ดร.นันทวัฒน์ วิพากษ์"สังคมไร้กฎกติกา ใช้อารมณ์ความรู้สึกชี้นำ เอาคนไม่รู้จริงทำงาน"
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์การเมืองปี 2554 ในแง่มุมของนักกฎหมายมหาชน หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้แล้ว อาจเข้าใจการเมืองไทยปีหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิเคราะห์การเมืองและรัฐธรรมนูญปีหน้า 2554 อย่างไร
การเลือกตั้งปีหน้าจะมีหลายองค์ประกอบ องค์ประกอบแรกที่เราดูกันอยู่หน้าจะเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญในทางปฎิบัติ รัฐบาลไม่ได้อยากแก้ การแก้รัฐธรรมนูญดูเหมือนเป็นการซื้อเวลาในบางช่วง เพราะว่าคณะกรรมการชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาดูประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลเลือกไว้ 2 ประเด็น และ 2 ประเด็นที่รัฐบาลเลือกไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ เป็นประเด็นที่คณะกรรมการของวุฒิสภาเขาทำกันมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็เหมือนว่าการตั้ง 2 คณะกรรมการนี้ขึ้นมาก็เพื่อใช้ระยะเวลาอีกระยะเวลาหนึ่งยืนยันของเก่าที่ทำ กันมาแล้ว อาจจะมีเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย
ตอนนี้รัฐธรรมนูญก็อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ผ่านรัฐสภาออกมาก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งหรือไม่ ในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ก็หมายความว่าต้องเปลี่ยนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งด้วย ต้องยกร่างประกอบกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาใหม่จะยกร่างขึ้นมาใหม่จริงหรือ จะเอาของ ปีพ.ศ.2540 มาแก้ เพราะมันย้อนกลับไปใช้ระบบเดิม อาจจะมีจำนวนที่แตกต่างกันบ้าง ใช้เวลานานเท่าไหร่ จะมีปัญหาในสภาหรือเปล่า วุฒิสภาจะเห็นด้วยหรือเปล่า ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็เพื่อที่จะเตรียมพร้อม ในเลือกตั้ง เข้าใจว่าน่าจะหลังครึ่งปีแรกไปแล้ว และคงจะอยู่ในช่วงครึ่งปีสุดท้ายถ้าไม่มีอุบัติเหตุหรือปัญหาทางการเมือง
อะไรคือปัจจัยความเสี่ยงทางการเมือง
ปัจจัยความเสี่ยงมีหลายองค์ประกอบ รัฐธรรมนูญเป็นแค่องค์ประกอบเดียว อาจจะมีองค์ประกอบอื่น ๆ แทรกซ้อนเข้ามา ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร เห็นอยู่แล้วว่าเดี๋ยวนี้มีการฟ้องร้องทั้งฝ่ายรัฐบาล ทั้งฝ่ายการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตามต่างอยู่ในองค์กรของรัฐบาลเต็มไปหมด อย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก็มีหลายเรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เองก็มี เราไม่แน่ใจว่าในระหว่างทางอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า
เสียงวิพากษ์สถาบันทางการเมืองและองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศาล หนักหน่วงรุนแรงขึ้น จะนำไปสู่ความเสื่อมหรือไม่
จริง ๆ แล้ววันนี้ทุกแห่งมันก็วนกลับมาสู่จุดเดิมทั้งหมด สมัยตอนคุณทักษิณ(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เราก็พยายามพูดว่าสถาบันพวกนี้ได้รับการแต่งตั้งมาจากวุฒิสภาที่ไม่เป็นกลาง องค์กรพวกนี้ก็เป็นองค์กรสีเทา (คงจำกันได้) กกต. ชุดที่ถูกจับไปติดคุก 3-4 วัน ชุดนั้นก็กลายเป็น กกต. สีเทา แต่วันนี้คำถามที่ทุกคนคงจะตอบได้ว่ามันเหมือนกันหรือว่ามันต่างกันมันก็ เป็นจุดแบบเดียวกันทุกองค์กร สุดท้ายมันก็กลับมาอยู่ที่เดิมแต่อยู่ที่การคัดเลือกตัวบุคคลมากกว่า เพราะว่าในระบบต่าง ๆ มันมีทั้ง 2 ส่วนประกอบ
ส่วนประกอบที่ 1 คือเป็นระดับมืออาชีพจริง ๆ และมีความรู้เรื่องนั้นจริง ๆ ส่วนประกอบที่ 2 เป็นส่วนที่ถูกคัดเลือกเข้ามา ตัวอย่างเช่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เราต้องเลือกคนที่มีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญดีที่สุดในประเทศ ต้องมีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่ความรู้เรื่องนักกฎหมายทั่วไป
เพราะฉะนั้นความเสื่อมจะมาจาก 2 ส่วนเช่นกัน ส่วนของเจ้าตัวเองที่อยากเข้ามาอยู่ในตำแหน่ง ส่วนของคนที่เลือกก็ไม่ได้ใช้วิธีการคิดหรือตรรกะที่เป็นระบบเท่าที่ควร นักกฎหมายกับแพทย์คงคล้ายกันหรือว่านักรัฐศาสตร์กับแพทย์ก็คงจะคล้ายกัน คือต่างคนต่างมีความเชี่ยวชาญและความชำนาญ ฉะนั้นถ้าเอาคนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเข้ามา หรือว่ามี แต่ไม่ถึงระดับนั้น วิธีการมองปัญหาก็ย่อมไม่เหมือนกัน มันก็อยู่ในสภาพแบบนี้ต่อไป
อย่างที่ทราบว่ากฎหมายมหาชนและกฏหมายเอกชนพื้นฐานต่างกันมาก เกณฑ์ที่ศาลจะสั่งไม่รับเพราะว่าขาดอายุความ ถ้าเป็นกฎหมายเอกชนก็ไม่มีใครเถียง แต่ในเรื่องของกฎหมายมหาชนถ้าขาดอายุความแล้ว เป็นเรื่องที่เกี่ยวของกับประเทศชาติและประชาชน เราก็ต้องรับเหมือน เรายึดทรัพย์นักการเมืองที่โกง ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าโกงจับได้ว่าโกง แต่ว่านักการเมืองที่โกงขาดอายุความไปแล้ว ก็ปล่อยให้โกงประเทศชาติไปอย่างนั้น ตรงนี้คิดว่าไม่น่าจะใช่ ฉะนั้นตรรกะในการคิดของนักกฏหมายทำให้องค์กรมีปัญหาในทุกวันนี้ แล้วเราจะเห็นได้ว่าองค์กรที่มีปัญหาในทุกวันนี้ ที่มีการวิพากวิจารณ์ มีการพูดถึงคนเหล่านั้นที่มีพื้นเพมาจากกระบวนการยุติธรรมปกติทั่วไป นั่นก็คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญาหรืออัยการทั้งสิ้น
หลายคนพูดตรงกันว่า การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ได้เพราะ ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น แต่ ประเด็นอยู่ที่ถ้ารัฐบาลทำถูกก็ต้องให้อยู่ ถ้ารัฐบาลทำผิดก็ต้องให้ไป ในทางปฎิบัติที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าในรัฐบาลของทักษิณทำผิด ทำผิดเยอะมากทุกคนก็ทราบ ทราบตั้งแต่ตอนที่เขายังอยู่ไม่ใช่หลังการปฎิวัติไปแล้ว เขาก็อยู่ต่อไปได้ เพราะเขามีฐานเสียงสนับสนุนอยู่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดในการสนับสนุนต้องสนับสนุนในสิ่งที่ถูกมากกว่า คนที่เป็นรัฐบาลต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อคุณมุ่งมั่นที่จะมาบริหารประเทศแล้วโดยไม่มองประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน
รัฐบาลชุดนี้มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของประเทศ แต่เราจะเห็นได้ว่าระยะเวลาครึ่งหนึ่งของรัฐบาลที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ใช้เวลาหมดไปกับการปราบปรามและแก้ไขระบบทักษิณทั้งหมด ปัญหาหลักของประเทศก็จะไม่เกิดการแก้ไข ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการทุจริต คอรัปปชั่น ซึ่งเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล โดยคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ โครงการชุมชนพอเพียง แต่วันนี้ก็ยังไม่มีการให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น
เราสามารถพูดได้ว่าตอนที่ทักษิณถูกปฎิวัติออกไป ใช่ว่าสนามบินสุวรรณภูมิเสียหายหมด ใช้สนามบินไม่ได้ ถูกโกงแล้วต้องทิ้งมันก็ไม่ใช่ ทุกวันนี้ก็ยังใช้สนามบินอยู่ ทั้งหมดนี้มันคือข้อกล่าวอ้างเท่านั้นเอง ว่าสิ่งที่เขาทำมาไม่ถูกและข้อกล่าวอ้างนั้นก็ไม่มีการพิสูจน์ว่าถูกหรือไม่ ถูก ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีแต่ข้อกล่าวอ้างทั้งนั้นเหมือนกัน ตัวเองจะทำ ตัวเองจะไม่ทำ แต่ก็ไม่ได้มีการพิสูจน์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันขาดการพิสูจน์ สังคมของเราเป็นคนยกประเด็นนี้ขึ้นมา ดุว่าเขา ลงโทษเขา ลงโทษทางสังคมว่าเขาไม่ดี ว่าเขาคิดไม่ดี เขาทำไม่ดี แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้สักเรื่อง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ผิด
ทุกวันนี้เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายก็อึดอัดเหมือน กัน เพราะในวันนี้เราไม่ได้เอากฎหมายนำ แต่เราเอาอารมณ์ความรู้สึก เอาข้อคาดเดามานำหน้า ว่าฝ่ายนี้โกงฝ่ายนี้เลว ฝ่ายโน้นไม่ดี แต่พอจับได้ก็ไม่มีการชี้แจง ทุกอย่างดูเงียบหมด เพราะฉะนั้นองค์กรตามรัฐธรรมนูญถ้าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องปรับ ปรับในหลักการ เอาคนที่มีความชำนาญจริง ๆ คุณต้องแม่นในกฎหมายและมีพื้นฐานพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญเรื่องของกฏหมายมหาชน
การเมืองไทยมีอนาคตแค่ไหน
เราเข้าไปสู่สังคมแบบใหม่ เป็นสังคมที่ไร้กฎกติกา ปีหน้าก็คงเหมือนเดิม ตราบใดที่เรายังฝ่าฝืน ไม่มีการจับกุม ไม่มีการปราบปราม มันก็ยังเป็นแบบนี้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ว่าสามารถทำได้ ก็ใช้กันต่อไป ไม่พอใจก็ใช้อำนาจนอกระบบ เพราะมันก็ยังมีปัญหาอยู่อย่างนี้ ตอนสงกรานต์ปี 52 เรามองว่าบ้านเมืองเราไม่มีอนาคตเลย ไร้ขื่อแป เอารถแก๊สมาจอดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปีที่แล้วยิ่งแย่ไปใหญ่ให้ใครไม่รู้มาปิดถนนตรงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย ปิดถนนได้เป็นเดือน เราทำย่างนั้นได้ไม่มีการลงโทษ คิดว่ามันแย่ จริง ๆ แล้วต้องลงโทษทุกฝ่าย เพราะถ้ายกเว้นได้เรื่องหนึ่งก็กลายเป็นว่ายกเว้นได้ทุกเรื่อง ยังไม่ต้องพูดถึงคุณภาพของคน พูดแล้วมันก็เหมือนเป็นการหมิ่นประมาท อย่างเราดูในต่างประเทศ คนที่เข้าไปสู่ตำแหน่งพวกนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ จริง ถ้ายังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ จริง มันก็ต้องต่อคิวกันไป แต่บ้านเราไม่ใช่เลย
ที่มา : มติชน
Sunday, December 26, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment