Monday, December 20, 2010

เวียดนามผงาด : การพัฒนาที่มีทิศทาง

โดย : กมล กมลตระกูล

ประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพที่สูง มาก โดยระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ระหว่างปี 2001-2005 ตัวเลขจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 7.51 ทุกปี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าระบอบเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการมิได้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาเศรษฐกิจ หรือทำให้ประเทศล้าหลังแต่อย่างใด

* สัดส่วนของภาคการผลิตด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง คิดเป็นร้อยละ 20.9 ของจีดีพี
* สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 41 ของจีดีพี
* สัดส่วนของภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 38.1 ของจีดีพี
* มูลค่าของผลผลิตทั้งหมดได้นำส่งออกคิดเป็นร้อยละ 50 ของจีดีพี

ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของคนจนได้ลดลงจากร้อยละ 17.5 เมื่อเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้เมื่อปี 2001 เหลือเพียงร้อยละ 7 โดยที่ รัฐบาลได้สร้างงานเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านตำแหน่ง และรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านด่อง เป็น 10 ล้านด่อง ในด้านการรักษาพยาบาลก็มีการขยายโรงพยาบาลและเครือข่ายศูนย์อนามัยลงไปยัง ระดับรากหญ้าทุกระดับ

นอกจากนี้ราคายาก็ยังมีราคาถูกแสนถูก ยาแผนใหม่ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอินเดียซึ่งมีอุตสาหกรรมยาที่ทันสมัยและมี ราคาถูก แต่ประเทศไทยกลับห้ามนำเข้ายาราคาถูกจากอินเดีย ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมกับการต้องจ่ายค่ายาราคาแพงของฝรั่งที่มีบริษัทผูก ขาดไม่กี่รายผูกขาดอยู่

เรื่องนี้ก็เป็นตัวชี้วัดถึงความรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนของรัฐบาลสองประเทศว่า รัฐบาลไหนมีความจริงใจต่อประชาชนของตน

ทิศทางการพัฒนาของเวียดนามมีความชัดเจนและระบุไว้ในรายงานการประชุมสมัชชา พรรคครั้งที่ 10 ซึ่งประชุมไปในระหว่างวันที่ 18-25 เมษายน 2006 มีมติกำหนดทิศทางให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประชาชนมั่งคั่ง มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียม และเป็นสังคมพัฒนาที่เป็นอารยะประเทศให้ได้ในปี 2020

เรื่อง การศึกษา วิทยาศาสตร์และทคโนโลยี่ โดยระบุว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนสูงสุดของชาติ

ในรัฐสวัสดิการภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เท่าเทียมและเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่ม ในสังคม เวียดนามจึงสามารถระดมทรัพยากรมนุษย์ ที่มีถึง 54 ชนเผ่าซึ่งได้รับสิทธิและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มาเข้าร่วมในการพัฒนาประเทศ

ตัวอย่าง รูปธรรม คือ แม้แต่เมืองเดียนเบียนฟู ที่อยู่บนยอดดอยสูง ก็ยังมีโรงเรียนประชาบาลของชาวเขาเผ่าไทยดำเป็นตึกใหญ่โตทันสมัยเหมือนกับ โรงเรียนเอกชนในบ้านเรา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายการให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน อันเป็นรากฐานของการแก้ไขปัญหาความยากจนและล้าหลังที่ตรงจุดที่สุด แม้แต่ชาวเขาก็ไม่ถูกทอดทิ้ง ต่างกับคนจนและชาวชนบทไทยที่ถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะด้านการศึกษา

ประเทศที่เข้มแข็งได้ ทรัพยากรบุคคลในประเทศจะต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ และทั่วถึง จุดแข็งของเวียดนามจึงอยู่ที่ทรัพยากรบุคคล หรือประชาชนของเขานี่เอง

ผู้บริหารและนักการเมืองของไทยดีแต่คิดจะหากินและหาทางคอรัปชั่นกับนักเรียน นักศึกษาในทุกรูปแบบ เช่น เรื่องนมแจกเด็ก หรือ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งจะทำให้ระบบการศึกษาเป็นการค้าและคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนในชนบทจะถูกกีดกันออกไปโดยปริยาย แล้วประเทศจะเจริญได้อย่างไรใน เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะมีราคาแพง

ผิดกับเวียดนาม ในเรื่องการศึกษาเขาส่งเสริมอย่างครบวงจร เช่น ตำราเรียน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีราคาถูกมาก ผมเห็นหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กที่เป็นเรื่องราวของนักปรัชญาระดับโลกเกือบ ทุกคน เช่น เปลโต โสกราติส คาร์ล มาร์กซ ชาร์ล ดาวิน ราคาเท่ากับราคาเฝอ (ก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม) 2 ชาม

หนังสือหนังหา ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอนบ้านเราแพงอย่างมหาโหด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ หรือราคาข้าวแกง หรือก๋วยตี๋ยว แต่เงินเดือนคร ูและอาจารย์กลับถูกแสนถูก ทั้งๆ ที่รัฐบาลก็มีนโยบายคล้ายกับเวียดนามว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของชาติ

การสร้างชาติของเวียดนามตั้งอยู่บนคำสั่งสอนของโฮจิมินห์ให้รักชาติ เสียสละอย่างไม่เห็นแก่ตัว เพื่อส่วนรวม และแบบอย่างการดำเนินชีวิตของท่านที่มีความเสียสละ อดทน ขยัน ซื่อสัตย์ มุ่งมั่น อย่างสูงไม่ว่าจะมีความยากลำบากเพียงใด

การสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณสมบัติข้างต้นเพื่อมาพัฒนาประเทศจึงเป็นเรื่อง สำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำกันเพียงแค่การเสนอคำขวัญ การจัดงานรณรงค์ การกล่าวปาฐกถาในวันสำคัญแล้วก็ลอยหายไป หรือการปล่อยเสรีให้โรงเรียน หรือ ภาคธุรกิจ ภาคบันเทิงหากินกับเยาวชนด้วยการสร้างค่านิยมผิดๆในเรื่องการบริโภคที่ ฟุ่มเฟือย หรือ โดยมอมเมาเยาวชนด้วยธุรกิจเกมส์

โฮจิมินห์ได้ตระหนักว่าภาระกิจในการสร้างชาติไม่สามารถทำได้ในคนเพียงหนึ่ง รุ่นในชั่วชีวิตของตน จึงได้ก่อตั้งสหภาพเยาวชนอินโดจีนในปี ค.ศ. 1936 ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพเยาวชนโฮจิมินห์ และมีสมาชิกกว่า 3.5 ล้านคน

สมาชิกเหล่านี้จะได้รับการอบรมให้มีอุดมการณ์รักชาติ รักเอกราช และให้ร่วมกันสร้างประเทศให้เจริญ มั่งคั่ง เข้มแข็ง เป็นธรรมตามอุดมการณ์รัฐสวัสดิการ และดำรงชีวิตอย่างมีคุณธรรมและไม่ประพฤติเหลวไหล เหลวแหลก หรือใช้ชีวิตอย่างไร้สาระเช่นการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การเที่ยวดิสโคเธค แต่ต้องศึกษาอย่างขยันขันแข็งทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ และการบริหารจัดการ

นอกจากนี้สมาชิกเหล่านี้ยังต้องสมัครเป็นอาสาสมัคร ทำงานในโครงการพัฒนาที่สำคัญของรัฐ โครงการพัฒนาของชุมชน ของท้องถิ่น เพื่อที่จะได้กลายเป็นคนติดดินและรู้จักความยากลำบากของประชาชน โดยมีคำขวัญเพื่อสร้างจิตวิญญานว่า "สามพร้อม ห้าอาสา"

พร้อมแรกคือ พร้อมที่จะไปในที่รัฐบาลเรียกร้อง พร้อมที่สอง คือ พร้อมที่จะไปในที่ยากลำบาก และพร้อมที่สาม คือ พร้อมที่จะไปช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ

ส่วนอาสาแรก คือ อาสาไปปลูกป่าในที่ถูกทำลาย หรือ ที่ว่างเปล่า อาสาที่สองคือ อาสาไปสร้างโครงการพัฒนาการประมง อาสาที่สาม คือ อาสาไปร่วมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของชาติ อาสาที่สี่ คือการอาสาไปร่วมสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ และอาสาที่ห้า คือ อาสาไปสร้างโครงการริเริ่มใหม่ๆในชุมชนที่แร้นแค้นกันดาร

การสร้างอุดมการณ์เพื่อร่วมกันพัฒนาชาติอย่างมีทิศทางโดยพลังของเยาวชนนี้ มีภาพให้เห็นทั่วไป เช่น ในกรุงฮานอยซึ่งมีบึงขนาดใหญ่มากมายในใจกลางเมืองเต็มไปหมด ตามริมบึงจะเห็นมีกระชอนด้ามยาววางอยู่ตามริมบึง จะเห็นมีคนหยิบมาตักเศษขยะ หรือใบไม้แห้ง ออกจากบึงมาวางไว้ริมบึงเพื่อไม่ให้บึงสกปรกหรือ เกิดน้ำเน่า นี่ คือ การสร้างคนให้มีคุณภาพและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะอย่าง ได้ผล

นอกจากนี้ฮานอยยังเป็นเมืองหลวงที่มีต้นไม้ยักษ์ที่ต้องใช้หลายคนโอบรอบนับ เป็นพันต้นๆทั่วไปหมดทั้งเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างชาติโดยการสร้างคนให้มีอุดมการณ์ไม่ใช่ปล่อย เสรีอย่างสะเปะสะปะอย่างบ้านเรานั้นทำให้เกิดขึ้นได้

แม้แต่พื้ที่ใจกลางเมืองเพียง 2-300 ตารางวาก็สามารถสร้างเป็นสวนหย่อมได้โดยการปลูกต้นไม้ยืนต้นให้แน่นสัก 40-50 ต้น ส่วนพื้นดินก็เพียงปลูกหญ้าคลุม แล้วตั้งม้านั่งให้ประชาชนพักผ่อน หลบแดด และสูดโอโซน

ในบ้านเราจะเป็นตรงกันข้ามคือ คนขับรถเก๋งคันหรูก็ยังเปิดกระจกโยนก้นบุหรี่ออกมาที่ท้องถนนกันเฉย หรือการทิ้งขยะลงลำคลองจนน้ำเน่าทั้งกรุงเทพฯแทนที่จะช่วยกันเก็บขยะออกจาก คลอง ส่วนต้นไม้ที่มีอายุเป็นร้อยๆปี ก็ตัดทิ้งกันง่ายๆ มีการเผาป่าอย่างเห็นแก่ตัวจนเกิดหมอกพิษทั่วภาคเหนือ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวย่อยยับคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท เป็นต้น

เวียดนามได้ตระเตรียมเยาวชนขึ้นมาแบกรับภาระสร้างชาติ (ตามมติของสมัชาฯ 10) ให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประชาชนมั่งคั่ง มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียม และเป็นสังคมอารยะ โดยสนับสนุนสันนิบาตเยาวชนโฮจิมินห์ (ก่อตั้งเมื่อปี 1931 ) ที่เปิดกว้างให้เยาวชนที่มีอายุ 15-30 ปีจากทุกเผ่าชนในประเทศมาเข้าร่วมได้อย่างเท่าเทียมกัน

สมาชิกของสันนิบาตฯในปัจจุบันมีจำนวน 3.5 ล้านคน ซึ่งได้รับการตระเตรียมอบรมทั้งในด้านอุดมการณ์และ วัฒน ธรรม ของชาติ ด้านความรู้สมัยใหม่ทั้งด้านวิทยาศาตร์และ เทคโนโลยี่ รวมทั้งการเป็นอาสาสมัครไปช่วยเหลือและเรียนรู้จากมวลชนด้วย

อุดมการณ์ ชาติของเวียดนามเน้นที่เอกราช สังคมประชาธิปไตย การสร้างชาติให้มั่งคั่ง เข้มแข็งทางการทหาร สร้างสังคมที่เป็นธรรม สร้างความภูมิใจในความเป็นชาติ และสร้างสังคมที่มีความศิวิไลส์ เน้นในเรื่องคุณธรรม และการดำรงชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีรสนิยม และถูกสุขอนามัย

กล่าวให้สั้นคือ ไม่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลก เละเทะ ไร้สาระ ฟุ่มเฟือย และไร้รสนิยม ซึ่งตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ในสังคมไทยในทุกวันนี้

นี่คือทรัพยากรบุคคลอันล้ำค่าที่มีคุณภาพและอุดมการณ์ และเป็นทุนทางสังคมที่เป็นหลักประกันอนาคตของชาติ

อันที่จริง การเขียน หรือ การสร้างอุดมการณ์ชาติให้สวยหรูอย่างไรก็ได้เป็นเรื่องง่าย และหลายๆประเทศก็ทำกันอยู่ แต่ความสำคัญอยู่ที่ได้มีมาตรการ นโยบาย โครงการ การสร้างโครงงานและกิจกรรมต่อเนื่อง และงบประมาณส่งเสริมเป้าหมายของอุดมการณ์ของชาติหรือไม่ต่างหาก ซึ่งประเทศไทยไม่มีมาตรการเหล่านี้เลย นอกจาก การเทศนา การโฆษณา การเสนอคำขวัญ การจัดรณรงค์เป็นครั้งคราว ไม่เพียงแค่นั้นยังปล่อยเสรีให้ภาคเอกชนโฆษณามอมเมาเยาวชนประชาชนอย่างเสรี เต็มที่

ผลจากการพัฒนาประเทศอย่างมีทิศทางชัดเจน ปัจจุบันเวียดนามกลายเป็นผู้ต่อเรืออันดับ 7 ของโลก โดยในเอเชียก็เป็นรองแค่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนเท่านั้น โดย บริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือ วีนาชิน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งเมื่อปี 1960 โดยมีบทบาทสร้างเรือรบ เรือขนส่งและตอร์ปิโดให้รัฐบาลใช้ต่อสู้กับการรุกรานของอเมริกา

ในปี 2004 วีนาชิน ได้รับจ้างต่อเรือจากประเทศอังกฤษจำนวน 15 ลำ ขนาด 53,000 ตัน มีมูลค่า หมื่นล้านบาท นายกรัฐมนตรี ผ่าม วัน ไก๋ ให้สัมภาษณ์ว่า วีนาชินมีทิศทางที่จะสร้างเรือสินค้าขนาด 80,000 ตัน ภายในปี 2010 รวมทั้ง เรือบรรทุกน้ำมันขนาด 100,00-300,000 ตัน และบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้ 3000 ตู้ และท่าซ่อมเรือขนาด 400,000 ตัน ตามเมืองท่าต่างๆ

มติของการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 10ที่กำหนด ทิศทางให้เวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประชาชนมั่งคั่ง มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นสังคมพัฒนา เป็นอารยะประเทศให้ได้ในปี 2020 จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน

หันมามองประเทศไทยรัฐบาลและข้าราชการทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบปัดสวะให้ พ้นหน้าบ้านไปวันๆ หรือ รอวัวหายแล้วจึงล้อมคอก ทุกวันนี้ก็ยังทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองโดยที่แต่ละฝ่ายก็ล้วน มีทิศทางแต่จะหาทางคอรัปชั่น หาสัมปทาน หาวิธีเอาเปรียบสังคม และผู้ที่อ่อนแอกว่า หาวิธีฮั๊ว หาวิธีผูกขาด หาวิธีรักษาการผูกขาด หาวิธีเลี่ยงภาษี และหาวิธีเอาเปรียบผู้บริโภคเหมือนเดิม โดยไม่สนใจว่าประเทศกำลังเดินไปตกเหวเศรษฐกิจที่รุนแรงในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทุกคน และความสงบสุขปลอดภัย ความอยู่เย็นเป็นสุข ก็จะกลายเป็นอดีตหรือ ตำนานไปเท่านั้น

ส่วนภาคประชาชน และ เอ็นจีโอ ก็ไม่ต่างจากกลุ่มธุรกิจการเมือง และกลุ่มอำมาตย์การเมือง คือ ไม่ศึกษา ไม่สนใจศึกษา ไม่มีเวลาศึกษา ไม่อ่านหนังสือ ไม่ซื้อหนังสือ เมื่อได้รับหนังสือฟรีก็ยังไม่ยอมอ่านอีก ดีแต่วิพากษ์วิจารณ์ และเคลื่อนไหว สะเปะสะปะเพราะไม่ได้ศึกษา และไม่รู้ว่า ทิศทางอนาคตที่มีหลักประกันของชาติจะเดินไปอย่างไร จึงไม่มีเครดิต และก็มักจะทะเลาะแบ่งพวกในหมู่กันเอง ส่วนนักวิชาการก็ล้วนมีอหังการ์ ติดยึดในตัวตน และทฤษฎีที่ตัวเองหลงใหล

ดังนั้นจึงมักเคลื่อนไหวเข้า ทางหรือเป็นเครื่องมือของ 2 กลุ่มข้างต้น หรือ ของกลุ่มองค์กรข้ามชาติหรือ รัฐบาลมหาอำนาจที่มีวาระแฝงเร้นผ่านองค์กรเอ็นจีโอ

อนาคตของชาติจึงดูแสนจะ วังเวงอะไรเช่นนี้ น่าอิจฉาประชาชนชาวเวียดนามที่มีพรรค และรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ ต่อปัจจัยการดำรงชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

No comments:

Post a Comment