"คดีที่มีความคือไก่หมูเจ้าสุภา เอาไก่เอาเอาหมูมาเจ้าสุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ชนะไม่ถือพระประเวณี ขี้ฉ้อก็ได้ดีไล่ด่าตีมีอาญา"
มูลบทบรรพกิจ
ที่แพ้แก้ชนะไม่ถือพระประเวณี ขี้ฉ้อก็ได้ดีไล่ด่าตีมีอาญา"
มูลบทบรรพกิจ
อนุสนธิคนเก็บขยะนำแผ่นซีดีเก่าออกมาวางขายแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แล้วถูกพนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลจนมีคำพิพากษาปรับเป็นเงินหลักแสน โดยโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จ่ายเงินค่าปรับแทนซึ่งก็ไม่รู้ว่าใช้เงินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือเงินส่วนตัว (ถ้าใช้จาก สนง.ตำรวจฯก็ไม่รู้ว่าเบิกจากงบประมาณหมวดไหน และหากใช้จากเงินส่วนตัวก็เข้าใจว่าคงรวยมาก)
อย่างไรก็ตามคงมิใช่ประเด็นว่าใช้เงินจากที่ไหน ประเด็นก็คือความพิกลพิการของการบังคับใช้กฎหมายกับเจตนารมณ์ของ พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มุ่งจัดการกับผู้ประกอบกิจการเป็นหลัก ซึ่งงานนี้ผู้ที่ถูกด่ามากที่สุดคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนพนักงานอัยการก็โดนหางเลขบ้างประปรายพอเป็นกระสาย แต่ไม่มีกล้าใครวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลในทางสาธารณะเลย
การไม่มีคำวิจารณ์ศาลออกทางสาธารณะเลยนั้นมิได้หมายความว่าไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์เลย แต่ในวงการสนทนาตามสภากาแฟและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการนักกฎหมายด้วยกันแล้วมีกันพูดจากันอย่างมากมายและกว้างขวาง แต่ไม่ปรากฏต่อสาธารณะเพราะเหตุด้วยความเกรงกลัวว่าจะเข้าข่ายหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลนั่นเอง
อันที่จริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ศาลในอดีตนั้นมีมาอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นจากกรณีที่ยกตัวอย่างในตอนต้นของบทความที่มีที่มาจากหนังสือมูลบทบรรพกิจซึ่งเป็นตำราเรียนของกุลบุตรกุลธิดาในอดีต หรือแม้กระทั่งในห้องเรียนวิชากฎหมายเองก็มีการเล่านิทานให้เห็นถึงการวิพากษ์วิจารณ์ศาลในอดีต ซึ่งก็คือเรื่องที่คนไทยกับกับคนจีนพิพาทกันแล้วมีคดีขึ้นสู่ศาล
โดยเรื่องมีว่าคนไทยที่ปลูกบ้านใกล้กับคนจีนเกิดความอิจฉาว่าคนจีนนั้นรวยกว่าตนจึงเอาก้อนอิฐไปปาบ้านคนจีน คนจีนจึงไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนแล้วก็ส่งเรื่องให้ขุนประเคนคดีพนักงานอัยการฟ้องศาล ซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษา
หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาว่า
ไทยปาเรือนเจ๊ก
ไม่ถูกลูกเด็ก
ท่านว่าไม่เป็นไร
ให้ยกฟ้อง
ด้วยความแค้นเคืองคนจีนก็เอาก้อนอิฐไปปาบ้านคนไทยบ้าง คนไทยก็ไปแจ้งความ และขุนประเคนคดีพนักงานอัยการก็นำคดีไปฟ้องศาลซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษาอีก หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาว่า
เจ๊กปาเรือนไทย
แม้ไม่ถูกใคร
แต่ผีเรือนตกใจ
ให้ไหมสามตำลึง
แม้ไม่ถูกใคร
แต่ผีเรือนตกใจ
ให้ไหมสามตำลึง
ซึ่งก็เป็นนิทานที่เล่าต่อๆ กันมาในชั้นเรียนวิชากฎหมายที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานในการพิพากษาในอดีต
จากความยุ่งเหยิงและไม่มีมาตรฐานในการพิจารณาคดีในอดีตจึงเป็นเหตุให้เซอร์ จอห์น บาวริง ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมรับอำนาจกฎหมายและศาลไทยจนต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเป็น จุดกำเนิดของการปรับปรุงระบบกฎหมายและศาลไทยในเวลาต่อมา แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดเมื่อปรับปรุงแล้วกลับทำให้ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลต่อสาธารณะได้
ล่าสุดในคืนวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2553 ที่ผ่านมารายการ “คุยกับแพะ” ของทีวีไทยยิ่งตอกย้ำให้เห็นจุดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทยในกรณีของนายวิหาร เต็งมิ่ง หนุ่มชาวชัยนาทที่มาเป็นเขยเมืองโคราชที่ถูกคำพิพากษาฎีกาให้จำคุกถึง 18 ปี ในความผิดที่ตนองไม่ได้กระทำเพราะเหตุแห่งความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทย
นายวิหาร เต็งมิ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนยาน 2540 ด้วยข้อหาพรากผู้เยาว์ กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเจ้าหน้าที่และญาติของเด็กสมรู้ร่วมคิดกันสร้างเหตุเพื่อเรียกรับเงินจาก นายวิหาร แต่นายวิหารไม่มีเงินให้จึงต้องติดคุก แต่ด้วยความที่เป็นนักโทษชั้นดีจึงถูกจำคุกด้วยระยะเวลาเพียง 9 ปี เมื่อออกจากคุกแล้วจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุและตามหาความจริงจนได้ความจากผู้ที่ก่อเหตุนั่นเองว่าญาติของโจทก์สร้างเหตุปรักปรำเขาและสื่อมวลชนก็พิพากษาเขาตั้งแต่เริ่มแรกว่าเป็นไอ้หื่นกามจนเขาต้องสูญเสียภรรยาและลูกไป เพราะภรรยาและลูกไม่สามารถทนรับความอับอายนี้ได้จนต้องหย่าขาดจากกัน
แม้แต่เมื่อนายวิหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็มีแต่ผู้ที่ทั้งแนะนำและบังคับข่มขู่ให้เขารับสารภาพ โดยเขาได้ต่อสู้ในชั้นศาลว่าเขาถูกบังคับให้รับสารภาพแต่ก็ไม่เป็นผล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทยตั้งเริ่มต้นธารของกระบวนการยุติธรรมจนถึงปลายธารของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกติดตาราง
เราต้องยอมรับความจริงกันได้แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเรามีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข และหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นก็คือการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกกระบวนการขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
การใช้อำนาจตุลาการนั้นเป็นหนึ่งในการใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน ปวงชนย่อมที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ โดยไม่มีการตั้งกำแพงด้วยข้อหาหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล และการวิพากษ์วิจารณ์นั้นย่อมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ในทุกหมู่เหล่าแม้ว่าจะมิใช่เชิงวิชาการก็ตาม เพราะชาวบ้านที่ไหนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์เชิงวิชาการได้ คงมีแต่ความบริสุทธิ์ใจและความคิดเห็นล้วนๆ เท่านั้น
ชำนาญ จันทร์เรือง
เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 7 ก.ย.53
No comments:
Post a Comment