Saturday, December 4, 2010

"จันทร์ กั้วพิจิตร" หญิงเก่งผู้นำชุมชนต้นแบบ

แม้ ในอดีตจะเคยผ่านประสบการณ์ถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยภายในชุมชนแออัด ทว่า จันทร์ กั้วพิจิตร ประธานชุมชนคลองลำนุ่น ย่านคันนายาว ก็ร่วมต่อสู้กับพี่น้องเพื่อนบ้านชาวชุมชนคลองลำนุ่น กระทั่งวันนี้ได้มีการบริหารจัดการชุมชนจนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ลบภาพชุมชนแออัดได้อย่างสิ้นเชิง


ประธานชุมชนวัย 55 ปี ย้อนอดีตเมื่อครั้งที่เธอและเพื่อนบ้านร่วมต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยจากภาครัฐ จนสำเร็จเมื่อหลายปีก่อน แม้กว่าจะได้มาต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ก็คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้มา จากคนที่ไม่เคยมีบ้าน
วันนี้เธอบอกถึงตายก็ตายตาหลับ เพราะมีที่อยู่ให้ลูกหลาน

“ป้าเป็นคนนครสวรรค์ สามีเป็นคนกาฬสินธุ์ ฐานะยากจนก็ย้ายครอบครัวและลูก 3 คนมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นก็มาปลูกกระต๊อบอยู่เลียบคันคลองลำนุ่น เราก็คิดว่าเป็นที่ของรัฐ มีพี่น้องจากหลายพื้นที่มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ ตอนหลังเราถูกไล่รื้อ ไฟไหม้ เขาบอกว่า ที่ตรงนั้นเป็นของเอกชน พวกเราก็ไม่รู้จะไปไหน เลยรวมตัวพากันมาเดินขบวนเรียกร้องที่บ้านพิษณุโลกและทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ขอรัฐบาลให้ลงมาดูแลและรังวัดเขตแดนให้ชัดเจนว่าที่ดินบริเวณนี้เป็นของใคร กันแน่ และให้ผู้แทนลงมาพูดคุยหารือกันว่าจะมีข้อตกลงกันอย่างไร ซึ่งทางรัฐบาลก็ช่วยเหลือหาวิธีเจรจาขอซื้อที่ดินจากเอกชน”

คุณป้าบอกว่า หลังจากเรียกร้องครั้งนั้นก็มีหลายหน่วยงานให้การช่วยเหลือทั้งเรื่องการ บริหารจัดการชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเรืื่องการจัดการการออมทรัพย์ จัดตั้งโครงการบ้านมั่นคงให้ ซึ่งสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้าในคำแนะนำ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำวิธีการออมทรัพย์ และคนในชุมนุมก็จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขึ้นมาดูแล กระทั่งมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีเงินจำนวนมากพอที่จะต่อรองซื้อที่ดินในการปลูกสร้างบ้าน โดยมีรัฐเป็นตัวกลางประสานให้ ซึ่งตอนนี้ชุมชนคลองลำนุ่นของป้าจันทร์เป็นโครงการนำร่องที่ประสบผลสำเร็จ เรื่องการจัดสรรที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงอย่างชัดเจน

ปัจจุบันจากสภาพชุมชนที่ถูกให้คำจำกัดความว่า “ชุมชนแออัด” ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้พี่น้องทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาศึกษา ดูงานได้อีกด้วย “วันนี้ป้าภูมิใจมาก ถึงตายก็ตายตาหลับ เพราะว่าหลังจากที่ป้าต่อสู้ร่วมกับพี่น้องในชุมชน และทางรัฐได้ยื่นมือเข้ามาช่วย ทำให้ชุมชนเราเกิดความมั่นคง และมีเงินกองกลางมากพอที่จะซื้อที่ดินในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ ป้าจันทร์เกิดมาอายุ 55 ปี ไม่เคยคิดว่าจะมีบ้าน แต่ตอนนี้มีบ้านให้อยู่ ไม่ห่วงและไม่อยากได้อะไรอีกแล้ว”

แต่กว่าจะได้ชุมชนตัวอย่างเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาต้องฟันฝ่านานา อุปสรรค รวมทั้งต้องใช้ความตั้งใจจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทุกคนในชุมชนได้เห็นความ บริสุทธิ์ใจที่ต้องการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง จากที่เพื่อนบ้านเคยมองว่าป้ามีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยแตะต้องเงินส่วนกลางที่ภาครัฐหรือองค์การต่างๆ ให้การสนับสนุนมาเป็นงบสาธารณูปโภคต่างๆ แต่ก็ต้องอดทน ให้อภัย และมองในแง่บวกตลอด ที่สุดปัญหาต่างๆ ก็คลี่คลายกลายเป็นผลดี

“ก็มีคนมองต่างกัน เคยถูกคนด่าว่าสารพัด แต่ป้าก็มองในมุมบวก เพราะเราเป็นคณะกรรมการ เป็นผู้นำชุมชน บางคนที่เขาไม่รู้ก็อาจจะก็มองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียหรือเปล่า แต่ไม่โกรธเขาหรอกนะ เพราะป้าคิดว่าคนที่เขาว่าเราแสดงว่าเขาอยากทำงานกับเรา ป้าจันทร์คิดแบบนี้ เปิดใจกับเขา เข้าใจเขา เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็ดึงคนเหล่านี้มา ช่วยเราทำงาน ให้เขามารับรู้ร่วมกับเรา พอเราทำให้เขาเห็น เขาก็เข้าใจและบอกต่อๆ กัน”

เมื่อทำงานด้วยใจ บวกกับมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ทุกวันนี้ความสำเร็จของชุมชนคลองลำนุ่นกลายเป็นต้นแบบที่พร้อมถ่ายทอดให้ ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจนำไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

“วันนี้ลูกหลานกล้าชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน มาเที่ยวชุมชนแล้ว จากเมื่อก่อนเขาไม่กล้าชวนเพื่อน เพราะกลัวจะถูกมองว่าเราเป็นสลัม แต่ตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะเรามีการบริหารจัดการได้สะอาด ปลอดภัย ไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด บ้านของป้าไม่ต้องมีรั้วเลยนะ ชุมชนของเราใช้ใจเป็นรั้ว ข้าวของไม่เคยหาย เราจะดูแลกันเอง ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน ลูกคนในชุมชนก็คือลูกของเรา ต้องช่วยกันดูแล” ป้าจันทร์ย้ำถึงความสำเร็จที่ได้มาด้วยมุมมองและหัวใจที่เป็นบวกอย่างแท้ จริง

ที่มา : Who Magazine

No comments:

Post a Comment