Monday, December 27, 2010

วิกิลีกส์กับการเลิกเชื่อ : คุยกับ ดร.เกษียร เตชะพีระ

คำถามสำคัญ ของผู้คนแทบทุกวัฒนธรรมจำนวนวนไม่น้อย ต่างแสวงหา “ความจริง” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ฯลฯ ยังไม่นับรวมวิธีวิทยาอื่นๆ ที่แต่ละสำนักคิด ต่างยึดถือ หรือกระทั่งวิธีคิดเองเออเอง ตามจินตนาการเท่าที่ประสบการณ์ในชีวิตแต่ละคนจะเอื้ออำนวยต่อการวาดภาพถึง สิ่งไกลๆ ที่ไม่สามารถมองเห็น

ไม่ว่าวิธีการแสวงหาความจริงของแต่ละคน จะใช้วิธีอะไร หยิบจับเครื่องมือชิ้นไหน แต่ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ “ความจริง” ชุดนั้น มากเท่ากับ ความพร้อม ในการยอมรับความจริงของผู้ที่กำลังรับรู้...

เดิมทีความเข้าใจความจริงแต่ละชุด ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่ม และอาจเป็นสิ่งต้องห้ามของสาธารณะ ต้องรอเวลาจนกว่าจะผ่านช่วงชีวิตในแต่ละรุ่น เพื่อคลายความ “ต้องห้าม” ของข่าวสารชุดนั้น

ขณะที่วันนี้ ความเคลื่อนไหววิธีใหม่ๆของข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์สื่อสารถึงกันผ่านอินเตอร์เนต ข้ามพรมแดนของรัฐชาติและเป็นไปได้ยากในการควบคุม

“วิกิลีกส์” เป็นเครื่องมือวิธีการที่จะเข้าถึง “ความจริง” อีกชุด โดยไม่ต้องรอคอยระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่จะเข้ามาคลี่คลายความรับรู้อีก ต่อไป

เมื่อปัญหา ไม่ได้อยู่ที่ ข่าวสาร มากเท่ากับผู้รับสาร การเตรียมความพร้อมของผู้รับข้อมูลจึงมีความน่าสนใจว่า สำหรับสังคมไทยมีความพร้อมหรือไม่เพียงใด สำหรับข้อมูลเก่าในความเข้าใจใหม่ ก่อนการสร้าง “ความจริง”ชุดใหม่ในสาธารณะ

ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้แง่คิดเตือนสติที่สำคัญ ก่อนที่สาธารณะจะสวิงไปทางใดทางหนึ่ง หากไม่ฝึกตั้งรับกับความเข้าใจแบบใหม่ๆ ที่ใกล้เข้ามาทุกที

สังคมไทยไม่มีเครื่องมือที่จะรับรู้ในหมู่สาธารณชนเท่าไหร่ เพราะไม่ได้ถูกฝึกให้ “เลือกเชื่อ” แต่สังคมไทยถูกฝึกให้เชื่อมาตลอด รับข้อมูลด้านเดียวมาตลอด ไม่คิดเองมาตลอด ดังนั้น พอโดนจู่โจมโดยข้อมูลในทางตรงข้าม ทำให้มีอาการสุดโต่งออกไปอีกข้างหนึ่ง

“ผมว่าสังคมไทยไม่ได้ถูกฝึกมาทั้ง 3 ข้อ เพราะเดิมทีรับข้อมูลก็รับด้านเดียว ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อให้รับหลายด้าน แล้วคิดด้วยเหตุด้วยผล อย่างที่ 2 ต้องคิดเองเป็น ก็มีปัญหาอีก เรามักจะถูกชักจูงให้ คิดตามผู้นำบ้าง คิดตาม ศอฉ. บ้าง อันที่ 3 เลิกเชื่อก็ไม่เป็นเพราะถูกฝึกให้เชื่อมาตลอดชีวิต คือตั้งแต่เด็ก ก็จะมีผู้ใหญ่มาบอกว่าต้องเชื่ออย่างงี้ๆ พอเข้าโรงเรียนก็มีครูบอกว่าต้องเชื่ออย่างนี้ๆ นะ พอโตมาเป็นผู้ใหญ่ก็มี ศอฉ. มาบอกให้เชื่อแบบนี้... ไม่เคยถูกฝึกให้เลือกเชื่อ พอไม่เคยถูกฝึกแล้วผลมันเป็นยังไง พอโดนข้อมูลฝ่ายตรงข้ามถล่ม... การเลือกเชื่อเป็น... ก็คือการเลือกเชื่ออย่างมีสติ ถ้าเลือกเชื่อไม่เป็น มันจะสวิงและเกิดความรู้สึกเกลียดชัง”

สำหรับผลของข้อมูลชุดใหม่อาจทำให้บางคนผิดหวังกับสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อ ดร.เกษียร เสนอวิธีการจัดการกับความเชื่อว่า “คุณ อยู่กับสิ่งที่คุณไม่เชื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องเกลียด ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่คนไทยไม่เคยทำมาก่อน จากที่เคยเชื่อหัวปักหัวปำเลยนะ พอตกใจกับข้อมูลแล้วเลิกเชื่อ ก็เกลียดเลย...ผมคิดว่าต้องเยือกเย็น...เป็นไปได้ไหมที่คุณจะเลือกเชื่อแบบ เก่าโดยไม่จำเป็นต้องสุดโต่งไปเป็นการเกลียด...

ผมไม่ได้แปลว่า คนที่เกลียดเป็นคนผิดนะ แต่วิธีการที่คุณจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางข้อมูล ก็คือรับฟังข้อมูล ฝึกคิดเองแล้วก็ฝึกเลิกเชื่อ ถ้าคุณฝึกได้แล้ว ปฏิกิริยาจะไม่คิดสุดโต่ง เพราะคุณไม่ได้เริ่มจากจุดที่หมกมุ่นไปในทางเดียว ซึ่งถ้าพลิกกลับปั๊บ ก็ปฏิเสธทุกอย่าง... เราต้องฝึกคิดให้กว้างกว่านี้ อีกอย่างก็มีคน ในสังคมนี้อีกไม่น้อยที่เขามีความผูกพันกับบางสิ่ง ด้วยเหตุผลที่อาจจะไม่เหมือนคุณนะ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาผิด คุณจะจัดการกับเขายังไง”

แม้ว่าเอกสารหลายชิ้นในวิกิลีกส์ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิด แต่เป็นเรื่องที่ดำรงอยู่และรู้กันเฉพาะกลุ่มมาก่อน ดร.เกษียร แนะวิธีคิดต่อข้อมูลเก่าในความรับรู้อันใหม่ของสาธารณะว่า

“เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ในแวดวงคนชั้นนำเขาก็รู้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอลงมาถึงคนที่ถูกฝึกให้เชื่อ รับข้อมูลด้านเดียว ไม่เคยคิดเองเป็นมาก่อนเลย ไม่เคยเลิกเชื่อมาก่อนเลย มันก็สวิงไปจนเกิดความรู้สึกเกลียดเลย ผมรู้สึกว่าถึงจุดนั้น ประเด็นไม่ใช่เกลียด แต่ประเด็น คือ ต้องเลิกเชื่อแบบเก่าและจะจัดการกับความเป็นจริงอย่างไร ไม่ใช่มีความรับรู้อันใหม่ แต่ยังเชื่อแบบเก่า แล้วก็เกลียดชัง ทำกับเขาราวกับไม่ใช่มนุษย์”

No comments:

Post a Comment