เปี่ยมด้วยอุดมการณ์แรงกล้า เผยฉากชีวิตรักกับ"หมอเหวง"ในป่า
"บางคนพูดเพื่อให้ดูดี บางคนพูดเพื่อให้ตัวเองเป็นคนสำคัญมีฐานะนำ" แต่ไม่ใช่ "ธิดา ถาวรเศรษฐ์" รักษาการประธานแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ภรรยา นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งเป็นผู้ถูกเลือกโดยมีมติจากแกนนำในคุกส่งสัญญาณให้เธอเป็นผู้นำทัพ ทำให้เธอต้องออกมารับหน้าที่แม่ทัพใหญ่คุมมวลชนคนเสื้อแดงในยามที่ขาดหัว พร้อมกับเน้นย้ำว่า
"เราจะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับ ประเทศชาติและประชาชน ถ้าเราพูดอะไรแล้วมันให้โทษกับประชาชน หรือไปเข้าทางคนที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาชนจะไม่พูด ไม่ต้องการพูดเพื่อสำแดงโวหาร ว่า เราเป็นคนเก่งหรือก้าวหน้า คำพูดของเราจึงต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์เท่านั้น" คำกล่าวของ ธิดา ประธาน นปช.คนใหม่ กับทิศทางใหม่พูดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สมกับเป็นแกนนำไม่ใช่โฆษก ซึ่งมีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจมากเริ่มจากการเป็น อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลังจากเรียนจบปริญญาโททางด้าน Microbiology หรือ จุลชีววิทยา สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมกับทำวิจัยไปด้วย และมาสอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล สอนคณะเภสัชเพราะปริญญาตรีอาจารย์จบ"เภสัช"
ถึงแม้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ธิดา ยังมีความชื่นชอบในงานศิลปะ ถ่ายรูป โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และชอบท่องเที่ยว เวลาที่สบายที่สุด คือ เวลาที่ได้อ่านประวัติศาสตร์ รู้สึกว่าชีวิตได้พักผ่อน เพื่อเป็นการยืนยันคำพูดเธอท้าให้ไปดูตู้หนังสือที่บ้านเรียกว่าอัดแน่นไป ด้วยหนังสือประวัติศาสตร์แทบทุกซอกทุกมุมในบ้าน
ส่วนเหตุผลที่ธิดาชื่นชอบประวัติศาสตร์เกิดจากการได้เห็นว่ามีการเรียนการสอน "ประวัติศาสตร์แพทย์" ส่วนต่างๆ จึงเกิดความรู้สึกว่าตำราแพทย์แผนไทย ตำรายา ควรมีการจัดเก็บเป็นระบบ จึงต้องหาแหล่งอ้างอิงว่า ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทย ความรู้เรื่องเภสัชกรรม มันมาจากไหนกันแน่ จึงลงไปศึกษาประวัติศาสตร์มาอ้างอิง
"ปรากฎว่าพอไปเปิดดูแล้วพบว่าประวัติ ศาสตร์ไทยเลอะเทอะมาก อ้างอิงอะไรไม่ได้เลย จึงต้องกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ เรามองในแง่ว่าการแพทย์มาจากไหน ตอนแรกคิดว่ามันง่ายๆ จะเขียนประวัติศาสตร์การแพทย์ไทยไว้สอนนักเรียน เพราะมีหลักสูตรอันนี้ แต่ไม่ง่ายเลย แค่ที่มาก็แตกต่างกันมาก ทำให้ลงมาศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยตนเอง"
จากการเสาะแสวงหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของธิดาจากตำรา รวมทั้งการเเดินทางท่องเที่ยวและค้นหาโบราณวัตถุในทุกยุค ไล่ตั้งแต่บ้านเชียง จ.อุดรไปจนถึงเมืองกาญจน์ จนเรียกได้ว่าเป็น "นักโบราณคดีสัญจร" แม้กระทั่งปัจจุบันหากได้ยินข่าวว่าใครขุดพออะไรที่ไหนก็ยัง "หูผึ่ง" อยากตามไปดู จนกลายเป็นที่มาของการค้นพบตัวเองว่าที่แท้ชอบ "ประวัติศาสตร์ โบราณคดี" เพราะมีความสุขสนุกที่ได้ศึกษา
ดังนั้นองค์ความรู้ที่ธิดามีในฐานะ นักวิทยาศาสตร์ทั้งเรียนและสอนมาโดยตรง เรียกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ(จุลชีวะ) เมื่อมาสู่สังคมจึงกลายเป็นวิทยาศาสตร์สังคม จากนัก "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ" มาสู่ "วิทยาศาสตร์สังคม"
เรื่องนี้ธิดา อธิบายความให้ฟังว่า ตนเองเป็นนักวิทยาศาตร์มีวิธีคิดแบบ "นักวิทยาศาสตร์" มีเหตุมีผลเริ่มต้นจากความเป็นจริงและย้ำว่า "ต้องมีข้อมูล" ไม่ใช่ใครพูดอะไรแล้วเชื่อทันที ต้องผ่านการทดลอง จึงนำมาสู่การพิจารณาสังคมอย่างเป็นวิทยาศาตร์ ที่เรียกว่า ศึกษากระบวนการต่อสู้เปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "วิทยาศาสตร์สังคม"
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ คือ การต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ควบคู่กับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนา เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานให้ ดีขึ้น
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สังคม คือ ความรู้ในการแก้ปัญหาในสังคมที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม
ทั้งหมดอยู่ที่วิธีคิดถ้าคิดแก้ปัญหาสังคมเป็นวิทยาศาสตร์มันคือ "วิทยาศาสตร์สังคม" หากคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คือ การคิดแบบหยุดนิ่ง มันก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สังคม กลายเป็นสังคมที่หยุดนิ่งแบบนั้น
จากการก้าวเข้าสู่สังคมของธิดามีต้นทุน ทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีเหตุมีผล มีข้อมูล ข้อเท็จจริง มองทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการพัฒนาไป ถ้านักวิทยาศาสตร์คิดเป็นแล้ว เอาสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาปัญหาอย่างนี้จะเป็นการมองอย่างเป็นสังคมแบบวิทยา ศาสตร์
เมื่อมองสังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้วเราจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ นอกจากจะมีเหตุมีผลมีองค์ความรู้ มีสถิติ มีตัวเลข ซึ่งนิสัยที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จึงมีอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่ได้มองอะไรด้านเดียวหรือเป็นไฟฉายดวงเดียวและความสนใจ ส่วนตัวเหล่านี้เป็นส่วนที่มาแต่งเติมให้มุมมองสมบูรณ์และกว้างขึ้น แนวคิดดังกล่าวธิดาบอกว่า เก็บรวบรวมจากประสบการณ์ความรู้ การท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยตนเองจนตกผลึก
หากย้อนไปดูในวัยเด็กของธิดา พื้นเพเป็นคนใต้อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพี่คนโต มีน้อง 5 คนเรียกว่า พื้นฐานครอบครัว "แตกเป็นเสี่ยง" แต่เป็นเสี่ยงทางความคิดที่แตกต่างกัน สิ่งที่เห็นชัด คือ แบ่งเป็นซ้ายกับขวา โดยพ่อ เรียนจบบัญชี ม.ธรรมศาสตร์จะขวาจัดมาก มีความคิดแบบคนโบราณไปอยู่ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงยานเกราะ ในสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ลูกๆไปอยู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์แต่ครอบครัวของเรามีวิธีจัดการกับความคิดเห็นแตกแยก โดยแม่ที่เป็นครูสอนภาษาและจะคอยบอกกับทุกคนว่า "ความคิดที่แตกต่างกันต้องอยู่ในบ้านได้" โดยไม่ไปบังคับคนอื่น ไม่ห้ามความคิดทางการเมืองของลูกๆ
ยกตัวอย่างน้องสาวของธิดาเป็นแฟนพรรคประชาธิปัตย์อย่างตอนแรกก็ไป ช่วยเหลือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสนิทกับคนประชาธิปัตย์ และยังมีน้องเป็นทหารอีก แต่พวกเราก็อยู่กันได้ไม่ได้ขัดแย้งอะไร
ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราได้รับจากครอบครัว ขณะที่พ่อเป็นขวาลูกๆเอียงๆมาทางสายนักศึกษา เหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้ปัญญาชนหันมาทางนี้หมดเลย หลายคน ที่ร่วมต่อสู้ในสมัยนั้นจะรู้จักกันดี ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเป็นสีเดียวกันใครจะเป็นสีอะไรก็ได้ ไม่เป็นต้องคิดเหมือนกัน เพียงแต่เคารพความคิดของแต่ละคน ให้เกียรติว่าทุกคนมีศักดิ์ศรี ต้องรู้จักเกรงใจไม่ไปก้าวล่วง อาจจะมีวิธีการ หรือเล่ห์กลในการป้อนข้อมูล แต่อย่างไรก็ตามต้อง "อยู่กันให้ได้"
หลังจากเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยกิจกรรมที่นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้ สนใจ คือ กิจกรรมค่ายอาสาแต่สมัยนั้นเป็นยุคแรกๆที่เริ่มมีค่าย พอเรียนจบได้มาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยจึงได้เป็น "อาจารย์ค่ายอาสา" มีคนดีดีที่ร่วมค่ายมากมาย และมีพวกซ้ายจัด ที่ชอบว่าชาวค่ายชอบสร้างแต่วัตถุ ซึ่งความคิดของธิดามองว่า "มัน ต้องไปด้วยกันเพราะถ้าเข้าไปแล้ว ไปคุยกับชาวบ้านทำให้เขาเสียเวลา โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากพวกเราเลยก็ไม่คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกัน เลย"
ด้วยเหตุผลที่ว่าธิดา มีส่วนเข้าไปข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์ในหลายช่วง ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นจุดพลิกผันปลุกอุดมการณ์ที่ สั่งสมอยู่ในตัวของธิดาให้ลุกขึ้นมาร่วมยืนอยู่ข้างประชาชน ภาพจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งยังคงติดตามาจนถึงทุกวันนี้หลังจากทนไม่ไหวจึงขับรถไปดูเหตุการณ์ได้ เห็นภาพทหารยิงเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวะล้มลงบริเวณทางขึ้นสะพานพระปิ่น เกล้า เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ต้องหันมาสนใจการเมืองเพราะ "เห็นคนตาย"
"การที่เราเห็นคนถูกยิงตายต่อหน้า ช็อค!! ก่อนหน้านั้นอาจารย์เป็นคนธรรมดา ชอบเที่ยวเตร่และกำลังจะไปทำปริญญาเอก พอเจอเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้เราดูหนังไม่ได้ ฟังเพลงไม่ได้ เกือบปี เหมือนโลกมันหมุนตาลปัตรเขาเป็นเด็กเขายังกล้าเสียสละ เราห้ามเขาไม่ให้ไปเราดึงแขนเขาไว้แล้วเขาก็สะบัดพร้อมกับบอกว่า "ถ้ามันไม่มีการเสียสละมันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" เป็นวลีที่ต้องจดจำมาจนถึงตอนนี้"
หลังจากนั้นจึงเข้ามาสู่กระบวนการ ต่อสู้ภาคประชาชน เริ่มจากขบวนการเผยแพร่ประชาธิปไตย ซึ่งตอนนั้นอยู่ส่วนกลางยังไม่ได้ออกไปไหน และได้มาช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านขณะที่ลงพื้นที่กับอาจารย์เด็กๆ เพิ่งจบใหม่ไปตามต่างจังหวัดอาศัยนอนในศาลาวัดเพื่อดูปัญหาชาวบ้านและใน ครั้งนั้นเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ช็อคครั้งที่ 2 !!
"เมื่อครั้งไปที่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ขณะนั้นประชาชนลำบากมากเราไม่มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) เหมือนทุกวันนี้ ทำให้หนี้นอกระบบเยอะมาก มีนายทุนปล่อยเงินกู้ให้ชาวนา 3 พันบาทแลกกับการแปะโป้งพร้อมยื่นโฉนดที่ดิน จึงพบความจริงที่ว่า จาก 3 พัน กลายเป็น 3 หมื่นบาท ถ้า ไม่มีเงินมาคืนก็ต้องยึดที่นา ถ้ามีแค่คนสองคนไม่เป็นไร แต่นี่เยอะมาก ชาวนาต้องการทวงที่ดินคืน นักศึกษาก็ไปตั้งโต๊ะช่วยเหลือชาวนา เมื่อได้เห็นสัญญาตกใจมาก "มนุษย์ทำกับมนุษย์อย่างนี้ได้อย่างไร นึกไม่ถึงว่าคนจะทำกับคนได้ขนาดนี้" เขามากู้ดอกก็สูงโดยนายทุนไม่รู้สึกผิดด้วยซ้ำ และที่ทำให้เสียใจมาก คือ ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพราะสื่อลงข่าวว่าพวกเราซุกระเบิดไว้ในย่ามจะเผาบ้านเผาเมือง เพื่อ จะทำให้กระแสสังคมโกรธ ตอนนั้นไม่พอใจตัวเองว่าทำไมปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น โทรมาแก้ข่าวไม่มีใครยอมแก้ข่าวให้ เพราะว่าผู้สื่อข่าวในพื้นที่คงมีส่วนได้ส่วนเสียกับนายทุนในพื้นที่ด้วย"
หลังผ่านเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอกับตัวเองมาถึง 2 ครั้ง 2 คราว ทำให้เห็นว่า คนเราสละชีวิตได้เพื่อทำประโยชน์ให้สังคมและทำไมคนเลวได้ขนาดนี้ สองสิ่งนี้ คือ ตัวกระตุ้นที่ทำให้คนธรรมดาอย่างธิดาต้องหันมาสนใจทางด้านนี้ เหตุการณ์14 ตุลา กับ 6 ตุลา ที่มีปัญญาชนเป็นกองหน้า พวกเขาที่ไม่ได้เพียงแต่เรียนแต่เขาทำงานเพื่อสังคม ทำให้เราย้อนกลับไปคิดว่าเราจะเดินหน้าเรียนปริญญาเอกหรือหยุดไว้ ในขณะที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เขาสละชีวิตได้ ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบขนาดนี้ จึงทำให้เข็มชีวิตเปลี่ยนทันทีว่า การเข้ามาร่วมทำให้บ้านเมืองดีขึ้นควรเป็นสิ่งต้องทำ
"แม้ว่าเราจะเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง คิดว่าการจะทะเยอทะยานเพื่อส่วนตัวไม่น่าจะดี เพราะตามโมเดลต้องเรียนปริญญาเอกแล้วกลับมาสอน แต่พอเจอแบบนี้ปริญญาเอกจึงต้องจบไว้แค่นั้น เพราะอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นธรรมชาติไม่ได้มีใครมาชักจูง แค่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจนถึงที่ สี่แยกราชประสงค์ ทำให้รู้ว่าในความพ่ายแพ้มีชัยชนะ ในชัยชนะมีความพ่ายแพ้ จึงบอกคนเสื้อแดงว่าเราไม่ได้ไปรบกับเขาที่มีปืน สไนเปอร์ อยากจะบอกว่าคุณแน่มากเอาไปเลยเกียรติยศผู้ชนะยิงหัวประชาชนด้วยอาวุธ มันมีเกียรติตรงไหนทหารไทย แต่คุณพ่ายแพ้ทางการเมืองเพราะเรามาต่อสู้ทางการเมือง"
เนื่อง ด้วยเหตุการณ์ที่พลิกผันที่เกิดขึ้นจึงถือได้ว่าเส้นทางการเมืองของธิดา เริ่มต้นจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบประชาชนเห็น ภาพเยาวชนถูกฆ่า แม้จะก้าวเข้ามาการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจไม่ได้มีพื้นฐานจากใครมาบ่มเพาะแต่ เริ่มจากสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นหล่อหลอมจนเกิดเป็นอุดมการณ์
ธิดายังเล่าถึงการเข้าร่วมต่อสู้เหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลา ในฐานะที่ตนเองเข้าไปสังเกตการณ์ยังไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งมากนัก เหมือนกับคนที่เพิ่งเข้ามาเรียนรู้ปัญหาสังคมไทย ยังขาดประสบการณ์ เหมือนกับการไต่ขึ้นบันไดที่เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากถูกปราบนักศึกษาก็ทยอยหนีเข้าป่า เริ่มเรียนรู้มากขึ้นจากปรากฏการณ์ไปสู่เหตุผล แต่ยังไม่ใช่องค์ความรู้ จนกว่าเราจะร้อยเรียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดคิดอย่างมีเหตุและผล ซึ่งทำให้เกิดหลักทฤษฎีที่มันมาทีหลัง
"เหตุผลที่อาจารย์เข้าป่าเพราะสงสารเด็กอยากจะไปดูว่าอยู่กันอย่างไร ในป่าเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ตอนนั้นมาเป็นอาจารย์ใหม่ๆและเรารักเยาวชนเพราะทิศทางของพวกเขาดีมาก มีเพื่อนที่เป็นหมอลากเข้าป่าด้วยก็ตามไปเพราะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสำหรับ ครอบครัว และคิดว่าบ้านเมืองเป็นขนาดนี้ แล้วเราจะไม่เสียสละอะไรเลยเหรอ เขาสละได้กระทั่งชีวิตจะมาคิดอะไรให้มาก ตอนนั้นไม่ได้เด่นดังเพราะทำอะไรไปไม่ได้อยากมีชื่อเสียงหรือแสดงตัวในแถว ให้ปรากฏ การก้าวเข้ามารับตำแหน่งรักษาการประธาน นปช. เพราะในชีวิตเราเชื่อว่า เราทำสิ่งที่ถูกก็ทำ ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่อย่างหนึ่งที่เขายอมรับได้ คือ เราเป็นคนมีอุดมการณ์อะไรที่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเราไม่ทำ"
"เพราะแต่ไหนแต่ไรมา อยากใช้ชีวิตที่มีประโยชน์ต่อสังคม เริ่มต้นจากการเป็นครูที่ดี ช่วยนักศึกษาช่วยคนที่เรียนไม่เก่ง เดิมอยากเป็นอาจารย์มัธยมด้วยซ้ำ เพราะเรารู้ว่าครูที่เก่งๆจะสร้างคนได้เยอะ พอไม่ได้เป็นครูมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยพูดอะไรได้นิดหน่อยแต่โชคดีที่ยุค นั้นนักศึกษามีอุดมการณ์ทำให้นักศึกษามีบทบาท และได้กลับไปสอนนักศึกษาใหม่ก็รู้สึกว่าคนยุคทุนนิยมเราไม่อยากจะสอนแล้ว เพราะเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่เยาวชนที่มีอุดมการณ์ แต่พวกเขาไม่ผิดเพราะทุกคนต้องต่อสู้แก่งแย่งกันเพื่อเอาตัวรอดให้ทันยุค สมัย สอนได้ 5-6 ปีก็ลาออกไปอยู่ภาคเอกชนดีกว่า"
ในฉากชีวิตรักของธิดากับหมอเหวงแม้จะไม่โรแมนติก ด้วยบุคลิกของฝ่ายหญิงที่ออกจะแข็งๆ ซึ่งธิดา บอกเองว่า มี บุคลิกที่แข็งไปสักหน่อยเหมาะกับการอยู่คนเดียวมากกว่า แต่ทนการตื้อของหมอเหวงไม่ไหวจึงยอมแต่งงานด้วยประกอบกับอยู่ในช่วงนั้นเป็น ช่วงหนีไปอยู่ป่าและคิดว่าคงไม่ได้ออกมาอีกแล้วจึงตกลงปลงใจ เพราะ ถ้าไม่ได้เจอกันในป่าก็คงไม่แต่งงานกับหมอเหวง ตอนแรกไม่ได้ชอบหมอเหวงแต่ดูแล้วท่าทางเขาจะชอบเรามาก เห็นความมานะพยายามมากและอีกอย่าง คือ คนเราไม่สามารถเลือกคนที่พอใจได้ 100 % สัก 70 % ก็ยังดี
"อาจารย์ตั้งเป้าไว้เลยคู่ครองจะต้องมีคุณสมบัติ 1. ต้องเป็นคนมีอุดมการณ์ถ้าชีวิตนี้ไม่คิดจะทำอะไรให้คนอื่นเลิกคิดไปเลยอัน นี้เป็นเสาหลักที่ต้องมีอุดมการณ์ 2.ต้องมีพื้นฐานเรื่องการศึกษาหรือบางคนที่ดีแต่พูดแต่ไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ไม่เอาเหมือนกัน 3. หมอเหวงเป็นคนสนใจธรรมะสนใจศาสนาเป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาสภิกขุ ทุกวันนี้ยังคุยเรื่องธรรมะกันผ่านห้องขัง และเตรียใหนังสือ "เว่ยหลาง"ไปฝากในเรือนจำด้วย"
มาถึงวิธีการเลี้ยงลูกชายกับลูกสาว คนโต ชื่อ น.ส.มัชฌิมา โตจิราการ และคนเล็ก ชื่อ นายสลักธรรม โตจิราการ ธิดามีความเชื่อว่ามนุษย์สร้างได้ สร้างให้เป็นอัจฉริยะได้ด้วย สามารถทดลองกับลูกได้ด้วย การเลี้ยงลูกของตนเองมันสนุกเหมือนดูต้นไม้ กึ่งวิทยาศาสตร์
ฉากชีวิตของธิดา ดูเหมือนจะลงตัวเป็นคนเรียบง่าย ทำงานอยู่เบื้องหลังมาตลอด แม้ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มนปช. ธิดาถือว่าเป็นกุนซือคนสำคัญในการให้คำปรึกษาด้านวิชาการ ผลิตผลงานวิชาการป้อนเวทีคนเสื้อแดงและมีขึ้นเวทีบ้างเป็นบางครั้งบางคราว โดยธิดาย้ำว่าทำงานให้กับประชาชน ซึ่งระดับแกนนำจะรู้จักเธอเป็นอย่างดี
ส่วนเหตุผลที่ธิดากระโดดลงมาเป็นประธานนปช. กลายแม่แม่ทัพสตรีมายืนแถวหน้าคุมหางที่ยาวเหยียด ก็คือ "ไม่ชอบการเมืองแต่ที่ทำเพราะมีอุดมการณ์ ไม่มีคำว่าชอบหรือไม่ชอบ มีแต่คำว่าเราจะทำอะไรได้บ้างในแต่ละเวลา มันไม่ใช่ของเล่น มันเป็นของที่ต้องสละทั้งชีวิต และที่มาทำตรงนี้เพราะความจำเป็นต้องทำ เพราะเราไม่สามารถที่จะทำเพื่อตัวเอง มี 2 ทางเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวมเราต้องเลือกส่วนรวมแม้จะลำบาก ก็ตาม "
"มีคนไม่น้อยที่คิดว่าธิดาได้รับตำแหน่งรักษาการประธาน นปช. เพราะว่าเป็นภรรยาหมอเหวง คิดว่า สามีติดคุกภรรยาก็ต้องออกมาแต่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะเลือกใครมานำ ถ้าเป็นเหตุผลนั้นไปเลือกสาวๆหน้าตาสวยๆไม่ดีกว่าเหรอ (หัวเราะ) แต่ในฐานะที่ทำงานกับพวกเขามาตลอดและต้องมาทำงานกับพวกนี้ยิ่งกว่าจับปูใน กระด้งอีก คิดดูว่ามันปวดหัวแค่ไหน แต่เราก็อดทนกับสิ่งที่แตกต่างกันในทุกสถานการณ์ เขาเห็นในความรักจิตใจที่รักและไม่ทอดทิ้ง แม้เราจะรู้สึกว่าเขาทำไม่ถูกแต่ไม่ทิ้งเขา แม้การไม่ทิ้งเขาจะเป็นความลำบากของเรา ก็ต้องมองว่ามวลชนคนเสื้อแดงตั้งเยอะแยะจะทำให้การนำแตกแยกไม่ได้ เลอะเทอะไม่ได้ เพราะยังมีคนเสื้อแดงเป็นล้าน คิดว่าถ้าจะทำงานต้องเสียสละ ไม่ต้องคิดเลยว่าใครจะคิดอย่างไรกับเรา" ประธาน นปช.หญิง กล่าวถึงเสียงสะท้อนที่พอจะรู้ว่าสังคมภายนอกมองอย่างไร
"คนที่คิดจะมาเป็นแกนนำชีวิตต้องมี 2 ด้านไม่ใช่ด้านโก้ที่อยู่บนเวทีแล้วคนเฮ คุณต้องพร้อมจะตายหรือติดคุกแล้วก็เจอของจริง"
----------------------------------------------------------------------------
ภารกิจ 4 ข้อของประธาน นปช.หญิงคนใหม่
เหตุผลการที่มารับหน้าที่รักษาการประธาน นปช. นั้นถือเป็นหน้าที่และความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องปรับบทบาททางวิชาการมานำมวลชน แล้วก็เป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่จากแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ใน เรือนจำว่าหลังจากนี้คนเสื้อแดงจะต่อสู้ด้วยภูมิความรู้และสติปัญญา โดยมีภาระหน้าที่สำคัญคือ 1.การรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวแกนนำ มวลชนคนเสื้อแดง และผู้ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบให้ได้รับอิสรภาพ การประกันตัวเพื่อดำเนินคดีอย่างมีนิติรัฐนิติธรรม 2.ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำและครอบครัวตลอดจนการประกันตัวและต่อสู้คดี 3.เรียกร้องความยุติธรรมและการใช้กฎหมาย มาตรฐานเดียวกันและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 4.ยกระดับการต่อสู้ของประชาชนให้สูงขึ้นอ้วยองค์ความรู้
Tuesday, December 7, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment