Monday, December 6, 2010

เปลี่ยนแปลงประเทศไทย

โดย นพ.ประเวศ วะสี
ที่มา : คมชัดลึก

ทุกคนรู้ว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง แต่ที่ไม่ชัดเจนคือเปลี่ยนอะไรและอย่างไร ที่จริงประเทศไทยพยายามดิ้นรนหาจุดลงตัวใหม่ มาตั้งแต่ครั้งที่ ร.๕ แต่ยังหาไม่พบ

มหาวิกกฤตการณ์สยามนี้ไม่มีใครสามารถแก้ได้ง่ายๆ และคงแก้ไม่ได้ในภพภูมิเดิม เราจะไม่รู้ตัวว่าเราอยู่ในภพภูมิอะไร แล้วก็พยายามแก้ปัญหาอยู่ในภพภูมิเดิมๆ ซึ่งก็ไม่มีทางออกจากวิกฤต จึงควรทำความเข้าใจเรื่องภพภูมิแห่งการพัฒนา ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ทรงกล่าวถึง “โมหภูมิ” ว่าคนทั้งหลายตั้งแต่อุปราชจนถึงคนเลี้ยงม้าล้วนตกอยู่ในโมหภูมิเป็นผลให้เกิด “เมืองอวิชชา” ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วช้านานาชนิด

๑. ภพภูมิแห่งการพัฒนา ลูกไก่ที่อยู่ในไข่เมื่อโตเต็มที่แล้วต้องสามารถจิกเปลือกไข่ออกมาสู่ภพภูมินอกเปลือกไข่จึงจะเติบโตต่อไปได้ ถ้ามันยังอยู่ในภพภูมิที่ล้อมรอบด้วยเปลือกไข่มันจะตายเพราะภพภูมินั้นแคบจะบีบรัดให้ตาย หรือเหมือนเด็กในครรภ์มารดาเมื่อโตเต็มที่แล้วต้องคลอดออกมาสู่ภพภูมินอกครรภ์มารดา ถ้ายังอยู่ในภพภูมิเดิมคือ มดลูกของแม่จะตายทั้งแม่และลูก
สังคมไทยเติบโตและซับซ้อนอย่างยิ่ง ภพภูมิเดิมแคบและบีบคั้น เมื่อบีบคั้นก็เกิดการทะเล้นทะลัก ด้วยอาการต่างๆ รวมทั้งความรุนแรง จึงควรทำความเข้าใจว่าเราอยู่ในภพภูมิอะไร

๒. ภพภูมิเก่า_ “หลุมดำประเทศไทย” ภพภูมิที่เราอยู่ในปัจจุบันเปรียบเหมือน “หลุมดำประเทศไทย” ที่กลืนกินความพยายามของบุคคล องค์กร สถาบัน ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้เกิดความหมักหมมและวิกฤตไม่มีทางออก
ภพภูมิเก่านี้อาจเรียกว่า “โมหภูมิ” ก็ได้ คือภูมิแห่งความหลง ความไม่รู้เป็น “ภพภูมิแห่งอำนาจ” ที่คิดเชิงอำนาจ ทำเชิงอำนาจและมีโครงสร้างเชิงอำนาจในภพภูมิแห่งอำนาจมีการใช้อำนาจสูง แต่ใช้ปัญญาน้อย อำนาจอาจจะใช้ได้ในเรื่องตรงไปตรงมาในครั้งโบราณ แต่ใช้ไม่ได้ผลในสังคมปัจจุบันที่ซับซ้อน
รูปที่ ๑ แสดงภพภูมิแห่งอำนาจ หรือ “หลุมดำประเทศไทย” ก่อปัญหา ๘ ทิศ คือ

(๑) วิถีคิดและจิตสำนึก วิถีคิดเชิงอำนาจและจิตสำนึกที่คับแคบทำให้คิดแยกส่วน คิดถึงตัวเองและพรรคพวกมากกว่าคิดเรื่องส่วนร่วม และความถูกต้องเป็นธรรม นำไปสู่ปัญหาทั้งปวง
(๒) ขาดศีลธรรมพื้นฐานทางสังคม ศีลธรรมพื้นฐานทางสังคมคือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ศีลธรรมพื้นฐานนี้เป็นที่มาของสิ่งดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม ประเทศไทยขาดศีลธรรมพื้นฐานทางสังคมเพราะอยู่ในภพภูมิแห่งอำนาจ จึงไม่สามารถทำสิ่งดีงามได้
(๓) สังคมทางดิ่ง สังคมทางดิ่งหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง สังคมทางดิ่งมีพลังสร้างสรรค์น้อยมีพฤติกรรมทางลบสูง ในสังคมทางดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี องค์กรทางการเมืองทางราชการ ทางการศึกษา ทางธุรกิจ และทางศาสนา ล้วนมีโครงสร้างทางดิ่ง
(๔) อำนาจรัฐรวมศูนย์ อำนาจรัฐรวมศูนย์จะขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหานานาประการรวมทั้งความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อำนาจรัฐรวมศูนย์ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อม ความรุนแรง ทำให้ปัญหาสะสมจนวิกฤต ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นให้มากที่สุด
(๕) ระบบเศรษฐกิจที่ขาดความเป็นธรรม ระบบเศรษฐกิจที่ดีจะต้องเป็นระบบที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งกำไรสูงสุดเฉพาะบุคคล นำไปสู่การทำลาย ความรุนแรง และสงคราม
(๖) ระบบการศึกษาที่ไม่เปิดศักยภาพคามเป็นมนุษย์ของคนทั้งมวล ระบบการศึกษาที่เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา เหมือนกำแพงที่กักขังผู้คนไว้จากความจริงของชีวิตและสังคม ถ้ามนุษย์ได้สัมผัสความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์จะเกิดฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้า หรือระเบิดพลังแห่งการเรียนรู้ มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดที่จะเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ การศึกษาต้องเปิดศักยภาพความเป็นมนุษย์ของคนทั้งมวล
(๗) การเมืองด้อยพัฒนา นักการเมืองสะท้อนความเป็นจริงของสังคมทั้ง ๖ ข้อ ที่กล่าวข้างต้นการเมืองที่ด้อยพัฒนาเป็นอุปสรรคของประเทศ และเป็นปัจจัยให้เกิดความรุนแรง
(๘) การขาดความเป็นธรรม การขาดความเป็นธรรมคือการผลของปัญหาทั้ ๗ข้างต้น สังคมที่ขาดความเป็นธรรมจะขัดแย้งรุนแรง และอยู่ไม่เป็นสุข

ภพภูมิแห่งอำนาจนำไปสู่ปัญหาอย่างน้อย ๘ ประการ ดังกล่าวมานี้ ซึ่งจะทำให้มองเห็นว่าทำไมสังคมไทยจึงวิกฤตและออกจากวิกฤตการณ์ไม่ได้ เพราะในภพภูมิเก่าหรือ “โมหภูมิ” หรือภูมิแห่งความไม่รู้นั้น นำไปสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยสัตว์ร้าย ๓ ตัว คือ ตัณหา (อยากได้มากๆ) มานะ (อยากใช้อำนาจเหนือคนอื่นๆ) ทิฐิ (อยากใช้ความเห็นของตัวเป็นใหญ่) ลองพิจารณาดูว่าในช่วงที่ผ่านมาสัตว์ร้าย ๓ ตัวนี้อาละวาดอย่างหนักในสังคมไทยจนแตกแยกและวิกฤตไปทั่ว
สังคมไทยจึงต้องออกจากภพภูมิเก่าหรือ “โมหภูมิ” หรือภพภูมิแห่งอำนาจไปสู่ภพภูมิใหม่

๓. ภพภูมิแห่งปัญญา การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คือ การเปลี่ยนแปลงภพภูมิแห่งการพัฒนาจากภพภูมิแห่งอำนาจไปสู่ภพภูมิแห่งปัญญา
ปัญญาเป็นจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์
ปํญญาคือการรู้ความจริงทั้งหมดซึ่งรวมถึงรู้ตัวเองด้วย การรู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองทำให้จัดความสัมพันธ์ได้ถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องคือจริยธรรม หรือการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ปัญญายังให้เกิดศานติสุข
ปัญญาไปไกลกว่าความรู้หรือวิชา ระบบการศึกษายังไปแค่ความรู้หรือศาสตร์ ศาสตร์ที่ปราศจากปัญญาจึงกลายเป็นศาสตราที่ใช้ทิ่มแทงกัน โลกจึงทุกข์เข็ญเพราะศาสตรา ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ทรงกล่าวถึง “มหาวิชชาลัย” วิชชา (ช.ช้าง ๒ ตัว)ในทางพุทธหมายถึงปัญญา ในขณะที่วิทยาหมายถึงความรู้มหาวิทยาลัยกับมหาวิชชาลัย จึงมีความหมายต่างกัน
เมื่อคุณทักษิณเป็นนายรัฐมนตรีปีแรก ในการคุยกันเป็นส่วนตัวผมแนะนำว่าอย่าใช้อำนาจในการแก้ปัญหาประเทศ เพราะนอกจากแก้ไม่ได้แล้วอำนาจอื่นๆจะตีกลับแล้วท่านจะตกอยู่ในโครงสร้างมรณะในสังคมที่ซับซ้อนอำนาจแก้ปัญหาไม่ได้ ฝรั่งเองก็พูดว่า “Power is less and less effective” แต่ต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง
ในรูปที่ ๑ เอาคำว่า “ภพภูมิแห่งปัญญา” แทน “ภพภูมิแห่งอำนาจ” แล้วเปิดพื้นที่ทางสังคมให้คนไทยทุกภาคส่วนรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยกระบวนการทางปัญญา พลิกปัญหา ๘ ประการให้เป็นพัฒนา ๘ ประการ อาจจะเรียกว่ามรรค ๘ แห่งการพัฒนาก็ได้
ถ้าคนไทยร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใน ๘ ประการ กล่าวคือ
(๑) เปลี่ยนวิธีคิดและจิตสำนึก (๕) สร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรม
(๒) สร้างศีลธรรมพื้นฐาน คือการ (๖) สร้างระบบการศึกษาที่เปิดศักยภาพ
เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความ ความเป็นมนุษย์ของคนทั้งมวล
เป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (๗) พัฒนาการเมือง
(๓) เปลี่ยนสังคมทางดิ่งเป็นทางธรรม (๘) สร้างความเป็นธรรมทุกด้าน
(๔) กระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น
โดยทั่วถึง สร้างธรรมาภิบาลภาครัฐ
ประทศไทยจะเปลี่ยนภพภูมิใหม่ จากภพภูมิอำนาจ มาสู่ภพภูมิปัญญา อันเป็นสันติวรบทนำไปสู่ศานติสุข
๔.การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ประเทศหลุดจากวิกฤตสงกรานต์เลือด ๒๕๕๒” มาได้ ส่วนหนึ่งมาจากอำนาจของการสื่อสาร การสื่อสารที่ดีทำให้ประชาชนรู้ความจริงโดยทั่วถึง การรู้ความจริงโดยทั่วถึงทำให้เกิดปัญญา ปัญญาทำให้เกิดความถูกต้อง นายกฯอภิสิทธิกับทีมของท่านทำการสื่อสารให้คนไทยและโลกรู้ความจริงตอลดเวลา
สื่อต่างชาติลงควมเห็นว่านายกฯอภิสิทธิชนะสงครามสื่อสาร
การสื่อสารที่ดีทรงพลัง เกิดผลโดยกว้างขวางและรวดเร็ว

นายกฯอภิสิทธิสื่อสารจากฐานทางปัญญา คือสื่อสารด้วยความสุขภาพ ไม่ให้ร้าย ไม่ประณามใช้ความจริงซึ่งมีที่มาอ้างอิง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ มีเหตุมีผล รู้เท่ากัน ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อื่น ไม่อาฆาต
โดยรวมการสื่อสารที่ดีตรงกับคำว่า วจีสุจริต ซึ่งมีพุทธพจน์เป็นอันมากว่าการพูดอะไรนั้น
(๑) ต้องเป็นความจริงมีที่มามีที่อ้างอิง (๒) พูดเป็นปิยวาจา (๓) พูดถูกกาละเทศะ (๔) พูดแล้วเกิดประโยชน์
การสื่อสารที่ดีสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้เร็ว
หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของนายกรัฐมนตรีคือนำสังคมไปในทางที่ถูกต้อง
ประธานาธิบดีอเมริกันคนหนึ่งเข้าใจว่าคือทรูแมนกล่าวว่าหน้าที่ของประธานาธิบดีนั้น “น้อยที่สุดคือการบริหาร” (The least for administration) แต่สำคัญที่สุดคือชี้ทิศทางที่ถูกต้อง
เมื่อมีทิศทางที่ถูกต้อง ประชาชนและกลไกต่างๆ ก็จะดำเนินไปเอง
นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรไปติดอยู่กับรูปแบบและการบริหารจนหมดแรง แต่ทำหน้าที่สื่อสารกับสังคมเพื่อนำสังคมไปสู่ทิศทางอันถูกต้อง และท่านก็เหมาะที่สุดที่จะทำหน้าที่เป็นนักการสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ (The Great Communicator) ผู้นำต้องเป็นนักการสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ให้สังคมเกิดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม สังคมที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมจะเกิดพลังมหาศาลที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ
พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญอิทธิปฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญอนุศาสนียปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์จากการสื่อสารที่ดี
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการสื่อสารที่ดี และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอยู่ในฐานะที่จะเป็นนักการสื่อสารที่ดี ที่จะนำสังคมไทยไปบนทิศทางใหม่ อันเป็นสันติวรบท นอกจากการสื่อสารด้วยตนเองแล้ว ควรมียุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ระดมนักการสื่อสารที่เก่งๆ ดีๆ เข้ามาใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทุกชนิด เพื่อให้คนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง และเกิดปัญญาโดยทั่วกัน จะได้ออกจาก “หลุมดำ” ของโมหภูมิไปสู่ปัญญาภูมิ เพื่อให้คนไทยบรรลุศานติสุขถ้วนหน้า
ในการนี้อาจตั้ง “องค์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้” อันมีพลังการสื่อสารมหาศาลเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ดังกล่าวเป็นเรื่องต่างหากออกไป

No comments:

Post a Comment