Sunday, December 19, 2010

ความยุติธรรมที่เป็นอิสระ

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ที่มา : มติชน

เมื่อไม่นานมานี้ข่าวการถอนตัวจากการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาใน คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนคดีหนึ่ง ได้สะท้อนให้เห็นถึงการอำนวยความยุติธรรมที่เป็นอิสระเพื่อรักษาความเชื่อ ถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาล

การอำนวยความยุติธรรมจะสัมฤทธิ์ผลได้เมื่อศาลและผู้พิพากษามีความเป็น อิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ปราศจากอิทธิพลอันไม่ชอบไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากภายนอกหรือจากการก้าวก่ายของ บุคคลในวงการศาลหรือจากบุคคลอื่นใดก็ตาม ผู้พิพากษาจึงต้องถือเรื่องนี้เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของ ศาลยุติธรรม
ความเป็นอิสระนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 197 ได้บัญญัติเรื่องความเป็นอิสระของศาลและผู้พิพากษาว่า

“การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย........”

นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนในการที่จะให้ความเที่ยงธรรมแก่คู่ความ และสร้างความเชื่อถือศรัทธาในตัวผู้พิพากษา คณะกรรมการตุลาการจึงได้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2529 โดยมีสภาพบังคับทางวินัยหากมีการฝ่าฝืน ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการมีอยู่ด้วยกัน 44 ข้อ เป็นการวางกรอบในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา บทบัญญัติที่สำคัญที่กล่าวถึงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีได้แก่

หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจะต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ถูกต้องตามหลักกฎหมาย และนิติประเพณี และต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนั้นอย่าง เคร่งครัดครบถ้วน

ในการนั่งพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจะต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ และพึงสำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งกายเรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาค และมีเมตตาธรรม ดังที่ โซคราตีสนักปรัชญาชาวกรีกให้ทรรศนะไว้ว่า คุณสมบัติสำคัญของผู้พิพากษามีสี่ประการคือ : ฟังด้วยความตั้งใจ, ตอบด้วยความสุขุม, พิจารณาด้วยความพินิจพิเคราะห์ และวินิจฉัยโดยปราศจากความลำเอียง

ผู้พิพากษาต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่ความหรือคดีที่ตนนั่ง พิจารณา ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ผู้พิพากษาพึงถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อมีเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวผู้พิพากษา อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม และจะต้องไม่กระทำการใดๆอันเป็นการจูงใจ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่อาจทำให้เสียความ ยุติธรรมได้

เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ประชาชนว่า ศาลและผู้พิพากษาทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยซื่อสัตย์ สุจริตและเป็นกลาง กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11- มาตรา 14 ซึ่งได้บัญญัติเหตุที่จะยกขึ้นคัดค้าน ผู้พิพากษาตามที่กฎหมายกำหนด คือ ผู้พิพากษานั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น

เป็นญาติเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือว่าเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้ภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้สองชั้น เป็นผู้ที่ได้ถูกอ้างเป็นพยานโดยที่ได้รู้ได้เห็นเหตุการณ์ หรือโดยเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษเกี่ยวข้องกับคดีนั้น เป็นหรือเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทน หรือได้เป็นทนายความของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาแล้ว

เป็นผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีเดียวกันนั้นในศาลอื่นมาแล้ว หรือเป็นอนุญาโตตุลาการมาแล้ว มีคดีอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาซึ่งผู้พิพากษานั้นเอง หรือภริยา หรือญาติทางสืบสายโลหิตตรงขึ้นไป หรือตรงลงมาของผู้พิพากษานั้นฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือภริยา หรือญาติทางสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือตรงลงมาของคู่ความฝ่ายนั้นอีกฝ่ายหนึ่ง และผู้พิพากษานั้นเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เมื่อมีเหตุที่จะยกขึ้นคัดค้านผู้พิพากษา ผู้พิพากษานั้นเองจะยื่นคำบอกกล่าวต่อศาลแสดงเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้าน แล้วขอถอนตัวออกจากการนั่งพิจารณาคดีนั้นก็ได้ หรือคู่ความที่เกี่ยวข้องอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล ก็ได้ เมื่อได้ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว ให้ศาลงดกระบวนพิจารณาทั้งปวงไว้ก่อนจนกว่าจะได้มีคำชี้ขาดในเรื่องที่คัด ค้านนั้นแล้ว

แม้จะไม่ปรากฏเหตุที่คู่ความคัดค้านผู้พิพากษาที่ นั่งพิจารณาคดีนั้นได้ตามกฎหมาย หากผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีนั้นเองเห็นว่า การที่ตนจะนั่งพิจารณาคดีต่อไปอาจจะทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคลางแคลงใจ หรือตนเองเห็นเองว่าไม่สมควรที่จะนั่งพิจารณาคดีนั้นต่อไปด้วยเหตุผลอื่น เช่น เป็นเพื่อนสนิทหรือเป็นอริกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน หรือเคารพนับถือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมือนญาติผู้ใหญ่ ผู้พิพากษาพึงถอนตัวจากการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

ผู้พิพากษาไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความเท่า นั้น แต่ยังต้องแสดงให้ปรากฏแก่สาธารณชนด้วยว่าตนเองทรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม และไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความเรื่องนั้นๆไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง

นอกจากการอำนวยความยุติธรรมให้คู่ความอย่างเที่ยงธรรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ ความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อศาล และการสร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ประชาชนว่า สถาบันตุลาการเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง.

No comments:

Post a Comment