Monday, January 3, 2011

การปฏิวัติชุมชน : ปรีชา ทองเสงี่ยม

โดย ปรีชา ทองเสงี่ยม
เกษตรกรดีเด่น อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว

คำว่า “ปฏิวัติ” ความหมายคือการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงที่จะนำเสนอต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการที่ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า “ปฏิวัติ” ก็เพราะว่าต้องการจุดประกายให้คนหันมาสนใจในเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไป เพราะที่ผ่านมาจะเห็นแต่คำว่า “พัฒนา” และประกอบกับการพัฒนาชนบทที่ผ่านมาได้ผลน้อยมาก จนดูราวกับว่าเป็นการซื้อเวลา ปัญหาต่างๆจึงรุมเร้าและบีบรัดคนชนบทเป็นอย่างมาก จนในที่สุดส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง เช่นเรื่องหนี้สิน เรื่องปัญหาปากท้อง และเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน เป็นต้น

คนชนบทแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆในสังคมและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก และคนในสังคมชั้นสูงยังมองคนในชนบทว่าเป็นคนไม่เอาไหนยากจนและชอบซื้อสิทธิขายเสียง เป็นต้น ปัญหาต่างๆจึงวนเวียนและซ้ำซากมาช้านาน

บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่คนชนบทจะลุกขึ้นมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง การปฏิวัติชุมชน คือ การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ในที่นี้คือคิดที่จะพึ่งตนเอง คิดที่จะยืนด้วยขาของตัวเอง ภายใต้องค์ความรู้และวิธีการทั้งหมดที่จะนำเสนอต่อไปนี้และผมได้พิสูจแล้วว่าภายใต้ขอบข่ายการปฏิวัติชุมชน จะสามารถแก้ปัญหาในชนบทได้เกือบทุกปัญหา นั่นหมายถึงจะมีผลในการแก้ปัญหาระดับชาติด้วยเช่นเดียวกัน

ขอบข่ายงานปฏิวัติชุมชนคือการเพิ่มขีดความสามารถของคนในชนบทให้สูงขึ้น โดยการนำเอาเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้เข้ามาฝึกฝนอบรมให้คนมีความสามารถเพิ่มขึ้น และรู้จักการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มตามศักยภาพของท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นการปฏิวัติชุมชนในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเราจึงเน้นการจัดการพืชอาหารสัตว์เพราะมีเกษตรกรที่ทำการปลูกพืชอาหารสัตว์กันมาก และที่ผ่านมาเราไม่มีขีความสามารถที่จะนำพืชอาหารสัตว์เหล่านั้นให้กลับมาเป็นอาหารของคนในชุมชนได้และจะต้องไปผ่านขั้นตอนและกระบวนการผลิตของนายทุนและแล้วพวกเราจึงค่อยซื้อผลผลิตที่นายทุนเขาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในรูปของอาหารต่างๆ บัดนี้พวกเราจะตัดตอนการผลิตอาหารให้อยู่ในชุมชนของเรา

การปฏิวัติชุมชนเราจะเน้นการผลิตอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิต 3 ชนิด คือ เนื้อ , นม , ไข่ ส่วนพืชผักและข้าว 2 ชนิดหลังนี้จะได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน เพราะจะได้ปุ๋ยจากการผลิตใน 3 ชนิด แรกและกุญแจสำคัญที่จะผลิต เนื้อ , นม , ไข่ ก็คือ (การผลิตอาหารสัตว์) หัวข้อต่อไปนี้เป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นในการผลิต เนื้อ , นม , ไข่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ายังเป็นองค์พื้นฐานเบื่องต้น และยังเปิดรับคำแนะนำและการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องจากผู้รู้ในสาขาต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขึ้นเป็นลำดับ

องค์ความรู้ในการผลิตอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์
1. การปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังภายใต้การผลิตในระบบใหม่
2. การแปรรูปลดความชื้นและการเก็บรักษาวัตถุดิบ คือ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง
3. กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดได้แก่
3.1 การคำนวณคุณค่าทางโภชนะในสูตรอาหาร
3.2 ลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดของวัตถุดิบอาหารแต่ละชนิด
3.3 ขั้นตอนการโม่บดและผสมอาหาร
3.4 การผลิตและสร้างเครื่องจักรกลขนาดเล็กในการแปรรูปและโม่บดวัตถุดิบ
4. การดูแลสุขภาพสัตว์
5. การผลิตและการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์
6. การทำบัญชีฟาร์ม

ผลที่ได้จากการปฏิวัติชุมชน
1. สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมีรายได้มากขึ้น สมาชิกครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า
2. ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม
3. คนชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาหารที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงไว้บริโภค
4. มีสุขภาพแข็งแรงทำให้มีสติปัญญาดีขึ้น
5. ชนบทมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นทำให้เศรษฐกิจในชุมชนเข้มแข็งขึ้น ทำให้คนในชนบทได้รับการศึกษาดีขึ้นและมีอำนาจต่อรองในสังคมเพิ่มขึ้น
6. ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ดินและป่าไม้ซึ่งยังแก้ไม่ได้ จะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพราะการผลิตในระบบปฏิวัติชุมชน เป็นการผลิตที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นในพื้นที่เท่าเดิมแต่จะเลี้ยงปากท้องคนได้เพิ่มขึ้น ทำให้การจัดสรรค์ทรัพยากร (ที่ดิน) ทำได้ง่ายขึ้นซึ่งเป็นการลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ในขณะที่เศษพืชและมูลสัตว์ที่ได้จากระบบการผลิตจะกลับลงสู่ดินเป็นการฟื้นฟูสภาพดินอย่างยั่งยืน
7. ลดภาวะโลกร้อนเพราะกระบวนการผลิตเกือบทั้งหมดอยู่ในชุมชน ผู้บริโภคก็อยู่ในชุมชน จึงมีการขนส่งเพียงระยะใกล้ใช้น้ำมันน้อยมากเมื่อเทียบกับระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
8. ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ประวัติโดยย่อ ของผู้คิดแผนปฏิวัติชุมชน
นายปรีชา ทองเสงี่ยม
เกษตรกรดีเด่น อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ของ ธกส.
ปรกติเป็นคนที่ชอบคิดนอกกรอบ และเป็นคนที่ต่อต้านความไม่ยุติธรรมในสังคม แผนปฏิวัติชุมชนนี้ผู้คิดได้ทดลองทำมาตั้งแต่ปี 2538 คิดว่าได้ผลแน่นอน และขณะนี้พร้อมแล้วที่จะมอบองค์ความรู้ทั้งหมดนี้ไห้แก่ชุมชน
วัตถุประสงค์ในการประกาศแผนปฏิวัติชุมชนในส่วนลึกของความรู้สึกคือ ความรักชาติ จึงต้องการช่วยเหลือชุมชน

No comments:

Post a Comment