Monday, November 1, 2010

ปาฐกถานำ ในการสัมมนา "80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์"

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปาฐกถานำ ในการสัมมนา "80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์"
จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
ที่มา : ประชาไท

80 ปี “จิตร ภูมิศักดิ์”
พ.ศ.2473-2553 ค.ศ.1930-2010

ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และสุภาพชน

ในฐานะประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะของ “ผู้คนใฝ่ฝันอยากเรียน” ขอกล่าวสวัสดี และด้วยความเชื่อมั่นว่าคนที่ “เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินอิสาน” นั้น มีจิตใจที่กว้างขวางใหญ่โตครอบคลุมไปทั่วทุกสัดส่วนของ “สยามประเทศไทย” แล้ว ก็ยังก้าวข้ามพรมแดนไปไกลพอที่จะกล่าวทักทาย “ผู้คนร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์” ด้วยภาษาอื่นว่า “สบายดี-จุมเรียบซัว-ซินจ่าว-มิงกลาบา-และสลามัตเซียง” ฯลฯ

ในฐานะประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะของ “ผู้คนใฝ่ฝันอยากเรียน” ที่ได้ร่วมการ “ขุดค้น-สร้างสรรค์-จด-และ-จำ” และล่าสุด คือ ผลัก-ดันให้เกิดทั้ง “อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์” กับ “อนุสาวรีย์” หรือรูปปั้น-รูปสลักของมหาบุรุษที่ “เขาตายในชายป่า” ณ บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าก็มีความวิตกกังวล เหมือนๆ กับที่ได้เคยมีส่วนในความผิดพลาด ในการกระทำสิ่งเดียวกันนี้ให้กับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ.2526

นั่นคือทำให้ท่านปรีดีกลายเป็น “รูปปั้น” ที่ “นั่งนิ่งๆ” ไร้พลังอยู่ที่ริม “เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์” และนี่ก็คือปัญหาทางด้านงานศิลปะ ปัญหางานด้านประติมากรรมปัจจุบันของประเทศเรา ที่ขาดพลัง ขาดชีวิต และขาดความเคลื่อนไหว ไม่สามารถจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้ แม้จะมีข้อยกเว้นในบางกรณีของรูปปั้นและอนุสาวรีย์ในบ้านเมืองของเรา

แต่ข้าพเจ้าก็ยังอุ่นใจอยู่บ้าง เมื่อได้รับคำปลอบประโลมจากมิตรต่างชาติผู้หนึ่ง ที่บอกว่า “ความสำคัญของจิตร หาใช่ว่า เขาตายที่ไหน หรืออนุสาวรีย์ของเขาจะเป็นอย่างไร” แต่อยู่ที่ความเป็น “นักคิด-นักเขียน” หรือพูดให้ชัดก็คือ “หนังสือ” ของเขานั่นแหละ นั่นคือมรดกที่แท้จริงที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ทิ้งไว้ให้กับผู้คนและสังคม “สยามประเทศไทย”

เมื่อได้โจทย์เช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมา หากเราจะเสนอนามหรือพระนามของ “นักคิด-นักเขียน” ที่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความสั่นสะเทือนในแง่ของ “ภูมิปัญญา” ของ “สยามประเทศไทย” สัก 10 ท่านแล้ว จะมีใครกันบ้างเล่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า 1 ใน 10 นั้น จะต้องมีจิตร ภูมิศักดิ์ติดอยู่ด้วย

ครับ ข้าพเจ้าเชื่อว่าในแต่ละรอบของ 100 ปี อาจจะมี “มันสมอง” (ขอไม่ใช้คำว่า “อัจฉริยะ”) อย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” นี้ผ่านมาใน “แผนที่สยามประเทศไทย” บนโลกใบนี้เพียงไม่กี่มันสมอง/คนเท่านั้นเอง

เมื่อได้ทั้งโจทย์และข้อคิดข้างต้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเสาะแสวงหาต่อ และก็ได้คำตอบจากมิตรต่างวัยว่า “เป็นการยากที่จะระบุว่าจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509 ค.ศ.1930-1966 เขาตายเมื่ออายุได้เพียง 36 ปี) ได้เขียนหนังสือออกมากี่เล่ม บทความกี่ชิ้น บทกวีกี่บท หรือแต่งเพลงจำนวนเท่าไหร่ เพราะงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เกิด “ภายใต้วันคืนอันอัปลักษณ์” โดยเฉพาะการถูกคุมขังในคุกลาดยาว (2501-2507) ภายใต้ “เผด็จการระบอบทหารสฤษดิ์-ถนอม”

จิตร (ซึ่งถูกกระทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อจากสมจิตร ดังเช่น “นางพิม” เปลี่ยนเป็น “นางวันทอง” “สมบูรณ์” เปลี่ยนเป็น “ชาติชาย” หรือเหมือนๆกับที่ “สยาม” ต้องถูกจับเปลี่ยนเป็น “ไทย” “พระสยามเทวาธิราช” กลายเป็น “พระไทยเทวาธิราช” (ชั่วคราว) และ “แม่น้ำของ” ถูกเปลี่ยนเป็น “แม่น้ำโขง” นั้น) ได้ผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก หลายชิ้นเพิ่งพิสูจน์ว่าเป็นผลงานของจิตร หลายชิ้นที่ยังไม่ทราบแน่ชัด ขณะที่อีกหลายชิ้นรอการตีพิมพ์”

ถึงแม้ว่าจิตรจะผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าจิตร กลับมีหนังสือเพียงเล่มเดียวเท่านั้น ที่เป็นผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่เขายังชีวิตอยู่ นั่นคือ “ศิลปเพื่อชีวิต” ซึ่งเขียนในนามปากกา “ทีปกร” หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ในชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” และเป็นผลงานของการเคลื่อนไหวทาง “ภูมิปัญญา” ของนักศึกษากลุ่ม “แสวงหาความหมาย” ยุคก่อน “วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516 ” ที่ตีพิมพ์อย่างงดงามเตะตา (แม้จะขายไม่ออกเท่าไรนัก)

ส่วนผลงานอื่นๆ ที่เรารับรู้กันในปัจจุบันนั้น เขียนออกมาในรูปแบบของบทความตามวารสาร วิชาการ หนังสือนักศึกษา และหน้าหนังสือพิมพ์ ในวาระต่าง ๆกัน และที่มีมากที่สุดในปัจจุบันคือผลงานที่ “เพิ่งค้นพบ” ภายหลังที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตไปแล้ว...

หลัง “14 ตุลา 2516” ทุกท่านก็คงทราบดีว่าได้เกิดกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มคนสาว ในหมู่ของนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ที่เราอาจจะเรียกให้ “เป็นบวก” ว่าเป็น “ปัญญาชน-คนรุ่นใหม่-ซ้ายใหม่-ความคิดก้าวหน้า” ฯ หรือให้ “เป็นลบ” ว่า “เอียงซ้าย-หัวรุนแรง-เด็กหัวแดง-คอมมิวนิสต์-หนักแผ่นดิน” ที่มาพร้อมๆกับความเปลี่ยนแปลงในระดับสากลของ “ยุค 60s-70s” ซึ่งนักสังเกตการณ์ “สังคมสยามประเทศไทย” ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่กลับตาลปัตร แทนที่เราๆท่านๆ จะเชื่อว่า “ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก” กลับกลายเป็น “โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์”

ไม่มีครั้งใดที่คนหนุ่มคนสาวของเรา จะมองหาวีรชน (heroes-heroines) ที่ไม่ใช่บุคคลที่ประสบความสำเร็จประเภท “มหาบุรุษ-มหาสตรี” ที่เป็นบุคคล-เจ้านายที่รัฐให้การยกย่องเชิดชูบูชา แต่วีรชน “ใหม่” ของ “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” นี้ กลับกลายเป็นบุคคลที่เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ประสบเคราะห์กรรม พลัดพราก ถูกทำลายชีวิต เป็นสามัญชน และที่สำคัญ คือ ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ จากแบบเรียนกระทรวงศึกษาฯ หรือจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็น นสพ. วิทยุหรือทีวี และหลายต่อหลาย “วีรชนใหม่” นี้ถ้าไม่ถูกทำให้ “ลืม” ก็ no names หรือ “ไร้ชื่อ-ไร้เสียง” อย่างเช่นกรณีของปรีดี พนมยงค์ – กุหลาบ สายประดิษฐ์ – นายผี – เสนีย์ เสาวพงศ์ และจิตร ภูมิศักดิ์

ยุค 60s และ 70s นี้แหละที่เป็นยุคสมัยของการ “ขุด-แต่ง-ฟื้นฟู- บูรณะ-จด-และจำ” วีรชน “นอกคอก-นอกกรอบ-นอกทะเบียน” เหล่านี้

ในบริบทและบรรยากาศเช่นนี้แหละ ที่จิตร ภูมิศักดิ์ที่ดูเสมือน “ตายอย่างไร้ค่า แต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน” ที่ทำให้งานคิด-งานเขียน” ของเขา “ถูกขุด-ถูกค้น” ขึ้นมาโดย “เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” จนกล่าวได้ว่า จิตรได้ถือกำเนิดใหม่เป็นครั้งที่ 2

หลัง “14 ตุลา 2516” เพียง 2-3 ปี มีผลงานของจิตร ก็ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวมาก เช่น กวีการเมือง (2517) บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม (2517) นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา (2518) งานแปล เช่น ความเรียงว่าด้วยศาสนา (2519) คาร์ล มากซ์ ประวัติย่อ (2518) ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม (2518)

ข้าพเจ้าจำได้ว่า ที่แผงหนังสือที่ท่าพระจันทร์นั้น วันหนึ่งข้าพเจ้าเห็นหนังสือหน้าปกแปลกๆ และชื่อเรื่องประหลาดๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าแม้จะจบปริญญาเอก เขียนงานวิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์อยุธยามาแล้ว ต้องควักเงินซื้อมาในทันที และก็อ่านจบอย่างรวดเร็วด้วยความรู้สึกที่ “พูดไม่ออกบอกไม่ได้”

หนังสือเล่มนั้น ก็คือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” (2517) ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในรูปของบทความในหนังสือ “นิติศาสตร์ฉบับรับศตวรรษใหม่ “ (2500 ซึ่งก็คงไม่ค่อยจะมีคนได้อ่าน หรือแม้แต่รับรู้) งานเล่มนี้ของจิตร แม้จะได้รับการโต้-แย้ง-ปฏิเสธในแง่ของทฤษฏี (มาร์กซีสม์) อย่างรุนแรงจากนักรัฐศาสตร์-นักประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” แต่ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับ “ภูมิปัญญา” และแนวความคิดเดิมๆ ของ “สยามประเทศไทย” อย่างไม่เคยมีมากก่อน

ในขณะเดียวกัน งานหนังสือวิชาการที่หนักแน่นและรัดกุมมากกว่า คือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ที่ถูกฝาก-ฝังและเก็บรักษาต้นฉบับไว้เป็นอย่างดี (โดยสุภา ศิริมานนท์ และประสานงานขุดค้นออกมาให้ได้รับการตีพิมพ์ (2519) โดยชลธิรา สัตยาวัฒนา) ก็เริ่มปรากฏสู่บรรณพิภพหลังจากที่จิตรเสียชีวิตแล้วถึง 10 ปี (2509-2519)

หนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นเล่มท้ายๆ ที่ตีพิมพ์ออกมาได้ก่อนเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค ̉6 ตุลา 2519” (ที่สังคมสยามประเทศไทยไม่เพียงแต่เห็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” ใช้กำลังอาวุธทหารและตำรวจ ประหัตประหาร “ประชาชน” กลางกรุงเทพมหานครอีกหนึ่งครั้งในหลายๆ ครั้ง ที่มีมาก่อน และเกิดขึ้นตามหลังมาอีกนั้น ก็ได้เห็นการ “ยึด-ทำลาย-เผา-และคำสั่งห้าม” ทั้ง “หนังสือ-การอ่าน-การคิด-และการเขียน” เราต้องไม่ลืมว่าสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพ์มือถือ/ไอโฟน ไม่มีอีเมล์ ไม่มีอินเตอร์เน็ท ไม่มี facebook-twitter)

ความพยายามในครั้งนั้น ที่จะฟื้นฟู “ระบอบทหาร” และ “การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น แม้จะยับยั้ง “กระบวนการประชาธิปไตย” ได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เพียงไม่กี่ปี ก็ไม่สามารถสกัดกั้น “ผู้คน (ที่) ไถ่ถามอยากเรียน” ได้ ดังนั้นผลงานที่ตามกันออกมาก็มีเช่น “โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” (2524) หรือ “ตำนานแห่งนครวัด” (2525) หรือ “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” (2526)

ในขณะที่บทกวีซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญ (pen is mightier than sword) ตามแนวทางการต่อสู้ทางความคิดของจิตรนั้น ก็ได้รับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นั่นคือ “ด้นดั้นดุ่มเดียวคนเดียวแด” (2550) หรือ “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” (2551) หรือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” (2552)

ถึงแม้เราจะไม่อาจจะบอกได้ว่าผลงานของจิตร มีกี่ชิ้นกันแน่ แต่ก็อาจสรุปเป็นเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้ คือ

1. ประวัติศาสตร์ เช่น โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา

2. นิรุกติศาสตร์ เช่น ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมชองชื่อชนชาติ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย

3. งานแปล เช่น แม่, โคทาน, คนขี่เสือ

4. รวมบทกวี ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด, ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง, คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย (2552)

5. รวมบทความด้านวิจารณ์สังคม

6. บันทึกส่วนตัว

อาจกล่าวได้ว่าความพยายามของ “ผู้คน (ที่) ใฝ่ฝันอยากเรียน” ที่มาจากหลายฝ่ายหลายกลุ่ม ที่ต่างวัยต่างประสบการณ์ (ที่ควรจะได้รับการบันทึกและจดจำไว้) ด้วยกันนั้น ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วาระการครบรอบ 72 ปีของเขาเมื่อปี พ.ศ.2545 (2002) ได้ทำให้ความเป็น “นักคิด-นักเขียน” ของเขาดูจะยิ่งหนักและแน่นยิ่งขึ้น ถึงกับมีการกล่าวว่าจิตร “เกิดครั้งที่ 3” แล้วกระนั้น

ครับ งานอนุสรณ์สถาน งานอนุสาวรีย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร ก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว แต่ “งานปฏิวัติสังคมสยามประเทศไทย” ที่จิตรใฝ่ฝัน ที่จิตรกระทำมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว จับทั้งปากกาและจับทั้งปืน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า ที่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่เต็มไปด้วย “ภราดรภาพ เสมอภาค และเสรีภาพ” (Fraternity-Equality-Liiberty) นั้นยังไม่จบ และจักต้องดำเนินไปด้วย “คนรุ่นใหม่” ที่จะมีตามติดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และนี่ก็เป็นสัจธรรมของสังคมทุกสังคม

No comments:

Post a Comment