Sunday, July 25, 2010

ซากอดีตป้อมปราการภูมิปัญญาฝ่ายประชาธิปไตย

ธรรมศาสตร์และการเมือง
ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความ ตีพิมพ์ใน "ประชาชาติธุรกิจ"
ในคอลัมน์มองซ้ายมองขวา

ดร.อภิชาติ ได้อ้างถึง บทความ "ทำไมบทบาทของปัญญาชนสาธารณะจึงเสื่อมถอยลง ?" ของอาจารย์ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยไม่เล่นบทบาทปัญญาชนสาธาณะคือ

" ในอุษาคเนย์นั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยมีรายได้ต่ำ จึงต้องหาทางออกด้วยการรับงานโครงการวิจัยของรัฐที่ไร้ประโยชน์ หาลำไพ่พิเศษด้วยการสอนที่มหาวิทยาลัยอื่น เก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และอาศัยช่องทางต่าง ๆ ในสื่อมวลชน เช่น เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ ทำรายการทีวี ฯลฯ อาจารย์เหล่านี้จึงมักละเลยหรือไม่สนใจนักศึกษา หรือไม่ก็ปฏิบัติต่อนักศึกษาแบบราชการ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่ยอมสอนหนังสือเลย แต่เลือกไปกินตำแหน่งในสถาบันวิจัยที่แทบไม่มีผลงานใด ๆ"

ผมขอขยายความว่า การหาลำไพ่พิเศษด้วยการรับจ้างสอนนั้น กระทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพิเศษภาคค่ำในทุกระดับ ตั้งแต่ปริญญาตรี โท เอก ซึ่งเก็บค่าหน่วยกิตแพง ๆ มาจ่ายค่าสอนอัตรา "ตลาด" จนกระทั่งเกิดคำขวัญว่า "จ่ายครบจบแน่" หรือ "Mac University" (มหา'ลัยแดกด่วน) หรือ "การทำไร่เลื่อนลอย"

หมายถึงมหาวิทยาลัยพากันไปเช่าตึก เปิดศูนย์ เปิดสาขาสอนในที่ที่มี "ตลาด" เช่น ย่านกลางเมือง หรือหัวเมืองต่าง ๆ จนกระทั่ง "ตลาดหมด" ก็ปิดตัวไปเปิดที่อื่น ๆ ต่อไป จึงไม่แปลกเลยที่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเคยพบว่า งานเขียนของนักศึกษาปริญญาเอกบางคนมีคุณภาพต่ำกว่างานของนักศึกษาปริญญาตรีภาคปกติที่ผมสอนเสียอีก

อาจารย์เบนเขียนต่อไปว่า " ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นักวิชาการหลายคนจึงแสวงหาความสำเร็จด้วยการเข้าข้างชนชั้นนำทางการเมือง หรือไม่ก็แข่งขันแย่งชิงทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ...นักวิชาการเหล่านี้กลายเป็นลูกจ้าง ลูกจ้างของรัฐ ของมูลนิธิต่างประเทศ หรือไม่ก็เป็นลูกจ้างของเจ้าพ่อหนังสือพิมพ์และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมพวกเขาจึงมีเวลาน้อยมากที่จะ ทำงานวิจัยอย่างจริงจัง เขียนหนังสือที่มีความสำคัญ หรือท้าทายอะไรบางอย่างอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำพวกเขายังปิดหูปิดตาตัวเองอย่างประหลาดด้วย"

ปัจจัยข้างต้นเป็นปริบท หรือภาพใหญ่ที่ใช้อธิบายได้ว่า ทำไมธรรมศาสตร์ซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่า เป็นป้อมปราการทางปัญญาของฝ่ายประชาธิปไตยในอดีต กลับไม่สามารถเป็นเทียนส่องทางให้แก่สังคม ในท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองได้ มิหนำซ้ำธรรมศาสตร์ยังเผชิญกับปัญหาเฉพาะตัวอื่น ๆ อีกด้วย

ประการที่หนึ่ง
การย้ายการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมดไปรังสิตส่งผลให้ชุมชนวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า "ชีวิตทางภูมิปัญญา" ได้หายไปจากประชาคม
บรรยากาศของการถกเถียง-สัมมนา-อภิปรายทั้งในประเด็นทางวิชาการ สังคม และการเมืองแทบไม่หลงเหลืออยู่เลย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะไร้ทิศทางและความชัดเจนของผู้บริหารในการพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา หรืออาจกล่าวได้ว่า ณ บัดนี้ชุมชนทางวิชาการของธรรมศาสตร์สูญสิ้นเสื่อมสลายไปแล้ว

ประการที่สอง
ยี่สิบปีที่ผ่านมาเช่นกัน ธรรมศาสตร์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของ "ราชวงศ์หนึ่ง" ซึ่งมิใช่สืบทอดอำนาจกันโดยสายเลือด แต่เป็นเครือข่ายของ "ระบบอุปถัมภ์" ที่นักวิชาการและผู้บริหารของประชาคมบางท่านเลือกที่จะทำงานรับใช้ชนชั้นนำทางอำนาจและกลุ่มการเมือง โดยได้รับรางวัลตอบแทนเป็นตำแหน่ง (การเมือง) ภายนอก ทั้งในระหว่างและหลังจากที่ก้าวลงจากตำแหน่งบริหารแล้ว

"พูดอีกแบบคือ การที่พวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าสู่ตำแหน่งภายนอกได้ก็เพราะพวกเขามีตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย และในอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งภายนอกที่พวกเขาได้รับก็จะเป็นบันไดให้พวกเขาสามารถไต่เต้าทางสังคมและเศรษฐกิจได้ต่อไป

ดังนั้นแทนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะวางตัวเพื่อเป็นเสาหลักให้แก่สมาชิกของประชาคม พวกเขากลับเลือกที่จะเป็นเสาค้ำยันให้กับชนชั้นนำทางอำนาจและกลุ่มการเมือง สิ่งนี้ยิ่งซ้ำเติมความอับจนทางปัญญาของประชาคม สร้างค่านิยมผิด ๆ ให้กับนักวิชาการรุ่นหลังว่า ความสำเร็จของการเป็นนักวิชาการคือ การได้รับตำแหน่งภายนอก "

ดร. อภิชาติ เขียนในบทความว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้เข้าแข่งขันเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเป็นอธิการบดีคนต่อไปของธรรมศาสตร์ในขณะนี้จะทุ่มเทศักยภาพและความสามารถทั้งมวลให้กับการพลิกฟื้นธรรมศาสตร์จากความอับจนทางปัญญา โดยหยุดใช้ตำแหน่งอธิการไต่เต้าทางการเมือง และให้สัญญากับประชาคมว่า จะไม่ควบตำแหน่งการเมือง

No comments:

Post a Comment