สำนวนแปลของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
โดยที่พิจารณาเห็นว่า ความเขลาเบาปัญญา ความหลงลืมหรือความละเลยเพิกเฉยต่อสิทธิประการต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น เป็นสาเหตุแต่เพียงประการเดียวของความหายนะที่เกิดมีขึ้นแก่ส่วนรวมและของ ความฉ้อฉลที่เกิดมีขึ้นในรัฐบาลชุดต่าง ๆ บรรดาผู้แทนปวงชนชาวฝรั่งเศสซึ่งรวมตัวกันเป็นสภาแห่งชาติ จึงเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะออกประกาศอย่างเป็นทางการซึ่งปฏิญญาว่าด้วย สิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจถ่ายโอนแก่กันได้และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของมนุษย์ เพื่อว่าเมื่อปฏิญญาฉบับนี้ได้ปรากฏแก่สมาชิกทั้งมวลอันประกอบกันขึ้นเป็น สังคมจงทุกคนแล้ว จะกระตุ้นให้สมาชิกเหล่านั้นได้ตระหนักอยู่เสมอถึงบรรดาสิทธิและหน้าที่ของ พวกเขา เพื่อว่าเมื่อพิจารณาถึงการกระทำ แห่งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจปกครองบริหาร ไม่ว่าจะในคราใดก็ตาม ประกอบกันเข้ากับวัตถุประสงค์แห่งสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน (อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจปกครองบริหารที่ว่านั้น) จักพึงได้รับการเคารพยิ่งขึ้น เพื่อว่าข้อเรียกร้องทั้งปวงของพลเมือง - ซึ่งนับแต่บัดนี้ไป จักตั้งอยู่บนหลักการต่าง ๆ อันชัดเจนและเป็นหลักการที่มิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป - จักมุ่งไปสู่การธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและประโยชน์สุขร่วมกันของทุกคน
ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ ต่อเบื้องหน้าและภายใต้การคุ้มครองแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด สภาแห่งชาติจึงรับรองและประกาศซึ่งสิทธิทั้งหลายแห่งมนุษยชนและพลเมืองไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันใน (การมีและการใช้) สิทธิประการต่าง ๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น
ข้อ 2. วัตถุประสงค์แห่งสังคมการเมือง ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลาย (ที่กำเนิดขึ้นและมีมา) ตามธรรมชาติและ (เป็นสิทธิซึ่ง) มิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ (ในทรัพย์สิน) ความปลอดภัย (ในชีวิตและร่างกาย) และ (สิทธิใน) การขัดขืนต่อการกดขี่ (ไม่ว่าในรูปแบบใด)
ข้อ 3. หลักการซึ่งเกี่ยวด้วยอำนาจอธิปไตยย่อม (ถือกำเนิดขึ้นจากหรือ) หยั่งรากลงในประชาชาติ (ทั้งมวล) องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือปัจเจกชนผู้หนึ่งผู้ใดจะใช้อำนาจที่มาจากประชาชาติ โดยตรงแต่ลำพังตนนั้นมิได้
ข้อ 4. เสรีภาพ ได้แก่ ความสามารถ (ของบุคคล) ที่จะกระทำการใด ๆ ได้โดยไม่ก่ออันตรายเสียหายแก่ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ การใช้สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนนั้นย่อมถูกจำกัดลงได้แต่เฉพาะที่จะ ให้การประกันแก่ผู้เป็นสมาชิกคนอื่น ๆ ในสังคมเพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย ข้อจำกัดทั้งหลายในการใช้สิทธิเหล่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยบทกฎหมายเท่า นั้น
ข้อ 5. บทกฎหมายมีสิทธิจะห้ามได้ก็แต่การกระทำซึ่งอาจก่ออันตรายเสียหายแก่สังคม การใดซึ่งมิได้ถูกห้ามไว้โดยบทกฎหมาย การนั้น (บุคคล) ย่อมสามารถจะกระทำได้ และบุคคลจะถูกบังคับให้กระทำการที่บทกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ (ให้บุคคลต้องกระทำการเช่นนั้น) มิได้
ข้อ 6. บทกฎหมายเป็นสิ่งแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมในการร่างบทกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยเข้าร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านทางผู้แทนของพลเมือง กฎหมายจักต้องมีผลบังคับเสมอกันแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่บทกฎหมายอาจกำหนดให้ความคุ้มครอง (แก่สิทธิของบุคคล) หรือกรณีที่บทกฎหมายอาจกำหนดให้ลงโทษ (แก่บุคคล) พลเมืองทุกคนซึ่งเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายอาจจะมีฐานะ มีตำแหน่งและงานอาชีพใด ๆ ทางสังคมก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของแต่ละบุคคลและไม่จำต้องพิจารณาความแตกต่างอื่นใด เว้นเสียแต่ความแตกต่างอันเนื่องมาจากลักษณะเฉพาะตนและความแตกต่างในด้าน ความสามารถของบุคคลแต่ละคน
ข้อ 7. บุคคลจะถูกกล่าวหา ถูกจับกุม หรือถูกคุมขังได้ ก็แต่โดยมีบทกฎหมายซึ่งให้อำนาจกระทำได้ในกรณีนั้น และจะกระทำการ (เช่นว่านั้น) ผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้โดยบทกฎหมายนั้นก็มิได้เช่นกัน ผู้ใดที่ร้องขอ หรือจัดส่ง หรือได้ปฏิบัติให้เป็นไป หรือใช้ให้กระทำการตามคำสั่งที่สั่งโดยอำเภอใจ (โดยปราศจากกฎหมาย) ย่อมจะต้องถูกลงโทษ แต่หากพลเมืองถูกเรียกหรือถูกจับกุมโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย จักต้องยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี การฝ่าฝืนขืนขัดในกรณีนี้ย่อมถือว่าเป็นผู้ต้องกระทำความผิด
ข้อ 8. กฎหมายจะกำหนดบทลงโทษใด ๆ ได้ก็แต่เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเท่านั้น ผู้ใดจะถูกลงโทษได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นและประกาศใช้ ก่อนหน้าการกระทำอันเป็นความผิด และได้ใช้บทบัญญัติของกฎหมายนั้น ๆ โดยชอบแล้วเท่านั้น
ข้อ 9. บุคคลทุกคนย่อมได้รับข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยตัดสินว่าเป็นผู้ต้องกระทำความผิด และหากหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะต้องจับกุมบุคคล มาตรการเข้มงวดใด ๆ ก็ตามที่มิได้มีความจำเป็นแก่การประกันความปลอดภัยในสภาพบุคคลของคนผู้นั้น แล้ว กฎหมายจักต้องยกเลิกเสียให้สิ้นเชิง
ข้อ 10. บุคคลสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนได้โดย ไม่จำต้องเกรงต่อเหตุใด ๆ โดยมีเงื่อนไขว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลนั้นจักต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยแห่ง สาธารณะซึ่งรับรองโดยกฎหมาย
ข้อ 11. การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลโดยเสรีในทางความคิดและความเห็นเป็นสิทธิ ประการหนึ่งในบรรดาสิทธิอันมีค่าอย่างยิ่งยวดของมนุษย์ พลเมืองทุกคนจึงสามารถพูด เขียน พิมพ์เผยแพร่ได้อย่างเสรี (ซึ่งความคิดและความเห็นของตน) เว้นเสียแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า (การกระทำใด) เป็นการใช้เสรีภาพผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง
ข้อ 12. การธำรงรักษาไว้ซึ่งบรรดาสิทธิมนุษยชนและพลเมืองเหล่านี้ย่อมจักต้องอาศัย อำนาจสาธารณะ อำนาจสาธารณะเช่นว่านี้จักก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกคน หาใช่เป็นประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ซึ่งได้รับมอบให้ใช้อำนาจนั้นไม่
ข้อ 13. เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจสาธารณะและค่าใช้จ่ายทางการปกครอง เป็นการจำเป็นที่จะต้องเรียกให้ (สมาชิกใน) สังคมเข้ามารับภาระในเรื่องนี้ร่วมกัน การมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายสาธารณะจะต้องกำหนดสัดส่วนในระหว่างพลเมืองโดย เท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความสามารถของพลเมืองแต่ละคน (ในการรับภาระค่าใช้จ่ายสาธารณะ)
ข้อ 14. พลเมืองมีสิทธิที่จะตรวจสอบโดยตนเองหรือโดยผ่านทางผู้แทนในเรื่อง (ต่าง ๆ) ที่ว่า มีความจำเป็นเพียงใดในการเข้ารับภาระค่าใช้จ่ายสาธารณะ ในเรื่องที่ว่า จะยอมรับภาระค่าใช้จ่ายสาธารณะหรือไม่ก็ได้โดยเสรี (และ) ในเรื่องที่ว่า จะตรวจสอบการใช้จ่ายสาธารณะ ตลอดจนความมากน้อยของค่าใช้จ่าย รายการของค่าใช้จ่าย การเรียกคืนและระยะเวลาในการใช้จ่าย (ก็สามารถจะกระทำได้)
ข้อ 15. สังคมย่อมมีสิทธิเรียกให้หน่วยงานสาธารณะทุกหน่วยงานรายงานการปฏิบัติภารกิจในส่วนที่ตนรับผิดชอบอยู่นั้นได้
ข้อ 16. สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนู
ข้อ 17. กรรมสิทธิ์ในฐานะที่เป็นสิทธิอันมิอาจก้าว ล่วงได้และเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ บุคคลจะถูกพรากไปซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างเห็นประจักษ์ชัดตามที่กฎหมายบัญญัติ และโดยมีเงื่อนไขในการ (จ่ายค่า) ชดเชยที่เป็นธรรมและกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว
No comments:
Post a Comment