ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง
Thanajaithai@hotmail.com
ที่มา : ประชาไท
นับแต่สมัยที่ราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียสิ้นสุดลงในช่วงสงครามโลกครั้ง ที่หนึ่ง และต่อเนื่องถึงการสิ้นสุดของจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจีน ภัยของคอมมิวนิสต์ได้ถูกสร้างภาพให้เป็นมารร้ายในสังคมโลก ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ยุคสงครามเย็นได้แบ่งโลกออกเป็นสองขั้ว ระหว่างทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ และขั้วสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ ได้สร้างภาพให้เกิดฝ่ายเทพกับมาร ภาพของมารร้ายคอมมิวนิสต์ดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่คอยหลอกหลอนไปทั่วโลก รวมทั้งรัฐนาวาสยามประเทศจวบจนมาเป็นประเทศไทย แม้แต่การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมยังถูกยัดเยียดและเหมารวมว่าเป็น การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จึงต้องปราบปรามกันอย่างรุนแรงโดยไม่ได้พิจารณาแยกแยะอย่างถี่ถ้วน
ในปี 1989 กำแพงเบอร์ลินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นได้ถูกพังทลายลงอันเป็นการสิ้น สุดของสงครามเย็น การล่มสลายของกลุ่มประเทศสังคมนิยมยุโรปตะวันออกหลายประเทศ รวมทั้งสหภาพโซเวียต และประเทศในกลุ่มอินโดจีน นำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายจากเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลางอันเรียกว่า ระบอบ “สังคมนิยม” เข้าสู่เศรษฐกิจ “ทุนนิยมเสรี” แม้กระทั่งประเทศจีนก็เข้าสู่ระบบตลาดทุนนิยมเสรีแบบจีน ทำให้ความหวาดวิตกเกี่ยวกับมารร้ายที่คอยมาคุกคามความมั่นคงอันเนื่องมาจาก ลัทธิคอมมิวนิสต์หมดไป ปัญหาความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ลดความสำคัญลง และแล้วความตึงเครียดและขัดแย้งในสังคมไทยได้เคลื่อนตัวออกจากประเด็นของ อุดมการณ์พัฒนามาสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจ สู่ปัญหาใหม่ภายใต้บริบทของการเร่งรัดพัฒนา
เมื่อความต้องการของมนุษย์สวนทางกับความยั่งยืนของธรรมชาติ โดยมีรัฐในฐานะผู้ดูแลและจัดการทรัพยากรของประเทศ รวมทั้งเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากร และดูเสมือนว่าปัญหาความขัดแย้งมีบ่อเกิดมาจากยุทธศาสตร์และเป้าหมายการ พัฒนาของประเทศตามแนวทางของทุนนิยมเป็นสำคัญ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งในทางเศรษฐกิจอันเป็นบรรยากาศที่นัก วิชาการเรียกว่า “เวลาของทุน” (Capital time) โดยเฉพาะความต้องการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (New Industrialized Countries) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมอย่างบังคับ (Forced industrialization) นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างการคงวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิม กับทิศทางของแผนการพัฒนาประเทศ รวมถึงความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างตนกับสิ่งที่เรียกว่าทรัพยากร ธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเป็นความขัดแย้งที่เป็นผลพวงจาก การแย่งชิงทรัพยากรและปัญหาการจัดการกับทรัพยากร ที่เกิดจากการจัดการของรัฐที่ไม่มีดุลยภาพ
ปัญหาความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าการชลประทานเพื่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขยายตัวของเมือง ประมงชายฝั่ง นากุ้ง สนามกอล์ฟ ปัญหามลภาวะ และการสูญเสียนิเวศน์วัฒนธรรม อันเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่รุกล้ำความหลากหลายทางชีวภาพ โดยรัฐเป็นคู่ขัดแย้งที่สำคัญกับประชาชน ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมีรากเหง้ามาจากการที่ประชาชนได้รับ ผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร ที่เข้ามาในรูปแบบของโครงการขนาดใหญ่ ทั้ง เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ การวางท่อแก๊ซ การเติบโตของอุตสาหกรรม การขยายโรงงาน การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดกากอุตสาหกรรม ล้วนสร้างผลกระทบด้านมลพิษให้กับชุมชนโดยตรง ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันเพื่อกระทำการรวมหมู่ (Collective action) เดินขบวนและชุมนุมประท้วงคัดค้านในหลากหลายรูปแบบ
กล่าวกันว่า อัตราการสูญเสียทรัพยากรที่เกิดจากสงครามภายในประเทศที่มีมายาวนานในบาง ประเทศ เช่น กัมพูชา หรือเวียดนาม อาจจะไม่เท่ากับความสูญเสียอันเนื่องมาจากการเปิดประเทศไปสู่การพัฒนาสมัย ใหม่เพียงไม่กี่ปี ในลักษณะเดียวกัน สำหรับกรณีของไทย การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากสงความต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือความขัดแย้งทางการเมือง ยังไม่เท่ากับการสงครามแย่งชิงทรัพยากรอันเนื่องมาจากการไหลบ่าเข้ามาของ ระบบทุนนิยมที่ทำให้คนจำนวนมากถูกเบียดขับจนต้องอพยพจากที่ทำมาหากินดั้ง เดิม ชุมชนแตกสลาย และต้องเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีพ เกิดความระส่ำระสายในครอบครัวและรุกลามไปสู่สังคมจนประเมินความสูญเสียแทบ ไม่ได้
ความขัดแย้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้นทุกที ทั้งได้พัฒนาและขยายตัวไปพร้อมๆ กับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาประเทศซึ่งเน้นเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โครงสร้างอำนาจนิยม (Authoritarianism) ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น แนวโน้มการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนจึงหลีกไม่พ้นเรื่อง การใช้อำนาจ สวนทางกับวิธีการแบบสันติวิธี (Non-violent) ด้วยรูปแบบต่างๆ ตลอดมา เช่น เหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 กระทั่งหลังสุดเหตุการณ์นองเลือดที่ราชประสงค์
นอกจากนั้น ยังมีการกระทำลักษณะอื่นๆ เช่นการลอบสังหารผู้นำซึ่งกรณีล่าสุดซึ่งเป็นที่กล่าวถึงคือการลอบสังหารผู้ นำการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด “เจริญ วัดอักษร” ซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกร่วมของมวลชนอย่างใหญ่หลวง การปราบปรามด้วยกำลังอาวุธในการบังคับใช้นโยบายเรื่องย้ายคนออกจากป่า กรณีการประท้วงเขื่อนปากมูล กรณีทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วงหน้าสนามกีฬาจิระนคร และโรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ ของชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต่อการคัดค้านสร้างโรงแยกก๊าซและวางท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ซึ่งล้วนแล้วเกิดจากโครงสร้างอำนาจนิยม (Authoritarianism) ทั้งสิ้น
และที่สำคัญที่สุดคือปัญหาการใช้กลไกราชการตอบโต้การเคลื่อนไหวของ ประชาชน โดยอาศัยกลไกรัฐผูกขาดการให้ข้อมูลข่าวสาร ปิดกั้นฝ่ายประชาชนเข้าไปในพื้นที่ บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ผูกขาดการชี้แจงโครงการฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายคัดค้านดำเนินกิจกรรม นั่นคือรัฐปิดมิให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการสาธารณะและปฏิเสธโอกาส ของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public participation) ในการแก้ปัญหาเพื่อหาทางออก ซึ่งเหล่านี้เรียกว่า “ประชาพิจารณ์” (Public hearing) มักถูกละเลยจากอำนาจรัฐ
เมื่อการใช้สิทธิและอำนาจตามกฎหมายในการจัดการทรัพยากร รัฐมิได้ใช้สิทธิและอำนาจอย่างเปิดเผย ชอบธรรม และยุติธรรมด้วยหลักนิติรัฐ รวมทั้งตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล (good governance) หากแต่มีแนวโน้มที่มีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ซุกซ่อนเป็นประโยชน์ทับซ้อน(conflict of interest) ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเสมอ รัฐกับประชาชนจึงกลายเป็นคู่กรณี (actor) คู่เอกของความขัดแย้งสาธารณะ (Public conflict) แม้ว่าสังคมไทยจะเปิดกว้างในทางการเมือง สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ปี 2540 ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง (Political Participation) ในหลายมิติ แต่ไปๆ มาๆ กลับเสมือนไม่ได้ส่งเสริมอย่างแท้จริงเป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งของผู้ปกครอง เท่านั้น ซ้ำยังถูกฉีกทั้งไปเมื่อ 19 กันยายน 2549โดยอ้างว่าเพื่อความสมานฉันท์
อย่างไรก็ตาม หากมองปัญหาความขัดแย้งของสังคมโลก ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรมิได้เป็นเรื่องสำคัญมากไปกว่าปัญหาด้านชาติพันธุ์ ที่กลายเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตกและนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อย้อนกลับไปอดีตปัญหาชาติพันธุ์ยิว รัฐบาลนาซี โดยฮิตเลอร์จอมอำมหิตได้ปลุกเร้าประชาชนเยอรมันให้เกิดความจงเกลียดจงชังจน ต้องตัดสินปัญหาชาติพันธุ์ยิวขั้นสุดท้าย (the Final Solution) ด้วยการส่งยิวเข้าห้องแก๊ส คนนับล้านเป็นเหยื่ออันเนื่องมาจากความเป็นยิว หรือกรณีมุสลิมในบอสเนีย-เฮอร์เชโกวีนา ที่ถูกปิดล้อมและปราบปรามจากฝ่ายเซอร์บ คนหลายแสนคนถูกสังหารในขณะที่ผู้หญิงหลายหมื่นคนถูกข่มขืน มุสลิมถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางความยากไร้และทุกข์เข็ญ การช่วยเหลือจากหลายฝ่ายที่เกิดขึ้นนั้นกล่าวกันว่า “สายเกินไปและน้อยเกินไป” คนส่วนใหญ่กลายเป็นเหยื่ออันเนื่องมาจากความเป็นมุสลิม ช่วงเวลาแห่งความขมขื่นนี้ถูกเรียกว่า “ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่โหดร้ายใจกลางยุโรป”
เมื่อหันกลับมามองสังคมไทยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน หรือประชาชนด้วยกันนั้น ประเด็นที่ขัดแย้งเดิมๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเก่าที่ปะทุใหม่ซึ่งแนวโน้มขยายตัวในอนาคตคือ ประเด็นชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย เช่น กรณีมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยยังไม่อาจเยียวยาความขัดแย้งให้บรรลุลงได้ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถจับคู่กรณีได้ชัดเจน ยังเป็นคู่ขัดแย้งที่ไร้ตัวตนและกำลังลงรากหยั่งลึกจนถือเป็นวิกฤติแห่งการ ปกครอง (Crisis governance) การลุกลามของไฟใต้ที่ยิ่งโหมกระพือ ตอกย้ำว่ารัฐไทยไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ และบางครั้งมีการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ จึงเป็นความเปราะบางของการใช้อำนาจ ที่รัฐต้องพึงระวัง
การสลายความขัดแย้งจึงไม่ใช่การใช้อำนาจแต่เพียงอย่างเดียวแต่ ต้องอาศัยความร่วมมือและสร้างความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ในรูปของระบบคิด ระบบคุณค่า เพื่อนำไปสู่สันติภาพโดยอาศัยอำนาจที่เรียกว่า “อำนาจอ่อน” ซึ่งเป็นอำนาจที่สามารถทำให้ผู้อื่นต้องการในสิ่งเดียวกับที่เราต้องการ (getting other to want what you want) ด้วยความร่วมมือร่วมใจมากกว่าการบังคับขู่เข็ญ และผลของอำนาจอ่อนคือการยอมรับของทุกฝ่ายและเป็นเครื่องมือสลายความขัดแย้ง ได้ดีที่สุด
No comments:
Post a Comment