ดร. เกษียร เตชะพีระ
๑. การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์
ผมสบโอกาสได้รับเชิญให้ช่วยอ่านและวิจารณ์ร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" ของอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 55 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา อ่านแล้วก็ตื่นเต้นและประทับใจ อยากเอามาเล่าต่อสู่ท่านผู้อ่าน
งานวิจัยชิ้นนี้ ได้การสนับสนุนจากทุนปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2545 อาจารย์เสกสรรค์อ่าน ค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลไป ตามสัมภาษณ์ปัญญาชนสาธารณะผู้นำกลุ่มประชาชนและผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน 37 คน จากเหนือจรดใต้ ไปพร้อมกับสอนหนังสือและตรวจข้อสอบของนักศึกษาเป็นร้อยๆ ที่คณะรัฐศาสตร์รวม 7 วิชาไปด้วย กินเวลาปีกว่าจึงเขียนเสร็จ
แต่หากนับช่วงเวลาที่อาจารย์เสกสรรค์เฝ้าครุ่นคิดใคร่ครวญถึงปัญหามูลฐานต่างๆ เกี่ยวกับรัฐ สังคมและการเมืองไทย จนก่อรูปเป็นแนวความเข้าใจและองค์ความรู้ในงานชิ้นนี้ก็คงจะกว่า 15 ปีตั้งแต่ค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง "TheTransformation of the Thai State and Economic Change(1855-1945) ("การเปลี่ยนรูปของรัฐไทยกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2398-2488) เสร็จ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อปี พ.ศ. 2532 และผลิตงานทางปัญญาและวิชาการแนวเดียวกันแบบเกาะติดสืบเนื่องมา
ในฐานะข้อเขียนชิ้นหนึ่ง งานเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" จัดเป็นความเรียงขนาดยาว(เนื้อหา 4 บท 158 หน้า) ที่นำเสนอข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างแน่นเนื่อง, ผ่านการบ่มเพาะความคิดมานานจนสุกงอม และเพียบพร้อมด้วยข้อคิดความเข้าใจอันหยั่งลึก
ทั้งนี้ ผมพูดในฐานะเคยอ่าน ตรวจงานวิจัยและวิทยานิพนธ์มาไม่น้อยเล่ม พบว่าบ่อยครั้งผู้เขียนมักวกวนหลงติดข้อมูลรายละเอียดหรือประเด็นปลีกย่อยที่ดึงดูดใจจนหันเหออกนอกเรื่องไปไกล การเขียนงานวิจัยค่อนข้างยาวชิ้นหนึ่งให้รัดกุม เข้มข้นแนบเนื่อง เป็นเอกภาพ มุ่งตรงกัดติดคำถามหลักประเด็นหลักไปสู่ภาพรวมของความรู้ความเข้าใจในที่สุดราวมันเป็น "ความเรียง" หรือ "ซิมโฟนี" บทหนึ่ง จึงนับเป็นประดิษฐกรรมเชิงวิชาการที่อาศัยฝีมือช่างศิลปวรรณกรรมไม่น้อย
แม้โดยชื่อมันจะเป็นการศึกษาค้นคว้าความเกี่ยวพันระหว่าง"การเมืองภาคประชาชน"กับ"ประชาธิปไตยไทย" แต่โดยสารัตถะ อาจารย์เสกสรรค์ได้พยายามบ่งชี้และเสนอความจำเป็นที่จะต้องรื้อคิด และรวบยอดความคิดใหม่(rethink & reconceptualize) ซึ่งหลักมูลฐานต่างๆ ของศาสตร์และปฏิบัติการแห่งการเมืองการปกครองทีเดียว
บทสรุปที่วางอยู่บนปัญญาความคิดและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนนี้ จึงสำคัญมากต่อการเมืองไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเขียนได้ดี มีพลัง กระจ่างชัดเจนและเต็มไปด้วยวรรคตอนคมคายเด็ดๆ ที่สามารถคัดไปรวมเล่มพิมพ์เป็นคติพจน์ว่าด้วยการเมืองไทยได้ต่างหากอย่างสบาย
ในแง่แบบธรรมเนียมทางวิชาการ วิธีการศึกษาอันเป็นบุคลิกการคิดเรื่องการเมืองของอาจารย์เสกสรรค์ในงานชิ้นนี้ มีลักษณะเด่นอยู่สองสามประการ ซึ่งสะท้อนแนวการฝึกฝนอบรมที่ได้มาจากครูอาจารย์แห่งสำนักมหาวิทยาลัยคอร์แนลกล่าวคือ
1) อิงความเข้าใจแนวคิดปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ของตะวันตก เป็นพื้นฐาน
2) ใช้บริบทและข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นภูมิหลังในการอ้างอิง จัดลำดับเรียบเรียงความคิด ทำความเข้าใจและตีความการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
3) แนวทางวิธีการศึกษาเป็นแบบการเมืองเปรียบเทียบหรือสังคมวิทยามหภาค(comparative politics or macro-sociology) ที่มองกว้างคิดใหญ่ จับสถาบันและหลักการทางสังคมการเมืองใหญ่ๆ มาเป็นหน่วยวิเคราะห์เปรียบเทียบในครรลองเดียวกับงานของนักสังคมศาสตร์ตะวันตก เช่น Max Weber ในหนังสือ Economy and Society(1968); Barrington Moore Jr. Social Origins of Dictatorship and Democracy(1966); Theda Skocpol ใน States and Social Revolutions(1979); หรือ Charles Tilly ใน Big Structures, Large Processes, Hugh Comparisons(1989)
ในเมืองไทยเรา นักรัฐศาสตร์ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ก็เช่น ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช, รองศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น
ด้วยแบบวิธีการศึกษาดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้จากการอ่านงานวิจัยของอาจารย์เสกสรรค์คือ "ภาพรวม" หรือบทสังเคราะห์(synthesis) เป็นภาพรวมของโครงสร้างใหญ่ๆ ของสังคมการเมืองไทยในกระบวนการที่มันเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์, พร้อมทั้งหลักคิดทางการเมืองเบื้องหลังกระบวนการนั้น เปรียบตัดกับความเป็นจริงของสังคมจากมุมมองของชนชั้นล่างผู้เสียเปรียบ
กล่าวโดยสรุปย่นย่อรวบรัด ข้อค้นพบหลักของอาจารย์เสกสรรค์ที่ผมพอจับได้ในงานชิ้นนี้คือ
มันเริ่มจากมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสังคม 3 ประการใหญ่ของไทยได้แก่
1. วัฒนธรรมอุปถัมภ์
2. โครงสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจ
3. ช่องว่างเหลื่อมล้ำยิ่งทางเศรษฐกิจสังคม
เมื่อมาถูกกระทบกระแทกซ้ำเติมโดยกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจารย์เสกสรรค์นิยามแก่นสารของมันไว้กระชับจับใจว่าคือ "การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด" ผลก็คือเกิดสภาพวิกฤตใหญ่ในระดับทั่วทั้งระบบ และกร่อนลึกถึงมูลฐานของระบอบการเมืองและรัฐชาติไทย 3 ประการคือ
1. ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย อันสำคัญในบางด้านบางส่วนไป เพราะถูกตลาดยึดตามกระแสโลกาภิวัตน์
2. สภาวะหนึ่งรัฐ สองสังคม ที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันทั้งฐานะเศรษฐกิจ ชีวิตสังคม วัฒนธรรมการบริโภค ราวอยู่กันคนละชาติ คนละโลก
3. การใช้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ขาดฉันทานุมัติ ได้แต่เอะอะก็อ้างความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งสี่ปีครั้ง และอ้างชาตินามธรรมลอยๆ อย่างลวงตาและกลวงเปล่า เพื่อปัดปฏิเสธและกลบเกลื่อนผลประโยชน์รูปธรรมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ท้องถิ่นต่างๆ ที่ถูกหาว่าเป็น "คนส่วนน้อย" ของชาติเสมอ
สภาพอันวิปริตของระบอบการเมืองและรัฐชาติไทยทั้ง 3 ด้านนี้กระหน่ำตีลงไปที่ปัญหารากฐานของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคติเรื่องรัฐชาติทีเดียวได้แก่
- ปัญหาอธิปไตยของรัฐ - ระบอบประชาธิปไตยจะมีความหมายใดหากประชาชนผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของอธิปไตย ไม่มีอำนาจที่จะเลือกนโยบายบางอย่างเพราะถูกผูกมัดโดยหลักตลาด ภายใต้อำนาจโลกาภิวัตน์ของสถาบันโลกบาลทางเศรษฐกิจการค้า กลุ่มทุนข้ามชาติหรือมหาอำนาจเสียแล้ว?
- ปัญหาการนิยามผลประโยชน์ของชาติ - อะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของชาติกันแน่ ในเมื่อผู้คนที่ขึ้นชื่อว่าร่วมชาติเดียวกันกลับมีฐานะ ค่านิยม วิถีชีวิต และประโยชน์ได้เสียแตกต่างเหลื่อมล้ำ กระทั่งขัดแย้งกันถึงขนาดนั้น? ประชาชนไทยผู้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,500 บาท มีผลประโยชน์อะไรตรงไหนร่วมกันหรือกับรัฐบาลของเขา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำเจ้าของทรัพย์สินนับพันล้านหมื่นล้าน? หากทรัพย์สินส่วนสำคัญของชาติตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนข้ามชาติไปแล้ว การเอ่ยอ้างผลประโยชน์ของชาติยังจะมีความหมายใด?
- ปัญหาฉันทานุมัติทางการเมือง - การใช้อำนาจรัฐที่ฝืนมติประชาชน แม้จะโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม จะนำไปสู่ความไม่ยอมรับ ไม่พอใจ ตึงเครียด ขัดแย้ง และเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เสมอ
เมื่อปราศจากฉันทานุมัติของประชาชนแต่ยังคงดันทุรังจะใช้อำนาจดำเนินนโยบายให้ได้ รัฐบาลก็ย่อมต้องหันไปใช้กำลังรุนแรงเข้าบังคับขืนใจ และละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนพลเมืองกลุ่มต่างๆ มากขึ้นทุกทีเป็นธรรมดา
ไทยไร้อำนาจ, ไทยต่างชั้น, ไทยตีไทย ฯลฯ ทั้งหมดนี้กำลังกลายเป็นภาวะปกติธรรมดาทุกวี่วันของเมืองไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน อาจารย์เสกสรรค์ค่อนข้างเล็งผลร้ายว่าหากทิ้งไว้ต่อไป มันจะนำไปสู่ภาวะอนาธิปไตยเข้าจนได้ เว้นไว้แต่ว่าจะริเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ต่อตัวระบอบประชาธิปไตย ในประเด็นสำคัญ 3 ประการคือ
1) ลดลักษณะประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เพิ่มขยายประชาธิปไตยทางตรงแบบประชาชนมีส่วนร่วมใช้อำนาจด้วยตัวเองมากขึ้น
2) สร้างกระบวนการแสวงหาฉันทานุมัติแบบต่อเนื่อง(continuous consensus) ไม่ใช่เอาแต่เลือกตั้งสี่ปีครั้ง - ในประเด็นนโยบายสำคัญที่กระทบถึงผลประโยชน์ได้เสีย และทรัพยากรหลักของชุมชนท้องถิ่นทุกประเด็น ต้องเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นประเด็นนั้น เข้าร่วมส่วนแสดงความเห็นปัญหา ข้อโต้แย้งและหาฉันทานุมัติที่ทุกฝ่ายอยู่รอดอยู่ร่วมกันได้และพอรับได้ แทนที่จะอ้างคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่รับรู้เรื่องราวมาปิดปาก ขยี้เสียงแย้งของผู้มีส่วนได้เสียและรับผลกระทบโดยตรงอย่างพร่ำเพรื่อ
3) เปิดอนาคตประเทศไทยให้แก่วิถีทางพัฒนาและดำเนินชีวิตอันหลากหลาย รัฐต้องไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์บังคับยัดเยียดวิถีพัฒนาเดียว วิถีชีวิตเดียวให้ผู้คนอันแตกต่างหลากหลายในประเทศอย่างไม่จำแนกและไม่เคารพศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพในการเลือกของผู้คน
๒. จับประเด็นการเมืองภาคประชาชน
ในร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" (2547) อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้จับประเด็นหลักทางแนวคิดทฤษฎี ประวัติความเป็นมา และบทบาทความสำคัญเชิงปฏิบัติของ การเมืองภาคประชาชน ในฐานะแม่กุญแจที่อาจมีศักยภาพจะช่วยไขปัญหาหลักทั้ง 3 ของการเมืองไทยปัจจุบัน อันได้แก่
1) ปัญหาประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย
2) ปัญหาหนึ่งรัฐสองสังคม และ
3) ปัญหาการใช้อำนาจรัฐโดยขาดฉันทานุมัติจากประชาชน ไว้ดังนี้
คำนิยามอย่างแคบ : - การเมืองภาคประชาชนหมายถึงการเคลื่อนไหวอย่างมีจิตสำนึกทางการเมืองของกลุ่มประชาชน เพื่อลดฐานะครอบงำของรัฐ รวมทั้งเพื่อโอนอำนาจบางส่วนมาให้ประชาชนใช้ดูแลชีวิตตนเองโดยตรง
คำนิยามอย่างกว้าง : - การเมืองภาคประชาชนคือปฏิกิริยาโต้ตอบการใช้อำนาจของรัฐ และเป็นกิจกรรมถ่วงดุลอิทธิพลการครอบงำของระบบตลาดเสรีในภาคประชาชน
แก่นสารของการเมืองภาคประชาชน : - กระบวนการใช้อำนาจโดยตรงโดยประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้ง และไม่น้อยไปกว่าการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ตลอดจนตัดสินใจเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงตน
สถานะของการเมืองภาคประชาชน : - การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในประชาสังคม โดยทาบเทียบกับส่วนที่เป็นรัฐ ขณะที่ประชาสังคมรวมทุกส่วนที่ไม่ใช่ภาครัฐไว้ด้วยกัน จึงมีทั้งสถาบันของประชาชนธรรมดา พ่อค้านายทุน และกลไกตลาด สามารถแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้ว่า ---> [ประชาสัมคม(การเมืองภาคประชาชน)] / รัฐ
จุดหมายของการพัฒนาการเมือง : - คือลดระดับการปกครองโดยรัฐลง(less government) และให้สังคมดูแลตนเองมากขึ้น โดยในสถานการณ์หนึ่งๆ จะมุ่งแสวงหาความสมดุลลงตัวในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม บนพื้นฐานระดับการแทรกตัวของรัฐเข้าไปในสังคมดังที่เป็นอยู่ และขีดความสามารถของประชาชนในการจัดการดูแลแก้ปัญหาของตนเองที่เป็นจริง
เนื้อแท้ของการเมืองภาคประชาชน : - ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐ, ถ่วงดุลอำนาจรัฐด้วยประชาสังคมโดยไม่ยึดอำนาจ
พร้อมกันนั้นก็ถ่วงดุลอำนาจของพลังตลาดหรือทุนซึ่งสังกัดประชาสังคมไปด้วย, โดยช่วงชิงกับฝ่ายทุนเพื่อลดทอนและกำกับบทบาทของรัฐ, แย่งกันโอนอำนาจบางส่วนที่เคยเป็นของรัฐมาเป็นของประชาชน(แทนที่จะตกเป็นของฝ่ายทุน) เพื่อใช้มันโดยตรงและไม่ต้องผ่านรัฐดังก่อน, ผลักดันให้รัฐใช้อำนาจที่เหลือสนองเจตนารมณ์ประชาชน (แทนที่จะสนองผลประโยชน์ของฝ่ายทุน)
ดำเนินการต่อสู้ด้วยวิธีขยายสิทธิประชาธิปไตยออกไป และย้ายจุดเน้นจากการเมืองแบบเลือกตั้งผู้แทนมาเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วม (ขณะที่ฝ่ายทุนใช้ตลาดเสรีเป็นฐานที่มั่นสำคัญ)
พลังพลวัตใหม่ของการเมืองภาคประชาชน : - ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรายย่อมและคนชั้นกลางทั่วไปในสังคมเมือง ซึ่งแตกต่าง ไม่วางใจ และอาจคัดค้านหรือปฏิเสธการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่บนเวทีการเมือง, กับกลุ่มปัญญาชนสาธารณะ สื่อมวลชนอิสระ และกลุ่มประชาชนผู้เสียเปรียบ
ความเป็นมาของการเมืองภาคประชาชน : - เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นหลักหมายสำคัญ, ช่วงหลังจากนั้น องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) เป็นห่วงเชื่อมต่อสำคัญระหว่างขบวนการปฏิวัติแบบเก่า ---> ไปสู่การเมืองภาคประชาชนแบบใหม่
บุคลิกลักษณะของการเมืองภาคประชาชน : - เป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ค่อนข้างราดิคัล (Radical Democratic Movements) ของกลุ่มย่อยที่ค่อนข้างกระจัดกระจายเป็นไปเอง โดยปราศจากศูนย์บัญชาการ มุ่งใช้สิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด ไม่มีกรอบอุดมการณ์ตายตัว ไม่ต้องการยึดอำนาจรัฐด้วยการโค่นอำนาจรัฐเก่าแล้วจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบโครงสร้างสังคมใหม่หมดตามแนวคิดแบบใดแบบหนึ่ง ถือกระบวนทัศน์เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง(people-orienten)
ดังนั้น จึงต่างจากขบวนปฏิวัติสมัยก่อนที่เอารัฐเป็นตัวตั้ง(state-orienten) และมุ่งยึดอำนาจรัฐมาคัดแปลงสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น
ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในการเมืองภาคประชาชน จึงมีประเด็นเรียกร้องต่อสู้ที่หลากหลายมาก แนวทางการเคลื่อนไหวก็ไม่เห็นพ้องต้องกันเสียทีเดียว จุดร่วมที่มีอยู่คือ ประเด็นปัญหาเหล่านั้นล้วนเกิดจากระบอบอำนาจรัฐรวมศูนย์ส่วนกลาง และความจำกัดจำเขี่ย ไม่พอเพียงของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในเวทีรัฐสภา มากกว่าความเป็นเอกภาพของการเมืองภาคประชาชนเอง ดังที่เรียกกันว่า one no, many yeses
ทิศทางและแม่แบบการเคลื่อนไหว : - การเมืองภาคประชาชนมีทิศทางการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ 4 แบบคือ :
1) ร้องทุกข์ เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เช่น กรณีแม่ใหญ่ไฮ ขันจันทา ร่วมกับสมัชชาคนจนและเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ ประท้วงเขื่อนห้วยละห้าท่วมที่นาทำกินนาน 27 ปี
2) มุ่งตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจรัฐ เช่น กรณีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนตรวจสอบทุจริตยาอื้อฉาวในกระทรวงสาธารณสุข
3) ประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน เช่น กรณีร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน, การต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่บ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์, การคัดค้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ของประชาชน อ.จะนะ จ.สงขลา, การประท้วงนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯลฯ
4) ร่วมมือเชิงวิพากษ์(critical co-operation) หรือเกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์(costructive engagement)กับรัฐ เพื่อเบียดแย่งพื้นที่ในกระบวนการใช้อำนาจมาเป็นของประชาสังคม เช่น แนวทางการเคลื่อนไหวสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของหมอประเวศ วะสี เป็นต้น
นับว่าการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนในทิศทางที่ 3) กล่าวคือ "ประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน" สอดคล้องกับแนวทางถ่ายโอนอำนาจของรัฐไปสู่สังคมมากที่สุด อีกทั้งเป็นการช่วงชิงฐานะได้เปรียบเสียเปรียบกับพลังตลาด/ทุนด้วย จึงอาจถือได้ว่าเป็นแม่แบบ(model)ของการเมืองภาคประชาชนทีเดียว
หมายเหตุ : บทความวิชาการนี้ ประกอบด้วยผลงานเขียน ๒ ชิ้น
ซึ่งเคยตีพิพม์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
๑. การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์
๒. จับประเด็นการเมืองภาคประชาชน
ข้อมูล : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
No comments:
Post a Comment