ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
โดย โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ศูนย์ข่าวอิศรา
น้ำเสียงมุ่งมั่นแต่อารมณ์ดีของ “เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” ผู้ผันชีวิตจากข้าราชการกรมป่าไม้ จนได้ฉายาว่า “ดร.เกษตรกร” และปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) สะท้อนว่าชนบทถูกรุกล้ำด้วยกระบวนการ-นโยบายพัฒนาที่ขาดสมดุล และภายใต้วาระงาน 3 ปีหากแก้ปัญหาหนี้สินฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรได้แม้ตายก็ไม่เสียดายชีวิต
ทราบว่าอาจารย์เคยเป็นข้าราชการกรมป่าไม้
ผมเดินเข้ากรมป่าไม้ด้วยความคิดว่าชีวิตต้องการเรียนรู้และใช้วิชาวนศาสตร์ ที่เรียนเพื่อพัฒนาตัวเองและสังคม แรกเริ่มผมทำงานในส่วนการจัดการที่ดินป่าสงวนที่ จ.ตาก ทำทุกอย่างตั้งแต่ภารโรงถึงวิทยากร ได้เรียนรู้จากชาวต่างชาติที่มาทำโครงการในไทย มีโอกาสสำรวจป่าทั่วประเทศและร่วมงานกับเอ็นจีโอหลายกลุ่ม ซึ่งผมมีความสุขดี
แต่พอโตมาระดับหนึ่งก็เริ่มมีปัญหาเพราะต้องทำงานวางแผนระดับกรมชี้แจง ต่อสภาผู้แทนราษฎรทุกปีร่วมกับผู้บริหารระดับสูง ต้องติดต่อกับนักการเมืองมากขึ้น รู้สึกตัวเองอยู่กับมายาคติเหมือน เราวางแผนแต่บนกระดาษ บอกว่าต้องอนุรักษ์ป่าอย่างไร ของบประมาณเท่าไร แต่ไปไม่ถึงข้างล่าง ชุมชนมีปัญหาแต่ไม่มีกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูเลย
ทำไมถึงผันตัวจากข้าราชการมาเป็นเกษตรกร จนได้ฉายาว่า “ดร.เกษตรกร”
ผม มาวิเคราะห์ตัวเองเพราะอึดอัดมาก รู้สึกเหมือนไม่มีเพื่อนร่วมงานที่ร่วมคิดร่วมหาทางออกให้ชาวบ้านจริงๆ มีแต่คนพูดถึงผลประโยชน์ จะทำอย่างไรให้ได้งบมา แต่ไม่เคยพูดเลยว่าจะทำงานกับชุมชนอย่างไรให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ จึงตัดสินใจลาออกไปบังกลาเทศในฐานะผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
วันหนึ่งผู้เชี่ยวชาญที่นั่นคนหนึ่งเขาพูดกระแทกใจผมมาก บอกว่าบ้านเมืองมีปัญหา แต่เรากลับมาทำงานต่างประเทศ ผมจึงกลับมาและทำงานกับชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแนวคิดป่าชุมชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ศักยภาพให้ชุมชนในการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ลดอำนาจบริหารส่วนกลางมาสู่ชุมชนมากขึ้น
แต่การต่อสู้กว่า 10 ปีไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ถูกต่อต้านจากชนชั้นกลางและนักอนุรักษ์นิยมที่มีอคติมองชุมชนเป็นคนทำลายป่า เกิดกระแส “เขียวเข้ม” หรือการอนุรักษ์ป่าด้วยวิธีทางกฎหมาย ตอนนั้นเราสู้กระแสไม่ไหว คิดอยากไปสร้างโลกใหม่ที่น่าอยู่ จึงไปฟื้นที่ดินมรดก 20 ไร่ ที่ จ.ปราจีนบุรี ใช้เวลา 7 ปี สร้างธรรมเกษตรขึ้น โดยปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไม่ใช่มีไว้เพื่อรับใช้มนุษย์ มีการฝึกอบรมรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการ พูดคุยและหาทางออกของปัญหาร่วมกัน
อะไรที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจลงไปทำงานกับชุมชนแบบเต็มตัว
ชนบทที่เราวาดฝันไว้ไม่ได้สงบอย่างที่คิด ยิ่งอยู่ใกล้เกษตรกรยิ่งเจอปัญหา บางคนเดินเข้ามาขอทำงานเพราะไม่มีเงินซื้อข้าวให้ลูกกิน บางคนมาขอค่าเล่าเรียน ผมมาคิดว่า “เฮ้ย..ชนบทไม่น่ามีค่าใช้จ่ายมาก แต่ทำไมไม่มีเงินเอาลูกเข้าโรงเรียน จนพบว่าปัญหาทุกอย่างมันเกิดจากหนี้สิน เพราะขาดทุนทุกปี ปีที่ผลผลิตดีก็ถูกดราคา ส่วนปีที่ไม่ดีก็ยิ่งหนักต้องกู้หนี้จากธนาคาร ดอกเบี้ยท่วมหัว บางคนไปกู้นอกระบบอีก ทำอย่างไรก็ไม่คุ้มทุน สุดท้ายก็สูญเสียที่ดิน”
ผม เคยถามในที่ประชุมว่าใครมีที่ดินเป็นของตัวเองบ้าง ไม่มีใครยกมือ พอถามอายุเฉลี่ยก็ 50 กว่าปีขึ้น จึงมาคิดว่าถ้าอีก 10 ปีข้างหน้ายังเป็นอยู่อย่างนี้เกษตรกรล่มสลายแน่ ผมจึงเริ่มทำงาน โดยเชื่อมโยงเกษตรกรกับฐานทรัพยากรทำให้ทั้ง 2 เรื่องเดินไปคู่กัน รณรงค์การแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบวงครบวงจร เริ่มจากวิธีคิด การผลิต และการจัดการจนมีหลักประกันว่าเมื่อทำการเกษตรแล้วต้องมีรายได้พอเลี้ยงครอบ ครัว ไม่ใช่แค่ราคาประกันต่อเกวียนอย่างที่รัฐทำอยู่
ที่ผ่านมา ปัญหาภาคเกษตรกรรม มีอะไรที่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลหรือไม่อย่างไร
มีบ้าง อย่างเรื่องหนี้นอกระบบ รัฐบาลก็มีมาตรการหลายอย่าง แต่ก็ยังช่วยได้แค่บางกลุ่ม เกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ไม่เกิน 10 ปี คงล่มสลายแน่นอน เพราะปัญหาเคลื่อนตัวเร็วกว่าความพยายามในการแก้ปัญหา
ถ้าถามว่าปัญหาที่แก้ไขสำเร็จมีบ้างไหม ตอบว่าไม่มีเลย เพราะเราพูดกันแต่การแก้ไขระยะสั้น อย่างเรื่องหนี้บางคนปลดได้ตั้งแต่ปี 2548 แต่ต้องกลับไปกู้ใหม่อีก เพราะไม่มีการฟื้นฟูอาชีพ ผมจึงบอกว่าถึงแก้หนี้ได้แต่ยังไม่จบ ต้องมีกระบวนการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรคือต้องทำให้เขาคิดได้เองว่าจะจัดการตน เองอย่างไร เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่เป็นหลักประกันระยะยาว มีเงินออมไว้เป็นสวัสดิการยามเจ็บป่วย
ประเด็นหลักๆ ที่อาจารย์สนใจเป็นพิเศษ คือเรื่องหนี้สินและการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร
ผม ดูเรื่องนโยบายการจัดการหนี้และการฟื้นฟูเกษตรกร ที่เห็นตอนนี้รัฐบาลออกมาบอกว่าแก้ไปได้ 4-5 แสนราย แต่ยังเป็นมาตรการระยะสั้น เพียงดึงหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบเท่านั้น ยังไม่ได้จัดระบบความคิดและระบบการบริหารจัดการให้ชาวบ้านมีวินัยทางการเงิน อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อปรับระบบคิด ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และสร้างระบบสวัสดิการ โดยให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน
นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่ดินและทรัพยากร ที่เป็นปัญหามาก ขณะที่นโยบายหรือมาตรการแก้ไขยังไม่ไปถึงไหน แม้จะมีโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นเพียงรูปแบบการจัดกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แก้ปัญหาแค่ปลายเหตุ ยังกระจายการถือครองที่ดินไปยังชาวบ้านไม่ได้
อาจารย์มีโมเดลการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตร และปัญหาที่ดินชาบ้านอย่างไร
เรื่อง หนี้สินและการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร ผมเห็นว่า 1. ต้องแก้ทั้งระบบ โดยใช้วิธีการเหมือนครั้งแก้วิกฤติต้มยำกุ้ง คือรัฐซื้อหนี้ทั้งหมดแล้วนำมาบริหารจัดการโดยระบบกองทุนเดียว 2.รัฐต้องยอมรับด้วยว่าหนี้สินมากมายเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ และกระบวนการพัฒนาที่ไม่สมดุลและยั่งยืน ผลักให้เกษตรกรเข้าสู่ทุนนิยมโดยไม่มีความพร้อม จุดนี้รัฐต้องรับผิดชอบ 3.กระบวนการแก้ปัญหาต้องเกิดจาก 3 ส่วน คือ รัฐ เกษตรกร และสถาบันการเงิน
ส่วนเรื่องที่ดินก็คล้าย กันคือรัฐต้องซื้อที่ดินรกร้าง ที่ดินไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีอยู่ 20-30 ล้านไร่ มาให้หมดแล้วนำมาบริหารจัดการให้กับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์แท้จริง ไม่ใช่ปล่อยซื้อขายเก็งกำไร รับรองแก้ปัญหาเกษตรกรได้หมด แถมมีผลิตภัณฑ์สำหรับการเป็นครัวโลกอย่างเหลือเฟือ แต่ทั้งนี้ต้องทำอย่างครบวงจรคือนอกจากผลิตต้องคิดเรื่องจัดการตลาดโดยยึด หลักการรวมตัว ดังนั้น พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่กำลังจะออกมาจึงจำเป็นมากเพราะส่งเสริมการรวมตัวและเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง
เป็นมาอย่างไรจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
วัน หนึ่งผมอภิปรายอยู่ที่เครือข่ายภาคตะวันออก ก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณอานันท์ ปันยารชุน ประธาน คปร.ชวนเข้าร่วมด้วย เพราะเห็นว่าผมทำงานด้านการเกษตรมาเยอะและเห็นผมเป็นเกษตรกรคนหนึ่งด้วย เมื่อท่านเห็นว่ามีประโยชน์ก็ยินดีช่วย เราเองก็เห็นว่ามันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงอะไร จึงตอบรับและนำเรื่องที่ทำงานอยู่มาขับเคลื่อนต่อ
2 เดือนที่ผ่านมาสำหรับ คปร. ตอนนี้ได้ข้อสรุปอะไรบ้าง และทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร
เราได้กรอบการทำงานที่ชัดเจนและครบสมบูรณ์แบบแล้ว ว่าจะมีปรัชญาและวิธีขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาหนี้สิน การศึกษา การกระจายอำนาจ ต่อไปจะเริ่มคุยว่าภายใต้กรอบนี้จะมีแนวทางแต่ละประเด็นอย่างไรบ้าง เฉพาะกลุ่มประเด็นและทรัพยากรเราเสนอเป็นกรณีศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นว่าแต่ละ พื้นที่มีปัญหาที่เกิดจากวิธีการคิดและปฏิบัติที่ต่างกันระหว่างรัฐ เอกชนและชาวบ้าน ต้องแก้ทั้งสามเส้านี้
ชาวบ้านบอกว่าต้องปฏิรูประบบราชการ จึงปฏิรูปประเทศได้ ในฐานะข้าราชการเก่า มองเรื่องนี้อย่างไร
ข้อ เสนอนี้ตรงประเด็นที่สุด เพราะระบบราชการเป็นประโยชน์หากเราเป็นนายและใช้มันอย่างมีประโยชน์ แต่ถ้าเมื่อใดที่ถูกมันใช้ ครอบงำได้เมื่อนั้นเป็นโทษมหันต์ ตอนอยู่ในระบบเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ ไม่สามารถเป็นนายมันได้จึงต้องเดินออกมา
แต่การแก้ไขเรื่องที่ เหมือนแห มีปมหลายปมซ้อนกันไปมา บางปมเป็นเงื่อนตายแก้ไม่ได้ง่ายๆ เห็นว่าถ้าจะแก้ต้องแก้ที่คน ซึ่งเป็นปมปัญหา สำหรับชุมชนต้องทำให้ข้าราชการมาเป็นเพื่อนไม่ใช่ศัตรู เพราะยิ่งเป็นปรปักษ์กันมากเท่าไร ยิ่งทำไม่รู้รู้ว่าปมซุกซ่อนอยู่ตรงไหนสุดท้ายก็มองไม่เห็นวิธีแก้
หลัก ใหญ่คือ
1.ข้าราชการต้องปรับกันเองภายในก่อน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เข้ามาเป็นหลักในการผลักดัน โดยมีประชาชนคอยจี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ให้รับใช้กันเองแต่มุ่งเป้าไปที่การรับใช้ประชาชน
2.ปรับระบบการเมืองและราชการให้ถ่วงดุลกัน ให้การเมืองชี้นำราชการให้รับใช้ประชาชน สุดท้ายคือการลดเงื่อนไขการทำงานบางอย่าง เช่น กฎหมายบางฉบับที่บังคับมากเกินไป
อาจารย์มอง คปร. เป็นความหวังในการแก้ปัญหาของชาวบ้านได้แค่ไหน อย่างไร
คปร. เป็นเครื่องมือของชาวบ้าน ถ้ามีเครื่องมือแล้วไม่นำไปใช้เหมือนมีช้อนมีจานวางไว้บนโต๊ะ แต่ไม่หยิบไปเมื่อไรจะถึงปากถึงท้อง วิธีการใช้เครื่องมือชนิดนี้ก็คือการเดินเข้ามาพูดคุย เสนอแนะ เพื่อให้ออกมาเป็นมติแล้วขับเคลื่อนออกไปโดยประชาชน ไม่ใช่คณะกรรมการเพียง 20 กว่าคน เราเป็นเพียงผู้จัดหาช่องทางให้ประชาชนทำงานร่วมกับรัฐบาลเท่านั้น
ต้องใช้เวลานานแค่ไหนชาวบ้านจึงจะเห็นผลลัพธ์สุดท้าย
บางเรื่องไม่นาน บางเรื่องอาจต้องใช้เวลา แต่บางเรื่องไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะสำเร็จหรือเปล่า แต่สำหรับระยะเวลา 3 ปีผมหวังว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถเคลื่อนด้วยตัวเอง ได้ ถัดมาเป็นเรื่องการกระจายทรัพยากรให้อยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น ที่ดินถึงมือคนไร้ที่ทำกิน ถ้าทำ 3 เรื่องนี้ได้แค่นี้ผมเฮแล้ว ตายพรุ่งนี้ก็ไม่เสียดายชีวิต
…………………………………………………
ต้อง ยอมรับว่าการปฏิรูปประเทศ ภายใต้โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ไม่ใช่งานง่าย และต้องใช้เวลานาน แต่ ดร.เกษตรกรผู้นี้ยังคงมุ่งมั่นและเชื่อเสมอว่าไม่ว่าใครจะสวมหมวกใบ ไหนในตอนนี้ “ทุกคน”ล้วนมีส่วนร่วมยกเครื่องประเทศไทยสู่เป้าหมายเดียวกันคือสร้างความ เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำให้สังคม.
No comments:
Post a Comment