Friday, May 28, 2010

ผ่าม็อบเสื้อแดง แฝง "สงครามชนชั้น"

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 มีนาคม 2553 ; การเมือง บทวิเคราะห์ ; กรุงเทพธุรกิจ

เผยปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยวันนี้ จะเรียกว่า "สงครามชนชั้น"มีทั้งใช่และไม่ใช่ เนื่องจากมีหลายเงื่อนไข หลากปัจจัยที่ทับซ้อนกันอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะหากตกผนึกว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ มาจากปัญหาทางชนชั้นด้วย ย่อเป็นโจทย์ใหญ่ให้ "รัฐไทย" ต้องคิดหาทางออกให้มากกว่าข้อสรุปว่าเป็น "ม็อบเติมเงิน"


“สงครามชนชั้น” มีการตั้งคำถามกันมากว่าความขัดแย้งของคนในสังคมที่ดำรงอยู่ในวันนี้ เป็นความขั้นแย้งทางชนชั้นอย่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการยื่นข้อเสนอให้ รัฐบาล "ยุบสภา"

อย่างไรก็ตามในแง่ ของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยอมรับเพียงว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เห็นทิศทางที่จะนำไปสู่สงครามชนชั้น ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มแกนนำยกขึ้นมา "หวังผลประโยชน์ให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล" ขณะที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี มองว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชูว่า เป็นสงครามการแบ่งแยกชนชั้นนั้น ถือเป็นเรื่องน่ากังวลมาก ซึ่งมีคนพยายามทำให้การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงครั้งนี้ เป็นสงครามชนชั้น เพราะเป็นวิธีที่จะยั่วยุจูงใจให้ชาวบ้านเกิดความฮึกเหิม

“หากถามว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ เป็นสงครามชนชั้นหรือไม่ คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่ เนื่องจากมีนัย 3 สิ่งทับซ้อนกันอยู่ในขบวนการเสื้อแดง”ดร.ผาสุก ประเมิน

ประการแรก ดร.ผาสุก เห็นว่าเป็นความขัดแย้งในระดับ "ชนชั้นนำ" ด้วยกันเอง ฝากหนึ่งเป็นชนชั้นนำในกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มทุนชนชั้นนำ อีกกลุ่มหนึ่ง

ในประเด็นนี้ ดร.ผาสุกเคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การประเมินความขัดแย้งผ่านมิติของทุน เนื่องจากกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจของไทย เป็นตัวประกอบที่สำคัญในการเมืองและสังคมไทย ดังนั้น หากจะวิเคราะห์ความขัดแย้งที่ผ่านมา ก็ต้องดูความขัดแย้งของกลุ่มทุนเกี่ยวข้องด้วย ที่สำคัญการรัฐประหาร หรือการก่อกบฏในหลายครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีฐานกลุ่มทุนสนับสนุนเสมอ ซึ่งรวมถึงการรัฐประหารล่าสุดด้วย

ความขัดแย้งจนถึงวันนี้ น่าจะเริ่มต้นจากเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อ "นักธุรกิจ" ที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะยืนแถวหน้าการเมือง แทนที่จะปฏิบัติเช่นกลุ่มทุนในอดีต ที่เลือกยืนข้างหลัง ค่อยให้ทุนสนับสนุนพรรคการเมือง


เนื่องจากภาวะทางการเมืองช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ มาจนถึงปี 2544 ยังมีช่องห่างระหว่างนักธุรกิจกับนักการเมือง คือ นักธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยังไม่ได้เข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ทำให้กลุ่มทุนต่างๆ สามารถแข่งขันกันเพื่อเข้าถึงสิทธิพิเศษต่างๆ จากรัฐบาลได้เกือบจะเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2544 ทุกอย่างเปลี่ยนไป ความขัดแย้งของกลุ่มทุนมีให้เห็นในวงกว้าง ส่งผลให้บางกลุ่มก็ล่มสลาย บางกลุ่มก็อยู่รอด กลุ่มทุนที่อยู่รอดได้ก็ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ต้องช่วยตัวเอง ที่สำคัญกลุ่มที่อยู่รอดปลอดภัยมักจะต้องเป็นกลุ่มที่โยงกับอำนาจรัฐในบางระดับ

ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่ แต่ข้อเท็จจริงอยู่ที่ ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับว่า "คุณเป็นทุนที่อยู่วงนอกหรืออยู่วงในของการเมือง หรือที่เรียกว่าทุนนิยมพรรคพวก"

ในช่วงต้นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ทุนที่อยู่วงนอกต้องเงียบเสียงไว้ก่อน เพราะถ้าขืนเสียงดังก็อาจจะถูกตัดขา แต่ถึงระดับหนึ่งความขัดแย้งมันถึงจุดที่กลุ่มทุนที่อยู่วงนอกเริ่มรู้สึกว่าทนไม่ได้แล้ว จึงมีการประสานกับส่วนอื่นๆ ที่มีความไม่พอใจ ก็เป็นจุดวิกฤติของอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

ถึงวันนี้ อาจจะเป็นความขัดแย้งของกลุ่มทุนที่พลิกผันกลับกัน !

ประการที่สอง ดร.ผาสุก เห็นว่า มีคนจำนวนมากในเขตชนบท โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานะทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่นในสังคม ดังนั้นจึงมีความ "จับใจ" ในนโยบายประชานิยม สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งตระหนักในแนวทาง "รัฐสภาประชาธิปไตย" ว่ามีความหมายกับตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและยกระดับครอบครัวได้
“คนกลุ่มนี้จึงผลักดันแนวทาง รัฐสภาประชาธิปไตย และกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการบริหาร ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ข้าราชการตามแบบบริหารประเทศแบบเก่าๆ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาล คุณทักษิณ หยิบยื่นให้ จึงเป็นสิ่งที่ เขาไม่เคยได้รับการหยิบยื่นจากรัฐบาลอื่นมาก่อน พร้อมๆ กับพอใจกับอุดมการณ์ ที่สังคมไทยต้องไม่ 2 มาตรฐาน”

ทั้งนี้ จากความเหลื่อมล้ำของไทยสะท้อนได้จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่สำรวจความมั่งคั่ง ทรัพย์ครัวเรือนตามกลุ่มรายได้เมื่อปี 2549 ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% จะพบว่าครอบครัวรวยสุด 20% แรกมีทรัพย์สินถึง 69% ของทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่ม 20% สุดท้ายหรือที่จนสุด มีทรัพย์สินเพียง 1% เท่านั้น หากแบ่งเป็นสิบกลุ่มรวยสุดสิบกลุ่ม 10% แรกจะมีทรัพย์สิน มากกว่ากลุ่มรองลงมาถึงสามเท่า ดังนั้นจะพบว่าความมั่งคั่งจะกระจุกอยู่แค่คน 10% ของประเทศเท่านั้นเอง

ขณะที่เงินออมในธนาคาร ตามข้อมูลวันที่ 11 มิ.ย.2552 พบว่ามีบัญชีที่มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาทจำนวน มี 7 หมื่นบัญชีเท่านั้นคิดเป็น 0.1 ของบัญชีทั้งหมด แต่ทั้งหมดนี้กลับมีเงินฝากเป็น 42% ของเงินฝากในประเทศ

ในส่วนการถือครองที่ดินก็เช่นกัน ประชาชนที่ไม่มีที่ดินเลยหรือถือน้อยกว่า 10 ไร่ คิดเป็นถึง 42% ของประเทศ นับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ส่วนกลุ่มคนที่ครองที่ดินเกิน 20 ไร่ มีถึง 22.73% แสดงถึงความมั่งคั่งในสังคมสูงอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมากคงจะไม่ถึง 10% ของประเทศ และเมื่อพิจารณา จากความต่างด้านรายได้ ระหว่างคนจนสุด 20% และรวยสุด 20% พบว่าของไทยอยู่ที่ 13% เทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งมีเพียง 3.4% เกาหลีใต้ 4.2% สหรัฐ 8.4% จีน 12.2%

ประการที่สาม ดร.ผาสุก เห็นว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้า คนชั้นกลาง คนทำงานในสำนักงาน ที่ไม่พอใจทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง เพราะปัจจุบันเห็นว่าบทบาทกองทัพ ในทางการเมืองสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยสากล

"ต้องยอมรับว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 7 วันที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุน จากชาวบ้าน ร้านค้า คนออฟฟิศมากขึ้น และมีคนระดับกลางและระดับสูงบางส่วนก็มีใจให้ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหววันนี้ดูเหมือนการเคลื่อนไหวยังผูกติดกับคุณทักษิณ แต่หากเวลาผ่านไปมากกว่านี้ ข้ามพ้นทักษิณ น่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ"

No comments:

Post a Comment