ปิยบุตร แสงกนกกุล
รัฐใดที่ประกาศตนเป็นนิติรัฐ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะยอมรับบทบาทขององค์กรตุลาการ ในฐานะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ให้เป็นไปตามอำเภอใจ การควบคุมฝ่ายบริหาร ก็ได้แก่ การควบคุมการความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง ในขณะที่การควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา องค์กรตุลาการในนิติรัฐสมัยใหม่ จึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่บทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ และการปกปักษ์รักษาประชาธิปไตยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทอันกว้างขวางขององค์กรตุลาการเช่นนี้ นำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองกับคำว่าประชาธิปไตย กล่าวคือ ด้านหนึ่ง นิติรัฐ-ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ก็เรียกร้องให้องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และควบคุมไม่ให้เกิดการปกครองที่เสียงข้างมากใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เมื่อองค์กรตุลาการเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจรัฐเข้า ก็เกิดการเผชิญหน้ากันกับองค์กรที่มีฐานความชอบธรรมทางการเมืองอย่างรัฐสภาและรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่องค์กรตุลาการปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองเช่นว่า ความขัดแย้งดังกล่าว จะมีวิธีการประสานกันอย่างไร?
แน่นอนที่สุด หากเราตัดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตุลาการออกไป นิติรัฐนั้นก็กลายเป็นนิติรัฐที่ไม่สมประกอบ เพราะปราศจากซึ่งองค์กรที่เป็นกลางและอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่นกัน หากแก้ไขให้องค์กรตุลาการมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็คงไม่เหมาะสมเป็นแน่ เพราะจะทำให้องค์กรตุลาการสูญสิ้นความอิสระไปเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการต้องคำนึงถึงคะแนนนิยมตลอดเวลา วิธีเหล่านี้จึงเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง
วิธีที่จะพอแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ คือ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรตุลาการและการดำรงตนขององค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย
ในรายละเอียด ผู้เขียนขอแบ่งเป็น ๖ ประการ ดังนี้ ประการแรก ความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ
โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตยต่างรับรองความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการเอาไว้ เช่น การจัดตั้งศาลต้องทำโดยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา การจัดตั้งศาลเฉพาะเพื่อคดีใดคดีหนึ่งไม่อาจกระทำได้ การโยกย้ายผู้พิพากษาต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษานั้นด้วย การแต่งตั้งและโยกย้ายตลอดจนการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการ การบริหารงบประมาณของศาลเป็นไปอย่างอิสระ เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เป็นต้น
อาจสงสัยกันว่า ความเป็นอิสระของผู้พิพากษานี้ปราศจากความรับผิดชอบใดๆ เลยหรือ? แน่นอน ในระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่มีองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐใดที่ใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดชอบ แต่ความรับผิดชอบขององค์กรตุลาการนั้นแตกต่างจากองค์กรนิติบัญญัติและบริหารซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองโดยแท้ กล่าวคือ องค์กรตุลาการไม่อาจถูกฝ่ายการเมืองแต่งตั้งโยกย้ายหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ และตำแหน่งผู้พิพากษาไม่ได้มาโดยการเลือกตั้งของประชาชน ตรงกันข้าม องค์กรตุลาการรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองโดยผ่านเหตุผลประกอบคำพิพากษานั่นเอง ด้วยการให้สังคมได้มีโอกาสวิจารณ์คำพิพากษาอย่างเต็มที่
บางครั้งอาจมีกรณีตอบโต้การใช้อำนาจระหว่างองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรตุลาการ หรือองค์กรบริหารกับองค์กรตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติอาจตรากฎหมายที่มีผลเป็นการ “ลบ” หลักการที่คำพิพากษาของศาลได้วางบรรทัดฐานเอาไว้ หรือในฝรั่งเศส สมัยวิกฤติแอลจีเรีย ประธานาธิบดีเดอโกลล์และรัฐบาลเร่งผลักดันรัฐบัญญัติจัดตั้งศาลทหารพิเศษในดินแดนแอลจีเรียเป็นการเฉพาะ ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้เพิกถอนรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารพิเศษเพียงไม่นาน (โปรดดูบทความของผู้เขียน, ฝ่ายการเมืองปะทะฝ่ายตุลาการ : ประสบการณ์จากฝรั่งเศส, เผยแพร่ครั้งแรกในประชาชาติธุรกิจ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ หรือดูได้ในเว็บไซต์ onopen) ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวหรือการทุจริต ก็มีคณะกรรมการตุลาการเป็นผู้ดูแลและมีจริยธรรมวิชาชีพกำกับไว้ หรืออาจมีกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
ประการที่สอง ความเป็นกลางขององค์กรตุลาการและความเป็นภาววิสัยของคำพิพากษา
องค์กรตุลาการต้องดำรงตนอย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ ในกระบวนพิจารณาคดี ต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ในกรณีที่ผู้พิพากษามีส่วนได้เสียกับประเด็นแห่งคดีที่ตนจะพิจารณา ผู้พิพากษานั้นต้องถอนตัวออกจากการพิจารณาคดี ดังสุภาษิตในภาษาละตินที่ว่า “Nemo in propria causa judex” ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นกันว่าผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ควรเข้าไป ‘เล่น’ การเมืองด้วยการไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ไปร่างรัฐธรรมนูญ ไปร่างกฎหมาย หากเข้าไปแล้วก็ไม่ควรกลับมาเป็นผู้พิพากษาใหม่ เพราะในวันข้างหน้าเป็นไปได้ว่า อาจมีประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับเรื่องที่ตนเคยเข้าไปเกี่ยวข้อง
ความเป็นกลางของผู้พิพากษาจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นภาววิสัยของคำพิพากษา เหตุผลประกอบคำพิพากษาเกิดจากการพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมาย มิใช่นำรสนิยมทางการเมืองส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนา ความนิยมชมชอบส่วนตัวเข้ามาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสิน คำพิพากษาต้องไม่เกิดจากการตั้งธงคำตอบไว้ล่วงหน้า จากนั้นจึงค่อยหาเหตุผลเพื่อนำไปสู่ธงคำตอบนั้น ความเป็นภาววิสัยของคำพิพากษาย่อมทำให้บุคคลซึ่งแม้ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เหตุผลของคำพิพากษา หรือผลของคำพิพากษา แต่บุคคลนั้นก็ยังคงยอมรับนับถือคำพิพากษาอยู่ดี
คำพิพากษาต้องผ่านการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างลึกซึ้งของผู้พิพากษา โดยใช้เหตุผลทางกฎหมายประกอบ คำพิพากษาต้องสนับสนุนความชอบด้วยกฎหมายและความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมายไปพร้อมๆกัน ที่ว่าต้องสนับสนุนความชอบด้วยกฎหมาย ก็เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลทางกฎหมายและการเคารพกฎหมายตามแนวทางกฎหมายเป็นใหญ่ของหลักนิติรัฐ ส่วนที่ว่าต้องสนับสนุนความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมาย ก็เพื่อสร้างความเชื่อไว้วางใจต่อระบบกฎหมาย ความสม่ำเสมอต่อเนื่องของกฎเกณฑ์ และบุคคลสามารถคาดการณ์ได้ว่าการกระทำของตนและผู้อื่นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
บางกรณีทั้งสองเรื่องนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนทำให้การหาจุดสมดุลของสองเรื่องนี้เป็นไปโดยยากและอาจต้องเอียงไปในทางใดทางหนึ่งมากกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่ต้องใช้เหตุผลมาอธิบายให้ได้ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจรักษาความชอบด้วยกฎหมายมากกว่า และมีวิธีการเยียวยาความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมายอย่างไร หรือเหตุใดจึงตัดสินใจรักษาความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมายมากกว่า และมีวิธีเยียวยาความชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำพิพากษาที่ให้ใช้กฎหมายย้อนหลังอันเป็นผลร้ายแก่บุคคลโดยไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลทางกฎหมายเพียงพอ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไร้มาตรฐานและไม่สมเหตุสมผล
ประการที่สาม ความเชื่อถือไว้วางใจของสังคมต่อองค์กรตุลาการ
ความน่าเชื่อถือและความศรัทธาต่อศาล ทั้งในแง่ตัวองค์กรและตัวบุคคล หาได้เกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการ “หมิ่น” ศาลหรือละเมิดอำนาจศาล หรือการอ้างว่าผู้พิพากษาตัดสิน “ในพระปรมาภิไธย” ไม่ ตรงกันข้าม เกิดจากความสมเหตุสมผลในเหตุผลประกอบคำพิพากษา ความเป็นภาววิสัยของเหตุผลประกอบคำพิพากษา ความเป็นอิสระและการดำรงตนอย่างปราศจากอคติของผู้พิพากษา
คำพิพากษาจะมีคุณค่า นอกจากเพราะกฎหมายกำหนดให้คำพิพากษามีค่าบังคับแล้ว ยังต้องอาศัยความเชื่อถือของประชาชนประกอบด้วย จริงอยู่ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประชาชนทุกคนเห็นด้วยกับเนื้อหาของคำพิพากษาทั้งหมด แต่อย่างน้อยวิญญูชนพิจารณาดูแล้ว ก็ต้องยอมรับในเหตุผลที่ประกอบคำพิพากษานั้น และเห็นว่าคำพิพากษานั้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน
การสร้างความเชื่อถือไว้วางใจของสังคมต่อผู้พิพากษา ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาต้องทำตนเป็นที่นิยมของประชาชน ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาต้องยอมกระทำการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและสามัญสำนึกของตนเพียงเพื่อความพอใจของสาธารณชน ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาต้องตัดสินโดยฟังกระแสสังคม นี่เรียกว่า ความนิยม (Popularité) ซึ่งตรงกันข้ามกับ ความเชื่อถือไว้วางใจ (Confiance) ความเชื่อถือไว้วางใจนั้น เป็นความเชื่อถือที่มีต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ความเป็นกลางของผู้พิพากษา ความยุติธรรมของผู้พิพากษา และความเคารพในจริยธรรมวิชาชีพของผู้พิพากษา
นอกจากนี้ ความเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้พิพากษา ยังอาจเกิดจากวัตรปฏิบัติของผู้พิพากษาเอง เช่น การรู้ถึงขอบเขตอำนาจและข้อจำกัด การยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ และการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยิ่งทระนงว่าตนยิ่งใหญ่ ไม่อหังการ-มมังการ เพราะ ”หัวโขน” ผู้พิพากษา หรือเพราะคำอ้างที่ว่าตนกระทำการในนามกษัตริย์
ประการที่สี่ การตระหนักถึงขอบเขตอำนาจของตนเอง
นิติรัฐ-ประชาธิปไตยเรียกร้องเรื่องการแบ่งแยกอำนาจให้เกิดดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐในแขนงต่างๆ องค์กรตุลาการเองก็เช่นกัน ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองมีอำนาจ ‘เชิงรับ’ ศาลไม่อาจควบคุมองค์กรฝ่ายบริหารได้ในทุกกรณี ตรงกันข้าม เรื่องจะขึ้นไปสู่ศาลได้ก็ต่อเมื่อมีการริเริ่มคดีโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องเสียก่อน และศาลไม่อาจลงมาหยิบยกเรื่องใดขึ้นพิจารณาได้ด้วยตนเอง
การพิพากษาของศาลมิใช่กระทำได้อย่างพร่ำเพรื่อหรือปราศจากกฎเกณฑ์ กว่าที่องค์กรตุลาการจะผลิตคำพิพากษาได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนตั้งแต่เงื่อนไขการฟ้องคดี เช่น ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิหรือมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีหรือไม่ การฟ้องทำตามรูปแบบหรือไม่ ฟ้องภายในอายุความหรือไม่ ศาลมีเขตอำนาจพิจารณาหรือไม่ จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมอีก ในท้ายที่สุดเมื่อศาลตัดสิน ก็ยังต้องพิจารณาอีกว่าคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลเป็นการทั่วไปหรือมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ มีผลย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคต
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าองค์กรตุลาการเป็นผู้เล่นหลักคนหนึ่งในชีวิตทางการเมืองของรัฐ (Acteur politique) อย่างไรเสียองค์กรตุลาการก็ต้องมีบทบาทางการเมือง แต่บทบาททางการเมืองเช่นว่านั้น ต้องกระทำผ่านคำพิพากษาและภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎหมายเท่านั้น อนึ่ง แม้องค์กรตุลาการอาจเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยผ่านคำพิพากษาของตน แต่องค์กรตุลาการต้องคำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจและการรักษาดุลยภาพระหว่างอำนาจไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องบางเรื่องเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับแนวนโยบายของรัฐบาล หรือเรื่องทางการเมืองโดยแท้ องค์กรตุลาการก็จำต้องสงวนท่าทีและควบคุมการใช้อำนาจของตนเองลง เช่น การยุบสภา การประกาศสงคราม การเลือกนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี
ในบางกรณี รัฐบาลอาจดำเนินนโยบายตามที่รณรงค์หาเสียงกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้รับอาณัติจากประชาชนในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ประเด็นปัญหานี้ องค์กรตุลาการอาจเข้าไปควบคุมได้แต่เพียงเฉพาะ ‘ความชอบด้วยกฎหมาย’ ของมาตรการตามนโยบายเท่านั้น องค์กรตุลาการไม่อาจเข้าไปก้าวล่วงถึง ‘ความเหมาะสม’ ของนโยบาย อีกนัยหนึ่ง คือ องค์กรตุลาการต้องใช้ ‘กฎหมาย’ เป็นมาตรวัดนั่นเอง
แม้องค์กรตุลาการจะมีอำนาจในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และมีอำนาจในการพิพากษาคดีความให้มีผลเป็นที่สุด (res judicata) แต่องค์กรตุลาการก็ไม่ได้มีอำนาจอย่างปราศจากขอบเขต ด้วยธรรมชาติและลักษณะพิเศษขององค์กรตุลาการที่ต้องการความเป็นอิสระทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนและสังคม แต่องค์กรตุลาการกลับมีอำนาจควบคุมการใช้อำนาจรัฐ กฎหมายจึงต้องออกแบบระบบไม่ให้องค์กรตุลาการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตด้วยการวางกลไกวิธีพิจารณาคดี ในขณะเดียวกันองค์กรตุลาการก็ต้องจำกัดการใช้อำนาจของตนเอง ไม่เข้าไปรุกล้ำในเรื่องที่เป็นนโยบายหรือการเมืองโดยแท้
นี่เป็นหลักการพื้นฐานขององค์กรตุลาการในรัฐเสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่กระบวนการ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ซึ่งแอบอ้างเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการเข้าไป ‘เพ่นพ่าน’ ในสนามการเมือง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ การดำรงตำแหน่งในองค์กรเฉพาะกิจเพื่อปราบปรามศัตรู การดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตลอดจนการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งสำคัญ
ประการที่ห้า คำพิพากษา ‘สาธารณะ’
จริงอยู่ ในทางกฎหมาย คำพิพากษาอาจมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความหรืออาจมีผลผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งปวง แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำพิพากษามีผลกระทบออกไปในวงกว้าง ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้และตีความกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่รับรองสิทธิและเสรีภาพหรือวางเงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐมักเขียนด้วยถ้อยคำกว้างๆ เปิดโอกาสให้ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี การใช้และตีความกฎหมายเหล่านี้โดยศาลผ่านทางคำพิพากษาในแต่ละคดีต่างหากที่ ‘แปล-ขยาย’ ความเหล่านั้นให้มีผลชัดเจนและจับต้องได้ เมื่อศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันซ้ำเข้ามากๆ ในคดีก่อนๆ ก็กลายเป็นบรรทัดฐานที่ศาลต้องเดินตามในคดีหลัง นอกเสียจากศาลจะมีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอและรับฟังได้ หรือบริบทแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ศาลก็อาจเปลี่ยนแนวจากคำพิพากษาบรรทัดฐานนั้น ลักษณะดังกล่าวนี้เอง ทำให้สำนักคิดกฎหมายสัจนิยม โดยเฉพาะเซอร์ โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ ถึงกับประกาศว่า “กฎหมายในความเห็นของข้าพเจ้า คือการพยากรณ์ต่อการกระทำของศาลในความเป็นจริง ไม่มีอะไรอื่นเลยนอกจากนี้”
ด้วยอานุภาพของการใช้และตีความกฎหมายของศาลดังกล่าว ทำให้คำพิพากษาไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อคดีนั้นเท่านั้น คำพิพากษาจึงไม่ควรมีขึ้นเพียงเพื่อให้ผู้พิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอ่าน ตรงกันข้ามคำพิพากษาต้องพยายามสร้าง “การสื่อสารระหว่างองค์กรตุลาการกับสังคม”
ผู้พิพากษาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยต้องตระหนักเสมอว่าการเขียนคำพิพากษานั้น ไม่ได้เขียนอธิบายความและเหตุผลให้แก่คู่ความเท่านั้น แต่เป็นการให้เหตุผลแก่บุคคลทั่วไปด้วย คำพิพากษาที่ดีจึงต้องสามารถให้การศึกษาแก่สังคม นำมาซึ่งการศึกษาค้นคว้า วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งในหมู่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไป ในกรณีที่เป็นข้อบกพร่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ เนื้อหาของคำพิพากษาต้องกระตุ้นเตือนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย
คำพิพากษา ‘สาธารณะ’ จึงต้องประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรก การเข้าถึงคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยง่าย ภายหลังอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว คำพิพากษาต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสวิจารณ์ ปัจจัยที่สอง ผู้พิพากษาต้องคิดอยู่เสมอว่าการเขียนคำพิพากษานั้นเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างองค์กรตุลาการกับสังคม ไม่ใช่เขียนเพียงเพื่อตัดสินคดีให้แล้วเสร็จไป
ประการที่หก การยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์
โดยธรรมชาติขององค์กรตุลาการนั้นเป็นองค์กร ‘ปิด’ และมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยกว่าองค์กรของรัฐอื่นทั้งนี้เพื่อประกันความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ ลักษณะดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรตุลาการกลายเป็น ‘แดนสนธยา’ ได้ง่ายขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องสร้างระบบการวิจารณ์การทำงานของศาล นั่นก็คือ การวิจารณ์คำพิพากษานั่นเอง
การลำพองตนของผู้พิพากษาว่าตนปฏิบัติหน้าที่ในนามของกษัตริย์ ตนมีพระราชดำรัสของกษัตริย์ที่สนับสนุนและให้กำลังใจ เป็นอุปสรรคและไม่ส่งเสริมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา และอาจทำให้ผู้พิพากษา ‘หลง’ อำนาจจนละเลยสังคมและไม่ใส่ใจความเห็นขององคาพยพอื่นๆ ในสังคม เช่นกัน การสงวน ‘คำพิพากษา’ ไว้ให้เฉพาะผู้พิพากษา ทนายความ หรือคู่ความก็ดี การพยายามสร้างความเชื่อที่ว่า คำพิพากษาเป็นเรื่องกฎหมาย มีแต่นักกฎหมายด้วยกันเท่านั้นที่เข้าใจก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างทัศนคติที่คับแคบในหมู่นักกฎหมายว่าในโลกนี้มีแต่นักกฎหมายที่เป็นใหญ่ และผูกขาด ‘ความจริง’ ในนามของกฎหมาย
ในทางกลับกัน การเปิดโอกาสให้บุคคลในวงการกฎหมาย สื่อมวลชน บุคคลทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ต่อคำพิพากษานั้น ย่อมทำให้คำพิพากษาและศาลได้การยอมรับนับถือ และสร้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้กับคำพิพากษาและผู้พิพากษานั้นด้วย การวิจารณ์คำพิพากษาโดยสาธารณชนยังช่วยสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและลึกซึ้งขึ้นตามแนวทาง ‘ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ’ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันและขยายต่อจาก ‘ประชาธิปไตยทางตรง’ ‘ประชาธิปไตยทางผู้แทน’ และ ‘ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’
ด้วยเหตุนี้ การ ‘ใช้’ หรือการ ‘ข่มขู่ว่าจะใช้’ กฎหมายที่มีบทลงโทษเกี่ยวกับข้อหา ‘หมิ่นศาล’ หรือ ‘ละเมิดอำนาจศาล’ จึงล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ .............
ในรัฐเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ องค์กรตุลาการมีพันธกิจ 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท การควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย การสร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายผ่านทางการใช้และตีความกฎหมายในคำพิพากษา และการเป็นผู้เล่นคนหนึ่งในชีวิตทางการเมืองของรัฐ การปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุพันธกิจทั้งสี่นี้ ต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยอันเป็นคุณค่าพื้นฐานที่รัฐเสรีประชาธิปไตยยึดถือ
แนวทางทั้ง 6 ประการนี้ เป็นการสนับสนุนองค์กรตุลาการให้ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธบทบาทขององค์กรตุลาการในการตัดสินคดีอย่างก้าวหน้า แต่การตัดสินอย่างก้าวหน้าควรประกอบด้วยเหตุผลที่มีความเป็นภาววิสัย มีหลักกฎหมายรองรับ และอธิบายให้สังคมยอมรับนับถือได้ เป็นความกล้าปฏิเสธอำนาจนอกระบบและรัฐประหาร เป็นความกล้าตัดสินเพื่อแก้ ‘วิกฤติ’ ด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบจากจิตสำนึกของผู้พิพากษาและยึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นการตัดสินที่ ‘คิดว่า’ ก้าวหน้าเพื่อแก้ ‘วิกฤต’ เพราะมีใครคนใดคนหนึ่งออกมากระตุ้นให้องค์กรตุลาการต้องตัดสิน หรือ เพราะต้องการปราบปรามศัตรูทางอุดมการณ์ทางการเมือง
จริงอยู่ ในนิติรัฐ หลักการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการ และหลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ เป็นหลักการสำคัญอันขาดเสียมิได้ แต่หลักการดังกล่าวไม่ได้มีคุณค่าหรือสถานะสูงสุดเหนือกว่าหลักการอื่น จนทำให้องค์กรตุลาการมีอำนาจล้นฟ้าและปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล ตรงกันข้าม หลักการเหล่านี้เป็นหลักการในทางกลไกเพื่อพิทักษ์รักษาหลักการที่มีคุณค่าสูงสุด คือ หลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย กล่าวให้ถึงที่สุด อำนาจและความอิสระที่นิติรัฐหยิบยื่นให้องค์กรตุลาการนั้น ก็เพื่อให้นำมาใช้ปกป้องนิติรัฐและประชาธิปไตยนั่นเอง หาใช่ให้เพื่อนำมาใช้ทำลายนิติรัฐและประชาธิปไตยไม่
ต้องไม่ลืมว่า องค์กรตุลาการไม่ได้อยู่เหนือประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับองค์กรอื่นๆ การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และการสำนึกอยู่เสมอว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในประชาธิปไตยและมีหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตย เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรตุลาการสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมสมัยใหม่ และสร้างความชอบธรรมให้องค์กรตุลาการในการเข้าไปตรวจสอบอำนาจรัฐ
ในทางกลับกัน หากองค์กรตุลาการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอคติ ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือยอมพลีตนรับใช้อุดมการณ์บางอย่างด้วยการเป็นกลไกปราบปรามศัตรูแล้ว ความน่าเชื่อถือต่อองค์กรตุลาการย่อมลดน้อยถอยลง จนในท้ายที่สุด อาจไม่เหลือซึ่งการยอมรับคำพิพากษาของศาล
หากเป็นเช่นนั้น นอกจากองค์กรตุลาการจะไม่บรรลุพันธกิจปกป้องนิติรัฐ-ประชาธิปไตยแล้ว กลับกลายเป็นว่าองค์กรตุลาการนั่นแหละที่เป็นผู้ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตยเสียเอง
องค์กรตุลาการยอมรับหรือไม่ว่า "การตัดสิน การแสดงพฤติกรรมของผู้พิพากษาซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองที่ผ่านมา" เป็นเหตุสำคัญให้เกิดคำว่า "สองมาตรฐาน" การนำคำว่า "ตุลาการภิวัฒน์"มาใช้เกี่ยวกับการเมือง เป็นการจงใจให้องค์กรตุลาการเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ผิดแผกจากวัฒนธรรมตุลาการที่ผ่านมาหรือไม่ การอ้างอ้างว่า "ตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธย " ที่ใครแสกงความคิดเห็นกับคำตัดสินกลายเป็นผู้ต้องหาว่า "หมิ่นศาล" กลายเป็นพลังหนุนและเกราะกำบัง"ตุลาการวภิงัฒน์" ที่มีพฤติกรรม "ตุลาการวิบัติ" ให้ตัดสินสองมาตรฐานมากขึ้นหรือไม่ โปรดช่วยแสดงความเห็นต่อด้วยครับ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย
ReplyDeleteความเป็นธรรมที่ไม่เป็นธรรม คติประจำของผม ทำไมคนกลัวขึ้นศาล ทำไมคนจึงกลัวความเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมต้องมีแต่คนชอบ และอยากเข้าหา ไม่ใช่หนี ทั้งโจกท์ และจำเลย ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และอีกข้อ คนจนไม่มีเงินประกันตัว เป็นคดีอาจถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง และต้องพิสุจน์ความจริงความบริสุทธิ์ และคนจน ก็คำว่าจนก็บอกอยู่แล้ว ว่าจะเก่งและจะฉลาดมากแค่ไหน ที่ทนายจะสนใจมากเท่าที่ควร ทั้งทนายศาลถึงจะเป็นทนายจ้าง ก็ไม่แตกต่าง จนแล้ว อย่าโง่ อย่าจน อย่าเจ็บ อย่ามีเรื่อง และที่สำคัญอย่าเป็นคดี คนไม่ผิดติดคุกมีมัย คนทำผิดไม่ติดคุกมีมัย ผมเคยดูหนังเปาปุ้นจิ้น เขามีหน่วยงาน คอยไปดูและพิสูจน์ความจริง ชื่อจั่นเจา ไม่ใช่แค่ตัวหนังและฟังคำพูดแล้วรู้หมด เพราะโลกเรายังมีคนจน และคนที่ฉลาดไม่มาก แถมมากกว่าคนฉลาดซะด้วย ขอเสนอความคิดเห็นย่อๆ เท่านี้ครับ ขอขอบคุณครับ ตำรวจและอัยการ ไม่สำคัญเท่าจั่นเจา ผมว่าขบวนยุติธรรมรู้ดี แต่ไม่มีใครอยากยุ่งกับคนจน ชอบยุ่งกับคนรวยใช่มัย เพื่ออะไร ก็รู้กันอยู่ สวัสดี จากประชาชน (จน)
ReplyDeleteเมื่อเสียงปืนดัง ความเป็นธรรมก็จะเงียบ แต่ของเรากลัวโจร(คณะปฏิวัติ) ผู้รักชาติ แถมยอมมอบบ้านเมืองให้ปกครอง (ยอมรับคำสั่งเป็นกฎหมาย) เป็นรัฐธิปัต ยอมก้มหัวให้โจร ตลกดีนะ ไม่รู้ รู้กันกับโจรหรือเปล่า ขอแค่นี้ พูดมากเดี๋ยวติดคุก เขาบอกว่าบ้านเราปกครองระบบประชาธิปไตย แต่พูดแล้วติดคุก ว่าคนทั่วไป ไม่กลัวฟ้องครับ แต่วิจารณ์ศาล ระวังไม่ได้ออก อย่าอวดเก่งกว่าศาล เข้าใจ๊ คนรักชาติ
ReplyDeleteผมว่าวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการความเป็นธรรม ที่ไม่เป็นธรรม ก็ดี จะได้รู้ว่า คนทั่วไปเขาคิดยังไง กับขบวนความยุติธรรม จะได้ไม่หลงตัวเอง ว่าเราคนชั้นปัญญาชน ให้ความเป็นธรรม แต่คนอื่นเขาเข็ดขี้แตก เขาพูดกันว่า เป็นความกินขี้หมาดีกว่า อยากให้พวกที่จบกฏหมาย อ่านธรรมมะให้มากๆ และกฏแห่งกรรมกันบ้างเพื่อจะดีขึ้นบ้าง พวกนี้หลงตัวเองว่าฉลาดและมีอำนาจ คิดว่าประชาชนยังโง่อยู่ รู้ไม่ทัน ที่พูดมาจริงมัยครับ อยากพัฒนาให้เป็นที่รักของประชาชน ไม่ค่อยมีใครกล้าวิพาษ์เท่าไร คนไทยยังกลัวอยู่
ReplyDelete