Saturday, May 29, 2010

ประชาธิปไตย กับ "กฎอนิจจลักษณะ"

'ปรีดี พนมยงค์' กับ 'ความเป็นอนิจจังของสังคม'

     สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง สสารวัตถุที่ประกอบขึ้นโดยพลังของธรรมชาติ หรือโดยพลังของมนุษย์ ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าอาจเห็นว่าไม่เคลื่อนไหวนั้นความจริงมีการเคลื่อนไหว ภายในตัวของสิ่งนั้นๆคือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงจากความเป็นสิ่งใหม่ไปสู่ความเป็นสิ่งเก่า
     พืชพันธ์ รุกขชาติ และสัตว์ชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่ อาจเติบโตได้อีกต่อไปแล้ว ก็ดำเนินสู่ความเสื่อม และสลายในที่สุด

     ชีวิตย่อมมี ด้านบวก กับด้านลบ มีส่วนที่เกิดใหม่ ซึ่งเจริญงอกงาม กับส่วนเก่าที่เสื่อม ซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ความสลายดับ ด้านบวกหรือด้านลบ หรือ สิ่งใหม่กับสิ่งเก่าย่อมโต้อยู่ภายในของชีวิตนั้นเอง ซึ่งทำให้ชีวิตมีการเคลื่อนไหว

     มนุษย์สังคม หรือเรียกสั้นๆว่า สังคม ก็มีอาจหลีกเลี่ยงให้พ้นไปจากกฏแห่งอนิจจังดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ สังคมมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง สังคมย่อมมีด้านบวกกับด้านลบภายในสังคมนั้นเอง คือสภาวะใหม่ ที่เจริญงอกงามและสภาวะเก่าที่เสื่อม ซึ่งดำเนินไปสู่ความสลายดับ

     สังคมมนุษย์มีพลังงานใหม่ซึ่งเป็นด้านบวกและมีพลังเก่าด้านลบที่ปะทะกันอยู่ อันทำให้สังคมเคลื่อนไหวไปในทำนองเดียวกันกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายตามกฏธรรมชาติ พลังเก่าก็เสื่อมสลายไปด้วย พลังใหม่ที่เจริญเติบโต ระบบสังคมของพลังใหม่ก็เจริญเติบโตไปด้วย สภาวะเก่าหลีกเลี่ยงจากความเสื่อมสลายไปไม่พ้น ส่วนสภาวะใหม่ก็ต้องดำเนินไปสู่ความเจริญ ซึ่งพลังเก่าไม่อาจต้านทานไว้ได้ ดังนั้นสภาวะใหม่ย่อมได้รับชัยชนะต่อสภาวะเก่าในวิถีแห่งการปะทะระหว่างด้านบวกกับด้านลบตามกฎธรรมชาติ สภาวะใหม่ที่ได้ชัยชนะต่อสภาวะเก่านั้น มิอาจรักษาความเป็นสภาวะใหม่นั้น ก็ต้องดำเนินไปตามกฏแห่งอนิจจัง คือเมื่อเติบโตจนถึงขีดที่ไม่อาจเจริญต่อไปได้อีกแล้ว ก็ดำเนินไปสู่ความเสื่อม โดยมีสภาวะที่ใหม่ยิ่งกว่า ขึ้นมาปะทะ และได้ชัยชนะรับช่วงเป็นทอดๆต่อไป"

จากหนังสือ "ความเป็นอนิจจังของสังคม"
ปรีดี พนมยงค์, หน้า 18-21,โรงพิมพ์ รุ่งเรืองธรรม พ.ศ.2501


     ต้องบอกว่าไม่ใช่ความบังเอิญที่ติดอกติดใจในหนังสือของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เล่มที่ยกข้อความมาไว้ต้นบทความวันนี้ อ่านครั้งแรกก็กว่า 30 ปีมาแล้ว และเชื่อว่าหลายรูปหลายนามที่ก้าวข้ามฟากไปยืนตรงข้ามกับฝ่าย "ประชาธิปไตย" ก็เคยอ่านและอาจจะยึดถือเป็นคัมภีร์ (dogma) เสียยิ่งกว่าผมในวันนี้ด้วยซ้ำไป

     ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิวัติ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างถอนราก ทั้งด้านใน (วิธีพิจารณาและดำเนินชีวิตส่วนตัวที่เป็นปัจเจก) และด้านนอก (วิธีพิจารณาและดำเนินรูปแบบความสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่นอกเหนือจากปัจเจก)

     ทั้งนี้เห็นได้จากการที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกำหนดในพระธรรมวินัย ให้บุคคลผู้บวชเข้ามาในศาสนาของพระองค์ "สลายชนชั้นกำเนิด" ถือเป็นการเกิดครั้งที่ 2 คล้ายกับการเกิดในวรรณะพราหมณ์ของศาสนาฮินดูในชมพูทวีปเดิม

     ที่อยากเน้นความแตกต่างระหว่างนักบวชใน "ศาสนาของตถาคต" กับนักบวชในลัทธินิกายหลายหลากก่อนพุทธ และ/หรือหลังพุทธก็ดี คือ ความเป็น "สมาชิกผู้ปฏิบัติงาน" ภิกขุผู้บวชเข้ามาในศาสนาของตถาคตนั้น มี "หน้าที่" ชัดเจน นับแต่การดำเนินชีวิต ไปจนถึงกระบวนการศึกษา และหน้าที่ในการ "นำพาสัตว์ข้ามสังสารวัฏฏ์"

ไม่ใช่แค่ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" นะครับ

     ทีนี้จะพาสัตว์ไปพ้นห้วงทุกข์ได้ตามนัยของพุทธธรรม เป็นการก้าวร่วมกันไป ไม่ใช่ภิกขุเป็น "ผู้ส่ง หรือ ประสิทธิ์ประสาท" ให้ใคร "พ้นทุกข์" นั่นหมายถึงตรงข้ามกับสิ่งที่พวกนอกพุทธหลังกึ่งพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพุทธปลอมปนมอมเมายัดเยียดให้ผู้คนมัวเมา เพื่อจะได้สยบราบคาบกับความคิดยอมจำนนในชะตากรรม แล้วปล่อยให้ "มิจฉาทิฏฐิ" ครอบงำครองความเป็นใหญ่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจ-การเมือง-และวัฒนธรรม อยู่ชั่วนาตาปี

     ก็ถ้าทางพ้นทุกข์ของปัจเจกก็ปลอมปนบิดเบือนกันเสียแล้ว... ทุกข์ของสังคมจะเหลืออะไรล่ะครับ... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดกุมกฏ "พระไตรลักษณ์" คือมีลักษณะ "อนิจจัง มีสภาพ ไม่เที่ยง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป – ทุกขัง มีสภาพ เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมนานๆไม่ได้ – อนัตตา มีสภาพ ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่ของเรา"


     ผมเขียนมา 2-3 ตอนแล้วถึงการยืนยันความถูกต้องชอบธรรมแต่ฝ่ายเดียว ที่มีลักษณะไสยศาสตร์และเป็นเทวนิยมนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามบิดเบือนและฝืนกฎอนิจจลักษณะ ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรง และเป็นตัวขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษยชาติ ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย... ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น
 
เผด็จการและอำมาตยาธิปไตย นั้น คุ้นชินเป็นอันดีกับการประสิทธิ์ประสาทและบัญชาทุกประการจากบนลงล่าง รังเกียจที่จะรับฟังและรวบรวมความเห็นจากล่างขึ้นบน ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า "ประชาชน (ของใครก็ไม่รู้) โง่และซื้อได้" มีแต่กลุ่มก้อนของตนและบริษัทบริวารเท่านั้น จึงจะ "นำความถูกต้องดีงาม บริสุทธิ์ ยุติธรรม มาสู่ชุมชนและประเทศชาติ" ได้...

ช่างเป็นหลักคิดที่มีลักษณะสากลเสียนี่กระไร
นี่แค่สมาทาน "อนิจจลักษณะ" เพียงประการเดียวนะครับ

     ยังมีเรื่อง "อนัตตลักษณะ" หรือ "I am the state" ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยอีกเรื่องนะครับ ที่เป็นตัวขัดขวางประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้พูดและเขียนกันมามากแล้วนับจากเดือนตุลาคม 2549.

ผู้เขียน อริน
คอลัมน์ "พายเรือในอ่าง"
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ศุกร์ 18 เมษายน 2551

No comments:

Post a Comment