Monday, November 15, 2010

ระบบประชาธิปไตย (Democracy System)

คำว่าประชาธิปไตย มาจากภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า Demos แปลว่าประชาชน และ Kratein แปลว่าปกครอง เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การปกครองโดยประชาชน

การปกครองแบบประชาธิปไตย วิวัฒนาการมาจากการปกครองแบบประชาธิปไตยในนครรัฐเอเธนส์ของประเทศกรีกโบราณ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยโดยตรง คือ ประชาชนทั้งหมดของนครรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง ต่อมาเมื่อการปกครองแบบนี้ได้สลายไปจากเอเธนส์ ก็ได้มาเจริญเติบโตในอังกฤษ ซึ่งต่อมาประเทศอังกฤษก็ได้ชื่อว่าเป็นแม่บทของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น คือ การปกครองที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด นั้นหมายถึงการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติประชาชนจะใช้วิธีการปกครองโดยเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศแทนตนในสภา เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ดังนั้นบุคคลหรือคณะบุคคลจะรับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนนโยบายในการปกครองประเทศจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ การที่จะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องเป็นการปกครองโดยอาณัติของคนส่วนใหญ่ และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก ดังนั้นการปกครองแบบนี้จึงเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชน จึงได้มีนักปราชญ์ได้ให้ความหมายดังนี้

คำว่า “ประชาชน“ ถอดศัพท์มาจากคำว่า “Democracy” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ “Demos” แปลว่า “ปวงชน“ และ “Kratien” ซึ่งมีความหมายว่า “การปกครอง“ เมื่อรวมความหมายของคำทั้ง 2 แล้ว ประชาธิปไตยจึงหมายถึง ระบบการปกครองซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ

ความหมายของประชาธิปไตย
ความหมายของคำว่าประชาธิปไตย โดยทั่วไปที่เข้าใจกันนั้น ก็แปลตามศัพท์ คือประชาชน + อำนาจ อธิปไตย นั่นคือประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน แต่ยังมีนักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่านให้ความหมายของประชาธิปไตย โดยขยายความกว้างขวางออกไป เช่น

อับราฮัมลินคอร์น(Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน (Government of the People, by the People, for the People)

ชาล์ส อี เมอเรียม (C.E.Merriam) เน้นว่า ประชาธิปไตยเป็นแนวคิด และการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่ความผาสุกร่วมกันของประชาชน โดยมีเจตนาร่วมกันของประชาชนนั่นเองเป็นเครื่องนำทาง

ฮาโรลด์ ลาสกี้ (H.J. Laski) ถือว่าเนื้อแท้ของประชาธิปไตยก็คือ ความปรารถนาของมนุษย์ที่จะยอมรับนับถือและรักษาไว้ซึ่งความสำคัญของตนเอง รวมตลอดถึงความเสมอภาค ระหว่างบุคคลในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

Austin Ranney ได้กล่าวว่า “ประชาธิปไตยเป็นรูปการปกครอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการใช้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) ความเสมอภาคทางการเมือง (Political Equality) การศึกษากับประชาชน (Popular Consultation) และการปกครองโดยกฎหมายเสียงข้างมาก

บรรพต วีระสัย สุรพล ราชทัณฑารักษ์และบวร ประพฤติดี ได้รวบรวมคำนิยามนนิยามของคำว่าประชาธิปไตยไว้ 7 ประการดังนี้
1. การปกครองของประชาชน โดยประชาชนเพื่อประชาชน
2. การปกครองซึ่งรัฐบาลมีอำนาจจำกัด
3. การปกครองโดยเสียงของคนส่วนมาก โดยไม่ลืมสิทธิของคนส่วนน้อย หรือคนที่มีเสียงข้างน้อยในสังคม
4. การปกครองโดยหลักนิติธรรม
5. การปกครองที่ถือว่าเสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์
6.การปกครองซึ่งเน้นในเรื่องความเสมอภาคโดยเป็นโอกาสให้ทุกคนเป็นผู้นำโดยทัดเทียมกัน
7. การปกครองที่เจริญรอยตามพุทธภาษิตที่ว่า “ปชาสุขํ มหุตตมํ“

สรุปได้ว่าประชาธิปไตยนั้น มีความหมายกว้างขวางหลายสถานะ ทั้งในฐานะที่เป็นระบบการเมืองหรือการปกครอง ในฐานะที่เป็นอุดมคติและปรัชญา ในการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์และในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต ประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ในหลายประเทศทุกวันนี้ เป็นประชาธิปไตยโดยอ้อม (Indirect Democracy) ซึ่งเป็นการปกครองโดยฝ่ายทางผู้แทนของประชาชน ซึ่งเราเรียกว่าประชาธิปไตยโดยเสรี หรือเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) หรือประชาธิปไตยตะวันตก (Western Democracy) ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง ประชาธิปไตย จึงจะถือตามความหมายดังกล่าวนี้

หลักการของระบอบประชาธิปไตย
วีระ รักความสุข ได้สรุปหลักการสำคัญของระบอบการปกครองแบบหลักการประชาธิปไตยไว้ดังนี้
1. ประชาชนเป็นแหล่งที่เกิดและเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
2.ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น เลือกตั้งผู้แทนราษฎร การจัดตั้งพรรคการเมือง การใช้เสรีภาพ เป็นต้น
3.การปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน หมายถึง การใช้อำนาจปกครองที่ถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
4.การใช้หลักเหตุผลในการแสดงออกและในการดำเนินงาน รวมตลอดถึงความสัมพันธ์ต่อกัน การกำหนดนโยบาย การแสดงความคิดเห็น การแก้ปัญหา
5. หลักความยินยอม เป็นการแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน โดยให้บุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพในการคิดและตัดสินใจของตนโดยเฉพาะ หากเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ก็นับได้ว่าเป็นความยินยอมพร้อมใจอันก่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้กิจกรรมเหล่านั้นดำเนินไปด้วยดี
6. หลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก โดยไม่ละเมิดสิทธิของฝ่ายข้างน้อย
7. หลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม หมายถึง ยึดถือหลักกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์
8. หลักการรับฟังและถือเอาเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ
9. หลักการปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัด หมายถึงประชาชนมีโอกาสที่จะเปลี่ยนรัฐบาลได้ ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่
10.หลักความเสมอภาค คือความเท่าเทียมกันทางการเมือง ทางกฎหมายและทางโอกาส
11.หลักศีลธรรม มุ่งให้ประชาชนมีคุณภาพเป็นหลักควบคุมมิให้บุคคลเบียดเบียนกันและสนับสนุนให้มนุษย์ได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น
12.หลักการพัฒนาและการปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยจะเป็นโอกาสให้บุคคลได้พัฒนาทั้งในด้านอาชีพหน้าที่การงานและแนวความคิดสติปัญญาตลอดถึงการปกครองตนเอง
13.หลักเสรีภาพ เปิดโอกาสบุคคลมีเสรีภาพเลือกปฏิบัติในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุด แต่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิผลประโยชน์ของคนอื่น
14.หลักเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยถือว่าเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ จึงถือว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเสมอกัน และจะต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
15.หลักการประนีประนอม ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุผลมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น แต่เพื่อหลอมรวมเหตุผลและแนวความคิดสติปัญญาเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือ ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่และประเทศชาติเป็นที่ตั้งจึงต้องประนีประนอมกันในเรื่องที่จะเกิดประโยชน์ดังกล่าว
16.หลักการยอมรับข้อสงสัย คือยอมรับว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง หลักการนี้จึงช่วยให้เกิดความคิดที่กว้างขวางมีใจกว้างยอมรับความคิดและเหตุผลของคนอื่น แล้วนำไปพิสูจน์และทดลองในภายหลังเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง
องค์สามของประชาธิปไตย

จากความหมายและหลักการของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า “ประชาธิปไตย“ เป็นระบบการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างมีความเสมอภาคกัน โดยผู้ปกครองจะได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและในการปกครองประเทศประเทศนั้นจะต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้คำว่า “ประชาธิปไตย“ ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฐานะที่เรียกว่า “องค์สามของประชาธิปไตย“ คือ

[1.]ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมคติ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในฐานะเป็นอุดมคติ หรืออุดมการณ์นั้นได้มีนักปราชญ์ทางการเมืองได้อธิบายความหมายไว้หลายท่าน เช่น

กระมล ทองธรรมชาติ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ หมายถึงความเชื่อ ความยึดมั่นของบุคคล ซึ่งประกอบด้วยหลักการ คือ ความเสมอภาคของบุคคลทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการที่บุคคลมีเสรีภาพในการกระทำต่าง ๆ ได้ตามความสมัครใจ เช่น เสรีภาพในการพูด การเขียน การโฆษณา เป็นต้น ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น”
ประชา กัลยาณชาติ และคณะ ได้อธิบายไว้ว่า ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมคติ คือ การที่บุคคลมีศรัทธาและความเชื่อมั่นในสติปัญญา เหตุผล และความสามารถของมนุษย์ เทอดทูนอิสระภาพและเสรีภาพของมนุษย์ และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน หรือเสมอภาคกัน

ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายถึงพื้นฐานสำคัญของอุดมการณ์ประชาธิปไตยสมัยใหม่ และลักษณะสัมพันธ์กับประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมือง ดังนี้

1.การมีศรัทธาในความสามารถของมนุษย์ ในสติปัญญา การรู้จักใช้เหตุผล การยึดหลักเหตุผลด้วยวิธีการทดสอบค้นคว้าตามแบบวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการมองของมนุษย์ในแง่ดีว่าสามารถร่วมมือกันทำงานเพื่อความสุขส่วนรวมได้

2. ความเชื่อในความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์ จากความคิดที่ว่า มนุษย์รู้จักใช้เหตุผลการค้นหาสิ่งที่พึงปรารถนาในการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนอาศัยการพิจารณาตามเหตุผลนี้ ทำให้เกิดความเชื่อในความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์ ความเป็นอิสระหมายถึงความสามารถที่จะเลือกใช้ชีวิตกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเอง โดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจบงการของบุคคลอื่น เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถที่จะใช้เหตุผลในการเลือกตัดสินใจตกลงใจนี้ ย่อมหมายถึงการที่ทำให้คนเราต้องผูกพันรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำลงไปแล้วด้วย

3.การยอมรับในความเท่าเทียมกันของคน ความเท่าเทียมกันหรือความเสมอภาคกันนี้ไม่ได้หมายถึง ความเท่าเทียมกันทางสติปัญญาหรือกายภาพแต่เป็นความเสมอภาคทางกฎหมายและทางการเมือง ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ความมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและโอกาสต่าง ๆ ที่จะใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ กำเนิด เพศ หรือฐานะทางเศรษฐกิจสังคม

[2.]ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมืองการปกครอง ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมืองการปกครอง หมายถึงการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และรัฐธรรมนูญนั้นมีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสัดส่วน อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ กำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจไว้ว่า ผู้ปกครองจะได้อำนาจมาโดยวิธีใดจะใช้อำนาจอย่างไร และมีวิธีการรักษาอำนาจไว้อย่างไร กำหนดสิทธิหน้าที่ของประชาชนและของรัฐบาลและกล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ประชาชนจะใช้อำนาจ สติปัญญาเลือกผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย มีระบบพรรคการเมืองซึ่งทำตัวเป็นตัวแทนของกลุ่มประชาชน ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน การให้สิทธิทางการเมืองโดยไม่จำกัดเพศและฐานะของบุคคล ดังนักรัฐศาสตร์หลายท่านได้ให้หลักสำคัญของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ดังนี้

จรูญ สุภาพ ได้กล่าวถึงหลักสำคัญของประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมืองการปกครองไว้ว่า “…หลักการที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครอง มีส่วนร่วมในการปกครอง การวางนโยบายและการตัดสินใจในปัญหาของประเทศ การมีส่วนร่วมนี้อาจจะเป็นแบบโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ โดยตรงคือการที่ประชาชนเข้าไปบริหารเอง โดยอ้อมคือการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแทน…”

ทินพันธ์ นาคะตะ ได้กล่าวถึงหลักสำคัญของระบบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้ดังนี้ คือ
1. การปกครองแบบประชาธิปไตย ถือหลักว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศโดยประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายโดยผ่านสภานิติบัญญัติ ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยผ่านทางฝ่ายบริหารและประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจทางตุลาการโดยผ่านทางศาล การใช้อำนาจเหล่านี้ได้มาจากความยินยอมของประชาชน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและเป็นผู้บริการประชาชนทั้งนี้เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องยึดมั่นในความสำคัญของบุคคลในความเสมอภาคและเสรีภาพของมนุษย์

2. การปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องมีวิธีการ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกผู้นำฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการควบคุมการใช้อำนาจของผู้นำเหล่านั้น ประชาชนมีบทบาทในการปกครอง คือ การเลือกตั้งรัฐบาลจึงเป็นการปกครองที่กำหนดระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ได้มาซึ่งอำนาจตัดสินข้อตกลงใจตามแบบประชาธิปไตย

3.ประชาธิปไตยมีหลักมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมไม่ใช่เพื่อผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
ประชา กัลยาณชาติ และคณะ ได้อธิบายถึงประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมืองไว้ดังนี้

1. เป็นระบบการเมืองที่ถือว่า อำนาจเป็นของประชาชนหรือมาจากประชาชน รัฐบาลเป็นเพียงผู้ได้รับมอบหมายอำนาจให้ทำหน้าที่ปกครองแทนประชาชนเท่านั้น และประชาชนมีโอกาสเปลี่ยนตัวแทนของตนได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีวาระทุก 4 ปี หรือ 5 ปี มิได้เลือกตั้งเพียงครั้งเดียวเป็นผู้แทนตลอดชีพ

2.เป็นการปกครองโดยประชาชน กล่าวคือเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การปกครองระดับท้องถิ่น การปกครองระดับชาติ การแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารงานของรัฐบาล การเรียกร้องความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ และการแสดงมติมหาชน เป็นต้น

3.เป็นการปกครองเพื่อประชาชน หมายถึง การปกครองประเทศโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนหรือกลุ่มของตนในคณะรัฐบาลเป็นที่ตั้ง นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีอยู่เพื่อรับใช้ประชาชน มิใช่ประชาชนต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อรัฐ ดังระบบการเมืองแบบฟาสซีสม์ หรือการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ซึ่งถือว่า ประชาชนเป็นบ่าว รัฐบาลเป็นนาย แต่การปกครองแบบประชาธิปไตยจึงกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจจำกัดปล่อยให้เอกชนดำเนินกิจการและดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ เองอย่างเสรี โดยเข้าไปก้าวก่ายให้น้อยที่สุด นอกจากกรณีที่กิจการนั้น ๆ เอกชนไม่สามารถทำเองได้ และเห็นว่าเมื่อรัฐดำเนินการเองแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวมมากขึ้นเท่านั้น

4.เป็นการปกครองที่ยึดหลักกฎหมายรัฐบาลเป็นผู้ปกครองที่เคารพกฎหมายและปฏิบัติการภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิได้ยึดตัวบุคคลเป็นหลักในการบริหารประเทศ และประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับแห่งกฎหมายเท่าเทียมกัน

3.ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต การปกครองระบอบประชาธิปไตยถ้าจะมีเพียงอุดมการณ์ อุดมคติหรือรูปแบบทางการเมืองการปกครองเท่านั้น การปกครองย่อมจะไม่บรรลุเป้าหมาย ถ้าขาดองค์ประกอบที่สามของประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตอันหมายถึงประชาธิปไตยที่คนในชาติทั้งชาติจะต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นนิสัยในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน อยู่ในสถานศึกษา อยู่ในหน่วยงานหรืออยู่ในกลุ่มเพื่อนจะต้องยึดหลักหรือใช้หลักของประชาธิปไตยเท่านั้นปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ประชาธิปไตยจึงจะเกิดขึ้นในบ้านในเมืองได้อย่างสมบูรณ์ และการที่บุคคลในชาติมีคุณลักษณะเป็นประชาธิปไตยทั้งด้านจิตใจ ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ บุคลิกภาพและวิถีชีวิตอย่างนี้ เรียกว่า“วัฒนธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย“
สมพงศ์ เกษมสิน และจรูญ สุภาพ ได้อธิบายไว้ว่า ประชาธิปไตยนอกจากจะหมายถึงการปกครองแล้ว ยังเป็นวิถีชีวิตที่บุคคลอาจจะใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีเหตุผล และอย่างยุติธรรม วิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในประเทศที่ประชาธิปไตยได้หยั่งรากไว้อย่างมั่นคง และอาจจะแยกกล่าวถึงวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยได้ดังนี้

1.การใช้เหตุผลด้วยการทดลองหรือทดสอบจากสภาพความเป็นจริง ประชาชนในประเทศประชาธิปไตยเชื่อมั่นว่า เหตุผลเป็นสิ่งที่ดีงามและสามารถใช้เหตุผลประยุกต์ได้ในสภาพการณ์ต่าง ๆ ของโลก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

2.การให้ความสำคัญแก่บุคคล หลักข้อนี้ทำให้วิถีชีวิตแบบเสรีประชาธิปไตยแตกต่างจากระบบเผด็จการอื่น ๆ นั้นคือ สถาบันทางการเมืองในสังคม เช่น กลุ่มชนหรือพรรคการเมืองจะต้องจัดตั้งขึ้นเพื่อรับใช้บุคคล

3.ความเชื่อที่ว่ารัฐเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ความเชื่อเช่นนี้ถือว่ารัฐเป็นกลไกที่จะต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญกว่ารัฐนั้น

4. การยึดถือหลักของความสมัครใจ วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยนั้นต้องการให้บุคคลทำกิจต่าง ๆ ด้วยความสมัครใจ ดังนั้น การปฏิบัติกิจการต่าง ๆ ของบุคคลจึงควรจะเป็นไปตามความรู้สึก ความต้องการไม่มีการบังคับ

5. หลักที่เชื่อกันว่า มีกฎหมายสูงสุดอยู่เหนือกฎหมายแห่งรัฐ นั้นคืออำนาจของรัฐมาจากความยินยอมของประชาชนที่อยู่ในรัฐนั้น

6.การยึดถือหรือให้ความสำคัญในเรื่องวิธีการ ระบบประชาธิปไตยเชื่อว่าชีวิตของบุคคลนั้นแม้จะมีจุดหมายปลายทาง แต่จะต้องอาศัยวิธีการหรือวิถีทางด้วยเพื่อที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์เหล่านั้น วิธีการหรือวิถีทางจะมีอิทธิพลในการปรับปรุงตบแต่งวัตถุประสงค์หรือจุดหมายปลายทางด้วย

7.ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักของการอภิปรายและความยินยอม ประชาธิปไตยนั้นไม่เชื่อว่าผู้ใดจะสามารถผูกขาด “ความจริง“ ไว้แต่เพียงผู้เดียวหรือมิฉะนั้นก็เชื่อว่าในทางการปกครอง การเมือง ยังไม่มีสิ่งใดที่เรียกว่า เป็นสัจธรรม ดังนั้นจึงจะต้องมีการอภิปรายถกเถียง แสดงเหตุผล เพื่อหาข้อยุติที่ถูกต้องที่เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่และชอบธรรมด้วยหลักฐานข้อเท็จจริง

8.น้ำใจประชาธิปไตย คือความสำนึกและความยึดมั่นในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยการยึดถือว่า เป็นการปกครองที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลและส่วนรวมมากกว่าระบอบอื่น ดังนั้นจะต้องฝึกหัดตัวเองให้มีจิตเป็นประชาธิปไตย เช่น จิตใจกว้างขวางยอมรับฟังเหตุผลแนวคิดของคนอื่น เป็นต้น

9. ความสำนึกเกี่ยวกับคุณค่าและศักดิ์ศรีของบุคคล

10.เคารพกฎเกณฑ์และกติกาของการปกครองแบบประชาธิปไตย ได้แก่ เคารพเสียงข้างมากของประชาชน การป้องกันสิทธิของฝ่ายข้างน้อย ความเสมอภาคระหว่างบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้นตามวิถีทางประชาธิปไตยและขจัดเสียซึ่งความเห็นแก่ตัวหรือการลุแก่อำนาจใด ๆ

11.ความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ต้องสร้างนิสัยเกี่ยวกับการหาความรู้ในกิจการบ้านเมือง ฝึกหัดใช้ความคิดเห็นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นกิจการสาธารณะ และควรเข้ามีส่วนร่วมในกลุ่มการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมือง

12. ความเป็นพลเมืองดี ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เช่น การแสวงหาความรู้ ปฏิบัติตามนโยบายของชาติ ไม่ละเมิดกฎหมาย และการเสียภาษีอากรให้รัฐ เป็นต้น

13.การฝึกมองโลกในทางที่ดีและคิดในแง่ดี เช่น มีความหวังและมีศรัทธาว่าระบบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่สามารถได้ประโยชน์

14. รู้จักการให้เหตุผล ทั้งในการคิด วิพากษ์วิจารณ์และปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อจะทำให้การปกครองเป็นไปได้ด้วยดี เพราะการแสดงออกเช่นนั้นย่อมมีความหนักแน่นมั่นคงในตัวเอง มีน้ำหนัก และก่อให้เกิดการกระทำในทางสร้างสรรค์ และเป็นการช่วยยับยั้งการกระทำที่ใช้อำนาจอันมิชอบของผู้ที่ทำหน้าที่ในการปกครอง

หลักเกณฑ์สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่จะต้องยึดถือดังนี้

1. ต้องยึดหลักกฎหมาย คือมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง ไม่ใช่ปกครองตามใจชอบ
2. ต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อแสดงว่าผู้ถูกปกครองให้ความยินยอม ให้ผู้ปกครองได้เข้ามาปกครอง แต่การเลือกตั้งต้องเป็นการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย คือมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ก. เป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยอิสระ
ข. มีการลงคะแนนเสียงเป็นการลับ
ค. การเลือกตั้งเป็นไปอย่างแท้จริง มีการเลือกจากผู้สมัครหลายคน
ง. เป็นการเลือกตั้งที่มีกำหนดระยะเวลา กำหนดว่าผู้ใดรับเลือก จะอยู่ในตำแหน่งได้นานเท่าไร ถึงจะมีการเลือกตั้งใหม่ (ปกติจะเป็น 2-5 ปี เป็นส่วนใหญ่)
จ. ผู้ไปเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง มีสิทธิ์เสมอภาค และไปใช้สิทธิ์ได้ทั่วถึง
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว การเลือกตั้งอาจใช้วิธีการต่างๆ ได้หลายวิธี เช่น การจัดเขตเลือกตั้ง เป็นแบ่งเขตหรือรวมเขต เป็นต้น

3. ต้องยึดหลักเหตุผล เป็นหลักของนักปราชญ์ที่ว่า มนุษย์มีลักษณะเป็นสัตว์ฉลาด โดยเหตุนี้มนุษย์จึงเป็นผู้มีเหตุผล เหตุผลจะเกิดจากการที่มนุษย์ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการโต้เถียงกัน ทำให้มนุษย์สามารถใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจหลักการของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ว่า ควรเปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นมากที่สุด เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้เหตุผลได้อย่างเต็มที่ เช่น มีการประชุมในลักษณะต่างๆ และระดับต่างๆ เป็นต้น

4. ต้องยึดหลักเสรีภาพ หลักประชาธิปไตยถือว่า เสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องเกื้อกูลให้มนุษย์สามารถใช้ปัญญา และเหตุผลได้อย่างเต็มที่ โดยกำหนดหลักเสรีภาพไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในกฎหมายต่างๆ แต่เสรีภาพก็ต้องยึดหลักความชอบธรรมเหตุผลและคุณธรรม ถ้ามีมากจนกระทั่งไม่มีเขตจำกัด จะเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) ที่ทุกคนเป็นใหญ่ มีอิสระเต็มที่ ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เสรีภาพแบบไม่มีขอบเขตนี้ ไม่ใช่ประชาธิปไตย

5. ต้องยึดหลักความเสมอภาค เป็นหลักปรัชญาเบื้องต้น ของความเป็นประชาธิปไตย และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ประการหนึ่ง ของประชาธิปไตย ความเสมอภาคในที่นี้หมายถึง ความเสมอภาคทางการเมือง

6. ยึดหลักตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมาก ที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย(Majority Rule & Minority Right) หลักประชาธิปไตยต้องใช้เสียงข้างมากเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงาน ในการตัดสินปัญหา ในการแก้ไขข้อขัดแย้ง การใช้เสียงข้างมากนี้ต้องยึดหลัก ความเสมอภาค คือทุกคนมีความสำคัญ และมีคุณค่าเท่ากัน และเมื่อเสียงข้างมากลงมติอย่างไรแล้ว เสียงข้างน้อยต้องยอมรับและปฏิบัติ และที่ว่าเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยนั้นคือ เมื่อเสียงข้างมากชนะแล้ว จะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อผู้ที่เป็นเสียงข้างน้อย คือเสียงข้างน้อยไม่ถือว่ามีโทษ หรือมีความผิดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ระบอบประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นรูปการปกครอง แบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ คือประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และ

ระบบกึ่งรัฐสภาหรือกึ่งประธานาธิบดี ซึ่งแต่ละระบบอธิบายได้ดังนี้

1. ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (Parliamentary System)
ในการปกครองระบบรัฐสภา ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติคือสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีอำนาจ ไม่เพียงแต่จะควบคุมผู้ใช้อำนาจบริหารมิให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตเท่านั้น แต่บังไปทำหน้าที่เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารเองอีกด้วย ทั้งนี้ก็เป็นไปตามหลักการรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารไว้ในมือของคณะบุคคลเดียวกัน (Fusion of Power) อันเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด ของการปกครองระบบนี้

กล่าวคือ พรรคที่มีเสียงข้างมาก ในรัฐสภาจะเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากประมุขของรัฐ ให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ ส่วนพรรคที่มีเสียงข้างน้อย ก็จะคอยค้านการใช้อำนาจบริหารของพรรคที่มีเสียงข้างมากนั้น เพื่อมิให้พรรคฝ่ายข้างมากหรือพรรครัฐบาล ลืมตัวและใช้อำนาจเกินขอบเขต ถ้าทั้งสองฝ่ายเกิดขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อพรรคฝ่ายข้างน้อย เกิดรวบรวมสมาชิกในรัฐสภาได้มากกว่าพรรครัฐบาล และสามารถลงมติไม่ไว้วางในรัฐบาลได้ รัฐบาลก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ ลาออกเพื่อให้พรรคฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลบ้าง หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ประมุขของรัฐยุบสภาเสีย เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็จะมีผลให้สมาชิกของทั้งสองฝ่ายต้องหลุดจากตำแหน่ง และออกไปหาเสียงเพื่อให้ประชาชนเลือกตนกลับเข้ามานั่งในรัฐสภาอีก

วิธีการอนุญาตให้สมาชิกฝ่ายหนึ่ง ไล่สมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งออกจากตำแหน่งบริหารได้ และยอมให้สมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งบริหารนั้น สามารถขอให้ประมุขปลดทุกฝ่ายออกจากตำแหน่งพร้อมกันได้นี้ มีผลทำให้เป็นการถ่วงดุลอำนาจของกันและกันและให้สมาชิกชองรัฐสภาทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญของประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานี้ เช่น อังกฤษ เป้ฯต้น จะจัดแบ่งอำนาจและหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ที่มีส่วนในการปกครองประเทศไว้ดังนี้

ประมุขของรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ได้จะต้องปฏิบัติตนเหมือนกันคือ จะต้องไม่ทำตนเป็นนักการเมือง และจะต้องวางตนเป็นกลาง ในทางการเมืองอย่างแท้จริง

ประมุขของรัฐจะใช้อำนาจบริหารแต่เพียงในด้านพิธีการเท่านั้น เช่น แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เปิดและปิดรัฐสภา เป็นต้น และมักจะปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี โดยเหตุที่ประมุขของประเทศ มิได้ใช้อำนาจในทางบริหารตามความประสงค์ของตนเอง

รัฐธรรมนูญของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา จึงกำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบแทนประมุข ในการใช้อำนาจบริหารนั้นๆ โดยให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามกำกับอยู่ ในเอกสารของทางราชการทุกฉบับที่ออกในนามของประมุข

รัฐสภา ซึ่งอาจจะมีสภาเดียวหรือสองสภาก็ได้ มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นผู้ใช้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร แต่โดยเหติที่รัฐสภาของทุกประเทศมีสมาชิกมากและมีความคิดเห็นแตกต่างกัน จึงถือกันเป็นหลักการว่า สมาชิกรัฐสภากลุ่มข้างมากจะไปเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารประเทศภายใต้การควบคุมของสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา

สมาชิกรัฐสภาจะอยู่ในตำแหน่งได้นานตามวาระที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่น 3 หรือ 5 ปี แล้วแต่กรณี และอาจจะต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระก็ได้ถ้ารัฐสภาถูกยุบ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรัฐสภาทุกคนได้รับเอกสิทธิ์หลายอย่าง เช่น จะกล่าวแสดงความคิดเห็นในรัฐสภาอย่างใดก็ได้ โดยไม่มีใครนำไปฟ้องร้องได้ เป็นต้น

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาไว้เช่นนั้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐภา ได้ทำหน้าที่ของตน อย่างปราศจากความวิตกกังวลว่าอาจจะต้องรับโทษ ภายหลัง หน้าที่สำคัญของสมาชิกรัฐสภาก็คือ หน้าที่ในการออกกฎหมายและหน้าที่ในการควบคุมการบริหารงานของคณะรัฐมนตรีโดยการตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักฟอกคณะรัฐมนตรี หรือเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี ได้แก่คณะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ให้ทำหน้าที่ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร

ตามประเพณี คณะรัฐมนตรีนี้จะต้องได้รับแต่งตั้งจากประมุขของประเทศเสมอ แต่ในการบริหารประเทศนั้นคณะรัฐมนตรีต้องรบผิดชอบโดยตรงต่อรัฐสภา ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาเมื่อใดก็จะพ้นจากตำแหน่ง โดยทั่วไปรัฐมนตรีส่วนมากในคณะหรือทั้งคณะจะต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย มีสิทธิ์เข้าไปนั่งในรัฐสภา อภิปราย และออกเสียงในรัฐสภาได้ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้ประมุขของประเทศยุบสภาได้เสมอ เมื่อตนต้องการจะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาใหม่

ศาล จะเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการโดยอิสระและปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ เพื่อประกันความเป็นอิสระของศาล รัฐธรรมนูญของทุกประเทศจึงมักจะ กำหนดให้การจัดการศาล เป็นเรื่องของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะมีคณะกรรมการตุลาการก็ได้ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องโยกย้าย แต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษา

ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมักจะถือกันว่า ผู้พิพากษาทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงไว้ซึ่งพระอำนาจที่จะให้ความยุติธรรมแก่พสกนิกรของพระองค์ ด้วยเหตุนี้เมื่อผู้พิพากษาตัดสินไปอย่างไรแล้ว ใดจะไปวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินนั้นไม่ได้ ถ้าไปทำเข้าก็จะมีความผิด เสมือนว่าได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

No comments:

Post a Comment