สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
การก่อการร้ายเป็นอาชญากรรมที่มีมานานแล้ว เพียงแต่มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการให้มีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมที่ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเพียงกลุ่มเดียว แต่อาจเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เพราะการก่อการร้ายไม่จำกัดอยู่เพียงอาณาเขตของรัฐใดรัฐหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าการก่อการร้ายเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดรูปแบบและผลที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการกระทำความผิดทั่วๆ ไปที่เมื่อกล่าวถึงแล้วคนอาจเข้าใจในความหมายของการกระทำได้โดยทันที เช่นการลักทรัพย์ หรือการทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
ผู้ก่อการร้ายอาจใช้วิธีการที่แตกต่างกันไปในการก่ออาชญากรรม เช่น การวางระเบิด การใช้อาวุธเคมี การลอบสังหารบุคคลสำคัญ หรือการจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนอาคารดังเหตุการณ์ 9-11 ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่การกระทำของผู้ก่อการร้ายก่อให้เกิดผลเหมือนกันคือ มีการทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต และก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้น
เพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2546 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้การก่อการร้ายนั้นเป็นความผิดทางอาญา ที่ผู้กระทำต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยบัญญัติถึงความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายไว้ในลักษณะ 1/1 มาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/4. ความผิดฐานก่อการร้าย ผู้กระทำผิดต้องมีเจตนาพิเศษโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยกระทำการดังต่อไปนี้
(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
(2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม
หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
(3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม
อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
การกระทำความผิดฐานก่อการร้าย มีอัตราโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท. แต่มีเหตุยกเว้นไม่เป็นความผิดฐานก่อการร้าย ถ้าเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 นั่นเอง
ความผิดอีกฐานหนึ่งเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการ
(1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ
(2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้
การกระทำความผิดฐานนี้ มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ประมวลกฎหมายอาญายังได้บัญญัติให้ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทั้งสองฐานข้างต้น จะต้องรับโทษเช่นเดียวกับตัวการที่เป็นผู้กระทำความผิดด้วย. นอกจากการกระทำข้างต้นแล้ว ประมวลกฎหมายอาญายังถือว่า เป็นการก่อการร้ายด้วย หากปรากฏว่าบุคคลใดได้เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย และรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว การกระทำผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 140,000 บาท
ผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายอาจต้องรับโทษในความผิดฐานอื่นด้วย หากเป็นการกระทำที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้เป็นความผิด เช่น หากเป็นการก่อการร้ายโดยคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำกัดว่า จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆหรือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ บุคคลที่เป็นสมาชิกของคณะบุคคลหรือองค์กรเพื่อก่อการร้ายนั้น ถือว่าได้กระทำความผิดฐานอั้งยี่ด้วย และอาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท
ความผิดฐานก่อการร้ายเป็นภัยร้ายแรงและมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศ ในต่างประเทศเองก็มีการบัญญัติกฎหมายให้การก่อการร้ายเป็นความผิด เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากเหตุการณ์ 9-11 มีการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายที่เรียกว่า "Uniting and Strengthening America by Providing Appropriate Tools Required to Intercept and Obstruct Terrorism Act of 2001" หรือ "USA PATRIOT Act" ที่มีสาระสำคัญในการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงอันอาจนำไปสู่การก่อการร้าย เช่น การดักฟังโทรศัพท์ การเข้าถึงข้อมูลทางอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งตามปกติถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น
แต่เนื้อหาของ "USA PATRIOT Act" ในบางส่วนจะมีระยะเวลาสิ้นสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและเป็นเนื้อหาส่วนที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือขยายระยะเวลาบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดเวลานั้น ที่เรียกว่า "sunset provision" ซึ่ง "USA PATRIOT Act" ได้มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้ไปเมื่อปี ค.ศ. 2005 และ 2006 จะครบกำหนดที่ต้องมีการขยายอีกครั้งในปี ค.ศ. 2010
ดังนั้น ความผิดฐานก่อการร้าย กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ตลอดทั้งภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยและความสงบสุขของประเทศและสังคมโดยรวมให้มีประสิทธิภาพ เมื่อมีการกล่าวหาและฟ้องร้องต่อศาลว่ามีการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
ศาลจะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
No comments:
Post a Comment