Friday, November 12, 2010

ระบบลูกขุนไม่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย?

ชื่อบทความเดิม: ศาลยุติธรรม: ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม
ตอนที่ 4 ระบบลูกขุนไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทย?
ประเวศ ประภานุกูล

ระบบลูกขุนคืออะไร
ระบบกฎหมายที่ใช้ในโลกนี้ทั้งหมดแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ คอมมอนลอว์ หรือกฎหมายจารีตประเพณี หรือกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กับ กฎหมายลายลักษณ์อักษร

ประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตที่สำคัญคือ อังกฤษ อเมริกา ปัจจุบันนี้ได้ยินว่า ญี่ปุ่น ซึ่งใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกับบ้านเราก็ใช้ระบบลูกขุนด้วยแล้ว

อเมริกาปกครองแบบสหรัฐ หมายถึง รัฐ หลายๆ รัฐมารวมกันเกิดเป็นรัฐใหม่ อเมริกาจึงเหมือนมี 2 รัฐอยู่ภายในรัฐเดียวกัน รัฐสภาจึงประกอบด้วย 2 สภา สภาผู้แทนเลือกตั้งผู้แทนตามจำนวนประชาชน สภาซีเนท หรือที่บ้านเราเรียกวุฒิสภา เป็นผู้แทนของแต่ละมลรัฐ สภาซีเนทของอเมริกาจึงมีอำนาจสูงกว่าสภาผู้แทน ในส่วนของศาลก็มี 2 ศาล คือ ศาลของสหรัฐกับศาลของมลรัฐ แม้จะมี 2 ศาลแต่ถือว่าเป็นระบบศาลเดี่ยว การมีศาล 2 แบบเป็นเพียงการแบ่งหน้าที่เท่านั้น ศาลฎีกาของสหรัฐเป็นผู้ตัดสินว่า การกระทำ หรือกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐมาจากประธานาธิบดีเสนอชื่อให้สภาซีเนทพิจารณา ถ้าซีเนทรับรองก็ผ่าน แต่ถ้าไม่รับรองก็ตกไป ประธานาธิบดีต้องเสนอชื่อคนใหม่และคนที่ประธานาธิบดีเสนอก็มักจะเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น อาจารย์กฎหมายของมหาวิทยาลัย คนที่ได้รับคัดเลือกอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต ถือได้ว่าผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

ส่วนศาลของมลรัฐเท่าที่ทราบมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในมลรัฐนั้นๆและอยู่ในตำแหน่งตามวาะ แต่ไม่นานมานี้มีคนบอกว่าอเมริกาได้เปลี่ยนระบบเป็นให้ลงมติรับรองหรือไม่รับรอง

หากเปลี่ยนจากการเลือกตั้งมาเป็นลงมติรับรองหรือไม่รับรองจริงก็หมายความว่าจะต้องมีระบบคัดกรองคนเพื่อเสนอชื่อให้ประชาชนลงมติ

ไม่ว่าอย่างไรก็ยังถือได้ว่า ที่มาของผู้พิพากษาในอเมริกามีส่วนเชือมโยงกับประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดสรรบุคคลมาใช้อำนาจสูงสุด 1 ใน 3 อำนาจตุลาการ

ส่วนลูกขุนในอเมริกามาจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยจะจัดทำบัญชีรายชื่อลุกขุนจากผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลก็จะนำบัญชีนี้มาใช้เลือกคณะลูกขุน โดยเลือกตามลำดับไปโดยคู่ความไม่รู้รายชื่อล่วงหน้ามาก่อน แต่คู่ความมีสิทธิค้านลูกขุนได้ตามจำนวนครั้งที่กำหนด เช่น อาจให้ค้านได้ฝ่ายละ 3 ครั้ง หรือ 3 คน คนที่ถูกค้านจะตกไป เลื่อนคนในบัญชีอันดับถัดไปขึ้นมาแทน

จำนวนลูกขุนจะถูกกำหนดตามกฎหมายของแต่ละมลรัฐไม่เท่ากัน ระหว่าง 8 -12 คน แต่ส่วนใหญ่จะมีจำนวน 12 คน

เมื่อคัดเลือกคณะลูกขุนได้แล้ว คณะลูกขุนทั้งหมดจะถูกเก็บตัวทันที ห้ามติดต่อกับโลกภายนอกทุกรูปแบบไม่ว่าจะโทร. จดหมาย หรือคนภายนอกคณะลูกขุน ต้องพักในโรงแรมที่รัฐจัดให้จนกว่าจะพิจารณาคดีเสร็จ ดังนั้นคนที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นคณะลูกขุนจึงต้องเตรียมกระเป๋าเสื้อผ้ามาด้วย

เมื่อได้คณะลูกขุนครบถ้วนแล้วก็จะเริ่มการพิจารณาคดีสืบพยานทันที และจะสืบพยานต่อเนื่องไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จและคณะลูกขุนลงมติพิพากษาคดีแล้วจึงถือว่าเสร็จคดี แต่ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเพื่อแยกประเด็นข้อโต้แย้งและเตรียมพยานหลักฐานมาแล้ว ไม่ใช่ว่าพอโจทก์ยื่นฟ้องและจำเลยให้การปฏิเสธก็ส่งคดีเข้าขั้นตอนนี้เลย

คณะลูกขุนจึงเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ประชาชนที่ทำหน้าที่พลเมืองดีด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ในการสืบพยานในศาล ผู้พิพากษาจะเป็นคนควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย และการสืบพยานในศาลของอเมริกาจะให้การบันทึกเทปโดยมีเจ้าหน้าที่ถอดเทปแบบคำต่อคำ

ต่างจากบ้านเราที่ผู้พิพากษาเป็นผู้บันทึกด้วยการสรุปคำพูดของพยานเอง ซึ่งมักจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งกับทนาย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้พิพากษาไม่บันทึกคำให้การของพยาน

หลังจากสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จ คณะลูกขุนจะประชุม(ลับ)เพื่อลงมติตัดสินคดี โดยลงมติผิดหรือไม่ผิดเท่านั้น ไม่มีการให้เหตุผล

มติของคณะลูกขุนที่จะตัดสินไปในทางใดต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด บางมลรัฐอาจกำหนด 10-2 แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นเสียงเอกฉันท์ ในบางครั้งที่เสียงแตกจึงอาจเห็นคณะลูกขุนประชุมเป็นเวลานาน

การตัดสินคดีของคณะลูกขุนเป็นการตัดสินคดีในส่วน ข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินในข้อกฎหมาย

การใช้ลูกขุนในอเมริกาใช้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
สำหรับคดีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอิทธิพลจนอาจมีผลต่อการตัดสินคดีของคณะลูกขุนก็สามารถย้ายไปดำเนินคดีที่มลรัฐอื่นหรือศาลอื่นที่ไม่มีอิทธิพลของคู่ความฝ่ายนั้นได้

ในส่วนพยานที่มาเบิกความในศาลหากการเบิกความในศาลอาจเป็นอัตรายต่อตัวพยานขอเข้าโครงการคุ้มครองพยานได้

โครงการคุ้มครองพยานของอเมริกา ไม่เพียงจัดเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มกันระหว่างคดีเท่านั้น แต่หลังเสร็จคดีรัฐจะให้เปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ หางานใหม่ให้ทำ เป็นการลบประวัติเก่าแล้วสร้างประวัติใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ความปลอดภัยกับตัวพยานได้อย่างดี ไม่ใช่แค่จัดตำรวจมาประกบระหว่างคดีเสร็จแล้วก็ปล่อยพยานไปตามยถากรรมอย่างบ้านเรา

แล้วจะนำระบบลูกขุนมาใช้ในบ้านเราได้หรือไม่
เหตุผลของฝ่ายที่ค้านมักจะเป็นความไม่พร้อมของประชาชน เป็นเหตุผลเดียวกับที่ดูถูกประชาชนว่าไม่สามารถเลือกตั้งรัฐบาลที่ดีได้ เดิมทีเมื่อพูดถึงระบบลูกขุน ผมเองก็กังวลการแทรกแซงคณะลูกขุน โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยเป็นผู้มีอิทธิพล อย่างนายกรัฐมนตรีหรือคนในคณะรัฐบาล แต่จากระบบของอเมริกาดังกล่าวข้างต้น จะไม่สามารถประยุคมาใช้หรือระบบการคุ้มกันคณะลูกขุนชนิดตัดขาดจากโลกภายนอกย่อมป้องกันการแทรกแซงคณะลูกขุนได้ระดับหนึ่ง การโอนย้ายคดีมาพิจารณาในศาลที่ปราศจากอิทธิพลของจำเลยไม่มีส่วนช่วยป้องกันการแทรกแซงคณะลูกขุน?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับระบบปัจจุบัน ระบบที่มีช่องโหว่ในการแทรกแซงผู้พิพากษามากมายดังกล่าวใน 3 ตอนที่แล้ว การใช้ระบบลูกขุนกลับจะช่วยอุดช่องโหว่ของการแทรกแซงผู้พิพากษา

การอ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อมหรือไม่สามารถทำหน้าที่ลูกขุน ไม่เป็นการดูถูกประชาชน?
เป็นธรรมดาที่เมื่อมีคนเสนอสิ่งใหม่ ย่อมจะต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่สำหรับการคัดค้านการนำระบบลูกขุนมาใช้ ที่มาจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายที่กุมอำนาจหรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการเอง การคัดค้านโดยไม่มีเหตุผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีอะไรพิสูจน์ว่าไม่ใช่การค้านเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ต่อไปเท่านั้น มีอะไรแสดงความสุจริตใจในการคัดค้าน

สุดท้ายหากมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบศาล เสียงเรียกร้องให้การเข้าดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาต้องเชื่อมโยงกับประชาชน เสียงเรียกร้องให้นำระบบลูกขุนมาใช้ในศาลไทย

นั่นก็เป็นเพราะระบบที่มีอยู่เดิมไม่ได้เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไปแล้ว

1 comment:

  1. เที่ยงตรง เที่ยงแท้ เที่ยงธรรม
    หยุดกรรม หยุดก่อ พอแล้ว
    ยุติธรรม อยู่ไหน ทแกล้ว
    ไม่แคล้ว ไล่ล่า ฆ่าไทย

    ต่างคิด ต่างเห็น เป็นอยู่
    ต่างชู ผู้ตน หลงไหล
    อำนาจ ชี้นำ ทำไป
    ทำไม ลืมไทย กันเอง

    ลืมตน ลืมตัว ชั่วช้า
    ไล่ล่า ฆ่าฟัน ข่มเหง
    อวดกล้า ยิ่งกว่า นักเลง
    ถือปืน ยืนเบ่ง ยิงฟ้า

    ปลุกเร้า นักสู้ แดนสยาม
    สู้ตาม สัญชาติ เกิดมา
    มือเปล่า มิกลัว แกร่งกล้า
    แม้ว่า มิเที่ยง ธรรมเลย

    ReplyDelete