Wednesday, December 8, 2010

สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล

โดย ทศพนธ์ นรทัศน์
ไทยเอ็นจีโอ
1. บทนำ
สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล เป็นหลักที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในการปกครองประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง ยิ่งมีการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากเท่าใด ก็จะทำให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น การสร้างธรรมาภิบาลก็เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ ผล ก่อเกิดดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนแล้ว ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ และ/หรือกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแท้จริง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองดีขึ้น การพัฒนาประเทศในทุกมิติก็เป็นไปโดยง่าย เพราะพลเมืองมีคุณภาพ

2. สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล
Dr. Faustina Pererira, Advocate of the Supreme Court of Bangladesh and Director of the Human Rights and Legal Services (HRLS), BRAC ได้แสดงปาฐกถาในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศได้มีบทบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล เสมือนหนึ่งเส้นเลือดหลักที่คอยหล่อเลี้ยงให้การปกครองรัฐ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือกล่าวให้เข้าโดยง่ายก็คือ ยิ่งรัฐมีสิ่งเหล่านี้มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นรัฐที่มีสุขภาพดี (Healthy State) มากเท่านั้น

สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล ถือเป็นสี่เสาหลักของโครงสร้างทางสังคมทุกระดับ โดยสามารถเปรียบเทียบได้กับโครงสร้างของโรงงาน ที่ประกอบด้วยแสงอาทิตย์, น้ำ, ที่ดิน และอากาศ

สิทธิและเสรีภาพ ก็เปรียบเสมือน แสงอาทิตย์และอากาศ – เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เราสามารถเพียงมองเห็นและรู้สึกและเชื่อว่ามันมีอยู่จริง ส่วนประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล ก็เปรียบเสมือนดินและน้ำ เป็นสิ่งที่สามารถมองเห็น จับต้องและแสดงให้เห็นได้ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถทำอะไรต่างๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การที่จะเสริมสร้างสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล ให้เติบโตอย่างมั่นคงนั้น จะต้องมีบทบัญญัติที่รองรับไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติจริงให้เห็นเป็นรูปธรรมทั้งในกลุ่มผู้ปกครอง นักการเมือง ข้าราชการ พนักงานของรัฐและประชาชนทั่วไป การส่งเสริมประเด็นต่างๆ เหล่านี้ผ่านทางเว็บไซต์และสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

รัฐจะต้องฟังเสียงคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันทำให้สิทธิของประชาชนที่จะได้รับการยก ระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือสิทธิที่จะหลุดพ้นจากความยากจน เป็นสิ่งที่รัฐควรกระทำให้เกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของอดีตประธานาธิบดี Mary Robinson ของไอร์แลนด์ ที่ชูเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวนำในการดำเนินงานและบริหารประเทศ

ความยากจนนั้น เกิดจากความล้มเหลวของระบบการบริหารงานและการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐ คนจนกลุ่มใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา จะไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าถึงได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านความยุติธรรม สิทธิในสินทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน สิทธิด้านการศึกษา ทำให้ประชากรเหล่านี้มีทักษะและฝีมือแรงงานต่ำ ขาดโอกาสในการทำงานที่ดี มีรายได้สูง กลายเป็นปัญหาของสังคม เช่น ผู้ก่อคดีอาชญากรรม หรือความรุนแรงต่างๆ ส่งผลต่อคุณภาพของประชาธิปไตยของประเทศ กล่าวคือ เมื่อคนยังยากจนนักการเมืองก็ใช้เงินซื้อเสียงกับคนเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง แล้วอ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็คือการสร้างความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในการเลือกตั้งโดยไม่ถูกชี้นำด้วยเงิน หรือการสัญญาว่าจะให้สิ่งตอบแทนของนักการเมือง

Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวว่า สหประชาชาติได้ดำเนินโครงการเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหวรรษ (Millenium Development Goals: MDGs) ซึ่ง ในปลายปี ค.ศ. 2009 พบว่าจากการดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถช่วยให้ประชาชนกว่า 4 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พวกเขาพึงได้รับจากรัฐ

จากประสบการณ์การดำเนินงานของ Human Rights and Legal Aid Services Programme ที่ BRAC ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแก่ประชาชนด้านกฎหมาย สิทธิ ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมือง จากหลากหลายมุมมอง ข้อค้นพบของเราก็คือการที่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างสิทธิและความ ต้องการของพลเมือง เพราะหากประชาชนมีด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปก็จะไปส่งผลกระทบต่ออีกด้านจนอาจ ทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนตื่นตัวในการใช้สิทธิของตนเองอย่างมาก โดยไม่สนใจต่อสิทธิของคนอื่น หรือความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมเป็นต้น

เสาหลักในการลดความยากจนและสร้างโอกาสให้กับประชาชนทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ได้แก่ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การใช้หลักนิติธรรม สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิด้านแรงงาน และสิทธิในการประกอบอาชีพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีความเชื่อมโยงกัน การหลอมหลวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันก็จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา ประเทศให้ประสบความสำเร็จ

เสาหลักที่ 1 การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม
ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการยึดหลักนิติธรรมในการ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทุกคน หรือกล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จะต้องไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะแตกต่างกันในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสำคัญประการแรกที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมที่ ต้องการมีธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เสาหลักที่ 2 สิทธิในทรัพย์สิน
สิทธิในการถือครองทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล ถือเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง กล่าวคือสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน การสืบทอดมรดกย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันสมควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น

ในบังคลาเทศนั้น ได้คุ้มครองสิทธินี้แก่ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดด้วย เจตนารมณ์ของสิทธิในทรัพย์สิน ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนจนว่าจะมีที่ดินในการประกอบอาชีพหรือพัก อาศัยได้อย่างมั่นคง สำหรับในประเทศไทยนั้น จะพบเสมอว่ากลุ่มนักการเมืองและพวกพ้องมักจะได้ประโยชน์จากการเวนคืนที่ดิน เสมอ เพราะคนเหล่านี้ จะรู้ว่ารัฐจะมีโครงการก่อสร้างใดที่จำเป็นต้องทำการเวนคืนที่ดินในท้องที่ ใด ก็ได้ไปซื้อที่ดินจากผู้อาศัยในท้องที่นั้นมาในราคาที่ถูก เพื่อที่จะได้รับค่าชดเชยในราคาที่สูง หรือการเก็งกำไรที่ดินในพื้นที่ใกล้โครงการนั้น ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนจนในสังคมอีกประการหนึ่ง

เสาหลักที่ 3 สิทธิในแรงงาน
คนยากจนส่วนใหญ่จะใช้เวลาส่วนมากในการดิ้นรนทำงานเพื่อความอยู่รอดของตนเอง แต่พวกเขาก็เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ทำให้มีคุณค่าต่ำ ไม่ถูกมองเป็นทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับทักษะฝีมือ แรงงาน แต่รัฐและทุกฝ่ายก็ไม่อาจปฏิเสธในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น แม้เขาเหล่านั้นจะเป็นคนยากจน รวมถึงสิทธิที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน หลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นจากการทำงาน เพราะแรงงานที่มีฝีมือจะเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เสาหลักที่ 4 สิทธิในการประกอบอาชีพ
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการ หรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

นอกจากนี้ สิทธิในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพก็ถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้น ฐาน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ วิสาหกิจชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยผู้หญิง ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานที่สูงมาก ความสำเร็จหรือล้มเลวของภาคเศรษฐกิจ บ่อยครั้งพบว่าขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างการเติบโตและภาวะหยุดชะงักทาง เศรษฐกิจ ระหว่างการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นกับภาวะไร้งานทำ และระหว่างความเข้มแข็งทางสังคมกับความอ่อนแอทางสังคม

ดังนั้น รัฐและทุกภาคส่วนจะต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน เพราะเงินทุนนำไปสู่การสร้างอาชีพ การจ้างงาน การมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด

ประชาธิปไตยเครื่องมือในการขับเคลื่อนสิทธิและเสรีภาพ
อดีตประธานาธิบดีนิวซีแลนด์, Mike Moore ได้ให้ทัศนะต่อประชาธิปไตยทำให้คนจนมีสิทธิ มีเสียงในทางสังคมมากขึ้น การทุจริตคอรัปชั่นมีน้อย ผู้นำมีการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโปร่งใส พลเมืองมีความตื่นตัวทางการเมือง สิทธิ เสรีภาพ และสื่อสารมวลชนที่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างตรงไปตรงมา ประชาธิปไตยนั้นเป็นมากกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่มันคือเสรีภาพ เฉกเช่นเดียวกับสิทธิมนุษยชน

ความยุติธรรมและสันติภาพ คือสิ่งที่ถูกเรียกร้องเสมอมาในหลายๆ ประเทศ แต่ละประเทศก็มีรูปแบบของประชาธิปไตยที่แตกต่างกันไป จึงไม่มีรูปแบบของประชาธิปไตยที่ดีที่สุดเพียงรูปแบบเดียว หากแต่คนจนจะต้องมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่น นี้คือหลักการสำคัญของประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะต้องประกอบด้วยสิทธิ เสรีภาพ และธรรมาภิบาล

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีจุดยืนที่เข้มแข็งด้านประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์จากการยืนหยัดในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา หากมองในระดับประเทศแล้ว สิทธิ เสรีภาพ และความโปร่งใสของภาครัฐเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันให้บรรลุผลในภูมิภาคเอเชีย ใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายออกไปถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลก ผ่านกลไกต่างๆ มิใช่เพียงด้านศาล หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้มีการเสวนาถึงความเป็นไปได้ถึงการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือศาลด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีหัวข้อสนทนาที่หลากหลาย เช่น อาวุธนิวเคลียร์ สิทธิสตรี ชนพื้นเมือง การปลดปล่อยเอกราช การพัฒนา โลกาภิวัตน์ และกฎระเบียบด้านการค้า แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่จริงนักสำหรับเรื่องนี้ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ในโลกแห่งความเป็นจริงมนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกแห่งความแตกต่างและหลากหลาย ทั้งด้านศาสนา ตลาดการค้า ระบบเศรษฐกิจ การเมือง แต่เราก็มีจุดร่วมกันที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ซึ่งเราเรียกว่า “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งหมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่ามนุษย์นั้นมีสิทธิหรือสถานะสากล ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของกฎหมาย หรือปัจจัยท้องถิ่นอื่นใด เช่น เชื้อชาติ หรือ สัญชาติ เป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือแจกให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษย์ทั้งหลายทั้ง หลายเกิดมามีอิสรเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง" ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชนเป็นหัวข้อที่เป็นที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศและใน กฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์การเมือง ร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

3. สรุป
ประชาธิปไตย เป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสิทธิ เสรีภาพ และธรรมาภิบาลให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งประชาชนได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง โดยมีเสาหลักในการลดความยากจนและสร้างโอกาสให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ได้แก่ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การใช้หลักนิติธรรม สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิด้านแรงงาน และสิทธิในการประกอบอาชีพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีความเชื่อมโยงกัน การหลอมหลวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันก็จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย และการพัฒนาประเทศให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: สรุปและเรียบเรียงจากการสัมมนาวิชาการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2552 ว่าด้วย “สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล” วันที่ 8 ธันวาคม 2552 ณ ห้องประชุม 704 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

การสัมมนาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการ ที่ผู้บริหารระดับเลขาธิการและหัวหน้าสำนักงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จัด ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 11 ประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และประสานการดำเนินงานระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยในการประชุม ครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดสัมมนาวิชาการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2552 ว่าด้วย “สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล” เพื่อบูรณาการการดำเนินงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญในด้านการส่งเสริมและคุ้ม ครองสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาลในสังคมไทย พัฒนาแนวทางความร่วมมือประสานงาน ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทภารกิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

No comments:

Post a Comment