Monday, December 6, 2010

"พรรคเพื่อไทย" กับ "ประชาธิปไตยไทย"

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา : มติชน 6-12-2010

ในขณะที่จำนวนมากของคนเสื้อแดงได้ก้าวพ้นทักษิณไปแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยยังก้าวไม่พ้น และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ ทักษิณที่ พท.ก้าวไม่พ้นนั้นคือตัวบุคคล ไม่ใช่สัญลักษณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนเล็กๆ ไม่ใช่นโยบายที่ตอบสนองต่อความจำเป็นของคนเล็กๆ (คือการเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต) และไม่ใช่แม้แต่ "ประชาธิปไตย" อย่างที่ พท.ชอบกล่าวอ้าง

จุดยืนทางการเมืองที่เด่นชัดของ พท.คือการเอาทักษิณกลับมา มีนโยบายที่ได้แถลงแก่ประชาชนอย่างชัดเจนว่า จะมีขั้นตอนอย่างไร จนในที่สุดทักษิณก็สามารถกลับสู่ประเทศไทยโดยไม่มีคำพิพากษาติดตัว

แต่ จะกลับมาทำอะไร (ทางการเมือง) พท.ไม่มีคำตอบชัดเจน จะให้เข้าใจโดยนัยยะว่าเพื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก (หรือเป็นต่อไปเหมือนไม่เกิดรัฐประหารใน พ.ศ.2549) ก็ไม่สู้จะชัดเจนนัก หรือให้กลับเข้ามาเพราะเป็นความเป็นธรรมที่จะให้กลับมา พท.ก็ไม่ได้เน้นเรื่องของความไม่เป็นธรรมเป็นหลัก อย่างน้อยก็เน้นประเด็นนี้ไม่เท่ากับที่เสื้อแดงเน้น พท.วางเงื่อนไขไว้อย่างเดียว คือหาก พท.สามารถได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่อย่างน้อยนักการเมืองที่เจนเวทีในพรรคก็คงรู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้มากไปกว่ากโลบายหาเสียง

พท.นั้น ต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายนแน่ และกระทำในนามของ "ประชาธิปไตย" ด้วย ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การรัฐประหารย่อมขัดขวางประชาธิปไตยอย่างแน่นอน แต่สภาวะประชาธิปไตยไทยหลังจากนั้นสืบมาจนถึงวันนี้ตกต่ำลงโดยตลอด พท.จะฟื้นฟูประชาธิปไตยไทยในสภาพเสื่อมโทรมนี้ได้อย่างไร นอกจากการต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย. หากจะดึงประเทศไทยกลับไปสู่สภาพของวันที่ 18 ก.ย. 2549 พท.จะอธิบายรัฐบาลสองชุดภายใต้พรรคพลังประชาชนอย่างไร

ในท่ามกลาง ความเสื่อมทรุดอย่างหนักของประชาธิปไตยไทย พท.ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรในการฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตย มากไปกว่าต่อต้านการรัฐประหาร 19 ก.ย. และแผนการที่จะนำทักษิณกลับมา แต่ที่จริงแล้ว พท.ในฐานะพรรคฝ่ายค้านยังสามารถทำอะไรได้อีกมาก

ดัง เช่น เมื่อแพ้โหวตในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับหมอเหวงแล้ว ไม่จำเป็นที่ พท.จะต้องคว่ำร่างของรัฐบาล อย่างน้อยการเปลี่ยนไปสู่เขตเลือกตั้งที่เล็กลงก็ตรงกับฉบับร่างของหมอเหวง (และ รธน.2540 ซึ่ง พท.ต้องการนำกลับมาใช้ใหม่) เขตเลือกตั้งที่เล็กลง นอกจากจะให้สิทธิเสมอภาคในด้านการเลือกผู้แทนแก่พลเมืองแล้ว ยังเปิดโอกาสสำคัญอีกสองอย่าง

หนึ่งคือทำให้นักการเมืองที่มุ่งจะทำงานรับใช้ท้องถิ่นของตนมีโอกาสมาก ขึ้น แม้ว่าเปิดโอกาสให้การซื้อเสียงทำได้ง่ายขึ้นก็ตาม แต่ระหว่างเงื่อนไขทางการเมืองที่เปิดให้คนเหมาะสมได้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง กับปิดโอกาสคนชั่วไม่ให้ดำรงตำแหน่ง (ซึ่งปิดไม่ได้จริงในทุกระบบเลือกตั้ง) เราควรเลือกอย่างไหนกันแน่

และสองก็คือ ในเขตเลือกตั้งที่เล็กลง ประชาชนมีโอกาสมากกว่าในการกำกับควบคุมผู้แทนของเขา

อีก มาตราหนึ่งที่ร่างรัฐบาลเสนอแก้ไขก็คือ ลดอำนาจของสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหารในการทำพันธะกับต่างประเทศ ข้อนี้ค่อนข้างขัดกับหลักการ และต้องแก้ไขอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อดูจากบทเรียนในสมัยพรรค ทรท.เป็นรัฐบาล พท.ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการเพื่อระวังมิให้การแก้ไขลดอำนาจของ ประชาชน (ผ่านสภา) มากเกินไป

ในทางการเมือง หากพรรคเป็นผู้เลือกส่งสมาชิกไปร่วมในคณะกรรมาธิการ อย่างน้อยก็จะมองไม่เห็นความแตกร้าวในพรรคชัดเจนเท่าการบอยคอตเด็ดขาด

นอก จากนโยบายที่จะนำทักษิณกลับมาแล้ว ดูเหมือน พท.ไม่มีนโยบายอื่นใดอีกเลย แม้แต่นโยบายที่คุณทักษิณเองเสนอว่า จะตั้งอัตราเงินเดือนขั้นต้นของผู้จบปริญญาตรีไว้ที่ 15,000 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานที่ 500 บาท ก็ไม่ได้ถูกนำมาขยายเป็นนโยบายหลักของ พท.

อันที่จริง นโยบายของคุณทักษิณในเรื่องนี้ จะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันหรือไม่คงเถียงกันได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเสน่ห์ทางการเมืองอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่ของแรงงานไทยคือลูกจ้าง รายได้หลักของเขามาจากค่าจ้าง และค่าจ้างที่เขาได้รับอยู่เวลานี้ ทำให้มาตรฐานการครองชีพของเขาอัตคัดไปจนถึงไม่พอกิน ยิ่งกว่านี้รายได้จากค่าจ้างนี้ยังต้องนำส่วนหนึ่งไปเลี้ยงดูคนที่อยู่ในภาค เกษตร และบรรพบุรุษที่ไม่มีงานทำอีกด้วย การเพิ่มค่าแรงจึงเป็นสัญญาที่ให้แสงสว่างแก่อนาคตของคนนับเป็นสิบๆ ล้านทั่วประเทศ

ในแง่ของเศรษฐกิจมหภาค ประเทศไทยจะก้าวต่อไปได้โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดสินค้าของเราส่วนใหญ่ล้วนมี หนี้สินล้นพ้นตัว ก็จำเป็นต้องมีตลาดภายในที่เข้มแข็งพอจะรองรับได้ ตลาดภายในที่เข้มแข็งจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่รายได้ของแรงงานต้องเพิ่มขึ้น กว่านี้อีกมาก

หาก พท.สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในครั้งหน้า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็เหลือที่จะเดา สื่อคาดว่าผู้กำหนดให้ใครเป็นนายกฯ คือคุณทักษิณคนเดียว พท.ไม่เคยปฏิเสธ และดูเหมือนความจริงจะเป็นอย่างนั้น คุณทักษิณใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก ไม่มีใครรู้ และคุณทักษิณก็ไม่เคยบอก เพราะนอกจากนโยบายที่คุณทักษิณเสนอเพื่อใช้หาเสียงแล้ว คุณทักษิณก็ไม่เคยแถลงให้ใครทราบว่า หากมีนายกฯ ที่คุณทักษิณแต่งตั้งมา จะดำเนินนโยบายในการบริหารบ้านเมืองอย่างไร ในสภาวะของไทยที่เปลี่ยนไปมากแล้วจากสมัยพรรค ทรท.

การประกาศอย่าง ชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่ของ พท.จะมีใครเป็นนายกฯ และมีใครที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ เป็นเครื่องช่วยให้คนอีกหลายฝ่ายเกิดความไว้วางใจมากขึ้น หากรัฐบาลเงาของ พท.ดูดี คงมีคนอีกไม่น้อยที่จะเทคะแนนให้ เพื่อไม่ต้องเผชิญกับรัฐบาลที่ทำงานไม่เป็นของประชาธิปัตย์อีก แต่ปราศจากอะไรที่ชัดเจนเช่นนี้ ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า รัฐบาลของ พท.จะทำงานเป็น ในระหว่างความเลวร้าย กับความเป็นไปได้ที่จะเลวร้ายกว่า คนจำนวนมากย่อมเลือกความเลวร้ายเป็นธรรมดา

น่าเศร้าที่คนไทยจำนวนมาก มีทางเลือกทางการเมืองเพียงแค่นี้ คือระหว่างเลวกับเลวกว่า

คง เดาได้ยากว่า พท.จะได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งหรือไม่ อย่าวางใจง่ายๆ ว่าเสื้อแดงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก พท. เพราะยังมีเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่งที่คงเลือกที่จะไม่เลือกมากกว่า แม้สมมุติว่า พท.ได้ที่นั่งในสภาสูงสุด แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ค่อนข้างแน่นอนว่า พท.ไม่อาจตั้งรัฐบาลได้ เพราะอำนาจนอกระบบคงใช้ทุกวิถีทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่ปลอด พท. รวมทั้งทำรัฐประหารยึดอำนาจ - ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง - ด้วย ถ้าจำเป็น

แนวโน้มที่ดูจะเละเป็นวุ้นของรัฐบาล พท.ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน จะทำให้การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบมีความชอบธรรมแก่คนจำนวนมาก

จำนวน มากของคะแนนเสียงที่ พท.จะเก็บกวาดมาได้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า เป็นคะแนนที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้ให้ โดยเฉพาะการล้อมปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อนโหดเหี้ยมในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี นี้ รวมทั้งการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากซึ่งตามมา ความไม่เป็นธรรมและสองมาตรฐานที่กระทำกันอย่างไม่เหลือความอายไว้เลย เมืองไทยเคยผ่านภาวะเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ผู้ละเมิดก็ลอยนวลไปได้เสมอมา ถ้าไม่ช่วยกันหยุดการละเมิดของรัฐอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้ให้ได้ในครั้งนี้ ลูกหลานของเราจะอยู่กันต่อไปได้อย่างไร

ฉะนั้นจึงต้องเลือกพรรคอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลในขณะนี้

แต่ อย่านึกว่า หากพรรค พท.ได้เป็นรัฐบาล จะสามารถนำตัวผู้ละเมิดประชาชนในนามของรัฐมาลงโทษ เพื่อยุติการกระทำเยี่ยงนี้อย่างถาวร พท.ไม่เคยพูดประเด็นนี้อย่างเอาจริงเอาจัง เพียงแต่แสดงความอาฆาตบุคคลบางคนว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะปลดออกหรือดำเนินคดี แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความแค้น หากเกี่ยวกับการร่วมกันสร้างระบบการเมืองที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และตรวจสอบได้อย่างปลอดภัยต่างหาก ฉะนั้น หาก พท.ได้จัดตั้งรัฐบาล อย่างเก่งก็เป็นแต่เพียงเปิดโอกาสให้ผู้รักความเป็นธรรมสามารถเคลื่อนไหวทาง การเมือง เพื่อชำระสะสางอาชญากรรมบนท้องถนนได้อย่างทั่วถึง เพื่อสร้างมาตรฐานว่า รัฐจะทำอาชญากรรมต่อพลเมืองเช่นนี้อีกไม่ได้

น่า เสียดายอย่างยิ่งที่ในยามที่ประชาธิปไตยไทยถูก "กระชับพื้นที่" อย่างหนักอยู่ในเวลานี้ พรรคการเมืองใหญ่ไม่แสดงบทบาทของฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ ในอันที่จะปกป้องและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยไทยออกไปให้กว้างขึ้น อันเป็นบทบาทที่การเมืองในระบบยังพอจะเปิดให้ทำได้ จึงเป็นเหตุให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องมาอยู่ที่ร้านแฮมเบอร์เกอร์, ท้องถนน, รองเท้าแตะ, สีเสื้อ ฯลฯ เท่านั้น

No comments:

Post a Comment