Monday, November 29, 2010

จีนเติบโตอย่างยิ่งใหญ่...เมื่อเริ่มใจถ่อม

โดย : มนตรี ศรไพศาล
หนังสือพิมพ์มติชน

ชาวโลกได้เห็นงานเปิดและปิด กีฬาเอเชียนเกมส์อย่างยิ่งใหญ่ ต่อเนื่องจากงานกีฬาโอลิมปิคอลังการ และงานเวิรลด์เอ็กซโปตระการตา ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของจีนในทุกวันนี้อย่างแท้จริง

จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จีนเป็นผู้นำในด้านการผลิต การส่งออก การนำเข้า
จีนมีทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศสูงสุด ในประวัติศาสตร์โลก กว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
จีนกำลังมีคนรวยมากที่สุด กำลังมีรถหรูเช่น รถเบนซ์มากที่สุดในโลก

แม้จีนยังมีคนจนมาก รายได้เฉลี่ยประมาณ 6,800 เหรียญต่อคนต่อปี ไทยมีรายได้เฉลี่ย 8,000 เหรียญต่คนต่อปี เขากลับเริ่มมีคนร่ำรวยมากที่สุด มีรถหรูหรามากที่สุด

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขายังใช้หลักการเศรษฐกิจรวมศูนย์ (Centralized Economy) แบบคอมมิวนิสต์อีกต่อไป แต่เป็นเพราะเขาเริ่มใช้หลักการเศรษฐกิจเสรี (Market Economy)

ได้รับฟังมามาก สมัยปฏิวัติคอมมิวนิสต์ มักจะมีการรวมคนยากคนจน ให้โกรธ แค้น ยกประเด็นว่า ที่เรายากจนก็เพราะถูกกดขี่ (ซึ่งอาจจะมีจริงในบางพื้นที่ในอดีต) รวมพลังกันยึดอำนาจ แล้วผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจนั้น ใช้หลักการที่ว่า “ทุกคนจะได้มีความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น”

โลกคอมมิวนิสต์ได้เติบโตแพร่หลายมากในหลายประเทศ สหภาพโซเวียต จีน เวียดนามเหนือ เกาหลีเหนือ ฯลฯ มีผู้กล่าวว่า การใช้เศรษฐกิจรวมศูนย์และมีเป้าหมายให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันนั้น ได้ผลครับ
... คือ ทุกคนจนเหมือนกันหมด

จนสหภาพโซเวียตต้องแตกสลาย ความคิดแบบคอมมิวนิสต์เริ่มยอมแพ้ต่อโลกเศรษฐกิจเสรี ที่ฐานะความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตดีกว่ากันมาก

ความร่ำรวย ความหรูหรา คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่คุณภาพชีวิตเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนนหนทาง การค้าขาย กำลังซื้อของตลาด (ซึ่งทำให้เราค้าขายได้ดี) การอนามัย การมีงานทำ ฯลฯ ประเทศที่ยากจนนั้นก็ไม่สามารถมีเทียบเท่ากับประเทศที่ร่ำรวยได้

และยิ่งต่อสู้ให้ฐานะเท่ากันเท่าไร ก็ทำได้เพียงทำให้จนเท่ากันเท่านั้น

เมื่อจีนเริ่มใช้หลักเศรษฐกิจเสรี คนทำมาก ได้มาก เก็บได้มาก มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งประทับใจมาก เล่าให้ฟังว่า 3-4 ทุ่ม เกษตรกรจีนก็ยังทำงานกันอยู่เลย เพราะก่อนหน้านี้ ทำมากเท่าไร ก็เก็บเป็นของตัวเองไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำได้แล้ว จึงทุ่มเททำงานกันหนักมากขึ้น

ผมเคยไปจีน หรือเวียดนามหลายปีที่แล้ว ประชาชนหลายพื้นที่ ยังอยู่กันอย่างยากจน แต่เล่นไพ่กันกลางวันแสกๆ ทำให้เห็นปัญหาของแต่ก่อนว่า ถ้ากติกาคือ ทำแล้วเอาผลผลิตมาแบ่งกันโดยผู้ปกครอง เพื่อความเท่าเทียมกัน ก็อาจทำให้คนไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงาน อาจมีบางคนกินแรงคนอื่น และหากคนส่วนใหญ่ไม่อยากเสียเปรียบต่อผู้กินแรง ก็ทำให้ผู้คนยากจนกันมากขึ้น

ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเวียดนามเหนือ เมื่อประมาณปี 1997 คนของเขาลำบากยากจน เขาบ่นว่า แม้กระทั่งแพทย์ก็ต้องทำงานเท่าเทียมกัน คือไปขุดดินสัปดาห์ละครั้ง คนลากรถยินดีรอผม 2 ชั่วโมงที่หน้าสำนักงาน เพื่อจะได้ทำงานหนึ่งครั้ง 20 บาท เท่านั้น !

ผมเพิ่งได้มีโอกาสไปเซี่ยงไฮ้ปีนี้ เห็นความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ของเขา เราได้ไปเที่ยวลงเรือล่องแม่น้ำชมความสวยงาม โชคไม่ดีนัก เราต้องรอเรือรอบต่อไปนานพอสมควร แต่เราก็อยู่กลุ่มแรกๆ เมื่อขึ้นเรือ ก็มองเห็นข้างหน้าเรือ มีเก้าอี้วางสำหรับตากลม และจะเห็นภาพชัดมาก

แต่เราก็ไม่รู้จริงๆว่าจะไปนั่งได้อย่างไร พูดจีนก็ไม่ค่อยจะเป็น เราก็จึงขึ้นบันไดไปชั้น 3 ดาดฟ้า เพราะอยากได้อากาศธรรมชาติ แต่ไม่มีเก้าอี้นั่ง จึงรีบกลับลงมาข้างล่าง เห็นคนจีนเข้าไปข้างหน้าหลายคน นึกว่าคงเป็นพวกใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ผมกัดฟันเข้าไปถามเขา ด้วยความทนงว่า แม้ภาษาจีนจะไม่ค่อยได้ ภาษามือก็น่าจะช่วยชีวิตได้อยู่

ผมจึงชี้ไปข้างหน้า ชี้ไปที่เก้าอี้หน้าเรือ กล้าๆถามไปว่า “เจิ่นอี๋ยั่ง” แปลว่า “ทำยังไง?”
เธอมองหน้าผมอย่างประหลาดใจ หน้าตาก็เกือบจะจีนๆ พูดได้เท่านี้ เธอจึงชี้ให้ผมอ่านที่ป้าย ซึ่งเขียนว่า “20 หยวน”

“โธ่เอ๋ย” ผมคิดในใจ “แค่คนละ 100 บาท กว่าจะบินมาบินกลับก็หลายตังค์ อีกแค่คนละ 100 บาท เราก็ไม่รู้นั่งรออยู่ตั้งนาน ในที่สุดก็จ่ายไปคนละ 20 หยวน และได้นั่งเก้าอี้หน้าเรือสมใจ

ทำให้ผมได้คิดว่า ในที่สุด เขาก็เข้าใจ “ความเท่าเทียม” กันของมนุษย์มีมากมาย พระเจ้าทรงประทานชีวิตมา ... ให้โอกาสเลือกทางสว่าง หรือทางมืด เท่าเทียมกัน ...ให้โอกาสเลือกที่จะเป็นสุขกับชีวิตของตัว หรือเป็นทุกข์กับชีวิตของตัวเท่าเทียมกัน ...ให้โอกาสเลือกดำเนินชีวิตให้สูงขึ้นหรือต่ำลงเท่าเทียมกัน ...ให้โอกาสเลือกจะรักหรือจะเกลียดชัง เท่าเทียมกัน ...ก็แล้วแต่เราจะเลือก

เราได้รับเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่าเทียมกัน เรามีอากาศหายใจที่สดชื่นเดียวกัน หากเราขาดอากาศหายใจเราก็ตายเหมือนกัน
พระเจ้าสร้างเรามาเป็นดังอวัยวะของกายเดียวกัน ไม่ใช่สร้างมาเป็นอวัยวะแบบเดียวกัน ถ้าเราไม่มีนิ้วมือเลย แต่มี 12 ตา ชีวิตจะเป็นอย่างไร ? เราจึงน่าดีใจ ที่มีกันและกัน แตกต่างกัน แต่รักและพึ่งพากัน

หลักการเศรษฐศาสตร์ตามพระคัมภีร์คือ “เสรีภาพ” พระเจ้าให้เสรีภาพมนุษย์ตั้งแต่สมัยอาดัมกับเอวา จึงไม่ควรมีใคร จะวางตัวเป็นพระเจ้า รวมศูนย์การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โลกคอมมิวนิสต์จึงล่มสลาย และได้ใช้หลักเศรษฐกิจเสรีพัฒนาโลกต่อไป

เมื่อจีนได้ใช้หลักเศรษฐกิจเสรีมากขึ้น แม้มีความแตกต่างมากขึ้น ก็ไม่หยิบยกมาคิดว่า “เป็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากการเอาเปรียบกัน” เคารพสิทธิ์กันและกัน ไม่แก่งแย่งกัน รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ไม่มีใครวางตัวเป็นศูนย์อำนาจทางการค้า ให้สิทธิ์พิเศษกับใครอีกต่อไป ค้าขายกันอย่างเสรี

...จีนจึงก้าวหน้ายิ่งใหญ่ เพราะใจถ่อม ต่อ กลไกตลาดเสรี อย่างแท้จริง ซึ่ง สำหรับผลของ “กลไกตลาดเสรี” นั้น ตำราเศรษฐศาสตร์จะใช้คำว่า “Invisible Hands” คือ “พระหัตถ์ (พระเจ้า) ที่มองไม่เห็น”

จากนี้ไป ผมก็ยังคาดหวังว่า ทุกคน จะดำเนินชีวิต ทางเศรษฐกิจและสังคม ไปตามตามกลไกตลาด หรือ พระหัตถ์ที่มองไม่เห็นต่อไป

หากการค้าระหว่างประเทศไม่สมดุล ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า อย่างจีน ไทย และชาติเอเชีย น่าจะมีค่าเงินที่แข็งขึ้น และประเทศที่ขาดดุลการค้าอย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปน่าจะมีค่าเงินที่อ่อนลง

สำหรับใจผม ผมอยากเห็นจีนใจอ่อนลง พยุงดอลลาร์น้อยลง กดหยวนน้อยลง ยอมให้หยวนแข็งค่า คนจีนมีฐานะดีขึ้น ซื้อของชาวตะวันตกมากขึ้น จ่ายค่าน้ำมันถูกลง จ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่างๆถูกต้องมากขึ้น ฯลฯ โลกก็จะสมดุลมากขึ้น

เราเป็นอวัยวะของกายเดียวกัน หากส่วนหนึ่งเจ็บ ที่เหลือก็เจ็บด้วย จึงน่าจะได้เวลาที่ชาวโลก จะมองทิศทางตาม “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” ให้ออก และช่วยเหลือกันให้โลกพ้นวิกฤตด้วยครับ

No comments:

Post a Comment