คมชัดลึก : 3 ม.ค. 2554
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้า โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพฯ (Development of Strategic Plan for Social Reconciliation in Bangkok Metropolitan)
ซึ่ง กทม.ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน ตามกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพฯ
หลังจากที่ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัย 12 แห่งที่จะร่วมวิจัย อาทิ ม.รามคำแหง ม.ธุรกิจบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ เป็นต้น ดำเนินการจับคู่กับมหาวิทยาลัยเพิ่มอีก 12 แห่ง รวมเป็น 24 แห่ง งบประมาณรวม 72 ล้านบาท เพื่อเตรียมทำกระบวนการกลุ่ม และทำแบบฟอร์มคำถามที่จะใช้สำรวจทำวิจัยกับชุมชนใน 6 กลุ่มโซนทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น ขณะนี้ สถาบันพัฒนาประชากรชุมชนหรือพีดีเอ ของนายมีชัย วีระไวทยะ ได้อบรมนักวิจัยจากทุกมหาวิทยาลัยแล้ว โดยทุกมหาวิทายาลัยได้ลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยรวม 96 ชุมชนประมาณกลางเดือน ม.ค.54
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ สาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองเนื้อหาการวิจัย นางทยา กล่าวต่อว่า จากนั้นทางนิด้าจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่ได้สำรวจและวิจัยชุมชนทั้งหมดส่ง ให้ กทม.ในช่วงเดือน ส.ค.54 นี้ โดยนอกเหนือจากการสำรวจข้อมูลแล้ว ทางนักวิจัยจะต้องจัดเสวนาภายในชุมชน จัดทำโฟกัสกรุ๊ป พร้อมทั้งต้องเข้าสำรวจดูว่าชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านใดบ้าง เช่น การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนชุมชนพึ่งตนเอง และหลังจากที่ กทม.ได้ข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อย ก็จะสรุปและเสนอแผนที่ได้ทำวิจัยทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาล เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป เพราะอาจจะมีบางเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลในการเข้าแก้ไขปัญหา ทั้งนี้
สำหรับการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การเข้าถึงระบบการศึกษา และการพัฒนาเยาวชน
2.การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน
3.การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
4.การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ
5.การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และ
6.ความเหลื่อมล้ำในการแสดงความคิดเห็น
No comments:
Post a Comment