Sunday, September 26, 2010

ปฏิบัติการปฏิวัติชุมชน

ปรีชา ทองเสงี่ยม
เกษตรกร อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว

ปรัชญาในการปฏิวัติ
"พอกิน พอใช้ ยั่งยืน ทันโลก"

วัตถุประสงค์ในการปฏิวัติ
1. หยุดความล่มสลายของครอบครัวและชุมชนเกษตรกรรม
2. ขจัดความไม่เป็นธรรมและการถูกเอารัดเอาเปรียบ
3. นำวิถีชีวิตเกษตรกรรมเข้าสู่ความยั่งยืนและมั่นคง
4. สามารถพึ่งตนเองได้และใช้ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด

ขอบข่ายการทำงาน
1. เพิ่มขีดความสามารถในชุมชนให้สูงขึ้น จากเคยปลูกพืชอาหารสัตว์ มาทำการผลิต เนื้อ นม ไข่ไก่
2. ฟื้นฟูสภาพพื้นที่เพาะปลูกให้กลับคืนมา ด้วยมูลสัตว์และเศษพืชที่เหลือจากการผลิต
3. ฟื้นสภาพครอบครัวและพี่น้อง ในชุมชนที่ต้องออกไปทำงานในเมืองให้กลับคืนมาสู่ท้องถิ่น
4. ผลิตเนื้อ นม ไข่ไก่ คุณภาพดี จากระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันในตลาดได้
5. เพิ่มขีดความสามารถในการแปรรูป วัตถุดิบ การเก็บรักษา การผลิตอาหารสัตว์ ด้วยการสร้างเครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์ขนาดเล็ก
6. ลดภาวะโลกร้อน โดยไม่ต้องขนย้ายพืชอาหารสัตว์ออกนอกชุมชนละไม่ต้องขน เนื้อ นม ไข่ไก่มาจากที่อื่น เพราะมีการผลิตได้ในชุมชน
7. ทำชุมชนของเราให้มีความพร้อมเรื่องอาหารมากที่สุด โดยมีการผลิตเริ่มตั้งแต่ ข้าว พืชผัก เนื้อ นม ไข่ไก่ และในที่สุดความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งจะอยู่ที่ชุมชนของเรา

วิธีคิดและข้อปฏิบัติสำหรับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ
1. หยุดเล่นเกมที่คุณไม่มีโอกาสชนะ
2. หยุดการขายสินค้าในรูปแบบวัตถุดิบให้แก่นายทุน
3. โครงการนี้ไม่ใช่การแจกปลา หากแต่เป็นการสอนวิธีการจับปลา ซึ่งนับเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4. การขายมูลสัตว์ให้ผุ้อื่นไม่ควรทำ ยกเว้นแต่คนที่ไม่มีที่ดินทำการเกษตร
5. สมาชิกควรอุดหนุนสินค้าที่ชุมชนเราผลิตได้ เพราะจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และต้นทุนการดำเนินชีวิตจะต่ำลง
6. ทุกครอบครัวควรทำการเกษตรเพื่อยังชีพ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินชีวิต

คำอธิบาย
"การปฏิวัติชุมชน" ในที่นี้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเดิม ที่ชุมชนของเราผลิตพืชอาหารสัตว์กันมาช้านาน โดยเริ่มต้นจากดินที่อุดมสมบูรณ์ จนถึงยุคปัจจุบัน ดินเสื่อมสภาพ ผลผลิตลดลงจนถึงจุดที่ไม่คุ้มทุน เราต้องคิดเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะสายเกินไป โดยหันเข้าสู่กระบวนการผลิตในระบบใหม่ คือ เนื้อ นม ไข่ไก่ และวัตถุดิบอาหารสัตว์แปรรูป เป็นต้น

และต้องเข้าใจว่าการผลิตระบบใหม่นี้ไม่ใช่อาชีพเสริม เพราะถ้ายังมีการผลิตพืชไร่ ทำนา เพื่อขายอยู่ มีการขาดทุนสะสม ในที่สุดการผลิตระบบใหม่ซึ่งมีกำไร จะถูกดึงกำไร ไปชดเชยการขาดทุนซึ่งสะสมอยู่ก่อน จนเป็นเหตุให้ให้การผลิตระบบใหม่ล้มเหลวในที่สุด

"ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด" หมายถึง แสงดแด และน้ำฝนที่ตกลงสู่ดินซึ่งจะไม่มีวันหมด การผลิตในระบบใหม่เป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง สองสิ่งนี้จึงนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก ไม่มีวันหมดและจะทำให้เกิดความมั่งคังในที่สุด

"หยุดเล่นเกมที่คุณไม่มีโอกาสชนะ" หมายถึง การเกษตรแบบเดิมซึ่งขายผลผลิตให้นายทุนทั้งหมดและไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เป็นผลให้ชุมชนหรือแม้กระทั่งครอบครัว ล่มสลายลงในที่สุด

No comments:

Post a Comment