Tuesday, September 28, 2010

สาเหตุใดกัน ที่ไม่ควรเลือกตั้ง"ผวจ."

โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล
ประธานหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
(ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓)

เป็นที่พูดคุยกันภายในแวดวงสภาพัฒน์ เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับการจัดทำ "แผน 10" และมีแนวคิดเรื่อง "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด" ที่อยากจะเลียนแบบกรุงเทพฯ ซึ่งเรียกชื่อตำแหน่งในระยะหลังนี้ว่า "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" อันเป็นความเข้าใจผิดกันอย่างมาก สับสนกันมาก โดยเฉพาะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นศักดิ์ศรีทางรัฐศาสตร์การปกครองของประเทศชาติมาช้านาน

วันนี้ จึงนำเสนอเป็นกรณีศึกษา เรื่อง "ชื่อตำแหน่ง ผวจ.นั้นมีความแตกต่างกับผู้บริหารท้องถิ่น กทม. หรือผู้ว่าฯ กทม.อย่างไร"

เราทุกคนควรทำความเข้าใจข้อเท็จจริงประการนี้ไว้ ก่อนที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไม่ถูกต้องจะเกิดขึ้นและนำไปสู่ความวุ่นวายอลหม่านทางรัฐศาสตร์การปกครองของประเทศชาติยิ่งขึ้นไปอีก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงตรัสว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดจนข้าราชการทุกคน ต่างล้วนเป็นข้าพระบาทต่างพระเนตรพระกรรณของในหลวง" โดยความหมายก็คือ ข้าราชการทุกท่านเหล่านี้มาจากสายข้าราชการประจำต่างดำรงตำแหน่งหน้าที่และรักษาคุณงามความดีของตนมาตั้งแต่ยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือที่ทรงเรียกว่า "Junior Officer"

ตำแหน่ง "ผวจ." ในทั่วทั้ง 75 จังหวัดปัจจุบัน จึงต่างเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับจังหวัดที่ ผวจ.ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เพื่อให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันทางระบบราชการทั่วราชอาณาจักร ก่อให้เกิดความเป็น "Uniform" ทางการปกครองและความมั่นคงปลอดภัยของราชอาณาจักร มิใช่ต่างคนต่างคิดต่างทำและขาดความเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯอันหมายถึง "รัฐบาลกลาง" หากจะเรียกกันเช่นนี้

กว่าสยามหรือ "ประเทศไทย" จะได้มีวิวัฒนาการมาเป็น "รัฐชาติ" (Nation State) หรือความเป็น "ราชอาณาจักร" (Kingdom) นั้น ได้ผ่านความยากลำบากมามากมายและใช้เวลาอันยาวนานในการสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่แผ่นดินตามพระบรมราชปณิธานของสมเด็จพระปิยมหาราช จนกระทั่งสามารถธำรงความเป็นเอกราชไว้ได้เพียงชาติเดียวในภูมิภาค

ในหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ว่า กว่าจะมาเป็นราชอาณาจักรสยามในทุกวันนี้ ได้ทรงเพียรพยายามในทุกๆ ทางด้วยความเหนื่อยยาก ทรงโปรดให้รวม "รัฐเล็กรัฐน้อย" (Little Government) ที่ไม่เชื่อฟังกรุงเทพฯ กลับกลายเป็น "ราชอาณาจักรที่มั่นคง" โดยผสานผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนาเข้าด้วยกันรวมเรียกว่า "ประชาชนชาวสยาม" แล้วเราทุกคนจะเดินย้อนกลับไปสู่ความเป็น "รัฐเล็กรัฐน้อย" อีกเช่นนั้นหรือ

ตำแหน่ง "ผวจ." หรือที่เรียกว่า "เจ้าเมือง" ในอดีต บ่งบอกถึงความเป็นข้าต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดินต่อภารกิจ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อาณาประชาราษฎร์" เป็นผู้อัญเชิญพระแสงราชศัสตราในพระปรมาภิไธยของพระองค์ท่าน มิได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับแรก แต่เป็นผู้ซึ่งยังจะมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยทั้งแก้ปัญหาต่างๆ ระหว่างหน่วยงานภายในพื้นที่จังหวัด ในความหมายนั้นก็คือ ความเป็นกลางในการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง

ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มิได้มีสถานะเป็น "จังหวัด" แต่เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษไม่ใช่จังหวัดที่ 76 หรือ "สุวรรณภูมิ" เป็นจังหวัดที่ 77 อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวและสื่อกันผิดๆ ในขณะนี้ เด็กและเยาวชนจะเรียนรู้กันผิดๆ ไม่ได้เพราะกรุงเทพฯ หรือแม้แต่สุวรรณภูมิหากจะเกิดขึ้นจริง ย่อมมิใช่จังหวัด ในเมื่อตำแหน่ง "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" ไม่มีคำว่า "จังหวัด" และไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแต่อย่างใด

ตำแหน่ง "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" จึงมีสถานะทางการปกครองเท่าเทียมกับ "นายกเทศมนตรีมหานคร" หรือ "Lord Mayor" ที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนในระดับ "จังหวัด" ก็มี อบจ. เทศบาลระดับต่างๆ และ อบต.มากมายหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นหลักการกระจายอำนาจทางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

ณ ที่นี้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสับสนทางรูปแบบการปกครอง หรือสื่อกันอย่างผิดๆ อีกต่อไป ก็สมควรทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องเสียใหม่ว่า

ผวจ. คือ ข้าราชการประจำผู้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม พิพากษา ฯลฯ และเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงจังหวัดในส่วนภูมิภาคกับส่วนกลาง รักษาไว้ซึ่งปรัชญาทางการบริหาร คือ ความเป็นราชอาณาจักร ที่เป็น "รัฐเดี่ยว" หรือ "Unitary State" มิใช่ระบบ "สหรัฐ" หรือ "Federation" แต่อย่างใด

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งโดยผลจากการเลือกตั้งทางตรง ก็ควรที่จะได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งกลับไปเหมือนก่อน ซึ่งสามารถสื่อความหมายได้อย่างถูกต้องชัดเจนตามหลักการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ "นายกเทศมนตรีกรุงเทพมหานคร" ฟังดูทั้งไพเราะ สง่างาม และมีความหมายชัดเจนโดยทันทีว่า มาจาก "การเลือกตั้ง"

เราต้องช่วยกันดำรงรักษาความมั่นคงของประเทศ ทั้งความเป็น "ราชอาณาจักร" และ "รัฐเดี่ยว" ที่มิใช่การแบ่งแยกแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกเป็นมลรัฐนั้นมลรัฐนี้ อย่างที่เข้าใจกันอย่างไม่ถูกต้องในขณะนี้

.....มติชน

2 comments:

  1. คนการเมืองSeptember 29, 2010 at 7:32 AM

    ใครช่วยถามหลานปู่ดำรงหน่อยเถอะว่าอยู่มาตั้งนาน ไม่เห็นโผล่ออกมาพูด ถ้ามีเวลาช่วยค้นคว้าแนวคิดกรมพระนเรศวร์วรฤทธิ์เกี่ยวกับการเมืองการปกครองด้วยก็จะดีนะ ยังไงก็เป็นน้องปู่เหมือนกัน

    ReplyDelete
  2. มาล้าสมัยไปแล้วคุณ ไม่อยากว่าคนเขียนเรื่องนี้เลยว่า อย่าหัวโบราณไปหน่อย เพราะสมัยนี้ประชากรมาก ปัญหาก็มาก การปกครองแบบรวมศูนย์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ว่า ก็ไม่ทำเพื่อประชาชนแท้จริง แต่ทำเพื่อนักการเมือง เหมือนที่คนที่เขียนบทความนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ก็ได้ประโยชน์จากนักการเมืองเหมือนกัน และเรื่องนี้ก็เป็นข่าวฉาวโฉ่อย่างที่เห็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และการจัดงบประมาณก็ต้องผ่านส่วนกลาง ผู้ว่าปัจจุบันก็ไม่สามารถจัดสรรค์งบประมาณมาณพัฒนาจังหวัดได้เต็มที่ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคก็ทำไม่ค่อยได้ และหากแบ่งแยกก็แค่ ให้ื้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารพื้นที่ตนเอง และหากมีการปกครองกันเอง ก็จะทำให้รัฐบาลกลางไม่สา่มารถแทรกแทรงได้ทั้งงบประมาณและบุคคล พวกนักการเมืองเลวๆหรือพวกข้าราชการที่ชอบเลียขานักการเมืองเพื่อมาเป็นใหญ่ก็จะได้ลดลงไป รัฐบาลท้องถิ่นหรือประชาชนในท้องถิ่น จะสามารถเรียกร้องรัฐบาลกลางหากรัฐบาลกลางทำเรื่องไม่ดี หรือหากมีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อคนในจังหวัด ท้องถิ่นก็สามารถเรียกร้องได้โดยส่วนกลางไม่สามารถแทรกแทรงได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชียงใหม่ น่าจะเป็นจังหวัดที่ต้องมีการปกครองตนเองเป็นจังหวัดต่อจากกรุงเทพโดยเร็วที่สุด

    ReplyDelete