Tuesday, November 30, 2010

พรรคประชาธิปัตย์ในมุมมองของ "ดร.โกร่ง"

คนเดินตรอก
วีรพงษ์ รามางกูร

ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูปการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเครื่องชี้อย่างดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของบ้านเรา ต้องการการปฏิรูป อย่างรุนแรงและขนานใหญ่ มิฉะนั้นประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มี ระบอบการปกครองโดยพรรคใหญ่ พรรคเดียว ซึ่งไม่เหมาะกับบ้านเราและ เราก็ไม่ต้องการอย่างนั้น

พรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นที่ต้องถือว่าเป็นของประชาชน มิใช่พรรคของกรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรคเท่านั้น เพราะได้รับเงินจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนทั่วประเทศไปทำกิจกรรมของพรรค พรรคต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้เสียภาษีด้วย ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์มีเหตุผล ควรฟังว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไร อย่ามัวแต่ค้นหาว่าทำไมเขาจึงวิพากษ์วิจารณ์

เรื่องแรก พรรคต้องเปลี่ยนทัศนคติ เสียใหม่ การเอาแต่คิดโค่นล้มคู่ต่อสู้ ทุกวิถีทางนั้นต้องเปลี่ยนใหม่ แม้ว่าตอนที่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2489 พรรคประสบความสำเร็จในการโค่นล้มพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพ โดยการ ร่วมมือกับทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจอมพลผิน ชุณหะวัณ และจอมพลป.พิบูลสงคราม ลงเลือกตั้งโดยการ ช่วยเหลือของทหารในเดือนมกราคม 2491 เป็นรัฐบาลอยู่ได้ 4เดือน ก็ถูกทหารหักหลังจี้ให้ลาออก หลังจากนั้นก็ไม่ได้อะไร จนเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 เพราะทหารแตกคอกันเองไม่ใช่ฝีมือของพรรค

ทรรศนะที่ถูกต้องก็คือ ต้องสร้างผลงานในทางสร้างสรรค์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการต่างประเทศ ในด้านการต่างประเทศ ประเทศเราใหญ่พอที่ผู้นำของเราสามารถจะเป็นผู้นำของภูมิภาคอย่าง ดร.โมฮัมเหม็ด มหาเธร์ ได้น่าเห็นใจผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนมากเป็นทนายความ เป็นครู เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว มีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จน้อย หัวหน้าพรรคแม้ว่าจะมีอายุพอสมควรแล้ว มีการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของโลก แต่ไม่เคยทำงานรับผิดชอบจริงๆ ข้อสำคัญอยู่ไปๆ ถูกพรรคล้างสมองลืมหลักการทางปรัชญากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เสียสิ้น ค้านทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงกันข้ามทำ หรือฝ่ายตรงกันข้ามคิดผลจึงออกมาในสายตาประชาชนว่าที่คิดที่พูดนั้น ตนเอง ก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเลย แต่พูดไปตามมติพรรคซึ่งล้าสมัยแล้ว

เรื่องที่สอง เหตุที่พรรคมีทัศนคติในทางลบและไม่สร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ก็เพราะพรรคถูกครอบงำด้วยผู้นำรุ่นเก่าที่เคยประสบความสำเร็จโดยการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นรัฐบาลทหาร ขณะนั้นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลไม่มี เพราะทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ดีที่สุด ผู้นำพรรค ซึ่งบัดนี้อายุอยู่ระหว่าง65-75 ปี จึงติดยึดอยู่กับยุทธวิธีแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อมีพรรคใหม่ที่ผู้นำพรรคเกือบ100 คน มาจากคนที่มีประสบการณ์ทั้งทางธุรกิจและทางราชการ มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำการบ้านว่าคนชั้นล่างซึ่งมีสัดส่วนที่สูงต้องการอะไร และสามารถทำอย่างที่ตนสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งแล้วครั้งเล่าผู้นำพรรคก็ไม่ยอมรับความบกพร่องของตน แต่หลอกตนเองว่าพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เพราะฝ่ายตรงกันข้ามซื้อเสียง แต่ในกรณีที่ทหารและข้าราชการถูกสั่งให้มาช่วยอย่างเต็มที่ทั้งกำลังคน กำลังอำนาจ และกำลังเงินซื้อเสียงให้ แล้วยังแพ้อย่าง ยับเยิน ตนกลับไม่คำนึงถึง หลายคนบอกว่าแม้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่ซื้อเสียงเลยก็ยังชนะพรรคประชาธิปัตย์สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ ผู้ที่ออกจากพรรคไทยรักไทยไปอยู่พรรคอื่น กลับสอบตกเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่มีกระสุนจากทหารมาช่วยจำนวนมาก

เรื่องที่สาม ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ อาจแบ่งเป็นสองพวก พวกนักกฎหมายกับพวกครู จะไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง กฎหมายระเบียบแบบแผนเป็นอย่างไรก็ถือเป็นคัมภีร์ ให้ข้าราชการเป็นผู้แนะนำและชี้นำนโยบายในการทำงาน อีกพวกหนึ่ง เป็นพวกที่มีผลประโยชน์ จึงไม่ยอมให้ คนรุ่นใหม่เข้าไปรับผิดชอบพรรคจริงๆยังกุมอำนาจพรรคไว้ด้วยผลประโยชน์ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามพูดเสมอว่า กฎหมายระเบียบแบบแผนเป็นเครื่องมือที่จะทำให้งานสำเร็จ ประชาชนได้ประโยชน์ ถ้ากฎหมายข้อบังคับเป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข เพราะกฎหมายข้อบังคับระเบียบแบบแผนสร้างมาโดยมนุษย์ มนุษย์ย่อมสามารถแก้ไขได้ มนุษย์ต้องเป็นนายกฎมาย ไม่ใช่ให้กฎหมายมาเป็นนายมนุษย์ ข้าราชการไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายแต่เป็นผู้นำนโยบายของฝ่ายการเมืองไปปฏิบัติ กลับกันกับวิธีคิดของประชาธิปัตย์ ผลงานของประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ในฐานะของฝ่ายค้านจึงไม่ค่อยมีเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เคยร่วมรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลากว่า 15 ปี เคยถามเพื่อนฝูงชาวปักษ์ใต้ที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ฯ ว่าชอบผลงานของรัฐบาลพรรคไหน ไม่มีใครบอกว่าผลงานของประชาธิปัตย์ดีกว่าคู่ต่อสู้ ทุกคนบอกว่าผลงานของรัฐบาลคู่ต่อสู้ดีกว่า แต่ที่เลือกประชาธิปัตย์เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายเลือกประชาธิปัตย์ หรือที่เลือกก็เพราะผู้นำพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายหัวเป็นคนใต้เคยถามต่อว่าถ้านายหัวไม่อยู่แล้วจะเลือกอย่างไร ผู้ตอบก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันเอาไว้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิดพฤติกรรมการเลือก ส.ส.ของคนใต้ จึงต่างกับคนอีสานและคนเหนือ ที่เน้นว่า ส.ส.คนนั้นเคยทำประโยชน์ให้กับตนหรือชุมชนของตนแค่ไหน ส่วนในกรุงเทพฯเลือกไปตามกระแสที่สื่อมวลชนยัดเยียด ให้เพราะตนก็ไม่เคยได้ประโยชน์อะไร เป็นชิ้นเป็นอันจาก ส.ส.ของตนอยู่แล้ว เพราะตนเองก็มีเส้นสายโยงใยเองอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนเหมือนคนในต่างจังหวัด

เรื่องที่สี่ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่พยายามเข้าถึงคนระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานภาคเหนือ ภาคกลาง และแม้แต่ในกรุงเทพฯ พรรคไม่เน้นที่จะสร้างผลงาน แต่เน้นในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ทุกวิถีทาง พรรคจึงกลายเป็นทาร์ซาน พยายามจะช่วยเจนนี่โดยการโหนเถาวัลย์โหนกระแส และโหนทหาร แล้วให้เจนนี่คอยกอดเอว พอเจนนี่จับพลาดในที่สุดทาร์ซานก็ต้องป้องปากโห่อย่างโหยหวนลั่นป่า การทำตัวเป็นทาร์ซานจะไปถึงที่หมายโดยวิธีโหน จึงต้องละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางกฎหมาย ความถูกต้อง จารีต ประเพณี ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร่วมมือ กับทหารสร้างทางตันเพื่อเชื้อเชิญให้ทหารปฏิวัติ ทำลายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคฝ่ายตรงกันข้ามถูกยุบ ให้นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามถูกตัดสิทธิทางการเมือง และสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติ จะตอนพรรคการเมืองไม่ให้โต สร้างองค์กรอิสระที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นผลเสียกับตัวเองด้วยในระยะยาวแต่ก็ยอมทำ ทำให้พรรคเสียคะแนนจากผู้คนที่หัวก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่อย่างน่าเสียดาย การที่พรรคประณามนโยบายและโครงการที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรอบที่การเงินการคลังของประเทศรับได้ เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเฟือจนธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อยากจะได้ ว่าเป็นโครงการ 'ประชานิยม' เท่ากับการทำลายเสียงของตนเองกับคนระดับล่างทั่วประเทศและจำกัดตัวเอง เพราะถ้าตนเองเป็นรัฐบาล ก็คงต้องทำ หรืออาจจะทำมากกว่า เพราะที่ใช้หาเสียงสัญญาว่าจะทำมากกว่า

เรื่องที่ห้า พรรคประชาธิปัตย์เป็น พรรคปิด มีระบบอาวุโสที่เหนียวแน่น สมาชิกใหม่ให้อยู่ระดับล่าง หรือในสภาก็อยู่แถวหลังหรือที่อังกฤษเรียกว่า 'Back Benchers' แต่อังกฤษผู้นำพรรคที่นำ พรรคไปแพ้เลือกตั้งจะลาออกเกือบหมด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาแทน แต่ของเราไม่มีประเพณีอย่างนั้น สมาชิกรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสมานำพรรค ผู้นำพรรค ไม่มุ่งจะทำพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง เพียงแต่ได้ ส.ส.มากเพิ่มขึ้นก็พอใจจะอยู่ในตำแหน่ง ต่อไปแล้ว ส่วนฝ่ายตรงกันข้าม เน้นในเรื่องผลงานทางเศรษฐกิจของผู้ออกเสียง เน้นคะแนนนิยมในตัว ส.ส.เน้นการเมืองที่มีผลสำเร็จของการเลือกตั้ง เน้นทางด้านการหาเงินช่วยพรรค ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงเข้าใจดังนั้นจึงมีการสับเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคระดับรองๆ ลงไปอยู่ตลอดเวลา พรรคฝ่ายตรงกันข้ามจึงสามารถ 'ดูด' นักการเมืองให้เข้าพรรคได้มากขึ้นเสมอ เพราะมาอยู่แล้วโอกาสชนะการเลือกตั้งมีสูง ไม่ใช่เพราะเงินอย่างเดียวอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจ

เรื่องที่หก พรรคไม่เคยหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว หวังแต่เพียงเป็นแกนนำของรัฐบาลผสม เมื่อหวังเพียงเท่านี้ก็ทำให้มีทัศนคติว่า ถ้าสามารถทำลายพรรคคู่แข่งไม่ให้ลงมาแข่งในการเลือกตั้งก็พอแล้ว ถ้าพรรครู้จุดอ่อนความสามารถในการสร้างนโยบายใหม่ๆ ไว้ขายกับประชาชน ถ้าคิดไม่ออกก็ขวนขวายหาบริษัทที่ปรึกษาที่ชำนาญการ แต่ก็ไม่มีความพยายามแต่ใช้วิธีสะกดจิตตนเองว่า ตนเองเป็นฝ่ายเทพฝ่ายตรงกันข้ามเป็นฝ่ายมาร แท้จริงในงานการเมืองไม่มีใครเป็นเทพ ไม่มีใครเป็นมาร มีแต่ผู้ชนะกับผู้แพ้การเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสียภาษีอย่างพวกเราน่าจะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะให้แก้ไขปฏิรูปตนเอง เพราะผลการดำเนินงานของพรรคไม่คุ้มกับเงินภาษีที่รับไปจะโกรธจะเคืองอย่างไรก็ไม่ว่าเพราะไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นระบบการเมืองแบบพรรคเดียว ถ้าเมืองไทยเป็นการเมืองพรรคเดียวก็ต้องโทษประชาธิปัตย์ อย่าไปโทษใคร
คิดแล้วอ่อนใจ

หอไอเฟล: ประภาคารเหล็กผงาดค้ำเหนือศักดินา

โดย เพ็ญ ภัคตะ
ปีนป่ายใต้แสงสุรีย์สาดข
ณะที่อากาศธาตุสงัดสงบ
ช่อผกาช่วงชั้นที่หลั่นทบ
สยายกลีบยามพลบจุมพิตนภา

จากเปลวไฟในกมลคนนับล้าน
จุดโคมประภาคารแสวงหา
เคี่ยวความฝันสัญลักษณ์นครา
ประกาศแก่ดินฟ้าจบจักรพาล

จึ่งกอบเศษกิ่งเสนเป็นก้านแย่ง
สนิมเหล็กร้อนแรงสีแดงฉาน
ถักโยงเส้นใยไต่ทะยาน
ผงาดเหนือหมู่วิมานเพชรอำไพ

ปีนป่ายต้านท้าพายุฝน
ในนามสามัญชนคนยิ่งใหญ่
มิเคยหวั่นอสนีบาตอำนาจใด
หวดกระหน่ำแค่ไหนไม่ครณา

ยังจะมีสิ่งใดให้เจ็บปวด
เราคือกรวดทรายดินหินผา
เดิมพันแล้วด้วยชีวิตแลกอิสรา
เพื่อให้โลกรู้ค่า "คนส่องโคม"

สุดหอคอยใช่สิ้นแคว้นอนันตเขต
เยื้องกรายชายเนตรยลโฉม
มหานครทองทาหลังคาโดม
เลือนละลิบเล็งโลมดั่งเวียงร้าง

ที่สุดของชีวิตดวงจิตซ้อน
ที่สุดแห่งเชิงตะกอนใช่กลิ่นสาง
ลงบันไดด้วยใจที่ละวาง
ขออยู่ข้างชาวประชาสามัญชน

เขียนที่หอไอเฟล ตอนเรียนจบปริญญาเอกใหม่หมาดปี ๒๕๓๙ ตั้งใจว่ากลับไปประเทศไทยจะย้ายงานจากสำนักราชเลขาธิการ ไปเริ่มต้นใหม่ที่ไหนสักแห่ง

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "ศิลปวัฒนธรรม" ปี๒๕๓๙

Monday, November 29, 2010

ศาลใคร? คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร? โดย กาหลิบ

ใครแปลกใจในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์
แสดงว่ายังมีความลุ่มหลงกับระบอบโบราณของไทยว่าจะให้ความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมนี้ได้

การไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์โดยอาศัยประเด็นปลีกย่อยที่เป็นเทคนิคกฎหมาย
และเป็นตัวช่วยอย่างสำคัญต่อการก่อตัวขึ้นของระบอบประชาชน
หากยุบพรรคประชาธิปัตย์เสียอีก จะมีผู้ใหญ่ที่อ้างตัวเป็นแดงบางคนเข้ามาเชียร์ทันทีว่า
เห็นไหม ระบอบปัจจุบันยังใช้การได้ เราจะไปเคลื่อนไหวถึงขั้นระบอบและโครงสร้างกันไปทำไม

บุญเหลือเกินที่ความโง่บางชนิดถูกย่อยสลายได้ด้วยความจริงแบบเร่งด่วนทันใจ
ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญในแง่นี้เป็นอย่างยิ่ง

ใครติดตามวิธีพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด จะเห็นได้พร้อมกันว่า
ระบอบเผด็จการโบราณเขามีความชำนาญและความรอบคอบในการสร้างเครื่องมือแห่งอำนาจเป็นอันมาก

เครื่องมือเหล่านั้นมีอะไรบ้าง?
ขอให้ไปเปิดฟังคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาของ นายชวน หลีกภัยผู้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เสียอีกรอบ คราวนี้ฟังช้าๆ และจดประเด็นเอาไว้เหมือนเล็คเชอร์ด้วย เราจะได้ความรู้มากมายว่าฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน
เขาซุ่มซ่อนเครื่องมือเหล่านั้นไว้ตรงไหนและอย่างไรบ้างในระบบกฎหมายของระบอบเขา

อย่าลืมว่า!!!
ฝ่ายโบราณเขาไม่ได้ครอบงำบ้านเมืองนี้อย่างบังเอิญแบบบุญหล่นทับ
เขาได้อำนาจอันล้นพ้นมาด้วยการฆ่า การทำลาย การปล้นชิง
และการวางอาวุธทางการเมืองเอาไว้ในระบบย่อยที่รวมกันแล้ว
กลายเป็นระบบใหญ่ที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ระบอบ

ประชาชนหน้าไหนหาญกล้ามาแย่งชิง คนๆ นั้นจะรู้รสทันทีว่า
รูปลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สื่อสรรเสริญกันอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนยิ่งกว่าเกาหลีเหนือนั้น
แท้ที่จริงแล้วคืองูพิษตัวร้ายที่คอยฉกกัดทำลายสรรพสิ่งทั้งหลายรอบตัว แม้แต่พวกเดียวกันเองหากไม่ถูกใจ

ซีกประชาธิปไตยโดยเฉพาะส่วนพรรคเพื่อไทยก็ต้องถือว่าเดินงานถูกต้องมาตลอดในคดีพรรคประชาธิปัตย์
การให้ข้อมูลที่เหมาะสมแก่สังคมทั้งในรูปคดี และความชอบธรรมของผู้ตัดสิน ถือว่าใช้การได้
และควรนำไปสู่การตัดสินที่เที่ยงธรรมกว่านี้ แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น
พรรคเพื่อไทยก็ต้องหันหน้าเข้าหากันและร่วมตัดสินใจให้ชัดว่า
ควรจะมองปัญหาการเมืองแบบสมานแผลนิดหน่อยก็จะหาย หรืองานนี้จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่กันเสียที

มวลชนผู้ก้าวหน้านั้นเขามีคำตอบชัดเจนแล้ว เขาเพียงหันมาถามอีกครั้งว่า
พรรคเพื่อไทยจะถือเอาเหตุนี้ปรับเปลี่ยนท่าทีเสียใหม่และเดินเคียงคู่กันไป
หรือจะละทิ้งมวลชนไปสู่เพื่อเอาตัวรอดง่ายๆ ด้วยการขายตัวและหัวใจต่อไป

ความจริงไม่ควรเสียเวลาพิจารณามาตั้งแต่ต้นว่า
ประชาธิปัตย์ถูกยุบหรือไม่จะมีประโยชน์ใดๆ ต่อฝ่ายประชาชน
เพราะอำนาจในการยุบพรรคการเมืองไม่ควรอยู่ในมือของใครทั้งนั้น

สังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าตาสว่างเขาไม่มียุบพรรคกันหรอกครับ
เขาใช้วิธีลงโทษบุคคลผู้สร้างความเสียหายหรือทำความผิดทางกฎหมายของพรรคนั้นๆ แทน

พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นสมบัติของประชาชน เทวดาหน้าไหนไม่ควรมีสิทธิ์สั่งยุบทั้งนั้น
หากเรายืนอยู่บนหลักการว่าพรรคการเมืองมีสิทธิ์ถูกยุบได้ และเชียร์ให้อำนาจนอกระบบนั้นเบื่อหน่ายคิดยุบพรรคที่เราชิงชัง
สุดท้ายก็เท่ากับเราสนับสนุนระบอบการเมืองแปลกประหลาด ที่อนุญาตให้อำนาจนอกระบบ
เอื้อมมือเข้ามายุ่งกับสถาบันการเมืองของประชาชนได้ต่อไป

สองประเด็นนี้ทับซ้อนกัน ต้องพิจารณาให้ดี

ในขั้นต้นนั้นอาจนำกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์มาฉีกหน้ากากของระบอบการปกครองไทยในปัจจุบันได้
แต่ในขั้นที่ลึกลงไปแล้ว เราไม่ควรเชียร์อำนาจนอกระบบที่แอบเข้ามายุบพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองสีอะไร
และต้องเชิดหน้าให้สูงกว่าทาส โดยยืนยันในศักดิ์ศรีความเป็นคนของตัวเราเอง

พรรคการเมืองใดที่เราไม่ชอบก็อย่าเลือก อย่าเข้าเป็นสมาชิก และงดสนับสนุนในทุกทาง
แต่อย่าเรียกร้องหรือหวังผลให้เกิดการยุบพรรคของเขา

ในระบอบประชาธิปไตยนั้น พรรคของเขาก็คือพรรคของเรา แต่เราจะเลือกใครสู่อำนาจเมื่อใดคือสิทธิทางการเมืองของเรา

อำนาจศาลของเขาสิครับ ไม่ใช่่อำนาจของเราอย่างแน่นอน นั่นล่ะครับคือประเด็นต่อสู้.

จีนเติบโตอย่างยิ่งใหญ่...เมื่อเริ่มใจถ่อม

โดย : มนตรี ศรไพศาล
หนังสือพิมพ์มติชน

ชาวโลกได้เห็นงานเปิดและปิด กีฬาเอเชียนเกมส์อย่างยิ่งใหญ่ ต่อเนื่องจากงานกีฬาโอลิมปิคอลังการ และงานเวิรลด์เอ็กซโปตระการตา ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของจีนในทุกวันนี้อย่างแท้จริง

จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จีนเป็นผู้นำในด้านการผลิต การส่งออก การนำเข้า
จีนมีทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศสูงสุด ในประวัติศาสตร์โลก กว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
จีนกำลังมีคนรวยมากที่สุด กำลังมีรถหรูเช่น รถเบนซ์มากที่สุดในโลก

แม้จีนยังมีคนจนมาก รายได้เฉลี่ยประมาณ 6,800 เหรียญต่อคนต่อปี ไทยมีรายได้เฉลี่ย 8,000 เหรียญต่คนต่อปี เขากลับเริ่มมีคนร่ำรวยมากที่สุด มีรถหรูหรามากที่สุด

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขายังใช้หลักการเศรษฐกิจรวมศูนย์ (Centralized Economy) แบบคอมมิวนิสต์อีกต่อไป แต่เป็นเพราะเขาเริ่มใช้หลักการเศรษฐกิจเสรี (Market Economy)

ได้รับฟังมามาก สมัยปฏิวัติคอมมิวนิสต์ มักจะมีการรวมคนยากคนจน ให้โกรธ แค้น ยกประเด็นว่า ที่เรายากจนก็เพราะถูกกดขี่ (ซึ่งอาจจะมีจริงในบางพื้นที่ในอดีต) รวมพลังกันยึดอำนาจ แล้วผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจนั้น ใช้หลักการที่ว่า “ทุกคนจะได้มีความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น”

โลกคอมมิวนิสต์ได้เติบโตแพร่หลายมากในหลายประเทศ สหภาพโซเวียต จีน เวียดนามเหนือ เกาหลีเหนือ ฯลฯ มีผู้กล่าวว่า การใช้เศรษฐกิจรวมศูนย์และมีเป้าหมายให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันนั้น ได้ผลครับ
... คือ ทุกคนจนเหมือนกันหมด

จนสหภาพโซเวียตต้องแตกสลาย ความคิดแบบคอมมิวนิสต์เริ่มยอมแพ้ต่อโลกเศรษฐกิจเสรี ที่ฐานะความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตดีกว่ากันมาก

ความร่ำรวย ความหรูหรา คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่คุณภาพชีวิตเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนนหนทาง การค้าขาย กำลังซื้อของตลาด (ซึ่งทำให้เราค้าขายได้ดี) การอนามัย การมีงานทำ ฯลฯ ประเทศที่ยากจนนั้นก็ไม่สามารถมีเทียบเท่ากับประเทศที่ร่ำรวยได้

และยิ่งต่อสู้ให้ฐานะเท่ากันเท่าไร ก็ทำได้เพียงทำให้จนเท่ากันเท่านั้น

เมื่อจีนเริ่มใช้หลักเศรษฐกิจเสรี คนทำมาก ได้มาก เก็บได้มาก มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งประทับใจมาก เล่าให้ฟังว่า 3-4 ทุ่ม เกษตรกรจีนก็ยังทำงานกันอยู่เลย เพราะก่อนหน้านี้ ทำมากเท่าไร ก็เก็บเป็นของตัวเองไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำได้แล้ว จึงทุ่มเททำงานกันหนักมากขึ้น

ผมเคยไปจีน หรือเวียดนามหลายปีที่แล้ว ประชาชนหลายพื้นที่ ยังอยู่กันอย่างยากจน แต่เล่นไพ่กันกลางวันแสกๆ ทำให้เห็นปัญหาของแต่ก่อนว่า ถ้ากติกาคือ ทำแล้วเอาผลผลิตมาแบ่งกันโดยผู้ปกครอง เพื่อความเท่าเทียมกัน ก็อาจทำให้คนไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงาน อาจมีบางคนกินแรงคนอื่น และหากคนส่วนใหญ่ไม่อยากเสียเปรียบต่อผู้กินแรง ก็ทำให้ผู้คนยากจนกันมากขึ้น

ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเวียดนามเหนือ เมื่อประมาณปี 1997 คนของเขาลำบากยากจน เขาบ่นว่า แม้กระทั่งแพทย์ก็ต้องทำงานเท่าเทียมกัน คือไปขุดดินสัปดาห์ละครั้ง คนลากรถยินดีรอผม 2 ชั่วโมงที่หน้าสำนักงาน เพื่อจะได้ทำงานหนึ่งครั้ง 20 บาท เท่านั้น !

ผมเพิ่งได้มีโอกาสไปเซี่ยงไฮ้ปีนี้ เห็นความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ของเขา เราได้ไปเที่ยวลงเรือล่องแม่น้ำชมความสวยงาม โชคไม่ดีนัก เราต้องรอเรือรอบต่อไปนานพอสมควร แต่เราก็อยู่กลุ่มแรกๆ เมื่อขึ้นเรือ ก็มองเห็นข้างหน้าเรือ มีเก้าอี้วางสำหรับตากลม และจะเห็นภาพชัดมาก

แต่เราก็ไม่รู้จริงๆว่าจะไปนั่งได้อย่างไร พูดจีนก็ไม่ค่อยจะเป็น เราก็จึงขึ้นบันไดไปชั้น 3 ดาดฟ้า เพราะอยากได้อากาศธรรมชาติ แต่ไม่มีเก้าอี้นั่ง จึงรีบกลับลงมาข้างล่าง เห็นคนจีนเข้าไปข้างหน้าหลายคน นึกว่าคงเป็นพวกใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ผมกัดฟันเข้าไปถามเขา ด้วยความทนงว่า แม้ภาษาจีนจะไม่ค่อยได้ ภาษามือก็น่าจะช่วยชีวิตได้อยู่

ผมจึงชี้ไปข้างหน้า ชี้ไปที่เก้าอี้หน้าเรือ กล้าๆถามไปว่า “เจิ่นอี๋ยั่ง” แปลว่า “ทำยังไง?”
เธอมองหน้าผมอย่างประหลาดใจ หน้าตาก็เกือบจะจีนๆ พูดได้เท่านี้ เธอจึงชี้ให้ผมอ่านที่ป้าย ซึ่งเขียนว่า “20 หยวน”

“โธ่เอ๋ย” ผมคิดในใจ “แค่คนละ 100 บาท กว่าจะบินมาบินกลับก็หลายตังค์ อีกแค่คนละ 100 บาท เราก็ไม่รู้นั่งรออยู่ตั้งนาน ในที่สุดก็จ่ายไปคนละ 20 หยวน และได้นั่งเก้าอี้หน้าเรือสมใจ

ทำให้ผมได้คิดว่า ในที่สุด เขาก็เข้าใจ “ความเท่าเทียม” กันของมนุษย์มีมากมาย พระเจ้าทรงประทานชีวิตมา ... ให้โอกาสเลือกทางสว่าง หรือทางมืด เท่าเทียมกัน ...ให้โอกาสเลือกที่จะเป็นสุขกับชีวิตของตัว หรือเป็นทุกข์กับชีวิตของตัวเท่าเทียมกัน ...ให้โอกาสเลือกดำเนินชีวิตให้สูงขึ้นหรือต่ำลงเท่าเทียมกัน ...ให้โอกาสเลือกจะรักหรือจะเกลียดชัง เท่าเทียมกัน ...ก็แล้วแต่เราจะเลือก

เราได้รับเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่าเทียมกัน เรามีอากาศหายใจที่สดชื่นเดียวกัน หากเราขาดอากาศหายใจเราก็ตายเหมือนกัน
พระเจ้าสร้างเรามาเป็นดังอวัยวะของกายเดียวกัน ไม่ใช่สร้างมาเป็นอวัยวะแบบเดียวกัน ถ้าเราไม่มีนิ้วมือเลย แต่มี 12 ตา ชีวิตจะเป็นอย่างไร ? เราจึงน่าดีใจ ที่มีกันและกัน แตกต่างกัน แต่รักและพึ่งพากัน

หลักการเศรษฐศาสตร์ตามพระคัมภีร์คือ “เสรีภาพ” พระเจ้าให้เสรีภาพมนุษย์ตั้งแต่สมัยอาดัมกับเอวา จึงไม่ควรมีใคร จะวางตัวเป็นพระเจ้า รวมศูนย์การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โลกคอมมิวนิสต์จึงล่มสลาย และได้ใช้หลักเศรษฐกิจเสรีพัฒนาโลกต่อไป

เมื่อจีนได้ใช้หลักเศรษฐกิจเสรีมากขึ้น แม้มีความแตกต่างมากขึ้น ก็ไม่หยิบยกมาคิดว่า “เป็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากการเอาเปรียบกัน” เคารพสิทธิ์กันและกัน ไม่แก่งแย่งกัน รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ไม่มีใครวางตัวเป็นศูนย์อำนาจทางการค้า ให้สิทธิ์พิเศษกับใครอีกต่อไป ค้าขายกันอย่างเสรี

...จีนจึงก้าวหน้ายิ่งใหญ่ เพราะใจถ่อม ต่อ กลไกตลาดเสรี อย่างแท้จริง ซึ่ง สำหรับผลของ “กลไกตลาดเสรี” นั้น ตำราเศรษฐศาสตร์จะใช้คำว่า “Invisible Hands” คือ “พระหัตถ์ (พระเจ้า) ที่มองไม่เห็น”

จากนี้ไป ผมก็ยังคาดหวังว่า ทุกคน จะดำเนินชีวิต ทางเศรษฐกิจและสังคม ไปตามตามกลไกตลาด หรือ พระหัตถ์ที่มองไม่เห็นต่อไป

หากการค้าระหว่างประเทศไม่สมดุล ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า อย่างจีน ไทย และชาติเอเชีย น่าจะมีค่าเงินที่แข็งขึ้น และประเทศที่ขาดดุลการค้าอย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปน่าจะมีค่าเงินที่อ่อนลง

สำหรับใจผม ผมอยากเห็นจีนใจอ่อนลง พยุงดอลลาร์น้อยลง กดหยวนน้อยลง ยอมให้หยวนแข็งค่า คนจีนมีฐานะดีขึ้น ซื้อของชาวตะวันตกมากขึ้น จ่ายค่าน้ำมันถูกลง จ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่างๆถูกต้องมากขึ้น ฯลฯ โลกก็จะสมดุลมากขึ้น

เราเป็นอวัยวะของกายเดียวกัน หากส่วนหนึ่งเจ็บ ที่เหลือก็เจ็บด้วย จึงน่าจะได้เวลาที่ชาวโลก จะมองทิศทางตาม “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” ให้ออก และช่วยเหลือกันให้โลกพ้นวิกฤตด้วยครับ

Sunday, November 28, 2010

วันหนึ่ง เราจะฝ่าข้ามไป : วิสา คัญทัพ

แปลจากเพลง We shall overcome ของ Pete Seeger


เราจะฝ่าข้ามไปไม่ท้อแท้
เราฝ่าข้ามพ้นแน่ สักวันหนึ่ง
เชื่อมั่นโดยรู้สึกอันลึกซึ้ง
เราจักข้ามไปถึงโดยทั่วกัน

เดินกุมมือกันมั่นไม่หวั่นไหว
เรากุมมือกันไปไม่ไหวหวั่น
ลึกลงในหัวใจไม่กี่วัน
เราจะฝ่าข้ามมันอย่างแน่นอน

เราจะพบคืนวันสันติภาพ
ภาพสันติฉายฉาบรังสีสะท้อน
หัวใจเชื่อมั่นว่าภราดร
สันติภาพสถาพรจะเป็นจริง

เราไม่กลัวอะไรและไม่หนี
ไม่กลัวแล้ววันนี้ในทุกสิ่ง
ทั้งเชื่อมั่นสุดใจไม่ทอดทิ้ง
เดินและวิ่งรุดหน้าฝ่าข้ามไป

หมดทั้งโลกกว้างใหญ่อันไพศาล
โจนทะยานสง่างามข้ามไปได้
ต้องมีสักวันหนึ่งถึงเส้นชัย
เราจะฝ่าข้ามไปได้แน่นอน

สถาปนาสถาบันประชาชน : ไม้หนึ่ง ก.กุนที

ไม้หนึ่ง ก.กุนที , ที่มา : ประชาไท
1
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
สายลมปฏิปักษ์จึงพัดหวน
การรื้อสร้างไม่อาจทำอย่างนุ่มนวล
ทุกชิ้นส่วน ต้องกล้านับ 1 ใหม่

เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
ทรรศนะทางชนชั้นไม่ขยาย
'475 พริบตาเป็นอาชาไนย
แล้วก็กลับเป็นงัวควาย เหมือนๆ เดิม

เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
สิทธิ์หน้าที่แจ่มชัดไม่ทันเริ่ม
ลงหมุดแล้วไม่ตอกต่อเสาเติม
เอาเครื่องเรือนไปปลูกเสริมสร้างเวียงวัง

เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ จึงล้าหลัง
กรรมกรชาวนาเงินน้อยจัง
แต่สะพรั่งแน่นซองขาวในพานทอง

2
คณะราษฎร คือเด็กสาว
มีความรักเยาวัยได้ตั้งท้อง
ถ้าพวกคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง
เลือกทำแท้งหรือจะบำรุงครรภ์

เด็กในท้อง อาจคลอดเป็นผู้แทนถ่อย
ชั่วหรือดีอยู่ที่เลี้ยงอย่างสร้างสรรค์
อดทนคอยให้เราพัฒนาการ
ย่อมเติบใหญ่สมบูรณ์งามตามเวลา

ยุทธศาสตร์ "ราษฎรยังไม่พร้อม"
คุณไม่เคยยินยอมให้เราก้าวหน้า
เฝ้าแทรกแซงแบ่งแซะเสมอมา
เป็นประชาธิปไตยใจพิการ

ใจพิการ เพราะประชาไร้อำนาจ
ความเป็นชาติอยู่ในกำมือทหาร
การตัดสินของหมู่ตุลาการ
ไม่พิพากษาในนามมหาชน

วางระเบิดระบบการศึกษา
ถึงเวลามืดบอดไม่เห็นหน
ทัศนวิสัยใบ้จำนน
ปัญญาชนบื้อพันหลักสนตะพาย

ชนชั้นกลาง กลวงว่างเปล่าสมอง
บกพร่องทำปัญญาเสื่อมสูญหาย
ชีวิตไหว เบาหวิว ปลิวสะบาย
แย่กว่าควาย..ไม่มีใครยอมไถนา !

3
เขารวมตัวคืนอำนาจให้บางคน ?
ยืนเดินนั่ง ตะโกนกันคลั่งบ้า
กู่ปาวๆ เอาประเทศไทยคืนมา
คืนมาจากกำมือประชาไทย !

ความก้าวหน้าปรากฏในชนชั้นล่าง
การเลือกตั้ง ปี 50 ยืนยันได้
กองทัพยึดเบ็ดเสร็จกุมกลไกล
ไม่สามารถบล็อกโหวตทหารเกณฑ์

เพราะว่าคุณ ประมาทราษฎร
ทุกครั้งเคยเขย่า คลอนหัวเล่น
เราเอียนรสคุณธรรม ทนลำเค็ญ
เลือกประชาธิปไตยเส้นทางทุน

เหนื่อยอาภัพ หยาบกร้านมานานนัก
ข้าวปลาผักเธอว์ปรุงกินกันหอมกรุ่น
แต่ตอบแทนเราด้วยเนรคุณ
กินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่นเสมอมา !!!

4
การเมืองไทยก้าวหน้าไปมาก
แม้แต่ นายสมัครฯ ก็ยังมีความก้าวหน้า
แสงแห่งทุนกระตุ้นเหล่าศักดินา
เร่งผูกขาดค้าขายขยายคลัง

การเมืองไทยก้าวหน้าไปมาก
คนรากหญ้ายิ่งไม่ยอมอยู่ล้าหลัง
ชัดเจนสิทธิ์หน้าที่มีกำลัง
เริ่มก่อสร้างยุคศรีอาริย์ด้วยมือตัว !

5
เสรีชน แพร่ลามเหมือนแบคทีเรีย
แทะนรกสวรรค์กัดดีชั่ว
เหลือเพียงพุทธปรัชญาขับมืดมัว
บัว 4 เหล่ารกทุกชั้นฐานันดร

6
นับปีผ่าน จาก 17 สู่ 40
รัฐธรรมนูญพัฒนาครึ่งมาค่อน
แม้หมกเม็ดแทรกซึมบางบทตอน
เช่นองค์กรอิสระของบางใคร ?

แต่ก็ถือว่าเกือบจะเต็มใบอยู่
ถ้าสังคมเติมความคิดที่สดใหม่
ล้างงมงาย ชนชั้นนำโบราณภัย
ฝ่าตีนใหญ่สุมหัวเลอะฝุ่นละออง

การรุกคืบของอำนาจประชาชน
ปฏิปักษ์ สานเล่ห์กลขึ้นปกป้อง
สามัคคีให้คนดีรุมปกครอง
สมองหวาน ปรองดองเพื่อแผ่นดิน

7
แผ่นดินหรือแท้คือประชารัฐ
ทับถมร่างเปื่อยเป็นชาติคลอบคลุมสิ้น
เลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาก่อชีวิน
เกิดฟอสซิ่ล ทอง เพชร นิล จินดา

ธาตุกระดูกสามัญชนซึมรากข้าว
สร้างข้าวเจ้า ข้าวเหนียวอุดมค่า
สุกทิพย์ทองผ่องทุ่งปรุงท้องนา
เลี้ยงขุนศึกศักดินาเนรคุณ !!!

แผ่นดินหรือคือสมบัติไทยทั้งชาติ
เลี้ยงเจ้าทาสมูลนายมาทุกรุ่น
อภิวัฒน์แล้วสิ้นฤทธิ์สิทธิ์สมบูรณ์
คุณเกิดด้วยราษฎรการรุณ นะภูมี

8
แต่คุณแทบเป็นหุ้นส่วนทุกบริษัท
ผลกำไร ไม่จำกัดทุนวิถี
กินล้นเหลือเจริญเกินอ้วนพี
ขณะผองคนมากมายไม่มีกิน

เหงื่อทั้งปวงที่คุณเปลืองพลัง
แค่ละอองชนชั้นล่างทั่วท้องถิ่น
เรายากจน ทนทุกข์ ขลุกโคลนดิน
คือตัวจริงผลิตสินสมบัติเมือง

9
ประชาชนของคุณคือคนไหน ???
คนสมบูรณ์หน้าใส ใส่เสื้อเหลือง ?
คนเสื้อแดงมอมแมม แสนฝืดเคือง ?
คนเซื่องซึมจรจัดขาดอาภรณ์ ?

ความเป็นชาติของคุณอยู่ที่ไหน ???
สิเนรุอำไพเผือกสิงขร ?
เราคือฐานพีระมิดประชากร !
กัดกร่อนเราเร่งคุณล้มลงระยำ !!!

Friday, November 26, 2010

อภิสิทธิ์

‘อภิสิทธิ์’ ลั่นค้าน ‘พ.ร.บ.ความมั่นคง’ (เหตุเกิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว)
ทัศนะของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” (เมื่อ 2 ปีที่แล้ว) คัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเห็นว่าหากนิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” อย่างไม่แยกแยะ อาจมีการใช้กฎหมายในทางที่ผิด และย้ำว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่ใช้ความ รุนแรง การควบคุมต้องต่างจากการก่อการร้าย และย้ำว่าหากกฎหมายผ่าน สนช. ต้องแก้ไข
“ปัจจุบัน การกระทำที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมีความหลากหลายมาก แต่กฎหมายทุกฉบับจะพยายามนิยามให้ครอบคลุมกว้างๆโดยไม่จำแนกแยกแยะ และมักจะใช้เครื่องมือตามกฎหมายโดยไม่มีการแยกแยะเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเกิดความเสี่ยงที่ “ภัยคุกคาม” บางชนิดจะป้องกันปราบปรามไม่ได้ ขณะที่อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด”

“ขณะ ที่ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่มีการจงใจที่จะละเมิดกฎหมายในลักษณะ ของการใช้ความรุนแรง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย การควบคุมสถานการณ์ในลักษณะนี้ ต้องการการปฏิบัติแตกต่างจากการก่อการร้ายอย่างชัดเจน”

“การตรากฎหมายครั้งนี้ ต้องตระหนักว่า กฎหมายที่ออกมาจะบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือยกเลิกซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก
ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

ดัง นั้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงอย่างแท้จริง การดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ จึงควรกระทำด้วยความรอบคอบ และยึดถือหลักการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,
ในบทความ “กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน”, 24 มิ.ย. 50


“ต้อง รอดูก่อนว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่าน สนช.หรือไม่ หากผ่านมาแล้วไม่ได้มีการปรับแก้ในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง รวมถึงกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องปรับแก้ ต่อไป”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 10 พ.ย. 50


“กฎหมาย ฉบับนี้ไม่ได้ห้ามการชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมหากจะเคลื่อนไหวในความสงบก็ควรให้ความร่วมมือ เนื่องจากกังวลว่าอาจมีมือที่สามเข้ามา ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้เป็นเรื่องการต่อต้านการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ต้องการให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อยและน่าจะเข้าใจกันได้”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 26 ส.ค. 52


เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยให้มีการประกาศใช้ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. - 1 ก.ย. เป็นเวลา 4 วัน ในบริเวณพื้นที่เขตดุสิต โดยให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ [1]

ใครจะไปคิดบ้างว่า คนที่สั่งการให้ใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ในวันนี้ คือคนที่เคยคัดค้านการมีกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เมื่อ 2 ปีก่อน


พ.ศ. 2550
หากไม่แยกแยะ อาจมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด

โดยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2550 ในช่วงรัฐบาล คมช. ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีความพยายามผลักดันกฎหมายความมั่นคงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่บทความ “กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ของเขาในเว็บไซต์ www.abhisit.org แสดงความห่วงใยกรณีที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายความมั่นคง โดยเกรงว่าหากนิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” โดยไม่แยกแยะ อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด รายละเอียดของบทความมีดังนี้
กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 24 มิถุนายน 2550
ที่มา: http://www.abhisit.org/visiondetail.php?cate_id=55

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราช อาณาจักร พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการทำงานด้านความมั่นคง และเป็นการกำหนดโครงสร้างการทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ไปพร้อมๆ กัน โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีการนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ความจริง ความพยายามที่จะตรากฎหมายใหม่ทางด้านความมั่นคงมีมาโดยตลอด หลังจากที่ปัญหาการก่อการร้ายสากลได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 และดูจะเป็นปัญหาที่หลายประเทศมีความตื่นตัวและข้อถกเถียงอย่างมาก

รัฐบาลที่แล้วก็เคยตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

หลังการรัฐประหาร ก็มีการนำกฎอัยการศึกมาประกาศใช้และยังคงใช้อยู่ในหลายพื้นที่

พร้อมๆ กับการเกิดแนวคิดที่จะใช้ กอ.รมน. เคลื่อนไหวงานด้านมวลชน ซึ่งแยกแยะได้ยากว่า เป็นงานความมั่นคง หรือเป็นงานการเมือง

แม้สภา นิติบัญญัติแห่งชาติจะเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ก็เชื่อว่า การพิจารณากฎหมายฉบับใหม่จะเป็นไปอย่างเข้มข้น และการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้จะมีขึ้นอย่างกว้างขวาง ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะนอกจากกฎหมายลักษณะนี้จะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้าง ขวางแล้ว หากกำหนดเครื่องมือความมั่นคงที่ไม่รัดกุม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการดูแลรักษาความมั่นคงด้วย

ผมจึงอยากเห็นการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างมีกรอบและหลักคิดที่ชัดเจนดังนี้

1. นิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” ในลักษณะต่างๆให้ชัด ปัจจุบัน การกระทำที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมีความหลากหลายมาก แต่กฎหมายทุกฉบับจะพยายามนิยามให้ครอบคลุมกว้างๆโดยไม่จำแนกแยกแยะ และมักจะใช้เครื่องมือตามกฎหมายโดยไม่มีการแยกแยะเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเกิดความเสี่ยงที่ “ภัยคุกคาม” บางชนิดจะป้องกันปราบปรามไม่ได้ ขณะที่อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด

ยก ตัวอย่างเช่น การก่อการร้าย ซึ่งหมายถึง การมุ่งทำลายล้างชีวิตหรือทรัพย์สินต่างๆ ในปัจจุบันจะอาศัยเครื่องมือ อุปกรณ์ การติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการควบคุม หรือ จำกัดสิทธิในบางสถานการณ์ บางครั้งการจำกัดสิทธิอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตของบุคคลทั่ว ไป แต่ก็จำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ

ขณะที่ ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่มีการจงใจที่จะละเมิดกฎหมายในลักษณะ ของการใช้ความรุนแรง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย การควบคุมสถานการณ์ในลักษณะนี้ ต้องการการปฏิบัติแตกต่างจากการก่อการร้ายอย่างชัดเจน

อย่าลืม ว่าในโลกปัจจุบัน การป้องกันการก่อการร้าย เป็นเรื่องที่โลกประชาธิปไตยยอมรับได้ แต่การจำกัดสิทธิทางการเมือง นอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงอีกด้วย

กฎหมายใหม่จึงควรมีการแยกแยะกรณีต่างๆ ออกจากกันอย่างชัดเจน

2. ต้องมีความชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ เราอยู่ในช่วงที่กำลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนกฎหมายแม่บทรับรองสิทธิ เสรีภาพต่างๆเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 บางมาตราอาจมีความเข้มข้นกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ด้วยซ้ำ นอกเหนือจากกฎอัยการศึก ซึ่งมักจะมีการเขียนรับรองไว้ กฎหมายอื่นๆ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ และการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในสาระ สำคัญ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น การตรากฎหมายฉบับใหม่จึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากมีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะบังคับใช้ไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา

3. สะสางกฎหมายความมั่นคงให้เกิดเอกภาพ หากมีการใช้กฎหมายฉบับใหม่ควบคู่ไปกับกฎหมายอีก 2 ฉบับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและสับสนในเรื่องการใช้อำนาจในทุกระดับ ตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมาย การมีอำนาจ การมอบอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรณีของกฎหมายใหม่เป็น กฎหมายในลักษณะที่ให้มีอำนาจถาวรจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้สูง

เมื่อจะ ตรากฎหมายทั้งที ควรจะจัดระบบกฎหมายความมั่นคงให้เป็นเอกภาพ มิใช่เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่เพื่อให้ประชาชนซึ่งอาจถูกจำกัดสิทธิรับทราบและเข้าใจ

4. ต้องมีกลไกควบคุมหรือถ่วงดุลการใช้อำนาจ แม้ในบางสถานการณ์รัฐจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจเด็ดขาด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ การบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ไม่มีความรับผิดก็ดี การยกเว้นคำสั่งและการกระทำมิให้อยู่ภายใต้บังคับศาลปกครองก็ดี ทำให้โอกาสที่จะมีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเกิดขึ้นได้มาก ควรยอมรับให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้ โดยอาจให้การยกเว้นเป็นเพียงเฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็นในการปฏิบัติการ เป็นต้น นอกจากนี้การควบคุมตัวที่ไม่ถือว่าเป็นการจับกุม ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนที่เกิดขึ้นในการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกลับเป็นการเพิ่มบุคคลที่มีทัศนคติที่เป็นลบต่อรัฐ

5. ใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคง การกำหนดโครงสร้างในกฎหมายใหม่ ยังมีความลักลั่นและความสับสนอยู่ เช่น การคาบเกี่ยวกันของสำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น หากจะมีกฎหมายในเชิงโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคง ก็ควรจะใช้โอกาสนี้ สะสาง และปฏิรูปไปในตัว

การตรากฎหมายครั้งนี้ ต้องตระหนักว่า กฎหมายที่ออกมาจะบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือยกเลิกซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก

ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

ดัง นั้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงอย่างแท้จริง การดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ จึงควรกระทำด้วยความรอบคอบ และยึดถือหลักการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน


0 0 0

พร้อมปรับแก้

ต่อมา เมื่อ 10 พ.ย. 2550 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในวาระแรกไป แล้ว โดยอภิสิทธิ์เห็นว่าหาก พ.ร.บ.นี้ผ่านแล้วมีประเด็นกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้อง ปรับแก้

โดยเขากล่าวว่า จุดยืนประชาธิปัตย์ชัดเจนว่ากฎหมายใดก็ตามหากขัดหลักประชาธิปไตย ก็จำเป็นต้องปรับแก้ เพราะไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น เช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการดำเนินการใดๆ รวมทั้งขอบเขตอำนาจหน้าที่ต่างๆ แต่บางเรื่องอาจจะพอเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลได้ อาทิ การที่เกรงว่าหากมีการนำเรื่องไปร้องศาลปกครองแล้วศาลปกครองมีคำสั่งคุ้ม ครองชั่วคราว จะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้อาจจะพอรับได้ แต่ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจน ไม่ได้หมายความว่ายกเว้นการตรวจสอบตลอดไป

"อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูก่อนว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่าน สนช.หรือไม่ หากผ่านมาแล้วไม่ได้มีการปรับแก้ในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง รวมถึงกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องปรับแก้ ต่อไป" [3]


0 0 0

คำแนะนำของผมก็คือ สนช.ควรจะพักผ่อน

อีกไม่กี่วันก่อนการลงมติ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดย สนช. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเชิญไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยซึ่งจัดในช่วง ค่ำ

ในตอนหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะที่จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ว่า ตอนนี้ สนช.ควรจะพักผ่อนได้แล้ว

"คำแนะนำของผมก็คือ สนช.ควรจะพักผ่อน รอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง"

นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าหากกฎหมายความมั่นคงผ่านการพิจารณาของ สนช. และพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคของเขาจะไม่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่จะแก้ไขในสาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.คำจำกัดความของคำว่า "ความมั่นคง" ที่ขณะนี้ดูเหมือนว่าครอบคลุมกว้างขวางเกินไป 2.ปรับแก้โครงสร้างองค์กรที่ รับผิดชอบความมั่นคง (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน.) โดยต้องทำให้สามารถตรวจสอบได้ 3.ศาลปกครองจะต้องมีอำนาจเหนือกฎหมายนี้ และสามารถดูแลการละเมิดสิทธิ์ผู้บริสุทธิ์ได้ 4.จะพยายามปรับให้กฎหมายฉบับ นี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญน้อยที่สุด
โดยถัดมาหลังจากนั้น วันที่ 20 ธ.ค.50 เวลาประมาณ 20.00 น. ที่ประชุม สนช. ก็ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยมติเห็นชอบ 105 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยใช้เวลาในการอภิปรายประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง และไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญ

พ.ศ. 2552
ไม่ได้ต่อต้านการชุมนุม แต่ต้องการให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

ผ่านมา 1 วัน หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงสาเหตุ ที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เขตดุสิต ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน โดยระบุว่าเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“สาเหตุ ที่ประกาศพื้นที่รักษาความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่เขตดุสิต ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน เพื่อรับมือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 30 สิงหาคม เพื่อต้องการให้การชุมนุมเกิดความเรียบร้อย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้าม การชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมหากจะเคลื่อนไหวในความสงบก็ควรให้ความร่วมมือ เนื่องจากกังวลว่าอาจมีมือที่สามเข้ามา ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้เป็นเรื่องการต่อต้านการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ต้องการให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อยและน่าจะเข้าใจกันได้
ต้องขอ ความกรุณาสื่อมวลชนเสนอข่าวสารให้ชัดเจนว่า รัฐบาลใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ แต่ไม่ได้บอกว่าเหตุจะเกิดจากใคร และคิดว่าหากทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความสงบ ขอให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือก็เท่านั้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็ชุมนุมโดยสงบไป ก็ไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม ไม่ได้จับตากลุ่มเคลื่อนไหวใดเป็นพิเศษ แต่จับตาทุกกลุ่ม เพราะกังวลว่าเมื่อเกิดการชุมนุมใหญ่ ก็จะมีความละเอียดอ่อนทั้งหมด เพราะช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเกิดความเสียหายกับประเทศมาก และไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก

รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้เกิดความสงบทั้งหมด และหากการชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหา”

แนวคิดทฤษฎีว่าด้วย "สิทธิ"

1. สิทธิ (Right)
ความคิดเรื่องสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยในสังคมปัจจุบัน ดังเห็นได้ว่า “สิทธิ” เป็นคำที่เราอ้างถึงอยู่เสมอเพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในสิ่งที่เราทำ เช่น เรามีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้เรามักอ้างถึง “สิทธิ” เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในสิ่งที่เราเห็นว่าควรได้รับจากผู้อื่นและสังคม เช่น เรามีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทั้งนี้เมื่อเราอ้างถึง “สิทธิ” มีนัยว่าเราเรียกร้องให้ผู้อื่นต้องเคารพและปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม แม้มโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยในสังคมปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเราเข้าใจมโนทัศน์นี้ดีหรือไม่ เช่น เรารู้หรือไม่ว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเกิดขึ้นเมื่อไร, “สิทธิ” หมายถึงอะไร, อะไรเป็นลักษณะสำคัญของสิทธิ, อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอ้างได้ว่าเรามีสิทธิต่างๆ และการที่สังคมให้ความสำคัญลำดับแรกกับสิทธินั้นเหมาะสมหรือไม่

2. การเกิดขึ้นของมโนทัศน์เรื่องสิทธิ
คำว่า “สิทธิ” แปลมาจากคำว่า “right” ในภาษาอังกฤษที่นอกจากแปลว่า “สิทธิ” แล้วยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ “สิ่งที่ถูกต้อง” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความหมายดั้งเดิมของ “right” ดังเห็นจากการที่ “right” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ius” หรือ “jus” ในกฎหมายโรมัน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเชิงยืนยันว่าสิ่งบางสิ่งหรือการกระทำบางอย่างถูกต้องหรือยุติธรรม ความหมายนี้บ่งถึงความถูกต้องแบบวัตถุวิสัย (objective right) ของการกระทำโดยอิงจากหลักศีลธรรมหรือกฎหมาย

ต่อมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 จนถึงคริสตศตวรรษที่ 17 งานเขียนบางชิ้นของนักปรัชญาหลายท่าน เช่น โธมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) ในคริสตศตวรรษที่ 13, วิลเลียมแห่งออกคัม (William of Ockham) ในคริสตศตวรรษที่ 14, ฟรานซิสโก ซัวเรซ (Francisco Suarez) และฮิวโก โกรเทียส (Hugo Grotius) ในคริสตศตวรรษที่ 16 ได้มีการใช้คำว่า “right” หรือ “ius” ในความหมายที่คลุมเครือระหว่างความหมายเดิมที่บ่งถึงความถูกต้องแบบวัตถุวิสัยกับความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งบ่งถึงความถูกต้องในแบบอัตวิสัย (subjective right) โดยความหมายอย่างหลังนี้เป็นความหมายพื้นฐานของคำที่หมายถึง “สิทธิ” ตามความเข้าใจในปัจจุบันที่ว่า “สิทธิ” หมายถึงสิ่งที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของหรือถือครอง และทำให้บุคคลนั้นมีอำนาจชอบธรรม หรืออำนาจที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม หรือกฎหมาย ในการกระทำบางอย่าง การใช้คำว่า “right” ในความหมายที่บ่งถึงความถูกต้องแบบอัตวิสัยหรือสิทธิอย่างชัดเจนนั้นเกิดขึ้นใน Leviathan (ค.ศ.1651) ของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ซึ่งเขากล่าวว่า
“สิทธิตามธรรมชาติ…คือเสรีภาพที่มนุษย์แต่ละคนมีในการที่จะใช้อำนาจของเขาตามเจตนาของเขาเอง เพื่อที่จะรักษาชีวิตของเขา และเพื่อกระทำสิ่งใดก็ตามจากการตัดสินและการใช้เหตุผลโดยตัวของเขาเอง ที่เขาเห็นว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม” (Hobbes: chapter 14, section 1)

สำหรับฮอบส์ สิทธิคือเสรีภาพ โดยเสรีภาพในที่นี้หมายถึงการที่มนุษย์ปราศจากอุปสรรคใดๆ ที่ขัดขวางการใช้อำนาจของเขา ทำให้มนุษย์สามารถใช้อำนาจนั้นได้ตามการตัดสินใจและเหตุผลของเขาเอง (Hobbes: chapter 14, section 2)
การใช้คำว่า “right” ในความหมายที่บ่งถึงความถูกต้องแบบอัตวิสัยหรือสิทธิยังปรากฏใน Two Treatises of Government (ค.ศ.1690) ของจอห์น ล็อค (John Locke) ซึ่งได้เสนอแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับสิทธิแนวคิดหนึ่ง จุดประสงค์ของล็อคคือปฏิเสธการแบ่งชนชั้นและการผูกขาดอำนาจของชนชั้นปกครองในสังคมอังกฤษสมัยนั้น โดยเขาโต้แย้งการอ้างเหตุผลของโรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Robert Filmer) ซึ่งสนับสนุนทัศนะที่ว่าพระเจ้าให้ความชอบธรรมแก่กษัตริย์ในการมีอำนาจปกครองเหนือผู้อื่น
ล็อคเห็นว่า แท้จริงแล้ว พระเจ้าสร้างมนุษย์ทุกคนให้เท่าเทียมกัน มีลักษณะร่วมกันตามธรรมชาติทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นมนุษย์จึงควรมีความเท่าเทียมกัน และมีสิทธิและเอกสิทธิ์แบบเดียวกัน เขายังเห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะรักษาและปกป้องชีวิตของตนเอง (right of self-preservation) เพราะพระเจ้าสร้างให้มนุษย์มีความปรารถนาในการรักษาชีวิตและการดำรงอยู่ และสอนให้มนุษย์ทำตามความโน้มเอียงทางธรรมชาติ (natural inclination) ที่จะรักษาและดำรงชีวิตโดยอาศัยสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นบนโลกนี้ (Locke: Book One, chapter 9, section 86)
คำกล่าวที่ยกมาเหล่านี้แสดงถึงแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของล็อค ซึ่งมีใจความหลักคือ พระเจ้าสร้างมนุษย์ทุกคนให้มีธรรมชาติแบบเดียวกัน มนุษย์ทุกคนจึงมีอิสระและความเท่าเทียมกัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงควรมีสิทธิแบบเดียวกันและเท่าเทียมกัน และไม่ควรมีผู้ใดมีสิทธิเหนือ กว่าผู้อื่น แนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของล็อคมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางทางการเมืองในคริสตศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of independence) ของอเมริกาในปี ค.ศ.1776 และคำประกาศเรื่องสิทธิของมนุษย์และประชาชน (Declaration of the Rights of Man and of Citizens) ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ซึ่งสะท้อนแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของเขาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ แนวคิดของล็อคยังมีอิทธิพลสืบเนื่องมายังแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันอีกด้วย
หากยึดเอาความหมายของคำเป็นหลัก ดูเหมือนว่า มโนทัศน์เรื่อง “สิทธิ” ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฎอยู่ในแนวคิดทางการเมืองหรือวัฒนธรรมของสังคมอื่นที่ไม่ใช่สังคมตะวันตกสมัยใหม่ เช่น สังคมกรีก โรมัน ศักดินา รวมถึงสังคมที่ไม่ใช่สังคมตะวันตก เช่น เอเชีย เพราะสังคมเหล่านี้ไม่ได้มีคำที่สื่อถึงความหมายของ “สิทธิ” อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาบางท่าน เช่น อลัน กีเวิร์ธ (Alan Gewirth) เห็นว่า การที่สังคมซึ่งไม่ใช่สังคมตะวันตกสมัยใหม่ไม่มีคำที่สื่อถึงความหมายของ “สิทธิ” ไม่ได้แปลว่าสังคมเหล่านี้ไม่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ทั้งนี้เพราะรูปแบบการแสดงออกของมโนทัศน์เรื่องสิทธิอาจแตกต่างกันตามแนวคิดทางการเมืองหรือวัฒนธรรมของแต่ละสังคม สังคมที่ไม่ใช่สังคมตะวันตกสมัยใหม่อาจมีมโนทัศน์เรื่องสิทธิแฝงอยู่โดยไม่ได้แสดงออกโดยตรงผ่านคำที่สื่อถึงความหมายของ “สิทธิ” เช่นในแนวคิดทางการเมืองของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ นักปรัชญาผู้หนึ่งที่อ้างเหตุผลเพื่อแสดงให้เห็นว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิไม่จำเป็นต้องมีอยู่เฉพาะในแนวคิดหรือวัฒนธรรมของสังคมตะวันตกสมัยใหม่เท่านั้น คือ จอห์น ฟินนิส (John Finnis)
ฟินนิสเป็นนักนิติปรัชญาสำนักทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ที่เห็นว่า แม้ในสังคมโรมันจะไม่กล่าวถึงเรื่องสิทธิ โดยกฎหมายในสังคมโรมันจะกำหนดให้ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม แต่ละบุคคลในสังคมนั้นมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่นและต่อสังคมตามบทบาทของตนเอง ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่เน้นมโนทัศน์เรื่องหน้าที่ (duty) และการมีพันธะต่อกัน (obligation) เป็นหลัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมภายใต้ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่ให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่อง “สิทธิ”

ฟินนิสอธิบายว่า การที่กฎหมายโรมันกำหนดให้แต่ละบุคคลในสังคมมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่นและต่อสังคมตามบทบาทของตนเองเกิดจากการเห็นว่า บุคคลในสังคมมีพันธะโดยตรงต่อกัน โดยพันธะนี้แสดงออกในรูปที่บุคคลหนึ่ง (ก.) มีพันธะหน้าที่ที่ต้องทำบางสิ่งให้แก่ผู้อื่น (ข.) และผู้อื่นนั้น (ข.) ก็มีพันธะหน้าที่ที่ต้องทำบางสิ่งให้แก่เขา (ก.) การที่ผู้อื่นนั้น (ข.) มีพันธะหน้าที่ที่ต้องทำบางสิ่งให้แก่เขา (ก.) นี่เองที่ฟินนิสเห็นว่าแฝงนัยการแสดงถึงการมีสิทธิในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม กล่าวคือทำให้บุคคลหนึ่ง (ก.) สามารถมีข้อเรียกร้องหรือ “สิทธิ” ต่อผู้อื่น (ข.) ให้กระทำตามสิ่งที่ผู้อื่นนั้น (ข.) มีพันธะหน้าที่ต่อตน (ก.) ได้
ฟินนิสเห็นว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกสมัยใหม่พัฒนามาจากการยืนยันหรือเรียกร้องต่อประโยชน์ของแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งมีพันธะหน้าที่ต่อกัน “สิทธิ” เป็นวิธีการกล่าวถึง ‘สิ่งที่ควรได้รับจากความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น’ จากมุมมองของบุคคลหนึ่ง (ก.) ต่อบุคคลอื่น (ข.) ที่มีพันธะที่ต้องกระทำบางสิ่งต่อเขา (ก.) และจะถือว่าเป็นความผิดหากบุคคลอื่น (ข.) ไม่กระทำตามพันธะนั้น การที่บุคคลหนึ่งมีสิทธิ คือ การที่เขามีผลประโยชน์ที่ควรได้รับตามกฎหมายหรือระบบศีลธรรมซึ่งทำให้เขามีเสรีภาพในการกระทำและมีอำนาจในการเลือกว่าจะให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำตามพันธะหน้าที่ที่มีต่อผลประโยชน์ของเขา การอ้างเหตุผลของฟินนิสดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในสังคมที่เน้นมโนทัศน์เรื่องหน้าที่และการมีพันธะต่อกันระหว่างบุคคลในสังคมก็มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน การที่คนๆ หนึ่งมี “สิทธิ” ในสังคมลักษณะดังกล่าวมาจากการที่เขามีผลประโยชน์ที่การบรรลุผลประโยชน์นั้นเกี่ยวพันกับการกระทำตามพันธะหน้าที่ของบุคคลอื่นที่มีต่อเขาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม อันทำให้เขามี “สิทธิ” ที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากความสัมพันธ์นั้น

3. องค์ประกอบของการมีสิทธิ
เมื่อเรากล่าวถึง “สิทธิ” แทบไม่มีใครเลยที่จะกล่าวคำนี้ขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีบริบทรองรับ คำว่า “สิทธิ” จะถูกใช้ในบริบทของการแสดงถึงการมีสิทธิเสมอ เช่น บุคคลหนึ่งอาจกล่าวว่า “เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากลูกหนี้เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายได้บัญญัติไว้” ประโยคตัวอย่างดังกล่าวสามารถเขียนในรูปประโยคทั่วไป (general form) ของการแสดงถึงการมีสิทธิที่ว่า “A มีสิทธิที่จะ X ต่อ B เพราะ Y”
รูปประโยคทั่วไปดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการมีสิทธิต้องประกอบด้วยองค์ประกอบห้าอย่าง คือ 1. ผู้มีสิทธิหรือผู้ครองสิทธิ (subject of a right ; A) เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น ผู้มีสิทธิคือ เจ้าหนี้ 2. ธรรมชาติของสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ซึ่งคือสิ่งที่ถูกแสดงออกผ่านคำว่า “สิทธิ” 3. กรรมของสิทธิ (the object of the right ; X) คือการกระทำที่ผู้มีสิทธิสามารถกระทำได้อันเกิดจากการมีสิทธิที่จะกระทำสิ่งนั้น เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น กรรมของสิทธิคือการได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากลูกหนี้ 4. ผู้ตอบสนองต่อสิทธิ (respondent of the right ; B) คือผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้สิทธิของผู้มีสิทธินั้นสามารถบรรลุผลสำเร็จ เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น ผู้ตอบสนองต่อสิทธิคือลูกหนี้ ผู้มีหน้าที่ต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เพื่อทำให้สิทธิของเจ้าหนี้บรรลุผล 5. พื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนแก่สิทธินั้น (justifying basis or ground of the right ; Y) ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายว่าทำไมผู้มีสิทธิจึงมีสิทธิดังกล่าว เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น พื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมเจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากลูกหนี้ก็คือ ระบบกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในสังคมหนึ่งซึ่งบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธินี้
จากองค์ประกอบดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า การกล่าวถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิทางศีลธรรม สิทธิทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสตรี สิทธิสัตว์ สามารถจัดประเภทได้ตามองค์ประกอบของการมีสิทธิ สิทธิทางศีลธรรมและสิทธิทางกฎหมายเป็นสิทธิที่อ้างถึงพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิที่แตกต่างกันกล่าวคือ สิทธิทางกฎหมายคือสิทธิที่อ้างถึงพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธินั้นจากระบบกฎหมาย สิทธิทางศีลธรรมคือสิทธิที่อ้างถึงพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธินั้นจากหลักทางศีลธรรม โดยนักปรัชญาบางท่าน เช่น เดวิด ลีออนส์ (David Lyons) เห็นว่าสิทธิทางศีลธรรมแตกต่างจากสิทธิทางกฎหมายตรงที่สิทธิทางศีลธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับทางสังคมหรือการบังคับใช้สิทธินั้น เพราะสิทธิทางศีลธรรมถูกเรียกร้องแม้ไม่เชื่อว่าสิทธิเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับในสังคมหรือบังคับใช้โด กฎหมาย ส่วนสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสตรี สิทธิสัตว์ เป็นสิทธิที่บ่งบอกถึงการมีสิทธิตามลักษณะผู้มีสิทธิที่แตกต่างกัน สิทธิมนุษยชนเป็นการบ่งบอกว่าผู้มีสิทธิคือมนุษย์ สิทธิเด็กและสตรีเป็นการบ่งบอกว่าผู้มีสิทธิคือเด็กและสตรี และสิทธิสัตว์เป็นการบ่งบอกว่าผู้มีสิทธิคือสัตว์ แม้องค์ประกอบของการมีสิทธิจะมีด้วยกันทั้งสิ้น 5 องค์ประกอบ แต่ประเด็นสำคัญของข้อถกเถียงทางปรัชญาเกี่ยวกับสิทธินั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลักเพียงสององค์ประกอบ คือ ธรรมชาติของสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิซึ่งเป็นสิ่งที่สิทธิต่างๆ มีร่วมกัน และพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิ ทั้งนี้เพราะข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติของสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิและพื้นฐานหรือเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิมักจะครอบคลุมถึงองค์ประกอบที่เหลือด้วยที่ว่าใครบ้างที่ควรเป็นผู้มีสิทธิ ควรมีสิทธิในเรื่องอะไร และควรมีสิทธิต่อใคร
4. การวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิ
นักปรัชญาได้วิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิในสองแง่มุม แง่มุมแรกคือโครงสร้างหรือรูปแบบ (form) ของสิทธิ แง่มุมที่สองคือบทบาท (function) ของสิทธิ การวิเคราะห์แง่มุมแรกเป็นการวิเคราะห์ตัวมโนทัศน์เรื่องสิทธิโดยตรง ส่วนการวิเคราะห์แง่มุมที่สองไม่ได้เป็นการวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิโดยตรง แต่เป็นการวิเคราะห์ว่าสิทธินั้นมีบทบาทอะไร
4.1 รูปแบบของสิทธิ: การวิเคราะห์ของโฮห์เฟลด์
ในต้นคริสตศตวรรษที่ 20 นักปรัชญาและนักกฎหมายพยายามวิเคราะห์ว่าสิทธิคืออะไร ซึ่งในบรรดาบทวิเคราะห์ทั้งหลายนั้น งานชิ้นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือบทความ “Some Fundamental Legal Conceptions as Applied in Judicial Reasoning” ของเวลลี่ย์ นิวคอมบ์ โฮห์เฟลด์ (Wesley Newcomb Hohfeld) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1919 ในงานชิ้นนี้ โฮห์เฟลด์พยายามวิเคราะห์คำต่างๆ ทางกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับคำว่า “สิทธิ” และมักถูกใช้สับสนกับคำว่า “สิทธิ” ซึ่งโฮห์เฟลด์พบว่า ในบางกรณีคำว่า “สิทธิ” (right) ถูกใช้โดยนักกฎหมายและถูกอ้างถึงในกฎหมายต่างๆ ในความหมายแบบเดียวกันกับคำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่นคำว่า “เอกสิทธิ์” (privilege), “อำนาจ” (power), และ “ความคุ้มกัน” (immunity) ซึ่งเขาเรียกการใช้เช่นนี้ว่าเป็นการใช้คำว่า “สิทธิ” แบบไม่เคร่งครัด แต่การใช้แบบไม่เคร่งครัดนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ดังนั้น โฮห์เฟลด์จึงมุ่งอธิบายถึงความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปของคำว่า “สิทธิ” เพื่อให้เห็นถึงความหมายที่แตกต่างกันของคำๆ นี้จากคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน โดยวิธีที่โฮห์เฟลด์ใช้คือ อธิบายผ่านกรอบของความสัมพันธ์แบบตรงกันข้าม (opposites) และแบบเกี่ยวพันกัน (correlatives)
สิทธิกับหน้าที่
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างความหมายของคำว่า “สิทธิ” กับคำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือการมีหน้าที่ที่เกี่ยวพันกัน (correlative duty) กับสิทธิ การมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมีนัยถึงหน้าที่ของบุคคลอื่นที่จะต้องไม่ขัดขวางการใช้สิทธินั้นหรือจะต้องทำให้สิทธินั้นบรรลุผล เช่น ถ้า ก. มีสิทธิต่อบุคคลอื่นเช่น ข. ที่จะไม่ให้ ข. เข้ามาในที่ดินของเขาแล้ว ข. ย่อมมีหน้าที่ต่อ ก. ที่จะไม่เข้ามาในที่ดินของ ก. โฮห์เฟลด์เห็นว่า ถ้าจะหาคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า “สิทธิ” ในแบบเคร่งครัดแล้ว คำนั้นควรเป็นคำว่า “ข้ออ้าง” (claims)
เอกสิทธิ์กับสิทธิ
เอกสิทธิ์มีลักษณะตรงข้ามกับหน้าที่ นั่นคือเมื่อเรากล่าวว่าบุคคลหนึ่งมีเอกสิทธิ์ในการทำสิ่งหนึ่งหมายความว่า บุคคลนั้นไม่มีหน้าที่หรือข้อผูกมัดกับผู้อื่นที่จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้นซึ่งเขามีเอกสิทธิ์อยู่ และเอกสิทธิ์ของบุคคลหนึ่ง เช่น ก. ยังมีความเกี่ยวพันกับการไม่มีสิทธิของบุคคลอื่น เช่น ข. กล่าวคือการที่ ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะทำสิ่งหนึ่ง ทำให้ ข. ปราศจากสิทธิที่จะเรียกร้องให้นาย ก. ไม่กระทำสิ่งนั้น
ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่า ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะเดินไปมาในที่สาธารณะ หมายความว่า ก. ไม่มีหน้าที่หรือข้อผูกมัดกับผู้อื่นที่จะต้องไม่เดินไปมาในที่สาธารณะ และแสดงถึงความเกี่ยวพันกันกับบุคคลอื่นเช่น ข. ที่ไม่มีสิทธิห้าม ก. เดินไปมาในที่สาธารณะ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างคำว่า สิทธิ และ เอกสิทธิ์ ที่โฮห์เฟลด์วิเคราะห์ไว้คือ ในขณะที่สิทธิมีความหมายที่สื่อถึงการมีหน้าที่ของผู้อื่นต่อบุคคลที่มีสิทธินั้น แต่เอกสิทธิ์ไม่มีความเกี่ยวพันกับการมีหน้าที่ของผู้อื่นต่อบุคคลที่มีเอกสิทธิ์ กล่าวคือ การที่ ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะทำสิ่งหนึ่งมีความหมายว่า ข. ไม่มีสิทธิที่จะห้าม ก. ทำสิ่งนั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ข. มีหน้าที่ที่จะต้องไม่แทรกแซง ก. ในการทำสิ่งที่ว่านั้นด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้า ก. มีเอกสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ ข. ในที่สาธารณะแล้ว ข. จะไม่มีสิทธิห้าม ก. ในการทำสิ่งนั้น แต่ ข. จะยังสามารถรบกวนหรือแทรกแซง ก. ขณะทำสิ่งนั้นได้ เช่น ส่งคนไปทำเสียงดังเพื่อกลบเสียงของ ก. ในขณะที่เขากำลังทำการวิพากษ์วิจารณ์ ข. อยู่ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ การแทรกแซงดังกล่าวของ ข. จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิอื่นของ ก. ด้วย
นอกจากนี้ ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ การที่ ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะทำสิ่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ก. จะเป็นผู้เดียวที่มีเอกสิทธิ์ในการทำสิ่งนั้น บุคคลอื่น เช่น ข. สามารถมีเอกสิทธิ์แบบเดียวกับ ก. ในการทำสิ่งนั้นได้เช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ ข. ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไม่ทำในสิ่งที่ตนมีเอกสิทธิ์ และบุคคลอื่นที่มีเอกสิทธิ์แบบเดียวกัน เช่น ก. ก็ไม่มีสิทธิที่จะห้าม ข. ในการทำสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ทั้ง ก. และ ข. ต่างมีเอกสิทธิ์ที่จะจอดรถในที่จอดรถสาธารณะ ซึ่งทำให้ทั้งคู่ต่างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไม่จอดรถในที่จอดรถสาธารณะ และทั้งคู่ต่างก็ไม่มีสิทธิที่จะห้ามอีกฝ่ายจอดรถในที่จอดรถสาธารณะ
อำนาจกับความรับผิด (liability)
อำนาจตามกฎหมายมีลักษณะตรงข้ามกับความไม่สามารถ (disability) ตามกฎหมาย และขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวพันกับความรับผิดตามกฎหมายของผู้อื่นที่มีต่อการใช้อำนาจนั้น บุคคลหนึ่งมีอำนาจโดยตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลง และ/หรือ ยกเลิกความสัมพันธ์ตามกฎหมาย (legal relation) ที่ตนมีกับบุคคลอื่น เช่น สัญญา, ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน, ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้บุคคลอื่นที่เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจนั้นมีความรับผิดต่อการใช้อำนาจของเขา ยกตัวอย่างเช่น ถ้า ก. เป็นเจ้าหนี้ ข. ก. มีอำนาจที่จะยกหนี้ให้ ข. ซึ่ง ข. ก็จะมีความรับผิดต่อการใช้อำนาจของ ก. คือไม่ต้องใช้หนี้ให้ ก. หรือถ้า ก. เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง ก. มีอำนาจที่จะให้บุคคลอื่น เช่น ข. เช่าที่ดินหรือขายที่ดินนั้นให้แก่ ข. ได้ ถ้า ข. ตกลงรับที่จะเช่าหรือซื้อที่ดินจาก ก. ข. ก็จะกลายเป็นผู้มีความรับผิดต่อการใช้อำนาจของ ก.

ความคุ้มกันกับความไม่สามารถ (disability)
ความคุ้มกันตามกฎหมายมีลักษณะตรงข้ามกับความรับผิดตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวพันกับความไม่สามารถหรือความไม่มีอำนาจ (no-power) ตามกฎหมายของบุคคลอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ตามกฎหมายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มกันนั้น กล่าวคือ ถ้า ก. มีความคุ้มกันในสิ่งหนึ่งจาก ข. แล้ว ข. ก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นหรือผลประโยชน์ที่มาจากสิ่งนั้น
ตัวอย่างเช่น ถ้า ก. เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งและ ก. มีความคุ้มกันในความเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น บุคคลอื่นเช่น ข. ย่อมไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ ก. ขายหรือยกผลประโยชน์จากที่ดินแปลงนั้นให้แก่เขา
แม้การวิเคราะห์ของโฮห์เฟลด์จะเป็นวิเคราะห์คำว่า “สิทธิ” ในทางกฎหมายเป็นหลัก แต่การวิเคราะห์ของเขากลับมีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์และอภิปรายเกี่ยวกับความหมายของสิทธิในยุคต่อมา โดยในการอภิปรายมักจะใช้คำว่า “ข้ออ้างสิทธิ” (claim-rights) แทนคำว่า “สิทธิ” ในความหมายแบบเคร่งครัดของโฮห์เฟลด์ และคำว่า “เสรีภาพ” (liberty or liberty-right) ถูกใช้แทนคำว่า “เอกสิทธิ์”
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ของโฮห์เฟลด์ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงตามมาในสองประเด็น ประเด็นแรกมาจากข้อเสนอของเขาที่ว่า ข้ออ้าง (claims) มีความหมายเดียวกับสิทธิในความหมายเคร่งครัด หรืออีกนัยหนึ่งคือข้ออ้างเป็นลักษณะจำเป็นของสิทธิ โจเอล ไฟน์เบิร์ก (Joel Feinberg) ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ของโฮห์เฟลด์ได้วิเคราะห์การให้ความหมายคำว่า “สิทธิ” (rights) และ “ข้ออ้าง” (claims) ในพจนานุกรมและการใช้คำทั้งสองในงานเขียนทางวิชาการต่างๆ พบว่าคำสองคำนี้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว คำจำกัดความที่เหมาะสมของ “สิทธิ” คือ “ข้ออ้างที่สมเหตุสมผล” (valid claims) ขณะที่นักปรัชญาที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของโฮห์เฟลด์ เช่น เอช. เจ. แมคคลอสกี้ (H. J. McCloskey) เห็นว่า โดยตัวของสิทธิเองนั้นไม่ใช่ข้ออ้าง แต่สิทธิอาจก่อให้เกิดข้ออ้างขึ้นได้ สิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิในการรดน้ำต้นไม้ของตัวเอง สิทธิในการอาบน้ำ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสิทธิในการทำกิจวัตรประจำวันนั้นไม่ได้สื่อถึงความจำเป็นของการมีข้ออ้างต่อผู้อื่นในการจะทำสิ่งเหล่านี้ ส่วนข้อถกเถียงประเด็นที่สองมาจากคำอธิบายของโฮห์เฟลด์ในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างสิทธิกับหน้าที่ ซึ่งโฮห์เฟลด์กล่าวไว้ว่า สิทธิของบุคคลหนึ่งก่อให้เกิดหน้าที่ที่เกี่ยวพันกับสิทธินั้นขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่งตามมา คำอธิบายนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงว่า ความเกี่ยวพันระหว่างสิทธิกับหน้าที่สามารถมีลักษณะกลับกันหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าบุคคลหนึ่ง (ก.) มีหน้าที่ต่อบุคคลอีกผู้หนึ่ง (ข.) แล้ว บุคคลผู้นั้น (ข.) จะมีสิทธิต่อผู้มีหน้าที่นั้น (ก.) หรือไม่? นักปรัชญาที่เห็นว่าสิทธิกับหน้าที่มีความสัมพันธ์กลับกัน ได้แก่ ฟินนิส ดังการอ้างเหตุผลของเขาที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อที่สอง (การเกิดขึ้นของมโนทัศน์เรื่องสิทธิ) ส่วนนักปรัชญาที่เห็นว่าสิทธิกับหน้าที่ไม่มีความสัมพันธ์กลับกัน ได้แก่ ไฟน์เบิร์ก ซึ่งอ้างเหตุผลโดยสมมติโลกขึ้นมาสองโลกที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการรวมถึงการมีมโนทัศน์เรื่องหน้าที่ แต่เขาสมมติต่อไปให้โลกหนึ่งมีมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ส่วนอีกโลกหนึ่งไม่มีมโนทัศน์ดังกล่าว ไฟน์เบิร์กอ้างว่า ประชาชนในโลกที่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิมีความแตกต่างจากประชาชนในโลกที่ไม่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ตรงที่พวกเขามีการเรียกร้องหรืออ้าง (claim) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสิทธิ ขณะที่ในโลกซึ่งไม่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธินั้น แม้ประชาชนจะถูกละเมิดหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม พวกเขาก็ไม่คิดที่จะเรียกร้องการปฏิบัติใดๆ เพราะไม่มีความคิดเรื่องสิทธิรองรับนั่นเอง ดังนั้น สิทธิกับหน้าที่จึงไม่มีความสัมพันธ์กลับกัน
4.2 บทบาทของสิทธิ: ทฤษฎีทางเลือกและทฤษฎีผลประโยชน์
การวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิของโฮห์เฟลด์ชี้ให้เห็นกรอบความเข้าใจในแง่มุมหนึ่งคือ เราสามารถเข้าใจมโนทัศน์เรื่องสิทธิได้โดยอาศัยคำทั้งสี่ที่เขาใช้ในการวิเคราะห์ คือ ข้ออ้าง เสรีภาพ อำนาจ และความคุ้มกัน ซึ่งกรอบความเข้าใจนี้ยังมีอิทธิพลต่อนักปรัชญาและนักกฎหมายหลายท่าน เช่น เอช. แอล. ฮาร์ท (H. L. A. Hart), ไฟน์เบิร์ก, ดี. เอ็น. แม็คคอร์มิค (D. N. MacCormick), คาร์ล เวลแมน(Carl Wellman) ,เรซ (Joseph Raz) , จูดิธ จาร์วิส ทอมสัน (Judith Jarvis Thomson) ในการวิเคราะห์ว่าสิทธิคืออะไร นักปรัชญาบางท่านเห็นว่าคำใดคำหนึ่งในสี่คำนี้สื่อถึงลักษณะสำคัญของสิทธิ แต่นักปรัชญาบางท่านก็เห็นว่า ไม่ใช่แค่คำเดียว แต่เป็นสองคำหรือหมดทั้งสี่คำที่สื่อถึงลักษณะที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิ แต่การวิเคราะห์ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจมโนทัศน์เรื่องสิทธิผ่านการให้คำจำกัดความว่า “สิทธิ” หมายถึงอะไร อย่างไรก็ตาม ยังมีกรอบการเข้าใจมโนทัศน์เรื่องสิทธิอีกแบบหนึ่งคือ การเข้าใจสิทธิผ่านการพิจารณา “บทบาท” ของสิทธิ โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสิทธิที่แตกต่างกันสองกลุ่มคือ ทฤษฎีทางเลือก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ will theory) และทฤษฎีผลประโยชน์ (interest theory หรือ benefit theory) ตัวแทนของนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกได้แก่ ฮาร์ท ส่วนตัวแทนของนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์ ได้แก่ ลีออน และ เรซ
โดยคร่าวๆ แล้ว แนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกเห็นว่า บทบาทของสิทธิคือให้อำนาจแก่ผู้ครองสิทธิที่จะควบคุมหรือจัดการเหนือสถานการณ์ต่างๆ การให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจึงเท่ากับให้อำนาจแก่บุคคลนั้นที่จะเลือกหรือบังคับให้คนอื่นทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่เขาได้รับมา เช่น การที่ ก. มีสิทธิในคอมพิวเตอร์ของเขาหมายความว่า ผู้อื่นมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของเขา และ ก. มีอำนาจในการเลือกที่จะบังคับให้ผู้อื่นทำตามหน้าที่ซึ่งก็คือไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของเขา หรือเลือกที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นไม่ต้องทำตามหน้าที่ซึ่งก็คืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้คอมพิวเตอร์ของเขาได้
แนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกถูกโต้แย้งว่ามีข้อบกพร่องสำคัญคือ ไม่สามารถอธิบาย สิทธิที่ไม่สามารถสละได้ (unwaivable right) เช่น สิทธิในการไม่ตกเป็นทาส เนื่องจากตามแนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือก สิทธิมีบทบาทในการให้อำนาจแก่ผู้ครองสิทธิที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้สิทธินั้น แต่สิทธิบางอย่างไม่ได้ขึ้นกับการเลือกของผู้ครองสิทธิเพราะเป็นสิทธิที่ผู้ครองสิทธิไม่สามารถสละได้ เช่น สิทธิในการไม่ตกเป็นทาส ซึ่งในกรณีของสิทธิที่ว่านี้ ผู้ครองสิทธิไม่มีอำนาจที่จะเลือกสละสิทธินี้โดยยินยอมให้ตัวเองเป็นทาสของผู้อื่น นอกจากนี้แนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกยังถูกโต้แย้งด้วยเหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ การไม่สามารถอธิบายสิทธิที่ผู้ครองสิทธิไม่มีความสามารถที่จะใช้อำนาจตามที่ได้มาจากสิทธินั้นเองได้ เช่น ทารก สัตว์ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งไม่มีความสามารถใช้สิทธิที่จะต้องไม่ได้รับความเจ็บปวดทรมาน อันเป็นสิทธิที่เรายอมรับว่าบุคคลหรือสิ่งมีชีวิตประเภทนี้มีอยู่ ส่วนแนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์นั้นได้รับอิทธิพลจากเจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) แนวคิดนี้เห็นว่า สิทธิมีบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล การให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจึงเท่ากับว่า ผลประโยชน์ตลอดจนการกระทำที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลนั้น ต้องได้รับการปกป้องโดยสิทธิของเขาจากการละเมิดหรือการที่ผู้อื่นไม่ปฏิบัติตามพันธะทางศีลธรรมหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบุคคลนั้น
แนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์นั้นดูเหมือนจะอธิบายได้ครอบคลุมมากกว่าแนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือก เนื่องจากสามารถอธิบายสิทธิที่ไม่สามารถสละได้ว่าการมีสิทธินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ครองสิทธิเองโดยที่ผู้ครองสิทธิไม่สามารถสละสิทธินี้ได้ และยังสามารถอธิบายสิทธิที่ผู้ครองสิทธิไม่สามารถใช้สิทธิเองได้ว่าผู้ครองสิทธิที่ไม่สามารถใช้สิทธิเองได้นั้นมีสิทธิบางอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์ก็ถูกโต้แย้งว่าอ้างเหตุผลไม่ถูกต้องในการเชื่อมโยงการมีหรือได้รับผลประโยชน์จากบางสิ่งกับการมีสิทธิในสิ่งนั้น เพราะมีบางกรณีที่เรายอมรับกันว่าบุคคลสามารถมีผลประโยชน์ในบางสิ่งได้โดยไม่ต้องมีสิทธิในสิ่งนั้น เช่น กรณีบุคคลที่สาม ตัวอย่างเช่น ก. ทำสัญญากับ ข. ให้ ข. จ่ายเงินจำนวนหนึ่งพันบาทแก่ ค. ในกรณีนี้ ก. มีสิทธิตามสัญญานี้กับ ข. เพราะ ก. ได้รับผลประโยชน์จากการที่ ข. ทำตามสัญญานั่นคือ ก. ได้ชื่อว่าเป็นคนให้เงินจำนวนหนึ่งพันบาทแก่ ค. (เนื่องจาก ก. อาจทำสัญญาไว้กับ ค. อีกฉบับหนึ่งว่าจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งพันบาทให้แก่ ค.) แต่ ค. แม้จะได้รับผลประโยชน์ในฐานะบุคคลที่สามจากการทำตามสัญญานี้คือการได้เงินหนึ่งพันบาทจาก ข. แต่เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า ค. มีสิทธิตามสัญญานี้กับ ข. ในแง่ที่ทำให้ ค. สามารถบังคับให้ ข. ทำตามสัญญาคือจ่ายเงินหนึ่งพันบาทแก่ ค. นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ก็มีบางกรณีที่บุคคลมีสิทธิในการทำบางสิ่งโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์จากการทำสิ่งนั้น เช่น ผู้พิพากษามีสิทธิตามกฎหมายในการตัดสินจำคุกคน แต่ผู้พิพากษาไม่ได้รับหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการตัดสินจำคุกคนของเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ การเชื่อมโยงสิทธิในบางสิ่งเข้ากับการมีหรือได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในทุกกรณี
5. การอ้างเหตุผลสนับสนุนต่อการมีสิทธิ
การอ้างเหตุผลที่อธิบายว่าสิทธิพื้นฐานใดบ้างที่บุคคลควรมี และอะไรคือเหตุผลที่ทำให้บุคคลอื่นควรเคารพสิทธิเหล่านั้น มีที่มาจากแนวคิดทางสังคมซึ่งอยู่เบื้องหลังระบบกฎหมายหรือระบบศีลธรรม โดยแบ่งได้เป็นสองแนวคิดหลักๆ ซึ่งมีรูปแบบการอ้างเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนี้
แนวคิดแรกให้เหตุผลโดยอ้างว่ามนุษย์มีคุณสมบัติบางประการที่ทำให้มีสิทธิพื้นฐานต่างๆ และบุคคลอื่นควรเคารพสิทธิเหล่านี้ การอ้างเหตุผลตามแนวคิดนี้จึงเป็นการอ้างจากสถานะของบุคคลเพื่อสรุปว่า บุคคลนั้นๆ มีสิทธิในสิ่งต่างๆ ลักษณะดังกล่าวทำให้เรียกแนวคิดแรกนี้ว่าทฤษฎีสถานะ (status theories)
แนวคิดที่สองให้เหตุผลว่าการที่บุคคลมีสิทธิต่างๆ และบุคคลอื่นควรเคารพสิทธิเหล่านี้เป็นเพราะการมีสิทธิและการที่บุคคลอื่นเคารพสิทธินั้นเป็นวิถีทาง (means) หรือเครื่องมือ (instruments) ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่แต่ละบุคคลที่ดีที่สุด แนวคิดที่สองนี้เรียกว่าทฤษฎีเครื่องมือ (instrumental theories)
แนวคิดทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแนวคิดแรกเห็นว่า เราควรเคารพสิทธิของผู้อื่นเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่เพราะทำแล้วก่อให้เกิดผลที่ดีที่ตามมา (เมื่อแต่ละคนเคารพสิทธิของกันและกัน) ดังนั้น สิทธิไม่ใช่เครื่องมือที่นำไปสู่การมีผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม ตามแนวคิดนี้ สิทธิพื้นฐานจึงมีลักษณะสัมบูรณ์ (absolute) และไม่อาจละเมิดได้แม้ว่าการละเมิดสิทธิจะนำไปสู่ผลต่อสังคมโดยรวมที่ดีกว่าก็ตาม ส่วนแนวคิดที่สองนั้นเห็นว่า การเคารพสิทธิของกันและกันเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะการทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลที่ดีตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจึงควรมีการกำหนดและบังคับใช้สิทธิต่างๆ ระหว่างสมาชิกในสังคม ดังนั้น ตามแนวคิดที่สอง การตัดทอนและละเมิดสิทธิบางอย่างของคนในสังคมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้หากกระทำแล้วนำไปสู่ผลลัพธ์โดยรวมที่ดีกว่าแก่สังคม
ตัวอย่างของการอ้างเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิตามแนวคิดแบบทฤษฎีสถานะที่เห็นได้ชัดก็คือ แนวคิดเรื่องสิทธิธรรมชาติที่อ้างว่ามนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้วมีคุณสมบัติบางอย่างซึ่งทำให้มนุษย์มีสิทธิพื้นฐานบางอย่างที่ทุกคนต้องเคารพและไม่ล่วงละเมิดสิทธิเหล่านั้น แนวคิดที่อ้างเหตุผลตามแนวทางนี้มีความแตกต่างในเรื่องคุณสมบัติของมนุษย์ที่ถูกใช้อ้างว่าทำให้มนุษย์มีสิทธิเหล่านั้น คุณสมบัติของมนุษย์ที่มักถูกอ้าง เช่น ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality), การมีเจตจำนงเสรี (free will), การมีความสามารถที่จะกำหนดตัวเอง (autonomy), ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (human dignity) เป็นต้น นักปรัชญาที่ใช้การอ้างเหตุผลแบบนี้ เช่น ล็อค, ค้านท์, กีเวิร์ธ การที่แนวคิดแบบทฤษฎีสถานะเห็นว่าสิทธิพื้นฐานมีลักษณะสัมบูรณ์และไม่ควรละเมิดทำให้แนวคิดแบบนี้ถูกโต้แย้งหลายประการ เช่น
ประการแรก มีบางกรณีที่ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นเลวร้ายมากจนถึงขั้นที่ทำให้เราควรละเมิดสิทธิพื้นฐาน เช่น กรณีที่คนๆ หนึ่งกำลังทำสิ่งเลวร้ายที่จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวงแก่คนหมู่มาก ตัวอย่างเช่น ผู้ก่อการร้ายกำลังจะกดระเบิดฆ่าตัวตายท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก ในกรณีเช่นนี้เราย่อมเห็นว่าบุคคลอื่น เช่น ตำรวจ ย่อมสามารถละเมิดสิทธิในการมีชีวิตของผู้ก่อการร้ายได้นั่นคือฆ่าเขาเสียก่อนที่เขาจะกดระเบิดเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นบาดเจ็บล้มตายจากการกระทำเช่นนั้น
ประการที่สอง เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า สิทธิพื้นฐานบางประการที่เรายอมรับกันว่าทุกคนมีนั้นมีปัญหาในตัวเอง เช่น สิทธิในการพูดอย่างเสรี ซึ่งสิทธินี้ครอบคลุมถึงการมีสิทธิที่จะด่าว่าผู้อื่น ทั้งที่สิทธิในการพูดอย่างเสรีนั้นควรใช้เพื่อวิจารณ์บุคคลสาธารณะไม่ใช่เพื่อด่าว่าบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ สิทธิในการพูดอย่างเสรียังครอบคลุมถึงสิทธิในการพูดหรือวิจารณ์โดยที่ผู้พูดรู้ว่าเนื้อหาที่พูดออกมานั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งการใช้สิทธิเช่นนี้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ประการที่สาม การเชื่อมโยงระหว่างการอ้างถึงคุณสมบัติบางอย่างของมนุษย์กับการสรุปว่ามนุษย์มีสิทธิพื้นฐานบางอย่างนั้นไม่น่าเชื่อถือ ดังเช่นเบนแธมที่วิจารณ์แนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติว่า แท้จริงแล้ว สิทธินั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ร่วมกันตกลงขึ้น (convention) ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ คำกล่าวว่ามนุษย์มีสิทธิบางอย่างติดตัวโดยธรรมชาติและไม่สามารถพรากเอาไปได้เป็นเพียงโวหารที่ฟังดูดีแต่ไร้ความหมาย
ตัวอย่างของการอ้างเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิตามแนวคิดแบบทฤษฎีเครื่องมือที่เห็นได้ชัดคือ แนวคิดแบบประโยชน์นิยมที่เห็นว่าสิทธิเป็นเครื่องมือนำไปสู่การกระจายผลประโยชน์ที่ดีที่สุด ถ้าเราเปรียบเทียบแนวการอ้างเหตุผลทั้งสองแบบตามที่กล่าวมาจะพบว่า ขณะที่แนวคิดแบบทฤษฎีสถานะนั้นมีลักษณะที่แข็ง (strong) เกินไป กล่าวคือเห็นว่าสิทธิพื้นฐานมีลักษณะสัมบูรณ์ไม่สามารถละเมิดได้ซึ่งทำให้ประสบกับข้อโต้แย้งดังที่เพิ่งกล่าวไป แนวคิดแบบประโยชน์นิยมกลับไม่ต้องประสบปัญหาเหล่านี้เพราะยินยอมให้มีการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลได้ถ้าการละเมิดนั้นก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมสูงสุด อย่างไรก็ตาม ลักษณะดังกล่าวของแนวคิดแบบประโยชน์นิยมก็มองได้ว่ามีลักษณะที่อ่อน (weak) เกินไป เพราะการยินยอมให้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลได้ บางครั้งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้บริสุทธิ์ เช่น การยินยอมให้ฆ่าหรือทำลายบุคคลผู้เป็นพาหะของโรคร้ายแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดซึ่งจะเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลคือ สิทธิในการมีชีวิต ทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิดใด นอกจากนี้ การอ้างผลประโยชน์โดยรวมนั้น แม้จะดูเหมือนว่าสามารถให้รายละเอียดได้ว่าบุคคลแต่ละคนในแต่ละสถานการณ์มีสิทธิที่จะทำสิ่งใดบ้างโดยพิจารณาจากผลประโยชน์โดยรวมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการมีสิทธิในการทำสิ่งนั้น อย่างไรก็ตาม ลักษณะเช่นนี้ก็ถูกถามได้ว่า แท้จริงแล้วเราสามารถคาดคำนวณถึงผลประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นจากการให้สิทธิในการทำบางอย่างได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาเรื่องความเป็นกลางของการคาดคำนวณ และการแสดงผลจากการคาดคำนวณที่เป็นรูปธรรมซึ่งทุกคนยอมรับได้
6. มโนทัศน์เรื่องสิทธิในแนวคิดทางการเมือง
มโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นความคิดพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งของแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม (liberalism) เช่น แนวคิดของโรนัลด์ ดอร์กิ้น (Ronald Dworkin) ที่เห็นว่าสิทธิเป็นคุณค่าเชิงบรรทัดฐานที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกหรือสำคัญที่สุดที่ต้องมาก่อนคุณค่าเชิงบรรทัดฐานอื่นๆ ทั้งหมดของสังคมรวมถึงความมั่งคั่ง (wealth) ของสังคม และสิทธิเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า การที่ผู้ครองสิทธิกระทำตามสิทธิที่เขามีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้การกระทำนั้นจะขัดแย้งกับคุณค่าอื่นทางสังคมก็ตาม อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับสิทธิในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า สิทธิทุกชนิดมีลักษณะสัมบูรณ์หรือเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้แม้การละเมิดนั้นจะตอบสนองต่อคุณค่าเชิงบรรทัดฐานอื่นทางสังคมจริงหรือไม่? นักปรัชญาบางท่าน เช่น กีเวิร์ธ เห็นว่าอย่างน้อยที่สุด สิทธิประการหนึ่งที่มีลักษณะสัมบูรณ์ซึ่งไม่อาจล่วงละเมิดได้ก็คือสิทธิที่จะไม่ถูกสังหารไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แต่ความคิดนี้ถูกปฏิเสธโดยนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบประโยชน์นิยมที่เห็นว่า สิทธิควรมาหลังผลประโยชน์สูงสุดของสังคมและสมาชิกของสังคม
นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับสิทธิยังประสบปัญหาอีกสองประการ ประการแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างสิทธิต่างประเภทกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างสิทธิในการเป็นเจ้าของกับสิทธิในการมีชีวิต ดังเช่นกรณีบริษัทยาที่มีสิทธิเหนือสูตรยาที่ตัวเองคิดค้นขึ้น ทำให้สามารถผลิตและกำหนดราคายาให้สูงเท่าไรก็ได้ รวมทั้งสามารถห้ามผู้อื่นใช้สูตรยาที่ตัวเองคิดค้นขึ้นเพื่อผลิตขายในราคาถูกซึ่งจะทำให้บริษัททำกำไรได้ลดลง สิทธิดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ซึ่งพวกเขาควรที่จะสามารถซื้อยาได้ในราคาถูกเพื่อใช้รักษาและดำรงชีวิตต่อไป ประการที่สอง คือ แม้สิทธิจะเป็นเหตุผลสนับสนุนสำหรับผู้ครองสิทธิว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำตามสิทธินั้น แต่การทำตามสิทธินั้นอาจเป็นสิ่งที่ผิดในทางศีลธรรมได้ ปัญหานี้เห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีความขัดแย้งระหว่างสิทธิตามกฎหมายกับหลักทางศีลธรรม เช่น ในบริบทของสังคมไทยที่นับถือพุทธศาสนานั้นเห็นว่าการฆ่าสัตว์ผิดหลักศีลธรรม แต่ตามกฎหมายไทยนั้นอนุญาตให้โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายมีสิทธิที่จะฆ่าสัตว์ได้ตามที่กำหนดไว้ หรือในหลายประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะคุมกำเนิด ทั้งๆ ที่การคุมกำเนิดนั้นขัดกับหลักคำสอนของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เป็นต้น
ในขณะที่แนวคิดแบบเสรีนิยมเห็นว่ามโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นความคิดพื้นฐานสำคัญทางการเมือง แนวคิดของมาร์กซ์และแนวคิดแบบชุมชนนิยม (communitarianism) ไม่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่องสิทธิ แนวคิดทั้งสองอ้างว่ามโนทัศน์เรื่องสิทธินั้นแฝงนัยของแนวคิดแบบปัจเจกนิยม (individualism) ไว้ การให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่องสิทธิมากกว่าคุณค่าอื่นในสังคมจะก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบปัจเจกบุคคลนิยมกล่าวคือ ทำให้ปัจเจกบุคคลแยกตัวเองออกจากสังคมและทำให้ปัจเจกบุคคลเห็นแก่ตัวเองมากกว่าเห็นแก่สังคมโดยรวม อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่องสิทธิโต้แย้งว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิไม่ได้มีนัยของแนวคิดแบบปัจเจกนิยม เพราะเวลาเรากล่าวถึงผู้ครองสิทธิเราไม่ได้จำเป็นต้องกล่าวถึงผู้ครองสิทธิที่เป็นปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว เรายังสามารถกล่าวถึงผู้ครองสิทธิที่เป็นกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มทางศาสนาและวัฒนธรรมได้ด้วย ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องที่จะแย้งว่ามโนทัศน์เรื่องสิทธินั้นมีนัยแนวคิดแบบปัจเจกนิยม

Thursday, November 25, 2010

นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน : ๒๗ ธค.๒๕๔๖

คำกล่าวของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในรายการ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน”
ทางคลื่นเอฟ.เอ็ม. 92.5 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เวลา 08.00 น. วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2546

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ
เหลืออีก 5 วันจะเป็นปี 2547 แล้ว ปีนี้วันที่ 2 ความจริงไม่ใช่วันหยุด วันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันหยุด คณะรัฐมนตรีจึงสลับวันกันเพื่อที่จะให้พี่น้องได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง วันที่ 31 ธันวาคมส่วนใหญ่ยังนับถอยหลังข้ามปีใหม่กันอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น วันที่ 1 มกราคมก็ไปสวัสดีปีใหม่ไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ ซึ่งตามประเพณีพวกที่นับถือศาสนาคริสต์ใช้ฤดูกาลช่วงคริสต์มาสเป็นวันหยุดหลายวันเพื่อจะได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้องพ่อแม่ เพื่อนฝูงและได้พักผ่อนไปด้วยในตัวครับ

ขอให้ระมัดระวังในการเดินทางไปต่างจังหวัด
สำหรับพี่น้องคนไทยที่จะเดินทางไปพักผ่อนและไปต่างจังหวัดในช่วงวันหยุด 4 วัน ติดต่อกันคือ วันที่ 1- 4 มกราคม 2547 ขอให้พึงใช้ความระมัดระวัง เพราะอุบัติเหตุปี ๆ หนึ่งในช่วงวันหยุดยาวเกิดขึ้นมาก บางครั้งบาดเจ็บทีหนึ่ง 20,000 กว่าคน เสียชีวิต 400-500 คนมากไป อยากจะขอให้พี่น้องคนไทยทุกคนได้ใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำหน้าที่ขับรถสาธารณะนั้นถือว่าท่านต้องดูชีวิตคนหลายคนขอให้พึงระมัดระวัง

ส่วนคนเมามักจะเถียงกับทุกคนว่าไม่เมา คือสรุปแล้วอย่าดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับรถแม้กระทั่งแก้วเดียวก็ตาม บางทีไม่เมาครับแต่ง่วงง่าย ฉะนั้น เรื่องเมาเรื่องง่วงอย่าขับรถครับ เป็นอันตรายต่อท่านเองทั้งคนที่นั่งไปกับท่านและคนอื่นซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่ขับรถสวนขึ้นมา อย่างน้อยคิดถึงคนที่บ้านบ้างว่าถ้าท่านเป็นอะไรไปมีผลต่อคนที่บ้านเยอะ ดังนั้น ขอให้ระมัดระวังนะครับ เรื่องเมา ง่วง เข็มขัดนิรภัยให้รัดเสีย และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์ให้สวมหมวกกันน็อคเปิดไฟ แม้กระทั่งตอนกลางวันก็เปิดเถอะเพื่อความปลอดภัยของท่านเอง อยากจะขอฝากให้ใช้ความระมัดระวัง และฝากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดครับ วันนี้ความรับผิดชอบทั้งหลายในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดถือว่าเป็นหน้าที่ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผมไม่ได้คาดหวังว่าท่านจะต้องทำงานคนเดียวทุกอย่าง ท่านต้องกระจายงานและวางแผนต้องติดตามงาน เพื่อที่จะให้คนอื่นทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในจังหวัดในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะปีนี้ลองดูสิว่าเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ ถ้าสถิติลดจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก

รัฐบาลจะดำเนินการกับผู้ที่ข้ามไปเล่นการพนันในประเทศเพื่อนบ้าน
ปีใหม่นี้เช่นกันนะครับ ผู้ที่ตั้งใจจะไปเล่นการพนันตามบ่อนแถวชายแดนไม่ว่าจะเป็นชายแดนกัมพูชาชายแดนพม่า แถวจังหวัดระนองแถวอรัญประเทศ เห็นใจนะครับคงไม่สะดวกแน่ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ไปเที่ยวไปพักผ่อนซื้อของดีกว่า เงินที่จะไปเล่นคือไปเล่นเสียเล่นไม่ค่อยได้ คนเล่นการพนันไม่ค่อยมีใครได้ ส่วนใหญ่เจ้าของบ่อนจะได้ และมีเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ผมสืบสวนเริ่มรู้อะไรเป็นอะไรแล้วนะครับ จะต้องมีการดำเนินการอะไรอีกหลายอย่าง ขอให้ท่านที่ตั้งใจจะไปเล่นการพนันเอาเงินไปซื้อของให้ลูกให้หลานให้พ่อแม่ดีกว่า ดีไม่ดีจะโดนยึดเงินไม่คุ้มเลย พอแล้วครับเล่นมามากแล้ว



หลายหน่วยงานจัดกิจกรรมวันนับถอยหลัง
คืนวันที่ 31 ธันวาคมมีการจัดกิจกรรมวันนับถอยหลังหลายที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไปจัดที่สนามกีฬาศุภชลาศัยเป็นสวัสดีปีใหม่ข้ามโลก 2547 มีรางวัลเยอะแยะ รวมทั้งส่งไปรษณียบัตรไปที่ตู้ป.ณ.2547 ปณจ.รองเมือง กรุงเทพฯ 00009 สำหรับ ชิงทุนการศึกษาให้ส่งไปที่ ตู้ป.ณ. 2004 ปณจ.รองเมือง กรุงเทพฯ 09000 อันนี้เป็นกรณีนักเรียน กรณีประชาชนทั่วไปใช้รหัส 00009 ที่เชียงใหม่ก็มีการจัดนะครับ ปีนี้เชียงใหม่จัดคึกคักทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 7 ไปร่วมจัดที่โน้น ที่สะพานพระราม 8 ก็มีการจัด เวิร์ดเทิร์ดก็มีการจัดเหมือนกัน ในส่วนของ อ.ส.ม.ท. ที่สนามกีฬาศุภชลาศัยจะมีการเชื่อมสัญญาณแลกข่าวการเฉลิมฉลองปีใหม่กันกับหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ออสเตรเลีย

ประชาชนซื้อสินค้า OTOP กันเป็นจำนวนมาก
อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนครับ วันพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน OTOP CITY ที่เมืองทองธานี ตั้งแต่เปิดงานวันแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมามีคนไปประมาณ 175,000 คน หลังจากนั้น วันธรรมดารถติดคนเยอะมาก วันแรกขายได้ 54 ล้านบาท ความจริงแล้วควรจะขายได้มากกว่าแต่เป็นเพราะว่า คนแน่นซื้อไม่ถนัด ผมจะเดินสัก 2-3 Hall เดินแป๊บเดียวเดินไม่ไหวแล้วครับเพราะคนเยอะ สื่อมวลชนก็เยอะ หน่วยรักษาความปลอดภัยก็เยอะ ภรรยาผมไปด้วยนึกว่าจะได้ซื้ออะไรหน่อย ปรากฎว่าเดินไม่ไหวครับ สองวันนี้เสาร์-อาทิตย์คนคงจะเยอะมาก เพราะฉะนั้น ถ้าหากใครจะไป ๆ แท็กซี่หรือรถเมล์จะมีรถรับส่งฟรีแถว ๆ ย่านนั้นเพื่อพาเข้าไปในงาน เพราะคนอาจจะแน่น ของดีมาก ๆ ถูกครับ ผมไปเห็นแล้วอดชื่นใจไม่ได้ว่าเวลานี้ฝีมือคนไทยได้พัฒนาไปเยอะ ส่งออกไปเยอะ ยอดขายของ OTOP ปีนี้ทั้งปี 33,000 ล้านบาท เราคิดว่าคงจะได้ประมาณสัก 20,000 กว่าล้านบาท ตอนนี้ประมาณ 33,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นยอดขายที่ดีมาก และไปเห็นของแล้วท่านจะภูมิใจว่าเดี๋ยวนี้พี่น้องคนไทยชาวบ้านได้ทำงานด้วยความตั้งใจทำงานดี ศิลปวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดไว้จากบรรพบุรุษนั้นได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดีนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทุ่มเทถ่ายทอดให้กับประชาชนได้มีความรู้มีทักษะมีฝีมือแรงงานได้ดีมาก นอกจากนั้นมีอาหารอร่อยจาก 75 จังหวัด ผมยังเสียดายอยากจะไปเดินทานอาหารก็ไม่มีเวลา ถ้าไปท่านไปได้เลยนะครับเพราะใช้เวลาทั้งวัน สินค้าเยอะ 6,000 กว่ารายการ ไปตั้งแต่เช้าถึงเย็นดีไม่ดียังเดินไม่ทั่วนะครับ

เชิญเที่ยวงานถนนคนเดินทุกเย็นวันเสาร์ที่สันกำแพง
ท่านที่ไปเชียงใหม่ทุกวันเสาร์ไปที่สันกำแพง วันเสาร์ตอนเย็นสันกำแพงจะเปิดถนนคนเดิน ชาวบ้านจะเอาของมาขายสองข้างทาง ของหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของหัตถกรรมพื้นบ้าน มีทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ศิลาดล เครื่องแกะสลัก ของเอสเอ็มอีที่สันกำแพงตอนนี้ก้าวหน้าไปเยอะ ของสวย ๆ ถูกครับ อยากจะเชิญชวนถ้าไปเชียงใหม่แวะไปเดิน ถนนสองข้างที่เป็นถนนคนเดินที่สันกำแพงเป็นถนนที่ผมวิ่งเล่นมาตั้งแต่เด็ก บางทีหน้าหนาวสมัยก่อนไม่ค่อยมีรถตีแบดกันบ้าง ถนนนี้เป็นถนนที่จะเอาไว้สำหรับขายของเป็นถนนคนเดินให้กับนักท่องเที่ยวทั้งจากเชียงใหม่จากทั่วประเทศและต่างประเทศที่ไปทุกวันเสาร์ครับ

อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดหาเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และเครื่องตรวจจับความเร็ว
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาการประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจะจัดหาเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และเครื่องตรวจจับความเร็วให้ซื้ออย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้เอาไปใช้ในช่วงวันหยุดได้ด้วย ถ้าไม่ทันของเก่ามีอยู่บ้างพยายามให้เอามาใช้ ต่อไปนี้เรื่องของการเมาแล้วขับ อาจจะมีทั้งโทษปรับและการให้ไปทำงานสาธารณะไปล้างท่อไปขัดป้ายจราจรบ้างคงจะต้องมีแบบนั้นมากขึ้น เพราะบางคนค่าปรับไม่มีความหมาย ปรับ 2,000 บาทเขาบอกเรื่องเล็กจ่ายไปเลย แต่บางคน 2,000 บาททำให้ครอบครัวไม่มีกินเลย อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องดูว่าบางทีต้องให้ทำงานสาธารณะ 2,000 บาทไม่มีความหมายแต่ต้องไปล้างท่อ บางคนอาจยอมไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ทุกคนจะได้ระมัดระวังพึงคิดถึงคนอื่นในการขับรถด้วย

บริการตรวจสภาพและซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์
เราจะมีการให้บริการตรวจสภาพและซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะเปิดให้บริการตรวจเช็คสภาพ ซ่อมรถยนต์และจักรยานยนต์ในทุกจังหวัดตามจุดบริการต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2546 – 4 มกราคม 2547 ตลอด 24 ชั่วโมงนะครับ มีทั้งกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เป็นต้น เพื่อที่จะให้ท่านมั่นใจว่ารถของท่านปลอดภัยระหว่างเดินทางครับ

รับพระราชทานผ้าห่มกันหนาวเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยหนาว
เมื่อวันพฤหัสบดีตอนเย็น ผมได้ไปเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ท่านทรงห่วงประชาชนที่กำลังประสบภัยอยู่ทั้งที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ทรงพระราชทานผ้าห่มซึ่งทรงซื้อโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 6,000 ผืน และมีผู้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลอีก 400 ผืน ได้กระจายแจกไปทางภาคเหนือภาคอีสาน ทรงห่วงใยว่าประชาชนหนาวโดยที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า รู้สึกว่าอากาศเปลี่ยนและทรงหนาวด้วย จึงคิดว่าพี่น้องประชาชนที่อยู่ตามป่าตามเขาชนบทในภาคอีสานและภาคเหนือคงจะหนาว ทรงให้ราชเลขาธิการโทร.ให้ผมไปเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานผ้าห่มไปแจก ได้ให้กระทรวงมหาดไทยไปดำเนินการ เรียบร้อยแล้วนะครับ เป็นความห่วงใยจากพระองค์ท่าน

ให้เกษตรตำบลและประชาชนเรียนรู้การพัฒนาเกษตรร่วมกัน
เมื่อวานนี้ผมได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“นโยบายในการพัฒนาการเกษตรไทย” ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เอาเกษตรตำบลจาก ทั่วประเทศมาดูงานมาเปิดหูเปิดตา มาดูการทำสวนที่ใช้หลักวิชาที่สวนเจริญพีระวัฒน์ อำเภอแกลง ที่นี่เขาทำ แม้กระทั่งปลูกทุเรียนเป็นการปลูกทุเรียนต้นเตี้ย ทำให้ต้นเตี้ยแค่เมตรกว่า ๆ และสามารถเก็บลูกทุเรียนได้ง่ายและทุเรียนก็อร่อย ลำไยก็ปลูกที่นี่ เขาสามารถปลูกได้หลายอย่างโดยใช้ระบบสปริงเกอร์ ใช้น้ำน้อยและมีการทำสวนอย่างถูกหลักวิชา เลยพาเกษตรตำบลมาดู นอกจากนั้นให้ไปนิคมอุตสาหกรรมด้วย เขาจะได้เปิดหูเปิดตาเพราะการที่ได้มาเห็นอะไรที่นอกเหนือจากที่เคยทำอยู่จำเจทุกวันถึงจะให้เกิดความคิดนอกกรอบได้ ผมจึงบอกกับเกษตรตำบลทั้งหลายว่า มาดูมาเห็นมาเรียนรู้แล้วยังไม่เท่ากับลงมือปฏิบัติเอง เพราะฉะนั้น เราจะหาแปลงในทุกตำบลให้เกษตรตำบลทุกคนทำสวนทำไร่ ทำเป็นแปลงสาธิต ทำให้ถูกหลักวิชาและเอาประชาชนมาเรียนรู้มาทำด้วยกัน และผลผลิตที่ได้ขายเป็นรายได้ของทั้งเกษตรตำบลและของประชาชนที่มาช่วยกันทำ แล้วนอกนั้นประชาชนที่มาช่วยกันทำจะเกิดความเข้าใจในวิชาการที่ถูกต้องและจะเอาไปปฏิบัติจะเป็นประโยชน์ต่อเขาเองในอนาคต เพราะ ต่อไปเรากำลังจะมีการแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินแล้ว ประชาชนที่ได้ไปจะรู้ว่าทำมาหากินอะไรได้ ปลูกอะไรปลูก อย่างไรดูแลอย่างไร เกษตรอินทรีย์คืออะไร ระบบการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยทำอย่างไรเพราะจะได้เข้าใจ บางพื้นที่เขตชลประทานไปไม่ถึง จึงให้กำลังใจเขาและบอกให้เขาลงมือปฏิบัติร่วมกับประชาชน และวันนั้นเราจะได้พัฒนาเกษตรโดยทั้งทฤษฎีทั้งประสบการณ์อย่างชัดเจน

ภาวะเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ดีมาก
วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคมผมได้ไปบรรยายพิเศษเรื่อง “อนาคตเศรษฐกิจไทยในโลกการค้ายุคใหม่” ที่ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ ได้รับเกียรติจากประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งให้การต้อนรับและได้พบปะพูดคุยกับท่านก่อนจะบรรยายพิเศษ การบรรยายพิเศษของผมคงเน้นย้ำให้เห็นถึงภาวะที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มของการปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบว่า เราจะต้องปรับตัวเตรียมตัวอย่างไรและเพื่อให้เกิดความมั่นใจเกิดกำลังใจในการเตรียมตัวของภาคเอกชนด้วย ผมได้เล่าเรื่องสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันให้เขาฟังด้วย ถือว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขที่ดีมาก ผมคิดว่าทุก ๆ ประเทศอยากจะเห็นตัวเลขที่มีความสมดุลเหมือนที่เวลานี้ประเทศไทยเรามี เพราะเรามีการส่งออกที่เติบโตมีการค้าที่เกินดุล มีดุลบัญชีชำระเงินที่เกินดุล บัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล มีเงินไหลเข้ามาก หนี้ลด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เงินเฟ้อต่ำ ตลาดหลักทรัพย์ก็โตวันโตคืน อันนี้เป็นเรื่องที่ได้ชี้ให้เห็นว่าภาวะตอนนี้เป็นภาวะที่ถือว่าดี ประชาชนมีความสุขกันถ้วนหน้า

ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยี
สัปดาห์นี้ผมมีงานประชุมหลายเรื่อง มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งชาติ เพราะว่าเรื่องนี้ต้องเอาจริงและทำควบคู่กันถึงเรื่องของศูนย์นาโนเทคโนโลยี จะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีควบคู่กัน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เอามาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้

3 กระทรวงนำร่องจะเปิดศูนย์ Call Center ตั้งแต่ 1 มกราคมนี้
มีการประชุมร่วมศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีและศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง หลักคือให้ทุกกระทรวงมีระบบฐานข้อมูลของตัวเองแล้วเอามาเชื่อมกัน ผมจะเห็นภาพรวมของประเทศว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง แค่ไหนอย่างไรมีการพัฒนาแค่ไหน เพื่อจะได้ติดตามข่าวสารจากการวิเคราะห์และการตัดสินใจที่ถูกต้องรวดเร็วแม่นยำ และเห็นตัวเลขต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้โดยที่จะมีการสร้างกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาของประเทศ โดยมีข้อมูลที่แม่นยำและมีหลักวิชาการที่รองรับ ข้อมูลทั้งหมดเมื่อเชื่อมกันแล้วจะไปใช้ตั้งศูนย์ที่เราเรียกว่า Call Center หมายความว่าเป็นศูนย์ที่จะทำให้ประชาชนทั้งหลายสอบถามอะไร ร้องเรียนอะไร จะหมุนเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ ซึ่งจะเชื่อมฐานข้อมูลเข้าไปยังกระทรวงต่าง ๆ อันนี้เราหวังว่าสักประมาณกลางปีหน้าคงจะสมบูรณ์ แต่จะเริ่มทดลองตั้งแต่ 1 มกราคมนี้ จะเปิดนำร่องโดย 3 กระทรวงที่พร้อมคือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วันที่ 1 มกราคมเราจะเริ่มเปิดศูนย์โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ 4 ตัวคือ 1111 หลังจากเมษายนไปจะดีขึ้น ข้อมูลจะเข้ามาทุกอย่าง จะทำให้เป็นศูนย์ที่พี่น้องประชาชนที่ไม่กล้าไปพูดกับตำรวจ ไม่กล้าไปพูดกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อยากจะบอกให้นายกรัฐมนตรีรู้ว่าปัญหานี้เขตพื้นที่ตัวเองมีปัญหาอะไร ก็โทร.มาบอกที่เบอร์นี้ ระบบคอมพิวเตอร์จะหมุนแล้วมีคนรับและจะคีย์เข้าคอมพิวเตอร์ แล้วข้อมูลนั้นจะส่งมาที่สำนักงานที่จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลและเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเพื่อการแก้ไขปัญหา จะง่ายขึ้นมากการตอบสนองต่อปัญหาจะรวดเร็วขึ้น จะเริ่มลงมือได้ตั้งแต่ 1 มกราคมนี้เป็นต้นไป

เร่งปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ครบ 5 ล้านไร่
ผมมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 เป็นขั้นที่ 3 คือรัฐบาลก่อนๆได้ทำมาหมดแล้ว เราตั้งเป้าไว้ 5 ล้านไร่ในอดีตแต่ทำไปแล้ว 3 ล้าน 4 แสนไร่ ยังเหลืออีก 1 ล้าน 6 แสนไร่ ผมจึงให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแกนหลักในการปลูกต่อให้ครบ 5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่มีพี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมาก ผมเองอยากเห็นการมีส่วนร่วมอยากให้คนในท้องถิ่นได้รู้ว่าคนเมืองก็รักป่า จะมาบริจาคช่วยกันปลูกป่า แล้วคนในชนบทจะได้ช่วยกันว่าขนาดคนที่เขาอยู่ห่างไกลเขายังรักป่าของเรา เพราะฉะนั้น เราก็ควรจะรักป่าและเข้ามามีบทบาทโดยเข้ามาช่วยกัน เอาแรงงานมาช่วยบ้าง เพื่อจะได้รักษาป่าให้ป่าของเราอุดมสมบูรณ์ต่อไป เจริญตามรอยพระยุคลบาท อันนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามที่จะเร่งขยายเพื่อให้ครบ 5 ล้านไร่ คงจะมีโครงการเชิญชวนในโอกาสต่อไป

โอนเงินบำเหน็จดำรงชีพเข้าบัญชีผู้รับบำนาญแล้ว 31,000 ล้านบาท
วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม ผมได้ไปเป็นประธานในพิธีโอนเงินบำเหน็จดำรงชีพอย่างเป็นทางการเข้าสู่บัญชีเงินฝากของผู้รับบำนาญทั่วประเทศ เรื่องนี้เดิมมีอยู่ว่าผู้ที่รับบำนาญเมื่อเสียชีวิตจะได้รับบำเหน็จ ตกทอด 30 เท่าของเงินบำนาญต่อเดือน เนื่องจากว่าที่ผ่านมามีภาวะวิกฤตเศรษฐกิจผู้รับบำนาญเดือดร้อน บางคนอยากจะซ่อมบ้าน บ้านที่อยู่ทรุดโทรมแล้ว อายุมากแล้วอยากจะซ่อมบ้านให้พออยู่ได้ก็ไม่มีสตางค์ บางคนมีความ รู้สึกว่าลูกหลานเดือดร้อนอยากให้สตางค์ลูกหลานบ้าง บำนาญแค่พอกินไปวัน ๆ หนึ่งไม่พอใช้ ทีนี้ภาวะเป็นอย่างนั้นแล้วทำอย่างไรดีจะต้องรอเสียชีวิตก่อนหรือค่อยให้ลูก เราจึงคิดว่าให้พ่อแม่ที่รับบำนาญได้มีโอกาสถือเงินสดเพื่อจะเอามาไว้สำหรับให้เปรี้ยวให้หวานให้ลูกให้หลานตัวเล็ก ๆ กินหรือจะซ่อมบ้าน ซ่อมสุขภาพให้มีอายุยืนนานขึ้นมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี จึงคิดว่าขณะนี้ฐานะเศรษฐกิจของรัฐบาลของเงินคงคลังมีมาก การเก็บภาษีเกินเป้า คิดว่าควรที่จะดูแลข้าราชการบำนาญ เลยตัดสินใจว่าเราเสนอกฎหมายเพื่อแก้กฎหมายเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญเพื่อที่จะได้ให้เอาเงิน 30 เท่ามาจ่ายให้ผู้ที่รับบำนาญสัก 15 เท่า แต่บางคนเงินเดือนสูงเรากำหนดเพดานขั้นสูงไว้ว่าไม่เกิน 200,000 บาท ปรากฎว่าข้าราชการบำนาญที่มีสิทธิทั้งหมด 258,000 รายมาใช้สิทธิ 224,000 ราย ใช้สิทธิไป 86.76% บางคนที่ใช้สิทธิไม่ได้หมายความว่าไม่มีฐานะ แต่มีความรู้สึกว่าจะได้เอาเงินไว้ให้ลูก อยากจะยื่นเงินให้กับลูกก่อนที่จะเสียชีวิตแทนที่จะต้องรอเสียชีวิตแล้วลูกไปรับมรดกตกทอด อยากจะให้เขามีเงินก่อน ก็มีโอกาสก่อนที่จะเอาไปทำอะไร เมื่อวันพฤหัสฯ ผมโอนเงินเข้าบัญชีไปแล้ว ขณะนี้บัญชีที่โอนเข้าไปประมาณ 209,000 รายยังเหลืออีก 10,000 กว่าราย จะเร่งทำให้เสร็จก่อนปีใหม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ยื่นสมัครแล้วจะได้รับเงินตอนปีใหม่ แต่คนที่ยังไม่ยื่นสมัครอีกประมาณ 10 กว่าเปอร์เซนต์ สามารถสมัครได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 ขณะนี้เงินที่โอนไปแล้วทั้งหมด 31,000 ล้านบาท ถ้าครบทั้งหมดคือ 33,000 ล้านบาท เงินได้ไปอยู่กับข้าราชการบำนาญแล้ว 31,000 ล้านบาทครับ

กำชับให้รัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญกับนาโนเทคโนโลยี
การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาในวันอังคาร ผมได้กำชับให้รัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญกับนาโนเทคโนโลยี ๆ คือเป็นเทคโนโลยีที่ย่อส่วน แล้วเป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปจัดโครงสร้างของอะตอมของสาร แต่ละอย่างเสียใหม่และจะเกิดสิ่งใหม่ขึ้น ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีวัสดุบางอย่างที่แข็งกว่าเหล็กถึง 100 เท่าแต่มี น้ำหนักน้อยกว่าเหล็กถึง 6 เท่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีการสร้างอะไหล่ชิ้นส่วนของมนุษย์ได้เรียกว่า Bio Compatible Replacement คือมีการเปลี่ยนอะไหล่มนุษย์ด้วยเทคโนโลยีนี้ ในอนาคตข้างหน้าจะชะลอความแก่ได้ โดยมี Artificial Red blood Cell คือปกติมนุษย์จะแก่เพราะเซลล์หยุดการเจริญพันธุ์ หยุดการแตกตัว ฉะนั้น เขาจึงสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเทียมด้วยเทคโนโลยีนี้ เทคโนโลยีพวกนี้จะมาแรงมาเร็ว ซึ่งผมไปอ่านหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ The Next Big Thing is Really Small เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และหนังสือออกมาระยะหลังพูดถึงเรื่องนาโนเทคโนโลยีทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราถือว่าเรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเราตกรถ และเราเป็นประเทศที่มีเกษตรกรรม มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีเทคโนโลยีชีวภาพอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น ถ้าเอาสองเทคโนโลยีนี้มารวมกันจะเกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติในอนาคต ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะเป็นชาติที่ทำงานหนักได้เงินน้อยอยู่เรื่อย เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปด้วย

เสนอให้รัฐวิสาหกิจที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กระจายหุ้นให้แก่ข้าราชการ
ผมได้เสนอแนะให้รัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าแทนที่จะกระจายหุ้นธรรมดาทั่วไป น่าจะกระจายหุ้นส่วนหนึ่งให้ข้าราชการ เพราะข้าราชการรายได้น้อย บางทีออมทรัพย์วันนี้ดอกเบี้ยก็ต่ำ ถ้าหากว่ากระจายหุ้นที่จะเข้าตลาดรัฐวิสาหกิจให้ข้าราชการไว้บ้าง

แต่อันนี้ให้ตัดสินใจเองนะครับ หมายความว่าถ้าใครสนใจน่าจะจัดสรรหุ้นให้เขาบ้าง เพราะแทนที่เขาจะไปฝากเงินออมเขาอาจจะมีความรู้สึกอยากจะออมผ่านตลาดหลักทรัพย์ และเลือกหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหุ้นหลักดี ๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ข้าราชการบ้าง ข้าราชการจะมีโอกาสที่จะมีเงินออม กำไรจากเงินออมผ่านกระบวนการออมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นที่ดีนะครับ ผมจึงให้คำแนะนำว่าลองไปศึกษากันดูถึงวิธีการจะทำได้แค่ไหน

อนุมัติกรอบการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2547
นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2547 จำนวน 135,500 ล้านบาท เพราะเนื่องจากว่าเราเก็บภาษีได้เกินเป้ามาก ฉะนั้น ตามงบประมาณที่สภาได้อนุมัติแล้วจะมีเงินเหลืออีกมาก แล้วเราต้องการให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2547 เข้มแข็งและ สอดรับเพื่อให้เศรษฐกิจของเราเจริญเติบโตอย่างมั่นคง จึงต้องมีการเพิ่มงบประมาณโดยไม่ได้ไปเพิ่มอะไรนะครับ เอาเงินที่จัดเก็บได้เกินนั้นเอามาสานงานต่อ 1. เอาไปใช้เพื่อเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ตามที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่นี้ 30,000 กว่าล้านบาท 2. ใช้ในการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง “ทางเลือกใหม่ให้ชีวิต” ที่เคยเล่าให้ฟังว่าให้ข้าราชการออกก่อนเกษียณ 40,000 กว่าคน จะใช้เงิน 14,000 กว่าล้านบาท 3. จะเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ 16,000 กว่าล้านบาท 4. ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 59,000 ล้านบาท 5. เงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 12,300 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมีความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง แล้วปีหน้าการเจริญเติบโตที่คิดว่าประมาณ 8% นั้น จะเป็น 8% แน่นอน และจะกระจายสิ่งที่เป็นความเจริญนั้นสู่ชนบท รายได้ของคนชนบทจะดีขึ้นแน่นอน เมื่อชนบทดีเมืองดีตามอยู่แล้ว ส่วนในปีงบประมาณ 2548 จะทำงบประมาณสมดุล จะเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดงบประมาณสมดุลขึ้นอย่างแน่นอน

คัดเลือกเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจนขึ้นเครื่องบิน C 130 ไปดูหมีแพนด้า
อีกเรื่องที่ผมได้แนะนำไปคือไหน ๆ เครื่องบินของกองทัพอากาศ นักบินก็ต้องซ้อมบิน เมื่อต้องซ้อมบินอยู่แล้วเพื่อหาชั่วโมงบินให้เกิดความชำนาญ เพื่อไม่ให้เครื่องบินจอดไว้เฉย ๆ จะมีการฝึกบินอยู่แล้ว และเครื่องบินลำเลียงบรรทุกแบบ C 130 มีอยู่หลายลำ เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่าในช่วงใกล้ ๆ วันเด็กนี้น่าจะเอาเด็ก ที่ด้อยโอกาสเด็กยากจนทั้งหลายให้มีโอกาสได้นั่งเครื่องบินไปดูหมีแพนด้าที่เชียงใหม่ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการจะคัดเด็กที่ยากจนที่เป็นเด็กประพฤติดีได้นั่งเครื่องบิน C 130 ไปดูหมีแพนด้าที่เชียงใหม่

จะไปตรวจเยี่ยมกระทรวงมหาดไทยเพื่อดูตัวเลขเบื้องต้นผู้มาลงทะเบียนแก้ปัญหาสังคมฯ
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานตัวเลขการจดทะเบียนของจังหวัดนำร่อง 8 จังหวัด จนถึงขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 586,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน 330,000 กว่าคน หนี้สิน 344,000 คน ที่อยู่อาศัย 160,000 คน นักเรียนที่ต้องการทำงานนอกเวลาประมาณ 8,000 กว่าคน อันนี้เป็นการนำร่องเพียง 8 จังหวัด ถ้าเป็นทั้งประเทศต้องเอา 5 คูณโดยประมาณ เพราะเนื่องจาก 8 จังหวัดนี้เป็นประชากรประมาณ 20% ของประเทศ ผมเชื่อว่าจำนวนประชากรที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน กับมีปัญหาเรื่องของหนี้สินคิดว่าอยู่ในจำนวนที่ไม่ผิดความคาดการณ์ไว้ คิดว่าการแก้ปัญหาความยากจนจะเป็นระบบขึ้น ง่ายขึ้น มีตัวเลขที่เข้าใจได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น พี่น้องที่อยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่ 8 จังหวัดนำร่องเราจะเปิดให้มีการลงทะเบียนวันที่ 5 มกราคมเป็นต้นไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 หลังจากนั้นตัวเลขเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ ต้นปีนี้ในเดือนมกราคมผมจะแวะไปเยี่ยมที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อจะดูตัวเลขเบื้องต้นของ 8 จังหวัด และจะได้ทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการวิเคราะห์ได้ถูกต้อง จะได้เตรียมการวางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาได้แม่นยำขึ้น

เอกอัครราชทูตซีอีโอต้องเรียนรู้ข้อด้อยและข้อเด่นของแต่ละประเทศ
วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะเอกอัครราชทูตซีอีโอจำนวน 21 คนที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายใหม่มาพบเพื่อรับนโยบาย ผมได้ฝากว่าไปอยู่ประเทศไหนก็ตาม ทุกประเทศมีข้อด้อยและข้อเด่น เพราะฉะนั้น ลองไปดูว่าอะไรที่น่าจะให้ประเทศไทยมีโอกาสได้เรียนรู้จาก ข้อด้อยและข้อเด่นเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขอให้ทำวิเคราะห์ทำรายงานมาด้วย เราจะได้นำมาเพื่อปรับใช้กับประเทศไทยได้ถูกต้อง เราจะได้ไม่เสียเวลาในเรื่องที่คนอื่นได้เสียเวลาไปเรียบร้อยแล้ว เราจะได้เรียนรู้เรียนรับ นอกจากนั้นแนะนำให้เขาทำงานร่วมกันเป็นทีมให้ได้ หลังจากนั้นได้ย้ำอีกครั้งว่าขอให้อย่าไปขอความช่วยเหลือจากประเทศใด ๆ ขอให้คิดเสียว่าเราต้องการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน เป็น partner ทำงานแบบเพื่อนแบบ เท่าเทียมกัน เราไม่ได้อวดรวยและเราก็ยังไม่รวย แต่เราคิดว่าการคบกันแบบเท่าเทียมกันนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากกว่าการพบกันแบบต้องไปขอพึ่งพาเขา พึ่งพาก็ไม่เท่าไหร่หรอกครับ จริง ๆ แล้วเราพึ่งตนเองดีกว่าเลยเน้นย้ำเขาเพื่อให้รู้เดี๋ยวไม่เข้าใจกัน

กระทรวงการต่างประเทศต้องจัดคนให้เหมาะกับภารกิจ
จากนั้นผมได้มีการประชุมอัตรากำลังของคนในสำนักงานต่างประเทศหมายความว่าทุกกระทรวงทุกหน่วยงานที่มีคนอยู่ในต่างประเทศ ผมได้แนะนำว่าเปลี่ยนวิธีใหม่ มองภารกิจเป็นหลักว่าแต่ละประเทศแต่ละเมืองที่จะมีเจ้าหน้าที่ไทยไปอยู่ ไม่ต้องสนใจว่าจะประหยัดหน่วยงานไหน ต้องสนใจก่อนว่า เป้าหมายของเราที่จะมีสำนักงานตัวแทนในประเทศนั้น ๆ หรือในเมืองนั้น ๆ ภารกิจเราคืออะไร 1. เรื่องความสัมพันธ์หรือเปล่า 2.เรื่องความมั่นคงหรือเปล่า 3. เรื่องเศรษฐกิจหรือเปล่า 4. เรื่องท่องเที่ยวหรือเปล่า 5. เรื่องการลงทุนหรือเปล่า ให้มองภารกิจทั้งหมดให้ชัด เมื่อชัดแล้วเราต้องดูว่าน้ำหนักอะไรมากน้อย แล้วค่อยคัดคนให้ไปทำหน้าที่นั้น ๆ ตรงกับสิ่งที่เราต้องการจะทำ แล้วคน ๆ นั้นจะมาจากกระทรวงไหนก็แล้วแต่ภารกิจ กงสุลใหญ่บางเมืองเราต้องการเรื่องของการค้าเป็นหลัก เราเอามาจากกระทรวงพาณิชย์ แต่แต่งตั้งให้เป็นกงสุลใหญ่แทนที่จะเอามาจากกระทรวงการต่างประเทศแล้วเป็นกงสุลใหญ่ อันนี้บอกเขาว่าให้เน้นเรื่องภารกิจและจัดคนให้เหมาะกับภารกิจเป็นหลัก อันนี้คือการจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและได้ผลคุ้มค่าต่อการทำงานมาก

นำวัสดุเหลือใช้ ฟาง ขี้เลื่อย มาผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างบ้าน
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และการเคหะแห่งชาติไปร่วมกันวิจัยทำไม้ที่ทำจากฟาง ขี้เลื่อย วัสดุเหลือใช้ ทั้งหมด แทนที่จะไปเผาทิ้งเกิดมลภาวะ และทำให้ทำลายจุลินทรีย์ในดินก็เอามาขาย แล้วเอามาทำเป็นไม้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะสร้างโรงงานต้นแบบ และโครงการบ้านเอื้ออาทรถ้าใช้วัสดุเหล่านี้ 1.ทน 2.สร้างได้เร็ว 3. เบา 4.ประหยัด ดูแล้วเขาทำได้ดีทีเดียว เป็นวิชาการทางด้านวัสดุศาสตร์ ทำได้ทั้งราวบันได ตัวบันได ฝ้าเพดาน ผนัง ทำได้ดีทีเดียวผมเห็นแล้วสวยด้วยครับ จึงส่งเสริมให้เขาไปเตรียมงานวางแผนกันเต็มที่ อีกเรื่องที่มหาวิทยาเกษตรศาสตร์มารายงานคือโครงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้อนธุรกิจอาหารไทยทั่วโลก ทำได้ดีได้รับความนิยมจากพี่น้องประชาชนเข้าไปอบรมกันมาก

ออกประกาศห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากประเทศแหล่งที่มีปัญหาโรควัวบ้า
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นที่ต้องอธิบายให้ฟังนิดหนึ่งคือ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากประเทศแหล่งที่มีปัญหาโรควัวบ้าแล้ว 24 ประเทศ เพราะฉะนั้น เราดูแลเราตื่นตัวให้ทันเหตุการณ์อยู่แล้วนะครับ พี่น้องประชาชนไม่ต้องห่วง

เตรียมเรียกประชุมทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนยกพวกตีกัน
กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์นักเรียนยกพวกตีกัน เป็นเรื่องที่เศร้า เป็นความคึกคะนองของเด็กวัยรุ่น เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วผมได้เรียกเด็กที่มีปัญหาทั้งหลายมาประชุมมาพบมาคุย ผมพยายามถามนักศึกษาอาชีวะที่ชอบยกพวกตีกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เขาบอกว่าเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เป็นตั้งแต่รุ่นก่อนผมเป็นเด็กอีก เขามีความรู้สึกว่าถ้าคนละสีคนละพวกต้องตีกันแน่เจอกันเป็นตีกัน และบางคนไม่ใช่เป็นคนอยากหาเรื่องอยากตีแต่กลัวเขาจะมาตีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เลยพกอาวุธ บางทีกลัวเขาค้นก็เอาไปซ่อนตามตู้โทรศัพท์ ถึงเวลาอีกโรงเรียนหนึ่งเดินผ่านมาจะต้องตีกัน อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมที่ผิด บางคนแนะนำว่าไม่ควรมีเครื่องแบบ ควรจะใช้เสื้อผ้าสีเดียวกันหมด หรือบางคนบอกว่าแต่งนอกเครื่องแบบให้หมด เพื่อความรู้สึกเหล่านี้จะได้ไม่มีความเป็นคนละพวกกัน อะไรทำนองนี้ ฉะนั้น ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องมานั่งฟังเด็ก ไม่ใช่คิดเอาเอง สั่งลงโทษเอาไปขัง ง่ายครับ แต่ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ ขังอีกเท่าไหร่ก็ไม่หมด ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ลงโทษ ต้องลงโทษแน่นอน คนทำผิดไปแล้วต้องลงโทษ แต่ต้องไปหาต้นเหตุว่าจะแก้กันอย่างไร อันนี้ มีทั้งเอาไปเข้าค่าย บางทีคนละโรงเรียนจับไปเข้าค่ายด้วยกันเลยครับ ไปอยู่ด้วยกัน 15 วันรับรองพอจะแยกจากกันแทบจะร้องไห้รักกันเหลือเกิน คือจะต้องใช้ผสมผสาน ผมจะเชิญทั้งนักเรียนผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ ทุกฝ่ายมานั่งพบกัน ผมจะประชุมนั่งหัวโต๊ะเอง และจะแก้ปัญหาทั้งหมด ไม่ใช่ล้อมคอกครับ สื่อมวลชนบางคนไปเขียนล้อมคอก ปัญหาทุกปัญหาเกิดดับ ๆ ก็ต้องแก้ คงไม่ใช่เป็นเรื่องล้อมคอม ถ้าไม่แก้คือปล่อยให้ตายไปอีกหลายคนอย่างนั้นหรือ ต้องแก้ครับ

การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
วันเสาร์ที่แล้วผมไปเชียงใหม่ไปเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคประชาชนในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ลุ่มน้ำปิง และไปเปิดงาน “สันกำแพง” สานศิลป์ ถิ่นหัตถกรรม ทั้งสองงานนี้ประชาชนเข้ามาร่วมมือกันมาก คือทุกเรื่องถ้าหากว่าเราสามารถนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นเป็นสิ่งที่จะดีที่สุดจะได้รับความร่วมมือ และเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการก็จะช่วยกันรักษาไว้

ดิอิมโพเรียมจัดงานอาหารปลอดภัย
มีเรื่องชี้แจงอีก 2-3 เรื่อง เรื่องแรกขอเชิญชวนว่าที่ดิอิมโพเรียม วันศุกร์-วันอาทิตย์นี้มีงานอาหารปลอดภัย ท่านที่จะไปซื้อของขวัญปีใหม่และไปดูเรื่องอาหารปลอดภัย ซื้ออาหารปลอดภัยไปให้กัน จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์นะครับ วันปกติจะมีจำหน่ายที่เซ็นทรัลกับเดอะมอลล์

ตัวเลขส่งออกเดือนพฤศจิกายนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6
อยากจะเล่าให้ฟังเรื่องส่งออก เดือนพฤศจิกายนตัวเลขดีมาก มียอด 7,217 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เพราะฉะนั้น ถ้า 11 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ถือว่าดีมาก ปีนี้น่าที่จะมียอดส่งออกทั้งหมดเกือบ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าโต 14% ฉะนั้น ปีนี้น่าจะได้ดุลการค้าไม่น้อยกว่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะจนถึงปัจจุบันได้ดุลมาแล้วประมาณ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ สรุปแล้วคือเราส่งออกกับนำเข้าปีนี้กำไรประมาณ 220,000 ล้าน เชื่อมั๊ยครับว่าตลาดส่งออกเรามีตลาดหลักและตลาดใหม่ ตลาดใหม่โตมากครับ วันนี้ตลาดใหม่ที่เราบุกกันไปเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ถึงแม้ว่าตลาดใหม่เพิ่มขึ้นกว่าเศษหนึ่งส่วนสาม เพราะฉะนั้น เราจะต้องบุกตลาดใหม่ต่อ ๆ ไป ประเทศที่เราไปทำเขตการค้าเสรีหรือFTA ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นใช้ได้ทีเดียว

การควบรวมธนาคารของรัฐเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง
มีอีกเรื่องสั้น ๆ ครับวันก่อนผมได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร.ต.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาพบกันคุยกันเรื่องเศรษฐกิจทั่วไป เรื่องที่จะชี้แจงเรื่องแรกคือเรื่องการควบรวมธนาคารของรัฐเพื่อให้เกิดความแข็งแรง คู่แรกที่กำลังทำกันอยู่คือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) กับไทยธนาคาร ส่วนธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงไทยยังไม่ได้แตะ ธนาคารอื่นกำลังดูว่าอะไรจะเหมาะ สรุปคือจะทำให้ธนาคารภาครัฐเข้มแข็งแข็งแรง สมัยนี้ตัวเล็ก ๆ สู้เขาไม่ค่อยได้ ต้องตัวโต ๆ เพราะการแข่งขันจากภายในและภายนอกจะรุนแรงมากขึ้น อันนี้คือผลพวงจากการที่จะต้องมีเขตการค้าเสรี (FTA) ฉะนั้น เราต้องเตรียมความแข็งแรงของเราไว้ ส่วนภาคเอกชน ไม่ไปยุ่งกับเขา เป็นเรื่องของกลไกที่เขาจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว

สั่งให้ดูตัวเลขทุนสำรองของประเทศ
เรื่องที่สองคือขณะนี้ทุนสำรองของเรามีมาก ๆ เกินไปไม่ดี แต่เรามีหนี้ภาครัฐที่เป็นหนี้เงินต่างประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ผมสั่งให้ไปดูตัวเลขว่าเราควรจะมีเงินสำรองเท่าไหร่ที่เหมาะสม เกินความเหมาะสมปาดไปใช้หนี้ให้หมดส่วนเกิน ปรากฎว่าวันนี้เรามีเกินตั้ง 42 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเยอะ จริง ๆ แล้วเราต้องการแค่ 2 เท่าของหนี้ระยะสั้นโดยประมาณ ซึ่งหนี้ระยะสั้นเราก็น้อย ผมเลยบอกว่าให้เอาส่วนเกินมาชำระหนี้ เข้าใจว่าเราจะมีส่วนเกินประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะชำระหนี้ต่างประเทศอีกสัก 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ให้ไปดูตัวเลขแล้ว หนี้ตัวไหนที่ถึงเวลาใช้ได้ใช้ไปก่อน วันนี้ถ้าเราสามารถลดหนี้ต่างประเทศได้จนหนี้ภาครัฐเหลือ 0 เราจะเป็นประเทศที่แข็งแรงมาก ผมคิดว่าไม่ยากครับสัก 3-4 ปีไม่เกิน

ขอให้ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ระมัดระวังพวกเก็งกำไร
อีกเรื่องที่บอกไปคือเรื่องตลาดหลักทรัพย์ ๆ มี 2 ส่วน ถ้าเมื่อเปรียบเทียบ PE ของทั้งตลาดวันนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์ PE ต่ำ ถ้าเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ของเรา PE ตลาดเวลานี้ ประมาณ 11-12 เท่าอย่างมาก ซึ่งเท่ากับระดับของเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย แต่ประเทศอื่นนั้น PE สูงกว่าเราเยอะ เช่น จีน 32 เท่าสูงกว่าเราเกือบ 3 เท่า สหรัฐอเมริกา 20 กว่าเท่า ส่วนสิงคโปร์ ฮ่องกง 20 กว่า ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าดูภาพรวมดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันนี้ถือว่าไม่สูง เพราะฝรั่งเขาจะเห็นอย่างนี้ เมื่อเขาเห็นอย่างนี้โอกาสที่เงินจะไหลเข้าหลังจากปีใหม่เยอะ ผมจึงต้องบอกกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ว่าให้ระมัดระวังพวกเก็งกำไรพวกเห็ดควันทั้งหลาย เดี๋ยวเราจะโดนกินฟรี ขอให้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบให้ดูมาตรฐานการทำงานให้เป็นมาตรฐานสากลที่สามารถจะให้เห็นชัดเจนว่า เราเป็นตลาดที่มีมาตรฐานระดับโลก มีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส เพราะฉะนั้น ขอให้ใช้ความละเอียดรอบคอบระมัดระวัง ทำอย่างเต็มที่ทำให้ถูกต้อง ใครมีปัญหาใครทำไม่ดีต้องว่ากันไป ให้เขาพึงระมัดระวังและทำหน้าที่ของเขาเต็มที่ สรุปแล้วคือให้กำลังใจบอกเขาให้เตรียมตัวทั้งตั้งรับทั้งรุกเพื่อให้ตลาดของเราเป็นตลาดที่น่าเชื่อถือ พี่น้องประชาชนเช่นกันครับอย่าไปเล่นหุ้นเก็งกำไร บางอันไม่มีอนาคตเลยขึ้นอย่างชนิดที่ตกใจ เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการลงทุน โดยมองปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก อย่าไปลงทุนตามกระแสเพื่อที่จะให้เกิดความมั่นคงในการลงทุนของท่าน

ปีใหม่คงได้พูดกันอีกครั้ง แต่ปีนี้ถือว่าเป็นเสาร์สุดท้ายของปี 2546 ขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนประสพแต่ความสุขความเจริญโชคดีตลอดปีใหม่หน้าครับ ขอบคุณครับสวัสดีครับ

ฝ่ายวิเคราะห์ข่าว สำนักโฆษก
วิสุนี ตรวจ/จินตนา ถอดเทป/พิมพ์

Wednesday, November 24, 2010

National Power ยังหลงเหลืออยู่แค่ไหน?

ความหมายของ National Power ก็คือพลังอำนาจของชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เอามาใช้ในทางยุทธศาสตร์ ผู้ริเริ่มเอามาใช้เป็นคนแรกในปลายศตวรรษที่ 15 ได้แก่ นิโคโล มาเคียเวลลี่ ซึ่งเป็นทั้งนักการทหารและนักปรัชญาชาวอิตาลี...พลังอำนาจของชาติในช่วงที่มาเคียเวลลี่นำเสนอ เขาได้จัดเป็นองค์ประกอบ 3 ประการคือ การเมือง สังคม และการทหาร กระทั่งต่อมามีการเพิ่มเติมโดยคาร์ล วอน เคลาสวีทซ์ ผู้เป็นซุนหวู่แห่งตะวันตก โดยเพิ่มพลังอำนาจของชาติในทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาเป็นองค์ประกอบต่อการทำสงครามอีกปัจจัย

เรื่องพลังอำนาจของชาติ แม้จะเริ่มต้นมาจากหลักการดังกล่าว แต่ได้มีการพัฒนาและศึกษาเพิ่มเติมในฐานะเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ชาติให้ดำเนินไปถึงการบรรลุวัตถุประสงค์และการรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นมาถกเถียงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ของประเทศไทยปัจจุบัน ตลอดเวลาของความขัดแย้งเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลังอำนาจของชาติได้กร่อนสลายลงไปถึงจุดวิกฤตที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยบรรดาผู้ปกครองและผู้อยู่ในอำนาจทั้งหลายยังไม่ได้ตระหนัก หรืออาจจะไม่มีสำนึกในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป?

ประเด็นของการเมืองเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่สุดเมื่อเราจะเขียนถึงพลังอำนาจของชาติ ตรงนี้คงไม่ต้องตั้งคำถามอะไรว่า “ปัจจัยทางการเมืองและการมีเสถียรภาพของรัฐบาลไทยมีทิศทางและความเป็นไปอย่างไรกันแน่? เมื่อการเมืองอยู่ในสภาพไม่มั่นคง ผลกระทบที่จะเชื่อมโยงเข้าไปถึงปัจจัยที่เป็นพลังอำนาจของชาติในด้านอื่นๆย่อมได้รับผลประทบ และตกต่ำเป็นโดมิโนไปด้วย? ประเด็นต่อมาเราก็ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจก็ถือเป็นพลังอำนาจของชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ชาติบ้านเมืองที่ไม่มีความมั่งคั่ง ไม่มีเงินทองจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินจะกลายเป็นชาติบ้านเมืองที่มีความเข้มแข็งได้อย่างไร? เรื่องของเศรษฐกิจยังกระทบไปสู่เรื่องการทหาร โดยการทหารก็ยังเป็นพลังอำนาจของชาติที่สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ ถามว่าเมื่อการเมืองไร้ทิศทาง เศรษฐกิจของบ้านเมืองจะเข้มแข็งได้อย่างไร? แล้วในด้านการทหารจะเอาเงินทองจากที่ไหนเพื่อซื้อหาอาวุธ สร้างเขี้ยวเล็บให้ทหารได้กลายเป็นพลังอำนาจของชาติที่มีศักยภาพในการต่อรอง ซึ่งขุนศึกทั้งหลายต่างก็ใฝ่ฝันกัน?

ในโลกปัจจุบันพลังอำนาจของชาติยังต้องคลุมไปถึงอีกหลายปัจจัย รวมทั้งสังคมจิตวิทยา นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยเลย เพราะสังคมจิตวิทยาของคนในชาติย่อมส่งผลให้ชาติบ้านเมืองเดินไปสู่ทิศทางใดก็ได้ ประเด็นของความคิดและความเชื่อจัดเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่มีไม่น้อยที่นำไปสู่ความล่มจมในภายหลัง ตัวอย่างเช่น แนวคิดสร้างอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของฮิตเลอร์ หรืออีกหลายๆตัวอย่างที่มองหาได้ไม่ยาก...วาทกรรมที่ครอบงำสังคมไทยมา 5 ปี เป็นอุดมการณ์กู้ชาติ ถือเป็นเรื่องปฏิบัติการสังคมจิตวิทยาที่นำไปสู่ความล่มจมได้ พลังอำนาจของชาติที่อ่อนแอลงในปัจจุบัน สร้างความขัดแย้งแตกแยกก็สืบเนื่องมาจากการใช้สังคมจิตวิทยาไปอย่างหลงทิศและผิดทาง กระทบไปสู่ทุกบริบทต่อพลังอำนาจของชาติในมิติอื่นๆ?

อีกเรื่องสำคัญซึ่งคงต้องกล่าวถึง โดยเฉพาะในยุคสังคมปัจจุบัน สารสนเทศถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในด้านพลังอำนาจของชาติในทศวรรษนี้ เราอาจจะยกตัวอย่างเมื่อสหรัฐอเมริกาได้ใช้สื่อสารมวลชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน นั่นคือข้อเท็จจริงซึ่งส่งผลให้สหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นมีความได้เปรียบในปฏิบัติการทางทหาร...ส่วนประเทศไทยระยะ 5 ปีผ่านมานี้ ระบบของอำนาจดั้งเดิมก็ได้ฉุดเอางานสารสนเทศเข้ามาใช้ปฏิบัติการอย่างกว้างขวาง กลายเป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร แต่สะท้อนกลายเป็นผลสร้างสมให้สังคมไทยเต็มไปด้วยความแตกแยกและร้าวฉาน แม้เรายังมองงานสารสนเทศให้เป็นอีกหนึ่งพลังอำนาจของชาติก็คงจำเป็นต้องถอยหลัง ทบทวนเรื่องนี้ให้จริงจัง ก่อนที่พลังทางสารสนเทศจะกลายเป็นเครื่องมือทำลายตัวเองมากกว่าการกระทำหน้าที่ส่งเสริมในฐานะเป็นพลังอำนาจของชาติ?

ปัจจัยที่เกี่ยวกับพลังอำนาจของชาติยังมีเรื่องของภูมิศาสตร์ แต่หากพลังอำนาจในด้านอื่นๆหลงทิศผิดทาง Geopolitical หรือภูมิรัฐศาสตร์เห็นจะมิได้กลายเป็นความได้เปรียบอะไรทั้งสิ้นในฐานะพลังอำนาจของชาติ กระทั่งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและประชากร สิ่งเหล่านี้ต่างล้วนถูกจัดให้เป็นพลังอำนาจของชาติ แต่เมื่อมองไปในภาพกว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนถูกกระทำให้อ่อนแอลง เราจะยังเหลือพลังอำนาจอยู่อีกสักเท่าไร? หรือแทบไม่เหลือแล้ว?