พื้นฐานความคิดของ ปรีดี พนมยงค์บนบริบทสังคมไทย
ความคิดทางการเมืองนั้นมีความสำคัญมากที่จะใช้ในการศึกษาและอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างถูกหลักวิธีการ ซึ่งวิธีการศึกษาความคิดทางการเมืองมีอยู่ 2 วิธีการ คือ
1 วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง
2 วิธีศึกษาสำนักปรัชญาทางการเมือง
วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง( History of political) เป็นการศึกษาความคิดการเมืองที่ให้ความสำคัญกับ " context" หรือ "บริบท"ซึ่งวิธีการนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่าความคิดทางการเมืองที่เชื่อว่าความคิดทางการเมืองเกิดขึ้นลอยๆไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นจากบริบทสิ่งแวดล้อมที่เรานำมาศึกษาเป็นแนวทางที่ศึกษาความคิดของนักคิดโดยมีความเชื่อหรือปรัชญาขั้นพื้นฐานบางอย่างในสังคม
ความเชื่อของแนวคิดนี้ เชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาลอยๆแต่เกิดขึ้นได้จากการตอบสนองอิทธิพลสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวของคนนั้นๆ เช่น สภาพอากาศ สถานการณ์ทางสังคม/การเมือง การเลี้ยงดูของครอบครัว และการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ ชุมชนที่นักคิดคนนั้นๆอาศัยอยู่ก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมและอื่นๆมากมายไม่ว่าจะเป็นความเป็นชายหญิง นักวิชาการเรียกสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ว่า "Context"หรือ "บริบท" เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวนักคิดคนนั้นๆเวลาเราจะพูดถึงเงื่อนไขสภาพอากาศเราก็เรียกว่าบริบทสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นักวิชาการเชื่อว่าประชาธิปไตยใช้ได้ดีกับประเทศที่มีอากาศหนาวล้มเหลวในประเทศทีมีอากาศร้อน หากเป็นภูมิประเทศเรียกว่าบริบททางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราก็เรียกบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นบริบทที่สำคัญ ทั้งของสภาพของนักคิดนั่นเอง
นักวิชาการให้ความสำคัญกับบริบททางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษเพราะจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจแนวคิดของนักคิกค่อนข้างดี คือ การเน้นสภาพ หรือบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นต้น บริบททางประวัติศาสตร์มีขอบเขตที่กว้างขวางและครอบคลุมมากในสังคมหากกล่าวถึงบริบทก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างแวดล้อมตัวนักคิดตั้งแต่เกิดจนตายซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสำคัญเท่าเทียมกันหมด การก่อเกิดความคิดของนักการเมืองของนักคิดคนนั้นๆ เช่นเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักคิดเท่านั้นที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวเขา เช่น ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งบางคนเชื่อว่าการอภิวัฒน์สังคมไทยเป็นผลมาจากนายปรีดีไปใช้ชีวิตเรียนต่อที่ฝรั่งเศสซึ่งนำแนวคิดมาใช้ในสังคมไทยค่อนข้างมากซึ่งสะท้อนผ่านงานเขียน คือ รัฐธรรมนูญสยามฉบับแรก
เราอาจถือได้ว่าบุคคลที่มีส่วนในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองแบบรัฐสภา ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งนั้นบุคคลที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างยิ่งคือ ปรีดี พนมยงค์ นอกจากมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ปรีดี ยังถือว่าเป็นนักคิดที่สร้างแนวคิดแปลกใหม่แก่สังคมไทย และมีผลต่อการพัฒนารูปแบบการปกครอง การคิด รวมทั้งการอธิบายสังคมไทยอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งก่อนที่เราจะลงในรายระเอียดถึงความคิด หรือ แนวคิดของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อแนวคิดทางการเมืองไทยนั้นก่อนอื่นเราจะมาทำความเข้าใจภูมิหลังของ ปรีดี พนมยงค์ ก่อน เพื่อทำความเข้าใจ และเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ บริบท (Context) แวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในประเด็นต่อ ๆ ไปที่จะกล่าวถึง
นายปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อนางลูกจันทร์ บิดาชื่อนายเสียง เป็นจีนแต้จิ๋ว เชื้อสายทางปู่นับเนื่องเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสิน ทางย่านั้นสืบเชื้อสายจากพระนมของกษัตริย์อยุธยาที่ชื่อว่า ประยงค์ ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ข้างกำแพงพระราชวัง ต่อมาเรียกกันว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์นั่นเอง ครั้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุลในปี พ.ศ. 2456 จึงได้ใช้ พนมยงค์ เป็นนามสกุลของตระกูล สำหรับนายเสียงบิดานายปรีดีนั้นภายหลังแต่งงานกับนางลูกจันทน์แล้ว มีผู้แนะนำให้สมัครรับราชการเพราะมีพื้นฐานความรู้ทางหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีพอสมควร สามารถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนได้ และมีฝีมือในศิลปะดนตรีไทย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ กล่าวได้ว่านายเสียงเป็นปัญญาชนนายทุนน้อยคนหนึ่งในยุคนั้น แต่นายเสียง ชอบชีวิตอิสระ รักการผจญภัย ไม่นิยมทำอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบรรพบุรุษและไม่สนใจสมัครรับราชการ แรกทีเดียวนั้นนายเสียงได้ไปทำป่าไม้ในบริเวณพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ซึ่งขณะนั้นมีไข้ป่าชุกชุม แต่เมื่อผจญกับโรคภัยไม่ไหว นายเสียงจึงจำต้องเลิกล้มกิจการป่าไม้ด้วยการขาดทุนเป็นอันมาก ต่อมานายเสียงกับนางลูกจันทน์ภรรยาได้ไปทำนาที่ตำบลท่าหลวง จังหวัดสระบุรี แต่เนื่องจากฝนแล้งติด ๆ กันสองปี การทำนาไม่ได้ผล ต้องเป็นลูกหนี้ผู้อื่น จึงเลิกการทำนาในพื้นที่นั้น แม้จะประสบความล้มเหลวนายเสียงก็ไม่ย่อท้อ ไม่ล้มเลิกอาชีพชาวนา ได้ไปหักร้างถางพงที่ว่างเปล่าในท้องที่ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยนั้นท้องที่บริเวณดังกล่าวมีช้างป่าจำนวนมาก นายเสียงต้องผจญกับช้างที่มารบกวนกินต้นข้าว ประกอบกับการทำนาไม่ได้ผล เพราะฝนแล้งบ้าง หรือบางปีมีน้ำท่วมมากบ้าง อีกทั้งมีเพลี้ยชุกชุมทำลายต้นข้าวเสียหาย เมื่อผลผลิตไม่ดี นายเสียงก็ไม่มีรายได้จากการขายข้าว มิหนำซ้ำ ต่อมาบริษัทขุดคลองคูนาสยามซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทำการขุดคลอง ได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินของนายเสียง และเรียกเก็บ "ค่ากรอกนา" หรือค่าขุดคลองจากนายเสียงในอัตราไร่ละ 4 บาท นายเสียงไม่มีเงินพอจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายให้บริษัท ทำให้นายเสียงซึ่งมีหนี้สินอยู่ก่อนแล้วกลับมีหนี้สินท่วมท้นมากขึ้น ฐานะของนายเสียงได้เปลี่ยนจากนายทุนน้อยในเมืองมาเป็นชาวนาผู้มีทุนน้อยในชนบท มีความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสนเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งโครงการชลประทานป่าสักใต้ของรัฐบาลได้ขยายไปถึงบริเวณที่นาของนายเสียงจึงทำให้ผลผลิตข้าวดีขึ้น ช่วยพยุงให้นายเสียงกลับฟื้นเป็นชาวนา "ผู้มีอันจะกิน" ในเวลาต่อมา
นายปรีดีเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก พอเริ่มจำความได้ก็ได้รับรู้และได้รับผลกระทบจากความผันผวนในชีวิตของบิดามารดาซึ่งประสบชะตากรรมอย่างชาวนาทั่วไปในชนบทภาคกลางสมัยนั้น การถือกำเนิดในครอบครัวชาวนานี้เอง เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมเบื้องแรกที่ฟูมฟักให้นายปรีดีมีจิตสำนึกเห็นอกเห็นใจคนยากจน และอาจกล่าวได้ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้น หรือ แรงผลักดันที่สำคัญที่ก่อให้เกิด แผนพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง ที่ถูกมองว่ามีความเป็นคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมานั่นเอง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้นั้น จะได้กล่าวลงในรายละเอียดในหัวข้อต่อไปข้างหน้าเพื่อทำความเข้าใจถึงแนวคิดทางการเมืองไทยของปรีดีอย่างเข้าใจนั่นเอง ช่วงวัยเด็ก ที่จะเริ่มต้น หรือเป็นช่วงต่อ หรือ ส่งผ่านเข้าสู่วัยของการศึกษาของปรีดี พนมยงค์ ช่วงนั้นสยามกำลังอยู่ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน กล่าวคือ ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังคืบคลานเข้ามารอบด้าน สยามได้สูญเสียเอกราชทางการค้าจากการถูกบังคับเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง สูญเสียดินแดนบางส่วน ตลอดจนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อาชีพชาวนานั้นประกอบไปด้วยความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างยิ่ง ได้เรียนโรงเรียนมัธยมในกรุงเก่านั้นเอง เห็นเพื่อนชาวจีนตัดหางเปียทิ้ง และได้รับคำอธิบายว่าที่เมืองจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2454 การตัดหางเปียเป็นสัญลักษณ์ของการมีอิสรภาพ และมีอนารยะทัดเทียมชาวตะวันตก ครูที่โรงเรียนก็เล่าเพิ่มเติมว่า ในโลกนี้ เหลือเพียง จีน รัสเซีย และสยาม เท่านั้น ที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ และล้วนแต่เป็นประเทศล้าหลัง แต่ขณะนั้นระบอบนี้ในจีนได้ถูกล้มล้างไปแล้ว หลังจากจบมัธยมหก ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบหกเดือน ก่อนจะกลับมาช่วยที่บ้านทำนาเป็นเวลาหนึ่งปี และกลับไปเรียนในโรงเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรม ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2460) ที่นายทหารกลุ่มหนึ่งเตรียมยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ความลับรั่วไหล จึงถูกจับเสียก่อน ถัดมาอีกปีก็มีเหตุการณ์กลุ่มบอลเชวิคได้ยึดอำนาจจากพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย ระหว่างที่ศึกษาวิชากฎหมายอยู่นี้ นายปรีดีพบว่ากฎหมายหลายฉบับที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขต ที่ให้สิทธิชาวต่างชาติเหนือชาวสยาม หรือกฎหมายที่ปฏิบัติกับเจ้าและไพร่แตกต่างกัน พร้อมกันนั้นก็ได้ศึกษา ติดตามความเป็นไปเกี่ยวกับบ้านเมือง และตั้งปณิธานว่าจะก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ แม้ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม
ในปีพ.ศ. 2462 จึงสอบไล่ได้เนติบัณฑิต แต่เนื่องจากอายุยังน้อย คือ 19 ปี จึงยังไม่ได้เป็นผู้พิพากษา ปีรุ่งขึ้นจึงได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ปารีสในยุคนั้นอบอวลไปด้วยแนวคิดทฤษฎีการเมืองแบบใหม่ นักปฏิวัติหรือนักคิดทั้งหลายล้วนเคยมาใช้ชีวิตอยู่ในปารีสช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซ์ เลนิน เองเกลส์ เติ้งเสี่ยวผิง โจวเอินไหล โฮจิมินห์ เป็นต้น นายปรีดีศึกษาจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส ในปี พ.ศ. 2469 และสอบได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐกิจ จากภูมิหลังด้านการศึกษาของปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวมาแล้วนั้นชี้ให้เราเห็นถึงความสามารถ และความพยายามในการศึกษาของปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างมาก แต่ที่เหนือกว่านั้นแล้ว สิ่งที่เกิดหรือเป็นผลจากการศึกษาดังกล่าวก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบคิดของปรีดี พนมยงค์ เอง กล่าวคือ ทำให้เขาสามารถมีความคิดที่กว้างขวางรอบด้านขึ้นทั้งยังเป็นสถานที่ หรือ สังคม ที่หล่อหลอมให้ปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดริเริ่มในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพื่อความก้าวหน้า หรือเพื่อสิ่งที่ดีกว่า จะเห็นได้จากเริ่มมีการประชุมกันในฝรั่งเศสเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวนี้ ซึ่งในรายระเอียดนั้นผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปในรายระเอียดในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ เหตุการณ์ 2475 ต่อไปนั่นเอง ความคิดพื้นฐานด้านสังคม หรือ รูปแบบของสังคมในอุดมคติของ ปรีดี พนมยงค์ นั้นอาจถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ยึดติด หรือ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่อง โลกพระศรีอาริย์ เป็นอย่างมากกล่าวคือ สังคมพุทธในสยามให้ความสำคัญกับโลกพระศรีอาริย์มาก แม้ว่าจะเป็นโลกอุดมคติแบบจินตนาการก็ตาม สมัยก่อนเวลาพระภิกษุจะแสดงพระธรรมเทศนาทุกครั้ง ท่านจะต้องบอกศักราชว่าอีกกี่ปีจึงจะเข้าสู่ยุคศาสนาพระศรีอาริย์ชาวพุทธเมื่อทำบุญก็ตั้งปรารถนาให้ได้พบโลกพระศรีอาริย์ แม้เวลาสาบานในโรงศาล แต่ก่อนก็ยังกล่าวว่าถ้าให้การตามความเป็นจริงแล้วก็จะพบศาสนาพระศรีอาริย์ และในกฎหมายตราสามดวงของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังบัญญัติให้ชาวสยามทุกคนบำเพ็ญศีล เพื่อจะได้เห็นพระศรีอาริย์ อย่างไรก็ตาม โลกพระศรีอาริย์ที่ชาวพุทธสยามทั่วไปเข้าใจกันนั้น คือโลกอุดมคติที่รออยู่ในชาติหน้าเมื่อพุทธศาสนายุกาลผ่านไปแล้ว 500 ปี แต่สำหรับปรีดี พนมยงค์นั้น โลกพระศรีอาริย์นั้นเป็นสังคมอุดมคติที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงได้ในยุคปัจจุบันด้วยสติปัญญาและความเพียรพยายามของมนุษย์เอง ความทรงจำ หรือ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์นั้นมีอยู่ว่า "นับตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กมีความจำได้ก็ได้ยินพระภิกษุสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังและอ้างถึงบ่อย ๆ ว่ามี ‘พุทธทำนาย’ ไว้ว่า ในปลายพุทธศาสนายุกาล มนุษยชาติจะเข้าสู่มิคสัญญีเพราะศีลธรรมเสื่อมทรามลง จึงมีแต่การรบราฆ่าฟันและเบียดเบียนกัน สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้น... ไฟบรรลัยกัลป์จะล้างโลกที่โสมม ครั้นแล้วยุคใหม่คือ ‘ยุคศรีอารยเมตไตรย’ ก็จะอุบัติขึ้นในยุคใหม่มนุษยชาติจะอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาปราณีระหว่างกัน บุคคลจะเสมอเหมือนกัน... ความสะดวกสบายในการคมนาคมและความอุดมสมบูรณ์ของชีวะปัจจัยก็หลั่งไหลเหลือคณานับประดุจว่ามีต้นกัลปพฤกษ์ทุกมุมเมือง ซึ่งมนุษย์อาจถือเอาได้ตามความต้องการ" (ปรีดี พนมยงค์ ความเป็นอนิจจังของสังคม) ไม่อาจละเลยได้ว่าจินตนาการโลกพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นยูโทเปียแบบพุทธ นั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปรีดีกล้าเอาชีวิตเข้าแลกทำการเปลี่ยนแปลงสังคมเก่าไปสู่สังคมใหม่ที่ผู้คนมีความเท่าเทียมกันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเสมือนโลกพระศรีอาริย์ที่สามารถเข้าถึงได้ในพุทธศตวรรษนี้ แรงบันดาลใจในวัยเด็กดังกล่าว แสดงออกอย่างชัดเจนในตอนท้ายของ "คำประกาศของคณะราษฎร" ฉบับที่ 1 ซึ่งแถลงในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ว่า "สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอาริยะ นั้นก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า" นั่นเอง อันที่จริงแล้ว โลกพระศรีอาริย์ คือภาพสัญลักษณ์ของสังคมอุดมคติ ที่นายปรีดีใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งได้แปรมาเป็นรูปธรรมตามที่เสนอไว้อย่างเป็นวิชาการใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ (หรือสมุดปกเหลือง) เมื่อเดือนมีนาคม 2476 ซึ่งเป็นร่างแผนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของไทย ได้กล่าวถึงอุดมการณ์เชิงสัญลักษณ์โลกพระศรีอาริย์อีกครั้งในตอนท้ายสมุดปกเหลือง เพื่อย้ำเตือนเพื่อน "ผู้ก่อการ" ต้องมิให้หลงลืมสัญญาประชาคม ที่จะนำราษฎรไปสู่ความสุขสมบูรณ์นั่นเอง นอกจากนี้แล้วความคิดเกี่ยวกับโลกพระศรีอาริย์ ของปรีดี พนมยงค์นี้นั้นยังได้ส่งผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ด้วย กล่าวคือ แม้ว่าหากเราพิจารณาในเบื้องต้นนั้นจะเห็นได้ว่า แนวทางเศรษฐกิจสังคมที่ปรีดี พนมยงค์ เสนอไว้ในสมุดปกเหลือง จะเป็นสังคมนิยมแนวตะวันตกแต่ก็อาศัยหลักธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธเป็นพื้นฐาน อันได้แก่หลัก สาราณียธรรม ซึ่งประกอบด้วย ความเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน และหลักสาธารณโภคี คือการเฉลี่ยแบ่งปันเศรษฐทรัพย์และโภคทรัพย์ให้ได้ใช้สอยภายในชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามในรายระเอียดนั้นขอให้ท่านผู้ศึกษาได้ศึกษาในรายระเอียดในหัวข้อดังกล่าวนี้ ที่จะกล่าวต่อไปในหัวข้อที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ หรือ ที่เกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจ / สมุดปกเหลือง ในหัวข้อต่อไป สิ่งที่กล่าวมาดังกล่าวนี้นั้นอาจกล่าวให้เห็นถึงบริบท (Context) ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลง และความคิดทางการเมืองด้านอื่น ๆ ของปรีดี พนมยงค์ ได้พอเข้าใจ และทราบถึงสาเหตุความคิดของปรีดี พนมยงค์ ได้บ้างพอสมควร นอกจากนั้นแล้วคงพอให้สามารถรู้ถึงสิ่งที่เป็นเป้าหมายของความคิดของปรีดี พนมยงค์ได้อย่างถูกต้องแม่นตรง เพื่อการหลุดพ้นจากกรอบการตีความของรัฐไทยที่ผิดพลาดต่อแนวคิดต่าง ๆ ของปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นบุคคลที่ก่อคุณประโยชน์อย่างมากมายหลายด้านต่อสังคมไทย รวมทั้งได้สร้างแนวคิดที่มีประโยชน์หลายอย่าง หลายแนวทางในสังคมไทย ซึ่งในรายระเอียดต่าง ๆ นั้นดังจะได้กล่าวลงในรายระเอียดต่อไปข้างหน้านั้นนั่นเอง
Saturday, November 6, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment