Saturday, November 13, 2010

การเมืองภาคประชาชนจะเข้มแข็งได้อย่างไร ?

การเมืองภาคประชาชนจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อต่อสู้หรือกระทำภารกิจที่ท้าทาย ข้อเสนอแนะภารกิจที่ท้าทายต่อการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน ๘ ประการดังต่อไปนี้

๑.ขจัดคอร์รัปชั่น
คอร์รัปชั่นจะกัดกินสังคมไทยไปอีกนาน เหมือนมะเร็งร้ายที่นำความตายมาให้สังคมไทย อาจไม่ฟื้นตัวอีกนานหลังทักษิณไปแล้ว ที่ฟิลิปปินส์ มาร์กอสจากไปแล้ว ๒๐ ปี ก็ยังไม่ฟื้น ฉะนั้น การเมืองภาคพลเมืองจะต้องรณรงค์ขจัดคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบ

คนเก่งๆ ในการสืบสวนสอบสวนคอร์รัปชั่นควรจะมารวมตัวกันเป็น ปปช.ภาคประชาชน การสืบสวนสอบสวนโดยนักวิจัยและสื่อมวลชนจะต้องเข้มแข็ง ต้องมีทุนสนับสนุนกระบวนการขจัดคอร์รัปชั่น

๒.ปฏิรูปการเมืองเพื่อขจัดธนกิจการเมือง และสรรค์สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

สังคมไทยได้บทเรียนอย่างเจ็บปวดว่าเมื่อทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง ทำให้สังคมไทยเสียดุลอำนาจอย่างใหญ่หลวงและนำไปสู่ความไม่ถูกต้องต่างๆ รวมทั้งสร้างความแตกแยกที่คนไทยเกือบจะฆ่ากันเอง ฉะนั้นต้องหาทางขจัดธนกิจการเมืองให้ได้ และสรรค์สร้างประชาธิปไตยที่แท้ให้เกิดขึ้นให้จงได้ ต้องคำนึงถึงว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น และการเมืองไม่ได้มีแต่การเมืองของนักการเมืองเท่านั้น แต่มีการเมืองของพลเมืองด้วย

๓.พัฒนาระบบการสื่อสารที่ทำให้คนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง

ในสังคมที่ซับซ้อนถ้าคนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง จะช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น การเมืองภาคประชาชนจะเข้มแข็งถ้ามีการสื่อสารที่ดี เผด็จการจะต้องการควบคุมและแทรกแซงสื่อ ทุนนิยมอนาริยะต้องการใช้สื่อเพื่อมอมเมาประชาชน

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการใช้อำนาจรัฐและอำนาจเงินอันมหึมา ทำการตลาดและสร้างภาพ ก่อให้เกิดมิจฉาทิฐิขึ้นในสังคมไทยเป็นอเนกประการ อันเป็นบาปยิ่งนัก เพราะทำให้ทิฐิและวิธีคิดบิดเบี้ยว ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปอย่างกว้างขวางและยาวไกล ทั้งๆ ที่มาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้คลื่นเพื่อการสื่อสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด แต่ก็ขาดความจริงใจของรัฐบาลและเอาไปแสวงประโยชน์กันจนเละ การเมืองภาคประชาชนต้องขับเคลื่อนให้ระบบการสื่อสารเป็นอิสระและมีประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด
๔.ปักธงแห่งอหิงสธรรมบนผืนแผ่นดินไทยให้จงได้


ใน ๕ ปีที่ผ่านมามีการคิดอย่างรุนแรง พูดอย่างรุนแรงก้าวร้าวด้วยโทสจริต และการกระทำอย่างรุนแรง เช่น ฆ่าตัดตอน อุ้มฆ่า จนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกโพลนขยายตัวและแก้ไขไม่ได้ สังคมไทยคิดอย่างรุนแรงและแตกแยกอย่างไม่เคยมีมาก่อน แผ่นดินเดือดเพราะผู้มีอำนาจเต็มไปด้วยโทสจริต ขาดวจีสุจริต และส่งเสริมการใช้ความรุนแรง การเมืองภาคพลเมืองควรขับเคลื่อนสันติวิธี ด้วยการคิด พูด ทำ อย่างสันติ สร้างความสมานฉันท์ปรองดอง ปักธงแห่งอหิงสธรรมบนผืนแผ่นดินไทยให้จงได้

๕.สร้างสัมมาอาชีวะ และเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นพื้นฐานของประเทศ

สัมมาอาชีวะเป็นพื้นฐานทางศีลธรรมของสังคม
มิจฉาอาชีวะทำให้สังคมเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า การพัฒนาประเทศจะเอาเงินเป็นตัวตั้งไม่ได้ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม สัมมาอาชีวะหมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ถ้ามีสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่ ศีลธรรมจะเป็นปรกติธรรมดาของสังคม เศรษฐกิจดี และราษฎรมีความร่มเย็นเป็นสุข

ขณะนี้ลองดูให้ดีๆ มีมิจฉาอาชีวะเต็มไปหมด แล้วสังคมจะเป็นสุขได้อย่างไร การเมืองภาคประชาชนควรรณรงค์ให้สัมมาอาชีวะและเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของประเทศ

๖.ปฏิรูปการศึกษาให้เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง

ใน ๕ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลตีประเด็นการศึกษาไม่แตก แม้พยายามเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปหลายคนแล้ว ระบบการศึกษาในรอบร้อยปีเศษที่ผ่านมาทำให้สังคมไทยอ่อนแอทุกๆ ประการ เพราะเป็นการศึกษาที่เอาวิชา (ในตำรา) เป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตจริงและปฏิบัติจริงเป็นตัวตั้ง ทำให้คนไทยแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ แปลกแยกจากสิ่งแวดล้อม ทำงานไม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น และจัดการไม่เป็น

มนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดในฐานวัฒนธรรม วัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนอันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ

ทุกคนมีความรู้อยู่ในตัว อันได้มาจากการทำงานและประสบการณ์ชีวิต แม่ของเราทุกคนเป็นครูที่ดีที่สุดของเรา ไม่ว่าท่านจะมีปริญญาใดๆ หรือไม่ เพราะท่านมีความรู้ในตัวที่ได้มาจากการทำงานและประสบการณ์ชีวิต ความรู้ในตัวคนเกิดมาจากฐานทางวัฒนธรรม

ในขณะที่ความรู้ในตำรามีน้อยคนที่เก่ง คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีศักดิ์ศรี ความรู้ในตัวคนทุกคนมีในทางที่ต่างๆ กัน ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน ทุกคนจะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีศักยภาพ

การศึกษาที่ถูกต้องควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตและวิถีชีวิต นั่นคือศึกษาจากชีวิตจริง ปฏิบัติจริง และเคารพความรู้ในตัวคน แต่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวประกอบ หรืออีกนัยหนึ่งเอาวัฒนธรรมเป็นฐานและเอาตำราเป็นตัวประกอบ

การศึกษาทุกวันนี้เอาตำราเป็นตัวตั้ง และทิ้งฐานวัฒนธรรมไปเลย การศึกษาแบบนี้นำไปสู่ปัญหานานาประการและวิกฤตการณ์ทางสังคม รวมทั้งสภาพไร้ศีลธรรมและการเกิดความรุนแรงด้วย

ถ้าตีประเด็นแตกในเรื่องการศึกษาที่เอาวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตเป็นฐานและเอาตำราเป็นตัวประกอบ ประเทศจะเข้มแข็งขึ้นทุกๆ ทาง

๗.การรักษาดุลยภาพกับต่างประเทศ

ต่างประเทศที่มีทุนมากกว่า มีความชำนาญมากกว่า จะรุกเข้ามาเอาเปรียบเราด้วยประการต่างๆ อย่างยากที่จะต้านทานได้ และถ้าไม่ระวังให้ดีทุนต่างชาติก็จะมายึดครองทรัพยากรต่างๆ ของเรามากขึ้นๆ คนไทยจะต้องทำงานหนักเหมือนวัวเหมือนควาย โดยนายทุนทั้งไทยและเทศเอาผลประโยชน์ไปหมด การคบค้าแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศเป็นของควรทำ แต่ต้องโดยรักษาอัตลักษณ์และดุลยภาพของเราไว้ได้

ในการนี้ต้องการพลังจิตสำนึก - พลังทางสังคม - และพลังทางปัญญา สูงมาก ลำพังรัฐอย่างเดียวหรือประชาชนอย่างเดียวไม่มีทางปกปักษ์รักษาตัวเราจากอิทธิพลของทุนมหึมาข้ามชาติได้ ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างรัฐ (ที่ดี) กับประชาชนเป็นรัฐประชาสมาสัย หรือประชารัฐ ดังในเพลงชาตินั่นแหละ จึงจะรักษาอัตลักษณ์และดุลยภาพของเราไว้ได้

๘.“แก้วสารพัดนึก” ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง

ที่กล่าวมาทั้ง ๗ ประการข้างต้นไม่มีทางทำได้สำเร็จถ้าปราศจากข้อ ๘ การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ คือ “แก้วสาระพัดนึก” เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทุกอย่างทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ - จิตใจ - ครอบครัว -ชุมชน - สังคม - วัฒนธรรม - สิ่งแวดล้อม - สุขภาพ และเป็นประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์และประชาธิปไตยโดยตรง ไม่เหมือนประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งซื้อเสียง

การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำจะทำให้อบอุ่นไม่ว้าเหว่มีความสุข เพราะมีความเสมอภาคและภราดรภาพ ร่วมคิดหมายถึงการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ร่วมทำคือสามัคคีธรรม การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นการที่ทรงพลานุภาพมาก

ถ้าส่งเสริมให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ประเทศจะมีพลังของความถูกต้องมหาศาล การเมืองแบบซื้อเสียงจะถูกจำกัดหรือขจัดให้หมดไป

ภารกิจ ๘ สร้างเคลือข่ายหรือ แนวร่วม ประชาธิปไตย
ประการดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ ประเทศไทยจะไม่พ้นวิกฤต ฝากเพื่อนคนไทยทุกคนช่วยกันพิจารณา การเมืองภาคประชาชนไม่ควรมีแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีแกนนำทั้งห้านั้นเท่านั้น

ควรจะมีกลุ่มและเครือข่ายอันหลากหลายเต็มประเทศ เช่น เครือข่ายสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายครูเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ

No comments:

Post a Comment