Friday, January 14, 2011

ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ ในขบวนการเสื้อแดง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
ที่มา : ประชาไท

จุดเด่นของเราชาวเสื้อแดงคือ ขบวนการของเราเป็นขบวนการที่มีความหลากหลายทางความคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราทราบดี และเราไม่ควรปฏิเสธ เรามีเสื้อแดงแบบ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งอาจมีทัศนะต่างกันภายในกลุ่ม เช่นอาจเป็นคนที่ชอบแนวทางของ อ.ธิดา หรือชอบแนวทางของคุณจตุพร ... มีเสื้อแดงรักทักษิณ มีเสื้อแดงไม่เอาทักษิณ มีเสื้อแดงวันอาทิตย์สีแดง มีเสื้อแดงรักเจ้า มีเสื้อแดงไม่เอาเจ้า มีเสื้อแดงสาย อ.สุรชัยที่เรียกตนเองว่า “สยามแดง” และพูดเอามันเพื่อสร้างภาพ มีเสื้อแดงสาย อ.เสริฐ-อ.ชูพงษ์-นปช.ยูเอสเอ ที่สร้างความสับสนและช่วยทหารโดยการเน้นด่าเจ้าเรื่องเดียว มีเสื้อแดง 24 มิถุนายน และมีเสื้อแดงสังคมนิยมอย่างผม ฯลฯ นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่มีกลุ่มเสื้อแดงของแต่ละชุมชนด้วย ซึ่งอาจมีมุมมองตามสายการเมืองหลากหลายที่พูดถึงไปแล้ว

เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อคัดค้านเผด็จการอำมาตย์มาถึงจุดนี้ และเรื่องประชาธิปไตยกับการคัดค้านอำมาตย์เป็นจุดร่วมที่เชื่อมพวกเราไว้ เป็นหนึ่งเป็น “เสื้อแดง” และเราก็ควรพยายามรักษาความสามัคคีท่ามกลางการต่อสู้เสมอ แต่บัดนี้เราต้องพูดความจริงด้วย ต้องยอมรับข้อแตกต่างทางแนวคิดที่มีจริง และเปิดใจพร้อมที่จะถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางและสายความคิดดังกล่าวอย่างเปิดเผย เพราะมันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย มันเป็นลักษณะแท้และธรรมดาของ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ

บางคนอาจไม่สบายใจ และแน่นอนจะมีคนจำนวนหนึ่งที่มองว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะแตกกัน” เขาจะกลัวว่าถ้าเราถกเถียงกันเรื่องแนวการเมืองและทางออก เราจะอ่อนแอแตกแยก และอำมาตย์จะเอาชนะเรา แต่การยอมรับข้อแตกต่างทางแนวคิดที่มีอยู่จริง และการเปิดใจพร้อมที่จะถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางและสายความคิดอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ “การแตกกัน” หรือไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยกและอ่อนแอเลย มันอาจตรงกันข้ามคือ มันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งที่มาจากความชัดเจนทางความคิดต่างหาก มันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองและนำตนเองของชาวเสื้อแดง และมันจะนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย

การถกเถียงแนวทางระหว่างเสื้อแดงสายต่างๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกและความเป็นประชาธิปไตยของขบวนการ เพื่อไม่ให้ใครหรือกลุ่มไหนผูกขาดการนำในลักษณะเผด็จการโดยไม่ถูกตรวจสอบ หรือโดยไม่ได้มาจากการลงมติคะแนนเสียง การเสนอแนวทางที่หลากหลายในที่สุดก็จะถูกทดสอบด้วยการเคลื่อนไหวลองผิดลอง ถูกในโลกจริง และแนวที่ดูเหมือนใช้ได้ก็จะกลายเป็นที่นิยมของคนเสื้อแดง

ถ้าการพัฒนาการถกเถียงนี้จะสำเร็จ ขบวนการเสื้อแดงต้องทำตัวแบบ “ผู้ใหญ่ที่โตแล้ว” เราต้องมั่นใจในวุฒิภาวะของเราที่จะสามารถถกเถียงเรื่องแนวทางการเมืองและ แนวทางการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด โดยไม่ทำให้เป็นเรื่องเกลียดชังกันแบบส่วนตัวที่ไร้สาระ เราต้องเถียงกันเรื่องหลักการด้วยปัญญา และเราต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะมีวินัยในการรักษาความสามัคคีท่ามกลางการต่อสู้ ไม่ว่าเราจะคิดต่างกันแค่ไหน เราเถียงกันในช่วงที่ไม่เคลื่อนไหวหรือในช่วงพักรบ แต่พอออกรบต้องสามัคคีเฉพาะหน้าเสมอ ต้องจับมือกัน เราทำได้

พูดง่ายๆ เราต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาความชัดเจนในแนวทาง ไม่ใช่มาโกหกกันว่าทุกคนมองเหมือนกัน และไม่ใช่มาห้ามการถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยคำพูดว่า “คนนั้นคนนี้ ไม่ใช่เสื้อแดงแท้” เพราะการพูดแบบนั้นเป็นการพยายามบังคับใช้เผด็จการทางความคิดในขบวนการเสื้อ แดง และเป็นการเซ็นเซอร์การถกเถียงเพื่อบังคับให้ทุกคนยอมรับการชี้นำของแกนนำ หยิบมือเดียวโดยไม่มีสิทธิ์แย้งเลย ในขณะเดียวกัน เมื่อเสื้อแดงที่มีความเห็นต่างจากเราเคลื่อนไหวแล้วเผชิญหน้ากับศัตรูที่ กำลังไล่ยิงไล่ฆ่า หรือเมื่อเขาถูกจับเข้าคุกหรือถูกปราม เราจะต้องสมานฉันท์ สนับสนุน และร่วมมือกับเขาโดยไม่เอาเงื่อนไขไร้สาระมาเป็นข้ออ้างในการหันหลังกัน เสื้อแดงบางกลุ่มที่โจมตีแกนนำสามเกลอขณะที่ทหารกำลังบุกเข้าไปเพื่อฆ่า เพื่อนคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 53 อย่างเช่น อ.สุรชัย ต้องถือว่า “เล่นพรรคเล่นพวก” “ไม่มีวุฒิภาวะ” และ “ไม่มีวินัย” พอที่จะสร้างความสามัคคีท่ามกลางความคิดที่หลากหลาย เผลอๆ อาจเป็นคนที่หวังหักหลังขบวนการอีกด้วย

สาเหตุที่ผู้เขียนมองว่าเราต้องออกมาถกเถียงแนวทางกันตอนนี้ก็เพราะ

1. เรามีเวลาเพียงพอแล้วในการประเมินข้อดีข้อเสียของการเคลื่อนไหวที่ราช ประสงค์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 53 และเรามีประสบการณ์ของการใช้ยุทธวิธี “แกนนอน” ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เราสามารถเสนอว่าการชุมนุมของมวลชนยังเป็นเรื่องชี้ขาดที่สำคัญ แต่เราอาจเถียงกันว่าจะชุมนุมและจัดตั้งอย่างไร และจะเพิ่มพลังต่อรองอย่างไร เช่นการขยายขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรงงานเพื่อการนัดหยุดงานน่าจะเป็น เรื่องสำคัญ

2. นปช. แดงทั้งแผ่นดิน และพรรคเพื่อไทย กำลังพยายามช่วงชิงอิทธิพลในขบวนการเสื้อแดงจากการนำแบบ “แกนนอน” ที่แต่ละกลุ่มนำตนเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ มันไม่ใช่เรื่อง “ผลประโยชน์ส่วนตัว” เป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่องความเชื่อในแนวทางของเขา และกลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่มทุกสายก็ควรพยายามขยายอิทธิพลเช่นกันผ่านการถกเถียง แข่งขัน เพราะเราแข่งกันท่ามกลางความสามัคคีได้

3. ในปี 2554 คนเสื้อแดงจะต้องตอบโจทย์ยากๆ หลายเรื่องคือ เราจะมีท่าทีต่อการเลือกตั้งของอำมาตย์อย่างไร? อำมาตย์น่าจะหาทางโกงการเลือกตั้งทีละนิดทีละหน่อย เราไม่ควรตั้งความหวังทั้งหมดกับการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องร่วมในการเลือกตั้งด้วย พร้อมกับเคลื่อนไหวภายนอกกรอบรัฐสภา เราจะมีท่าทีอย่างไรต่อพรรคเพื่อไทย? เราจะตั้งเงื่อนไขอะไรในการสนับสนุน? หรือจะยอมให้พรรคเพื่อไทยจูงเรา? เราจะตามทันการปรองดองจอมปลอมของอภิสิทธิ์ได้ไหมและเราจะมีท่าทีอย่างไร? และโจทน์สำคัญอีกอันคือ เสื้อแดงจะพัฒนาการต่อสู้ในปี ๒๕๕๔ เพื่อยกระดับจากปีที่แล้วอย่างไร?

ในขณะเดียวกันมันมีสองสิ่งที่เราต้องชัดเจนคือ

1. “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” แบบคนเสื้อแดง ไม่ใช่สิ่งเดียวกับพรรค มันมีความอิสระจากกัน และเสื้อแดงอาจมีมากกว่าหนึ่งพรรคได้ โดยที่พรรคเป็นองค์กรที่รวมคนที่มีสายความคิดเหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวและในการให้การศึกษากับมวลชน รัฐสภาเป็นแค่เวทีหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมว่าในประวัติศาสตร์โลก ไม่มีกรณีที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะมีสภาพ “ถาวร” ได้เลย มันขึ้นลงภายในไม่กี่ปีเสมอ มันแยกและมันสลายได้ สิ่งที่จะให้ความถาวรเพิ่มขึ้นกับการต่อสู้คือพรรคหรือองค์กรจัดตั้งทางการ เมือง ดังนั้นชาวเสื้อแดง “สังคมนิยม” จะต้องมีส่วนในการเพิ่มความถาวรในการต่อสู้ และต้องพยายามขยาย “พรรค” ของเราในขบวนการเสื้อแดงโดยการคลุกคลี ร่วมเคลื่อนไหว และถกเถียงแนวทางอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง

2. แนวทางการเมืองของเสื้อแดงแต่ละกลุ่ม จะมีอิทธิพลต่อวิธีทางในการต่อสู้เสมอ

เวลา อ.ธิดาบอกว่าคนเสื้อแดงยังไม่พัฒนาทางการเมืองเท่ากับแกนนำ หรือพูดว่า “คนที่ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราถือว่าไม่ใช่ นปช” และเวลาที่เขาพูดในเชิงดูถูก “ผู้หญิงกลางคืน” ที่เป็นเสื้อแดง (ดูคำสัมภาษณ์ในประชาไท 20 ธันวา 53) เขากำลังแสดงความอนุรักษ์นิยม ความเชื่อมั่นในการต่อสู้ในกรอบ และการนำแบบ “บนลงล่าง” แทนการนำตนเองจากล่างสู่บน แต่จุดยืนเขาไม่ได้เลวไปหมด เขาบอกว่าเขายังขีดเส้นที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้จุดยืนว่าต้องรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง ปฏิเสธการนิรโทษกรรม และเน้นมวลชนแทนการจับอาวุธ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่แนวทางการต่อสู้แบบ อ.ธิดา จะนำไปสู่การประนีประนอมกับอำมาตย์ในกรอบเก่า ประชาชนจะไม่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และจะไม่นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูประบบยุติธรรม หรือการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนแนวทางของแกนนำกล้าหาญอย่างจตุพร อาจไม่พร้อมที่จะประนีประนอมเท่า อ.ธิดา ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เป้าหมายทางการเมืองระยะยาวไม่ชัดเจนพอ แต่อย่างน้อยจตุพรก็สามารถดึงมวลชนมาเคลื่อนไหวเป็นแสนได้ เราต้องเคารพตรงนั้น

ในกรณีพรรคเพื่อไทย เราต้องตั้งคำถามว่าพรรคนี้จะพัฒนานโยบายเพื่อครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือ ไม่ หรือจะอาศัยบุญเก่าของไทยรักไทย ถ้าหวังอาศัยบุญเก่าจะมีปัญหา เพราะเปิดช่องให้ประชาธิปัตย์ค่อยๆ ทำลายคะแนนเสียงของเพื่อไทยได้ นโยบายสำคัญที่เพื่อไทยควรเสนอ คือเรื่องรัฐสวัสดิการกับการปฏิรูประบบยุติธรรมและกองทัพแบบถอนรากถอนโคน คนไทยจำนวนมากต้องการสิ่งเหล่านี้ และประชาธิปัตย์ให้ไม่ได้แน่นอน

แนวทาง “แกนนอน” ของหนูหริ่ง ก้าวหน้ากว่า อ.ธิดา มาก เพราะเน้นการนำตนเองจากรากหญ้า และพิสูจน์ว่ามีผลจริงในการฟื้นขบวนการ นอกจากนี้แนวนี้มีเสรีภาพเต็มที่ในการแสดงออก ซึ่งส่งเสริมความสร้างสรรค์ ไม่มีการเซ็นเซอร์คนอื่น แต่จุดอ่อนคือ เสรีจนไม่ชัดเจนในแนวทางการเมืองระยะยาว และขาดการรวมศูนย์เท่าที่ควร เมื่อมวลชนวันอาทิตย์สีแดงเผชิญหน้ากับโจทย์ยากๆ อาจตัดสินใจไม่ทัน

เราต้องศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละแนวทางที่พึ่งกล่าวถึง และทุกครั้งที่เราศึกษา เราต้องเน้นรูปธรรม และโลกจริง

ภาระหน้าที่ของเราในวันข้างหน้า คือการพัฒนาความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงซีกที่ก้าวหน้าที่สุด คือซีกที่พร้อมจะนำตนเองอย่างอิสระและเกินเลยกรอบแคบๆ ของ ทักษิณ ธิดา หรือนักการเมืองส่วนใหญ่ของเพื่อไทย เรากำลังพูดถึงซีกที่อยากเห็นประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ซีกที่อยากปฏิรูปกองทัพและระบบยุติธรรม ปลดนายพลและผู้พิพากษาแย่ๆ และซีกที่อยากสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผ่านการ เก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย เสื้อแดงสังคมนิยม ต้องมีส่วนสำคัญในการรวบรวมเสื้อแดงก้าวหน้าเหล่านี้เป็นพรรค เราต้องสามารถเคลื่อนไหวร่วมกับเสื้อแดงสายอื่นๆ อย่างเป็นมิตร แต่พร้อมที่จะถกเถียงแนวทางและทฤษฏีที่จะใช้ในการวิเคราะห์กับการปฏิบัติเสมอ

No comments:

Post a Comment