านพวกตน ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เอากองกำลังอาวุธควบคุมสื่อทีวี และออกประกาศ คำสั่ง ห้ามประชาชนทำในสิ่งที่พวกตนไม่ประสงค์ให้ทำ และคำสั่งให้ประชาชนปฎิบัติตามในสิ่งที่ตนต้องการ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติให้รางวัลแก่ผู้เอาการเอางานต่อต้านระบอบทักษิณ แต่งตั้งองค์กรอิสระปูนบำเน็จแก่นักล่าระบอบทักษิณ แต่งตั้งข้าราชการและคณะรัฐมนตรีเพื่อควบคุมกลไกรัฐทั้งปวงให้อยู่ในความควบคุมของตน อำนาจอธิปไตยที่เคยเป็นของปวงชน อยู่ในเงื้อมมือกองโจรในเครื่องแบบโดยสมบูรณ์ ความเป็นไปของประเทศไทยในทุกๆเรื่องล้วนกำหนดโดย “กลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือเดียว” คณะนี้พวกเขาได้ใช้ภาษีประชาชน 1,000 ล้านบาทเพื่อปล้นอำนาจอธิปไตยของปวงชนเข้าควบคุมกลไกรัฐทุกกระทรวงทบวงกรม รวมรัฐวิสาหกิจ แล้วเข้าบริหารงบประมาณประจำปีอีก 1.5 ล้านล้านบาทโดยใช้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์บริหารประเทศด้วยวลีสั้นๆเพียงวลีเดียวนั่นคือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ปรากฎการณ์เหล่านี้จะเรียกขานเป็นอื่นไม่ได้ นอกจาก “การพังทลายของ นิติรัฐ” นั่นเอง.(ลองเปรียบเทียบกับการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองซึ่ง รัฐใช้งบ 2,000 ล้านเพื่อบริหารการเลือกตั้ง นักการเมืองต้องลงแรงตระเวณหาเสียง ยกมือไหว้ขอคะแนนเสียงจากประชาชน ใช้เงินส่วนตัว เขตเลือกตั้งละไม่เกิน 1 ล้านบาท งบหาเสียงพรรคเฉลี่ยพรรคละ 100 ล้านบาท ประมาณการทั้งสิ้น 6,500 ล้านบาทเป็นส่วนของรัฐ 2,000 ล้าน ส่วนขอฝ่ายการเมืองทุกพรรครวมกัน 4,500 ล้านแต่ คปค.ไม่ใช้เงินส่วนตัวแม้สลึงเดียวเข้าสู่อำนาจรัฐจัดเงินเดือนให้ตัวเองและพรรคพวก ส่งพรรคพวกคุมรัฐวิสาหกิจตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋าและจัดงบประมาณประจำปี อีก 1.5 ล้านล้านบาทจัดเองใช้เอง อนุมัติเอง โดยไร้การตรวจสอบถ่วงดุลย์จากทุกภาคส่วนของสังคม)
1. วิกฤตการณ์แห่งอำนาจอธิปไตย
1.1. สาเหตุแห่งวิกฤติ
1.1.1. โลกาภิวัฒน์มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การได้เปรียบ-เสียเปรียบของข้อตกลงทางการค้า การเคลื่อนย้ายทุน คน สินค้า ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี เป็นไปอย่างเสรี รวดเร็วและสลับซับซ้อน กดดันให้คนทั่วทั้งโลกต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ทั้งกรอบในการรับรู้ การวิเคราะห์ การทำความเข้าใจโลก และการประเมิณคุณค่าใหม่ๆ สถานการณ์โดยรวมก่อให้เกิดเส้นแบ่งใหม่ระหว่างฝ่ายที่ปรับตัวได้กับฝ่ายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ (กลุ่มอนุรักษ์ใหม่ ) ประเด็นหลักของการปรับตัวคือ ยอมรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ อยู่ในฝ่ายที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อการแปรรูปหรือไม่อย่างไร ยอมรับการตกลงการค้าเสรีโดยหลักการหรือไม่ อยู่ในฝ่ายที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อข้อตกลงทางการค้ารายสินค้าหรือไม่อย่างไร กลุ่มคนที่ปรับตัวไม่ได้และเสียประโยชน์จากผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกระทั่งเป็นตัวตั้งตัวตีต่อการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เพราะท่านเน้นยุทธศาสตร์ อยู่ร่วมกับโลกาภิวัฒน์และใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์เป็นสำคัญ
1.1.2. กลุ่มทุนที่ไร้ความสามารถปรับตัวหลังวิกฤติ ทั้งกลุ่มที่เป็น NPL (เช่นผู้จัดการ TPI) กลุ่มที่ไม่มีความสามารถทำกำไรและ/หรือ ขยายกิจการอย่างมีข้อจำกัด ล้วนมีความคาดหวังพึ่งพารัฐและต้องการใช้สิทธิพิเศษฟื้นฟูกิจการของตน เมื่อพึ่งพาและใช้สิทธ์พิเศษไม่ได้ก็หันไปอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล
1.1.3. กลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม ไม่สามารถต่อรองผลประโยชน์จากรัฐได้ตามต้องการก็หันไปอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลและพรรคไทยรักไทยที่ตนเคยสังกัดหรือให้การสนับสนุน(เช่นกลุ่มวังน้ำเย็น และกลุ่มทุนพรรคชาติไทย)
1.1.4. การมีเสียงข้างมากของ ทรท.และสามารถผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้จนประสบความสำเร็จและเป็นที่พอใจของประชาชนจำนวนมาก ทำให้เกิดภาพความเข้มแข็ง ความมีเสถียรภาพ และการควบคุมอำนาจรัฐที่มั่นคง โดยพรรคการเมืองเดียวเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้ก่อให้เกิดความหวาดวิตก แก่กลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่กลัวว่า นายกทักษิณจะอยู่ในอำนาจยาวนานจนยากแก่การเอาชนะได้
1.1.5. อำนาจกลุ่มจารีตนิยมที่ได้รับประโยชน์จากการเมืองที่อ่อนแอดำรงอยู่อย่างยาวนานสูญเสียอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง การวางคนในรัฐวิสาหกิจ สูญเสียความได้เปรียบจากการประมูลและสัมปทานจากรัฐซึ่งหมายถึงสูญเสียการควบคุมสังคมและทิศทางของรัฐเนื่องจากมีรัฐบาลเสียงข้างมากมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งอีกทั้งมีผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงจนเกินไป
1.1.6. นักวิชาการที่เคยมีบทบาทชี้นำทางความคิดและกำหนดทิศทางสังคมไทย ค่อยๆสูญเสียฐานะนำหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 เนื่องจากไม่สามารถเสนอทิศทางและนโยบายสาธารณะที่สามารถแก้วิกฤติได้ และเริ่มมีความหมายน้อยลงภายใต้การบริหารประเทศของนายกฯทักษิณ
1.1.7. อำนาจกลุ่มจารีตนิยม กลุ่มนักวิชาการอนุรักษ์นิยมใหม่ ฝ่ายค้านและเสียงส่วนน้อยที่รวมตัวเป็นพันธมิตรมาตราเจ็ดประเมิณกำลังฝ่ายตนเป็นรอง ทั้งวิสัยทัศน์ การบริหาร ผลงานและความได้เปรียบด้านทรัพยากรอื่นๆจึงหมดหวังจากการต่อสู้ตามระบบและกติกาที่มีอยู่และมองไม่เห็นความได้เปรียบและชัยชนะจากการต่อสู้ในระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสชนะจากการเลือกตั้ง จึงไม่อาจรอคอยให้ให้นายกทักษิณบริหารงานให้ครบตามวาระ
1.1.8. กลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์จากการมีรัฐบาลและพรรคการเมืองเข้มแข็งทั้งทางตรงและทางอ้อมเคลื่อนไปบรรจบกัน อย่างมีการจัดการ ภายใต้สถานการณ์ที่นายกฯและ ทรท.ประเมินความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายตนสูงเกินไป อีกทั้งไม่สามารถขจัดข้อโต้แย้ง ข้อโจมตีได้อย่างทันกาล (การสั่งสมข้อมูลและความรู้สึกด้านลบต่อรัฐบาลมายาวนาน ในประเด็น เอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแทรงสื่อ ทุจริตคอร์รับชั่น เมื่อมีกรณี CTX คอยกัดกร่อนความเชื่อมั่น ศรัทธา และกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นจุดแตกหักจึงเกิดจุดผลิกผันของสถานการณ์ในที่สุด)
1.2. ลักษณะของวิกฤติ
1.2.1. กลุ่มจารีตนิยม กลุ่มนักวิชาการอนุรักษ์นิยมใหม่ ฝ่ายค้านและสื่อมวลชนสร้างกระแสทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเสียงข้างมากโดยแอบอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และมุ่งสร้างสถานการณ์และประเด็นต่างๆเพื่อให้รัฐบาลเผชิญหน้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่มีมูลความจริง
1.2.2. เสียงส่วนน้อยใช้แต่สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แต่บิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกระทั่งละเมิดกฎหมายและกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นอนาธิปไตย และเรียกแนวทางของตนเป็น “Disobedience(อารยะขัดขืน)”
1.2.3. ในกระแสสูงแห่งการต่อต้าน กลไกรัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ทั้งนี้เพื่อควบคุมสถานการณ์มิให้บานปลาย จนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
1.2.4. เสียงส่วนน้อยปฎิเสธสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั่นคือ “การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง” และปฎิเสธอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย โดยการเสนอทางออกด้วยมาตรา 7 และขอนายกฯพระราชทาน ยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่แอบอิงพระราชอำนาจ
1.2.5. มาตรการคว่ำบาตรการเลือกตั้งไม่ว่าจะมุ่งหวังสิ่งใด แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือระบบสังคมสั่นคลอน รวนเร อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเป็นง่อยไป 2 ใน 3 (นิติบัญญัติและบริหาร เหลือแต่ตุลาการ) ในระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้การบริหารประเทศหยุดชะงัก และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ สังคมโดยรวม
1.2.6. อำนาจตุลาการที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ได้ใช้อำนาจและกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีข้อกังขา และมีความเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันตุลาการกับอำนาจนอกระบบที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของที่มาและระบบคานอำนาจของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และได้พิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วหลังการ ยึดอำนาจ 19 กันยา ในกรณีการปูนบำเน็จ ความชอบให้นายจรัล ภักดีธนกุล เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ชาญชัย ประธานศาลฎีกา มาเป็น รมต. กระทรวงยุติธรรม สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำ ว่าหลักการแห่งความเป็นอิสระของศาล ไร้อำนาจใดแทรกแซงอำนาจตุลาการนั้น ล้วนโกหกทั้งสิ้น
1.2.7. กระบวนการแก้ไขปัญหาและคลี่คลายสถานการณ์ของสถาบันตุลาการได้เกิดคำถาม เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยว่า มีที่มาอย่างไร, มีกระบวนการใช้อำนาจที่ถูกต้องเป็นอิสระไร้การแทรกแทรงหรือไม่, มีระบบการคานอำนาจกันอย่างเหมาะสม เช่นอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสาธารณะที่ถูกยกระดับขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 นับเป็นคำถามใหม่ ที่สะท้อนความก้าวหน้า อีกขั้นหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยไทย
1.3. ลักษณะพิเศษของวิกฤตการณ์
1.3.1. วิกฤตการณ์อำนาจอธิปไตยครั้งนี้ มีการอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างอึกทึกครึกโครมเป็นพิเศษ แม้ผู้นำการชุมนุมอย่าง สนธิ ลิ้มองกุลจะพูดจาจาบจ้วงจนปรากฎหลักฐานชัดเจนแต่กระบวนการยุติธรรมกลับเพิกเฉย แม้แต่การรัฐประหารก็ยังใช้เหตุผล 1 ใน 4 ข้อเกี่ยวกับการจาบจ้วงสถาบัน กระทั่งชื่อของคณะรัฐประหารก็ยังต้องต่อท้ายด้วยถ้อยคำ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
1.3.2. กลุ่มบุคคลที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจเผด็จการที่รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรมาตราเจ็ด ได้เปลือยตัวตนและจิตวิญญาณที่กระหายอำนาจ วาสนา และเข้าสู่กลไกอำนาจรัฐโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากมติมหาชน เพราะเขาสามารถเข้าสู่อำนาจโดยรับใช้ถวายตัวต่ออำนาจพิศดาร ภายใต้การสนับสนุนค้ำจุนของกองโจรติดอาวุธที่กระทำการย่ำยีต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน คนเหล่านี้มีที่ทำงานใหม่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์กรอิสระ กระทรวงทบวงกรมสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ และแทรกตัวตามคณะกรรมการชุดต่างๆที่ คมช.แต่งตั้งขึ้น
1.3.3. สื่อมวลชน ซึ่งแต่เดิมเป็นสื่อกลางที่ดำเนินงานภายใต้จรรยาบรรณของสื่อ แต่กลับกลายเป็น กลุ่มพลัง(Pressure Group) ที่มีวาระซ่อนเร้น ซึ่งนำเสนอข่าวสารเพื่อเป้าหมายของตน มากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง และอิงหลักการที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ตรงกันข้าม สื่อมวลชนไม่เพียงแต่ปิดบังข่าวสาร เลือกเฟ้นการเสนอข่าวตามคำชี้แนะเท่านั้น แต่บังอาจที่จะบิดเบือน แต่งเรื่องโดยไม่มีมูลความจริง นำเสนอต่อสาธารณชนอย่างไร้ยางอาย ถือได้ว่าสื่อมวลชนทั้งหลายได้ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ หลังการรัฐประหารสื่อเหล่านั้นต่างได้รับการปูนบำเหน็จ ทั้งให้ตำแหน่งแก่บุคคลากรที่เอาการเอางาน และเปลี่ยนผังรายการเฉือนเวลาวิทยุ-โทรทัศน์มอบให้สื่อเหล่านั้นเป็นสิ่งตอบแทน
1.3.4. นักวิชาการ อีลีตของสังคม จำนวนหนึ่งลงแรงสร้างตรรกะ ประดิษฐ์ถ้อยคำ เสนอวาทะกรรมเพื่อแก้ต่าง สร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหาร โดยละทิ้ง หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยไปเสียสิ้น ราวกับว่าประชาชนไทยไม่เคยรู้มาก่อนว่า หลักาการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยคืออะไร
1.3.5. ความตื่นตัวต่อการต้านรัฐประหาร ยืนยันหลักการประชาธิปไตย รายแรกๆ กลับกลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำอย่างลุง “นวมทอง ไพรวัลย์” ใช้รถแท็กซี่พุ่งชนรถถัง และผูกคอตาย ตั้งใจส่ง Message ต่อเพื่อนร่วมชาติ ผ่านบทกลอน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อคอกลมสีดำที่หุ้มร่างกายโดยปราศจากดวงวิญญาณ อีกทั้งเตรียมการบันทึกเสียงคำอำลา และสั่งเสียให้เผยแพร่ในวันสุดท้ายของงานศพ นับเป็นปรากฎการณ์ทางสังคม ที่สะเทือนความรู้สึกในวงกว้าง และจะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปอีกนานแสนนาน
2. “นิติรัฐ” พังทลาย อำนาจตุลาการสั่งได้
2.1. อาการพังทลายของ “นิติรัฐ” คือลักษณะดังต่อไปนี้
2.1.1. ใช้กองกำลังอาวุธปล้นอำนาจอธิปไตยของปวงชน ยกเลิกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งเป็นวิถีอนารยะ ป่าเถื่อน ไม่ต่างจากการปล้นชิง มิใช่วิถีอารยะที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ
2.1.2. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งร่างโดยคณะเนติบริกรตามคำสั่งของผู้ยึดอำนาจ ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ร่วมของประชาชนทั้งประเทศ
2.1.3. คณะผู้ยึดอำนาจสามารถ จัดตั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติ องค์กรอิสระ ซึ่งก็คือการเข้าควบคุมองคาพยพของรัฐที่สามารถกำหนดความเป็นตายไร้ดีของประชาชนทั้งประเทศ โดยคณะบุคคลที่ใช้อำนาจอาวุธเพียงไม่กี่คน
2.1.4. การออกประกาศ คำสั่งของผู้ยึดอำนาจโดยที่ประกาศคำสั่งนั้นเทียบเท่ากฎหมาย ทั้งที่กระบวนการออกกฎหมายของ “นิติรัฐ” ต้องมาจาฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกตั้งขึ้น นั่นคือความต้องการของคณะผู้ยึดอำนาจ คือกฎหมาย
2.1.5. คณะผู้ยึดอำนาจสามารถ สั่งการและแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรมได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ตำรวจไปถึงศาล นับเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ และความน่าไว้วางใจของกระบวนการยุติธรรม กระทั่งทำให้ศาลไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ ตามหลักการพื้นฐานของ “นิติรัฐ” เมื่อความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม พังทลายลง ก็จะเกิดความโกลาหลในสังคม เช่นเดียวกับความโกลาหลที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้
2.1.6. คณะผู้ยึดอำนาจสามารถตั้งองค์กร แต่งตั้ง ถอดถอน บุคคลให้ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ตามความประสงค์ของตน เช่น คตส. ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆทีกระบวนการตามปกติของ “นิติรัฐ” มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและหลายขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในด้านความเป็นอิสระ ความโปร่งใส และความสุจริต
3. สามเดือนสุดท้ายของปี 2549 พิสูจน์ชัด: อำนาจอธิปไตยในอุ้งมือของ คมช. นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนและไม่สามารถรักษาความมั่งคั่งของประเทศไทยได้ดั่งเดิมแล้ว ยังผลักไสให้ประเทศไทยถอยหลังนับสิบๆปี และมีวิกฤติ นา นา ประการ รอคอยอยู่เบื้องหน้า
3.1. รัฐบาลที่แล้วใช้เวลา 5 ปีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและสร้างความน่าเชื่อถือให้ประเทศไทยยืนอยู่บนเวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก แต่รัฐบาล คมช. ใช้เวลาเพียงข้ามคืน ทำลายความน่าเชื่อถือและศักดิ์ศรีของประเทศไทยไปเสียสิ้น ต่างชาติรุมกันประนามอย่างกว้างขวาง ความภาคภูมิใจของคนไทยถูกทำลายอย่างย่อยยับ
3.2. รัฐบาลที่แล้วใช้เวลา 3 ปีเพื่อเตรียมงานเฉลิมฉลองศิริราชสมบัติครอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเชิญ กษัตริย์จากทั่วโลกเข้าร่วมและเป็นข่าวใหญ่ไปก้องโลก แต่ คมช.ใช้เวลาเพียงข้ามคืน ทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นข่าวพาดหัว สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก
3.3. ผลการดำเนินงานใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2549 มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาผิดต่อ นายกทักษิณและครอบครัวให้ได้ตลอดจนรื้อนโยบายและผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยการคัดลอก ตัดแปะ และเปลี่ยนชื่อโดยหวังให้ผู้คนลืมรัฐบาลที่แล้วโดยเร็ว พร้อมๆกับกีดกันการกลับเข้ามาของ อดีตนายกทักษิณ ทุกวิถีทาง สอง วางกำลังคนของฝ่ายตนเข้าควบคุมกลไกรัฐ ทั้งที่มีอยู่เดิมและตั้งขึ้นมาใหม่ ตลอดจนเข้าควบคุมแหล่งงบประมาณและแหล่งผลประโยชน์ทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์กรหน่วยงานต่างๆ สาม สร้างองค์กรใหม่และขยายองค์กรเดิมเพื่อดูดงบประมาณให้อยู่ในการกำกับดูแลของตน เช่นหน่วยงานใหม่ ของคมช.เพื่อขอใช้งบกว่า 500 ล้านบาท และการเพิ่มอัตรากำลังพล 70,000 อัตราใน กอ.รมน. เป็นต้น ตลอดทั้ง 3 เดือนประชาชนคอยสดับตรับฟังว่า พวกเขาจะนำพาประเทศไปทิศทางไหน ด้วยยุทธศาสตร์ใด แต่ไร้วี่แวว
3.4. เพียง 3 เดือนที่ครองอำนาจ คณะรัฐมนตรีผู้เชี่ยวชาญงานรูทีนทั้งหลาย นอกจากไม่ได้สร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว กลับสร้างเรื่องเลวร้ายขึ้นมากมาย
3.4.1. ใช้เงินภาษีประชาชน 1,000 ล้านบาทเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูของประชาชนทิ้ง คุกคามและริดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนด้วยประกาศคำสั่งตามใจชอบ แต่งตั้งพรรคพวก กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน เข้าเป็นคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ องค์กรอิสระ สภาที่ปรึกษา เข้าควบคุมรัฐวิสาหกิจ และแทรกแทรงในกรรมการชุดต่างๆที่พวกเขาตั้งขึ้น
3.4.2. ความเป็นนิติรัฐที่สังคมไทยพัฒนาขึ้นด้วยสติปัญญา และแลกมาด้วยเลือดเนื้อ ชีวิตของวีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 ต้องพังทลายลง จากการเข้ามายึดอำนาจของ คปค.ครั้งนี้
3.4.3. ใช้เงินภาษีประชาชนจัดตั้งองค์กร คุกคาม และเตรียมการปราบปรามประชาชน โดยเป็นหน่วยงานพิเศษของ คมช. 550 ล้านบาท และเพิ่มกำลังพลใน กอ.รมน.อีก 70,000 ตำแหน่ง เพื่อควบคุมประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ทั้งๆที่ประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าพวกตนยึดอำนาจโดยที่ประชาชนให้การยอมรับทั่วประเทศ
3.4.4. เชิดชูความมีจริยธรรม คุณธรรมของผู้นำสูงส่ง ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีคือเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนที่เขายายเที่ยง และ ประธาน คมช.จดทะเบียนสมรสซ้อน
3.4.5. แก้ปัญหาค่าเงินบาทแต่ทำลายตลาดทุน ทำให้ขนาดตลาดเสียหาย 800,000 ล้านภายในวันเดียวทำให้หุ้นลง 108 จุด ต่างประเทศเทขายไม่หยุด พวกเขาจัดการให้ดัชนีเป็นบวกโดยบังคับให้กองทุนฯ อุ้มซื้อ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในระยะยาว
3.4.6. สรรหาบุคคลเป็นสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีที่มาที่ไป ดำเนินการเลือกสมัชชา ไปเป็น สสร. โดยมีกลิ่นไอของการใช้เงิน เพื่อบล็อคโหวตให้ได้คนตามโผของพวกตน นอกจากไม่สามารถสร้างความชอบธรรมได้แล้ว ยังถูกรุมประนามไปทั่ว
3.4.7. สร้างภาพ วาดหวังให้ผู้คนเชื่อว่า ศอ.บต. มีประสิทธิภาพและมียุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ แต่ปํญหาภาคใต้ ได้ขยายตัวจากเรื่องภายในประเทศกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ และยกระดับจาก เรื่องก่อการวินาศกรรมเป็นเรื่องแยกดินแดนแล้ว ซึ่งสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงทุกวัน
4. ปี 2550: คมช.รัฐบาล สภานิติบัญญัติ องค์กรทีไม่อิสระ และฝ่ายตุลาการใต้เงาปืน จะผ่านด่านทดสอบได้หรือไม่
ตั้งแต่นี้ต่อไป คมช.จะต้องผ่านด่านทดสอบที่สำคัญดังต่อไปนี้….
4.1. ด่านทดสอบ หนึ่ง จริยธรรม คุณธรรม และความพอเพียง ผู้นำ คมช.ทั้งตัวประธาน คมช. นายกรัฐมนตรี และบุคคลในคณะ ซึ่งสร้างภาพให้ประชาชนเข้าใจและรู้สึกว่าตนเป็นผู้นำที่เพรียบพร้อมด้วย คุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง กระทั่งเป็นแบบอย่างอันดีงานของผู้ประพฤติตนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะเป็นจริงเช่นนั้นต่อไปหรือไม่ กรณีการบุกรุกป่าสงวนเขายายเที่ยงของนายกรัฐมนตรี และกรณีจดทะเบียนสมรสซ้อนของ ประธาน คมช.นั้น เป็นเพียงการเผชิญความจริงหน้าด่านทดสอบแรกเท่านั้น
4.2. ด่านทดสอบ สอง ปัญหาภาคใต้แก้ได้หรือขยายตัว การแก้ปัญหาภาคใต้รัฐบาลขิงแก่ ยังแก้ไม่ถูกจุด ล้มเหลวด้านการข่าว เข้าไม่ถึงรังของผู้ก่อการ อ่านยุทธศาสตร์ของผู้ก่อการไม่ออก จัดทำยุทธศาสตร์ผิดพลาด พ่ายแพ้พวกแยกดินแดนในหลายๆยุทธการ แถมยังวางตัวบุคลากรและแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประชาชนไม่ถูกต้อง ทำให้ปัญหาการก่อวินาศกรรม จากจุดเล็กๆเป็นเงื่อนไขให้พวกแยกดินแดนใช้ประโยชน์ไปขยายการก่อการร้ายได้กว้างขึ้น และยกระดับปัญหาให้เป็นการแยกดินแดนและเป็นเรื่องที่เชื่อมกับต่างประเทศ ยิ่งมีสำนักข่าว อัลซาจีร่ามาตั้งอยู่ในมาเลเซีย จะทำให้การเสนอข่าวสารต่อโลกมุสลิมมีความแหลมคมยิ่งขึ้น เมื่อนายกสุรยุทธ์ไปให้สัมภาษณ์สำนักข่าวดังกล่าวโดยที่ไม่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากกว่าความเข้าใจที่ดีขึ้นจะทำให้เหตุการณ์บานปลายยิ่งขึ้น
4.3. ด่านทดสอบ สาม กระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจริงหรือ การออกมาให้ข่าวตั้งข้อหา กล่าวโทษ อดีตนายกทักษิณ ครอบครัว และนักการเมืองคนอื่นๆ ของ คตส. นั้น ถือเป็นพฤติกรรมของผู้ทำงานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง ครองธรรม หรือไม่ ในเมื่อ คตส.เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลหลักฐาน ที่ยังไม่มีการชี้แจงจากผู้ถูกล่าวหา และศาลยังมิได้พิพากษา ไม่เพียงเท่านี้เมื่อเรื่องราวทั้งปวงถูกส่งฟ้องศาลแล้ว อำนาจตุลาการ โดยศาล จะสามารถรักษาความเป็นอิสระไว้ได้หรือไม่ และ ศาลจะสามารถพิสูจน์ว่าไม่มีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจจริงหรือไม่
4.4. ด่านทดสอบ สี่ พิพากษาคดียุบพรรคการเมืองเดินตามธงของผู้มีอำนาจหรือไม่ ปี 2550 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดย คมช. และมีคนใกล้ชิดของ พลเอกเปรม รวมอยู่ในนั้นหลายคน จะต้องพิสูจน์ให้ประชาชน เชื่อมั่นได้ว่า ดำเนินการอย่างสุจริต โปร่งใส ไร้อคติ และที่สำคัญไม่ใช่มีมติพิพากษาไปตามธงของ คมช. หรือ ผู้อยู่เบื้องหลัง คมช.
4.5. ด่านทดสอบ ห้า สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมือง ของประชาชน จะถูกตั้งข้อหาเป็นพวกคลื่นใต้น้ำป่วนเมืองและเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ คมช. กอ.รมน. สันติบาล จะต้องพิสูจน์ว่า การรขอใช้งบ 500 ล้านเพื่อสร้างหน่วยงานใหม่ ให้คมช. และเพิ่อัตรากำลังพล 70,000 นายในกอ.รมน. นั้นเป็นการทำงานเพื่อความมั่นคงของรัฐที่เกิดจากการรุกรานของอริราชศตรูจากต่างประเทศ หรือ การก่อการร้าย มิใช่มีไว้เพื่อ ปราบปราม กดหัว ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านพวกตน และจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจะไม่ใช้งบประมาณก้อนนี้ “สถาปนารัฐทหาร” เพื่อสืบทอดอำนาจของ คมช.และคณะ ไม่ว่า คมช.จะเป็นผู้ออกมาเล่นเองหรือ ส่งตัวแทนออกมาเล่นตามบทที่ตนกำหนด
4.6. ด่านทดสอบ หก ร่างรัฐธรรมนูญโดยตั้งธงและหมกเม็ดหรือไม่ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้นจาก สสร.ที่คัดเลือกแต่งตั้งโดย คมช.นั้น แท้ที่จริงคือปาหี่ และละครโรงใหญ่ ซึ่งเป็น “มุก”ทางการเมืองที่ใช้มาแล้วเมื่อปี 2517 การนำมุกนี้กลับมาใช้อีกในปี 2549 โดยที่โลกเคลื่อนที่ไปในกาแลกซี่ ถึง 32 ปีแล้วนั้น นับเป็นอาการย้ำคิด ย้ำทำ ทางการเมืองไร้เหตุผล แต่เมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้ว สสร. จะต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องดีกว่า หรือดีไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พวก คมช.ฉีกทำลายไป
4.7. ด่านทดสอบ เจ็ด เศรษฐกิจไทยปี 2550 ปลอดภัยหรือสุ่มเสี่ยง
4.7.1. ประชานไม่กล้าจับจ่าย ใช้สอย เพราะความไม่มั่นใจต่ออนาคต อีกทั้งคล้อยตามคำโฆษณาให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง จะทำให้ยอดขายสินค้าตก รัฐเก็บภาษี VAT ได้น้อยลง ผู้ประกอบการยอดขายตก กำไนหด ก็จ่ายภาษีนิติบุคคลได้น้อยลง สินค้าเหล้า บุหรี่ถูกควบคุมอย่างหนักทำให้เก็บภาษีสรรพษามิตรได้น้อยลง จะทำให้รายได้ของรัฐมีแนวโน้มลดลงอย่ามาก จนก่อปัญหาด้านการคลังในปีงบประมาณปี 2551
4.7.2. ประเทศอเมริกาและสหภาพยุโรปชลอการเจราทางการค้ากับไทยและมีแนวโน้มกีดกันการนำเข้าสินค้าจากไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะทำให้โอกาสส่งออกในตลาดใหญ่ๆของไทยหดแคบลง ทำให้เงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศน้อยลง
4.7.3. ค่าเงินบาทยังจะแข็งค่า เนื่องจาก เศรษฐกิจขาลงของอเมริกา ขีดความสามารถ ในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทของ ธปท.มีความจำกัด ยังจะมีผลต่อการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก และจะทำให้ภาคการส่งออกประสบกับความเสี่ยง
4.7.4. ผู้ประกอบการในภาค Real Sector ชลอการลงทุนเพิ่ม กิจการส่งออกถึงขั้นลดกำลังการผลิต และหยุดผลิต ในขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศยืดเวลาการลงทุนออกไป จะทำให้ภาวะการลงทุนในภาค Real Sector หดตัวลง
4.7.5. เมื่อหมดงานพืชสวนโลกกระแสนักท่องเที่ยวจะลดลง และรัฐยังไม่มีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อแสวงหารายได้จากเงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยว จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง
4.8. ด่านทดสอบ แปด แรงงานเพิ่งจบเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1,000,000 ตำแหน่ง ในขณะที่แรงงานปัจจุบัน มีความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เนื่องจากการลดกำลังผลิต และ หยุดการผลิต อีกทั้งไม่มีการขยายกิจการเพิ่ม เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ปัญหาคนว่างงานกลายเป็นปัญหาใหญ่และเป็นภาระของสังคมมากกว่าเป็นพลังสร้างสังคม
4.9. ด่านทดสอบ เก้า สินค้าเกษตรตกต่ำ ประชาชนในภาคการเกษตรจะถูกทอดทิ้ง ขาดการเหลียวแล สินค้าด้านการเกษตร ที่สำคัญ เช่นข้าว ยางพารา และพืชผลอื่นๆ ราคาตกลงอย่างน่าเป็นห่วง ด้านหนึ่งเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท ที่ส่งผลต่อผู้ส่งออก แต่อีกด้านหนึ่งมาจาก ความสามารถด้านการบริหารของผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ จะทำให้เกษตรกรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน และเดินทางเข้าสู่ กรุงเทพเพื่อหารายได้เพิ่ม ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ยากจะคาดการณ์ได้
4.10. ด่านทดสอบ สิบ ปํญหาสังคม ตามมาเป็นพรวน จากปัญหาต่างๆที่กล่าวมา สังคมไทยจะกลายสภาพเป็นแหล่งเพาะพันธ์ความชั่วร้าย นา นา ประการ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การลัก ขโมย การปล้น จี้ชิงทรัพย์ การฉ้อฉลธุรกรรมทางธุรกิจ การปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงหนี้นอกกฎหมาย มือปืนรับจ้าง และการฆาตกรรม ทั้งจากการจ้างวานและจากภาวะความเครียดทางจิตใจ ปัญหาเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นเมื่อระบบนิติรัฐพังทลาย และภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา ประชาชนมองไม่เห็นอนาคตของประเทศและของตนเอง และผู้ทีจะบอกว่า พวกท่านทั้งหลายผ่านด่านทดสอบหรือไม่
คือประชาชนทั้งประเทศ
หาใช่ “อำนาจพิศดาร” ใดๆ ไม่
Tuesday, November 23, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
เมื่ออนาคตมาเร็วกว่าที่คิด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่เสียผลประโยชน์เกิดความหวาดหวั่นจึงลุกขึ้นมาทำลาย หวังที่จะหยุดทุกสิ่งทุกอย่างไว้เช่นเดิม เฮ้อ !!!!มันเป็นความคิด้รัปในสิ่งที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ทั้งๆๆที่เขาสามารถจะเป็นผู้ให้ได้แต่ไม่ทำที่เขาต้องการอ ยิ่งให้ หรือเพียงเปิดกว้างแนวคิด เขาก็จะไดย่างมากมายกว่าที่คิด แต่ทำไมคิดไม่เป็น
ReplyDelete