Siam Intelligence Unit และรายการ Practical Utopia สัมภาษณ์พิเศษ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2 สมัย คือ รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
พ่อของเขาเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ พันศักดิ์จบการศึกษาด้านกฎหมายจากอังกฤษ เคยทำงานอยู่ในสหรัฐนับสิบปี หลังกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ พันศักดิ์เคยเริ่มทำหนังสือพิมพ์ “จตุรัสรายสัปดาห์” และภายหลังเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Asia Times (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) องค์การมหาชนที่ดูแลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าไทย
ถอดความจากวิดีโอสัมภาษณ์
อะไรเป็นแรงจูงใจของการทำหนังสือ “จัตุรัส” ในอดีต
ผมอยากปลดปล่อย (unfreeze) ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ซึ่งถูกแช่แข็ง (freeze) โดยการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส (french colonialism) และตามด้วยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสหรัฐ (US strategic will) ในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ของเรากับลาว เขมร เวียดนาม ถูกตีความผ่านมหาอำนาจของโลก ดังนั้นการแกะ puzzle แรกของภูมิภาค ก็ต้องทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ไม่มีสงครามระหว่างกัน
คุณพันศักดิ์มีบทบาทอะไรบ้างในนโยบาย “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” ในสมัยรัฐบาลคุณชาติชาย
ช่วยคิด ช่วยอธิบาย ช่วยบอกท่านว่าความหมายของมันคืออะไรบ้าง
ผมเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าผมเป็นคนให้คำปรึกษา แต่คนที่รับความเสี่ยง (take risk) จริงๆ คือคนที่รับคำปรึกษาไปทำ เพราะฉะนั้นความดีต้องยกให้คนตัดสินใจ เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดถึงผมมาก
จากที่เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมาพอสมควร เห็นอะไรมาบ้าง
คุณชาติชายอยากจะ manage กระทรวงกลาโหม ก็ถูกเตะไป นั่นหมายความว่าการทำหน้าที่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “นายกรัฐมนตรีไทย” นั้นเป็นการหลงผิด เป็นภาพลวงตาในทะเลทราย เพราะในความเป็นจริงคุณไม่ใช่นายกรัฐมนตรีไทยใน “นิยามปกติ” ของคำว่านายกรัฐมนตรี
คุณอภิสิทธิ์ก็เจอปัญหานี้แล้ว เจอว่าคุณอภิสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “นายกรัฐมนตรีไทย” จริงหรือไม่
คิดว่าทำไมรัฐบาลที่เคยให้คำปรึกษา จึงถูกรัฐประหารถึง 2 ครั้ง เป็นเพราะคุณพันศักดิ์ไปทำงานที่คุกคามใครเข้าหรือเปล่า?
คุณชาติชายให้ผมเข้าไปในฮานอยตอนที่ B52 กำลังบอมบ์อยู่ ผมไปคุยกับเวียดนามว่าคนไทยอยากสานเสวนาด้วย ในช่วงที่อเมริกันกำลังถอนตัวจากเวียดนาม งานของผมคุกคามประเทศไทยตรงไหน งานของผมทำให้ธนาคารทหารไทยสามารถเปิดสาขาที่ไซ่ง่อนได้ตอนที่สงครามเลิก มันคุกคามตรงไหน คงไม่ใช่ผมมั้ง
ผมว่าที่เค้ามีปัญหากัน มันเป็นเรื่องทัศนคติของอำนาจ (perception of power) มันไม่เกี่ยวอะไรกับผมเลย
รัฐประหารเมืองไทย ผมสองในเท่าไรนะ สิบกว่า? คุณก็ต้องไปถามคนอื่นด้วยนะ ไปถามเขาด้วยว่าทำอะไรถึงโดน
ถ้าผมไม่ถูกรัฐประหารสิ น่าสนใจมากเลย คนที่เคยครองอำนาจอยู่ มีความเป็นเหตุเป็นผล (get rational) และเข้าใจอนาคต ผมโดนรัฐประหารก็หมายความว่า it stays the same ก็เท่านั้น
มันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของสังคมไทยด้วยหรือเปล่า
หรือว่าอาจมีคนบางกลุ่มเห็นว่า “ความชัดเจนในการมองอนาคต” ที่ผมให้คำแนะนำไป มันคุกคามเขาด้วย นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผมเหมือนกัน
หรือว่าสังคมไทยต้องการให้ผู้คนกระแดะปริญญาโท ปริญญาเอกกัน โดยให้ปริญญาโท ปริญญาเอก เป็น ”หน้าตา” ของคนไทย แต่ไม่อยากให้มีความเข้าใจในเนื้อหา ก็เท่านั้น
หรือไม่อยากให้วิเคราะห์พุทธศาสนาให้ทะลุ ถ้าคนไทยคนไหนวิเคราะห์พุทธศาสนาได้ทะลุจนคุกคาม “ความเป็นอยู่ปกติ” ของสังคมไทย มันไม่ได้
ผมว่าเราอยู่อย่างนั้นน่ะอยู่ได้ มีแต่ form ไม่ต้องมี substance เราอยู่ได้ ถ้าเราแค่ “รับทำของ” ไปเรื่อยๆ เรายอมเป็นประเทศที่เอาส่วนเกินของการผลิต (surplus) มาชดเชยความล้มเหลวของภาคการเกษตร (agriculture failure) เพราะนั่นเป็นสิ่งที่สังคมไทยเคยชินในการหาเศษหาเลยจาก failure ถ้าเกิดภาคเกษตรไทยไม่มี failure สักสิบปี รายได้ของโครงสร้างสถาบันไทยต่างๆ จะมีปัญหา
แต่ในขณะเดียวกัน ความล้มเหลวของโลกตะวันตก ในยุโรป เกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตในหมู่บ้านกับชีวิตในเมืองมีปัญหาใน การผ่องถ่ายแรงงานกันไม่ได้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตกช่วยเปลี่ยนสภาพ “ไพร่” มาเป็น “แรงงาน” แต่กลับไปสู่ความเป็นไพร่ไม่ได้ อันนี้มีคำถามว่าเป็นทิศทางของประเทศจีนปัจจุบันหรือเปล่า?
แบบนี้เมืองไทยควรมีโครงสร้างทางสังคมอย่างไรครับ
วิธีการของเราก็คือ ต้องพยายามเชื่อมระหว่างการเป็นชาวไร่ชาวนากับการเป็นคนงานไปได้เรื่อยๆ ผ่องถ่ายไปได้เรื่อยๆ และจะทำแบบนี้ได้เราต้อง “อัพเกรด” ชีวิตเกษตรในเชิงคุณภาพของการผลิต (qualitative change in production value)
ตอนนี้ความสามารถในการผ่องถ่ายกันระหว่างแรงงานในโรงงานกับชาวไร่ชาวนาก็ มีอยู่บ้างแล้ว ทั้งที่รัฐบาลไม่ได้ไปแตะต้องเลย ถ้าหากคุณไปคุยกับคนขับแท็กซี่ เขาก็จะบอกว่าปีนึงจะหยุดขับแท็กซี่สองหรือสามหน เพื่อกลับไปดูแลไร่นาของเขา เสร็จแล้วก็กลับมาขับแท็กซี่ต่อ
เมื่อเร็วๆ นี้มีวาณิชธนกิจไปสัมภาษณ์แผนการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล เขาบอกว่าเปิดเซ็นทรัลในขอนแก่น ในอุดร ในจันทบุรี อะไรพวกนี้ ทีแรกเปิดแบบไม่ค่อยมีคุณภาพ ตอนหลังเปลี่ยนให้มันหรูเลย เอา Patek Phillippe แท้เรือนละล้านกว่าไปขายที่ขอนแก่น ปรากฎว่าขายหมดเลย คนก็เดินห้างกันใหญ่เลย
คุณคิดว่าใครไปเดินห้างพวกนี้? ก็ “ไพร่ขอนแก่น” คนพวกนี้เป็นกลุ่มคนที่เริ่มมีกิจการขนาดเล็กของตัวเอง
เราสามารถเชื่อมโยงเรื่องนี้กับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงได้หรือเปล่า
คุณจะเห็นปรากฎการณ์ (phenomena) ของเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ถ้ามองด้วยการวิเคราะห์สังคม พวกนี้มักจะมาโดยมีรถญี่ปุ่น รถกระบะ มากันหมด มีป้าคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในประชาไท บอกว่าเอารถจักรยานของหลานมาขายเพื่อเป็นทุนในการมาร่วม คุณจะเห็นว่าคนพวกนี้มีสินทรัพย์ (asset) และคนพวกนี้ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายทางการเมือง ในแบบที่ทำให้เขาสามารถสร้างรายได้จากสินทรัพย์เหล่านี้ โดยผ่านขบวนการของเสื้อแดง
ขบวนการเสื้อแดงเป็นการเคลื่อนไหวแบบมาร์กซิสต์หรือเปล่า ไม่ใช่เลย ผมเรียกว่ามันเป็น “Petite Bourgeoisie Thai Style” (นายทุนน้อยแบบไทยๆ)
พวกเสื้อแดงเนี่ยมีแรงบันดาลใจ (inspiration) และความหวัง (aspiration) ที่อยากถือกระเป๋าหลุยส์วิตตองแบบคนเสื้อเหลือง เราจะเห็นได้จากมุขที่พูดกันบนเวทีที่ราชประสงค์ว่า “ถ้าทหารบุกมาแล้วจะชี้ให้ดูว่าหลุยส์วิตตองอยู่ตรงไหน” โอ้โห คนอีสานที่มาร่วมชุมนุมเป็นหมื่นๆ มันเฮ
เอ คนเสื้อแดงที่เป็นไพร่ที่ถูกเรียกว่าควาย ทำไมรู้จักหลุยส์วิตตองวะ
ระบอบการปกครองในอุดมคติของคุณพันศักดิ์
ระบบอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะเป็น แต่ต้องคิดให้ทะลุว่าระบบนั้นสามารถสร้างมูลค่า (value creation) ให้กับสังคมได้หรือไม่ สร้างส่วนเกิน (surplus) มาชดเชยกับสิ่งที่คุณเรียกว่าพันธะทางศีลธรรม (moral obligation) ของรัฐได้หรือไม่ และถ้าได้ก็มีคำถามต่อไปว่า “at what cost?”
ที่ผมเสนอประชาธิปไตยก็เพราะว่าต้นทุน (cost) มันน้อยที่สุด
ประชาธิปไตยหมายความว่ามีต้นทุนในการคัดเลือกสิ่งที่เป็นมูลค่าต่ำ (low cost selection of value) และ cost นั้นถูกผลักไปที่ประชาชน ไม่ใช่ที่รัฐ
ความล้มเหลวทางการเมือง (political failure) จะทำให้เกิดต้นทุนไปยังสมาชิกของพรรคการเมืองที่เลือกตั้งแพ้ ไม่ใช่เกิดต้นทุนไปยังรัฐ
ประชาชนจะตอบสนองต่อนโยบายที่ผิดพลาด (policy failure) โดยการเตะนักการเมืองออกไป ตัวอย่างก็อย่างพรรคแรงงานของอังกฤษ อยู่มาตั้งสองสามสมัย โดนเตะออกไปโดยคนที่เคยเลือกพรรคนี้เอง
มีมุมมองต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
เราต้องยอมให้ประชาชนมี “สิทธิ์ที่จะเสี่ยงและเสียภาษี” เพิ่มขึ้น เราต้องเสริมพลังในการจ่ายภาษีให้ประชาชน
ถ้าเรารีดภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% จากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ซีพี ปูนซีเมนต์ไทย ฯลฯ เพียงอย่างเดียว จะมีบริษัทระดับนี้อยู่สักกี่รายกันเชียวในเมืองไทย ประเทศเพื่อนบ้านเรารีดภาษีนิติบุคคลน้อยกว่าเราตั้งเยอะ คุณคิดว่าถ้าทำแบบนี้เราจะไปไหวเหรอ? ก็ต้องรีดจากไพร่ใช่มั้ย
ทีนี้จะรีดจากไพร่ได้ยังไง มีทางเดียวคือต้องเพิ่มพลังในการเสียภาษีให้กับไพร่ จะได้สามารถลดภาษีของบริษัทลงได้
คนที่เสียภาษีเค้ามีศักดิ์ศรีนะ คนที่เสียภาษีเค้ามีพลังที่จะเสี่ยง และต้นทุนในการเสี่ยงก็เป็นของพวกเขาเอง ไม่ใช่ของรัฐ เป็นการโอนย้ายความเสี่ยงในการหารายได้จากรัฐมายังประชาชน
วิธีคิดของสังคมไทยมีธรรมาสน์เทศน์ 2 ธรรมาสน์ อันแรกคือ “ธรรมาสน์คุณธรรม” เทศน์ไปไม่รู้เนื้อหาอยู่ตรงไหน อีกอันคือ “ธรรมาสน์ MBA” ทั้งสองอันเหมือนกันคือเนื้อกลวง อย่างธรรมาสน์ MBA กำลังพังฉิบหายในยุโรป ในอเมริกา วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปีครึ่ง อเมริกาพิมพ์แบงก์มาเกือบตายปีครึ่ง แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย
เราชอบพูดกันนักว่าตลาดต่างประเทศวูบวาบ เราต้องสร้างการบริโภคในประเทศ (domestic growth) ไหนบอกหน่อยสิว่าทำไง ไม่เห็นมีใครพูดว่าจะสร้าง domestic growth ได้ยังไง
การที่ผมให้ไพร่มีศักดิ์ศรี (dignity) ในชีวิต คุณไม่เรียกนั่นเป็นคุณธรรมสูงสุดเหรอ
การสร้างมูลค่า (value creation) เป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่ระดับจุลภาค (micro) ขึ้นไปจนบนสุด รัฐมีหน้าที่เตรียมเครื่องมือ (facilitate) ให้กับการสร้างมูลค่า รัฐไม่มีหน้าที่ดูถูกดูหมิ่นไพร่ว่าเป็นควาย หน้าที่ของรัฐคือเตรียมโครงสร้างให้เกิดปริมาณภาษีทั้งหมดที่เพียงพอ (volume collection of tax)
คุณพันศักดิ์เคยพูดถึงยุทธศาสตร์กางเขนหัวกลับ (Reversed Cross) ที่มีรถไฟจีนกับถนนของญี่ปุ่น ตอนนี้ยังมีความเห็นอย่างไรบ้าง
(หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดเรื่องยุทธศาสตร์ Reversed Cross ได้จากบทความ พันศักดิ์ วิญญรัตน์: ยุทธศาสตร์ Reversed Cross สำหรับประเทศไทยในทศวรรษหน้า)
Reversed Cross ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ (strategy) แต่เป็นความจริงทางลอจิสติกส์ (logistic reality) ซึ่งมีผลกระทบที่จับต้องได้โดยตรง (tangible impact) กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
รถไฟจะช่วยลดต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้มหาศาล คนจะย้ายออกไปอยู่นอกเมือง เรื่องอะไรผมจะอยู่กรุงเทพ ผมต้องทำตัวแบบคนนิวยอร์ก มีแฟลตเท่ารูหนูอยู่ในเมืองสำหรับตอนไปดูโอเปร่าแล้วต้องค้างคืนเท่านั้น แต่บ้านจริงๆ อยู่ที่คอนเนคทิคัตแทน
ประเด็นของเราคือจะส่งออกรายได้ของเมือง (income of metropolitant area) ออกไปยังชนบทได้อย่างไร ตอนนี้มันทำได้บ้างในตอนสุดสัปดาห์จากการออกต่างจังหวัดของคนเมือง
แต่อีกหน่อยถ้ารถไฟออกมาจากคุณหมิงแล้ว กรุงเทพจะทำอย่างไร where is your role?
คุณจะห้ามจีนมาเปิดธนาคารตามเส้นทางรถไฟนี้หรือ บริษัทการเงิน การขนส่งและสต๊อกสินค้า เราจะห้ามไม่ให้เขาเข้ามาหรือ
หมายความว่าบทบาทในฐานะศูนย์กลางของกรุงเทพจะหายไป กรุงเทพต้องหาบทบาทใหม่ของตัวเองโดยเร็วที่สุด ก่อนจะหมดความสำคัญลงไป ก่อนสิบปีจะผ่านไป
พูดถึงรถไฟที่เชื่อมอาเซียนในแนวดิ่งไปแล้ว มองถนนของญี่ปุ่นที่จะเชื่อมอาเซียนในแนวขวางอย่างไร
ญี่ปุ่นใช้กระบวนการให้ทุนผ่านองค์กรต่างๆ เช่น อาเซียน เอเปก เพื่อเอาเงินมาสร้างถนนวิ่งไปยังทวาย เพื่อเชื่อมทางทะเลไปยังมาดราส (เมืองเชนไนในอินเดีย)
ญี่ปุ่นเขาบอกว่าเมืองไทยจะเอายังไงกับถนนก็เอาเสียทีเถอะ
ตอนนี้ญี่ปุ่นหิ้วเศรษฐกิจไทยอยู่ คุณรู้ใช่ไหม ถ้าเราถือว่า GDP ของเรา 65% มาจากการส่งออก ใน 65% นี่คุณคิดว่าเกิดจากบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด 1,000 บริษัทของญี่ปุ่นสักเท่าไร หมายความว่ารายได้ของข้าราชการไทยถูกหิ้วโดยเพื่อนญี่ปุ่นของผมนะ ชีวิตคุณจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เหรอ
อีกหน่อยถ้าเราส่งออกไปเมืองจีน คิดเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ถ้าเกิดเรามีปัญหากับจีน การส่งออกลดลง อาจจะสัก 10% พอ คุณยุ่งไหม ดังนั้นตรงนี้ต้องเอาการบริโภคในประเทศมาสร้างสมดุล
รัฐจึงมีหน้าที่ต้องสร้างการลงทุนที่จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าภายใน ประเทศ และนี่เป็นนโยบายด้านความมั่นคงที่สำคัญของประเทศ ไม่ใช่นโยบายด้านเศรษฐกิจนะ เป็นนโยบายด้านความมั่นคง (security policy)
ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไรในภูมิภาคเอเชีย
เราจะเป็นตัวกลาง เมืองไทยควรหัดทำตัวเป็นเลบานอน ในสมัยก่อนที่จะฆ่ากันในยุค 1960s
เลบานอนคืออะไร? คือผู้ดี เป็นที่ที่อาหาร ผลไม้อร่อย วัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียนสุดยอด เป็นที่ที่อาหรับกับยิวมา “เกี๊ยะเซียะ” กัน ขายของกัน เป็นที่ที่ทุกคนเอาเงินมาฝาก ธนาคารของเลบานอนครั้งหนึ่งเคยมั่งคั่งมาก ถือเป็นกลุ่มประเทศอาหรับที่เคยรวย
เราต้องทำตัวเป็นเลบานอนในสมัยนั้น ให้ความสะดวกทั้งญี่ปุ่นและจีน มาบริหารทรัพย์สินของตัวเองได้อย่างสงบสุขในประเทศไทย แล้วเราก็เกาะทั้งถนนและทางรถไฟ เอามาช่วยสร้าง domestic growth ของเราเองด้วย เป็นหนทางในการสร้างการเติบโตในประเทศ
แต่เราต้องนิ่ง นิ่งกับเพื่อนบ้านให้หมด อย่าแสดงความคลั่งชาติ เพื่อนบ้านก็อย่าคลั่งชาติ เราก็ไม่คลั่งชาติ ทั้งเวียดนาม ไทย ลาว เขมร
กลับมาที่นโยบายในสมัยทักษิณบ้าง นโยบายอย่าง “ประชานิยม” ถูกวิจารณ์มากว่าทำให้คนเป็นหนี้ มีคำอธิบายต่อเรื่องนี้อย่างไรครับ
ผมพูดเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า ผมอยากให้ชาวไร่ชาวนาไทยมีความสามารถในการเป็นหนี้อย่างมีคุณภาพ (ability to have quality debt) แหม โกรธผมกันใหญ่ หาว่าผมทารุณโหดร้ายกับชาวไร่ชาวนา อยากให้ชาวไร่ชาวนามีหนี้
ถามหน่อยในทางเศรษฐศาสตร์ว่าถ้าทุกคนไม่มีหนี้ ไม่มีผลผลิตส่วนเกิน (surplus) จะเกิดอะไรขึ้น
มีเคล็ดลับอะไรบ้างในการคิดนโยบายที่โดนใจประชาชนเป็นอย่างมาก
เอาง่ายๆ นโยบายปกติที่มาจากสภาพัฒน์ (NESDB) มันเป็นนโยบายที่มหภาคมาก ประชาชนก็เบื่อ เราก็รู้ว่าคนเบื่อ และในขณะที่คนมีพัฒนาการตลอดเวลา แต่กลับถูกกีดกัน (alienate) จากนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นเราต้องเข้าไปสัมผัสสิ่งที่เขาทำ (function) และหวัง (hope) อยู่ในชีวิต ที่ผ่านมาเราได้แต่สร้างความหวังระดับมหภาคมากๆ (super macro hope) มันเลี่ยน คนก็เบื่อ คนต้องการสิ่งที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม อันนี้คุณทักษิณก็รู้ ยิ่งไปต่างจังหวัดยิ่งชัด
เราก็แค่ทำนโยบายออกมาให้ตรงกับสิ่งที่เขาทำอยู่และหวังอยู่ ให้เป็นรูปธรรม และต้องสามารถอธิบายได้ในทางการเงินการคลัง
สังคมไทยตอนนี้มีความขัดแย้งกันมากทุกระดับชั้น คุณพันศักดิ์มองเรื่องนี้อย่างไร
เอาอย่างนี้ดีกว่า เราทำยังไงให้คนมุสลิมที่เคยถูกดูถูกว่ากินกาแฟ เล่นนกเขา ขี้เกียจ วันๆ ไม่ทำอะไร มีประสิทธิภาพในการทำระเบิดที่กดด้วยอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอ๊ะ กระทรวงศึกษาไม่ได้สอนซะหน่อย โรงเรียนสอนศาสนาก็ไม่ได้สอน อะไรไปกระตุ้นต่อมคิด ต่อม passion ให้กลายเป็นคนที่มีความสามารถและทักษะด้านนี้ ห้าหกปีที่ผ่านมาตายไปสี่พันกว่าคน ปีนึงเกือบพันกว่าคน
ระเบิดที่นนทบุรี ใช้ปุ๋ยยูเรีย อ้าว ระเบิดมึงทำไมไม่ไปขโมยมาจากกองทัพล่ะ เอ๊ะ ทำไมขยันถึงขนาดนี้ ทำขึ้นเอง อะไรไปกระตุ้นให้หัดทำอย่างที่คนมุสลิมเขาหัด
คุณต้องตั้งคำถาม ธรรมดาเค้าต้องไปขโมยระเบิดในกองทัพไม่ใช่เหรอ ง่ายดี ประเด็นไม่ใช่ไประเบิดตัวเองหรือระเบิดใคร ประเด็นอยู่ที่ว่า เอ๊ะ อะไรเกิดขึ้นในสังคมแบบพุทธ ซึ่งมีคนมุสลิมอยู่ข้างเคียง ทำไมคนสร้างระเบิดเก่งขึ้นจมเลย ทั้งที่ระบบการศึกษา สังคมไม่ได้สอน อะไรไปกระตุ้น passion ในการเรียนทักษะเหล่านี้
แล้วสังคมเราจะอยู่อย่างนี้น่ะเหรอ มีคนเรียนการสร้างระเบิดด้วยยูเรีย เพื่อแสดงถึงความต้องการทางการเมืองของตัวเอง
คิดจะกลับสู่วงการการเมืองอีกเหรือเปล่า?
มีคนถามผมว่าจะกลับไปวงการเมืองอีกไหม ไม่แล้ว เหตุผลว่าไม่แล้วเพราะอะไร? ก็ให้พวกคุณเนี่ย เมืองไทย Next Generation, Go on Man! ไม่งั้น “ตาแก่คนนี้เอาอีกแล้ว”
หมายเหตุในการแปล: บทถอดเทปนี้ได้ปรับแก้สำนวนการให้สัมภาษณ์ของคุณพันศักดิ์บางส่วน โดยเพิ่มคำแปลภาษาไทยสำหรับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เพิ่มคำขยายและเปลี่ยนวิธีการเรียงคำในประโยคเป็นบางจุด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น รวมถึงเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่ไม่มีในวิดีโอด้วยข้อจำกัดด้านเวลา เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อความ
ด้วยข้อจำกัดในการแปลนี้ อาจส่งผลให้บทถอดเทปสูญเสียความหมายหรืออารมณ์ดั้งเดิมของการสัมภาษณ์ในฉบับ วิดีโอไปบ้าง ทางทีมผู้จัดทำขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้
Tuesday, December 7, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment