รายงานการพัฒนาคนฉบับใหม่มุ่งเน้นปัญหาที่เมืองไทยกำลังเผชิญอยู่และความท้าทายของอนาคต
วันที่ 10 พฤษภาคม 2553, กรุงเทพฯ – สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เผยแพร่รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทยปี 2552 ในวันนี้ รายงาน “ความมั่นคงของมนุษย์ ในปัจจุบันและอนาคต” สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทยจากหลากหลายมุมมอง บทวิเคราะห์ของรายงานฉบับนี้ครอบคลุมในหลายประเด็นได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของปัจเจกบุคคลและความมั่นคงทางสุขภาพ
จากการที่ความมั่นคงของมนุษย์เป็นเนื้อหาหลักของรายงานฉบับนี้ ยูเอ็นดีพีสามารถประเมินประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนได้มากมาย รายงานฉบับนี้ยังมุ่งเน้นไปยังประเด็นความเสี่ยงและภัยคุกคามที่มีอยู่ เช่น การเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองโดยระบบประกันสังคม รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงความเสี่ยงและภัยคุกคามใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยสรุปแล้ว รายงานฉบับนี้ครอบคลุมหัวข้อและวาระสำคัญมากมาย รวมถึงปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่มาหลายปีแต่ถูกเพิกเฉยเนื่องจากความคุ้นเคย และยังกล่าวถึงประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะทางสังคมและ สถานะของประเทศไทยในโลก
รายงานการพัฒนาคนฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นหลักหกประเด็นที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการรับมือกับความต้องการของเกษตรกรรายย่อย การดูแลผู้ที่ไม่มีสถานะอยู่อาศัยตามกฏหมาย การเผชิญหน้ากับความไม่เสมอภาค การบริหารจัดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ และการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังนำเสนอข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายได้ทราบว่าจะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ได้ดีที่สุดอย่างไร ซึ่งรวมถึง
• เสนอเรื่องความไม่เสมอภาคให้เป็นวาระแห่งชาติและเริ่มด้วยการปฏิรูปขั้นพื้นฐาน
• ปรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
• ให้ความสำคัญกับเรื่องหลักประกันความมั่นคงของแรงงานนอกระบบ
• สร้างหลักประกันว่าในระยะยาวผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ
หัวข้อเรื่องความมั่นคงของมนุษย์นี้ได้ถูกคัดสรรโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ซึ่งเห็นร่วมกันว่าหัวข้อนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้อภิปรายในงานเผยแพร่รายงานในวันจันทร์ กล่าวว่า รายงานความมั่นคงของมนุษย์ฉบับนี้ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นในเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง แนวคิดที่ประกอบไปด้วยมิติที่หลากหลายโดยครอบคลุมเรื่อง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงของปัจเจกบุคคลและความมั่นคงทางการเมือง ได้ทำหน้าที่เสมือนการวางเสาหลักให้กับประเทศและประชากร รายงานฉบับนี้เน้นให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางกวี-โยป ซน ผู้ประสานงานและผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า รายงานฉบับนี้เสนอข้อแนะนำหลายประการที่มีนัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทยและยังช่วยลดความไม่เสมอภาคและความไม่สมดุลในสังคมไทย
อีกทั้งเสนอให้ความไม่เสมอภาคหรือความไม่สมดุลทางสังคมถูกยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ผู้นำประเทศสามารถรับมือกับประเด็นดังกล่าว เพื่อสร้างความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับประเทศชาติ
สะท้อนภาพความสำเร็จของมนุษย์
รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ซึ่งสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ริเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีแสดงการพัฒนาของคนในระดับจังหวัดปีแรก ซึ่งแสดงภาพรวมของสถานการณ์การพัฒนาคนของประเทศ โดยสรุปแล้ว ดัชนีความก้าวหน้าของคนแสดงให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาคนในแต่ละจังหวัด
ดัชนีความก้าวหน้าของคนประกอบด้วยดัชนีย่อย 8 ด้าน อันได้แก่ ชีวิตครอบครัวและชุมชน ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม สุขภาพ ชีวิตการงาน การศึกษา รายได้ การคมนาคมและการสื่อสาร และการมีส่วนร่วม ดัชนีความก้าวหน้าของคนมักนำมาใช้ในการเปรียบเทียบระดับการพัฒนาคนระหว่างจังหวัดเพื่อให้เห็นความก้าวหน้าและการถดถอยของการพัฒนา
หากพิจารณาดัชนีความก้าวหน้าของคนของจังหวัดที่ติด 10 อันดับแรก ปี พ.ศ. 2550 และปี พ.ศ. 2552 จะเห็นได้ว่า จังหวัดภูเก็ตยังคงครองอันดับหนึ่ง ส่วนกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่ใกล้เคียง เช่น ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรียังคงติดอยู่ใน 10 อันดับแรก เช่นเดียวกับจังหวัดระยองและอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกและภาคกลาง ส่วนจังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ติดกับกรุงเทพฯ และจังหวัดสิงห์บุรีซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลาง เป็นสองจังหวัดที่หลุดจาก 10 อันดับแรก
Tuesday, January 4, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment