Friday, September 17, 2010

ความรับผิดชอบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ความผิดพลาดของอภิสิทธิ์และความรับผิดชอบกรณีสลายการชุมนุม
โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
12 เมษายน 14.36 น.

ขณะที่รอยเลือดของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกฝ่ายยังไม่ จางไป นายกรัฐมนตรีรีบอธิบายว่าผู้ชุมนุมผิดกฎหมาย ส่วนท่านก็เพียงทำตามหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อผิวจราจร นักวิชาการบางกลุ่มเสนอว่าประชาชนมีอาวุธ นายกจึงสั่งสลายการชุมนุมได้ สื่อมวลชนบางประเภทไปไกลขนาดว่าประชาชนคือฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบที่เกิดการ เสียชีวิตขึ้นมา

กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว คำอธิบายของนายกและผู้ สนับสนุนวางอยู่บนตรรกะสองข้อ ข้อแรกคือการชุมนุมเป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญ และข้อสอง นายกมีสิทธิสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง นั่นคือใช้กระสุนจริง ใช้ระเบิดควัน ใช้แก๊สน้ำตา ใช้รถถัง ใช้รถหุ้มเกราะ ฯลฯ

พูดให้สั้นก็คือสมควรแล้วที่ประชาชนมือเปล่าและเจ้า หน้าที่จะบาดเจ็บล้มตาย ประชาชนควรเจ็บควรตายเพราะผิดกฎหมาย ส่วนทหารควรเจ็บควรตายเพื่อสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี

เรื่องที่ต้องวินิจฉัยคือการชุมนุมของประชาชนครั้งนี้ ผิดรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ คำตอบคือไม่ผิด รัฐธรรมนูญมีหลักใหญ่คือคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ส่วนหลักรองคือคุ้มครองการชุมนุมที่ไม่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

การชุมนุมที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์เข้าเงื่อนไขนี้ เพราะมีการรวมตัวของประชาชนมหาศาลอย่างสันติ ความรุนแรงที่มีบ้างคือความรุนแรงทางสำนวนโวหาร ซึ่งต่อให้ใครจะชอบหรือไม่ชอบ นั่นไม่ใช่เหตุให้อ้างได้ว่าการชุมนุมทำลายทรัพย์สินหรือชีวิต และยิ่งไม่ใช่เหตุให้นายกมีอำนาจสลายการชุมนุม

เแน่นอนว่าการชุมนุมด้วยวิธีนี้มีผู้ไม่พอใจ และผู้ชุมนุมก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการเลือกวิธีสู้แบบนี้ แต่นั่นเป็นคนละประเด็นว่าประชาชนไม่มีสิทธิในการชุมนุม รัฐธรรมนูญยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ และผ่านฟ้ากับราชประสงค์ก็คือพื้นที่สาธารณะจริง

ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้ามชุมนุมในบริเวณผ่านฟ้าหรือราช ประสงค์ ตราบนั้นประชาชนก็มีสิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมในบริเวณนั้นอย่างสมบูรณ์

นายกอ้างว่าการชุมนุมละเมิดกฎหมายและทำให้มีผู้เดือด ร้อน แต่กฎหมายที่การชุมนุมละเมิดคือกฎหมายระดับ พรบ.การจราจร กฎหมายการใช้เสียง กฎหมายความสะอาด ฯลฯ ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญทั้งนั้น ซ้ำโทษจากการกระทำผิดนี้ก็คือการปรับ ไม่ใช่การปราบหรือสลายการชุมนุมจนล้มตาย

การชุมนุมไม่ควรทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่ต้องประเมินความเดือดร้อนตามข้อเท็จจริงรายกรณี เช่นการชุมนุมเป็นอุปสรรคต่อการทำงานจริงหรือไม่ เข้าพื้นที่ราชประสงค์ไม่ได้จริงหรือ ส่งเสียงรบกวนบริเวณใกล้เคียงขนาดไหน ฯลฯ ผู้ชุมนุมต้องชดเชยความเสียหายนี้ แต่นายกไม่มีสิทธิฉวยความเดือดร้อนนี้เป็นข้ออ้างสลายการชุมนุม

อย่าลืมว่าประเทศเราไม่มีกฎหมายให้รัฐบาลใช้กองทัพติด อาวุธสลายผู้ขัดขวางทางจราจรหรือใช้เสียงดัง
นอกจากพิจารณาเรื่องนี้ในแง่กฎหมาย เรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือผู้ชุมนุมเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะไม่ต่าง จากประชาชนคนอื่น เขามีสิทธิใช้ถนนเท่าผู้ใช้รถและอภิมหาเศรษฐีที่ผูกขาดถนนนี้มาตลอดชีวิต ให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธินี้บ้างจะเป็นไรไป ความลำบากในการขับรถไม่พึงเป็นเหตุให้ใช้กำลังสลายประชาชน

เมื่อรัฐธรรมนูญคุ้มครองการชุมนุมของประชาชนอย่างครบ ถ้วน นายกรัฐมนตรีจึงผิดตั้งแต่ประกาศพรบ. ความมั่นคง และผิดมากขึ้นที่ประกาศ พรก. ฉุกเฉิน ผิดแง่กฎหมายเพราะใช้อำนาจนายกโดยละเมิดรัฐธรรมนูญ ผิดแง่การเมืองเพราะใช้กฎหมายสำหรับจัดการศัตรูของชาติมาจัดการผู้เรียกร้อง ยุบสภา แต่นายกก็เลือกทางนี้เพื่อแลกกับเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการผู้ชุมนุม
ถ้าพูดลงรายละเอียดให้มากขึ้น นายกฯ กระทำผิดในการสลายการชุมนุมอย่างน้อยอีก 3 ข้อ

ข้อแรก เมื่อประชาชนเริ่มรวมตัวชุมนุมที่แยกผ่านฟ้า นายกฯ ให้สัมภาษณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าชุมนุมที่นั่นไม่ได้ แต่เมื่อย้ายการชุมนุมไปราชประสงค์ นายกฯ กลับคำใหม่ว่าการชุมนุมผ่านฟ้าเป็นการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง คำวินิจฉัยที่กลับไปมาแบบนี้ไม่มีเหตุให้เชื่อได้เลยว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ ยึดหลักอะไรจริง

ต้องถามด้วยซ้ำว่านายกฯ มีสิทธิอะไรในการวินิจฉัยว่าการชุมนุมไหนขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ? นายกอ้างอำนาจนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ และถ้ายังไม่มีการวินิจฉัยปัญหานี้ให้เป็นที่ยุติ ก็ต้องคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญไปก่อน หาไม่ก็จะกลายเป็นการวินิจฉัยเพื่อละเมิดสิทธิเปะปะตามอำเภอใจ

ต่อให้เชื่อว่านายกมีสิทธิวินิจฉัยเรี่องนี้ คำถามคือทำไมสั่งสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้าซึ่งเคยบอกเองว่าทำได้ ฤาสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เปลี่ยนตามใจนายกฯ? หรือแท้จริงแล้วไม่เชื่อว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิตั้งแต่ต้น จึงไม่เคยเคารพหลักนี้ แต่พูดเพื่อกล่าวโทษผู้ชุมนุมเป็นประเด็นข่าวไปวัน ๆ

ข้อสอง นายกฯ อ้างว่าต้องสลายผ่านฟ้าเพื่อทวงพื้นผิวจราจร แต่การจราจรในกรุงเทพฯ เวลานี้เป็นปัญหาตรงไหน? ทุกคนรู้ว่ากรุงเทพฯ ยามสงกรานต์จะกลายสภาพเป็นมหานครใกล้ร้างไปอีกเกือบหนึ่งอาทิตย์ จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ต้องเร่งรีบสลายการชุมนุมโดยอ้างเหตุอย่างที่กระทำ ไป

ถ้านายกฯ หมกมุ่นเรื่องยึดพื้นที่ให้น้อยลง ท่านสามารถชะลอการสั่งสลายการชุมนุมได้ ใช้เวลาระหว่างนั้นทำการเจรจาภายในไปพลาง ไม่ใช่ทำตัวเป็นยามเฝ้าถนนแบบเอาเป็นเอาตายจนทำคนตายไปจริงๆ

นายกต้องตอบให้ได้ว่าทำไมสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า ท่านควรคิดให้รอบด้านว่าผู้ชุมนุมไม่เพียงมีสิทธิใช้ถนนในฐานะสิทธิในการ ชุมนุม หากพวกเขายังมีสิทธิใช้ถนนเหมือนประชาชนทั่วไป

นอกจากจะผิดที่สั่งสลาย นายกยังผิดมากขึ้นที่ให้ปฏิบัติกิจนี้ยามวิกาล รัฐบาลประชาธิปไตยไม่ทำแบบนี้ การสลายยามวิกาลเสี่ยงต่อการปะทะระหว่างทหารกับประชาชน เสี่ยงเกิดเหตุวุ่นวาย สร้างโอกาสที่ทหารจะฆ่าคนโดยไม่ต้องรับผิดชอบ และที่สำคัญคือไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุมที่จะเดินทางกลับในเวลากลางคืน

การเสียชีวิตจำนวนมากที่สุดเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสั่ง สลายการชุมนุมแบบนี้เอง
ข้อสาม นายกฯ พูดนับครั้งไม่ถ้วนว่าจะดำเนินมาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก แต่หลักฐานทั้งหมดปรากฏชัดว่าท่านสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้าด้วยมาตรการจาก หนักไปหนักที่สุด ไม่มีคำเตือน ไม่มีการฉีดน้ำ การสลายเริ่มต้นด้วยแก๊สน้ำตา ระเบิดควัน จากนั้นเป็นการตีพื้นที่ด้วยอาวุธสงคราม

ลำพังไม่รักษาคำพูดเรื่องนี้ยังพอทำเนา แต่ที่ไม่อาจเข้าใจได้เลยคือการอนุญาตให้นายทหารระดับสัญญาบัตรพกอาวุธ สังหารและใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุม

ท่านนายกฯ จะมองผู้ชุมนุมอย่างไรก็ว่าไป แต่อาวุธที่ทหารยิงใส่ประชาชนคืออาวุธที่ท่านให้ทหารพกพา คำถามคือท่านให้เขาขนอาวุธสงครามไปสลายการชุมนุมได้อย่างไร? ทำไมไม่สั่งหยุดเมื่อเกิดการปะทะ? ยิ่งกว่านั้นคือท่านอนุญาตให้พกพาอาวุธก่อนที่การปะทะจะเกิดขึ้นจริง จะอ้างการปะทะในภายหลังเป็นเหตุในการสั่งใช้อาวุธได้อย่างไร?

นายกอ้างว่าประชาชนมีอาวุธ แต่กองทัพสลายประชาชนด้วยอาวุธสงครามที่รุนแรงกว่า ประชาชนใช้ลูกโป่งก่อกวนเฮลิคอปเตอร์ ใช้ด้ามธงปกป้องตัวเองจากทหาร ใช้ปิ๊คอัพขวางรถหุ้มเกราะ ขณะที่กองทัพใช้ปืนกล รถถัง เอ็ม 60 รถหุ้มเกราะ แก๊สน้ำตา ระเบิดควัน ฯลฯ ส่วนอาวุธที่คร่าชีวิตทหารนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นของใคร
ถ้าสรุปให้ชัดไม่ได้ ก็อย่าปัดให้เป็นของประชาชน

คำสั่งสลายกรณีนี้ผิดเกินกว่าเหตุ ไม่ทำตามขั้นตอนอารยะ และเป็นเหตุของการปะทะจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ประชาชนผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ควรตาย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ควรตายจากคำสั่งให้ปะทะกับประชาชน

ถ้าไม่มีคำสั่งสลายการชุมนุม ก็จะไม่มีการปะทะ ถ้าไม่มีการปะทะ ก็จะไม่มีการบาดเจ็บล้มตาย นายกคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความสูญเสียนี้ ไม่ใช่ประชาชนผู้ชุมนุม ไม่ใช่ทหารผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่คือท่านผู้เริ่มต้นออกคำสั่งสลายการชุมนุม
คำขอโทษอย่างเดียวไม่พอ ชีวิคคนที่บาดเจ็บล้มตายและความสูญเสียด้านอื่นมีค่ากว่าคำพูดสั้นๆ ของนายกรัฐมนตรี การตัดสินใจผิดกรณีนี้เป็นความรับผิดชอบของท่าน สัตตบุรุษพึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการกระทำ
อย่ารอให้ถึงวันที่แม้กระทั่งการลาออกก็ยังไม่ เพียงพอ

No comments:

Post a Comment